ข้อควรพิจารณาขณะหางานในญี่ปุ่น
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่สามารถหางานที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้สักที การเปลี่ยนวิธีในการหางานก็อาจช่วยคุณได้ ตามปกติแล้ว ปริมาณและความรวดเร็วของข้อมูลที่ได้จากการหางานแต่ละวิธีจะแตกต่างกันมาก ดังนั้น ก้าวแรกของการหางานให้ประสบผลสำเร็จจึงอยู่ที่การรู้ข้อดี – ข้อเสียของแต่ละวิธี แล้วจึงค่อยเลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเองที่สุด และถึงแม้ว่าคุณจะมีบริษัทที่อยากเข้าหรือวงการอุตสาหกรรมที่อยากทำในใจอยู่แล้ว การเก็บข้อมูลด้วยมุมมองที่หลากหลายก็อาจทำให้คุณได้รู้จักกับบริษัทดีๆ หรือได้เห็นเสน่ห์ของอุตสาหกรรมอื่นด้วยก็ได้
สิ่งสำคัญในการหางาน คือ คุณต้องรู้ใจตัวเองก่อนว่าต้องการทำงานอะไรหรือทำกับบริษัทไหนก่อนไปสัมภาษณ์ ซึ่งเราก็มี 7 วิธีดีๆ มาแนะนำกันดังต่อไปนี้
1. ใช้บริการเว็บไซต์หางาน
เว็บไซต์หางาน (求人サイト) เป็นวิธีที่เราอยากแนะนำให้กับผู้ที่ต้องการหาข้อมูลการสมัครงานจำนวนมากอย่างง่ายดายและรวดเร็ว ในบรรดาเว็บไซต์เหล่านี้จะมีเว็บที่เน้นให้บริการชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งให้ข้อมูลการเปิดรับสมัครงานที่ชาวต่างชาติสามารถสมัครได้อยู่มากมาย ระบบคัดกรองในเว็บไซต์จะช่วยจัดสรรข้อมูลตามความต้องการของคุณ ตั้งแต่ประเภทอุตสาหกรรม, ประเภทงาน, ไปจนถึงสถานที่ทำงาน, ค่าตอบแทน และระดับทักษะภาษาญี่ปุ่นที่จำเป็น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเมื่อไรก็สามารถหางานที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงแม้เว็บไซต์แต่ละแห่งจะมีเนื้อหาการให้บริการที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อคุณสมัครเข้าใช้บริการแล้วก็จะสามารถเซฟรายชื่อบริษัทที่สนใจเอาไว้ใน My Page ได้ และสามารถทำการสมัครหรือติดต่อเพื่อตกลงวันสัมภาษณ์ผ่านระบบของเว็บไซต์ได้ในภายหลัง กล่าวคือ ขั้นตอนทุกอย่างตั้งแต่การหางาน การสมัคร ไปจนถึงติดต่อกับบริษัทจะสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ผ่านทางเว็บไซต์
นอกจากนี้ เว็บไซต์บางแห่งยังอาจมีเพจคู่มือการหางาน หรือข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการหางานในญี่ปุ่นไว้ให้ศึกษาด้วย เพียงสมัครใช้บริการเพื่ออ่านข้อมูลเหล่านี้ก็ถือว่าคุ้มแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่จะสมัครได้ฟรี เพราะฉะนั้น หากคุณพบเว็บไซต์หางานที่รู้สึกสนใจก็ขอแนะนำให้ลองสมัครไว้ก่อนเลย
ส่วนข้อเสีย เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้ไม่มีพนักงานคอยซัพเพอร์การหางานของเราอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยอะไรก็จะไม่สามารถคาดหวังคำตอบที่รวดเร็วได้ แม้คุณจะสามารถตรวจสอบคำถามที่พบบ่อยได้ภายในเว็บไซต์ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาทั่วๆ ไป และมีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะต้องแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความข้อมูลส่วนตัวด้วยตนเอง นอกจากนี้ ข้อมูลที่ลงไว้ก็มักจะมีเพียงอักษรและรูปภาพ (หรือวิดีโอ) ซึ่งแสดงให้เห็นเพียงมุมหนึ่งของบริษัทเท่านั้น คุณจึงไม่สามารถรับรู้บรรยากาศการทำงานหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรได้จนกว่าจะได้พูดคุยกันจริงๆ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การสัมภาษณ์ เราจึงขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งเชื่อข้อมูลเหล่านี้มากจนเกินไป และควรหาโอกาสไปดูด้วยตาตนเองผ่านการทัศนศึกษาและการสัมภาษณ์เสียก่อน
2. ใช้บริการตัวกลางจัดหาบุคลากร
บริการจัดหาบุคลากร (人材紹介サービス) เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่อยากใช้ประสบการณ์เฉพาะทางของตัวเองให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะส่วนตัวหรือประสบการณ์จากการทำงานในอดีต ญี่ปุ่นมีบริษัทตัวกลางที่เน้นให้บริการชาวต่างชาติอยู่เช่นกัน โดยแทบทุกแห่งจะคอยซัพพอร์ตตั้งแต่ขั้นตอนการหางาน ตรวจสอบเอกสาร ปรึกษาเรื่องสัมภาษณ์ รับรองผู้หางาน ไปจนถึงการต่อรองเงื่อนไขข้อตกลงต่างๆ
บริษัทเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญในหลายๆ ด้าน รวมถึงการซัพพอร์ตผู้หางานและติดต่อกับทางบริษัท แล้วจึงช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้เชื่อมต่อกันโดยมีผลประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ วิธีนี้จึงมีโอกาสที่จะพบเรื่องผิดคาดเวลาได้เข้าไปทำงานจริงๆ ได้น้อย อีกทั้งยังสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่มีการระบุไว้ในใบประกาศรับสมัครงานได้ด้วย เช่น วัฒนธรรมองค์กร นอกจากนี้ เนื่องจากตัวกลางเหล่านี้จะติดต่อกับฝ่ายบริษัทแทนเรา ถึงแม้คุณจะยุ่งก็ยังเดินเรื่องหางานได้อย่างสบายใจ โดยทั่วไปผู้หางานจะสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยิ่งหากเป็นบริษัทตัวกลางสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ก็จะมีบริการภาษาต่างประเทศมาซัพพอร์ตคุณด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อเสียอยู่ที่มีงานให้เลือกน้อย เพราะถึงแม้จะมีบริษัทที่ต้องการจ้างชาวต่างชาติที่ใช้บริษัทตัวกลางที่เหมาะกับเป้าหมายอยู่ แต่หากเป็นบริษัทที่ต้องการจ้างทั้งชาวต่างชาติและคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ก็จะใช้บริษัทตัวกลางรายใหญ่ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น กล่าวคือ หากเป็นการรับสมัครงานที่มุ่งจะจ้างคนญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่มีโอกาสได้งานก็ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขจริงๆ เท่านั้น
แนะนำ tsunagu Local Jobs ตัวกลางช่วยชาวต่างชาติในการหางาน!
เว็บไซต์นี้เป็นตัวกลางช่วยหา / ย้ายงานสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ มีงานมากมายที่ผู้ถือสัญชาติต่างประเทศสามารถสมัครได้ และมีประกาศรับสมัครงานที่ไม่เป็นทางการอยู่มากมายเช่นกัน เนื่องจากมีการซัพพอร์ตโดยพนักงานเจ้าของภาษาจากหลากหลายเชื้อชาติ ดังนั้น ถึงแม้คุณจะไม่ถนัดภาษาญี่ปุ่นก็สามารถใช้บริการได้อย่างสบายใจ (ภาษาที่รองรับ: ญี่ปุ่น, อังกฤษ, จีนตัวเต็ม, จีนตัวย่อ, ไทย, เวียดนาม, เกาหลี)
นอกจากจะสมัครฟรีแล้ว บริการทุกอย่างก็ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายด้วย จะลองขอคำปรึกษาดูเฉยๆ ก็ไม่เป็นไร! เป็นตัวเลือกที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ต้องการหางานหรือย้ายงานในญี่ปุ่น
▼ tsunagu Local Jobs (ภาษาญี่ปุ่น)
https://jobs.tsunagulocal.com/
▼ tsunagu Local Jobs (ภาษาอังกฤษ)
https://jobs.tsunagulocal.com/en
3. ใช้บริการตัวกลางหางานของรัฐบาล
Hello Work (ハローワーク) เป็นตัวกลางหางานที่บริหารโดยรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ในทุกเขตการปกครอง ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ คุณสามารถใช้บริการสัมมนาหางานและระบบฝึกงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีทั้งสัมมนาฝึกสัมภาษณ์ สัมมนาวิธีการเขียนแนะนำตัวและเรซูเม่ รวมถึงงานสัมมนาความรู้ที่จำเป็นต่อการหางาน เช่น วิธีหาข้อมูลและระบบการหางานในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีระบบฝึกงานสำหรับนักศึกษาต่างชาติ และบางกรณีก็สามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การทำงานจริงๆ ได้ในช่วงหยุดฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ผลิด้วย แต่หากจะใช้บริการทุกอย่างที่กล่าวมานี้ก็จำเป็นต้องลงทะเบียนกับ Hello Work ด้วย หากมีบริการที่คุณอยากใช้ เราก็ขอแนะนำให้เดินทางไปลงทะเบียนกับ Hello Work เอาไว้ก่อนเลย
ในส่วนของข้อเสีย คือ วิธีนี้จะมีความจำกัดด้านเวลาและสาขา สำหรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่เรียนจบและอยากทำงานต่อในญี่ปุ่น รวมถึงชาวต่างชาติที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้าน จะมีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการทำงานอยู่ในโตเกียว นาโกย่า โอซาก้า และฟุกุโอกะเท่านั้น ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว Hello Work บางแห่งจะมีแผนกรองรับชาวต่างชาติอยู่ แต่แผนกดังกล่าวก็สามารถให้คำปรึกษาเรื่องการหางานของชาวต่างชาติได้ในบางช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นช่วงวันธรรมดา เวลา 9:00 – 17:00 น. (หรือ 10:00 – 18:00 น.) จึงค่อนข้างลำบากสำหรับนักศึกษาหรือผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว แต่หากคุณไม่มีปัญหาทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ ก็ไม่ควรพลาดที่จะลองใช้บริการนี้ดูสักครั้ง
▼ Hello Work Internet Service (ภาษาญี่ปุ่น)
https://www.hellowork.mhlw.go.jp/
รายชื่อศูนย์บริการจ้างงานสำหรับชาวต่างชาติ
▼ Tokyo Employment Service Center for Foreigners
11:00 – 17:00 น. (หยุดเสาร์ – อาทิตย์, วันหยุดนักขัตฤกษ์, ช่วงเทศกาลปีใหม่)
Floor 21, Odakyu Daiichi Seimei Building, 2-7-1, Nishishinjuku, Shinjuku-ku, Tokyo
東京都新宿区西新宿2-7-1小田急第一生命ビル21階
โทร: 03-5339-8625
https://jsite.mhlw.go.jp/tokyo-foreigner/home.html (มีภาษาอังกฤษ, จีน)
▼ Nagoya Employment Service Center for Foreigners
https://jsite.mhlw.go.jp/aichi-foreigner/ (มีภาษาอังกฤษ, จีน, โปรตุเกส, สเปน)
11:00 – 17:00 น. (หยุดเสาร์ – อาทิตย์, วันหยุดนักขัตฤกษ์, ช่วงเทศกาลปีใหม่)
12 Floor, Chunichi Building, 4-1-1, Sakae, Naka-ku, Nagoya-shi
名古屋市中区栄4-1-1中日ビル12階
โทร: 052-264-1901
▼ Osaka Employment Service Center for Foreigners
10:00 – 18:00 น. (หยุดเสาร์ – อาทิตย์, วันหยุดนักขัตฤกษ์, ช่วงเทศกาลปีใหม่)
Floor 16, Hankyu Grand Building, 8-47, Kakuda-cho, Kita-ku, Osaka
大阪市北区角田町8-47 阪急グランドビル16階
โทร: 06-7709-9465
https://jsite.mhlw.go.jp/osaka-foreigner/home.html (มีภาษาอังกฤษ, จีน, โปรตุเกส, สเปน)
▼ Fukuoka Employment Center for Students (Fukuoka New Graduate Support Hello Work)
10:00 – 18:00 น. (หยุดเสาร์ – อาทิตย์, วันหยุดนักขัตฤกษ์, ช่วงเทศกาลปีใหม่)
Floor 12, Elgala Office Building, 1-4-2, Tenjin, Chuo-ku, Fukuoka-shi
福岡市中央区天神1-4-2エルガーラオフィスビル12階
โทร: 092-714-1556
https://jsite.mhlw.go.jp/fukuoka-roudoukyoku/hw/fuzoku_kikan/gaikokujin.html (มีภาษาอังกฤษ, จีน)
※ มีพนักงานให้บริการเป็นภาษาอังกฤษและจีนเฉพาะช่วงเวลาด้านล่างนี้
ภาษาอังกฤษ: วันจันทร์, พุธ, ศุกร์ เวลา 10:00 – 12:00 น., 13:00 – 15:30 น.
ภาษาจีน: วันจันทร์, พฤหัสบดี เวลา 10:00 – 12:00 น., 13:00 – 16:30 น.
※ ในส่วนของการสัมมนาหางาน ปัจจุบันได้หยุดให้บริการอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ Hello Work ที่คุณจะไปติดต่อ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2020)
4. สมัครโดยตรงกับเว็บไซต์ของทางบริษัท
กรณีที่คุณมีบริษัทที่ต้องการเข้าทำงานอยู่แล้ว ก็สามารถใช้วิธีสมัครโดยตรงกับเว็บไซต์ของทางบริษัทได้เลย วิธีนี้มีข้อดี คือ อาจง่ายกว่าการสมัครผ่านตัวกลาง (เป็นบางกรณี) เพราะเวลาบริษัทใช้ตัวกลางเพื่อจ้างงานใครสักคน ส่วนใหญ่บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับฝ่ายตัวกลางเมื่อมีการจ้างงานเกิดขึ้น กล่าวคือ ก่อนที่ทางบริษัทจะตกลงจ้างงาน ก็จะมีการประเมินว่าผู้สมัครรายนั้นว่าคุ้มค่ากับเงินที่จะเสียไปไหม แต่หากบริษัททำการจ้างเองก็จะไม่ต้องเสียค่าตัวกลางดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ว่าคุณจะผ่านการสมัครได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ในกรณีที่ทางบริษัทเปิดรับสมัครโดยตรงเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้ไม่มีผู้สมัครจากตัวกลางหรือเว็บไซต์หางานมาเป็นคู่แข่งด้วย
แต่วิธีนี้ก็ยังมีข้อเสีย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบริษัทจะเปิดรับสมัครงานเมื่อไร และถึงแม้เปิดแล้วก็ไม่มีใครคอยบอก จึงจำเป็นต้องเช็กเพจรับสมัครงานของบริษัทหรือแอคเคาท์ทางการอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น การสมัครงานโดยตรงเช่นนี้ก็อาจทำให้คุณเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรและสิ่งที่ทางบริษัทต้องการได้ยากเพราะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เป็นสิ่งที่ต่างจากการสมัครผ่านตัวกลางและคุณก็จำเป็นต้องศึกษาด้วยตนเองอย่างรอบคอบ
5. การแนะนำจากสถานศึกษา
หากคุณเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติ เราขอแนะนำให้ลองปรึกษาเรื่องการหางานกับศูนย์อาชีพ (Career Center) ของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่คุณกำลังศึกษาอยู่ ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ คุณจะได้ข้อมูลประกาศรับสมัครงานจำนวนมากที่ต้องการจ้างคนจากสถานศึกษาของคุณจริงๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วทางบริษัทจะรู้จุดเด่นของสถานศึกษานั้นๆ หรือไม่ก็เคยจ้างบัณฑิตของสถานศึกษานั้นมาแล้ว จึงมีปัจจัยมากมายที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานช่วยเหลือกันได้อย่างสบายใจ นอกจากนี้ สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังมีระบบฝึกงาน เช่น การสัมผัสประสบการณ์การทำงานระยะสั้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อการหางานเป็นอย่างยิ่ง และสถานศึกษาบางแห่งก็ยังมีอาจารย์ที่คอยรับผิดชอบเรื่องหางานไว้คอยซัพพอร์ตนักศึกษาด้วย ในกรณีนี้ ส่วนใหญ่คุณจะสามารถขอคำปรึกษาเป็นการส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีเขียนใบสมัครหรือมารยาทในการสัมภาษณ์ หากมีเรื่องที่ไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามได้ทันที
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังมีข้อเสียอยู่ คือ ส่วนใหญ่จะต้องรับข้อเสนอแบบ เซ็นกัง (専願 หากรับแล้วจะต้องเข้าทำงาน) เนื่องจากการแนะนำจากสถานศึกษามีเงื่อนไขว่าต้องเข้าทำงาน ปกติแล้วจึงไม่สามารถรับข้อเสนอจากบริษัทหลายๆ แห่งไปพร้อมกัน และหากผ่านแล้วก็จะมาเปลี่ยนใจเอาภายหลังไม่ได้ด้วย เพราะหากผ่านแล้วไม่เข้าทำงานก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับสถานศึกษา และอาจทำให้บริษัทไม่ส่งข้อเสนอมาในปีถัดไป ดังนั้น เวลารับข้อเสนอจึงควรคิดให้รอบคอบเข้าไว้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีประกาศรับสมัครงานส่งมายังสถานศึกษา แต่ใช้วิธีสมัครงานแบบอิสระ เช่น สมัครผ่านเว็บไซต์หางานก็จะไม่มีข้อจำกัดนี้ เราจึงขอแนะนำให้ตรวจสอบกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบก่อนว่าการสมัครของเราจัดอยู่ในกรณีไหน
6. เข้าร่วมจ็อบแฟร์
จ็อบแฟร์ (Job Fair) คือ งานอีเวนต์ที่บริษัทมากมายจะมาตั้งบูธรวมกันในสถานที่กว้างๆ เพียงแห่งเดียว และทำการอธิบายเกี่ยวกับบริษัทของตัวเอง อีเวนต์นี้มีข้อดี คือ คุณสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ได้หลายแห่งภายในวันเดียว เป็นการใช้เวลาที่มีประสิทธิภาพมากๆ อีกทั้งยังต่างจากการหางานผ่านเว็บไซต์ตรงที่คุณสามารถพูดคุยกับคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทนั้นได้จริงๆ จึงสามารถตรวจสอบเรื่องที่ไม่มีระบุไว้ในเว็บไซต์ เช่น บรรยากาศของบริษัทได้ด้วย ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการจ้างงานจะอยู่ภายในบูธ ทำให้คุณสามารถสอบถามเกี่ยวกับวิธีคัดเลือกคนเข้าทำงานได้เช่นกัน
จ็อบแฟร์บางงานอาจจัดสัมมนาที่เป็นประโยชน์ต่อการหางานขึ้นด้วย หากคุณบริหารเวลาดีๆ ก็จะสามารถทำตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมรับมือการสัมภาษณ์ไปจนถึงออกหางานได้ภายในวันเดียว ในกรณีของจ็อบแฟร์ที่มีเป้าหมายเป็นชาวต่างชาตินั้น จะเต็มไปด้วยบริษัทที่จ้างชาวต่างชาติเป็นประจำอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็สามารถสื่อสารภาษาต่างชาติได้ เช่น ภาษาอังกฤษ แม้แต่คนที่ไม่มั่นใจในภาษาญี่ปุ่นก็เข้าไปฟังได้ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานด้วยกันเองยังอาจได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน หากได้เป็นเพื่อนกันก็จะสามารถปรึกษาและหางานไปด้วยกันได้ ถือเป็นข้อดีที่หาไม่ได้ในวิธีอื่นๆ เลยทีเดียว
ข้อเสียของวิธีนี้ คือ บริษัทแต่ละแห่งอาจมีเวลาให้คุณไม่มากพอ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจ็อบแฟร์เป็นจำนวนมาก จึงอาจมีกรณีที่ไม่มีเวลามากพอให้คุณคุยกับผู้รับผิดชอบอย่างละเอียด นอกจากนี้ ในกรณีของบูธบริษัทยอดนิยมที่มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แค่ฟังการอธิบายให้ได้ก็เป็นเรื่องยากแล้ว ในกรณีนี้เราจึงขอแนะนำให้รับเอกสารต่างๆ อย่างพวกแผ่นพับเอาไว้ แล้วค่อยส่งอีเมลไปสอบถามในภายหลัง หรือไม่ก็รอเข้าร่วมงานอธิบายที่บริษัทนั้นจัดขึ้นด้วยตัวเองอีกทีจะดีกว่า
※ จ็อบแฟร์หลายงานได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีบางงานที่เปลี่ยนไปจัดแบบออนไลน์แทน
7. ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก
ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทหลายแห่งได้หันมาใช้ระบบ Social Recruiting หรือการจ้างงาน / ประกาศรับสมัครงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และแอคเคาท์ทางการบนเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram โดยมีวิธีการใช้งานที่หลากหลาย เช่น โพสต์ประกาศรับสมัครงาน โพสต์ว่ากำลังรับสมัครงานผ่านเว็บไซต์หางานอยู่ หรือไม่ก็ติดต่อเสนองานให้ผู้ใช้โดยตรง ในกรณีที่บริษัทที่คุณอยากทำงานด้วยมีแอคเคาท์เป็นของตัวเอง เราก็ขอแนะนำให้ลองตรวจสอบแอคเคาท์ดังกล่าวดู ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะหลังนี้สังคม Facebook สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็มีอยู่มาก หากเข้าร่วมกลุ่มที่เหมาะกับคนของประเทศคุณแล้ว ก็อาจทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานเฉพาะด้านหรือไม่ก็งานที่สามารถใช้ภาษาแม่ของคุณให้เกิดประโยชน์ได้เลย ข้อดีของวิธีนี้ คือ คุณสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากโซเชียล ซึ่งปกติก็ใช้งานอยู่แล้ว และยังสามารถรับข่าวสารใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ ข้อมูลรับสมัครงานส่วนใหญ่จะเป็นงานล่วงเวลา มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นงานประจำ และส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยระบุรายละเอียดให้ชัดเจนด้วย หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็ควรตรวจสอบเว็บไซต์ของทางบริษัทควบคู่กันไป แม้ว่าการจ้างผ่านโซเชียลจะสะดวกกว่าวิธีอื่น แต่ก็มีข้อเสียอยู่ที่ทั้งฝ่ายบริษัทและผู้หางานจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอีกฝ่ายในปริมาณน้อย และจำเป็นต้องระวังไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด อย่างไรก็ดี เนื่องจากโซเชียลเป็นช่องทางที่คนหนุ่มสาวใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวโน้มว่าการจ้างงานรูปแบบนี้จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต
ส่งท้าย
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีหางานในญี่ปุ่นที่เราได้คัดสรรมาให้ คุณไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงวิธีเดียว แต่สามารถผสมผสานวิธีต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ของคุณได้ และหากไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหนดี ก็สามารถลองไล่ตามลำดับดูก่อนเลยก็ได้ เราขอแนะนำให้คุณเริ่มจากการเข้าไปดูภาพรวมคร่าวๆ ตามเว็บหางานหรือเว็บตัวกลางที่สามารถใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา จากนั้นจึงค่อยวางแผนปูทางสู่อาชีพในฝันของคุณ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่