ทำไมถึงควรฝึกงานในญี่ปุ่น?
ญี่ปุ่นเพิ่งได้รับการจัดอันดับจากการสำรวจระดับโลก ให้เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศที่น่าย้ายมาทำงาน เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังเป็นประเทศน่าเที่ยวในดวงใจของคนมากมาย เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ น่าตื่นตาตื่นใจ และอาหารแสนอร่อย
หากคุณกำลังอยากลองทำความรู้จักกับประเทศนี้นานๆ หรืออยากลองสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปล่ะก็ การมาฝึกงานที่นี่ก็เป็นไอเดียที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะบริษัทข้ามชาติกว่า 100 แห่งต่างก็มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Sony, Fujitsu, Toyota ดังนั้น คุณจึงมีโอกาสอัพเลเวลการทำงานของตัวเองจากบริษัทระดับแนวหน้าเหล่านี้มากทีเดียว และถึงแม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คุณก็ยังสามารถหาบริษัทอื่นๆ อย่าง Kinokuniya ซึ่งเป็นร้านหนังสือระดับโลก หรือ Nintendo และ Bandai ที่สามารถไปฝึกสกิลความคิดสร้างสรรค์ได้! สรุปง่ายๆ ก็คือ ที่นี่มีโอกาสรอคุณอยู่ในสายงานที่คุณสนใจเสมอ
ประเภทของการฝึกงานในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีระบบการจ้างงานตลอดชีพ (Lifetime Employment) ที่หยั่งรากลึกมานาน ดังนั้น การที่พวกเขาเริ่มเปิดโอกาสให้คนมาฝึกงานมากขึ้น ก็เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของตนเองในตลาดโลกนั่นเอง ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะใช้ระบบการสอบวัดระดับความสามารถ เช่น SPI เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของผู้สมัครมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบัน การฝึกงานก็ค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะมันสามารถใช้ดูคุณสมบัติของผู้สมัครได้อย่างถี่ถ้วนและชัดเจนกว่านั่นเอง ในปัจจุบัน การฝึกงานมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การทดลองฝึกงาน (Taiken Internship) และโปรแกรมฝึกงานสายเทคนิค (Technical Internship Program)
การทดลองฝึกงานคืออะไร?
Taiken ที่แปลว่า “ประสบการณ์” ในภาษาญี่ปุ่นนั้น น่าจะเป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับการฝึกงานตามแบบตะวันตกที่สุด การฝึกงานประเภทนี้จะเน้นไปที่นักศึกษามหาวิทยาลัยและคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุณสามารถเข้าร่วมการปฏิบัติงานของบริษัทได้แบบวันต่อวันเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจกับงานได้มากขึ้น
การทดลองฝึกงานส่วนใหญ่จะเริ่มประมาณช่วงปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัย ก่อนที่นักศึกษาจะเริ่มหางานอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ระยะเวลาในการฝึกงานจะสั้นมาก ตั้งแต่ไม่กี่วันไปจนถึงไม่กี่สัปดาห์เป็นอย่างมาก ระหว่างช่วงเวลานี้ นักศึกษาฝึกงานมักจะได้ทำงานออฟฟิศทั่วไป รวมถึงได้เข้าร่วมการอบรมและสัมมนากับบริษัท การฝึกงานประเภทนี้มักจะไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับการเสนองานจริง เนื่องจากจุดประสงค์เดียวของมัน คือ การแนะนำบริษัทและงานที่บริษัททำให้กับนักเรียนนั่นเอง
ผู้ฝึกจะได้รับเงินจากการทดลองฝึกงานหรือไม่?
หากคุณเป็นผู้ฝึกงานระยะยาวก็มีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทน ซึ่งค่าตอบแทนนี้ควรมีเรทเท่าๆ กับงานพิเศษสำหรับนักศึกษา หรืออาจจะน้อยกว่าเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ 900 – 1,000 เยนต่อชั่วโมง
การทดลองฝึกงานจะทำให้เราได้งานหรือไม่?
มีความเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางบริษัทด้วย โดยทั่วไปแล้ว การทดลองฝึกงานที่สั้นกว่า 1 เดือนจะไม่ค่อยทำให้คุณมีโอกาสได้งาน แต่การฝึกงานระยะยาวที่เน้นไปที่การศึกษาเท่าๆ กับการทำงานนั้นถือเป็นโอกาสที่ดีในการทำให้คุณได้งานในอนาคต
จะหาการทดลองฝึกงานได้ที่ไหน?
วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาที่ฝึกงานแบบนี้ คือ การเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นและยื่นเรื่องผ่านมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับสูงส่วนใหญ่ที่มีคอนเนคชั่นให้นักเรียนได้รู้จักกับบริษัทที่น่าสนใจอยู่แล้ว คุณควรเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการฝึกงานนั้นถือเป็นโอกาสดีที่ใครๆ ก็อยากได้ ดังนั้น นักศึกษาหลายคนจึงควรเริ่มเขียนใบสมัครกันล่วงหน้าเป็นเดือน
หากคุณกำลังมองหาการฝึกงานที่เป็นสไตล์ตะวันตกมากกว่า เราก็ขอแนะนำให้เล็งไปที่บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ บริษัทเหล่านี้มักจะมีระบบฝึกงานหรือถึงขั้นมีความตระหนักที่เน้นเรื่องการปฏิบัติ หากคุณรู้ภาษาญี่ปุ่นในระดับที่เพียงพอก็จะสามารถหาข้อมูลด้วยตนเองได้จากเว็บไซต์อย่าง MyNavi หรือ Rikunabi แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้จำไว้ว่าโอกาสเหล่านี้มักจะเน้นไปที่นักศึกษากันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากโปรแกรมฝึกงานต่างๆ อาจมีเฉพาะช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ดังนั้น คุณจึงควรเริ่มหาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนหรือก่อนหน้านั้นเพราะปีงบประมาณของประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มในช่วงเดือนเมษายน คุณอาจจะเจอข้อความโฆษณาการฝึกงานตั้งแต่ช่วงมกราคมเลยก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ญี่ปุ่นอื่นๆ ที่คุณสามารถหาข้อมูลได้เช่นกัน อย่าง Jeek, 01 Intern, Intern Baito เป็นต้น
ในปัจจุบัน โปรแกรมฝึกงานมักจะเน้นไปที่ผู้พำนักในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็นผู้สนับสนุนวีซ่า แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองหาโอกาสในการฝึกงานจากนอกญี่ปุ่นก็ไม่ควรท้อใจจนล้มเลิกความคิดนี้ไป เพราะคุณยังสามารถหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ หรือแม้แต่เว็บไซต์หลักของบริษัทใหญ่ๆ ที่มีสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นด้วย อีกวิธีหนึ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือ ลองติดต่อไปยังบริษัทโดยตรงว่าทางบริษัทสามารถจัดโปรแกรมฝึกงานและออกวีซ่าให้คุณได้หรือไม่ด้วย
ต้องใช้วีซ่าในการทดลองฝึกงานไหม?
หากการทดลองฝึกงานของคุณไม่มีค่าตอบแทนและใช้เวลาน้อยกว่า 90 วัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าในการเข้าประเทศญี่ปุ่น เพียงแค่มีพาสปอร์ตก็โอเคแล้ว แต่หากการฝึกงานนั้นมีการจ่ายค่าตอบแทนหรือใช้เวลานานกว่า 90 วันก็จะต้องใช้วีซ่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะกิจกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนและเกี่ยวข้องกับการศึกษาจะถูกจัดอยู่ในสถานะการพำนักแบบ “กิจกรรมด้านวัฒนธรรม” (文化活動) แต่หากเป็นการฝึกงานระยะยาวที่ได้รับเงินเดือน คุณก็จะต้องใช้วีซ่า “กิจกรรมเฉพาะตามที่กำหนด” (特定活動)
หากคุณเป็นนักเรียนในประเทศญี่ปุ่นก็หมายความว่าคุณจะมี “วีซ่านักเรียน” (留学) ที่เหมือนกับวีซ่ากิจกรรมด้านวัฒนธรรมอยู่ ซึ่งจะทำให้คุณไม่สามารถรับเงินจากการฝึกงานได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณกรอกแบบฟอร์ม เพื่อขออนุญาตเข้าร่วมกิจกรรมอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสถานะวีซ่าแล้วยื่นเรื่องไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่และได้รับอนุญาตมาแล้วล่ะก็ คุณจะสามารถฝึกงานและรับเงินจากการฝึกงานนั้นได้โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ทำงานเกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น คุณจึงต้องระวังไม่ให้ชั่วโมงการทำงานเกินข้อกำหนดนี้ เพราะอาจจะทำให้คุณอาจถูกพิจารณาเพิกถอนสถานะวีซ่าได้
การฝึกงานทางเทคนิคคืออะไร?
โปรแกรมการฝึกงานทางเทคนิค (外国人技能実習機構) เป็นโปรแกรมที่อนุญาตให้แรงงานชาวต่างชาติมาหาโอกาสทำงานในบริษัทญี่ปุ่น เพื่อที่จะได้ฝึกฝนทักษะทางเทคนิคและกลับไปพัฒนาประเทศบ้านเกิดของตนเองได้
โปรแกรมนี้มีโครงสร้างที่ชัดเจนและเข้มงวดกว่าการทดลองฝึกงานด้านบน สำหรับผู้เริ่มต้น โปรแกรมนี้เฉพาะเจาะจงไปที่อุตสาหกรรมบางประเภทและบางอาชีพเท่านั้น เช่น เกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ และเครื่องจักร เป็นต้น นอกจากนี้ โปรแกรมดังกล่าวยังมีขั้นตอนการเริ่มต้นและการจบที่ชัดเจน เพราะในช่วงปีแรกของการฝึกงาน คุณจะถือเป็นผู้ฝึกงานทางเทคนิค (1) ซึ่งจะต้องเข้าเรียนและฝึกงานไปพร้อมๆ กัน จากนั้นเมื่อคุณสอบผ่าน คุณก็จะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ฝึกงานทางเทคนิค (2) ซึ่งคุณจะต้องทำงานจริงเป็นหลัก และสุดท้าย หลังจากที่คุณจบ 2 ปี ก็จะต้องสอบอีกครั้งเพื่อเป็นผู้ฝึกงานทางเทคนิค (3) และหากคุณสอบผ่านก็จะมีเวลาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอีก 2 ปีก่อนกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตน
โปรแกรมนี้อยู่ในการจัดการของ Japan International Training Cooperation Organization (JITCO) มาตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ฝึกงานทางเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 400,000 คนเลยทีเดียว! (ตัวเลขอาจแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูล) ซึ่งตัวเลขนี้จะทำให้ผู้ฝึกงานกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีผู้ฝึกงานทางเทคนิคส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ตามด้วยชาวเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
การฝึกงานทางเทคนิคมีค่าตอบแทนไหม?
คำตอบคือ มี! ผู้ฝึกงานทางเทคนิคจะได้รับค่าตอบแทนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 977 เยนต่อชั่วโมง ผู้ฝึกงานที่ได้รับการฝึกและมีประสบการณ์แล้ว จะได้เงินประมาณ 1,151 เยนต่อชั่วโมง ค่าตอบแทนนี้ยังไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลาและโบนัสด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำมาตรฐานในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 902 เยนต่อชั่วโมง (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2020)
จะเข้าร่วมโปรแกรมฝึกงานทางเทคนิคได้อย่างไร?
การเข้าโปรแกรมนี้มีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน อย่างแรกคือตามบริษัท และอย่างที่สองคือตามองค์กรที่กำกับดูแล ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้ามาด้วยวิธีหลัง
สำหรับการเข้าโปรแกรมตามบริษัท บริษัทญี่ปุ่นจะติดต่อพูดคุยกับบริษัทในต่างประเทศที่ตนมีความสัมพันธ์ด้วยโดยตรง จากนั้น บริษัทต่างชาติดังกล่าวก็จะส่งพนักงานไปเพื่อเรียนรู้ทักษะเฉพาะตัวในญี่ปุ่น
หากเข้าโปรแกรมตามองค์กรที่กำกับดูแล บริษัทในต่างประเทศจะทำสัญญากับองค์กรที่ดูแลแบบไม่แสวงหาผลกำไร เช่น หอการค้าท้องถิ่น (A Municipal Chamber of Commerce) องค์กรเหล่านี้จะมีใบอนุญาตและได้รับการตรวจสอบจาก OTIT (องค์กรเพื่อการฝึกงานทางเทคนิค) พวกเขาจะยื่นข้อเสนอให้กับผู้ฝึกงานทางเทคนิคและช่วยหางานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่นให้
การฝึกงานทางเทคนิคต้องใช้วีซ่าอะไร?
คุณจะต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าฝึกงานทางเทคนิค (Technical Intern Training) ที่สถานทูตหรือกงสุลญี่ปุ่นในท้องที่ แต่สิ่งที่ควรระวังไว้ คือ คุณจะต้องยื่นขอวีซ่าใหม่ทุกครั้งที่ได้เลื่อนขั้นจากผู้ฝึกงานทางเทคนิคระดับ 1 เป็น 2 และ 3
ข้อควรระวังในการฝึกงานทางเทคนิค
ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงผู้ฝึกงานทางเทคนิคชาวต่างชาติเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้และไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ดังนั้น บริษัทบางแห่งจึงฉวยโอกาสจากตรงนี้ ตัวอย่างเช่น การที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้และใช้ผู้ฝึกงานเหล่านี้เป็นแรงงานราคาถูก โดยที่ไม่ยอมสอนทักษะใดๆ ให้เลย
ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้คุณควรตรวจสอบบทความเกี่ยวกับบริษัทสีดำ (Black Company) หรือ เช่นบริษัทที่มีชื่อเสีย(ง)ในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์แบบไม่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มเหงหรือการกดขี่ในที่ทำงาน แต่หากคุณกำลังฝึกงานอยู่และรู้สึกว่าตนเองถูกเอาเปรียบ ก็สามารถตามไปหาข้อมูลที่มีประโยชน์ได้จากเว็บไซต์ Organization for Technical Intern Training
ควรจะฝึกงานแบบไหนดี?
หากคุณกำลังมองหาประสบการณ์แบบเดียวกับประเทศในฝั่งตะวันตก การทดลองฝึกงานดูก็น่าจะเหมาะกับคุณมากกว่า ในขณะที่การฝึกงานทางเทคนิคจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างทักษะที่ต้องนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง แบบที่สามารถนำไปใช้จริงในบ้านเกิดได้
การฝึกงานที่ญี่ปุ่นจะเหมาะกับเราหรือเปล่า?
สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณคาดหวังว่าจะได้จากการฝึกงานนี้ หากคุณลองชั่งน้ำหนักของความจำเป็นและเส้นทางอาชีพประกอบกับข้อมูลที่คุณได้รับมาจากบทความนี้ดู ก็อาจจะได้ข้อสรุปที่ต้องการก็ได้นะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่