10 เรื่องน่ารู้สำหรับชาวต่างชาติที่จะมาอาศัยในญี่ปุ่น

เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เมื่อเราไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองซึ่งแต่ละแห่งก็มีระเบียบและกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป เราก็ควรจะให้ความสำคัญในการรักษาและปฏิบัติตามกฎเหล่านั้นด้วย ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกฎในการใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ มารยาทในการรับประทานอาหาร หรือแม้แต่การทำงานในองค์กร
Oyraa

หนึ่งในเรื่องที่ขึ้นชื่อว่ามีกฎระเบียบมากมายและไม่ค่อยเป็นมิตรกับชาวต่างชาติเท่าไร คือ การทำสัญญาเช่าที่พักในประเทศญี่ปุ่น มีทั้งกฎต่างๆ อย่างการ “ไม่รับชาวต่างชาติ” หรือ “ไม่สามารถทำสัญญาได้หากไม่มีคนญี่ปุ่นมาค้ำประกัน” บทความนี้จะมาบอกเล่า 10 ข้อควรระวังสำหรับชาวต่างชาติที่กำลังมองหาที่พักอาศัย หรือกำลังจะเซ็นสัญญาเช่าที่พักในญี่ปุ่นเพื่อให้คุณหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะตามมาในภายหลั

1. การเซ็นสัญญาเช่าที่พักที่ชาวต่างชาติไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว!

handshake

สัญญาเช่าส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้มี “ผู้ค้ำประกัน (保証人)” ซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่ผู้เช่าค้างค่าเช่าหรือไม่สามารถติดต่อได้ ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นเพื่อให้สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยปกติผู้ค้ำประกันมักจะเป็นพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง แต่สำหรับชาวต่างชาติที่จะมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นนั้นมักจะมีญาติอยู่ในประเทศบ้านเกิดตัวเองเสียมากกว่า ดังนั้นจึงทำให้ชาวต่างชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถทำสัญญาเช่าในญี่ปุ่นได้เนื่องจากไม่มีผู้ค้ำประกันให้

ในบางกรณีเนื่องจากไม่สามารถหาคนญี่ปุ่นมาช่วยค้ำประกันได้ทำให้ต้องจ้างบริษัทค้ำประกันแทน อย่างไรก็ตาม การจ้างบริษัทค้ำประกันนั้นจำเป็นต้องจ่ายค่าดำเนินการอีกจำนวนมาก จนทำให้บางคนล้มเลิกความคิดที่จะทำสัญญาเช่าที่พักในญี่ปุ่นไป ชาวต่างชาติจำนวนมากที่ต้องการเลี่ยงค่าใช้จ่ายดังกล่าว อีกทั้งยังหาคนค้ำประกันไม่ได้ จึงเลือกที่จะอยู่แบบแชร์เฮ้าส์แทนอย่างเลี่ยงไม่ได้

2. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายก่อนเข้าอยู่!

japan money

คุณทราบหรือไม่ว่าค่าแรกเข้าเวลาจะเช่าบ้านที่ญี่ปุ่นนั้นราคาเท่าไร? ในการเช่าบ้านที่ญี่ปุ่นนั้น เมื่อเซ็นสัญญาไปแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องจ่ายในเดือนแรกที่เข้าอยู่ก็ไม่ได้มีเพียงค่าเช่าบ้านแต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เราได้จำแนกรายละเอียดของสิ่งที่คุณจำเป็นต้องจ่ายเป็นค่าแรกเข้าเอาไว้ดังนี้ :

・ค่าเช่า : 1 เดือน
・ค่ามัดจำ : ประมาณค่าเช่า 1 เดือน
・เงินให้เปล่าค่าเช่าบ้าน : ประมาณค่าเช่า 1 เดือน
・ค่าส่วนกลาง : ประมาณ 3,000 เยน
・ค่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์ : ประมาณค่าเช่า 1 เดือน
・ค่าประกันอัคคีภัย : ประมาณ 3,000 – 15,000 เยน
・ค่าเปลี่ยนกุญแจ : ประมาณ 10,000 – 20,000 เยน

นอกเหนือจากค่าเช่าบ้านยังมีค่าธรรมเนียมต่างๆ กว่า 4.5-5 เท่าของค่าเช่าบวกเพิ่มเข้าไปกับค่าแรกเข้าตอนเซ็นสัญญา และอย่างที่ได้อธิบายไปในข้อที่ 1 บางกรณีอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้กับบริษัทค้ำประกันอีกด้วย ไม่ใช่เพียงชาวต่างชาติที่เป็นกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงนี้เท่านั้น แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็มีความกังวลในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

3. ทำไมชาวต่างชาติถึงโดนปฏิเสธ? ภาษา หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม?

office workers

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้จำนวนของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศญี่ปุ่นจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งที่ประกาศว่า “ไม่รับชาวต่างชาติ” อยู่ดี ซึ่งเหตุผลก็มีอยู่หลากหลาย เช่น เจ้าของบ้านกังวลว่าจะไม่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้เข้าใจกันมากพอทั้งตอนเซ็นสัญญาหรือหลังเข้าอยู่อาศัย และยังมีปัญหาที่เกิดจากชาวต่างชาติในอดีตอีกหลายกรณี ทำให้บริษัทค้ำประกันและเจ้าของที่พักจำนวนหนึ่งปฏิเสธชาวต่างชาติ
อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของที่พักส่วนมากมักเป็นกังวล คือ ปัญหาความแตกต่างในด้านมารยาทส่วนรวม ที่ญี่ปุ่นนั้นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกกายสบายใจ ทุกคนจะต้องเข้าใจหลักมารยาทในการปฏิบัติตนต่อส่วนรวม ยกตัวอย่างเช่นการสูบบุหรี่ที่ระเบียง ควันจากบุหรี่จะลอยขึ้นด้านบนซึ่งอาจทำให้คนที่อาศัยอยู่ด้านบนรู้สึกไม่สบายใจได้ จึงควรไปสูบบุหรี่ใต้เครื่องดูดอากาศในครัวแทน เป็นต้น
นอกจากนี้ ก็ควรระมัดระวังในเรื่องของเสียงด้วย อย่างเสียงเครื่องดนตรี หรือเสียงเด็กร้องต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนห้องข้างๆ เพราะสำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น “ความเห็นอกเห็นใจคนที่พักอาศัยอยู่ในที่เดียวกันโดยไม่เกี่ยงว่าอีกฝ่ายจะรับรู้หรือไม่” ก็ถือเป็นความคิดพื้นฐานไปแล้ว ดังนั้นจึงยังมีเจ้าของบ้านหลายแห่งที่ปฏิเสธการรับชาวต่างชาติเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวอยู่

4. ข้อควรระวังในการใช้เสียง! ทำไมคนข้างห้องถึงทุบกำแพง?

room noise

ที่พักอาศัยให้เช่าในญี่ปุ่นนั้นเหมือนกับต่างประเทศ มีห้องให้เลือกมากมายหลายระดับ ตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงระดับล่าง โดยที่พักให้เช่าราคาถูกแน่นอนว่าข้อเสียก็เยอะตามไปด้วย
ปัญหากำแพงบางก็เป็นหนึ่งในข้อเสียที่พบเจอได้บ่อย หากกำแพงบางก็จะเก็บเสียงได้ไม่ดี หากคืนไหนคุณพาเพื่อนมาที่บ้านและมีการสังสรรค์ หรือเล่นดนตรีภายในห้อง เสียงพวกนี้ก็จะไปถึงหูคนข้างห้องของคุณอย่างแน่นอน บางคนที่รู้สึกหงุดหงิดจากการโดนรบกวนตอนกำลังจะเข้านอนก็อาจมีการทุบกำแพงเพื่อแสดงความโกรธในทางอ้อมก็เป็นได้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมา สิ่งสำคัญในการอยู่อาศัย คือ จะต้องคำนึงถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ห้องติดกันด้วย

5. ไปดูด้วยตัวเองก่อนเซ็นสัญญา!

tatami room

ค่าเช่าที่พักในเมืองหลวงนั้นจะสูงกว่าที่อื่น ถือเป็นเรื่องปกติในทุกประเทศ ถึงแม้ราคาค่าเช่าจะเท่ากันแต่ขนาดของที่พักอาศัยในเขตเมืองหลวงกับต่างจังหวัดนั้นจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในหลายครั้งที่ผู้เช่าตัดสินใจเลือกจากการดูเพียงแปลนห้องเพียงอย่างเดียว และคิดว่าด้วยราคาสูงจะต้องได้พื้นที่ที่มีขนาดกว้างขวาง แต่เมื่อไปเห็นของจริงกลับเล็กกว่าที่คิดเอาไว้มาก หากผลที่ได้กลับกลายเป็นห้องขนาดเล็กที่สามารถวางเฟอร์นิเจอร์ได้เพียงเตียงนอนและแทบไม่มีที่ให้นั่ง เรื่องพวกนี้ก็อาจมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของคุณและทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นได้ ดังนั้นหากจะเลือกห้องสักห้อง หลังจากดูแปลนห้องเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมบอกนายหน้าหรือเจ้าของที่พักให้พาคุณไปดูห้องจริงก่อนตัดสินใจด้วยล่ะ!

6. คนญี่ปุ่นสามารถเผชิญกับอากาศที่ร้อนสุดขั้ว หนาวสุดขีดได้อย่างไร?

fan

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มี 4 ฤดูกาล ในฤดูร้อนจะร้อนมากและในฤดูหนาวก็จะหนาวมากด้วย หากเป็นบางประเทศที่มีอุณหภูมิพุ่งไปทางใดทางหนึ่งอย่างสุดขั้ว ก็สามารถรับมือได้ด้วยการสร้างบ้านตามโครงสร้างที่จะช่วยถ่ายเทอากาศได้หรือที่สามารถกักเก็บความร้อนได้ดี แต่ด้วยสภาพอากาศที่ต่างกันอย่างสุดขั้วระหว่างปี ทำให้วิธีรับมือนี้ไม่สามารถใช้ได้ในญี่ปุ่น
ดังนั้น บ้านในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มีทั้งระบบทำความเย็นและความร้อน แต่หากคุณเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้ตลอดเวลา แน่นอนว่าค่าไฟต่อเดือนก็จะสูงตามไปด้วย นอกจากนี้บ้านเช่าราคาถูกหลายแห่งก็ไม่มีเครื่องปรับอากาศติดตั้งไว้ให้
หากพูดถึงวิธีการรับมือกับอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดโดยไม่พึ่งเครื่องปรับอากาศแล้วล่ะก็ ในหน้าร้อนก็ควรจะใช้พัดลมแทน เพราะพัดลมกินไฟน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศมาก ที่นี่จึงมีหลายครัวเรือนที่เลือกใช้พัดลมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และในบางบ้านก็จะมีการดัดแปลงโดยติดตั้งที่ใส่สารให้ความเย็นหรือน้ำแข็งแห้งไว้กับพัดลมด้วยเพื่อให้ลมที่ออกมานั้นเย็นขึ้นไปอีก ส่วนในหน้าหนาวเราอยากแนะนำอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นนั่นก็คือ “โคทัตสึ (こたつ)” หรือโต๊ะที่ติดตั้งเครื่องทำความร้อนเอาไว้ข้างใต้แล้วคลุมด้วยฟุตง (ฟูกนอนแบบหนาของญี่ปุ่น) ทำให้ความร้อนที่ถูกปล่อยออกมาวนเวียนอยู่ภายในฟุตง อุปกรณ์นี้ก็กินไฟน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศด้วยเช่นกัน แต่การจะตั้งโต๊ะโคทัตสึสักตัวก็จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ประมาณหนึ่ง ดังนั้นเรายังมีอีกหนึ่งวิธีที่ง่ายกว่านั้นมาแนะนำ คือ การติดตั้งพรมทำความร้อนขนาดเท่ากับเบาะรองนั่ง และห่มผ้าให้ถึงช่วงหัวเข่าก็จะสามารถให้ความอบอุ่นได้เหมือนกับนั่งอยู่ในโคทัตสึเลยทีเดียว

7. การมาเยือนของคนแปลกหน้า…ค่าธรรมเนียม NHK คืออะไร?

japanese woman

ในบางประเทศอาจมีการขายสินค้าตามบ้านโดยไม่ได้นัดล่วงหน้าให้เห็นอยู่บ้าง สำหรับประเทศญี่ปุ่นนี้ไม่ใช่การขายผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรที่ไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมในการรับสัญญาณโทรทัศน์ ซึ่งองค์กรที่ว่านี้ก็คือ Nippon Housou Kyoka หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ NHK เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะในญี่ปุ่นตามกฎหมาย สามารถรับชมการออกอากาศได้โดยทั่วไปในทุกครัวเรือน โดยจะดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมจากครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะถือสัญชาติใดก็ตาม เนื่องจากไม่มีบทลงโทษหรือเก็บค่าปรับผู้ที่ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม เจ้าหน้าที่จึงไปเยี่ยมบ้านแต่ละหลังเพื่อรวบรวมการสมัครและเก็บค่าธรรมเนียมโดยตรง หากมีคนแปลกหน้าไปเคาะประตูบ้านคุณแล้วล่ะก็ มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่จาก NHK เพราะในปัจจุบันการไปขายของตามบ้านในญี่ปุ่นจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย ทำให้การขายตามบ้านลดลงไปมากแล้ว
ค่าธรรมเนียม NHK สำหรับสัญญาณภาคพื้นดินจะอยู่ที่ 2,520 เยนต่อ 2 เดือน 7,290 เยนต่อ 6 เดือน และ 13,990 เยนต่อ 12 เดือน หากเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับสัญญาณดาวเทียม (ที่รองรับสัญญาณภาคพื้นดินด้วย) จะอยู่ที่ 4,460 เยนต่อ 2 เดือน 12,730 เยนต่อ 6 เดือน และ 24,770 เยนต่อ 12 เดือน

8. การแยกขยะที่แสนซับซ้อนและกฎระเบียบในการทิ้งขยะที่ควรระวัง!

japan garbage

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบอยู่มากมาย แต่กฎที่ซับซ้อนที่สุด คือ กฎการทิ้งขยะ ซึ่งไม่ได้จำแนกแค่ “ขยะเผาได้” และ “ขยะเผาไม่ได้” เท่านั้น แต่ยังมี “ขวดและกระป๋อง” “พลาสติก” “หนังสือพิมพ์และนิตยสาร” ต่างๆ ที่จำแนกแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ซึ่งกฎและรายละเอียดในการแยกนี้แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังสับสนกันในบางครั้ง
นอกจากนี้ก็ยังต้องระมัดระวังเรื่องวิธีการทิ้งขยะอีกด้วย เนื่องจากในหลายเขตพื้นที่ของญี่ปุ่นจะมีการบังคับใช้ถุงขยะตามแบบที่เขตกำหนดเท่านั้น หากคุณไม่ใช้ถุงขยะตามที่กำหนดไว้ ขยะของคุณก็อาจจะไม่ถูกเก็บไปก็ได้ และเนื่องจากแต่ละเขตจะมีการกำหนดวันและประเภทของขยะที่จะเก็บ คุณจึงต้องทิ้งขยะให้ถูกประเภทตามวันนั้นๆ หากคุณทิ้งขยะคนละชนิดกับที่วันนั้นๆ กำหนดไว้ ก็จะถือเป็นการเสียมารยาทอย่างมาก

9. เลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่? ข้อควรระวังหากคุณจะพักอาศัยในโตเกียวหรือโอซาก้า

dog in house

การเลี้ยงสัตว์ในบ้านที่ญี่ปุ่นนั้นมีค่อนข้างมากไม่ต่างจากในหลายประเทศ แต่ตามที่พักสำหรับเช่าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาที่พักให้เช่าต่างๆ เพื่อป้องกันเสียงรบกวนและกลิ่นไม่พึงประสงค์จากการขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในโตเกียวและตามเมืองใหญ่ๆ เช่น โอซาก้า ห้องเช่าส่วนมากจะไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ หากคุณอยากมีสัตว์เลี้ยงก็อาจจะต้องมองหาห้องเช่าที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้

10. รักษาห้องให้ใหม่อยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงส่วนต่างค่าซ่อมบำรุง!

japanese room
Muhammad Anuar bin Jamal / Shutterstock.com

ที่พักให้เช่าญี่ปุ่นอาจมีการเรียกเก็บค่าซ่อมบำรุงห้องเมื่อย้ายออก เพื่อนำไปใช้ทำความสะอาดและซ่อมแซมส่วนที่เป็นรอยหรือเสียหาย ก่อนจะเปิดให้เจ้าของใหม่เข้ามาอยู่ ซึ่งเงินส่วนนี้ก็คือ “ค่ามัดจำ (敷金)” ที่คุณจ่ายไปตอนที่ย้ายเข้ามาอยู่นั่นเอง โดยทั่วไปค่ามัดจำจะครอบคลุมค่าซ่อมบำรุง แต่ในกรณีที่ห้องมีสิ่งที่ต้องซ่อมแซมมากจนเกินค่ามัดจำไป ก็อาจจะมีการเรียกเก็บค่าส่วนต่างเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการดูแลสภาพห้องให้ดีอยู่ตลอดการพักอาศัยจะทำให้สามารถประหยัดค่าซ่อมบำรุงในตอนย้ายออกได้

ทางการของจังหวัดโตเกียวได้จัดทำคู่มือการทำสัญญาเช่าที่พักสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการหาที่พักอาศัยในโตเกียว ที่มีภาพประกอบและมีการบอกจุดสำคัญต่างๆ ด้วย เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ควรอ่านให้รู้เอาไว้


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบและมารยาทส่วนรวมเป็นอย่างมาก บางเรื่องก็แฝงมากับแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติเองก็คาดไม่ถึง และอาจจะทำให้บางคนรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก แต่ถึงอย่างไรกฎระเบียบเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาก็เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกและสบายใจ ในช่วงหลายปีมานี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสภาพแวดล้อมและกฎหมายมากมากเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาหรือสนใจการเช่าที่พักในญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ นี่เป็นโอกาสที่ดีเชียวล่ะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: