จุดประสงค์ของการแนะนำตัว (自己紹介) คืออะไร?
ทุกวันนี้ หลายๆ คนอาจจะเจอสถานการณ์ที่ทำให้ต้องทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ชมรม หรือแม้กระทั่งวันแรกของการทำงาน ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้รูปแบบการแนะนำตัวที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์ด้วย และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะต้องเน้นเรื่องการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเอง เพื่อที่จะให้คนอื่นพอเห็นภาพว่าคุณเป็นใคร
แต่หากเป็นการแนะนำตัวตอนสมัครงานก็จะมีเดิมพันสูงกว่าสถานการณ์อื่นเล็กน้อย เนื่องจากต้องเน้นทั้งการอธิบายให้ฝ่ายนายจ้างได้รู้ว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน พร้อมกับใช้โอกาสนี้ในการกำหนดแนวทางสำหรับบทสนทนาที่เหลือ และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายระหว่างตัวคุณกับผู้สัมภาษณ์ ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่นาทีในช่วงต้นๆ แต่การแนะนำตัวนี้จะเป็นตัวตัดสินความประทับใจที่ผู้สัมภาษณ์มีต่อคุณ และอาจส่งผลต่อผลของการสัมภาษณ์ได้เลยทีเดียว
ข้อมูลที่ควรอยู่ในการแนะนำตัวของคุณ
การแนะนำตัวถือเป็นด่านแรกของการสัมภาษณ์งานซึ่งปกติมักจะใช้เวลาสั้นๆ เพียง 1 – 2 นาทีเท่านั้น เราจึงอยากแนะนำให้เลือกข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยเน้นเฉพาะข้อมูลที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อที่จะได้แนะนำตัวให้จบภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
องค์ประกอบสำคัญ:
- การกล่าวทักทาย
- ชื่อเต็ม
- ชื่อมหาวิทยาลัย คณะ และเอกที่คุณเรียนจบมา
- กิจกรรมจิตอาสา งานพิเศษตอนเป็นนักศึกษา (สำหรับบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน)
- ประสบการณ์การทำงาน
- ทักษะ ปริญญาบัตร ความสามารถทางภาษาต่างๆ
- ลักษณะบุคลิกภาพของตนเอง
- กล่าวจบ
นอกจากนี้ อย่าลืมสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง “การแนะนำตัว” (Jikoshokai) และ “การนำเสนอความสามารถของตนเอง” (Jiko PR) ด้วย
การแนะนำตัว เป็นการบอกข้อมูลพื้นฐานซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวคุณได้ ในขณะที่การนำเสนอความสามารถนั้นเป็นการบอกภาพรวมของจุดแข็งและทักษะของคุณที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ เมื่อแนะนำตัวเสร็จแล้ว ผู้สัมภาษณ์บางคนอาจขอให้คุณนำเสนอความสามารถของตนเองเพิ่มเติมด้วย และนี่ก็คือช่วงเวลาที่คุณสามารถนำเสนอจุดแข็งของตัวเองได้อย่างสบายใจ
เคล็ดลับเล็กๆ ที่จะทำให้การแนะนำตัวของคุณน่าประทับใจยิ่งขึ้น
1. อย่าลืมประโยคทักทายก่อนและหลังแนะนำตัว
ก่อนจะเริ่มแนะนำตัวเอง คุณควรเกริ่นด้วยคำทักทายหรือวลีที่แสดงถึงความรู้สึกขอบคุณ ดังนั้น แทนที่จะพูดออกไปในทันทีว่า “ฉันชื่อ …. ” คุณสามารถเริ่มต้นด้วยถ้อยคำง่ายๆ อย่าง 本日お時間をいただきありがとうございます (ขอบคุณสำหรับเวลาของคุณในวันนี้) ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนที่ถ่อมตัวและสุภาพ
จากนั้น เมื่อจบการแนะนำตัวแล้ว ก็สามารถลงท้ายด้วยคำว่า 本日は宜しくお願いします เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณแนะนำตัวเสร็จแล้ว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนสุภาพและมีความเป็นมืออาชีพด้วย
2. ระบุชื่อของคุณให้ชัดเจน โดยเฉพาะเวลาที่คุณไม่มีชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชื่อในภาษาต่างประเทศมักจะยาวและออกเสียงยากสำหรับคนญี่ปุ่น ดังนั้น หลังจากที่คุณบอกชื่อเต็มไปแล้ว ก็ควรพูดว่า ○○をお呼びください (“กรุณาเรียกผม/ดิฉันว่า …”) เสมอ เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์สามารถเรียกคุณได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้บรรยากาศดูเป็นกันเองมากยิ่งขึ้นและลดช่องว่างระหว่างตัวคุณกับผู้สัมภาษณ์ได้อีกด้วย
3. เชื่อมโยงความสนใจหรืองานอดิเรกเข้ากับสิ่งที่คุณทำแทนที่จะพูดออกไปเฉยๆ
เมื่อพูดถึงสิ่งที่คุณสนใจ เราขอแนะนำให้คุณเชื่อมโยงงานอดิเรกของคุณเข้ากับกิจกรรมที่คุณทำอยู่ ดังนั้น แทนที่จะพูดออกไปตรงๆ ทื่อๆ ว่า “ฉันชอบเล่นกีฬา” หรือ “ฉันชอบเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์” คุณก็อาจจะพดว่า “ฉันชอบเล่นกีฬาและเพิ่งเข้าร่วมชมรมแบดมินตันที่อยู่ใกล้ๆ กับที่พักของฉัน” หรือ “ฉันมีความสนใจในคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก เลยเป็นเหตุผลที่ฉันเลือกเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย”
การอ้างอิงเรื่องราวหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกของคุณ จะช่วยให้คุณถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งที่สนใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้ และยังช่วยให้พวกเขามีเนื้อหาในการต่อบทสนทนากับคุณได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย
ควรใส่ความสนใจส่วนตัวหรืองานอดิเรกลงไปในการแนะนำตัวไหม?
หลายคนๆ อาจไม่แน่ใจว่าควรจะใส่ความสนใจส่วนตัวหรืองานอดิเรกลงไปในการแนะนำตัวด้วยไหม ซึ่งเรื่องนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่คุณสมัครและบุคลิกภาพของคุณ
หากคุณมีความสนใจที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร เช่น คุณเป็นคนรักการอ่านและกำลังเข้าสัมภาษณ์งานตำแหน่งบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ คุณก็ควรพูดถึงความสนใจของตนเองเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ นอกจากนี้ หากคุณมีความสนใจด้านอื่นๆ ที่คิดว่าสามารถใช้สร้างความประทับใจ หรือสร้างบทสนทนาเชิงบวกระหว่างคุณกับผู้สัมภาษณ์ได้ก็ควรเสริมเข้าไปในการแนะนำตัวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้คุณหลีกเลี่ยงการพูดถึงงานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวงาน เรื่องทั่วไปที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับการกระทำของคุณได้ รวมถึงเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ในการต่อบทสนทนากับผู้สัมภาษณ์
4. สามารถแทรกเหตุผลในการสมัครงานเข้าไปในการแนะนำตัวได้
โดยปกติแล้ว ผู้สัมภาษณ์จะถามถึงเหตุผลการสมัครของคุณในระหว่างการสัมภาษณ์ แต่ก็มีบางกรณีที่คุณสามารถเพิ่มเนื้อหาส่วนนี้ลงไปในการแนะนำตัวอย่างเป็นธรรมชาติได้ เช่น ” ฉันเรียนเอกการออกแบบเว็บไซต์ที่วิทยาลัยมา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันมองหางานในด้านนี้ ฉันสามารถใช้ทักษะและความรู้ของฉันในการออกแบบเว็บไซต์ที่น่าสนใจได้” เป็นต้น
แต่จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องลงลึกถึงเหตุผลในการสมัครงานที่นี่ เพราะผู้สัมภาษณ์มักจะถามคำถามนี้ในภายหลังอยู่แล้ว อีกทั้งการพูดถึงรายละเอียดสำคัญตอนแนะนำตัวอย่างชาญฉลาดยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณจะเป็นพนักงานที่ตั้งใจทำงาน มีความรู้ และกระตือรือร้นในอนาคตด้วย
5. นำเสนอประสบการณ์ที่ตรงกับงานที่คุณสมัครเท่านั้น
การแนะนำตัวนั้นถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ได้รู้จักคุณ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องบอกเล่าประสบการณ์ทั้งหมดของคุณออกไป และอันที่จริงแล้ว คุณก็ไม่ควร ระบุทุกอย่างที่คุณเคยทำในอาชีพการงานของคุณลงไปด้วย เราขอให้คุณเลือกเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สุดซึ่งผู้สัมภาษณ์จำเป็นจะต้องรู้และต้องการรู้เกี่ยวกับตัวคุณแทน
หากคุณเป็นคนที่ทำงานมาหลายปีและมีประสบการณ์ในหลายๆ ด้าน ก็ขอให้คุณแนะนำเฉพาะประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานปัจจุบันที่คุณสมัครเท่านั้น เพราะการพูดเกี่ยวกับงานที่คุณเคยทำทั้งหมดไม่ได้ช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์เลย มันเพียงแต่จะทำให้การแนะนำตัวของคุณยาวขึ้นและดูไร้ความน่าสนใจเท่านั้นเอง
หากคุณเพิ่งสำเร็จการศึกษาและยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก ก็สามารถมุ่งความสนใจไปที่งานอดิเรกและกิจกรรมที่คุณเข้าร่วมตอนเป็นนักศึกษาแทนได้ เพื่อแสดงให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นว่าคุณมีคุณสมบัติและความสนใจบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับงาน
ตัวอย่างเช่น หากคุณไปสัมภาษณ์งานในบริษัทเขียนโปรแกรมเกม ก็ควรพูดเกี่ยวกับความสนใจในการเล่นเกมและโปรเจกต์การเขียนโค้ดที่คุณได้ทำในสมัยเรียน หรือหากคุณสมัครงานที่ต้องการคนที่มีความคล่องแคล่วและกระตือรือร้นก็สามารถพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมอาสาสมัครหรือประสบการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นต้น
6. ใส่ใจกับบุคลิกและภาษากายที่แสดงออกมา
แน่นอนว่าเนื้อหาของการแนะนำตัวและวิธีที่คุณถ่ายทอดออกมาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ในขณะเดียวกัน ท่านั่งและการแสดงออกทางสีหน้าของคุณก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น อย่าลืมทำสิ่งต่อไปนี้ในขณะที่คุณกำลังสัมภาษณ์ด้วย:
สบตาผู้สัมภาษณ์: การสบตามีความสำคัญพอๆ กับการสื่อสารด้วยวาจา การสบตาในขณะที่คุณกำลังพูดจะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณกำลังพูดอย่างจริงจังและมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์อย่างเต็มที่ เพราะในการทำงานจริง ทุกคนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานในระดับหนึ่ง ดังนั้น การแสดงให้เห็นว่าคุณมีความเป็นตัวของตัวเองและเป็นนักสื่อสารที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
รอยยิ้ม: พยายามรักษาสีหน้าของคุณให้ดูนุ่มนวลและยิ้มแย้มเข้าไว้ เพื่อลดระยะห่างระหว่างคุณกับผู้สัมภาษณ์ และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการสัมภาษณ์ด้วย
นั่งตัวตรงและผ่อนคลาย: ห้ามถูมือไปมาหรือนั่งพิงพนักเก้าอี้ระหว่างสัมภาษณ์งานเด็ดขาด พยายามนั่งหลังตรงแต่ไม่ต้องเกร็ง และรักษาท่าทางที่ผ่อนคลายแต่ตื่นตัวเข้าไว้ นี่จะแสดงถึงความมั่นใจและความเป็นมืออาชีพของคุณได้
7. เรียนรู้จากตัวอย่างการแนะนำตัวในภาษาญี่ปุ่น
ตัวอย่างการแนะนำตัวเองสำหรับบัณฑิตจบใหม่
本日は貴重なお時間をいただき、ありがとうございます。 ○○大学○○学部4年の△△と申します。 大学時代は、フットサルサークルの活動に力を入れました。サークルでは代表を務め、日々の練習・試合の運営から、新入生の勧誘など、幅広い活動に取り組みました。大人数の組織をまとめ上げる経験にやりがいを感じてきたので、そういった長所を活かせる仕事を志しています。 本日は宜しくお願いします。 ขอขอบคุณที่สละเวลาอันมีค่ากับการสัมภาษณ์ดิฉัน/ผมในวันนี้ ดิฉัน/ผมชื่อ ○○ เป็นนักศึกษาปี 4 จากมหาวิทยาลัย ○○ คณะ ○○ ตอนเป็นนักศึกษา ดิฉัน/ผมได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับชมรมฟุตซอลอย่างเต็มที่ ดิฉัน/ผมมีตำแหน่งเป็นประธานชมรม ซึ่งคอยจัดการระบบต่างๆ เช่น การฝึกประจำวัน การจัดการแข่งขัน และการหาสมาชิกใหม่ ประสบการณ์ในการจัดระบบให้คนกลุ่มใหญ่ทำให้ดิฉัน/ผมรู้ว่าตัวเองว่าต้องการหางานที่จะสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ได้ ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับเวลาของคุณในวันนี้
本日は貴重なお時間をいただき、ありがとうございます。 ○○大学○○学部4年の△△と申します。 私は大学時代、どこの企業でも活躍できる力をつけたいと思い、ベンチャー企業での営業インターンに取り組んでいました。インターンとして学んだ営業の力や、学生リーダーとしてチームを率いた経験を活かし、御社で活躍したいと思っています。 本日は宜しくお願いします。 ขอขอบคุณที่สละเวลาอันมีค่ากับการสัมภาษณ์ดิฉัน/ผมในวันนี้ ดิฉัน/ผมชื่อ ○○ เป็นนักศึกษาปี 4 จากมหาวิทยาลัย ○○ คณะ ○○ ตอนเป็นนักศึกษา ดิฉัน/ผมต้องการพัฒนาทักษะที่จะเป็นประโยชน์กับบริษัททุกประเภท ดังนั้น ดิฉัน/ผมจึงไปฝึกงานตำแหน่งพนักงานขายในบริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ ดิฉัน/ผมหวังว่าทักษะการขายที่ฉันได้รับจากการฝึกงานและประสบการณ์การเป็นผู้นำที่ดิฉัน/ผมฝึกฝนในตอนเป็นนักศึกษาจะช่วยให้ดิฉัน/ผมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบริษัทนี้ในอนาคต ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับเวลาของคุณในวันนี้
ตัวอย่างการแนะนำตัวสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างมืออาชีพ
本日は貴重なお時間をいただき、ありがとうございます。 ○○と申します。○○大学を卒業後、△△システム開発会社でウェブシステム開発を4年間担当していて、金融系のシステム開発をしていました。人員増員の顧客への提案と実績が認められ、小集団をまとめるリーダーになりました。リーダーの仕事は設計書、コーディングのレビュー 進捗管理などです。私は以前より組み込み系開発に興味を持っていました。このたび御社が組み込み系開発のリーダー職を募集されているのを知り、応募させてもらいました。リーダーの経験は1年間でありますが、これまでの開発経験を活かし、利益を上げるために働きたいと考えています。 どうぞよろしくお願い致します。 ขอขอบคุณที่สละเวลาอันมีค่ากับการสัมภาษณ์ดิฉัน/ผมในวันนี้ ดิฉัน/ผมชื่อ ○○ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ○○ ดิฉัน/ผมก็ได้ทำงานในบริษัทพัฒนาระบบชื่อ △△ เพื่อทำการพัฒนาระบบสำหรับระบบการเงินเป็นเวลา 4 ปี ดิฉัน/ผมได้รับการยอมรับในความสำเร็จจากการเพิ่มจำนวนลูกค้าและได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มย่อย หน้าที่หลักของดิฉัน/ผมในฐานะหัวหน้าทีมคือการสร้างข้อกำหนดในการออกแบบ (Design Specification) การตรวจดูโค้ด (Code Review) และบริหารจัดการความก้าวหน้าของทีม ดิฉัน/ผมมีความสนใจในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System Development) ดังนั้น เมื่อดิฉัน/ผมได้ยินว่าบริษัทของคุณกำลังรับสมัครหัวหน้าทีมในการพัฒนาระบบฝังตัวจึงได้ทำการยื่นขอสมัครทันที ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ในฐานะหัวหน้าทีมเพียง 1 ปี แต่ดิฉัน/ผมก็เชื่อว่าจะสามารถทำงานนี้ได้อย่างเต็มที่ และจะพยายามใช้ทักษะทั้งหมดที่มีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับเวลาของคุณในวันนี้
ยิ่งฝึกยิ่งคล่อง!
ในบทความนี้ เราได้แนะนำเคล็ดลับบางส่วนที่จะทำให้คุณสามารถแนะนำตัวเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ดีและน่าประทับใจยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เพียงอ่านบทความอย่างเดียวคงไม่พอ ดังนั้น อย่าลืมฝึกพูดให้คล่องปาก และฝึกฝนซ้ำๆ ก่อนการสัมภาษณ์แต่ละครั้งเพื่อที่คุณจะได้ไม่กังวลว่าจะลืมบทพูดด้วย
สุดท้ายนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสัมภาษณ์ก็คือ การแสดงความจริงใจต่อผู้สัมภาษณ์และความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกโอกาส เราขอให้คุณโชคดีและสนุกไปกับการหางานในญี่ปุ่น!
Title photo credit: PIXTA
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่