รีวิวการกักตัวที่ญี่ปุ่น – รวมขั้นตอนการเดินทางช่วงโควิด-19ระบาด

วิกฤตการณ์โควิด-19 นั้นส่งผลกระทบกับแต่ละประเทศอย่างรุนแรงมาหลายปีแล้ว และหลายประเทศก็ยังคงยังมีมาตรการในการควบคุมโรคอยู่ ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างประเทศมีความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการควบคุมคนเข้าประเทศ ตัวผู้เขียนนั้นได้ออกจากญี่ปุ่นและกลับมาในช่วงยุคโควิดฯ ที่มีมาตรการการกักตัว จึงได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่กดดันมาแล้ว ทางผู้เขียนจึงหวังว่าบทความเล่าประสบการณ์นี้จะช่วยให้คุณเตรียมกายและใจก่อนเดินทางได้มากขึ้น
Oyraa

***ข้อมูลทั้งหมดถูกต้อง ณ เวลาที่เขียนบทความ

ทำไมถึงเข้าญี่ปุ่นได้

ช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตแค่พลเมืองญี่ปุ่น ผู้ที่พำนักในญี่ปุ่น และผู้ที่ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีเท่านั้นที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการออกวีซ่าใหม่ (รวมถึงวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ยังไม่ได้พำนักอยู่ในญี่ปุ่นแม้จะมีการวางแผนเอาไว้แล้วก็ตาม) ตัวผู้เขียนอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมาหลายปีและได้ลงหลักปักฐานที่นี่แล้ว ดังนั้น อ้างอิงจากระเบียบการควบคุมชายแดนที่มีผลบังคับใช้ในช่วงที่เดินทางแล้ว จึงสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้

ขอแจ้งไว้ตรงนี้ว่านี่เป็นเพียงบันทึกจากประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น หากคุณมีคำถามหรือข้อกังวล ขอให้สอบถามไปยังสถานฑูตในท้องที่หรือสถานกงศุลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

ก่อนออกจากญี่ปุ่นต้องเตรียมอะไรบ้าง

Narita lobby
CAPTAINHOOK / Shutterstock.com

แต่ละประเทศ แต่ละสายการบินอาจต้องการเอกสารที่ต่างกันไป ฉะนั้นแล้ว คุณควรยืนยันด้วยตัวเองว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างเพื่อจะได้มีข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดในการเดินทางและเข้าประเทศปลายทาง นี่คือเอกสารที่ผู้เขียนเตรียมสำหรับไฟล์ทบินจากญี่ปุ่นสู่สหรัฐอเมริกา:

  • ผลตรวจ PCR เป็นลบ (ตรวจภายในระยะเวลาและใช้ประเภทของชุดตรวจตามที่ประเทศปลายทางกำหนด ณ ขณะนั้นสายการบินไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น PCR ประเภทไหน)
  • ใบรับรองการฉีดวัคซีน (ผู้เขียนยื่นเรื่องขอใบรับรองการฉีดวัคซีนจากหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น)
  • ใบอนุญาตกลับเข้าประเทศแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Multiple re-entry permit) (สิ่งนี้ไม่จำเป็นและมีค่าใช้จ่าย แต่ใบอนุญาตกลับเข้าประเทศแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งสามารถใช้ได้ตลอดอายุวีซ่า ในขณะที่ใบอนุญาตกลับเข้าประเทศแบบครั้งเดียวที่ได้จากสนามบินมีอายุอยู่แค่หนึ่งปีเท่านั้น คุณสามารถยื่นเรื่องขอใบอนุญาตกลับเข้าประเทศแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องถิ่น)

สายการบินของผู้เขียนแนะนำให้ไปถึงสนามบินแต่เนิ่นๆ เพราะสถานการณ์โควิดอาจทำให้ใช้เวลาเช็กอินนานขึ้น ผู้เขียนจึงไปถึงสนามบินล่วงหน้าหลายชั่วโมง แต่การเช็กอินก็ผ่านไปได้ด้วยดีอย่างไม่น่าเชื่อ สนามบินโล่งมาก นอกจุดตรวจค้นมีร้านอาหารเปิดอยู่แค่สองสามร้านเท่านั้น ส่วนร้านค้าที่เหลือต่างพากันปิดหมด แต่หลังจากผ่านจุดตรวจค้นและจุดตรวจคนเข้าเมืองไปแล้ว ที่ใกล้ๆ กับเกตก็มีร้านรวงต่างๆ เปิดมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น หากคุณต้องการซื้อของฝาก ก็แนะนำว่าให้รีบซื้อ อย่ารอจนถึงนาทีสุดท้ายเป็นดีที่สุด

มุ่งหน้ากลับญี่ปุ่น

US passport

สายการบินควรรู้ถึงระเบียบในการเข้าประเทศอันเข้มงวดของญี่ปุ่น ฉะนั้นแล้ว คุณควรเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนไปเช็กอิน ที่เคาน์เตอร์เช็กอินของสนามบินที่เดินทาง เจ้าหน้าที่จะถามหาพาสปอร์ต ใบรับรองการฉีดวัคซีน และใบอนุญาตเข้าประเทศญี่ปุ่น (ผู้เขียนเอาตราประทับที่อนุญาตให้กลับเข้าประเทศอีกครั้งในพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ดู) นี่คือเอกสารที่เตรียมสำหรับกลับเข้าประเทศญี่ปุ่น:

  • ผลตรวจ PCR เป็นลบ / ฟอร์ม MOFA (แบบฟอร์มพื้นฐานสำหรับประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากญี่ปุ่นเข้มงวดกับการขอผลตรวจ PCR มาก จึงขอแนะนำให้คุณพยายามกรอกเอกสารตัวนี้ยังประเทศปลายทาง)
  • พาสปอร์ต (พร้อมใบอนุญาตกลับเข้าประเทศ)
  • ใบรับรองการฉีดวัคซีน
  • เอกสารลงนามสัญญา (หาได้จากเว็บไซต์ของ MOFA)
  • QR code จากแบบสอบถามออนไลน์ (ลิ้งค์อยู่ในเว็บไซต์ของ MOFA)
  • แอปพลิเคชั่นที่ต้องติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ (MySOS, Google Maps)

หากคุณมีข้อสงสัยหรือกังวลใจว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ขอแนะนำให้คุณติดต่อไปยังสถานฑูตญี่ปุ่นในท้องที่หรือสถานกงศุล และอย่าลืมเช็กว่าสายการบินของคุณต้องการเอกสารอะไรบ้างเช่นกัน

กลับมาถึงญี่ปุ่น

Narita social distancing
kuremo / Shutterstock.com

ฉันบินจากประเทศต้นทางมายังสนามบินนาริตะในช่วงกลางเดือนมกราคม เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว ผู้ที่ต้องเปลี่ยนเครื่องจะลงจากเครื่องบินไปก่อน ในขณะที่ผู้โดยสารที่เหลือซึ่งลงที่ญี่ปุ่นถูกแจ้งให้รอก่อนจนกว่าจะถูกเรียก เมื่อเราลงจากเครื่องแล้ว เราก็ถูกนำทางไปยังบริเวณพักรอเพื่อเจ้าหน้าที่สนามบินจะได้มาตรวจเอกสารของเรา เจ้าหน้าที่จะมาถามหาแบบฟอร์ม MOFA พาสปอร์ตและเอกสารลงนามสัญญา หลังจากตรวจเอกสารเสร็จแล้ว เขาก็จะให้เราไปผ่านจุดตรวจต่อๆ ที่มีอยู่ทั่วสนามบิน

แบบฟอร์มเดียวกันนี้จะถูกตรวจซ้ำเกือบทุกจุดตรวจ และเรายังถูกถามด้วยว่าได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น MySOS ในโทรศัพท์มือถือแล้วหรือยัง หากว่ายัง คุณจะต้องดาวน์โหลดมาติดตั้งเอาไว้ และจะมีจุดตรวจที่เจ้าหน้าที่จะทำการตั้งค่าเพื่อตรวจดูคุณระหว่างที่คุณอยู่ในช่วงกักตัว หากคุณไม่มีสมาร์ทโฟน คุณจะต้องเช่าเครื่องจากที่สนามบินและออกค่าใช้จ่ายเอง

Narita empty escalator
BLUR LIFE 1975 / Shutterstock.com

ยังมีจุดตรวจที่คุณต้องทำการตรวจ PCR ด้วย เป็นการตรวจด้วยน้ำลาย คุณจึงไม่ควรกินอะไร (รวมถึงดื่มน้ำด้วย) อย่างน้อย 30 นาทีก่อนตรวจ

หากคุณต้องไปกักตัวภาคบังคับที่โรงแรม อย่าลืมจองการเดินทางไปยังสถานที่กักตัวส่วนตัว (ที่ที่คุณจะกักตัวต่อให้ครบตามระยะเวลาหลังจากออกจากโรงแรม เช่น บ้านของคุณ) ล่วงหน้าเอาไว้ด้วย โดยคุณจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเอง ผู้เขียนยังไม่ได้จองอะไรไว้เลยต้องคิดหาทางแบบด่วนๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังจุดตรวจสุดท้ายได้ โชคดีที่สามารถเบียดคิวจองเข้าไปได้ อย่าลืมว่าหลังจากกักตัวในโรงแรมที่จัดไว้ให้แล้ว คุณจะถูกพากลับมายังสนามบินที่คุณมาถึง คุณจึงควรวางแผนให้คนขับรถมารับที่สนามบิน 

Narita social distancing chairs
Sayuri Inoue / Shutterstock.com

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการกักตัวที่โรงแรมก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปแล้วแต่โรงแรมที่จอง เช่น ผลตรวจ PCR ครั้งต่อไปของคุณ ช่วงเวลาที่จะถูกนำมาส่งที่สนามบิน ทำให้การระบุเวลากลับถึงสนามบินที่แน่ชัดเป็นไปได้ยาก กรณีของผู้เขียนนั้น ได้บอกให้บริษัทมารับที่สนามบินในวันที่ครบกำหนดการกักตัวที่โรงแรม แต่ไม่ได้บอกช่วงเวลาที่แน่ชัด (บอกแค่ว่า “ช่วงเย็น”) ระหว่างอยู่ที่โรงแรมและสามารถกะเวลาโดยประมาณได้จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ว่าจะกลับไปถึงสนามบินกี่โมง แล้วก็ติดต่อไปยังบริษัทรถเช่าอีกครั้งและแจ้งเวลาที่แน่นอนยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุด คุณจะต้องรอผลตรวจ PCR อยู่ในจุดพักรอที่กำหนดไว้ คุณจะได้รับหมายเลขที่จุดตรวจก่อนหน้า และจะถูกขานหมายเลขเมื่อผลตรวจออก ดูเหมือนว่าในช่วงนี้เองที่เจ้าหน้าที่จะตัดสินว่าใครจะไปที่ไหน (เช่นว่าไปโรงแรมไหน) เลยอาจจะต้องรอค่อนข้างนาน ผู้เขียนลงเอยด้วยการรออยู่ในบริเวณนี้ราวห้าชั่วโมงกว่าจะถูกขานหมายเลข และมีคนเยอะมากที่มาถึงทีหลังแต่ถูกขานหมายเลขก่อน ที่ใกล้ๆ มีตู้ขายของอัตโนมัติอยู่ตู้หนึ่งให้คนสามารถซื้อเครื่องดื่มได้ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่วนมาสองสามครั้งเพื่อแจกข้าวปั้นและขนมปังให้ แต่ก็มีหลายคนที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้รับอาหารหรือเครื่องดื่มเลย ฉะนั้นแล้ว ขอให้เตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้ด้วย

Narita orange bus
PhotographerIncognito / Shutterstock.com

เมื่อถูกขานหมายเลข ก็ได้รับแจ้งว่าผลตรวจ PCR ของผู้เขียนเป็นลบและสามารถย้ายไปยังโรงแรมในโตเกียวได้ จากนั้นก็ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองไปพร้อมกับคนที่มุ่งหน้าไปยังปลายทางเดียวกัน รับกระเป๋าที่จุดรับกระเป๋า และมุ่งหน้าผ่านศุลกากรขาเข้า แล้วก็รออยู่กับคนอื่นๆ ราว 30 นาทีเพื่อให้รถบัสมารับ

การเดินทางไปโรงแรมใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมง เราไปถึงหลังเที่ยงคืนไปแล้ว มีการบอกคำแนะนำและกฏพื้นฐานแบบคร่าวๆ ให้รู้ เราได้รับแจกเบนโตะสำหรับมื้อค่ำ จากนั้นก็ถูกส่งตัวขึ้นไปบนห้องทีละคน อย่าลืมกดปุ่ม “เช็กอิน” ในแอปพลิเคชั่น MySOS ทันทีที่ถึงห้องเพื่อบันทึกสถานที่กักตัวของคุณ

เริ่มการกักตัว

Hotel room with view
ห้องโรงแรมพร้อมวิว

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ผู้เขียนก็ถูกส่งขึ้นไปยังห้องที่ต้องอยู่ต่อไปอีกหกวัน เนื่องจากโรงแรมสำหรับกักตัวเป็นโรงแรมธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่จะถูกจัดให้อยู่ในห้องที่ค่อนข้างกระทัดรัด ในห้องประกอบไปด้วยเตียงกึ่งคู่ ห้องน้ำสำเร็จรูปที่มีโถส้วม อ่างล้างหน้าและอ่างอาบน้ำ แล้วก็ยังมีกาต้มน้ำไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตไร้สายและทีวีขนาดใหญ่ให้ไม่ต้องอยู่ว่างเฉยๆ ถึงจะมีพื้นที่น้อยนิดไว้ให้เปิดกระเป๋า แต่เตียงก็สูงพอที่จะเก็บกระเป๋าไว้ข้างใต้เวลาที่ไม่ต้องการใช้ได้ บนโต๊ะทำงานมีพื้นที่เพียงพอสำหรับเก็บข้าวของที่จำเป็น และมีไม้แขวนเสื้อหลายอันให้ได้เก็บเสื้อโค้ตและเสื้อผ้าอื่นๆ (แต่ไม่มีตู้เสื้อผ้านะ) โดยรวมแล้ว ถึงห้องจะเล็ก แต่ก็ให้ความรู้สึกกว้างเหลือเฟือสำหรับคนที่เดินทางคนเดียว

สิ่งที่ดีที่สุดของห้องก็ต้องเป็นวิวอย่างแน่นอน! ห้องหันไปทางโตเกียวสกายทรี และอากาศก็ดีเป็นส่วนใหญ่ ฟ้าเปิดจนมองเห็นชัดไปถึงภูเขาที่อยู่ไกลๆ เลย โตเกียวสกายไลน์ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามอยู่แล้วด้วย ก็เลยได้ชมวิวสวยๆ ตลอดทั้งวันไปหกวัน!

อาหารกักตัว – เบนโตะเสี่ยงทาย

โรงแรมที่อยู่สามารถเลือกได้ว่าจะรับเบนโตะแบบปกติหรือมังสวิรัติ ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้ชอบเนื้อสัตว์เป็นพิเศษเลยเลือกแบบมังสวิรัติไป เจ้าหน้าที่ยังถามด้วยว่ามีแพ้อะไรบ้างหรือเปล่า ซึ่งก็ได้แจ้งทางนั้นไป แต่ก็เคยได้ยินเรื่องที่หลายๆ โรงแรมมีเบนโตะแบบที่มีข้อจำกัดด้านอาหารเอาไว้ไม่พอ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะได้รับเบนโตะแบบปกติแม้จะขออีกแบบไปก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจว่าเราสามารถขออาหารแบบพิเศษได้ที่จุดตรวจที่สนามบิน แต่ไม่มีใครถามผู้เขียน ดูเหมือนว่าอาจจะแค่โชคดีสินะ

คุณจะได้รับเบนโตะสำหรับมื้อเช้า กลางวันและเย็น จะมีการประกาศเกี่ยวกับเบนโตะผ่านระบบเสียงตามสายของโรงแรมสองครั้งเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ประกาศแรกคือตอนที่เบนโตะกำลังถูกนำไปส่งยังแต่ละห้อง ขอให้ผู้เดินทางอยู่ในห้องจนกว่าจะได้ยินประกาศครั้งที่สองเพื่อเป็นการรับประกันว่าจะไม่มีการสัมผัสกับเจ้าหน้าที่และเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ ประกาศครั้งที่สองจะเกิดขึ้นในอีกหลายนาทีต่อมาเพื่อบอกว่าสามารถเปิดประตูออกมารับเบนโตะได้ การได้ฟังประกาศภาษาอังกฤษครั้งที่สองผิดมันก็สนุกดีนะ ประมาณว่า:

“โปรดทราบ เราเอาส่งอาหารไว้ด้านนอกห้องของท่านแล้ว โปรดสวมหน้ากากและเผลอลืมขังตัวเองไว้นอกห้องอย่างระมัดระวังด้วยกุญแจที่ทิ้งอยู่ในห้อง ขอบคุณ”

อันที่จริง อย่าได้ขังตัวเองไว้นอกห้องเชียว

คุณไม่มีทางรู้เลยว่าในเบนโตะแต่ละกล่องนั้นมีอะไร แต่จริงๆ แล้วผู้เขียนค่อนข้างสนุกกับการลุ้นทุกครั้งที่เปิดกล่องว่าจะได้เจอกับอะไร ในกรณีของผู้เขียน แต่ละกล่องจะมาพร้อมกับขวดน้ำและถ้วยผลไม้ซึ่งมีทั้งที่เป็นผลไม้สดและผลไม้กระป๋อง มีที่ผิดหวังอยู่สองสามครั้ง (ดูรูปเบนโตะมื้อเช้า ได้เป็นข้าว โซเมงและสลัดมักกะโรนี มีแต่แป้งทั้งนั้น) แต่ส่วนมากแล้วก็แฮปปี้นะ แต่ต้องเตรียมใจไว้ว่าเบนโตะจะมาถึงแบบเย็นชืดแล้วและในห้องไม่มีอุปกรณ์ใดๆ มาใช้อุ่นร้อนได้เลย

เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็สามารถมัดรวมขยะในถุงพลาสติกที่โรงแรมจัดไว้ให้และทิ้งไว้นอกประตูได้ รู้สึกขอบคุณมากที่ไม่มีการจำกัดเวลาทิ้งขยะ เลยไม่ต้องรีบกินอาหารให้เสร็จ จะมีพนักงานแวะเวียนมาเก็บขยะที่วางไว้นอกประตูเป็นระยะๆ

ภารกิจรายวันของการกักตัว – สิ่งที่ต้องทำในช่วงกักตัว

การกักตัวมีความหมายค่อนข้างชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ติดแหง็กอยู่ในห้อง ออกไปไหนหรือเจอใครก็ไม่ได้ นี่จึงแปลว่าคุณมีเวลาว่างมากมายให้ฆ่าทิ้งเล่น แต่โชคดีที่ผู้เขียนสามารถทำตัวเองให้ยุ่งอยู่กับงานและสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจอื่นๆ ที่เอาติดตัวมาด้วยได้ แต่ช่วงเวลาส่วนตัวของคุณจะถูกขัดจังหวะวันละหลายๆ ครั้งเพื่อเช็กว่าคุณทำตามกฏที่กำหนดไว้หรือไม่

วัดอุณหภูมิรายวัน

Quarantine thermometer

โรงแรมที่อยู่กำหนดให้ผู้เดินทางวัดอุณหภูมิ (ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ที่โรงแรมจัดให้) และรายงานผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติผ่านการสแกน QR code ทุกเช้า ผู้เขียนถูกโทรตามจากโทรศัพท์ของโรงแรมอยู่ครั้งหนึ่งเพราะส่งรายงานเร็วไม่พอ การกักตัวเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการพักผ่อนหลังจากการเดินทางอันเคร่งเครียดก็จริง แต่การหลับแบบไม่โดนกวนในทุกเช้านั้นถือว่าเป็นไปไม่ได้เลย

การแจ้งเตือนจาก MySOS

MySOS quarantine app

MySOS จะมีบันทึกวันสุดท้ายของการกักตัวอยู่ในแอปพลิเคชั่น และคุณจะได้รับการแจ้งเตือนหลายครั้งในทุกๆ วันจนกว่าจะสิ้นสุดการกักตัว นี่รวมถึงที่ต้องกดปุ่มเพื่อบันทึกว่าคุณอยู่ในสถานที่กักตัว (จะถูกเชื่อมไว้กับ Google Maps ฉะนั้น ห้ามโกง) มีสายโทรเข้าผ่านทางแอปพลิเคชั่น (จะเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติหรือคนจริงๆ ก็ได้ แต่ผู้เขียนเจอระบบตอบรับอัตโนมัติทุกครั้ง) และการตรวจสุขภาพรายวัน คุณต้องตอบรับการแจ้งเตือนเหล่านี้ทันทีที่ได้รับ ไม่อย่างนั้นจะถือว่าเป็นโมฆะ

ชุดตรวจ PCR

PCR spit test instructions

ระยะเวลากักตัวของผู้เขียนคือหกวัน จึงต้องตรวจ PCR ในวันที่สามและหกของการกักตัว ถ้าผลของทั้งสองครั้งออกมาเป็นลบ ก็สามารถย้ายออกไปยังสถานีกักตัวต่อไปได้ ในกรณีของผู้เขียน ชุดตรวจ PCR จะแจกให้ราว 06:30 น. และรับกลับไปราว 07:00 น. จะมีประกาศผ่านเสียงตามสายแจ้งให้ทราบเมื่อมีการแจกชุดตรวจ PCR

ชุดตรวจเป็นแบบตรวจด้วยน้ำลาย ฉะนั้น หลังจากที่เก็บตัวอย่างน้ำลายในหลอดตามปริมาณที่กำหนดแล้ว เราก็จะเก็บหลอดไว้กับตัวจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาเก็บไปทีละคน นี่เป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เพียงครั้งเดียวที่มีตลอดช่วงเวลานี้ คือการที่เปิดประตูส่งที่ตรวจและตอบคำถามสองสามข้อว่ารู้สึกเป็นยังไงบ้าง

โชคดีที่ผลเป็นลบทั้งสองครั้ง และผู้เขียนได้รับแจ้งผลทางโทรศัพท์ตอนช่วงบ่าย.

ออกจากโรงแรมที่กักตัว

Hotel view daytime

เมื่อถึงวันที่หก ก็ดูให้แน่ใจว่าเก็บข้าวของเรียบร้อยเพื่อเตรียมออกจากโรงแรม (แล้วก็เพราะห้องไม่ได้มีพื้นที่หรือมีเหตุผลอะไรให้รื้อกระเป๋าด้วย) และรอผลตรวจ PCR ด้วยความตื่นเต้น

ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากทางโรงแรมราว 14:00 น.แจ้งให้ทราบว่าผลตรวจเป็นลบและจะมีรถบัสกลับไปยังสนามบินมาถึงทีหลัง ผู้เขียนได้รับแจ้งให้รออยู่ในห้องจนว่าจะถูกเรียกตัวเพื่อลงไปขึ้นรถ เลยฆ่าเวลารอด้วยการดูทีวีและมองวิวสวยๆ นอกหน้าต่าง

ประมาณหนึ่งชั่วโมงให้หลังก็ได้รับสายอีกครั้ง แจ้งว่ารถบัสมาถึงแล้ว ให้ลงมาข้างล่างทันที จึงรีบหยิบกระเป๋าและมุ่งหน้าลงไปทักทายกับเจ้าหน้าที่ที่รีบนำทางและยกกระเป๋าขึ้นรถบัส ผู้เขียนกับผู้เดินทางคนอื่นๆ ถูกส่งกลับไปยังนาริตะ ซึ่งได้ไปพบกับรถที่ได้จ้างเอาไว้พากลับที่พักเพื่อรอให้ครบกำหนดช่วงระยะเวลากักตัว ระยะเวลากักตัวทั้งหมด ณ ตอนกลับสู่ญี่ปุ่นคือสิบวัน และในเมื่อกักตัวที่โรงแรมไปแล้วหกวัน เลยยังต้องกักตัวอีกสี่วันในที่พักส่วนตัว อย่าลืมกดปุ่ม “เช็คอิน” อีกครั้งตอนที่คุณถึงปลายทางที่สอง แอปพลิเคชั่นจะได้ทำการบันทึกสถานที่กักตัวใหม่ของคุณ

เคล็ดลับเล็กๆ สำหรับการกักตัวที่โรงแรม

จำเรื่องต่อไปนี้ให้ขึ้นใจ แล้วการกักตัวที่โรงแรมของคุณจะราบรื่นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้:

  • อย่าพกของเยอะแยะไว้ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องและเก็บเอกสารไว้ในที่ที่หยิบได้ง่าย เพราะคุณจะต้องเดินจากจุดตรวจหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งทั่วสนามบิน
  • วางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัว จะได้ตอบรับแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชั่น MySOS ได้อย่างรวดเร็ว
  • หลังจากกักตัวที่โรงแรมแล้ว คุณต้องกลับไปยังปลายทางที่คุณมาถึงญี่ปุ่น เช็คกับคนขับรถของคุณให้ดีว่าต้องมารับที่สนามบิน ไม่ใช่ที่โรงแรมคุณถูกส่งตัวไป
  • การจะระบุเวลากลับสนามบินให้แน่ชัดเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นแล้ว พยายามทำการจองแบบที่สามารถยืดหยุ่นได้ (เช่น ให้กรอบระยะเวลาแบบกว้างๆ หรือหาบริการที่สามารถแจ้งเรื่องให้พวกเขาทราบทีหลังได้หากคุณจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจอง)
  • พกขนมหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปติดตัวไปด้วยเผื่อคุณจะหิวหรืออยากกินอะไรร้อนๆ

การกักตัวที่บ้าน

ถึงจะไม่ต้องรายงานอุณหภูมิกับทางโรงแรมหรือทำการตรวจ PCR อีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังต้องตอบรับการแจ้งเตือนจาก MySOS อยู่ดีจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของการกักตัว (ซึ่งรวมถึงการกักตัวที่บ้านด้วย)

ผู้เขียนไม่ได้ออกไปข้างนอกในช่วงนี้ แล้วก็โชคดีพอที่มีเพื่อนซื้ออาหารเข้ามาให้ ตอนที่ระยะเวลาในการกักตัวทั้งหมดสิ้นสุดลง ก็ได้รับข้อความขอบคุณจาก MySOS ที่ให้ความร่วมมือ

สิ้นสุดการกักตัว

ผู้เขียนคิดว่าควรเตรียมใจไว้ก่อนเลยว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนุกแล้วก็ไม่ตื่นเต้นกับการกักตัวในญี่ปุ่น แถมยังขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ เพราะบางคนก็ได้ไปอยู่ที่ดีกว่าคนอื่นมาก แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็ดีใจที่ได้รู้ว่าต้องกักตัวนานเท่าไหร่ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกอย่างล้วนไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ! ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งนี้ก็เพื่อปกป้องความเป็นอยู่ของคนในท้องที่ เลยไม่รังเกียจที่จะปฏิบัติตาม

เตรียมตัวให้พร้อม เตรียมของฆ่าเวลาให้ดีและอย่าลืมทำตามกฏ และใช้ช่วงเวลานี้ในการพักผ่อนหลังจากที่ต้องลงแรงไปเยอะมากเพื่อกลับมาญี่ปุ่น

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: