How to ดูละครเวทีที่ญี่ปุ่น รวมทุกเรื่องที่คุณต้องรู้!

a guide to stage performance and broadway in Japan
ละครเวที ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น มีคณะละครเล็กใหญ่มากมายตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นศิลปะการแสดงญี่ปุ่นดั้งเดิม ละครเวทีร่วมสมัย ละครเวทีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งละครเวทีที่มาจากเรื่องราวในการ์ตูนญี่ปุ่น เชื่อว่ามีผู้อ่านหลายท่านที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์ดูละครเวทีที่ญี่ปุ่นสักครั้งแต่อาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ซื้อตั๋วได้ที่ไหน เวลาดูต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
Oyraa

ไม่ต้องห่วงค่ะ วันนี้เราได้รวบรวมสิ่งเหล่านั้นมาไว้ที่บทความนี้แล้ว ไปดูกันเลย

ติดตามข่าวสารได้จากที่ไหน?

เมื่อจะดูละครเวที สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือข้อมูลเกี่ยวกับละครเวทีเรื่องนั้นๆ จริงมั้ยคะ ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาที่แสดง หรือข้อมูลการซื้อตั๋วต่างๆ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้ตามโซเชียลเน็ตเวิร์คของคณะละครหรือนักแสดงที่สนใจ โดยส่วนมากจะมีการอัพเดตข้อมูลกันผ่านทาง Twitter ค่ะ

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของคณะละครที่อยากดู ซึ่งในปัจจุบันคณะละครหลายๆ แห่งได้มีการเปิดให้สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับละครเวทีใหม่ๆ ได้ทางอีเมล์ (Mail Magazine) ทำให้ไม่พลาดโอกาสเมื่อมีละครเวทีเรื่องใหม่กำลังจะแสดง

สำหรับคณะละครที่ขนาดเล็กลงมา อาจจะไม่ได้มีหน้าเว็บไซต์เป็นของตัวเอง จึงมีการกระจายข่าวสารผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ใบปลิว รวมถึงการบอกข่าวกันแบบปากต่อปากจากผู้เกี่ยวข้องค่ะ

ซื้อตั๋วอย่างไร?

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปชมละครเวทีเรื่องอะไรดี ก็มาถึงขั้นตอนการซื้อตั๋วค่ะ ซึ่งจริงๆ มีวิธีหลากหลายมากขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะไปชม แต่เราจะขอนำเสนอวิธีหลักๆ ที่จะได้เจอกันบ่อยๆ ได้แก่

1. จองล่วงหน้าผ่านระบบสุ่ม

เป็นระบบที่จะให้ผู้ชมลงทะเบียนในระบบ แล้วจะมีการสุ่มว่าใครจะได้สิทธิ์ในการซื้อตั๋วบ้างค่ะ เรียกได้ว่ามีเงินอย่างเดียวซื้อตั๋วไม่ได้ ต้องมีดวงด้วย โดยมีขั้นตอนคือ

  1. การลงทะเบียน ซึ่งทางเว็บไซต์ของละครเวทีจะมีบอกไว้ว่าต้องไปลงทะเบียนผ่านระบบอะไร ระบบที่เห็นได้บ่อยๆ คือ Lawson ticket (ลอสัน ทิกเก็ต) e+ (อีพลัส) Ticket Pia (ทิกเก็ต ปิอะ) เป็นต้น
    นอกจากนี้อาจมีบางคณะที่ใช้ระบบของตัวเองค่ะ
    การลงทะเบียนส่วนใหญ่จะต้องเลือกรอบการแสดง ประเภทที่นั่ง (จะอธิบายในข้อต่อไป) กรอกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ (อาจจำกัดเฉพาะเบอร์ญี่ปุ่น)
  2. เลือกวิธีการชำระเงิน ซึ่งอาจมีตัวเลือกแตกต่างกันไปในละครแต่ละเรื่อง แต่โดยปกติจะมีให้ชำระผ่านบัตรเครดิต โอนเงิน และชำระเงินที่ร้านสะดวกซื้อเป็นต้นค่ะ
  3. เลือกวิธีการรับตั๋ว ซึ่งถ้าเป็นการซื้อตั๋วผ่านระบบใหญ่ๆ ปกติจะสามารถเลือกปรินท์ตั๋วที่ร้านสะดวกซื้อได้เลย หรืออาจจะเลือกให้ส่งไปรษณีย์มาก็ได้ค่ะ
  4. ลงทะเบียนเสร็จแล้วก็ต้องลุ้นว่าจะถูกตั๋วหรือไม่ โดยเมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะมีการส่งเมล์แจ้งผลการสุ่มมาที่เราค่ะ หรือเราจะเข้าระบบไปตรวจสอบผลเองก็ได้เช่นกัน

ถ้าถูกตั๋ว (当選) ก็จะต้องชำระเงินค่าตั๋วตามเวลาที่กำหนด (ถ้าเลือกชำระเงินผ่านบัตรเครดิตแต่แรกจะมีการหักเงินจากบัตรโดยอัตโนมัติ) จากนั้นถ้าเลือกรับตั๋วผ่านทางร้านสะดวกซื้อก็ไปปรินท์ตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดตามเวลาที่มีการแจ้งไว้ในเมล์ เพียงเท่านี้ก็จะได้ตั๋วละครเวทีมาครอบครองค่ะ

แต่ถ้าไม่ถูก (落選) ก็ไม่ต้องเสียใจไปค่ะ เพราะละครเวทีหลายๆ เรื่องมีการแบ่งรอบสุ่มเป็นหลายรอบ แต่ละรอบจะมีจำนวนโควต้าแตกต่างกันไป แต่ละรอบจะมีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะลงทะเบียนเพื่อสุ่มตั๋วในรอบนั้นๆ อยู่ เช่น เคยดูละครเวทีซีรีส์นี้ในภาคก่อน เคยซื้อดีวีดีละครเวทีภาคก่อนหน้า เป็นสมาชิกเว็บไซต์ที่กำหนด เป็นต้น หากเรามีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขก็จะมีสิทธิ์ได้ลงทะเบียนในรอบนั้นๆ เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะได้ตั๋ว

สิ่งหนึ่งที่อาจะต้องระวังคือโดยปกติรอบสุ่มที่กำหนดเงื่อนไขจะเปิดให้ลงทะเบียนและประกาศผลเร็วกว่ารอบสุ่มสำหรับบุคคลทั่วไป (รอบที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไข) ดังนั้นขอแนะนำให้เช็ควันเวลาลงทะเบียนสำหรับแต่ละรอบให้ดีๆ ที่หน้าเว็บไซต์ของละครเวทีเรื่องที่ต้องการไปชมนะคะ

2. จองล่วงหน้าผ่านระบบมาก่อนได้ก่อน

ระบบนี้อาจไม่ต้องพึ่งพาดวงมากนัก แต่จะต้องใช้ความเร็วเข้าสู้ค่ะ โดยเฉพาะละครเวทีเรื่องที่เป็นที่นิยมมากๆ เพราะจะมีคนอีกมากมายที่เตรียมแย่งซื้อตั๋วกับเราเช่นกัน

สำหรับระบบนี้โดยปกติจะมีการแจ้งวันเวลาที่เริ่มเปิดจำหน่ายตั๋วรวมถึงระบบที่ใช้จองตั๋ว (เช่น Lawson ticket, e+, Ticket Pia เช่นเดียวกับข้อด้านบน) ที่หน้าเว็บไซต์ จากนั้นเมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้เราจะต้องเข้าระบบไปทำการเลือกรอบการแสดงและประเภทที่นั่งที่ต้องการ จากนั้นก็ลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัวอย่างชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ แล้วเลือกวิธีการชำระเงินกับวิธีการรับตั๋ว คล้ายๆ กับข้อที่แล้วเลยค่ะ เพียงแค่หากทำกระบวนการเหล่านี้เสร็จหมดเมื่อไหร่ก็รับประกันได้เลยว่าจะสามารถจ่ายเงินค่าตั๋วแล้วได้ตั๋วมาครอบครองแน่นอน อ

อย่างไรก็ตามอย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมมากก็จะมีคนรอกดซื้อตั๋วเหมือนเราอีกมาก ดังนั้นตั๋วอาจจะหมดในไม่กี่นาทีหลังจากเปิดให้จองก็ได้ค่ะ

ถ้าเราจองตั๋วทันเรียบร้อยแล้วก็อย่ามัวแต่ดีใจจนลืมจ่ายเงินนะคะ ไม่เช่นนั้นสิทธิ์ที่อุตส่าห์ฝ่าฟันแย่งชิงจองมาได้ก็จะหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อจ่ายเงินตามวิธีที่เลือกไว้ในระบบแล้วก็รับตั๋วผ่านวิธีที่เลือก เช่นถ้าเลือกรับตั๋วที่ร้านสะดวกซื้อก็ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่ร้านสะดวกซื้อตามที่ระบุในอีเมล์ยืนยันการจอง จากนั้นก็รับตั๋วมาแล้วรอให้ถึงวันแสดงได้เลยค่ะ

3. ซื้อตั๋วที่หน้างาน

สำหรับละครเวทีคณะเล็ก หรือละครเวทีที่เปิดให้จองตั๋วล่วงหน้าแต่มีตั๋วเหลือ ปกติแล้วจะสามารถไปซื้อตั๋วที่หน้างานได้เลยค่ะ ถ้าเป็นละครเวทีคณะเล็กที่ไม่ได้เปิดให้จองผ่านระบบออนไลน์ อาจจะใช้การบอกแบบปากต่อปากจากผู้เกี่ยวข้อง ก็อาจจะสามารถบอกชื่อกับทางผู้เกี่ยวข้องนั้นตรงๆ แล้วเมื่อถึงวันและเวลาที่แสดงก็ไปชำระเงินค่าตั๋วพร้อมรับตั๋วที่หน้าโรงละคร แล้วเข้าไปดูได้เลย

ส่วนละครเวทีที่มีระบบจองล่วงหน้า อาจจะต้องติดตามข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเว็บไซต์ของละครเรื่องนั้นๆ ว่ามีตั๋วเหลือในวันไหนบ้าง หรือบางเรื่องอาจจะไม่ได้มีการประกาศผ่านทางออนไลน์แต่ต้องไปสอบถามที่หน้าโรงละครเลยก็มีค่ะ ซึ่งวิธีการซื้อตั๋วอาจจะมีทั้งแบบ

  1. กดซื้อผ่านระบบออนไลน์ภายในวันก่อนแสดง แล้วชำระเงินให้เรียบร้อย ก่อนจะไปรับตั๋วที่ระบุที่นั่งที่หน้าโรงละคร
  2. กำเงินไปจ่ายที่หน้าโรงละครแล้วรับตั๋วมาตอนนั้นเลยก็มีค่ะ
    รายละเอียดการซื้อตั๋วละครเวทีแต่ละเรื่องจะแตกต่างกันไป ดังนั้นควรอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์หรือช่องทางอื่นๆ ที่ทางคณะละครประกาศออกมาให้ดีนะคะ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะได้ตั๋วมาด้วยวิธีไหน เมื่อรับมาแล้วอย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดบนตั๋วด้วยนะคะ หากมีข้อผิดพลาดขึ้นมาจะได้ทักท้วงทัน ขอยกตัวอย่างตั๋วที่เราซื้อผ่านระบบของ Lawson Ticket รายละเอียดต่างๆ บนตั๋วจะมีตามรูปด้านล่างนี้เลย

รายละเอียดต่างๆ ได้แก่

  1. ชื่อละครเวที
  2. ชื่อผู้สร้าง ผู้เขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง และรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับละครเวทีเรื่องนั้น
  3. สถานที่แสดง
  4. วันที่แสดง
  5. เวลาประตูเปิด (เวลาที่เริ่มเข้าโรงละครได้)
  6. เวลาเริ่มแสดง
  7. ประเภทของตั๋ว
  8. ราคาตั๋ว
  9. หมายเลขที่นั่ง ในกรณีนี้คือที่นั่งชั้น 1 แถวที่ 10 หมายเลข 11
  10. ชื่อผู้ชมและวัน เวลา สถานที่ที่ออกตั๋ว

ส่วนกรอบ A เป็นส่วนของหางตั๋วที่เจ้าหน้าที่จะเก็บไปเวลาผ่านประตูโรงละคร และกรอบ B คือส่วนที่ใช้สำหรับการรับเงินคืนในกรณีที่มีการยกเลิกการแสดง ถ้าเราได้ไปดูละครตามกำหนดก็ไม่ต้องใช้ แต่ถ้ายังไม่ถึงวันแสดงก็อย่าลืมเก็บให้ดีๆ เผื่อมีการยกเลิกการแสดงกระทันหันนะคะ

เตรียมตัวก่อนไปดูละครเวทีอย่างไร?

เมื่อได้ตั๋วละครเวทีเรื่องที่อยากดูมาไว้ในครอบครองแล้ว ต่อไปก็เป็นการเตรียมตัวก่อนไปดูค่ะ โดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่ควรจะทำก่อนไปดูประกอบด้วย

1. ตรวจสอบสถานที่แสดง

แนะนำว่าให้ตรวจสอบสถานที่ตั้งของโรงละครและวิธีการเดินทางไปล่วงหน้าค่ะ โดยเฉพาะเมื่อสถานที่แสดงอยู่ในจังหวัดหรือเมืองที่ไม่คุ้นเคย เพราะบางครั้งสถานที่แสดงอาจจะไปยากกว่าที่คิดและถ้ามัวแต่หลงทางจนพลาดช่วงแรกของการแสดงไปคงจะน่าเสียดายไม่น้อยจริงไหมคะ

ขอแนะนำให้ลองดูว่าใกล้ๆ โรงละครมีร้านสะดวกซื้อ คาเฟ่ ร้านอาหารหรือไม่ จะช่วยให้วางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเวลาแสดงอยู่ใกล้กับเวลามื้ออาหารด้วยค่ะ นอกจากนี้สำหรับการแสดงที่เลิกดึก ก็ควรจะหาข้อมูลเรื่องรถไฟหรือรถบัสเที่ยวสุดท้ายเผื่อไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถเดินทางกลับที่พักได้โดยไม่ต้องเรียกแท็กซี่ค่ะ

ล็อกเกอร์ฝากของที่โรงละคร AiiA 2.5 Theater Kobe

อีกเรื่องที่อาจจะเป็นประโยชน์คือการตรวจสอบผังที่นั่งในโรงละคร เมื่อได้ตั๋วที่ระบุที่นั่งแล้ว แนะนำให้ลองเข้าเว็บไซต์ของโรงละครและหาแผนผังที่นั่งดู เพราะบางคนอาจจะอยากเตรียมกล้องส่องทางไกลไปถ้าได้ที่นั่งที่ไกลจากเวที เพื่อให้เห็นการแสดงชัดๆ รวมถึงการตรวจสอบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโรงละคร อย่างห้องน้ำมีจำนวนเท่าไหร่ มีล็อกเกอร์ให้ใช้ฝากกระเป๋าหรือไม่ มีบริการฝากเสื้อโค้ทตัวนอกหรือไม่ ก็อาจจะช่วยทำให้เตรียมตัวได้ง่ายขึ้นค่ะ

2. เตรียมสิ่งของที่จำเป็น

สิ่งของที่ขาดไม่ได้ แน่นอนว่าต้องเป็นตั๋วที่เราอุตส่าห์ฝ่าฟันหามาได้ แล้วก็ยังมีของส่วนตัวอย่างกระเป๋าสตางค์ บัตรประจำตัว พาสปอร์ต หรือเอกสารยืนยันตัวตนอื่นๆ โทรศัพท์มือถือ และสำหรับบางคนอาจจะไม่อยากลืมนำกล้องส่องทางไกลไปด้วย (แนะนำให้เลือกที่กำลังขยาย 5 – 8 เท่า จะกำลังพอดีค่ะ)

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์อย่างทิชชู ยาประจำตัว นาฬิกาข้อมือ ร่มพับ ขนมเล็กๆ น้อยๆ น้ำขวด เสื้อกันหนาว ยาหยอดตา เป็นต้นค่ะ และสำหรับในช่วงที่มีโรคระบาดแบบนี้ อย่าลืมเตรียมมาสก์ สเปรย์แอลกอฮอล์ ทิชชูเปียกไปด้วยนะคะ

3. เตรียมตัวเองให้พร้อม

ก่อนไปดูละครเวทีอย่าลืมตรวจสอบว่าตัวเองมีไข้หรือมีอาการที่เข้าข่ายโรคโควิด19ด้วยนะคะ ถ้ามีไข้หรือมีอาการที่อาจเสี่ยงก็แนะนำว่าอย่าไปเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ มีละครเวทีหลายเจ้าที่พร้อมจะคืนเงินค่าตั๋วให้ถ้าเรามีไข้

ดังนั้นแนะนำให้ตรวจสอบประกาศในเว็บไซต์ของละครเวทีดู นอกจากนี้อย่าลืมล้างมือบ่อยๆ และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิดด้วยค่ะ

ปฏิบัติตัวในโรงละครอย่างไร?

เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วก็ได้เวลาไปดูละครเวทีกัน แต่ไปถึงแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี มาดูกันค่ะ

1. ไปถึงก่อนเวลานานเท่าไหร่ เข้าโรงละครกี่โมงดี

ปกติแล้วโรงละครจะเปิดให้เข้าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเริ่มแสดง (อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยตามปริมาณผู้ชม) ดังนั้นสามารถไปเข้าโรงละครได้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ อย่างไรก็ตามในช่วงโควิดแบบนี้อาจจะมีการจัดลำดับการเข้าโรงละครให้ทยอยเข้าทีละกลุ่มเพื่อลดความแออัดบริเวณหน้าโรง ส่วนที่นั่งอะไรจะได้เข้าโรงละครเมื่อไหร่สามารถดูได้จากเว็บไซต์หรือป้ายประกาศหน้าโรงละครเลยนะคะ

อย่างป้ายนี้ระบุว่า ขอความร่วมมือผู้ที่มีที่นั่งชั้น 1 แถว 3 – 16 ให้เข้าโรงก่อนเริ่มแสดง 40 – 60 นาที ส่วนผู้มีที่นั่งชั้น 1 แถว 17 – 20 รวมถึงชั้น 2 และ 3 ให้เข้าโรงก่อนเริ่มแสดง 15 – 35 นาที

Q : แล้วจะเข้าโรงละครได้ช้าสุดเมื่อไหร่?

A : จริงๆ แล้วตราบใดที่ไปก่อนเริ่มแสดงก็เข้าได้ค่ะ แต่โดยส่วนตัวเราจะชอบเผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 15 นาทีก่อนเริ่มแสดง เพราะก่อนได้เข้าไปนั่งที่นั่งจริงๆ ก็จะมีกระบวนการตรวจตั๋ว ฉีกหางตั๋ว รวมถึงอาจจะต้องหาที่นั่งของตัวเองอีก แถมช่วงโควิดระบาดแบบนี้ก็จะมีกระบวนการที่เพิ่มมาคือฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ วัดอุณหภูมิ รวมถึงตอบแบบสอบถามเพื่อเป็นข้อมูลในการป้องกันโควิดด้วยค่ะ

Q : ถ้าเข้าโรงละครสายจะเป็นอย่างไร?

A : อาจจะแล้วแต่มาตรการของแต่ละที่ แต่เท่าที่เคยเห็นก็มีคนที่เข้ามาในโรงละครหลังเริ่มแสดงไปแล้วอยู่บ้างนะคะ โดยตั้งแต่ช่วงใกล้เริ่มแสดงมากๆ จะมีพนักงานอำนวยความสะดวกพาไปยังที่นั่งเพื่อความรวดเร็ว แต่ไม่ว่าอย่างไรการเดินไปนั่งที่ในขณะที่บนเวทีเริ่มการแสดงไปแล้วก็อาจจะเป็นการรบกวนผู้ชมคนอื่นๆ ได้ค่ะ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แนะนำให้เผื่อเวลาและเข้าโรงละครกันเร็วหน่อยจะดีกว่านะคะ

ถ้าใครอยากจะซื้อของที่ระลึกที่ขายหน้าโรงละคร ก็อาจจะต้องเผื่อเวลาเพิ่มสำหรับการต่อแถว แนะนำว่าให้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียก่อนว่าจุดขายของจะเปิดให้ซื้อได้ตั้งแต่กี่โมง บางครั้งอาจจะมีเปิดให้ซื้อหลังจากแสดงจบ บางครั้งอาจจะไม่มี บางครั้งอาจจะมีเปิดขายของช่วงพักครึ่งด้วย ดังนั้นการเช็คข้อมูลจึงสำคัญมากค่ะ 

2. เรื่องควรรู้เกี่ยวกับที่นั่ง

โดยปกติสำหรับละครเวทีที่มีการกำหนดที่นั่งไว้ในตั๋ว จะมีการติดภาพแผนผังที่นั่งไว้ด้านหน้าเพื่อให้ผู้ชมได้เช็คว่าที่นั่งของตนอยู่ตรงไหนและเข้าไปจากประตูไหนจะใกล้ที่สุด เช็คแล้วก็เข้าไปยังที่นั่งโดยไม่ควรยืนขวางทางเข้าออกโรงละคร กระเป๋าสัมภาระต่างๆ ถ้ามีล็อกเกอร์ให้ใช้ก็สามารถฝากไว้ในนั้นได้ หรือบางสถานที่อาจจะมีบริการรับฝากกระเป๋าและเสื้อโค้ท สำหรับที่ที่ไม่มีก็สามารถวางกระเป๋าไว้ใต้เก้าอี้ได้แต่ควรระวังไม่ให้เลยไปยังพื้นที่ของที่นั่งข้างๆ

สำหรับการนั่ง ควรนั่งพิงพนักลงไปเพื่อให้ศีรษะของเราไม่บังคนด้านหลัง นอกจากนี้ปกติโรงละครจะขอความร่วมมือให้ปิดโทรศัพท์มือถือระหว่างการแสดงเพื่อไม่ให้รบกวนการรับชมของคนอื่นๆ แต่ช่วงนี้ที่มีเรื่องของโควิด19เข้ามา จึงมีการแนะนำให้เปิดเป็นโหมดเครื่องบินและเปิดบลูธูทเอาไว้แทน เพื่อให้แอพพลิเคชั่น COCOA ที่ช่วยเก็บข้อมูลและแจ้งเตือนหากเรามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ยังสามารถทำงานได้อยู่ 

ในสถานการณ์แบบนี้แน่นอนว่าระหว่างชมการแสดงเราต้องใส่มาสก์ตลอดเวลา รวมถึงผู้ชมที่นั่งแถวหน้าอาจจะถูกขอความร่วมมือให้ใส่เฟซชีลด์ที่ทางเจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ ก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดค่ะ 

3. การพูดคุย ดื่มน้ำ ทานอาหาร

ปกติแล้วในระหว่างการแสดงไม่ควรพูดคุยกัน รวมถึงไม่ควรดื่มน้ำ รับประทานอาหารในโรงละคร เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด19ระบาด แม้แต่ช่วงที่รอการแสดงเริ่มก็ไม่ควรพูดคุยกันเพื่อลดความเสี่ยงค่ะ แต่ตามบางโรงละครจะอนุญาตให้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่บริเวณล็อบบี้ได้ ดังนั้นแนะนำให้ลองสังเกตป้ายประกาศ ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ หรือถามพนักงานถ้ามีข้อสงสัยค่ะ

4. การปรบมือหรือส่งเสียงระหว่างการแสดง

Pit Stock / Shutterstock.com

ปกติแล้วละครเวทีบางเรื่องอาจเปิดโอกาสให้เราส่งเสียงหรือเชียร์ได้ โดยเฉพาะละครเวทีที่มีลักษณะเป็นกึ่งคอนเสิร์ต แต่น่าเสียดายที่เราไม่ควรส่งเสียงระหว่างการแสดงในช่วงโรคระบาดแบบนี้

อย่างไรก็ตามสามารถปรบมือได้เมื่อต้องการแสดงความชื่นชม แม้จะไม่ได้มีข้อห้ามว่าสามารถปรบมือได้เฉพาะเวลาแสดงจบแล้วเท่านั้น แต่การปรบมือบ่อยเกินไปก็อาจจะรบกวนคนอื่นได้เช่นกัน แนะนำให้ลองสังเกตผู้ชมรอบๆ ด้วยหากอยากจะปรบมือนะคะ

นอกจากนี้อาจมีข้อควรปฏิบัติเพิ่มที่จำเพาะเจาะจงต่อละครเวทีแต่ละเรื่อง อย่าลืมเช็คทางเว็บไซต์ก่อนไปรับชมนะคะ

รวมศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับละครเวทีญี่ปุ่น

Igor Bulgarin / Shutterstock.com

คำเหล่านี้เป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับละครเวทีของญี่ปุ่น บางคำอาจจะเป็นคำทับศัพท์ บางคำอาจจะเป็นคำเฉพาะที่ไม่พบที่อื่น ดังนั้นรู้ไว้ก็ไม่เสียหายนะคะ

・มาจิเนะ (マチネ) โซวาเระ (ソワレ)
ทั้งสองคำนี้เป็นคำทับศัพท์จากภาษาฝรั่งเศส มาจิเนะ (Matinee) แปลว่าการแสดงรอบกลางวัน ส่วนโซวาเระ (soiree) แปลว่าการแสดงรอบเย็น

・โชนิจิ (初日) เซนชูราคุ (千秋楽 หรือ 千穐楽)
โชนิจิแปลว่าการแสดงรอบแรก ส่วนเซนชูราคุแปลว่าการแสดงรอบสุดท้าย

・ซาโจ (座長)
ตัวเอกหรือตัวหลักของละครเวทีนั้นๆ

・คาเกอานะ (影アナ)
การประกาศช่วงก่อนหรือหลังการแสดงจากเวทีโดยไม่แสดงตัวให้เห็น มีเพียงเสียงเท่านั้น มาจากคำว่า คาเกะที่แปลว่าเงา และ announce ที่แปลว่าประกาศ

・คัมปานี (カンパニー)
ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับละครเวทีเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือผู้ทำงานเบื้องหลัง

・คุโรโกะ (黒子)
คนที่หลบอยู่ด้านหลังนักแสดงเพื่อช่วยส่งสิ่งของหรือเปลี่ยนชุด เปลี่ยนฉากบนเวที มักจะใส่ชุดสีดำเพื่อให้กลมกลืนไปกับฉากหลัง

・ฮานามิจิ (花道)
เวทีส่วนที่เป็นทางเดินยาวตัดผ่านมายังที่นั่งของผู้ชม

・ฮิกาวาริ (日替わり)
การแสดงส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละรอบที่แสดง

・มาคุอาอิ (幕間)
ช่วงว่างระหว่างองก์ 

・โรโดคุเกคิ (朗読劇)
ละครอ่าน หรือละครที่เน้นใช้การพูดสนทนากันโดยมีแสดงท่าทางประกอบเพียงเล็กน้อย อาจจะมีการถือบทในมือระหว่างการแสดงด้วย

ส่งท้าย

เป็นยังไงกันบ้างคะ หวังว่าพออ่านจบแล้วทุกคนจะได้ไอเดียเกี่ยวกับการชมละครเวทีในญี่ปุ่นกันมากขึ้น ต่อไปก็ลองเล็งละครเวทีเรื่องที่สนใจ แล้วก็สามารถซื้อตั๋ว เดินเข้าโรงละครอย่างมั่นใจกันได้เลยค่ะ เราขอเชียร์ให้ทุกคนได้ลองสัมผัสประสบการณ์ดูละครเวทีที่ญี่ปุ่นกันซักครั้ง หรือจะหลายๆ ครั้งเลยก็ดีนะคะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: