วิธีพาคู่ครอง/บุตรไปอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น ด้วย “วีซ่าผู้ติดตาม”

ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในญี่ปุ่นแบบระยะยาวส่วนมากจะมาด้วยวีซ่าทำงานหรือวีซ่านักเรียน แต่อันที่จริงแล้ว หากชาวต่างชาติคนนั้นเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติบางประการตรงตามข้อกำหนดของญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ จะสามารถพาคู่ครองหรือบุตรหลานมาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้เช่นกัน โดยพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ถือวีซ่าที่เรียกว่า “วีซ่าผู้ติดตาม” หรือ Dependent Visa
Oyraa

หากคุณอยากรู้ว่าคนที่จะได้วีซ่าผู้ติดตามนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร หรือ วีซ่าประเภทนี้อนุญาตให้คุณทำกิจกรรมอะไรได้บ้างในขณะที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถตามไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ เพราะเราจะมาอธิบายให้คุณได้ทราบว่าคนแบบไหนที่สามารถยื่นขอวีซ่าผู้ติดตามได้ พร้อมแนะนำขั้นตอนการยื่นขอวีซ่า และคำอธิบายว่าผู้ติดตามจะสามารถทำอะไรในญี่ปุ่นได้บ้าง โดยจะเน้นไปที่ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบบางประการที่พวกเขาจะต้องพบระหว่างการพำนักอยู่ในญี่ปุ่นด้วยวีซ่าประเภทนี้

วีซ่าผู้ติดตามญี่ปุ่นคืออะไร?

อย่างที่ชื่อของมันบอกไว้ วีซ่าผู้ติดตาม (家族滞在 หรือ Kazoku Taizai) คือ วีซ่าที่ออกกับให้คู่ครองและบุตรของชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะผูกพันอยู่กับวีซ่าระยะยาวของคู่ครองหรือผู้ปกครองหลัก หากวีซ่าระยะยาวที่เป็นตัวหลักนั้นมีการต่ออายุหรือถูกยกเลิก ก็จะส่งผลแบบเดียวกันต่อวีซ่าของผู้ติดตามโดยอัตโนมัติ

คุณสมบัติของผู้ที่ยื่นขอวีซ่าผู้ติดตาม

Couple looking over paperwork

มีเพียงคู่สมรสหรือบุตรที่ผ่านการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายของบุคคลที่มีคุณสมบัติในการได้รับวีซ่าทำงานระยะยาวหรือวีซ่านักเรียนในญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ถือว่ามีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการทำวีซ่าผู้ติดตาม เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นจะไม่ออกวีซ่าผู้ติดตามให้กับคู่ครองที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และเนื่องจากขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นยังไม่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ดังนั้น คู่แต่งงานที่เป็นเพศเดียวกันจึงถูกพิจารณาว่าไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับวีซ่าผู้ติดตามในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ บุตรของผู้ถือวีซ่าระยะยาวก็ยังเป็นญาติเพียงคนเดียวที่มีสิทธิ์ในการขอรับวีซ่าผู้ติดตามในญี่ปุ่น แต่ในกรณีที่บุตรของคุณเป็นลูกเลี้ยง คุณก็จะต้องทำการรับรองเป็นบุตรบุญธรรมให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ติดตามได้ ส่วนกรณีของญาติคนอื่นๆ เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องนั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะได้สถานะการเป็นผู้ติดตามในประเทศญี่ปุ่น

เรื่องสำคัญที่ควรรู้อีกอย่างหนึ่ง (เนื่องจากผู้คนมักจะสับสนกันอยู่บ่อยๆ) คือ วีซ่าผู้ติดตามจะไม่เหมือนกับวีซ่าคู่สมรส เพราะวีซ่าคู่สมรสนั้นมีไว้สำหรับผู้ที่แต่งงานกับพลเมืองสัญชาติญี่ปุ่นเท่านั้น หากคู่ครองของคุณไม่ได้ถือสัญชาติญี่ปุ่นและคุณกำลังวางแผนว่าจะย้ายไปอยู่ที่ญี่ปุ่นกับเขา ก็จะต้องขอเป็นวีซ่าผู้ติดตามแทน

วิธียื่นขอวีซ่าผู้ติดตาม

Young couple doing paperwork

ในการขอวีซ่าผู้ติดตามเพื่อเข้าประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะขอดูหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้สนับสนุนวีซ่าและผู้ติดตาม โดยคุณจะต้องมีหลักฐานว่าผู้ถือวีซ่าหลักสามารถสนับสนุนการเงินของผู้ติดตามได้ ส่วนในกรณีอื่นๆ ก็อาจมีการเสนองานที่มาพร้อมกับข้อเสนอในการสนับสนุนวีซ่าผู้ติดตามให้กับครอบครัวของคุณด้วย หากไม่มีการระบุไว้ในการเสนองานอย่างชัดเจน เราขอแนะนำให้คุณตรวจสอบกับนายจ้างชาวญี่ปุ่นให้แน่ใจก่อนสมัครเข้าทำงาน

หากการจ้างงานของคุณไม่ได้มีการสนับสนุนวีซ่าผู้ติดตาม หรือหากคุณย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นด้วยวีซ่านักเรียนระยะยาว ก็สามารถยื่นเรื่องขอพาคู่ครองหรือบุตรมาอยู่ที่ญี่ปุ่นในฐานะผู้ติดตามได้เช่นกัน โดยคุณจะต้องมีหลักฐานมายื่นกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าคุณสามารถสนับสนุนการเงินให้พวกเขาได้ตลอดเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ขั้นตอนการยื่นเรื่องขอวีซ่าผู้ติดตาม

Japan visa application form

ขั้นตอนการยื่นเรื่องขอวีซ่าผู้ติดตามนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน แต่มักจะกินเวลายืดเยื้อ โดยอาจใช้เวลานาน 2 – 3 เดือนกว่าขั้นตอนการขอจะเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรยื่นเรื่องให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

คุณสามารถยื่นขอวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมๆ กับการขอวีซ่าทำงานหลักได้เลย หรือจะรอทำเรื่องในภายหลัง เมื่อวีซ่าทำงานตัวหลักได้รับการอนุมัติแล้วก็ได้ ฉะนั้นแล้ว ผู้ที่ถือวีซ่าทำงานหรือวีซ่านักเรียนอาจเดินทางไปที่ญี่ปุ่นก่อน จากนั้นจึงค่อยยื่นเรื่องขอวีซ่าผู้ติดตามให้กับคู่ครองหรือบุตรในภายหลังก็ได้

ในการยื่นขอวีซ่าผู้ติดตาม คุณจะต้องกรอกแบบฟอร์มขอวีซ่าผู้ติดตามและจัดเตรียมสำเนาเอกสารตามที่ระบุไว้สำหรับใช้เป็นหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างคู่ครองหรือบุตรของคุณ ตัวอย่างเช่น ทะเบียนสมรสกับคู่ครอง หรือสูติบัตรของบุตรธิดาของคุณ โดยจะต้องยื่นเรื่องกับทางสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศของคุณ หรือทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นในกรณีที่คุณอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว

Japan visa

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในญี่ปุ่นอาจถามหาเอกสารที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยนักแปลที่ได้รับการรับรอง ดังนั้น คุณจะต้องเตรียมหลักฐานการจ้างงานในญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถสนับสนุนผู้ติดตามได้ รวมถึงสำเนาหนังสือเดินทางของคุณและรูปถ่ายหนังสือเดินทางของผู้ติดตามด้วย

เมื่อยื่นเอกสารทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะเริ่มต้นการพิจารณา หากพบว่าทั้งหมดนั้นเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็จะออกหนังสือรับรองสถานภาพพำนัก (Certificate of Eligibility) ให้ ตัวหนังสือรับรองสถานภาพพำนักนี้จะออกโดยกระทรวงยุติธรรมเพื่อเป็นการรับรองว่าทางการญี่ปุ่นได้อนุมัติคำขอวีซ่าของคุณแล้ว

จากนั้น คุณจะต้องนำหนังสือรับรองสถานภาพการพำนักไปยังสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศของคุณเพื่อให้ทางสถานทูตออกวีซ่าให้ ระยะเวลาในการดำเนินการจะต่างกันไปตามสถานทูตแต่ละแห่ง แต่โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการดำเนินการเรื่องหนังสือรับรองสถานภาพพำนัก จากนั้นก็จะออกวีซ่าให้ ซึ่งคุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 3,000 เยน โดยจ่ายเป็นสกุลเงินในท้องถิ่นด้วย

Father with children looking at computer

หากการที่ผู้ติดตามย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของการเสนองานของผู้ถือวีซ่าหลัก ก็จะต้องมีการขอวีซ่าทั้ง 2 แบบไปพร้อมๆ กัน โดยนายจ้างในประเทศญี่ปุ่นมักจะเป็นฝ่ายจัดการขั้นตอนส่วนใหญ่ในการขอวีซ่าทำงานและวีซ่าผู้ติดตามให้โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงาน

ในกรณีนี้ คุณจะต้องยื่นสูติบัตรหรือทะเบียนสมรส รูปถ่ายหนังสือเดินทางและเอกสารอื่นๆ ที่ต้องใช้ให้กับทางนายจ้าง จากนั้น นายจ้างก็จะนำไปรวมกับเอกสารที่พวกเขายื่นให้กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในนามของคุณ เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านการอนุมัติแล้ว หนังสือรับรองสถานภาพการพำนักก็จะถูกส่งไปยังนายจ้างของคุณ ซึ่งจะส่งต่อมาให้คุณอีกทีหนึ่งเพื่อให้คุณสามารถจัดการเรื่องการออกวีซ่ากับทางสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศของคุณได้

วีซ่าผู้ติดตามทำอะไรได้ (และไม่ได้) บ้าง?

ถึงแม้วีซ่าผู้ติดตามจะอนุญาตให้คุณพำนักในประเทศญี่ปุ่นได้ แต่มันกลับมาพร้อมกับข้อกำหนดเงื่อนไขมากมายที่บางคนอาจพบว่ามันช่างจำกัดเหลือเกิน ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดในทั้งหมด คือ วีซ่าผู้ติดตามนั้นไม่อนุญาตให้คุณทำงานในญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม มีขั้นตอนที่ผู้ติดตามสามารถยื่นขอสิทธิ์ในการทำงานได้สูงสุด 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้อย่างน้อยๆ ผู้ติดตามก็สามารถทำงานพิเศษได้

วิธีทำงานในญี่ปุ่นด้วยวีซ่าผู้ติดตาม

Filling out form

สำหรับเรื่องนี้ ผู้ติดตามจะต้องยื่นเรื่องขอใบอนุญาตให้ทำกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดภายใต้สถานะของผู้พำนักที่ได้รับไปก่อนหน้านี้ (เรียกว่า 資格外活動許可 หรือ Shikakugai-katsudou Kyoka) เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มใบเดียวและส่งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการดำเนินการ โดยคุณจะสามารถยื่นขอสิทธิ์ในการทำงาน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นี้ได้ถึงแม้จะยังไม่มีการจ้างงานก็ตาม ข้อได้เปรียบของเรื่องนี้ คือ คุณจะมีสิทธิ์ในการทำงานรออยู่แล้วเมื่อต้องการหางานทำ

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังไว้ก็คือ ถึงแม้ว่าผู้ถือวีซ่าหลักจะได้รับสิทธิ์ในการทำงานแล้ว แต่ผู้ติดตามจะไม่สามารถทำงานในอุตสาหกรรมบางประเภทได้ โดยเฉพาะงานหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง การทำงานในบาร์ ไนต์คลับ ร้านปาจิงโกะ หรือเกมเซ็นเตอร์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาด

วิธีอื่นๆ สำหรับการทำงานด้วยวีซ่าผู้ติดตามในญี่ปุ่น

Job interview concept

หากคุณต้องการทำงานมากกว่า 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในฐานะผู้ติดตาม คุณจะต้องหานายจ้างที่เสนอการสนับสนุนวีซ่าทำงานให้กับคุณ นายจ้างบางคนอาจค่อยไม่เต็มใจที่จะช่วยในส่วนนี้ แต่หากคุณหานายจ้างที่ยินดีสนับสนุนวีซ่าทำงานให้ได้ พวกเขาก็จะยื่นเรื่องไปยังเจ้าหน้าตรวจคนเข้าเมืองในนามของคุณเพื่อขอเปลี่ยนประเภทของวีซ่าจากผู้ติดตามเป็นวีซ่าทำงานให้เอง

ข้อควรระวังในการหางานทำด้วยวิธีนี้ คือ ความเกี่ยวพันบางประการที่อาจเกี่ยวข้องกับวีซ่าของผู้ทำงานหลัก ตัวอย่างเช่น มีหลายกรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนวีซ่าทำงานหลักร่วมกับวีซ่าผู้ติดตามจะรวมเบี้ยบำนาญและเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ติดตามไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างทั้งหมดด้วย หากผู้ติดตามหางานประจำได้และเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานแล้ว เงินสมทบเหล่านั้นก็จะยุติลงและเปลี่ยนเป็นการรับเงินเดือนของผู้ติดตามแทน

นอกจากนี้ นายจ้างบางคนยังมีการสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดตามไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเสนองานสำหรับวีซ่าทำงานหลักด้วย หากผู้ติดตามเปลี่ยนไปถือวีซ่าทำงานแล้ว นายจ้างของคู่ครองก็จะต้องได้รับแจ้งถึงเรื่องนี้ด้วยเนื่องจากผู้ติดตามจะไม่มีคุณสมบัติในการรับเงินเบี้ยเลี้ยงนี้อีกต่อไป

การทำธุรกิจของตนเอง

Man on phone and computer

อีกวิธีหนึ่งในการทำงานโดยไม่ต้องหานายจ้างที่เต็มใจมาสนับสนุนวีซ่าทำงานให้ก็คือ การจัดตั้งธุรกิจของคุณและเป็นนายตัวเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็สามารถทำได้ด้วยการจัดตั้งกิจการแบบมีเจ้าของคนเดียวขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า โคจินจิเกียว (個人事業 หรือ Kojin Jigyo) วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถทำงานในฐานะนักธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวได้ เหมาะมากๆ สำหรับคนที่กำลังมองหางานฟรีแลนซ์ทำไปด้วย

การตั้งกิจการแบบมีเจ้าของคนเดียวนี้ทำได้ค่อนข้างง่าย คุณเพียงต้องกรอกแบบฟอร์ม 1 ใบเพื่อแจ้งถึงรายละเอียดและประเภทการทำงานที่คุณวางแผนเอาไว้ เมื่อถึงสิ้นปีภาษี คุณก็เพียงแจ้งรายได้ในปีนั้นๆ ให้ทางสรรพากรได้รับทราบและจ่ายภาษีให้เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำงานในฐานะเจ้าของกิจการคนเดียวนี้ คุณยังต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือขอบเขตของวีซ่าอยู่ นั่นแปลว่า คุณยังคงมีข้อจำกัดให้ทำงานได้สูงสุดแค่ 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

นอกจากกิจการเจ้าของคนเดียวแล้ว ผู้ติดตามยังมีตัวเลือกอื่นๆ ในแง่ของการจัดตั้งธุรกิจของตัวเองในประเทศญี่ปุ่นด้วย เช่น การก่อตั้งบริษัทหุ้น (株式会社 หรือ Kabushiki Kaisha) แต่วิธีนี้จะต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ และในบางครั้งก็อาจต้องมีการรับประกันการว่าจ้างพลเมืองญี่ปุ่นอย่างน้อย 2 คนด้วย

ภาษีในญี่ปุ่นสำหรับวีซ่าผู้ติดตาม

ถึงจะเป็นงานพิเศษแต่คุณเองก็ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน ตามปกติแล้ว นายจ้างของคุณจะเป็นฝ่ายหักภาษีเงินได้ (Income Tax) จากค่าจ้างแต่ละครั้งโดยอ้างอิงจากจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละงาน ในขณะที่ภาษีแห่งชาติ (National Tax) นั้นจะขึ้นอยู่กับรายได้ประจำปีซึ่งคุณจะต้องทำการยื่นคำร้องด้วยตนเองภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคมของทุกปีเพื่อตรวจสอบว่าต้องมีการเสียภาษีเพิ่มอีกหรือไม่ คุณสามารถยื่นเรื่องได้ที่กรมสรรพากรในท้องถิ่น หากไม่แน่ใจว่าตั้งอยู่ที่ไหน เราขอแนะนำให้ตรวจสอบกับทางสำนักงานเขตหรือเทศบาล

นอกจากนี้ คุณก็ยังต้องเสียภาษีเทศบาล (Municipal Tax) ด้วย โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้หักจากค่าจ้างของคุณไปเลย หรือไปจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อหรือทางสำนักงานเขต/เทศบาลด้วยตนเอง

การเปิดบัญชีธนาคารของผู้ติดตามในญี่ปุ่น

Bank signs in Japanese

สุดท้ายนี้ เรื่องสำคัญที่ควรรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ติดตามจะไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารในญี่ปุ่นได้จนกว่าจะพำนักอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน นี่อาจเป็นปัญหาได้หากคุณวางแผนที่จะหางานทำภายใน 6 เดือนแรกของการมาอยู่ญี่ปุ่น เนื่องจากคุณจะต้องหาวิธีรับค่าจ้างโดยไม่ผ่านธนาคาร คุณอาจต้องแจ้งเรื่องนี้ให้นายจ้างได้รับรู้เพื่อดูว่าพวกเขาจะสามารถหาวิธีจ่ายเงินให้คุณได้อย่างไร หากคุณจะยังไม่มีบัญชีธนาคารในญี่ปุ่น

พาคนที่คุณรักไปอยู่ญี่ปุ่นด้วยกันสิ

ในขณะที่วีซ่าผู้ติดตามจะอนุญาตให้คู่สมรสหรือบุตรของชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นด้วยวีซ่าระยะยาวมาอยู่ด้วยกันได้ แต่สำหรับบางคนแล้ว ตัววีซ่านี้ก็มีข้อเสียบางประการอยู่ เช่น หากผู้ติดตามวางแผนจะทำงานไปด้วย พวกเขาก็จะต้องพบกับข้อจำกัดที่อนุญาตให้ทำงานได้เพียง 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งก็ออกจะเป็นเรื่องที่เข้มงวดอยู่สักหน่อย

เพื่อแก้ไขข้อเสียตรงจุดนี้ ผู้ติดตามจะต้องหาทางเปลี่ยนสถานะไปถือวีซ่าประเภทอื่น และอาจจะต้องหานายจ้างที่เข้าใจสถานการณ์ของคุณให้ได้ หรือไม่ก็อาจจะลองพิจารณาการจัดตั้งธุรกิจส่วนตัวขึ้นมาดู อย่างไรก็ตาม หากผู้ติดตามเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน หรือเป็นลูกของผู้ถือวีซ่าหลักและไม่จำเป็นต้องทำงานแล้วล่ะก็ วีซ่าผู้ติดตามจะทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างมีความสุขเลยล่ะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: