แชร์ประสบการณ์ “ย้ายบ้านในญี่ปุ่น” ครบตั้งแต่ย้ายเข้าจนย้ายออก!

moving house in japan
Oyraa

เชื่อว่าสำหรับคนที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะมาเรียนหรือทำงาน ต่างก็ต้องประสบกับความวุ่นวายเรื่องที่พักอาศัยกันบ้าง สำหรับคนที่ทางโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือบริษัทมีหอพักให้ก็อาจจะสบายหน่อย แต่สำหรับคนที่ต้องมาเช่าที่พักอยู่เองก็คงจะหัวหมุนกันไม่น้อย วันนี้เราเลยอยากมาแชร์ประสบการณ์การเช่าอพาร์ตเมนต์ในญี่ปุ่นของเราให้ทุกคนได้ฟังกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการหาที่อยู่ การเลือก การทำสัญญา ไปจนถึงขั้นตอนในการยกเลิกสัญญาและการย้ายออกเลยค่ะ ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย ค่อนข้างวุ่นวายและใช้เวลา แต่บอกเลยว่าคุณน่ะแข็งแกร่งพอที่จะผ่านไปได้แน่นอน!

การหาห้อง

โดยปกติแล้ว คุณควรจะเริ่มหาที่อยู่ให้ได้ก่อนย้ายเข้าราว 2 – 3 เดือน เนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะเจอห้องที่ถูกใจเมื่อไร เลยต้องเผื่อเวลากันสักเล็กน้อย แต่หากเผื่อไว้นานเกินไปก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่มีห้องที่อยากได้มานาน แต่พอจะย้ายเข้าจริงๆ ห้องก็ดันไม่ว่างแล้วก็ได้ เราจึงขอแนะนำว่าไม่ต้องหาล่วงหน้านานมาก แค่เผื่อเวลาให้มากพอที่จะมีเวลาตัดสินใจและทำสัญญาได้ก็พอแล้ว

วิธีการหานั้นมีอยู่หลายวิธี ซึ่งเราได้ลองมา 2 วิธีด้วยกัน

1. หาข้อมูลจากเว็บไซต์หาบ้าน

เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยเห็นโฆษณาเว็บไซต์หาบ้านหลายๆ เจ้าอย่าง Suumo, Chintai, Homes และ Athome ในอินเทอร์เน็ตกันอยู่บ้าง นั่นแหละค่ะ เว็บไซต์หาบ้านมีอยู่หลายเจ้าให้เลือกใช้ และหน้าตาของแต่ละเว็บฯ ก็อาจจะต่างกันไป แต่ฟังก์ชั่นพื้นฐานจะค่อนข้างคล้ายกันค่ะ นั่นก็คือ เราจะสามารถเข้าไปเลือกดูห้องว่างให้เช่าในพื้นที่ที่ต้องการได้ และยังเลือกกรองผลการค้นหาให้ตรงตามเงื่อนไขที่ต้องการได้ด้วย หากเจอห้องที่ถูกใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดรวมถึงรูปถ่ายในมุมต่างๆ ได้ และหากสนใจก็จะมีช่องทางการติดต่อบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตัวแทนดูแลห้องดังกล่าวอยู่ได้ ข้อดีของการใช้เว็บไซต์ก็คือสะดวก รวดเร็ว จะเปิดหาเมื่อไรก็ทำได้ มีข้อมูลมาก ฟังก์ชั่นกรองผลการค้นหาก็สะดวก ทำให้สามารถหาห้องที่มีเงื่อนไขตรงกับความต้องการของเราได้โดยไม่ต้องมานั่งอ่านรายละเอียดจากเอกสารด้วยตัวเองค่ะ

2. ติดต่อบริษัทนายหน้า หรือ “ฟุโดซัง” (不動産) โดยตรง

สำหรับวิธีนี้ คุณจะต้องไปที่สำนักงานของเหล่านายหน้า แล้วเดินเข้าไปคุยกับพวกเขาโดยตรงเลย แต่เราขอแนะนำว่าหากจะใช้วิธีนี้ ก็ควรเล็งเอาไว้ก่อนเลยว่าอยากได้บ้านที่อยู่ในพื้นที่แถวไหน แล้วมองหาสำนักงานนายหน้าที่อยู่แถวนั้น เพราะสำนักงานส่วนใหญ่ก็จะดูแลรับผิดชอบบ้านและห้องเช่าที่อยู่ในบริเวณที่สำนักงานตั้งอยู่นั่นแหละค่ะ

เมื่อเข้าไปบอกว่าอยากเช่าห้อง เขาก็จะถามเราว่าสเปคห้องที่ต้องการเป็นยังไง? มีงบเท่าไร? จากนั้น เขาก็จะไล่ดูห้องที่อยู่ในลิสต์ที่ดูแลอยู่ว่ามีห้องไหนที่น่าจะถูกใจเราบ้าง แล้วค่อยเอารายละเอียดมาให้เราเลือก ข้อดีก็คือ เจ้าหน้าที่จะช่วยอธิบายและให้คำแนะนำหลายๆ อย่างโดยละเอียด นอกจากนี้ การคุยกับคนจริงๆ ก็จะช่วยให้เงื่อนไขมีความยืดหยุ่นมากกว่าด้วย เช่น มีการเสนอห้องที่เงื่อนไขไม่ได้ตรงใจเราหมดทุกข้อแต่ค่าเช่าถูก แนะนำพื้นที่ที่ไกลออกไปหน่อยแต่ค่าเช่าถูกกว่า หรือแนะนำอันที่ตรงสเปคเราแต่ราคาสูงกว่างบที่ตั้งไว้ตอนแรกเล็กน้อย เป็นต้น แถมในบางครั้งก็จะมีห้องที่อยู่ในความดูแลของนายหน้าแต่ไม่ได้ถูกนำขึ้นไปแสดงบนเว็บไซต์ให้เลือกด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ทำให้เราหาห้องได้จริงๆ คือวิธีแรกค่ะ หากใครอยากรู้ว่าเรามีหลักในการพิจารณาง่ายๆ ยังไงบ้างก็ตามไปอ่านในหัวข้อต่อไปกันเลย!

การเลือกห้อง

เราเชื่อว่าคนที่ลองหาห้องเช่าด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกจะต้องตาลายไปกับข้อมูลอันมหาศาลที่โผล่ขึ้นมาเวลาเรากดปุ่มค้นหาในเว็บไซต์แน่นอน ทั้งรายละเอียดพื้นฐานอย่างพื้นที่ห้องหรือรูปแบบห้อง รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ซึ่งจะมีทั้งทิศหน้าต่าง รูปแบบการปูพื้นห้อง ระบบล็อกประตู ระเบียง ที่วางเครื่องซักผ้า ฯลฯ บอกตามตรงว่าช่วงแรกๆ เราก็งงไปเหมือนกันค่ะ แต่ยังไงก็ขอแนะนำให้ลองดูไปเรื่อยๆ แบบยังไม่ต้องตัดสินใจก่อน แล้วคุณก็จะเห็นภาพได้กว้างขึ้นว่าคุณสมบัติของแต่ละห้องนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง จากนั้นเราจะเริ่มมีธงในใจแล้วว่าอยากได้ห้องที่มีคุณสมบัติแบบไหน และนั่นก็จะเป็นแนวทางในการเลือกห้องครั้งต่อไปของเรานั่นเอง

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการเลือกห้องของเราก็จะมีตามนี้เลยค่ะ

1. ที่ตั้ง

เนื่องจากเราเดินทางด้วยจักรยาน จึงอยากได้ห้องที่อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก และหากใกล้ตัวเมืองด้วยก็จะยิ่งดี จุดนี้อาจจะต่างกันไปสำหรับแต่ละคน บางคนอาจจะอยากได้ห้องที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟสายที่ใช้บ่อยๆ แต่บอกได้เลยค่ะว่าที่พักใกล้เมืองหรือสถานีรถไฟส่วนใหญ่จะมีค่าเช่าที่แพงกว่า

2. รูปแบบห้อง

บางคนอาจจะเคยเห็นรหัสด้านล่างนี้ผ่านตากันอยู่บ้าง มันคือตัวย่อที่คนญี่ปุ่นใช้ในการบอกรูปแบบห้องนั่นเอง

  • 1R หรือ วันรูม (ワンルーム) หมายถึง ห้องที่มีทุกอย่างรวมอยู่ในห้องเดียว แน่นอนว่ามีห้องน้ำแยกแต่จุดสำคัญคือ จะไม่มีประตูกั้นส่วนที่เป็นครัวกับห้องนอนค่ะ
  • 1K หมายถึง ห้องที่มีห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ แยกกันเป็นสัดส่วน
  • 1DK หมายถึง ห้องที่มีห้องนอน ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องน้ำแยกกัน เหมือนเป็น 1K ที่มีห้องเพิ่มมาอีก 1 ห้อง
  • 1LDK หมายถึง ห้องที่มีทั้งห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องน้ำ
  • 2K หมายถึง ห้องที่มีห้องนอน 2 ห้อง ห้องครัว และห้องน้ำ
  • ในส่วนของตัวเลขด้านหน้า นอกจากจะใช้บอกจำนวนห้องนอนแล้ว ยังรวมถึงจำนวนคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังนั้นได้ด้วย เช่น หากเราเช่าห้อง 1K แล้วอยู่สองคน ก็จะถือว่าผิดกฎอพาร์ตเมนต์ อาจจะหมดสิทธิ์การเช่าต่อและโดนปรับได้ค่ะ

สำหรับเรา ด้วยความที่อยู่คนเดียว ตอนแรกๆ เลยเลือกตั้งเงื่อนไขเป็น 1K แต่วันหนึ่งก็พบว่าจริงๆ แล้วห้อง 1K ไม่ได้ถูกกว่าห้อง 1DK เสมอไป หลังๆ เราเลยไม่ตั้งเงื่อนไขตรงนี้แล้วดูราคาเป็นหลักแทนค่ะ

3. ค่าเช่า

หากถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าควรตั้งงบเท่าไรสำหรับการเช่าที่อยู่? โดยส่วนตัวแล้ว เราจะใช้วิธีเปิดหาห้องเช่าไปเรื่อยๆ สักพักก็จะเริ่มเห็นขอบเขตราคาค่ะ แล้วก็จะพอมองออกว่าหากอยากได้ห้องประมาณนี้ราคาจะอยู่ประมาณไหน ซึ่งแน่นอนว่าช่วงราคาจะแตกต่างกันไปตามจังหวัดที่อยู่ อย่างเราอาศัยอยู่ในเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ค่าเช่าก็จะถูกกว่าโตเกียว เป็นต้น ซึ่งเราจะตั้งงบค่าเช่าส่วนนี้ไว้ไม่เกิน 40,000 เยนต่อเดือนค่ะ อันที่จริงแล้ว ส่วนตัวเราก็ไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นกำหนดงบค่าเช่าในเว็บไซต์ แต่จะใช้วิธีเลือกให้เว็บไซต์แสดงผลการค้นหาเรียงตามค่าเช่าจากถูกไปแพง แล้วไล่ดูเรื่อยๆ จนถึงราคาที่ต้องการค่ะ

4. ที่วางเครื่องซักผ้า

ที่วางเครื่องซักผ้า คือ พื้นที่ที่มีท่อน้ำและท่อระบายน้ำสำหรับต่อกับเครื่องซักผ้าไว้ให้ หากไม่มีก็อาจจะต้องไปใช้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญแทน แต่โดยส่วนตัวแล้ว เรารู้สึกว่ามีเครื่องซักผ้าเป็นของตัวเองจะคุ้มกว่า

5. ห้องอยู่ชั้นสองขึ้นไป

เหตุผลสำหรับข้อนี้ คือ เรื่องของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยค่ะ เพราะหากอยู่ชั้น 1 ก็มีโอกาสที่คนเดินผ่านไปผ่านมาจะมองลอดเข้ามาได้ง่ายกว่า แล้วเวลามีภัยพิบัติก็อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าห้องที่อยู่ชั้นบนด้วย

6. รูปแบบของพื้นห้อง

ห้องพักที่ญี่ปุ่นมีพื้นให้เลือกมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นพรม, พื้นเสื่อทาทามิ, พื้นไม้, พื้นกระเบื้อง ฯลฯ เราส่วนเป็นคนแพ้ฝุ่นเลยเลือกพื้นที่เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่พรมและพื้น สุดท้ายจึงได้มาเป็นกระเบื้องยางซึ่งก็มีข้อดี คือ เวลาทำของตกจะไม่ค่อยแตกค่ะ

7. เครื่องปรับอากาศ

เมืองเซนไดที่เราอยู่นี่จะทรมานมากๆ ในช่วงหน้าหนาวค่ะ ยังไงก็ต้องใช้ฮีทเตอร์ และหน้าร้อนก็น่าจะต้องใช้แอร์ ดังนั้นจึงเลือกห้องที่มีเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว เพราะเราจะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อหรือเสียค่าติดตั้งเอง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องซื้อใหม่นี้ไปได้ค่ะ

8. ระเบียง

ไว้สำหรับตากผ้าหรือวางกระถางต้นไม้ (แต่สุดท้ายห้องที่เราเลือกก็ไม่มีระเบียงค่ะ)

9. บริษัทที่จัดการเรื่องแก๊ส น้ำ ไฟ

ราคาค่าแก๊ส น้ำ และไฟฟ้าจะแตกต่างกันไปตามบริษัทที่ดูแลค่ะ ดังนั้น หากคุณเลือกห้องที่ค่าบริการเหล่านี้ถูกก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือนได้มากพอสมควรเลยทีเดียว

10. ทิศทางของหน้าต่าง

ว่ากันว่าห้องที่ดีที่สุด (และแพงที่สุด) คือ ห้องที่มีหน้าต่างอยู่ทางทิศใต้ค่ะ เพราะจะทำให้ได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะตลอดทั้งวัน แต่ส่วนตัวเราไม่ค่อยติดเรื่องนี้ ทำให้ได้ห้องที่มีหน้าต่างอยู่ทางทิศตะวันออกค่ะ

นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น อายุตึก (ตึกที่เพิ่งสร้างใหม่ไม่นานมักจะมีค่าเช่าแพงกว่า), ระบบล็อกประตู/อินเตอร์โฟน (ยิ่งระบบเป็นประตูล็อกอัตโนมัติและมีระบบอินเตอร์โฟนก็จะแพงขึ้น), ห้องน้ำและห้องอาบน้ำอยู่แยกกันหรือไม่, โถชักโครกมีระบบวอชเล็ทหรือเปล่า ฯลฯ ซึ่งตรงนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนเลย

จากประสบการณ์ส่วนตัวของเรา พบว่าในบรรดาห้องที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ต้องการ (ใกล้ตัวเมืองเซนได) และราคาไม่สูงเกินเอื้อมจนเกินไป สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคร่าวๆ คือ กลุ่มที่ค่าเช่าประมาณ 25,000 – 30,000 เยน ส่วนใหญ่จะไม่มีพื้นที่สำหรับเครื่องซักผ้า อยู่ค่อนข้างไกลจากมหาวิทยาลัย และมักจะขาดคุณสมบัติอะไรไปสัก 1 – 2 อย่าง กับกลุ่มที่ค่าเช่าประมาณ 40,000 เยน ซึ่งมีคุณสมบัติค่อนข้างครบ แต่มักจะมีความแตกต่างอยู่ที่รูปแบบและพื้นที่ของห้อง เราก็เลยจะเลือกห้องที่มีพื้นที่มากที่สุดในกลุ่มที่สอง ซึ่งห้องนั้นก็มีคุณสมบัติครบทุกอย่างที่ต้องการยกเว้นระเบียง ตอนแรกก็ลังเลค่ะ แต่พอไปดูห้องจริงแล้วชอบมาก (เดี๋ยวจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป) เพราะมีที่เก็บของในห้องหลายจุดและพื้นที่กว้างขวาง จึงตกลงใจที่จะอยู่ห้องนี้ค่ะ

เมื่อเจอห้องที่ถูกใจแล้ว (ควรเลือกไว้สัก 3 – 4 แห่งเพื่อเป็นทางเลือกให้กับตัวเอง) ก็มาถึงขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็คือ การติดต่อกับบริษัทนายหน้าที่ดูแลห้องนั่นเอง

การติดต่อขอดูห้อง

เมื่อเจอตัวเลือกที่ถูกใจแล้ว โดยทั่วไปก็จะต้องเข้าไปในเว็บไซต์เพื่อหาข้อมูลสำหรับการติดต่อขอดูและจองห้อง บางครั้งก็อาจมาเป็นเบอร์โทรศัพท์ เป็นอีเมล ในขณะที่บางเว็บไซต์จะมีระบบให้เราส่งข้อความไปยังบริษัทนายหน้าจากในตัวเว็บได้เลย เราเองก็ใช้ระบบของเว็บไซต์หาบ้านเพื่อส่งข้อความไปขอดูห้องที่สนใจ จากนั้นไม่นานก็จะมีอีเมลจากบริษัทนายหน้าส่งมาคุยเรื่องการนัดแนะวันที่จะให้เราเข้าไปคุยรายละเอียดค่ะ

เมื่อไปถึงสำนักงานของนายหน้าแล้ว เขาก็จะเอารายละเอียดห้องที่เราสนใจ รวมถึงห้องที่คล้ายกันมาให้เราดูเปรียบเทียบกันเพื่อเพิ่มตัวเลือกในการตัดสินใจ ตรงนี้เราสามารถขอคำปรึกษา หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ทั้งหมดเลย เช่น หากไม่แน่ใจว่าคุณสมบัติอะไรที่ควรพิจารณาก่อนเป็นอันดับต้นๆ ก็สามารถถามความเห็นจากทางสำนักงานได้เลย จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการไปดูสถานที่จริง หากเรามีตัวเลือกในใจอยู่หลายห้องก็สามารถขอให้นายหน้าพาไปดูตัวเลือกเหล่านั้นได้ทั้งหมดเลย นอกจากนี้ หากไม่แน่ใจก็สามารถพาเพื่อนหรือรุ่นพี่ไปช่วยดูห้องเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ด้วยค่ะ

เมื่อถึงวันนัด นายหน้าก็จะพาเราไปดูสถานที่จริง (กรณีของเราคือขับรถพาไป) เพื่อให้ดูสภาพห้องจริงที่เป็นห้องโล่งๆ เราสามารถเข้าไปเดินดูได้ทุกซอกทุกมุม รวมถึงถามสิ่งที่สงสัย แนะนำว่าก่อนจะไปดูห้องก็ควรทำเช็กลิสต์เอาไว้อย่างคร่าวๆ ด้วยว่ามีจุดไหนที่อยากพิจารณาบ้าง เพราะเมื่อไปถึงสถานที่จริงแล้วก็อาจจะลืมกันได้ง่ายๆ ค่ะ หากทำเป็นเช็คลิสต์ไว้ก็จะได้ถามให้ครบ นอกจากนี้ ขอแนะนำว่าอย่าดูแค่ในห้องเพียงอย่างเดียว แต่ให้ดูบริเวณโดยรอบด้วย อย่างตึกนี้มีที่จอดจักรยานไหม? (สำหรับคนที่ใช้จักรยานเดินทาง) ที่ทิ้งขยะอยู่ที่ไหน ไกลจากตึกเปล่า? เป็นต้น ถามนายหน้าไปให้หมดเลยค่ะ โดยปกติแล้วขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าเราจะเช่าห้องนั้นๆ หรือไม่ หากไปดูของจริงแล้วถูกชะตาก็สามารถไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือ การจองห้องและทำสัญญาได้เลย

การทำสัญญา

เมื่อคุณตัดสินใจได้แล้ว นายหน้าก็จะตรวจสอบกับทางเจ้าของอาคารอีกครั้งว่าสามารถให้เช่าได้หรือไม่ เพราะบางคนก็อาจจะไม่รับผู้เช่าที่เป็นคนต่างชาติ ในขณะที่บางคนจะรับเฉพาะคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นคล่องๆ เท่านั้น หรือไม่ก็อาจจะไม่รับเลยหากคนเช่าไม่มีผู้ค้ำประกันที่เป็นคนญี่ปุ่น แต่หากทางเจ้าบ้านไม่ติดขัดอะไร นายหน้าก็จะให้กรอกเอกสารใบจองห้อง ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ส่วนใหญ่จะให้กรอกข้อมูลส่วนตัวของผู้เช่าและวันที่ต้องการย้ายเข้า ซึ่งขั้นตอนตั้งแต่การทำสัญญาไปจนถึงวันย้ายเข้านั้น ปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ หรืออาจจะนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน ดังนั้นเราจึงอยากแนะนำให้เผื่อเวลาเอาไว้สักหน่อย เมื่อกรอกใบจองห้องเรียบร้อยแล้ว เราก็สบายใจได้เลยว่าหากทำตามขั้นตอนต่อไปเราก็จะได้เป็นเจ้าของห้องนี้แน่ๆ

ในกรณีของเรา อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจัดการนอกจากเอกสารใบจองห้องก็คือ การกรอกใบคำร้องต่อบริษัทค้ำประกันค่ะ เพราะถึงแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะมีระบบค้ำประกันให้นักศึกษาและบุคลากร แต่ทางเจ้าของตึกก็แจ้งมาว่าต้องการให้เราใช้บริษัทค้ำประกันอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งการค้ำประกันนี้ก็มีไว้เพื่อดูแลผลประโยชน์ของเจ้าของตึกในกรณีที่เราหนีไม่จ่ายค่าเช่านั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการประกันอุบัติเหตุและภัยพิบัติต่างๆ อีกด้วย ซึ่งในจุดนี้ทางบริษัทค้ำประกันก็จะทำการตรวจสอบสถานะของทางเราและครอบครัวที่อยู่ที่ไทย หากไม่มีปัญหาอะไรก็ถือว่าทำสัญญาใช้บริการค้ำประกันเรียบร้อย ในส่วนของรายละเอียดการค้ำประกันอาจจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละคน เช่น บางคนอาจจะมีบริษัทที่ทำงานอยู่ค้ำประกันให้ หรือบางคนมีญาติอยู่ที่ญี่ปุ่นก็อาจจะใช้เป็นผู้ค้ำได้ เป็นต้น

หากไม่มีปัญหาอะไร เมื่อส่งใบจองห้องแล้วจะมีใบสรุปค่าใช้จ่ายก้อนแรกที่เราต้องจ่ายเพื่อทำสัญญา หรือบางคนอาจจะเรียกว่าค่าแรกเข้ามา ปกติแล้วจะเป็นเงินก้อนใหญ่มาก เนื่องจากค่าแรกเข้านี้ประกอบไปด้วยค่าเช่าเดือนแรก, ค่ามัดจำ(เท่ากับค่าเช่ารายเดือน), ค่าเปลี่ยนกุญแจ, ค่ากำจัดเชื้อรา, ค่าธรรมเนียมบริษัทค้ำประกัน, ค่าธรรมเนียมบริษัทติดต่อฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง, ค่านายหน้า (เท่ากับค่าเช่ารายเดือน) และในบางที่ก็อาจจะมีค่าขอบคุณเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นเหมือนเงินให้เปล่าที่ให้กับเจ้าของบ้านด้วย นอกจากนี้ก็อาจจะมีค่าประกันเฟอร์นิเจอร์ ค่าส่วนกลาง และสำหรับบางตึกที่มีลิฟท์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็จะมีค่าทำความสะอาดซึ่งบางที่อาจจะคิดตั้งแต่ตอนย้ายเข้า และบางที่ก็คิดตอนย้ายออก (ของเราใช้ระบบคิดตอนย้ายออกซึ่งจะหักจากค่ามัดจำค่ะ)

ด้วยความที่เราไปได้ยินมาจากรุ่นพี่ว่าค่าแรกเข้าจริงๆ สามารถต่อรองขอส่วนลดได้ เราก็เลยลองถามดูแบบไม่ได้คาดหวังมาก ปรากฏว่าได้ลดค่านายหน้าไปครึ่งหนึ่งด้วยล่ะค่ะ แต่ตรงนี้คิดว่าแล้วแต่บริษัทนายหน้าที่ไปติดต่อด้วยนะ

เมื่อได้ใบค่าแรกเข้ามาแล้วเราก็ต้องไปโอนเงินให้ครบตามกำหนด แล้วก็ทำเอกสารสัญญา ซึ่งรายละเอียดสัญญาก็จะต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าบ้าน ปกติเอกสารสัญญาจะมี 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งอยู่ที่เจ้าบ้าน ส่วนอีกฉบับให้เราเก็บไว้ และเราก็จะต้องเซ็นรับรองในสัญญาทั้ง 2 ฉบับด้วย การเซ็นสัญญาอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย อย่างของเรา หลังจากเซ็นรับรองแล้วกว่าจะได้สัญญาฉบับของเรากลับมาคือหลังจากย้ายเข้าอยู่ไปแล้ว 1 – 2 เดือนเลยทีเดียว

ซึ่งก่อนที่จะเข้าไปอยู่ได้ ก็จะมีการอธิบายจุดสำคัญต่างๆ ในสัญญาด้วย โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางมาอธิบายให้ฟังว่าสัญญาเช่าคราวนี้มีเรื่องสำคัญอะไรบ้างที่เราต้องยินยอม ตรงนี้เราขอแนะนำให้ถามทุกอย่างที่ไม่เข้าใจเลยค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เราจะต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดในสัญญาก่อนที่จะเซ็นรับรอง และเมื่อเซ็นชื่อในเอกสารอธิบายสัญญาเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถนัดรับกุญแจห้องและย้ายเข้าไปอยู่ตามวันที่ที่กรอกในใบจองได้เลยค่ะ

แต่ช้าก่อน! กระบวนการต่างๆ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะถึงเราจะได้ห้องมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้น้ำ ไฟฟ้า หรือแก๊สในห้องได้ จนกว่าเราจะดำเนินการในขั้นต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์ค่ะ

การเปิดใช้บริการน้ำ ไฟฟ้า แก็ส และอินเทอร์เน็ต

ปกติแล้วการเปิดใช้บริการน้ำ ไฟฟ้า และแก็สจะคล้ายๆ กัน คือ ต้องติดต่อไปทางบริษัทที่ดูแลเรื่องเหล่านี้เพื่อบอกว่าเราจะย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่แล้วนะ ให้เริ่มคิดเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก็สได้เลย โดยการติดต่อปกติจะเป็นทางโทรศัพท์ค่ะ ทางบริษัทนายหน้าจะให้เบอร์โทรศัพท์มาเพื่อให้โทรไปแจ้งชื่อที่อยู่และเลือกวิธีการจ่ายค่าบริการ ซึ่งก็มีทั้งการหักผ่านบัญชีธนาคาร (เราใช้วิธีนี้), จ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ, จ่ายที่ธนาคาร, จ่ายผ่านบัตรเครดิต เป็นต้น สำหรับการหักผ่านบัญชีธนาคาร เราจะต้องเขียนใบคำร้องแล้วส่งไป ซึ่งใช้เวลาราว 1 – 2 เดือน ในระหว่างที่ยังทำเรื่องไม่เสร็จก็ต้องจ่ายผ่านธนาคารหรือร้านสะดวกซื้อไปก่อนค่ะ นอกจากนี้ บางบริษัทก็อาจจะมีตัวเลือกให้ลงทะเบียนแจ้งเปิดใช้บริการผ่านทางเว็บไซต์ได้อีกด้วย

สำหรับการเปิดใช้บริการน้ำและไฟฟ้า ปกติจะไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่มาถึงห้อง แต่การเปิดใช้บริการแก็สจะมีเจ้าหน้าที่จากทางบริษัทมาเปิดวาล์วให้ เราจึงต้องอยู่สแตนด์บายที่ห้องในวันที่นัดเจ้าหน้าที่มา และอาจจะต้องมีการกรอกเอกสารต่างๆ ด้วยค่ะ

ส่วนการใช้บริการอินเทอร์เน็ต โครงสร้างอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่นนั้นจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ส่วน คือ เส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) กับบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Provider) บางเจ้าจะมีสายไฟเบอร์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่บางเจ้าก็ต้องใช้ร่วมกับกับเน็ตไฟเบอร์เจ้าอื่น ซึ่งรายละเอียดก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละอาคาร บางที่อาจมีการติดตั้งใยแก้วนำแสงอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้การติดตั้งอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้นเพราะแค่เลือก Internet Provider ที่ชอบแล้วทำสัญญาได้เลย แต่หากอาคารที่พักของคุณไม่มีการติดตั้งใยแก้วนำแสงแล้วเราต้องการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านใยแก้วนำแสงแล้วล่ะก็ จะต้องมีการติดต่อช่างให้เข้ามาช่วยติดตั้งตัวใยแก้ว ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเพิ่มเติมด้วยค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง นั่นก็คือ การเลือกใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายแบบพ็อกเก็ตไวไฟ (Pocket Wi-Fi) ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เส้นใยไฟเบอร์ ข้อดี คือ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งและค่าบริการไม่แพง แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน คือ ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะน้อยกว่าใยแก้วนำแสง

การย้ายเข้า

ขั้นตอนนี้เริ่มจากการรับกุญแจจากบริษัทนายหน้า ซึ่งปกติเขาจะให้มา 2 ดอกค่ะ จากนั้นก็ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับทางเขตหรือเมือง อย่างข้อมูลการทิ้งขยะ วันเก็บขยะ ศูนย์อพยพที่ใกล้บ้านในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรจะเก็บไว้ให้ดี นอกจากนี้ ยังมีเอกสารอื่นๆ ที่ต้องจัดการอีกเล็กน้อย เช่น การไปแจ้งย้ายที่อยู่ที่สำนักงานเขต ฯลฯ แล้วก็อย่าลืมอัปเดตข้อมูลหากมีบัตรประจำตัวต่างๆ ที่มีที่อยู่เขียนอยู่ด้วยนะคะ (อย่างกรณีของนักศึกษาก็อาจจะต้องแจ้งทางมหาวิทยาลัยเมื่อมีการย้ายที่อยู่ด้วย)

ในบางครั้ง บริษัทที่ดูแลบ้านก็ไม่ใช่บริษัทเดียวกับนายหน้าที่ติดต่อไปตอนแรกสุด ดังนั้น หากคุณเจอสถานการณ์คับขัน หรือพบปัญหาใดๆ เกี่ยวกับห้องก็ต้องติดต่อกับบริษัทที่ดูแลบ้านโดยตรง ดังนั้น เราขอแนะนำให้บันทึกเบอร์ติดต่อเอาไว้ให้ดีเลยค่ะ

นอกจากนี้ หากเป็นการขนของเข้าบ้านต่างๆ ซึ่งคุณก็สามารถใช้ได้ทั้งบริการขนของแบบครบวงจร หรือจะเลือกขนย้ายด้วยตัวเองก็ได้ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เริ่มต้นชีวิตบทใหม่กันได้เลย!

การย้ายออก

เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ ค่ะ เมื่อถึงเวลาย้ายที่อยู่หรือหมดสัญญาเช่าบ้านแล้ว เราก็ต้องย้ายออก ขั้นแรก เราจะต้องแจ้งทางบริษัทที่ดูแลบ้าน แต่เรื่องที่ว่าจะต้องแจ้งล่วงหน้านานเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับรายละเอียดในสัญญา ในกรณีของเรา คือ ต้องแจ้งอย่างน้อย 1 เดือนค่ะ เราจะต้องกรอกใบแจ้งความจำนงในการย้ายออก บอกวันที่ และที่อยู่ที่กำลังจะย้ายไป จากนั้นก็นัดหมายวันเวลากับทางบริษัทดูแลบ้านเพื่อให้เขามาตรวจสอบสภาพของตัวห้องห้องเพื่อดูว่ามีอะไรเสียหายหรือไม่ ดังนั้น ก่อนจะถึงวันที่นัดไว้ เราก็ต้องย้ายของทุกอย่างออกจากห้องให้สภาพเหมือนตอนก่อนจะย้ายเข้าเลย

นอกจากนี้ เราก็ต้องแจ้งไปทางบริษัทที่ดูแลเรื่องน้ำ ไฟฟ้า แก๊ส และอินเทอร์เน็ตด้วยว่าเราจะย้ายออกวันไหน และจะสิ้นสุดการใช้งานวันไหน และก็ต้องไม่ลืมแจ้งที่อยู่ใหม่เพื่อให้เขาส่งบิลค่าใช้บริการรอบสุดท้ายไปยังที่อยู่ใหม่ของเราได้ถูกต้องด้วย

เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นกระบวนการ แล้วเราก็ย้ายไปยังที่อยู่ใหม่กันได้เลยค่ะ!

ส่งท้าย

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับเรื่องการย้ายบ้านในญี่ปุ่น? ถึงแม้ว่ารายละเอียดต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามประเภทของบ้านหรือเมืองที่แต่ละคนอยู่ แต่เราก็หวังว่าการแชร์ประสบการณ์ของเราจะทำให้ทุกคนได้เห็นภาพกระบวนการต่างๆ ในการย้ายบ้านมากขึ้นและนำไปใช้อ้างอิงได้นะคะ สุดท้ายนี้ เราขอให้การย้ายบ้านของทุกคนเป็นไปด้วยความราบรื่นค่ะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: