ของหายได้คืนจริงไหม? 10 เรื่องแปลกแต่จริงของญี่ปุ่น!

Oyraa

ความประทับใจแรกเกี่ยวกับญี่ปุ่นของคุณคืออะไร? หลายคนอาจจะเคยได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับความปลอดภัยและความใจดีของคนญี่ปุ่นรวมถึงเรื่องราวไม่น่าเชื่ออีกหลายอย่าง จริงหรือที่คนขับรถไฟหรือรถบัสจะกล่าวขอโทษผู้โดยสารถึงแม้จะมาสายเพียงแค่ไม่กี่นาที หรือหากทำของมีค่าหายบนถนนจะได้คืนอย่างแน่นอน เรื่องแปลกๆ แบบนี้จะจริงแค่ไหนกันเชียว หากคุณอยากได้คำตอบ พวกเราก็พร้อมจะเล่าให้ฟังกันในบทความนี้ ว่าแล้วก็ไปดูกันเลย!

1. ปลอดภัยจนหลับบนรถไฟโดยทิ้งมือถือไว้บนตักได้

sleeping on Tokyo subway
DutchMen / Shutterstock.com

รถไฟเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญมากในประเทศญี่ปุ่น ภาพของผู้โดยสารที่นั่งหลับบนรถไฟก็เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้คนที่ยุ่งมากๆ หรือกำลังเดินทางกลับจากการทำงาน ที่ฉวยโอกาสสั้นๆ นี้ในการพักผ่อนเติมพลังกัน แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเห็นคนหลับโดยมีโทรศัพท์มือถือ หรือกระเป๋าเปิดกว้างอยู่บนตัก คนยืนหลับในรถไฟที่แน่นเอี๊ยด หรือเแม้แต่คนที่สัปหงกระหว่างรอรถไฟอยู่บนชานชาลา หากเป็นประเทศอื่นๆ นี่คงเป็นโอกาสทองของมิจฉาชีพเลยทีเดียว ดังนั้น ภาพเหล่านี้จึงบ่งบอกถึงระดับความปลอดภัยในประเทศญี่ปุ่นได้ดีมาก

ด้วยความปลอดภัยนี้ ผู้คนจึงกล้าหลับในที่สาธารณะ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อีกหนึ่งสาเหตุก็คือการที่รถไฟที่ญี่ปุ่นถูกออกแบบมาให้สะดวกสบาย เก้าอี้บนรถไฟในหลายประเทศมักทำจากพลาสติกแข็ง ในขณะที่รถไฟที่ญี่ปุ่นเป็นเบาะนวมที่ทำให้ผู้นั่งรู้สึกอบอุ่นและสบายตัว นอกจากนี้ก็ยังมีระบบแอร์และฮีทเตอร์ที่ดีจนทำให้เผลอหลับกันได้ง่ายๆ เลยทีเดียว แน่นอนว่าวัฒนธรรมการทำงานแต่เช้าจนถึงดึกของญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเช่นกัน แต่การหลับบนรถไฟจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยมหรือรถไฟที่แสนสบายเช่นนี้

2. ทำกระเป๋าสตางค์หายก็จะได้คืน

crowded street in Tokyo
Shawn.ccf / Shutterstock.com

อีกหนึ่งเรื่องในตำนานที่รู้กันทั่วโลกก็คือ “หากใครทำกระเป๋าเงินหายที่ญี่ปุ่น จะได้คืนแน่ๆ “

จากรายงานของกรมตำรวจนครบาลโตเกียวเมื่อปี 2019 พบว่าในปี 2018 มีเงินหายที่ถูกนำส่งคืนเจ้าของมากกว่า 3,839,000,000 เยน (ราว 1.1 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในทุกปี อย่างไรก็ตาม ยอดเงินหายที่ตำรวจได้รับการรายงานนั้นอยู่ที่ 8,480,000,000 เยน (ราว 2.4 พันล้านบาท) กล่าวคือมีเพียง 45.7% ของเงินที่หายเท่านั้นที่ได้รับการนำส่งตำรวจ

นอกจากนี้ จำนวนเงินที่ถูกคืนให้เจ้าของสำเร็จก็ยังมีเพียงแค่ 2,820,000,000 เยน โดยที่อีก 500,000,000 เยนถูกใช้เป็นรางวัลสำหรับผู้นำส่งคืนหากไม่สามารถหาตัวเจ้าของได้ และ 560,000,000 เยนที่เหลือก็กลายเป็นรายได้ของกรมตำรวจนครบาลเนื่องจากไม่สามารถหาเจ้าของได้และผู้พบเจอก็ปฏิเสธที่จะรับเงิน

two Japanese women on their phone
Wei Ling Chang / Shutterstock.com

สรุปคือ เราสามารถพูดได้ว่าข่าวลือนี้พอจะมีความจริงอยู่บ้าง แม้แต่ในโตเกียวกันแสนวุ่นวายในยุคที่เทคโนโลยีทำให้ผู้คนห่างเหินกันไป ก็ยังมีคนที่ยังนึกถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่นอยู่มากมายเช่นกัน

เพียงแค่ดูจากข้อมูลเหล่านี้ก็คงนึกภาพตามไม่ยากว่าญี่ปุ่นปลอดภัยขนาดไหน และการนำของหายไปส่งคืนที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดหรือแผนกของหายที่สถานีรถไฟก็ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งในญี่ปุ่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเงิน ใบขับขี่ ตั๋วรถไฟ กุญแจ กระเป๋า เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของที่ไม่ได้มีมูลค่ามากอย่างร่มก็ยังมีคนนำส่งคืนมากถึง 343,725 ชิ้นในปี 2018 ในขณะที่มีเพียง 6,154 ชิ้นเท่านั้นที่ได้รับรายงาน ซึ่งอาจเป็นเพราะของเหล่านี้สามารถซื้อใหม่ได้ไม่ยาก เจ้าของจึงมักไม่ได้ใส่ใจจะตามหานั่นเอง

3. ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชอบซดเมนูเส้นเสียงดัง?

slurping somen at Japanese restaurant
oneinchpunch / Shutterstock.com

ที่ญี่ปุ่นมีขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารอยู่ไม่น้อย เช่น การใช้ตะเกียบ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือวัฒนธรรมการรับประทานเมนูเส้นเสียงดังๆ

เวลาเห็นคนญี่ปุ่นซดราเมงเสียงดัง ใครที่ยังไม่คุ้นเคยก็อาจจะคิดว่า “เราก็ควรทำด้วยไหนนะ?” หรือ “นั่นทำให้อาหารอร่อยขึ้นหรือเปล่า?” ซึ่งความจริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องทานเมนูเส้นแบบนั้นเลย การซดราเมงเสียงดังไม่ได้นับเป็นมารยาทที่ดี แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพแต่อย่างใด ส่วนจะทำให้อาหารอร่อยขึ้นไหมก็ขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนบุคคลล้วนๆ

อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีที่ว่าหากซดเส้นราเมงเสียงดังจะทำให้ซุปที่เคลือบอยู่บนเส้นไม่ไหลกลับลงไปในชามก่อนเข้าปาก ทำให้ได้รสชาติและกลิ่นหอมของน้ำซุปมากกว่า นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะซดเสียงดัง

หากมองลึกลงไปอีกหน่อย วัฒนธรรมเช่นนี้ก็อาจโยงเข้ากับความชื่นชอบในความเรียบง่ายของคนญี่ปุ่นได้ด้วย คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะทำทุกอย่างอย่างเรียบง่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แม้แต่คำศัพท์ต่างๆ ก็ยังมักถูกย่อให้สั้นที่สุด เช่น การเรียกสมาร์ทโฟนว่า “สุมาโฮะ” (Sumaho) หรือเรียกสตาร์บัคส์ว่า “สุตาบะ” (Sutaba) นี่ยังไม่รวมคำย่ออีกนับไม่ถ้วน ดังนั้น การซดเส้นราวกับเครื่องดูดฝุ่นอย่างที่ปฏิบัติกันทั่วไปนี้ก็อาจเป็นวิธีการรับประทานเมนูเส้นยาวๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุดที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านการลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานานก็ได้

ถึงแม้คนส่วนมากจะชอบการซดเส้นเสียงดัง แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนก็เลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น หากคุณอยู่ในร้านราเมงที่ญี่ปุ่นและยังไม่กล้าที่จะซดเส้นเสียงดังก็ไม่ต้องกังวลไป รับประทานในแบบที่คุณสบายใจได้เลยเพราะอย่างไรเสีย การซดเส้นแบบนี้ก็ไม่ได้มีผลต่อรสชาติเท่าไรอยู่แล้ว

4. ถึงจะไม่มีถังขยะในที่สาธารณะ แต่เมืองก็สะอาดสะอ้าน

clean Japanese city
Morn Stock / Shutterstock.com

หากอยู่ในญี่ปุ่นได้สักระยะหนึ่ง หลายคนคงพอจะสังเกตได้ว่าที่นี่ไม่ค่อยมีถังขยะให้เห็นเท่าไรนัก หากจะมีส่วนใหญ่ก็คงเป็นที่ทิ้งขวดและกระป๋องข้างตู้ขายน้ำอัตโนมัติเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็แทบไม่มีขยะทิ้งไม่เป็นที่ให้เห็นเลย หากคุณสงสัยว่าคนญี่ปุ่นจัดการกับขยะอย่างไรในโลกที่ไม่มีถังขยะเช่นนี้ เราก็มีบทความอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว!

นอกเหนือจากบริเวณข้างตู้ขายน้ำอัตโนมัติแล้ว คุณจะพบเห็นถังขยะสาธารณะได้ตามร้านสะดวกซื้อ ภายในสถานีรถไฟ และตามสวนสาธารณะต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีถังขยะอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คนญี่ปุ่นก็จะเก็บขยะใส่กระเป๋าไว้เพื่อนำไปทิ้งหากบังเอิญเจอถังขยะพอดี หรือนำกลับมาทิ้งที่บ้านเลย ถนนหนทางจึงสะอาดปราศจากขยะ และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะระบบการศึกษาของญี่ปุ่นนั่นเอง

นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนของญี่ปุ่นจะไม่มีภารโรง การรักษาความสะอาดภายในโรงเรียนจะเป็นหน้าที่ของนักเรียนตลอดระยะเวลา 12 ปีของการศึกษาภาคบังคับ ในแต่ละวันจะมีช่วงเวลาสำหรับทำความสะอาดซึ่งส่วนมากจะเป็นหลังพักกลางวัน นักเรียนจะต้องทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้ใช้ไปโดยมีหลักการว่า “ต้องทำให้สะอาดกว่าตอนแรก” คนญี่ปุ่นจึงตระหนักถึงหน้าที่ในการรักษาความสะอาดของเมืองและสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในโรงเรียนยังมีการสอนให้นักเรียนปฏิบัติตามคนหมู่มาก เนื่องจากเชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อผู้อื่นทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง ตนเองจึงควรทำด้วยเช่นกัน

ถังขยะในที่สาธารณะถูกนำออกไปเนื่องจากการก่อการร้ายในรถไฟใต้ดินที่โตเกียวเมื่อปี 1995 แต่ผู้คนก็ยังคงสามารถรักษาความสะอาดของเมืองได้เป็นอย่างดี

5. เจ้าแห่งการต่อคิว! เพราะคนญี่ปุ่นทำตามกฎเป็นชีวิต

long queue outside of Sushi restaurant Japan
AMMLERY / Shutterstock.com

ในญี่ปุ่นคุณจะได้เห็นคนต่อแถวอย่างเป็นระเบียบกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการรอคิวร้านอาหารชื่อดัง หรือการรอขึ้นรถไฟและรถบัส ในสถานการณ์ใดก็ตามที่มีคนจำนวนมากต้องการใช้อะไรบางอย่าง ก็เป็นที่รู้กันว่าจะต้องเข้าแถวต่อจากคนที่อยู่ข้างหน้าเสมอ

แบบแผนนี้มีที่มาจากวัฒนธรรมในการเคารพคนหมู่มากที่ได้รับการสอนมาตั้งแต่ในโรงเรียน แน่นอนว่าการต่อคิวนั้นไม่ได้มีแค่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมองว่าทุกคนควรทำตามกฎเสมอ เวลาขึ้นรถไฟคนที่ต่อคิวอยู่หน้าสุดก็จะได้ขึ้นรถก่อนเสมอ หรือเวลาขึ้นบันไดเลื่อนทุกคนก็จะยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งเพื่อเปิดทางให้กับคนที่กำลังรีบด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวร้านราเมง ร้านขนม ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง หรือเครื่องเล่นในสวนสนุก คนญี่ปุ่นล้วนแต่นึกถึงคนรอบข้างและทำให้ทุกคนสบายใจด้วยการต่อคิวอย่างเป็นระเบียบโดยไม่ต้องมีใครมาสั่งนั่นเอง

6. คุณจะได้รับคำขอโทษหากรถบัสหรือรถไฟมาช้าเพียงไม่กี่นาที

keikyu station platform japan
Jheng Yao / Shutterstock.com

ระบบขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพและความตรงต่อเวลาสูงที่สุดในโลก ในต่างประเทศรถบัสและรถไฟอาจดีเลย์กันเป็นเรื่องปกติ แต่ในญี่ปุ่นเพียงช้าไป 2 – 3 นาทีก็จะได้รับคำขอโทษจากคนขับรถหรือนายสถานี อีกทั้งยังมีการออกใบรับรองความล่าช้าให้ด้วย สำหรับในญี่ปุ่นแล้วเป็นที่รู้กันว่าการมาถึงก่อน 5 นาทีถือว่าตรงเวลา และการมาช้าก็เป็นสิ่งต้องห้าม

ดังนั้น หากบริษัทขนส่งมวลชนไม่สามารถตรงต่อเวลาได้จึงต้องมีการประกาศขอโทษรวมถึงชี้แจงสาเหตุของความล่าช้านั้นด้วย ต่อให้สาเหตุนั้นจะเป็นสภาพอากาศที่เลวร้าย มีอุบัติเหตุบนรางรถไฟหยุดรถฉุกเฉินเพื่อปฐมพยาบาลผู้ป่วย หรืออะไรที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทางบริษัทก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบอยู่ดี

ระบบขนส่งสาธารณะส่วนใหญ่จะประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่เส้นทางที่มีนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติอาศัยอยู่เยอะมักจะประกาศภาษาอังกฤษขึ้นบนจอด้วย จึงควรสังเกตดูให้ดีว่ามีความล่าช้าเกิดขึ้นหรือไม่

7. ทำไมคนใส่หน้ากากอนามัยเยอะเหลือเกิน?

two Japanese women wearing masks
ASkwarczynski / Shutterstock.com

มีคนจำนวนไม่น้อยที่พูดถึงญี่ปุ่นว่า “มีแต่คนใส่หน้ากากอนามัย” หากไม่นับเรื่องโควิด แทบไม่มีประเทศไหนเลยที่สวมหน้ากากอนามัยเป็นปกติในชีวิตประจำวันนอกจากบางประเทศในเอเชีย บางที่อาจไม่มีหน้ากากอนามัยให้เห็นนอกโรงพยาบาลหรือในภาพยนต์ด้วยซ้ำ แต่ในญี่ปุ่นนั้น การสวมหน้ากากอนามัยถือเป็นกิจวัตรประจำวันของใครหลายๆ คนเลยทีเดียว

จุดประสงค์ในการใส่หน้ากากอนามัย คือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเมื่อเป็นหวัดหรือเพื่อป้องกันการติดหวัดจากผู้อื่น ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็มักจะสวมเพื่อป้องกันตัวจากภูมิแพ้ตามฤดูกาลในช่วงฤดูใบไม้ผลิจนถึงต้นฤดูร้อน นอกจากนี้ ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนก็ยังใช้เพื่อปกปิดหน้าสดของตัวเองด้วย รวมถึงเหล่าคนดังก็มักจะสวมหน้ากากเพื่อปลอมตัวในที่สาธารณะเช่นกัน

ในช่วงหลายปีมานี้มีความต้องการหน้ากากอนามัยในฐานะเครื่องประดับแฟชั่นมากขึ้น หลายคนเลือกสวมหน้ากากอนามัยเพื่อให้ดูมีสไตล์เหมือนกับการใส่แว่นปลอมถึงแม้ว่าจะไม่มีความจำเป็นก็ตาม อีกทั้งหน้ากากอนามัยยังสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายยา จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มันกลายเป็นของที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับชาวญี่ปุ่น

8. ความจริงเบื้องหลังภาพพจน์บ้างานของคนญี่ปุ่น

crowd in shinagawa station
rweisswald / Shutterstock.com

หลายคนคงจะเคยได้ยินเสียงเล่าลือในอินเทอร์เน็ตว่า “คนญี่ปุ่นทำงานมากเกินไป” แม้แต่คำว่า “คะโรชิ“ (過労死) ซึ่งหมายถึง “การเสียชีวิตเพราะทำงานหนักเกินไป” ยังโด่งดังไปทั่วโลก

ถึงแม้ทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานของชาวญี่ปุ่นจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ แต่วัฒนธรรมองค์กรที่หนักหนาสาหัสในอดีตก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น การคาดหวังให้พนักงานอยู่ทำงานล่วงเวลาตอนกลางคืนนอกเหนือจากเวลาทำการเป็นต้น ตัวอย่างหนึ่งที่อาจช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นคือการที่บริษัทที่ให้ทำโอทีต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังถือว่าเป็น “บริษัทสีขาว” หรือปฏิบัติตามจรรยาบรรณ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานจนถึงเที่ยงคืน ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้ายทันแบบหวุดหวิด และยังต้องกลับมาทำงานตอน 7 โมงเช้าของวันถัดไป บางคนก็เลือกจะนอนที่บริษัทเลยด้วยซ้ำ ในเคสที่แย่ที่สุด การทำงานในลักษณะนี้อาจทำให้คนเสียชีวิตจากการทำงานหนัก หรือเลือกจบชีวิตตัวเองเนื่องจากความเครียดได้เลยทีเดียว

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีผู้ชาย 80.7 คน และผู้หญิง 27.3 คนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองในทุกวันจันทร์ นอกจากนี้ ช่วงขึ้นปีงบประมาณใหม่ในบริษัทญี่ปุ่นอย่างช่วงฤดูใบไม้ผลิยังมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าในฤดูกาลอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตการทำงานอันน่าสลดใจในญี่ปุ่นด้วย

ถึงแม้ว่าช่วงนี้บริษัทหลายแห่งจะพยายามพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น แต่วัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในบริษัทอีกไม่น้อยเช่นกัน

9. คนญี่ปุ่นคำนับในทุกสถานการณ์ ทำไมถึงสุภาพขนาดนี้?!

convenience store counter Japan family mart
Luke W. Choi / Shutterstock.com

มารยาทเป็นสิ่งที่สำคัญมากในประเทศญี่ปุ่น และหนึ่งในกิริยาท่าทางที่สำคัญที่สุดก็คือการโค้งคำนับหรือ “โอจิกิ” (お辞儀) การโค้งคำนับเช่นนี้เป็นเพียงการแสดงความเคารพต่อผู้อื่นเท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา สามารถใช้ได้ทั้งในการทักทายและแสดงคำขอบคุณ

การโค้งคำนับสามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์ โดยองศาในการคำนับนั้นจะแตกต่างกันออกไป หากเป็นการทักทายคนรู้จักอย่างไม่เป็นทางการ จะเป็นการโค้งน้อยๆ ประมาณ 15 องศา หรือที่เรียกว่า “เอชาคุ” (会釈) แต่หากต้องการทักทายผู้ที่อาวุโสกว่า เวลาขอโทษ หรือเวลาต้องการแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้ง การคำนับ 30 องศาหรือ “เคเร” (敬礼) จะเหมาะสมที่สุด ส่วนการคำนับ 45 องศาหรือ “ไซเคเร” (最敬礼) นั้นจะใช้เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงสุด อันนี้แม้แต่คนญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องฝึกใช้ให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน

หากใครย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น ไม่นานก็คงจะจดจำการคำนับรูปแบบต่างๆ ได้เองอย่างอัตโนมัติ แต่การคำนับอย่างไม่เป็นทางการหรือ “เอชาคุ” นั้นควรจำไว้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีโอกาสให้ใช้เยอะและมักใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาขอบคุณแคชเชียร์หลังจากจ่ายเงินเสร็จ หรือขอบคุณคนที่เก็บของตกให้บนถนน โดยเฉพาะเวลาซื้อของ เป็นเรื่องปกติมากที่จะใช้การคำนับเบาๆ แทนการกล่าวขอบคุณด้วยคำพูด

10. บริการในญี่ปุ่นพิถีพิถันเสมอเลยหรือ? ความจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรม “โอโมเตะนาชิ” ที่น่าทึ่ง

customer at outdoor stall Japan
dekitateyo / Shutterstock.com

ญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากนักร้องเพลงเองกะ (Enka เพลงพื้นเมืองของญี่ปุ่น) ท่านหนึ่งที่โด่งดังในกลุ่มคนในรุ่นเดียวกัน ด้วยความสามารถและเสน่ห์ของเขา คำพูดนี้จึงเป็นที่นิยมตามไปด้วย เขากล่าวไว้ว่า “สำหรับนักแสดงแล้ว ต้องทำให้คนดูพึงพอใจ ผมจึงคิดว่าพวกเขาเป็นพระเจ้าในระหว่างร้องเพลง”

“ลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นทั้งสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น เวลาขายสินค้าหรือให้บริการ เจ้าของธุรกิจจึงควรทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่น่าพึงพอใจที่สุดเท่าที่จะทำได้” นี่เป็นแนวคิดที่หยั่งรากลึกในธุรกิจการค้าขาย ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมต่างๆ

อีกหนึ่งเหตุผลที่อาจทำให้คนญี่ปุ่นนิยมต้อนรับแขกเป็นอย่างดีก็คือ การที่คนญี่ปุ่นลงทุนกับความประทับใจแรกเป็นอย่างมาก ร้านค้าส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมักจะเข้มงวดกับเครื่องแบบ ทรงผม และการแต่งหน้าของพนักงานเพื่อสร้างความประทับใจแรกที่ดีให้กับลูกค้า แม้กฎระเบียบเหล่านี้จะมีอยู่ในสายการบินและโรงแรมทั่วโลก แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นจะเน้นรายละเอียดบางอย่างเป็นพิเศษ เช่น ภาพลักษณ์ที่สะอาดสะอ้าน หรือการพูดคุยอย่างสุภาพ เพื่อให้ลูกค้าคิดว่าบริการที่นี่ช่างยอดเยี่ยมนั่นเอง

ร้านอาหารเองก็มักจะยึด “โอโมเตะนาชิ” ที่ละเอียดและพิถีพิถันนี้เป็นพิเศษ พอลูกค้าเข้าร้านก็จะต้อนรับด้วยคำว่า “อิรัชไชมาเสะ” (ยินดีต้อนรับ)” พร้อมกับรอยยิ้ม เมื่อมาถึงที่นั่งแล้วก็จะพบกับตะกร้าสำหรับใส่กระเป๋าที่พื้นเพื่อไม่ให้กระเป๋าเปื้อน วางผ้าเปียกไว้ให้เช็ดมือก่อนเสิร์ฟอาหาร แล้วตามด้วยน้ำเย็นหนึ่งแก้ว

ผู้คนมักจะบอกว่าคนญี่ปุ่นน่ารักมาก แต่แท้จริงแล้วที่พวกเขาพูดถึงนั้นหมายถึงการบริการแบบโอโมเตะนาชินั่นเอง

ส่งท้าย

Japanese women walking down the street
Ned Snowman / Shutterstock.com

คนที่เพิ่งเคยมาญี่ปุ่นอาจรู้สึกว่าหลายอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นในบทความนี้น่าประหลาดใจและเป็นเอกลักษณ์ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน หลายคนอาจรู้สึกว่าการปรับตัวกับคัลเจอร์ช็อคเป็นเรื่องยาก แต่หากเริ่มชินแล้วคุณก็อาจจะเพลิดเพลินไปกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายๆ อย่างก็ได้!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: