*บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงแนวคิดโดยรวมของคนทั้งประเทศ
ไม่ค่อยติดต่อหากัน
Mynavi เอเจนซี่โฆษณาของญี่ปุ่นเคยสัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ความถี่ในการติดต่อกับคนรักผ่าน LINE (แอพฯ ส่งข้อความยอดนิยมของญี่ปุ่น)” ผลคือในขณะที่ผู้ชาย 52.0% และผู้หญิง 53.7% ตอบว่า “ทุกวัน” แต่ก็มีผู้ชายกว่า 18.4% และผู้หญิง 13.5% ที่คิดว่าติดต่อกันเพียง 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็พอแล้ว! เป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นนั้นจริงจังกับการทำงานมาก พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการเช็คโทรศัพท์ในเวลางาน จึงแทบไม่ต้องหวังเลยว่าอีกฝ่ายจะตอบข้อความกลับทันทีได้ นอกจากนี้ หากอยู่ในงานสังสรรค์หลังเลิกงาน พวกเขาก็มักจะไม่ค่อยอ่านข้อความและไม่ได้ตอบกลับทันทีที่เห็น เพื่อเป็นการให้เกียรติงานด้วย
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวมาก จึงไม่ค่อยโทรหากันหรือคุยกันผ่านวิดีโอคอลเหมือนคู่รักชาวตะวันตก แถมด้วยความขี้เกรงใจที่อยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็ทำให้พวกเขากลัวว่าจะไปรบกวนผู้อื่นสุดๆ ด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ค่อยเล่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันให้ฟังกันนั่นเอง แม้แต่เรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน คนญี่ปุ่นก็ยังนิยมส่งข้อความไปถามคนรักก่อนว่าสามารถรับโทรศัพท์ได้หรือเปล่า และแทบไม่มีการโทรไปโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเลย
สำหรับชาวต่างชาติหลายๆ คน การทำแบบนี้อาจดูเหมือนอีกฝ่ายหายตัวไปอย่างกะทันหัน แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว นี่ถือเป็นการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมซึ่งเป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวที่ดีเลยทีเดียว
ไม่ค่อยออกเดท
นอกจากจะไม่ค่อยได้ติดต่อหากันแล้ว คนญี่ปุ่นก็ยังไม่ค่อยออกเดทด้วย ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากค่าเดินทางที่ค่อนข้างแพงสำหรับคู่รักที่อยู่ต่างเมืองกัน (แต่ถึงจะอยู่ในเมืองเดียวกันก็ใช่ว่าจะเจอกันได้ทุกวัน) ถือเป็นเรื่องปกติที่คู่รักจะพบกันเพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง นอกจากจะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือเพื่อนร่วมงาน
ไม่ใช่ว่าคู่รักชาวญี่ปุ่นไม่ชอบการออกเดท แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับ “เวลาส่วนตัว” มากพอๆ กับความสำคัญของคนรักและชอบที่จะรักษาวิถีชีวิตเดิมของตัวเองไว้ ต่างจากคู่รักชาวต่างชาติที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการใช้เวลากับคนรักให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คู่รักชาวญี่ปุ่นมักจะโฟกัสกับงานในวันที่ไม่ได้ไปเดท หรือไม่ก็เตรียมตัวสำหรับการเดทครั้งหน้า พวกเขาจะพยายามเป็นตัวของตัวเอง โดยเลือกไปเดทและทำสิ่งที่ชอบกันทั้งคู่ ซึ่งก็หมายความว่ากิจกรรมที่สามารถทำได้คนเดียวอย่างการไปร้านเสริมสวยหรือซื้อของมักจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการออกเดทนั่นเอง
ไม่มีใครต้องฝืนตัวเองให้ไปยังสถานที่ที่ไม่อยากไปหรือทำสิ่งที่พวกเขาไม่สนใจ ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถเพลิดเพลินกับการออกเดทได้อย่างเต็มที่ และนี่ก็อาจเป็นหนึ่งในข้อดีของการออกเดทกับคนญี่ปุ่นเลยก็ได้
ไม่ค่อยไปหาถึงบ้าน
การไปรับไปส่งที่ทำงาน รออยู่หน้าบ้านวันออกเดท หรือการไปหาที่บ้านนั้นอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคู่รักทั่วไป แต่ไม่ใช่สำหรับชาวญี่ปุ่น
ในกรณีที่เป็นช่วงโปรโมชั่นหรือทั้งคู่ยังเป็นนักเรียนอยู่ การไปรับไปส่งกันถึงบ้านก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก และหากเป็นคู่ที่มีบ้านอยู่ใกล้กัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรถขับก็อาจจะขับไปส่งกันได้ แต่เรื่องนี้จะไม่เกิดในหมู่ชาวโตเกียวแน่นอน เพราะพวกเขาจะไม่ค่อยไปรับคนรักถึงบ้านและไม่พาไปส่งหลังออกเดท แต่จะเลือกเจอกันที่สถานีใดสถานีหนึ่งหรือพบกันปลายทางแทน ทำให้ในอนิเมะและละครญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องมักจะฉายภาพของคู่รักบอกลากันอย่างอ้อยอิ่งแถวสถานีรถไฟ ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัย และการเดินทางไปมาในโตเกียวก็อาจใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง คนที่นี่จึงมักจะเลือกทำในสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงมากกว่าเรื่องความรักหรือความสุภาพ
เดทเป็นคู่มากกว่าไปเป็นกลุ่ม
แนวคิดที่นิยมในต่างประเทศอย่าง “เพื่อนแฟนก็คือเพื่อนเรา” นั้นใช้ไม่ได้กับญี่ปุ่น คู่รักชาวญี่ปุ่นของคุณอาจแนะนำเพื่อนให้คุณรู้จักบ้าง แต่การไปเที่ยวด้วยกันนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการ “ดับเบิ้ลเดท” (คู่รักสองคู่ไปเดทด้วยกัน) นั้นไม่ใช่เรื่องปกติของที่นี่ คนญี่ปุ่นมักกังวลเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้อื่นมากๆ เช่น หากเพื่อนในกลุ่มต่างพาคนรักมาด้วยแต่เป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนก็อาจจะทำให้บรรยากาศดูน่าอึดอัดขึ้นมาทันที และส่วนใหญ่ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนญี่ปุ่นทั่วไปจะค่อนข้างปิดใจและคิดที่ว่าควรคำนึงถึงเรื่องของตัวเองและรักษาระยะห่างกับผู้อื่นเอาไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้ การทำความรู้จักเพื่อนใหม่จึงเป็นเรื่องที่ยาก ถึงจะเคยไปทานข้าวและเที่ยวด้วยกันมาบ้างแล้ว แต่หากไม่เปิดใจให้กันก็อาจจะยากต่อการพัฒนามิตรภาพได้
การจะเป็นเพื่อนกับใครสักคนนั้นต้องใช้เวลา และจะใช้มากยิ่งขึ้นเมื่ออีกฝ่ายเป็นคนรักของเพื่อน ดังนั้น หากทุกฝ่ายไม่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อนก็จะทำให้การดับเบิ้ลเดทล่มเอาได้ง่ายๆ
จีบกันในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอาย
คนญี่ปุ่นรักความเป็นส่วนตัวมาก พวกเขาจึงไม่ค่อยประกาศความสัมพันธ์ในช่วงที่เพิ่งคบกันใหม่ๆ รวมถึงไม่ตั้งรูปหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นรูปกันและกันด้วย ความละเอียดอ่อนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่น ทำให้เขาไม่แสดงความสนิทสนมกันผ่านสื่อออนไลน์ จนกว่าความสัมพันธ์จะแน่นอนและมั่นคงจริงๆ
คนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังความสำคัญของมารยาทและการไม่รบกวนคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้การแสดงความรักในที่สาธารณะดูเป็นเรื่องไม่ดี อีกหนึ่งตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน คือ “รอยสัก” ที่ถึงแม้ว่าคนหนุ่มสาวจะไม่ค่อยมีปัญหากันมากนัก แต่คนรุ่นเก่าก็ยังรู้สึกต่อต้านอยู่ สรุปง่ายๆ คือ ประเทศญี่ปุ่นจะค่อนข้างใส่ใจกับชนชั้นและความสวยงามเหมาะสมกันมากพอควรนั่นเอง
นอกจากนี้ ทุกคนยังค่อนข้างสนใจภาพลักษณ์ของตนเองที่คนอื่นมองมา และจะพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและพยายามไม่ทำตัวโดดเด่นในฝูงชนด้วย ดังนั้น คู่รักญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยใส่ชุดคู่กัน เนื่องจากพวกเขารู้สึกเขินอายและไม่อยากตกเป็นเป้าสายตาของคนที่เดินสวนกันไปมา นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคู่รักชาวญี่ปุ่นถึงมักจะดูเคอะเขินหรือห่างเหินกันในที่สาธารณะด้วย
ใส่ใจเรื่องขนตามตัว
หากคุณลองสังเกตป้ายโฆษณาบนรถไฟญี่ปุ่นก็จะเห็นว่ามีโฆษณาเกี่ยวกับการ “กำจัดขนทั่วร่างกาย” อยู่ไม่น้อย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะนอกจากการกำจัดขนใต้วงแขนที่เห็นได้ทั่วไปแล้ว คนญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงต่างก็ใส่ใจเรื่องขนที่หลัง แขน แนวบิกินี น่อง ใบหน้า คอ และนิ้วด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังมีการดูแลเรื่องขนจมูกและไรผมเพิ่มเข้ามาอีกด้วยนะ!
คุณอาจจะมองว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความงามของญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้หญิง ที่อาจมองว่าการกำจัดขนตามร่างกายถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลตัวเอง หากละเลยก็จะถูกมองไม่ดีเอาได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ค่านิยมเหล่านี้ก็อาจมาจากการเลี้ยงดูและการเติบโตที่มักจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ทำให้คิดกันว่า “ถ้าคนอื่นว่าดีก็แปลว่าดี” จนกลายมาเป็นมาตรฐานความงามที่แพร่หลายในปัจจุบัน
นี่อาจเป็นเพียงการคาดเดา แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าการที่ผู้หญิงญี่ปุ่นใส่ใจเรื่องขนบนร่างกายมากๆ นั้น อาจส่งผลทำให้ผู้ชายตระหนักถึงเรื่องนี้ขึ้นมาในทางอ้อมด้วย
ไม่พูดตรงๆ
คนญี่ปุ่นมักกังวลว่าจะทำให้คนอื่นลำบาก จนกลายเป็นคนพูดอ้อมๆ และลังเลที่จะพูดความในใจโดยไม่รู้ตัว พวกเขาอาจพูดสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดของพวกเขาโดยสิ้นเชิงเพราะกลัวว่าจะทำร้ายจิตใจคนอื่น อย่างเช่น อาจพูดว่า “ไว้หาเวลาไปดื่มด้วยกันนะ” แต่ก็ไม่เคยมาชวนไปดื่มเลย กล่าวคือพวกเขาอาจจะไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริงๆ แต่พยายามทำตัวสุภาพเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือหากคุณเชิญคนญี่ปุ่นแต่ถูกเพิกเฉย ความจริงก็คือพวกเขาอาจต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เสียความรู้สึกโดยการปฏิเสธคำเชิญ หรือพวกเขาอาจไม่ได้ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ไปมากกว่านี้จึงพยายามถอยออกมาอย่างเงียบๆ ก็ได้
คนญี่ปุ่นได้รับการสอนให้รู้จักสังเกตคนรอบข้าง จึงส่งผลให้พวกเขาสามารถ “อ่านบรรยากาศ” ได้ และมีแนวโน้มที่จะพูดจาอ้อมๆ ให้ผู้คนรู้สึกประทับใจว่าพวกเขาอบอุ่นและอ่อนโยน แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะนี้อาจเด่นชัดขึ้นเมื่อพวกเขาโต้ตอบกับ “ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคย” และอาจมีการตอบโต้ที่แตกต่างกันด้วย เนื่องจากชาวญี่ปุ่นจะอ่อนไหวต่อความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นพิเศษ คุณจึงแทบจะไม่เห็นคู่รักชาวญี่ปุ่นทะเลาะกันในที่สาธารณะเลย นอกจากนี้ ข้อเสียอีกอย่างของการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและแก้ปัญหาในทันทีก็คือ เมื่อข้ามเส้นของการคุยถึงปัญหากันตรงๆ ไปแล้ว ก็มักจบลงด้วยความโกรธเกรี้ยวและสายเกินแก้ทุกครั้ง
ห่างเหินจากครอบครัว
หากคุณคุ้นเคยกับคนญี่ปุ่นก็จะเห็นว่า พวกเขาดูจะมีความผูกพันกับครอบครัวน้อยกว่าคนชาติอื่น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะออกไปทำงานในเมืองและอาศัยอยู่ไกลบ้าน ซึ่งค่าตั๋วรถไฟและเครื่องบินก็แพงมาก ทำให้การไปเยี่ยมพ่อแม่ในช่วงสุดสัปดาห์เป็นเรื่องยาก ถึงขนาดที่มีคนไม่ได้กลับบ้านแม้แต่ช่วงปีใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าคนญี่ปุ่นไม่ให้ความสำคัญกับครอบครัว แต่เมื่อโตขึ้นพวกเขาก็มักจะรู้สึกเขินอายเมื่อต้องพูดถึงความสัมพันธ์ และรู้สึกไม่สนิทใจกับพ่อแม่อย่างเมื่อก่อนได้ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวน้องสาว หรือแม่กับลูกสาวอาจยังสนิทสนมกันอยู่และไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรือว่าความสัมพันธ์อาจดีขึ้นเมื่อพ่อแม่อายุมากขึ้น แต่ด้วยนิสัยคิดมากที่หยั่งรากลึกและความรำคาญของการถูกระดมยิงคำถาม เช่น “มีแฟนหรือยัง” “เมื่อไรจะแต่งงาน” และ “อยากอุ้มหลานแล้ว” ก็ทำให้คนหนุ่มสาว (และโสด) เริ่มท้อใจที่จะให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับต้นๆ
ความรักหรือจะสู้ความเป็นส่วนตัว
เป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมาก พวกเขาจะไม่บอกรหัสโทรศัพท์ให้คนรักทราบ และไม่คิดว่าต้องรายงานว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน คู่รักหลายคู่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีกฝ่ายได้เงินเดือนเท่าไรก่อนแต่งงาน!
ส่งท้าย
หลังจากที่ได้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นแล้ว เราก็ได้ข้อสรุปว่า พวกเขาไม่คุ้นเคยกับการแชร์เรื่องราวให้คนอื่นฟัง ดังนั้นจึงมองว่าไม่จำเป็นต้องบอก แต่แน่นอนว่าก็มีคนที่เต็มใจจะแชร์ให้คนรักฟังอยู่เช่นกัน เพียงแต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวกันมากกว่า ดังนั้น เราจึงอยากให้ระลึกไว้เสมอว่า การให้เกียรติและความไว้วางใจนั้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ที่จะก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างสัญชาติไปได้!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่