ความต้องการโปรแกรมเมอร์ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
อุตสาหกรรมไอทีของญี่ปุ่นกำลังเติบโตแบบทบเท่าทวีคูณ มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าญี่ปุ่นจะต้องการแรงงานมากถึง 1.6 ล้านคนในช่วงปี 2030 แต่ญี่ปุ่นในตอนนี้ก็กำลังตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือเช่นกัน โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้กล่าวเอาไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่จำเป็นถึง 790,000 คนในปี 2030
ดังนั้น บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีในประเทศญี่ปุ่นจึงเริ่มมีการว่าจ้างชาวต่างชาติที่มีฝีมือจำนวนมาก เพื่อประคับประคองบริษัทให้ยังคงอยู่ต่อไปได้ และในปี 2017 ที่ผ่านมา ก็มีแรงงานชาวต่างชาติกว่า 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในวงการอุตสาหกรรมไอทีของญี่ปุ่น นับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2008 ถึง 3 เท่า และเนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ยังคงเติบโตและก้าวหน้า กระแสความต้องการบุคลากรจึงจะยังคงอยู่ต่อไป
และเวลานี้ก็ถือเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการหางานอย่างมาก!
ตัวเลขสถิติมาจากเว็บไซต์ต่อไปนี้:
#1 #2 #3
ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ญี่ปุ่นกำลังต้องการ (ปี 2020)
ถึงแม้จะมีประสบการณ์และความสามารถมากแค่ไหน ก็ควรจะรู้ไว้ก่อนว่าทักษะไหนกำลังเป็นที่ต้องการก่อนจะเปลี่ยนสายงาน ข้อมูลด้านล่างนี้คือจำนวนประกาศรับสมัครบุคลากรในแต่ละภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นข้อมูลที่เรานำมาจาก 11 เว็บบอร์ดหางานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ภาษาคอมพิวเตอร์ | จำนวนงานที่ประกาศรับสมัคร |
---|---|
1. Java | 11,526 |
2. JavaScript | 7,472 |
3. PHP | 7,383 |
4. C# | 6,067 |
5. C++ | 5,391 |
6. C | 5,264 |
7. Python | 4,501 |
8. Ruby | 3,340 |
9. Swift | 1,660 |
10. Visual Basic | 1,193 |
จากตารางจะเห็นได้ว่า Java เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่บริษัทต้องการมากที่สุด เพราะมีประกาศรับสมัครงานในญี่ปุ่นมากถึง 11,526 โพสต์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ Java เป็นภาษาหลักของแพลตฟอร์มหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปและมือถือ หรือภาษาสคริปต์แบบเซิร์ฟเวอร์ไซด์ (Server-side) สำหรับการพัฒนาโปรแกรมในส่วนของหลังบ้าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีความต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญภาษานี้อย่างมหาศาลทั่วโลก (ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น) มีบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆ หลายแห่งที่นำเสนองานพัฒนาระบบโดยใช้ Java รวมถึง Casareal, Stylez และ System Shared ด้วย
อันดับที่สอง คือ JavaScript ที่มีประกาศรับสมัครงานถึง 7,472 โพสต์ ภาษานี้ถือเป็นทักษะการเขียนโปรแกรมพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้อินเทอร์เน็ตทำงานได้อย่างราบรื่น ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นภาษาที่ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์เว็บไซต์ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวเว็บฯ, แอปฯมือถือ, เซิร์ฟเวอร์เว็บไซต์, เซิร์ฟเวอร์ของแอปฯ รวมถึงใช้ในการพัฒนาเกมด้วย เรียกได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญ JavaScript ในญี่ปุ่นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะตกงานเลย
ภาษา PHP ตามมาเป็นอันดับที่สาม ด้วยประกาศรับสมัครงานจำนวน 7,383 โพสต์ ในปัจจุบันมีเซิร์ฟเวอร์บนอินเตอร์เน็ตที่ใช้ภาษา PHP อยู่ถึง 79.1% และจัดเป็นภาษาแบบเซิร์ฟเวอร์ไซด์ที่นิยมใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในญี่ปุ่น
ลิสต์ข้างต้นนี้ค่อนข้างคล้ายกับการจัดอันดับทั่วโลกอยู่พอสมควร เพราะจากการสำรวจทั่วโลกของ CodinGame ในปี 2021 ได้เผยว่าทักษะภาษาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ JavaScript ตามมาด้วย Java และ Python
ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีความต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญภาษา Kotlin (ภาษาที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Java) ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังไม่ใช่กับประเทศญี่ปุ่น
ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เงินดีที่สุดในญี่ปุ่น (ปี 2020)
เราได้ทราบภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นที่ต้องการที่สุดในญี่ปุ่นกันไปแล้ว ต่อไป ก็ได้เวลาพูดถึงค่าตอบแทนกันบ้าง ลิสต์ด้านล่างนี้เป็นข้อมูลจากเว็บ HRog ที่ได้จัดอันดับภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีค่าตอบแทนสูงที่สุดในญี่ปุ่นของปี 2020 เอาไว้
ภาษาคอมพิวเตอร์ | รายได้โดยเฉลี่ยต่อปี (จำนวนเงินขั้นต่ำของแต่ละภาษา) |
---|---|
1. R | 4,747,434 เยน |
2. Go | 4,634,384 เยน |
3. TypeScript | 4,605,892 เยน |
4. Scala | 4,598,970 เยน |
5. Kotlin | 4,521,563 เยน |
6. Python | 4,353,952 เยน |
7. Swift | 4,250,388 เยน |
8. JavaScript | 4,112,702 เยน |
9. Ruby | 4,106,936 เยน |
10. Objective-C | 3,959,733 เยน |
อันดับที่หนึ่ง ได้แก่ ภาษา R ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.7 – 8.3 ล้านเยนต่อปี ภาษา R เป็นภาษาที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์สถิติโดยเฉพาะ มักจะใช้ในการสร้างระบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล
การจะเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษานี้ได้ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องสถิติอย่างลึกซึ้ง ผู้ที่คุ้นเคยกับภาษา R จึงได้ผลตอบแทนสูง หากกลับไปดูในตารางแรกก็จะพบว่ามีประกาศรับสมัครงานผู้ใช้ภาษา R ในญี่ปุ่นอยู่กว่า 1,056 โพสต์เลยทีเดียว
อันดับที่สอง ได้แก่ ภาษาคอมพิวเตอร์ Go ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 4.6 – 7.9 ล้านเยน ภาษานี้ได้รับการพัฒนาโดย Google ในปี 2009 และเป็นภาษาที่มีความสามารถในการประมวลผลพร้อมกันด้วยความเร็วสูงซึ่งสามารถรับมือกับการพัฒนาโปรแกรมหลังบ้านได้เป็นอย่างดี ภาษา Go ถูกใช้โดย Google ควบคู่กันไปกับบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง รวมถึง CyberAgent, Kyash และ Eureka จากตารางที่แล้วจะเห็นได้ว่ามีการประกาศรับสมัครผู้ใช้ภาษา Go อยู่ 932 โพสต์
อันดับสาม ได้แก่ TypeScript ด้วยรายได้ 4.6 – 7.8 ล้านเยน ภาษานี้ถูกสร้างขึ้นโดย Microsoft สำหรับใช้พัฒนาโปรแกรมในส่วนหน้าบ้าน โดยตั้งใจออกแบบมาเพื่อทดแทนข้อบกพร่องของ JavaScript และในปี 2017 ทาง Google ก็ได้ตั้งให้ภาษา TypeScript เป็นภาษามาตรฐาน จึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทผู้ให้บริการชื่อดังในญี่ปุ่นอย่าง BizReach และบริษัทจัดหางาน Persol Career ก็หันมาใช้งานภาษานี้ด้วยเช่นกัน
โดยรวมแล้ว การจัดอันดับนี้ถือว่าต่างจากทั่วโลกอยู่พอสมควร เพราะจากการสำรวจอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลกในปี 2020 โดย Stack Overflow พบว่า ผู้ใช้ภาษา R และ Typescript จะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ในระดับกลางเท่านั้น ในขณะที่รายได้ของภาษา Go และ Scala จะค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ภาษายอดนิยมในระดับโลกอย่าง Perl กลับไม่เป็นที่กล่าวถึงในญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำ
แรงงานต่างชาติจะได้เงินเดือนเท่ากันไหม?
ถึงแม้คุณว่าจะมีความสามารถ แต่เราขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งคาดหวังเงินเดือนสูงๆ ตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน เนื่องจากญี่ปุ่นมีธรรมเนียมให้แรงงานอายุน้อยเริ่มต้นด้วยรายได้ที่น้อยกว่าคนอาวุโสในตำแหน่งเดียวกัน แต่ก็จะมีการขึ้นเงินให้ทีละน้อย รวมถึงการจ่ายโบนัสเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานบริษัทต่อไปนานๆ
ดังนั้น ทาง Creative Village จึงได้ข้อสรุปมาว่า โปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นอายุ 25 – 29 ปีจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านเยนต่อปี ในขณะที่คนอายุ 55 – 59 ปีจะมีรายได้สูงสุดอยู่ที่ 5.8 ล้านเยน
อย่างไรก็ตาม เงินเดือนของวิศวกรซอฟต์แวร์และโปรแกรมเมอร์ชาวต่างชาติอาจแตกต่างกันไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ จากการสำรวจปี 2020 พบว่ามีวิศวกรซอฟต์แวร์ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นที่ได้รับเงิน 4 – 7.9 ล้านเยนต่อปีอยู่ประมาณ 47% ในขณะที่อีก 8% นั้นสามารถทำเงินได้มากกว่า 14 ล้านเยน จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมาก เนื่องจากรายได้โดยเฉลี่ยของวิศวกรซอฟต์แวร์ชาวญี่ปุ่นในช่วงที่พีคที่สุด (อายุ 50 ปี) จะอยู่ที่ประมาณ 6.3 ล้านเยน
ผลสำรวจเดียวกันนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า บริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินเดือนให้น้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีหน่วยงานของญี่ปุ่นมากๆ
เมื่อเทียบกับบริษัทที่มีสาขาย่อยในต่างประเทศหรือธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียวแล้ว ก็ดูเหมือนว่าบริษัทต่างชาติจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรายได้สูงในช่วงแรก [ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ไกชิเก” (外資系)] มากกว่าบริษัทญี่ปุ่นแท้ๆ
อย่างไรก็ตาม รายได้ของวิศวกรต่างชาติก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น และโดยปกติแล้ว พนักงานก็จะได้รับการขึ้นเงินเดือนแบบก้าวกระโดดหลังจากทำงานเกิน 5 ปี และในกรณีของผู้ที่ยังกังวลเรื่องทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่น ผลการสำรวจก็ได้ชี้ว่ามีวิศวกรซอฟต์แวร์ชาวต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลยหรือได้เพียงระดับพื้นฐานอยู่กว่า 30% กล่าวได้ว่า คุณสามารถทำงานในญี่ปุ่นได้ แม้จะไม่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นเลยก็ตาม
หากอยากทำงานในญี่ปุ่น ควรศึกษาภาษาคอมพิวเตอร์ตัวไหน?
ถึงตรงนี้คุณก็อาจจะมีคำถามว่า แล้วภาษาคอมพิวเตอร์ตัวไหนที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการทำงานที่ญี่ปุ่น ดังนั้น เรามาแบ่งกันอย่างนี้ดีกว่า:
รายได้พอสมควร / มีโอกาสสูง: Java, C languages, PHP, Ruby
รายได้สูง / มีโอกาสจำกัด: R, Go, TypeScript, Scala, Kotlin
รายได้มั่นคงถึงสูง / มีโอกาสสูง: JavaScript, Python
ข้อมูลนี้ได้แสดงให้เห็นว่า Java, ภาษา C, PHP ฯลฯ นั้นมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น จึงมีโอกาสได้งานที่มาพร้อมกับรายได้ที่เหมาะสมอยู่มาก นอกจากนี้ ภาษา Ruby ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากกลับกำลังเสื่อมความนิยมลงทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ภาษาอย่าง R, Go, TypeScript, Scala และ Kotlin กลับมีโอกาสในการสร้างรายได้สูงมากถึงแม้จะยังไม่เป็นที่ต้องการในตลาดหางานของญี่ปุ่นมากนัก
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตัวบ่งชี้ความนิยมของภาษาโปรแกรมที่จัดทำโดย TIOBE (TIOBE programming community index) ได้ชี้ให้เห็นว่าภาษา R ได้กระโดดจากอันดับที่ 20 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8 ได้ภายในปีเดียว หากใครอยากลองเสี่ยงที่จะก้าวขึ้นมาอย่างผู้ชนะแล้วล่ะก็ นี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีก็ได้
ภาษาที่ดูจะมีสมดุลที่ดีที่สุดเห็นจะเป็น JavaScript ด้วยรายได้ที่อยู่ในอันดับ 8 และความต้องการในอันดับที่ 2 อีกทั้งยังติด 10 อันดับแรกของ TIOBE อย่างต่อเนื่องมานานตลอดหลายปี และเป็นที่ชื่นชอบของบริษัทนานาชาติชื่อดังอย่าง Microsoft, PayPal, Netflix ถือเป็นภาษาที่ไม่มีท่าทีว่าจะลดความนิยมในระดับโลกลงแต่อย่างใด ส่วน Python ก็สูสีกัน ดังที่เราจะเห็นได้ว่ามีรายได้สูงเป็นอันดับ 6 และความต้องการอยู่ในอันดับ 7
ไขว่คว้าหางานในฝันที่ญี่ปุ่น!
ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยโอกาสในการทำงาน แต่การโดดลงไปทั้งตัวด้วยชุดทักษะที่ผิดก็อาจจะนำไปสู่ความความผิดหวังได้ เราจึงอยากให้คุณศึกษาให้มั่นใจว่าความสามารถของคุณนั้นตรงกับความต้องการและความเข้าใจในเรื่องการเติบโตของรายได้หรือไม่ และมันจะเป็นสิ่งสำคัญในการไขว่คว้าหาความสำเร็จในอาชีพการงานเลยทีเดียว สุดท้ายนี้ เราขอคุณให้โชคดีกับการหางานนะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่