เขียนเรซูเม่ญี่ปุ่นแบบ Shokumukeirekisho อย่างไร? ที่นี่มีคำตอบ!

คุณกำลังหางานทำในญี่ปุ่นอยู่หรือเปล่า? ถ้าอย่างนั้นก็รู้ตัวแล้วใช่ไหมว่าต้องเเขียนเรซูเม่ 2 ฉบับ? วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับเรซูเม่ฉบับที่สอง หรือที่เรียกว่า “โชคุมุเคเรคิโช” (Shokumukeirekisho) พร้อมแนะนำว่าคุณจะต้องเขียนอะไรลงไปบ้าง และจะต้องจัดหน้าหรือปรับแก้อย่างไรให้ดูดี!
Oyraa

Note: หากคุณเป็นสาย IT เรามีบทความพิเศษให้คุณด้วย !

เชื่อว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นคงต้องเจอกับอุปสรรคทางภาษาและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน คุณอาจจะเริ่มชินกับมันไปแล้ว แต่หากคิดจะสมัครงานขึ้นมาล่ะก็ คุณจะต้องพบกับอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คือ การเตรียมเรซูเม่ (Resume) เพราะมันไม่ใช่แค่การแปลเรซูเม่เก่าที่เคยมีอยู่แล้วไปใช้ แต่คุณจะต้องเขียนเอกสารใหม่ตั้งแต่ต้นถึง 2 ฉบับ! มาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะเรามีคำแนะนำสำหรับการเตรียมเรซูเม่ฉบับที่สอง หรือ Shokumukerekisho ให้เข้าตาบริษัทมาฝาก บอกเลยว่าครบจบในที่เดียว!

เรซูเม่ญี่ปุ่นต้องมี 2 ฉบับ

Japanese resume

เมื่อคุณเริ่มหางานในประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก็คือ เรซูเม่แบบญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า “ริเระคิโช” (履歴書) เอกสารนี้มีมาตรฐานแบบฟอร์มที่สูงพอสมควร ซึ่งคุณจะต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม 2 หน้าตามลำดับ และนอกจากรายละเอียดพื้นฐานอย่าง ชื่อ อายุ เพศ และรูปถ่ายแล้ว คุณก็จะต้องเขียนประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และทักษะ/ ใบรับรองต่างๆ ลงไปด้วย สิ่งเหล่านี้ใช้บอกอย่างคร่าวๆ ว่าคุณเคยศึกษาหรือทำงานที่ไหนมาก่อน ทำตำแหน่งอะไรมาบ้าง ทำมานานแค่ไหนแล้ว เป็นต้น

ในหน้าถัดไปจะมีพื้นที่เล็กๆ ให้คุณเขียนพรีเซนต์ตัวเอง เป็นการเขียนแนะนำตัวสั้นๆ และอ้างถึงทักษะหรือจุดแข็งที่ตัวเองมี โดยคุณจะต้องเขียนออกมาในรูปแบบลิสต์ ซึ่งแตกต่างจากการเขียนเรซูเม่แบบตะวันตกที่มีพื้นที่ให้เขียนอธิบายได้ยาวกว่า

คลิกที่นี่ เพื่อดูเทคนิคในการเขียนเรซูเม่แบบ Rirekisho จากมืออาชีพ!

Shokumukeirekisho คืออะไร?

Handing in your resume

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าเรซูเม่แบบ Rirekisho นั้นเป็นพื้นที่สำหรับเขียนข้อมูลพื้นฐาน แต่ก็มีเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่คุณต้องเขียน ซึ่งเราเรียกมันว่า “Shokumukeirekisho” (職務経歴書 อ่านว่า โชคุมุเคเรคิโช) เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับเขียนบรรยายประสบการณ์จริงของคุณ

เรซูเม่ฉบับนี้ไม่มีรูปแบบตายตัวเหมือน Rirekisho และค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า คุณสามารถเลือกได้ว่าจะย่อ รวม หรือตัดส่วนไหนออก

วัตถุประสงค์ของเอกสารฉบับนี้ คือ เพื่อขยายความจากเรซูเม่หลัก ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับรูปแบบทางตะวันตกมากขึ้นและจะมีการใส่ส่วนของ “จดหมายนำ” (Cover Letter) เข้าไปด้วย ทำให้คุณสามารถระบุรายละเอียดของประสบการณ์การทำงานแต่ละอย่างที่เขียนไปในเรซูเม่ได้ เช่น หน้าที่ของคุณคืออะไร, มันสำคัญอย่างไร, ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้คุณเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่กำลังจะสมัครนี้อย่างไร ฯลฯ นอกจากนี้คุณยังสามารถแนบลิงก์ผลงาน (Portfolio) หรืองานอื่นๆ ที่เคยทำมาแล้วได้อีกด้วย

โดยหลักๆ แล้ว เรซูเม่แบบ Shokumukeirekisho นี้จะมีไว้ให้คุณโชว์ประสบการณ์การทำงานเพื่อประกอบคำอธิบายว่าคุณเหมาะสมที่จะทำงานในบริษัทที่สมัครไปอย่างไรนั่นเอง

วิธีการเขียน Shokumukeirekisho

Writing your shokumukeirekisho

ถึงแม้เรซูเม่จะไม่มีรูปแบบตายตัว แต่เราก็มีแนวทางพื้นฐานและคำแนะนำถึงสิ่งที่คุณควรใส่มาให้นะ! เรามาดูกันดีกว่าว่ารายละเอียดและแนวทางสำหรับการเขียน Shokumukeirekisho มีอะไรบ้าง อย่างที่บอกไปแล้วว่าจะมีทั้งส่วนสำคัญที่คุณควรเขียนตามรูปแบบของคนญี่ปุ่น และส่วนที่คุณสามารถจัดการเองได้ตามสมควร โดยขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากจะเน้นข้อมูลในส่วนนั้นมากแค่ไหน

หัวเอกสารและข้อมูลส่วนบุคคล

ในส่วนบนสุดของเอกสาร ให้เขียนคำว่า 職務経歴書 ลงไป ตามด้วยวันที่ ชื่อ และข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ เช่น ข้อมูลการติดต่อ

ก่อนจะไปยังส่วนต่อไป อย่าลืมดาวน์โหลดแบบฟอร์มด้านล่างนีเพื่อใช้ดูประกอบด้วย

ประวัติการทำงานโดยย่อ

career summary
แบบฟอร์มพร้อมตัวอักษรสามารถดาวน์โหลดได้ในลิงก์ด้านบน

Shokumukeirekisho ส่วนใหญ่มักจะเริ่มด้วยประวัติการทำงานโดยสังเขป กรอกถัดจากข้อมูลส่วนบุคคลลงไป ส่วนนี้มีไว้สำหรับเขียนแนะนำตัวอย่างคร่าวๆ ว่าคุณเป็นใคร เคยทำงานอะไรมาบ้าง คุณจะต้องเขียนไม่เกิน 250 ตัวอักษร เพราะนี่ไม่ใช่ส่วนที่จะเจาะลึกประสบการณ์การทำงานและทักษะ ดังนั้น เราขอแนะนำว่าให้เขียนเป็นแนวสรุปประวัติการทำงานจะดีกว่า

ทักษะที่เกี่ยวข้อง

skills section

ส่วนนี้สำคัญมากสำหรับการเขียนลิสต์ของสิ่งที่คุณสามารถทำให้กับบริษัทได้ เพราะฉะนั้น คุณจึงควรเขียนทักษะและความสำเร็จ “ที่ดีที่สุด” ของคุณ (สามารถรวมกับทักษะอื่นๆ ที่อยู่ด้านล่างได้) อย่างไรก็ตาม การใส่ส่วนนี้แยกไว้ด้านบนจะสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านได้มากกว่า และคุณยังสามารถอธิบายข้อย่อยแต่ละข้อออกมาได้ด้วย ซึ่งค่อนข้างต่างจากส่วนอื่นๆ ที่เป็นเพียงลิสต์คร่าวๆ ว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง

ประวัติการทำงาน

career summary

ส่วนนี้เรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาของ Shokumukeirekisho เลยทีเดียว คุณสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานแต่ละตำแหน่งได้ โดยจะอ้างอิงตัวเลขหรืออะไรก็ได้เพื่อให้อธิบายตำแหน่งนั้นๆ ออกมาได้ดีที่สุด อย่าลืมว่าเอกสารนี้จะใช้ในการพิจารณาว่าคุณเหมาะสมกับบริษัทที่คุณสมัครหรือไม่ เพราะฉะนั้น เราขอแนะนำให้เขียนเน้นประสบการณ์ที่จะทำให้คุณเป็นผู้สมัครที่แพรวพราวที่สุดไปเลย

สำหรับงานแต่ละตำแหน่ง คุณควรเขียนข้อมูลของบริษัทเอาไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น

  • ชื่อบริษัท
  • ประเภทอุตสาหกรรม
  • ประวัติการก่อตั้ง
  • ข้อมูลหุ้นจดทะเบียนของบริษัท
  • จำนวนพนักงาน
  • กำไรต่อปี

ในส่วนนี้ เราขอให้คุณใส่เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น หากบริษัทนั้นไม่ใช่บริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลหุ้น หรือหากรายละเอียดการก่อตั้งบริษัทดูไม่น่าสนใจ จะไม่ใส่ลงไปก็ได้เช่นกัน ส่วนนี้ไม่ได้มีไว้ให้เขียนเชิดชูบริษัทที่คุณเคยทำงานมาก่อน แต่มีไว้บอกผู้อ่านว่าเป็นบริษัทประเภทไหน ใหญ่หรือเล็ก และจัดการอยู่ในภาคส่วนไหนมากกว่า

ถัดมา ให้คุณอธิบายงานในตำแหน่งงานของคุณระหว่างที่ทำงานในบริษัทนั้นๆ เช่น

  • ชื่อตำแหน่งงานและแผนก
  • ระยะเวลาทำงาน
  • หน้าที่ของคุณ
  • ประสบการณ์การจัดการ
  • ความสำเร็จ

ความสำคัญของส่วนนี้ คือ การเน้นย้ำประสบการณ์จากแต่ละตำแหน่ง ความสำเร็จของคุณ ประกอบกับการอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการสมัครงานในครั้งนี้อย่างไร หากคุณสมัครตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ ก็ขอแนะนำว่าให้เขียนเกี่ยวกับขนาดและขอบเขตของโครงการที่คุณเคยจัดการเข้าไปด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะสมัครตำแหน่งใดก็ตาม อย่าลืมเน้นเข้าไปด้วยว่ามีทักษะอะไรบ้างที่คุณจะสามารถนำไปใช้ในตำแหน่งใหม่นี้ได้

ขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงแม้ตำแหน่งงานที่คุณเคยทำมาจะแตกต่างกัน หรือให้ทักษะที่ต่างกัน แต่ขอให้ใช้ส่วนนี้อธิบายให้ได้ว่าตำแหน่งเหล่านั้นทำให้คุณพร้อมสำหรับการสมัครในครั้งนี้ได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณเคยทำงานในสายครีเอทีฟและเคยมีผลงานออกมาบ้างแล้ว (เช่น เว็บไซต์หรือการออกแบบ) คุณก็สามารถใส่ลิงก์เว็บไซต์ลงไปเพื่อให้ Shokumukeirekisho เป็นเหมือนแฟ้มผลงานอีกอันหนึ่งของคุณไปได้เลย

ทักษะอื่น ๆ

skills and certificates

ต่อจากประวัติการทำงานก็ถึงเวลาเขียนทักษะให้บริษัทได้รับรู้ถึงศักยภาพของคุณแล้ว ในส่วนนี้ คุณสามารถอ้างใบรับรองไปพร้อมกับอธิบายทักษะของคุณได้ ลองเลือกจากสิ่งที่ลิสต์ไปในประวัติการทำงานข้างต้นดูว่าทักษะไหนจะเหมาะกับการสมัครงานในตำแหน่งนี้และจะทำให้คุณเตะตาต้องใจบริษัทได้มากที่สุด คุณสามารถเขียนลงไปได้หมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทักษะระดับพื้นฐานหรือระดับเชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น หากจะสมัครตำแหน่งในสำนักงาน ก็อาจจะเขียนทักษะการใช้ Microsoft Office เข้าไป หรือหากจะสมัครตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ก็ลองพิจารณาดูก่อนก็ได้ว่าคุณมีประสบการณ์การทำงานที่คล้ายคลึงกันมากี่ปีหรือมีใบรับรองอะไรที่จะทำให้ใบสมัครคุณดูแข็งแกร่งขึ้นมาได้บ้าง นอกจากนี้ หากคุณเป็นคนต่างชาติ ก็อย่าลืมเขียนระดับภาษาญี่ปุ่นหรือ JLPT ของคุณลงไปด้วย

หากคุณมีประวัติการศึกษาหรือประสบการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น งานอาสาสมัครหรือโครงการเรียนและฝึกงานที่ทำให้คุณได้ฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องบางอย่างแต่ไม่เหมาะสำหรับใส่ในส่วนของประวัติการทำงาน ก็สามารถใส่ลงไปในส่วนนี้ได้เช่นกัน

พรีเซนต์ตัวเอง

jiko PR

ส่วนนี้เป็นพื้นที่อิสระที่คุณจะสามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงต้องการสมัครตำแหน่งนี้ และเป้าหมายของคุณคืออะไร ก่อนอื่นเราขอแนะนำให้คุณย้อนกลับไปดูประสบการณ์ที่ผ่านมาและทักษะต่างๆ โดยเฉพาะลักษณะอุปนิสัยและทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skills) ที่ไม่ได้กล่าวถึงในส่วนอื่นๆ รวมถึงเป้าหมายในอนาคต เพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่าการทำงานที่นี่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร แล้วค่อยเขียนมันออกมา แต่ก็อย่าลืมนะว่าสิ่งที่บริษัทอยากรู้มากที่สุดก็คือ เขาอยากรู้จักคุณ อยากรู้ว่าอะไรทำให้คุณสมัครเข้าทำงานที่นี่ และอยากรู้ว่าคุณสามารถทำอะไรให้บริษัทเขาได้บ้าง

ส่วนนี้ไม่ควรเขียนยาวมาก พอๆ กับส่วนประวัติการทำงาน (ไม่เกิน 250 ตัวอักษร) ก็ใช้ได้แล้ว เพราะเป้าหมายในการเขียนส่วนนี้ก็คือ การตอบคำถามว่า ตำแหน่งนี้เหมาะกับหน้าที่การงานของคุณอย่างไร โดยควรจะเขียนให้กระชับมากที่สุด

ถึงแม้ส่วนนี้จะคล้ายกับส่วนหนึ่งในเรซูเม่แบบ Rirekisho แต่หากคุณจะเขียนเหมือนเดิมทั้ง 2 ที่ ก็ไม่ควรก็อปปี้มาแปะเด็ดขาด! เพราะเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่ต่างกัน โดย Rirekisho จะค่อนข้างกว้างและดูเป็นข้อมูลทั่วๆ ไป ในขณะที่ Shokumukeirekisho จะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า เพราะฉะนั้น บริษัทจะอ่านเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้อย่างละเอียดแน่นอน หากคุณใช้การก็อปปี้แปะก็จะทำให้เขาคิดว่าคุณไม่ทุ่มเทกับการสมัครไปเลยก็ได้

หมายเหตุ

Taking notes for a resume

นี่คือเคล็ดลับสำหรับเขียนทุกๆ ส่วนของ Shokumukeirekisho อย่าลืมนำไปใช้กันด้วยนะ

• คุณจะเรียบเรียงประสบการณ์อย่างไรก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่จะนิยมเรียงตามลำดับเวลากันมากที่สุดและบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ชอบแบบนี้ที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเขียนย้อนกลับ หรือเรียงตามลำดับความอาวุโสของตำแหน่งเพื่อแสดงถึงความเติบโตในหน้าที่การงานได้เช่นกัน
• พยายามเขียน Shokumukeirekisho ให้จบภายใน 2 หน้า ในบางครั้ง 3 หน้าก็ยังพออนุโลมได้แต่อาจจะดูยาวไปหน่อย ไม่ต้องพยายามเขียนให้มันยืดยาว และหากคุณเพิ่งเริ่มทำงาน จะเขียนแค่หน้าเดียวก็ไม่มีปัญหา
• เขียนให้ตรงประเด็นและกระชับ อย่าลืมเช็กด้วยว่าคุณเขียนจุดแข็งออกมาได้โดดเด่น และไม่ได้ถูกกลบด้วยภาษาที่ฟุ่มเฟือยใช่ไหม หากเป็นไปได้ เราขอแนะนำให้ใส่ข้อมูลตัวเลขเข้าไปให้ดูแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย
• ระวังเรื่องการจัดรูปแบบ เช่น การเว้นบรรทัด และการจัดตำแหน่งข้อความ (การจัดแนวซ้ายหรือกึ่งกลาง) ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เพราะคนตรวจเอกสารจะซีเรียสในเรื่องนี้ค่อนข้างมากทีเดียว!

การหางานในญี่ปุ่นไม่ยากอย่างที่คิด

Interview in Japan

การหางานใหม่เป็นเรื่องที่ทุกคนลำบากใจกันอยู่แล้ว แต่ที่จริงแล้วกระบวนการหางานก็ไม่ได้ยุ่งยากเสมอไป เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเตรียมเอกสาร Shokumukeirekisho ได้ง่ายขึ้นนะ!

สุดท้ายนี้ ทาง Tsunagu Local Jobs ของเราไม่เพียงแต่รวบรวมวิธีการหางานในประเทศญี่ปุ่น มาให้คุณเท่านั้น แต่เรายังมีแหล่งข้อมูลอีกมากมายที่จะช่วยให้คุณหาข้อมูลและเขียนเอกสารสมัครงานได้ดีที่สุดด้วย

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: