หากพูดถึงคนญี่ปุ่น คุณจะคิดถึงอะไร? เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า “คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาว” “คนญี่ปุ่นตัวเล็ก” “คนญี่ปุ่นร่ำรวย” ต่างๆ นานา แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นเป็นอย่างไรกันแน่? คุณสงสัยหรือไม่ว่าที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นอายุยืนยาว ตัวเล็ก และร่ำรวยจริงหรือ? เราจะมาไขข้อสงสัยดังกล่าวกันในบทความนี้!
รายได้เฉลี่ยต่อปีของคนญี่ปุ่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก:แตกต่างจากค่าเฉลี่ยของไอซ์แลนด์ประมาณ 2,860,000 เยน?
จริงหรือไม่ที่คนญี่ปุ่นมีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจมากกว่าต่างชาติ? เมื่อเปรียบเทียบ GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยใช้ข้อมูล IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน (ราวๆ ปี 2018) เมื่อมองจาก GDP เพียงอย่างเดียวอาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกเลยก็ว่าได้ แต่ “อำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ” กับ “ความมั่งคั่งของคนในประเทศ” นั้นไม่เหมือนกัน เพราะโดยปกติ GDP จะเพิ่มขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศที่มีประชากรมาก โดย GDP ต่อหัวเป็นดัชนีที่สะท้อนความมั่งคั่งของประชาชนให้เห็นเด่นชัดขึ้น
เมื่อพิจารณาจากการจัดอันดับ GDP ต่อหัวของคนในประเทศจากข้อมูล IMF จะพบว่าในปี 1988 ประเทศญี่ปุ่นจัดอยู่ในอันดับ 2 ของโลก แต่ในปี 2018 ญี่ปุ่นตกลงมาอยู่ที่อันดับ 26 ของโลก แสดงให้เห็นว่าในระหว่าง 30 ปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ คนญี่ปุ่นได้กลายเป็นคนยากจนในหลายปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานค่าจ้างอีกด้วย เมื่อดูจากค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีของประเทศสมาชิกที่ประกาศโดย OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เรียงตามลำดับ
1. ไอซ์แลนด์ 66,504 ดอลลาร์ (ประมาณ 7,320,2041 เยน)
2. ลักเซมเบิร์ก 65,449 ดอลลาร์ (ประมาณ 7,225,569 เยน)
3. สวิตเซอร์แลนด์คือ 64,109 ดอลลาร์ (ประมาณ 707,7633 เยน)
4. สหรัฐอเมริกา 63,093 ดอลลาร์ (ประมาณ 6,965,467 เยน)
5. เดนมาร์ก 55,253 ดอลลาร์ (ประมาณ 6,090,9931 เยน)
โดยประเทศญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 19 มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีอยู่ที่ 40,573 ดอลลาร์ (ประมาณ 4,479,259 เยน) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD 46,686 ดอลลาร์ (ประมาณ 5,154,134 เยน) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไอซ์แลนด์อยู่ที่ประมาณ 25,931 ดอลลาร์ (จากข้อมูลปี 2018)
*ดอลลาร์ = ดอลลาร์สหรัฐ
มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อปีของคนญี่ปุ่นต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ขาดบุคลากรที่มีคุณภาพเนื่องจากระดับการศึกษาที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบจ้างงานแบบอาวุโสซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นซึ่งจะจ่ายค่าจ้างโดยเน้นความอาวุโสเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุให้คุณภาพแรงงานลดลง
สาเหตุในการนำระบบจ้างงานแบบอาวุโสมาใช้ในองค์กรเป็นเพราะในองค์กรญี่ปุ่นนั้นมีแนวคิดในการเลี้ยงดูพนักงานไปจนเกษียณเสมือนสมาชิกในครอบครัวเพื่อตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นอกจากนี้การเลิกจ้างพนักงานตามกฎหมายญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างจะทำได้ยากเนื่องจากต้องมีการประเมินต่างๆ สำหรับระบบการจ้างงานของญี่ปุ่น ดังนั้นหากดูเพียงตัวเลข เราก็จะเห็นได้ชัดว่าแรงงานญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่คิด
ความเหลื่อมล้ำทางเพศของฐานเงินเดือนในประเทศญี่ปุ่นสูงถึง 25%!?
จากข้อมูลการจัดลำดับความเหลื่อมล้ำทางเพศของฐานเงินเดือนจาก OECD อันดับ 1 คือเกาหลีใต้ (34.1%) ตามมาด้วยญี่ปุ่น (24.5%) ซึ่งหมายความว่าผู้ชายจะได้รับเงินเดือนมากกว่าผู้หญิงประมาณ 25% เช่น หากผู้ชายได้เงินเดือน 1,000,000 เยน ผู้หญิงจะได้เงินเดือนเพียง 750,000 เยนเท่านั้น นอกจากนี้อันดับที่ 3 คืออิสราเอล (21.8%) และอันดับที่ 5 คือสหรัฐอเมริกา (18.9%)
ใน “The Global Gender Gap Report 2018” (ธันวาคม 2018) ของ World Economic Forum (สภาเศรษฐกิจโลก) ได้มีการคำนวนดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศออกเป็น 4 ประเภท คือ เศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองและการประกัน ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมเป็นอันดับที่ 110 จาก 144 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งระดับผู้บริหารนั้น ผู้ชายจะมีอัตราเยอะกว่าจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับรายได้ของผู้หญิงในตำแหน่งบริหารมีแนวโน้มสูงกว่าผู้ชายในตำแหน่งเดียวกัน
เพราะเหตุใดจึงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในญี่ปุ่น? ในสาเหตุที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศญี่ปุ่นยกเช่น “ความยากในการสร้างสมดุลระหว่างการงานและครอบครัว ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้นมีไม่มากจึงทำให้ผลรวมรายได้เฉลี่ยของผู้หญิงนั้นต่ำกว่าผู้ชาย” หรือ “ความยุ่งยากในการขอลาคลอดต่างๆ ทำให้มีผู้หญิงจำนวนมากลาออกในช่วงคลอดลูกและต้องอยู่เลี้ยงลูกเป็นจำนวนมาก และเมื่อลาออกไปแล้วครั้งหนึ่ง การจะกลับไปทำงานใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในสังคมญี่ปุ่นทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีของผู้หญิงในญี่ปุ่นลดลง” ทั้งนี้เป็นอิทธิพลจากความคิดฝังหัวที่ว่า “ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลลูก” นั้นยังคงหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในปัจจุบันจะมีการพิจารณาถึงเรื่องนี้มากขึ้นก็ตามแต่ก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ยืดหยุ่นและมีความคิดไม่เปิดกว้างอยู่
รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของคนญี่ปุ่น : 750 เยน (พื้นที่ที่มีประชากรน้อย) / 1,013 เยน (กรุงโตเกียว)
อ้างอิงจากการจัดอันดับค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกของOECD
อันดับ 1 ฝรั่งเศส (11.1 ดอลลาร์ = ประมาณ 1,280 เยน) อันดับ 2 ออสเตรเลีย (11.1 ดอลลาร์ = ประมาณ 1,280 เยน), อันดับ 3 กรุงลักเซมเบิร์ก (11.1 ดอลลาร์ = ประมาณ 1,197 เยน), อันดับ 4 เยอรมัน (10.3 ดอลลาร์ = ประมาณ 1,121 เยน), อันดับ 5 คือ ประเทศเบลเยียม (10.2 ดอลลาร์ = ประมาณ 1,110 เยน)
ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 (7.4 ดอลลาร์ = ประมาณ 805 เยน) สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วยังจัดอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ว่าเมื่อเทียบกับแต่ละประเทศในเอเชียแล้วถือว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสูง อย่างเช่น เกาหลีใต้ (5.8 ดอลลาร์ = ประมาณ 631 เยน) , เซี่ยงไฮ้ (2.2 ดอลลาร์ = ประมาณ 239 เยน), เชินเจิน (2.0 ดอลลาร์ = ประมาณ 218 เยน), ไทย (1.7 ดอลลาร์ = ประมาณ 185 เยน), มะนิลา (1.6 ดอลลาร์ = 174 เยน) เป็นต้น (ข้อมูลปี2016)
ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 7.4 ดอลลาร์ = ประมาณ 805 เยน ถึงแม้จะเป็นภายในประเทศก็ตามแต่ก็มีความแตกต่างตามแต่ละเขตพื้นที่ จากข้อมูลการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงานแสดงให้เห็นว่า ในประเทศญี่ปุ่นเขตพื้นที่ที่มีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุด คือ กรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ที่ 1,013 เยน/ชั่วโมง แต่ในทางกลับกัน เขตพื้นที่ที่มีค่าแรงขั้นต่ำที่น้อยที่สุด ได้แก่ จังหวัดอาโอโมริ, จังหวัดอิวาเตะ, จังหวัดอาคิตะ และอีก 15 จังหวัด ซึ่งอยู่ที่ 790 เยน/ชั่วโมง
(ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ปี2019)
*ดอลลาร์ = ดอลลาร์สหรัฐ
จริงหรือที่คนญี่ปุ่นทุกคนผอมและไม่สูง? ลองมาเทียบกับคนทั่วโลกดู
น้ำหนักและส่วนสูงโดยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไรกันนะ? จากข้อมูลของ BELCY สื่อที่เกี่ยวกับความงามและแฟชั่นได้ระบุไว้ว่า ผู้ชายญี่ปุ่นในช่วงอายุ 20 ปี มีส่วนสูงโดยเฉลี่ย 171.5 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 67.6 กิโลกรัม ส่วนผู้หญิงญี่ปุ่นในช่วงอายุ 20 ปี มีส่วนสูงโดยเฉลี่ย 158.1 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 52.3 กิโลกรัม ทีนี้เรามาดูส่วนสูงและน้ำหนักโดยเฉลี่ยของประชากรชาติอื่นว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
ผู้ชายชาวอเมริกันในช่วงอายุ 20 ปี จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ย 177.6 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 85.4 กิโลกรัม ส่วนผู้หญิงชาวอเมริกันในช่วงอายุ 20 ปี จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ย 163.2 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 70.7 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับคนญี่ปุ่นแล้วจะเรียกว่ามีรูปร่างใหญ่กว่าคนญี่ปุ่น 1 เท่าก็ว่าได้ ในขณะเดียวกัน ประเทศที่ประชากรมีรูปร่างใหญ่กว่าคนญี่ปุ่น คือ ฮอลแลนด์, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์, เยอรมัน, สหราชอาณาจักร, กรีซ ฯลฯ พูดง่ายๆ คือ ประเทศในฝั่งยุโรปและอเมริกานั้นมีรุปร่างใหญ่กว่าคนญี่ปุ่น แต่หากพูดถึงประเทศที่มีประชากรมีรูปร่างเท่ากันกับคนญี่ปุ่นหรือเล็กกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศทางฝั่งเอเชีย เช่น เกาหลีใต้, จีน, เกาหลีเหนือ, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
หากถามว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีส่วนสูงและน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าคนในประเทศฝั่งยุโรปและอเมริกา โดยทั่วไปแล้ว รูปร่างของมนุษย์เราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยภายนอก คือ การรับประทานอาหาร, การออกกำลังกายและการนอนหลับ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเกี่ยวกับปัจจัยภายในอย่างพันธุกรรมอีกด้วย หากตัดเรื่องพันธุกรรมออกไปแล้วมาดูความแตกต่างเรื่องสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตของคนญี่ปุ่นและคนอเมริกันแล้วนั้นจะเห็นว่าพฤติกรรมการกินเป็นหัวข้อหลักในเรื่องความแตกต่าง เช่น คนอเมริกันจะเน้นอาหารประเภทมันฝรั่ง, เนื้อ, อาหารจำพวกนมที่มีแคลอรีสูง เช่น ชีส แต่ในทางกลับกัน คนญี่ปุ่นจะเน้นกินอาหารที่มีแคลอรีต่ำ เช่น ปลา, ผัก เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งคนญี่ปุ่นจะรับแคลอรีเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,500 กิโลแคลอรี ส่วนคนอเมริกันอยู่ที่ 4,000 กิโลแคลอรี ซึ่งปริมาณอาหารในการกินต่อ 1 มื้ออาหารก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งความแตกต่างของวัฒนธรรมการกินอาหารดังกล่าวนั้นสามารถพูดได้ว่าเป็นส่วนที่ส่งผลต่อความแตกต่างของรูปร่างเป็นอย่างมาก
คนญี่ปุ่นอายุยืนเป็นอันดับ 2 ของโลก! โดยอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 84.10 ปี!
คนญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ของคำว่า “ประเทศแห่งการมีอายุยืน” แต่ว่าจริงๆ แล้วคนที่มีอายุยืนนั้นมีมากจริงหรือ? อ้างอิงจาก “การจัดลำดับอายุขัยเฉลี่ยของแต่ละประเทศทั่วโลก” ของ“GLOBAL NOTE” เว็บไซต์จัดทำข้อมูลเชิงสถิติ
อันดับ 1 ฮ่องกง 84.68 ปี
อันดับ 2 ญี่ปุ่น 84.10 ปี
อันดับ 3 มาเก๊า 83.99 ปี
อันดับ 4 สวิตเซอร์แลนด์ 83.6 ปี
อันดับ 5 สเปน 83.33 ปี
จากผลสรุปของการจัดลำดับนั้นสามารถพูดได้ว่าประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนระดับโลก (ข้อมูล เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019)
ประเทศอื่นๆ ที่มีสถิติประชากรอายุยืนสูงรวมถึงประเทศญี่ปุ่นนั้น คาดได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์ที่มีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ด้วยระบบสวัสดิการสังคมที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ในส่วนของสาเหตุอื่นๆ นั้น คาดได้ว่าพฤติกรรมการกินของแต่ล่ะประเทศก็มีผลเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนส่วนหนึ่งมาจากการบริโภค เนื่องจากอาหารหลักของคนญี่ปุ่น คือ ปลา ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยยับยั้งอัตราการเกิดโรคหัวใจ ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง และยังอุดมไปด้วย DHA ซึ่งช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี นอกจากนั้นยังมีอาหารจำพวกถั่วเหลือง เช่น นัตโตะ, เต้าหู้ต่างๆ
อีกอย่างหนึ่ง คือ คนญี่ปุ่นส่วนมากดื่มชาเขียวเป็นประจำซึ่งชาเขียวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน C, แคทีชิน เป็นต้น
อายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกของคนญี่ปุ่น : ผู้ชาย 31.10 ปี, ผู้หญิง 29.40 ปี
สถานการณ์ของการแต่งงานของคนญี่ปุ่นนั้นจะเป็นอย่างไร? “การจัดลำดับอายุเฉลี่ยในการแต่งงานของผู้หญิงในแต่ละประเทศทั่วโลก” จาก“GLOBAL NOTE” เว็บไซต์จัดทำข้อมูลเชิงสถิติ
อันดับ 1 สวีเดน อายุ 33.80 ปี
อันดับ 2 สเปน อายุ 33.20 ปี
อันดับ 3 เดนมาร์ก อายุ 32.4 ปี
ซึ่งญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 22 อายุ 29.40 ปี
ในส่วนของการจัดลำดับอายุเฉลี่ยของผู้ชาย
อันดับ 1 สวีเดน อายุ 36.6 ปี
อันดับ 2 สเปน อายุ 35.40 ปี
อันดับ 3 อิตาลี,นอร์เวย์ อายุ 35.00 ปี
ซึ่งญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่26 อายุ 31.10 ปี
เมื่อเทียบหญิงชายแล้ว สามารถเห็นได้ว่าผู้ชายมีแนวโน้มในการแต่งงานช้ากว่าผู้หญิง ซึ่งญี่ปุ่นมักจะถูกเรียกว่าเป็นสังคมการแต่งงานช้า จะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่