บอกวิธี “ลาออกจากบริษัทในญี่ปุ่น” ต้องทำอะไรบ้าง ไปดูกัน!

Oyraa

การจะลาออกจากบริษัทในญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่แค่เดินไปยื่นใบลาออกให้ฝ่ายบุคคลแล้วก็เดินออกจากบริษัทได้เลย แต่จะต้องมีการเตรียมเอกสารและขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกไม่น้อย หากคุณต้องการจะเปลี่ยนงาน ย้ายบริษัท หรือลาออกจากบริษัทเดิมด้วยเหตุผลส่วนตัวแล้วล่ะก็ บทความนี้จะเป็นเหมือน Checklist สำหรับเตรียมความพร้อมในการลาออกของคุณได้เลยล่ะ

สิ่งที่ต้องทำก่อนถึงวันลาออก

1. กำหนดวันที่จะลาออก

ตามกฎหมายแรงงานของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ลูกจ้างต้องแจ้งลาออกแก่บริษัทล่วงหน้าเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้ บางบริษัทอาจมีกฎของบริษัทที่ขอให้ลูกจ้างแจ้งลาออกล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมตัวหาคนมาแทนและทำการส่งมอบงาน

นอกจากนี้ หากเป็นการลาออกที่ไม่ได้เร่งรีบนัก และใกล้กับช่วงที่โบนัสออกแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้ตรวจสอบเรื่องกฎการจ่ายโบนัสของทางบริษัทด้วยว่าจะจ่ายให้ภายใต้เงื่อนไขใด เช่น จ่ายให้ผู้ที่มีชื่อเป็นพนักงานของบริษัทจนถึงวันที่โบนัสออก หรือจ่ายให้กับผู้ที่ทำงานครบวันที่กำหนดไว้ เป็นต้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราไม่เสียสิทธิ์ในการรับโบนัสนั่นเอง

2. แจ้งหัวหน้า

ขั้นตอนถัดมา คือ คุณจะต้องแจ้งหัวหน้าเพื่อเตรียมส่งมอบงาน และอย่าลืมแจ้งฝ่ายบุคคลเพื่อทำเรื่องเขียนใบลาออกด้วย

3. ทำเรื่องยกเลิกหรือเปลี่ยนประเภทประกันทางเลือกต่างๆ ที่ทำกับบริษัท (หากมี)

ตัวอย่างของประกันเหล่านี้ ได้แก่ ประกันโรคมะเร็ง ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต

4. ทำเรื่องยกเลิกการจ่ายเงินค่าเดินทางรายเดือน (หากมี)

หากบริษัทของคุณมีการสนับสนุนค่าเดินทางรายเดือนให้ คุณก็จำเป็นต้องทำเรื่องยกเลิกในส่วนนี้ด้วย

5. ทำเรื่องยกเลิกการเป็นสมาชิกผู้ถือหุ้นบริษัท (หากมี)

หากบริษัทมีสวัสดิการให้พนักงานซื้อหุ้นของทางบริษัท หรือที่เรียกว่า “โมจิคาบุไค” (持株会) ในราคาพิเศษแล้วล่ะก็ เมื่อลาออกก็มักมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ เปิดบัญชีสำหรับซื้อ-ขายหุ้นส่วนตัว หรือปิดบัญชีสวัสดิการพนักงานแล้วขายหุ้นทั้งหมดเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคาร อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการทำเรื่องปิดบัญชีขายหุ้นคือเราจะไม่สามารถกำหนดวันขายหุ้นได้ แต่ก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน คือ ไม่ยุ่งยากสำหรับคนที่ไม่คิดจะลงทุนต่อ

6. ทำเรื่องยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตร สมาคม หรือสหกรณ์ต่างๆ ของบริษัท (หากมี)

หากคุณสมัครสมาชิกบัตร สมาคม หรือสหกรณ์ต่างๆ ไว้ ก็จำเป็นจะต้องยกเลิกให้เรียบร้อยก่อนวันออกจริงด้วยเช่นกัน

7. แจ้งความจำนงให้บริษัทหักภาษีผู้อยู่อาศัยจากเงินเดือน

ภาษีผู้อยู่อาศัย หรือ “จูมินเซ” (住民税) ที่ต้องจ่ายให้กับเมืองที่อาศัยอยู่นั้น จะมีการเรียกเก็บจากผู้ที่มีทะเบียนบ้านในเมืองนั้นๆ ณ วันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยจะมีการคำนวณยอดเงินจากรายได้ตลอด 1 ปีของผู้เสียภาษี และเริ่มเก็บด้วยการหักจากเงินเดือนเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนของปีถัดไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีหลังจากนั้น ดังนั้น ต่อให้คุณลาออกจากบริษัทมาแล้วก็ยังสามารถแจ้งให้เขาหักภาษีส่วนที่ยังจ่ายไม่ครบจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายได้เลย หรือหากต้องการผ่อนจ่าย ที่ทำการเมืองก็จะส่งใบเรียกเก็บภาษีมาทีหลังได้เช่นกัน

สิ่งที่ต้องทำในวันสุดท้ายที่มาบริษัท

1. คืนบัตรพนักงาน

ก่อนออกจากบริษัทในวันสุดท้าย ก็ต้องไม่ลืมคืนบัตรพนักงานให้กับผู้ที่ฝ่ายบุคคลแจ้งไว้ด้วย

2. คืนของใช้ที่บริษัทให้ยืม (หากมี)

ในกรณีที่บริษัทมีคอมพิวเตอร์ ตู้ล็อกเกอร์ หรืออุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ ให้ยืม คุณก็ต้องนำไปคืนในวันนี้ด้วย

สิ่งที่ต้องทำหลังจากวันที่สิ้นสุดสภาพการเป็นพนักงานบริษัท

1. คืนบัตรประกันสุขภาพพนักงาน

บัตรประกันสุขภาพที่ทางบริษัทออกให้กับพนักงานนั้นมีอายุการใช้งานถึงวันสุดท้ายของการเป็นพนักงาน คุณจึงจำเป็นต้องคืนบริษัทผ่านทางช่องทางที่กำหนดด้วย

2. ทำเรื่องเปลี่ยนรูปแบบของประกันสุขภาพ

รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ ดังนั้น เมื่อลาออกจากงานแล้วก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนรูปแบบประกันสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานภาพการทำงานถัดไป โดยประกันสุขภาพจะมีการเรียกเก็บเบี้ยประกันจากผู้ที่มีชื่อในระบบในวันสุดท้ายของเดือน จึงสามารถสบายใจได้ว่า ถึงแม้คุณจะมีการเปลี่ยนรูปแบบระหว่างเดือน ก็จะไม่มีการจ่ายเบี้ยประกันซ้ำซ้อนแน่นอน

ในส่วนนี้ คุณสามารถเปลี่ยนไปเลือกประกันแบบต่างๆ ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ได้ด้วย:

2.1 ระบบเลือกต่ออายุประกันสุขภาพเดิม

เป็นระบบที่ให้ผู้ถือประกันสามารถใช้ประกันสุขภาพเดิม (任意継続被保険者制度 อ่านว่า นินิ เคโซคุ โฮเก็นฉะ เซอิโดะ) ที่เคยใช้ตอนเป็นพนักงานบริษัทต่อได้ โดยจะยืดอายุได้สูงสุด 2 ปี แต่มีข้อเสียตรงที่ค่าเบี้ยประกันจะสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้แล้ว และจะต้องทำการยื่นเรื่องภายใน 20 วันหลังออกจากงานด้วย

2.2 เปลี่ยนเป็น National Health Insurance

ประกันนี้มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “โคคุมิน เค็นโคโฮเก็น” (国民健康保険) เป็นแบบที่ต้องไปเปลี่ยน ณ ที่ทำการเมืองภายใน 14 วัน โดยค่าเบี้ยประกันจะถูกคำนวณด้วยรายได้จากปีก่อนหน้า นอกจากนั้น สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขก็จะสามารถใช้สวัสดิการลดเบี้ยประกัน (軽減制度) ได้ ทำให้ถูกกว่าการใช้ระบบเลือกต่ออายุในข้อ 2.1

2.3 เข้าเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ของครอบครัว

หากมีครอบครัว (พ่อแม่ หรือคู่สมรส) ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ระหว่างที่ตนเองยังไม่ได้เริ่มงานที่ใหม่ก็จะสามารถลงทะเบียนเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ “ฟุโย คะโซกุ” (扶養家族) ได้

3. ทำเรื่องเปลี่ยนรูปแบบของระบบเงินบำนาญ

ผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นที่มีอายุ 20 – 60 ปี จำเป็นจะต้องจ่ายเงินบำนาญทุกเดือน แต่ในกรณีที่มีช่วงเวลาว่างก่อนเริ่มงานใหม่ก็จะต้องไปแจ้งที่ทำการเมืองเพื่อขอเข้าระบบ National Pension System (国民年金) ภายใน 14 วัน และเมื่อเริ่มงานที่ใหม่แล้วจึงค่อยเปลี่ยนกลับเป็น Employees’ Pension Insurance (厚生年金) ตามเดิม

4. ทำเรื่องย้าย Corporate Defined Contribution Plan (หากมี)

ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียกว่า Corporate DC (企業型DC) นี้เป็นระบบที่ทางบริษัทจะช่วยออกเงินสำหรับนำไปลงทุนในกองทุนต่างๆ และให้พนักงานถอนเงินก้อนนี้มาใช้ได้เมื่ออายุครบ 60 ปี ดังนั้น หากคุณลาออกจากบริษัท แล้วไม่ไปแจ้งย้ายบัญชี DC กับสถาบันการเงินที่ดูแลภายในระยะเวลา 6 เดือน ระบบจะทำการโอนทรัพย์สินในบัญชี DC ของเราไปยัง National Pension Fund Association (企業年金連合会) โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้คุณเสียค่าธรรมเนียมการย้ายและค่าดูแลรายเดือนด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น คือ คุณจะไม่สามารถนำเงินไปลงทุนที่ไหนได้เลยระหว่างนี้ และหากต้องการรับเงินก้อนนี้เมื่อเกษียณก็จำเป็นต้องย้ายกลับเข้าระบบ DC ก่อนและเสียค่าธรรมเนียมอีกครั้ง เราจึงอยากแนะนำให้รีบทำเรื่องย้ายบัญชี DC หลังพ้นสภาพพนักงานของบริษัทเดิมทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่อาจตามมาในภายหลัง

  • หากบริษัทใหม่มีระบบ Corporate DC เหมือนกันก็ให้สอบถามกับบริษัทใหม่เพื่อขอทำเรื่องย้ายบัญชี
  • หากบริษัทใหม่ไม่มีระบบ Corporate DC หรือหลังลาออกแล้วไม่ได้ทำงานบริษัท (เช่น เป็นแม่บ้านแบบเต็มเวลา, กลับประเทศ, หรือเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง) ก็จะต้องเดินเรื่องย้ายบัญชีให้เป็นแบบ Individual-type Defined Contribution Pension Plan (個人型確定拠出年金) หรือที่นิยมเรียกกันว่า iDeCo คุณสามารถสอบถามวิธีการได้จากสถาบันการเงินที่ดูแลบัญชี Corporate DC เดิมของตัวเองเลย

5. ยื่นเรื่องขอคืนภาษี (確定申告)

หากคุณไม่ได้เข้าทำงานที่ใหม่ภายในสิ้นปี ก็จะต้องกรอกเอกสารส่งไปยังสำนักงานภาษีสรรพากร (税務署) เพื่อแจ้งรายได้สุทธิและขอคืนเงินภาษี (確定申告) ด้วย แต่หากเข้าทำงานกับบริษัทใหม่แล้ว ทางบริษัทจะมีการยื่นเรื่องให้ในปลายปี จึงไม่ต้องทำเอง

เอกสารที่ต้องได้รับจากบริษัท

เมื่อคุณลาออกก็จะมีเหตุให้ต้องใช้เอกสารต่อไปนี้ในการไปเดินเรื่องต่างๆ ทั้งในที่ทำการเมืองและบริษัทใหม่ ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้เก็บรักษาไว้ให้ดี

  1. ใบรับรองการออกจากงาน (離職票 อ่านว่า ริโชคุเฮียว)
  2. ใบรับรองประกันการจ้างงาน (雇用保険被保険者証 อ่านว่า โคะโย โฮเก็น ฮิโฮเก็นฉะโช)
  3. หนังสือรับรองการเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (源泉徴収票 อ่านว่า เก็นเซ็นโจชูเฮียว)

ส่งท้าย

การลาออกจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นนั้น จะต้องมีกระบวนการที่ใช้ทั้งเวลาและเอกสารมากมายพอสมควร อีกทั้งยังมีเรื่องที่ต้องไปดำเนินการต่อด้วยตัวเอง ณ ที่ทำการเมืองด้วย ดังนั้น เราจึงอยากให้คุณเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างราบรื่นที่สุด

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: