ทำไมถึงน่าใช้ของมือสอง?
ถึงแม้ว่าคุณจะซื้อของมือหนึ่งบนโลกออนไลน์ได้ง่ายๆ เพียงกระดิกปลายนิ้ว หรือโยนของที่ไม่ใช้แล้วทิ้งไปเฉยๆ ได้ แต่การใช้ตลาดของมือสองในญี่ปุ่นให้เป็นประโยชน์ก็ยังมีข้อดีอยู่มากมาย ของมือสองเหล่านี้มักจะขายในราคาที่ถูกกว่าปกติโดยขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า แต่ในทางกลับกัน นี่ก็เป็นอีกช่องทางที่ดีสำหรับการหาเงิน ทั้งสำหรับคนที่ต้องการจัดบ้านตามวิธีแบบ KonMari (การจัดบ้านโดยแยกสิ่งของเป็นหมวดหมู่และเลือกเก็บเฉพาะของที่มีความหมายเอาไว้) และคนที่ต้องการกำจัดของที่ไม่ใช้แล้ว แต่หากคุณไม่อยากเสียเวลามาการนั่งลิสต์รายชื่อของ ญี่ปุ่นก็มีสถานที่รับบริจาคของอยู่หลายแห่งด้วยเช่นกัน
ของมือสองส่วนมากมักจะเป็นหนังสือ เกมส์ และเสื้อผ้า ขึ้นอยู่กับแหล่งซื้อขาย แต่ในบางครั้ง คุณก็อาจจะเจอของที่กำลังตามหาอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ หรือไม่ก็อาจจะเจอคนที่ต้องการรับของไปจากคุณก็ได้!
สถานที่ซื้อ – ขายของมือสองในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นมีแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อ – ขายของมือสองอยู่มากมาย ทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์ แต่อย่าลืมชั่งน้ำหนักข้อดี – ข้อเสียของแต่ละตัวเลือกด้วย ตัวอย่างเช่น การซื้อขายออนไลน์อาจมีอิสระในการต่อรองหรือตั้งราคามากกว่า แต่สำหรับคนที่อยากกำจัดของบางอย่างให้เร็วที่สุด การนำไปขายที่ร้านก็อาจจะเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่า
ตลาดซื้อ – ขายของออนไลน์
หากคุณเป็นมือใหม่ที่กำลังมองหาตัวเลือกที่ปลอดภัยในการซื้อ – ขายของออนไลน์ Mercari (メルカリ) ซึ่งเป็นแอพฯ ตลาดซื้อขายของที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียว ในนี้มีสินค้าวางขายอยู่กว่า 2,000,000,000 ชิ้น (จำนวนรวมตั้งแต่เปิดทำการในปี 2013 ถึงเดือนธันวาคม 2020) แอพฯ นี้จึงมีสิ่งของให้ให้คุณเลือกมากมาย และหากคุณเป็นผู้ขายก็สามารถมั่นใจได้ว่า รายการสินค้าของคุณจะอยู่ในสายตาของผู้คนทั่วญี่ปุ่นแน่ๆ
ถึงแม้ว่า Mercari จะโด่งดังในฐานะแอพพลิเคชั่นตลาดนัด (フリマアプリ Flea Market App) แต่ผู้ขายก็มักจะยึดติดกับราคาที่ตั้งไว้ ซึ่งไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการต่อราคาเยอะๆ แต่ในกรณีที่ของชิ้นนั้นขายไม่ออกจริงๆ หรือมีการติดต่อเจรจากันอย่างสุภาพ ผู้ขายก็อาจจะลดราคาให้คุณก็ได้
อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ คือ Yahoo! Auctions (ヤフオク!) แพลตฟอร์มประมูลของออนไลน์ที่จัดตั้งโดย Yahoo! Japan ในนี้ไม่ได้มีแต่การประมูลเท่านั้น แต่ยังสามารถขายของโดยตั้งราคาปกติได้ด้วย ถึงจุดนี้ บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า “แล้วแพลตฟอร์มนี้ต่างจาก Mercari อย่างไร?” ซึ่งก็มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ คือ Yahoo! Auctions มีแนวโน้มที่จะดึงดูดคนที่ต้องการแข่งขันเพื่อให้ของของตัวเองได้ราคาที่สูงขึ้น เพราะทั้งตัวผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็มีความคล้ายกันตรงที่ต้องการจะใช้ประโยชน์จากวิธีการซื้อ – ขายด้วยการประมูล ซึ่งอาจทำให้ได้ราคาที่สูงกว่า Mercari ซึ่งไม่ค่อยยืดหยุ่นในเรื่องการตั้งราคา ถึงแม้เราจะไม่สามารถเหมารวมได้ว่าผู้ใช้เป็นแบบนี้กันทุกคน แต่ก็ถือว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อคุณเลือกแพลตฟอร์มในการซื้อ – ขาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ขายทั่วไป Yahoo! Auctions อาจไม่ใช้ทางเลือกที่สะดวกที่สุด เพราะหากคุณไม่ใช่สมาชิกแบบพรีเมียม ก็จะสามารถขายของได้เพียงแค่ครั้งละ 1 ชิ้นเท่านั้น แถมยังมีตัวเลือกวิธีการจัดส่งน้อยกว่า และมีข้อจำกัดอื่นๆ อีก แต่ในทางกลับกัน สมาชิกแบบพรีเมียมก็จะต้องผูกกับบริการอื่นๆ ของ Yahoo! ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้ง ท่องเที่ยว รวมถึงความบันเทิงต่างๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนบางคน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการซื้อ – ขายของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ คุณยังสามารถทำการซื้อ – ขายสินค้ามือสองบนเว็บไซต์ Amazon Japan ผ่านช่องทาง Amazon Marketplace service ได้ด้วย และเนื่องจากคุณสามารถตั้งค่าบัญชี Amazon Japan ให้เป็นภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น ถึงแม้จะไม่อยากใช้ภาษาญี่ปุ่นก็สามารถทำธุรกรรมได้อย่างราบรื่น แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าคำอธิบายสินค้าอาจเป็นภาษาญี่ปุ่นในกรณีที่ไม่มีคำแปลภาษาอังกฤษให้
ข้อดีสำหรับผู้ขายก็คือ คุณสามารถขายของได้สะดวกมาก เนื่องจากข้อมูลโดยรวมของสินค้าจะถูกเตรียมไว้โดย Amazon ดังนั้น ผู้ขายจึงไม่จำเป็นต้องอัพโหลดรูปภาพ หรือเขียนคำอธิบายสินค้าเพิ่มเติม ซึ่งปกติแล้วจะเป็นขั้นตอนเสียเวลาค่อนข้างมากในแพลตฟอร์มอื่น
อย่างไรก็ตาม ข้อดีนี้ก็ถือเป็นดาบสองคมอยู่เหมือนกัน เนื่องจากคุณจะไม่สามารถขายสินค้าที่ไม่มีการวางขายบน Amazon อยู่แล้วได้ และตัวผู้ซื้อก็จะไม่สามารถเห็นหน้าตาของสินค้าจริงๆ และต้องเชื่อคำอธิบายเกี่ยวกับสภาพสินค้ามือสองที่ผู้ขายเขียนเอาไว้ด้วย
วิธีเริ่มต้นการใช้งานตลาดซื้อ – ขายออนไลน์ในญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าแต่ละแพลตฟอร์มจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป แต่ขั้นตอนในการเริ่มซื้อ – ขายส่วนใหญ่จะเหมือนกัน สำหรับผู้ขาย เพียงแค่สมัครสมาชิกออนไลน์และยืนยันตัวตนผ่านเบอร์โทรศัพท์ (หากจำเป็น) ในกรณีของผู้ซื้อ คุณก็เพียงแค่จ่ายเงินแล้วรอให้ผู้ขายจัดส่งสินค้าให้เท่านั้น และเมื่อได้รับของแล้วก็อย่าลืมกดยืนยันการรับสินค้าบนแพลตฟอร์ม ซึ่งมักจะใช้คำว่า 受取評価 (Uketori hyōka) หรือ 受け取り連絡 (Uketori renraku) ด้วย
ในการขายสินค้า ส่วนมากจะต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านขั้นตอน 本人確認 (Honnin kakunin) โดยส่วนใหญ่แล้วจะสามารถใช้พาสปอร์ตหรือบัตรผู้พำนัก (ไซริวการ์ด) รวมถึงใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ และบัตรมายนัมเบอร์ได้ นอกจากนี้ เวลาที่คุณโพสต์ขายของ (出品する Shuppin suru) ก็อย่าลืมใส่รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและการจัดส่ง รวมถึงรูปภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อได้เห็นภาพสินค้าที่กำลังจะขายด้วย
เวลาขายของอย่าลืมว่าของมือสองนั้นมีหลายสภาพ (状態 Jōtai) คำศัพท์ที่มักใช้ในการอธิบายสภาพสินค้ามีดังนี้:
- 中古 (chūko) = มือสอง
- 新品 (shinpin) = ของใหม่
- 未開封 (mikaifu) = ยังไม่ได้เปิด
- 未使用 (mishiyō) = ยังไม่ได้ใช้
- 傷や汚れあり・なし(kizu ya yogore ari・nashi) = มีตำหนิหรือรอยคราบ / ไม่มี
เมื่อขายของและทำการส่งของเรียบร้อยแล้ว ให้คุณทำตามขั้นตอน 発送通知 (Hassō tsūchi) เพื่อยืนยันว่าได้ส่งสินค้าเรียบร้อยแล้วและหลังจากที่ของส่งถึงตัวผู้ซื้อ ก็อย่าลืมรีวิวผู้ซื้อด้วย จากนั้น คุณถึงจะได้รับเงิน โดยคุณต้องยื่นเรื่องถอนเงินผ่านทางธนาคารที่เรียกว่า 振り込み (Furikomi) หรือจะใช้เงินที่ได้จากการขายในการซื้อของต่างๆ บนแอพฯ แทนเงินสด ผ่านทาง Merpay ของ Mercari หรือ PayPay ที่ร่วมกับ Yahoo! Auction ก็ได้เช่นกัน
การซื้อของผ่านตลาดซื้อ – ขายออนไลน์ในญี่ปุ่น
การซื้อของออนไลน์นั้นง่ายมาก เพียงคุณมีที่อยู่และช่องทางการจ่ายเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็สามารถจ่ายเงินผ่านทางร้านสะดวกซื้อที่เรียกว่า コンビニ支払い (Konbini shiharai) ได้ นอกจากนี้ วิธีจัดส่งบางช่องทาง (เช่น ความร่วมมือระหว่าง Mercari หรือ Yahoo! Auction กับ Japan Post และ Kuroneko Yamato) ยังทำให้คุณใช้ร้านสะดวกซื้อเป็นที่อยู่ในการจัดส่งได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกซื้อบนแพลตฟอร์มไหนก็อย่าลืมดูค่าส่งด้วย หากราคารวมค่าส่งแล้วจะเขียนว่า 送料込み (Sōryō komi) และในบางครั้งก็อาจมีการเก็บเงินปลายทางหรือ 着払い (Chakubarai) รวมถึงบางครั้งค่าส่งก็อาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่ในการจัดส่งด้วย
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าวัฒนธรรมการต่อราคาอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแพลตฟอร์มและตัวผู้ขาย ในเรื่องนี้ แอพฯ Mercari อาจไม่ใช่แอพฯ ที่ดีที่สุดสำหรับการต่อราคาแบบสุดโต่ง แต่ก็สามารถลองคอมเมนต์อย่างสุภาพ เช่น コメント失礼いたします。こちらの商品は○○円にお値下げしていただくことは可能でしょうか?(Komento shitsurei itashimasu. Kochira no shōhin wa ◯◯ en ni onesage shite itadaku koto wa kanō deshō ka?) ซึ่งแปลว่า “ขอโทษนะครับ/คะ สามารถลดลาคาเหลือ ◯◯ เยนได้ไหมครับ/คะ” ในขณะที่ Yahoo! Auction จะมีฟังก์ชั่นที่คุณสามารถเสนอราคาใหม่ได้ผ่านทางคำสั่ง 値下げ交渉する (Nesage koushou suru) ในหน้าสินค้า โดยไม่ต้องเจรจากับผู้ขายโดยตรงได้
อีกอย่างต้องระวัง คือ บางครั้งผู้ขายก็อาจกันสินค้าชิ้นนั้นไว้สำหรับลูกค้าบางคน ถึงแม้ว่าสินค้าชิ้นนั้นจะอยู่ในหมวดหมู่ “Buy Now” ก็ตาม ดังนั้น ขอให้ระวังคำว่า 取り置き (Torioki ถูกสำรองไว้แล้ว) และ 専用 (Senyō กันไว้สำหรับเฉพาะคน) ในหน้าสินค้าให้ดี คำเหล่านี้สามารถบอกคุณได้ว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ขาย ดังนั้นจึงควรอ่านคำอธิบายสินค้าให้จบก่อนซื้อ
การขายของผ่านตลาดซื้อ – ขายออนไลน์ในญี่ปุ่น
ถึงแม้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าช่องทางออนไลน์เหล่านี้สามารถใช้ขายอะไรก็ได้ แต่อย่าลืมตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าสินค้าที่จะขายนั้นผิดกฎของแต่ละแพลตฟอร์มหรือไม่ เช่น ทั้ง Mercari และ Yahoo! Auctions ห้ามขายบุหรี่ (รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า) และสินค้าประเภทอาวุธ
เวลาคุณตัดสินใจว่าจะขายบนแพลตฟอร์มไหน ค่าธรรมเนียมในการขายก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ต้องคำนึงถึง ทั้ง Mercari และ Yahoo! Auctions จะคิดค่าธรรมเนียม 10% หลังการขาย แต่สำหรับ Yahoo! Auctions จะลดเหลือเพียง 8.8% หากเป็นสมาชิกแบบพรีเมียม ในขณะที่ Amazon Marketplace จะค่อนข้างซับซ้อนกว่า เพราะถึงแม้จะไม่เสียเงินในการวางขายสินค้า แต่จะมีการคิดค่าบริการ 100 เยนต่อชิ้น รวมถึงค่านายหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้า และยังมีค่าธรรมเนียมพิเศษหรือ Closing Fee สำหรับสินค้าจำพวกสื่อต่างๆ อย่างหนังสือและ DVD ด้วย ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า Mercari อาจมีความยุ่งยากน้อยกว่าในกรณีที่มีการขายของน้อยชิ้น แต่สำหรับคนที่มุ่งเน้นการทำกำไรเป็นหลัก Yahoo! Auctions หรือ Amazon ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
นอกจากนี้ ยังมักจะมีค่าบริการในการถอนเงินที่ได้จากการขายด้วย สำหรับ Mercari จะมีค่าบริการอยู่ที่ 200 เยนในการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร ในขณะที่ Yahoo! Auctions จะคิดราคา 100 เยน ยกเว้นกรณีที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ดังนั้น หากคุณไม่อยากถือเงินสด ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ก็สามารถเปลี่ยนยอดขายเป็นเงินบน Merpay และ PayPay ตามลำดับได้เหมือนกัน
สุดท้ายนี้ หากคุณกำลังมองหาความสะดวกสบาย หรือความเป็นส่วนตัวในการจัดส่ง ทั้ง Mercari และ Yahoo! Auctions มีบริการที่จะช่วยให้คุณสามารถส่งสินค้าผ่าน Kuroneko Yamato และ Japan Post ได้ โดยในขั้นตอนเลือกวิธีการจัดส่ง ขอให้คุณมองหา Raku Raku Mercari Bin (らくらくメルカリ便) หรือ Yu Yu Mercari Bin (ゆうゆうメルカリ便) บน Mercari และ Yu-Pack / Yupacket (Otegaru Ban) (ゆうパック・ゆうパケット(おてがる版)) บน Yahoo! Auctions ข้อดีของบริการนี้ คือ สามารถจัดส่งได้ในหลายพื้นที่ รวมถึงสามารถส่งสินค้าโดยใช้ QR Code ได้ โดยจะไม่มีการเปิดเผยที่อยู่ของทั้งผู้รับและผู้ส่ง อย่างไรก็ตาม ขอให้รู้ไว้ด้วยว่าบริการนี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดและน้ำหนักของพัสดุด้วย
คำแนะนำทั่วไป
สำหรับคนที่ซื้อและขายของออนไลน์บ่อยๆ การใช้จ่ายแบบไร้เงินสด (Cashless) จะช่วยให้คุณประหยัดค่าโอนเงินไปยังธนาคารได้มาก และยังอาจได้รับเงินเพิ่มนิดหน่อยจากคูปองและแคมเปญต่างๆ บนแอพฯ อีกด้วย นอกจากนี้ อย่าลืมว่าถึงแม้ทั้ง Mercari และ Amazon จะให้บริการในต่างประเทศอีกหลายๆ ที่ แต่คุณก็ไม่สามารถโอนคะแนนสะสมหรือลิสต์สินค้าที่วางขายข้ามประเทศได้ ดังนั้น จึงต้องไม่ลืมที่จะสร้างบัญชีสำหรับแพลตฟอร์มนั้นๆ ในญี่ปุ่นด้วย
สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าลืมทำตามขั้นตอนการยืนยันเมื่อจัดส่งหรือรับสินค้าเรียบร้อยแล้ว เพราะหากคุณไม่ได้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ก็จะถือว่าไม่จบการทำธุรกรรม จากนั้นก็จำเป็นจะต้องให้รีวิว รวมถึงให้คะแนนการซื้อขายด้วย เนื่องจากข้อมูลในส่วนนี้จะมีผลต่อโปรไฟล์โดยรวมของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หากไม่มีคอมเมนต์อะไรเป็นพิเศษก็สามารถขอบคุณฝ่ายตรงข้ามด้วยคำว่า この度はありがとうございました (Kono tabi wa arigatō gozaimashita).
ร้านรีไซเคิลในญี่ปุ่น
หากคุณชอบทำธุรกรรมแบบออฟไลน์มากกว่า ร้านรีไซเคิลก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ! ร้านรีไซเคิลที่โด่งดังของญี่ปุ่น คือ Hard Off ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ และยังมีอีกหลายหมวดหมู่ให้เลือก เช่น Book Off (หนังสือ, CD, DVD), Mode Off (เสื้อผ้า, เครื่องประดับ), Off House (เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า) และ Hobby Off (ของเล่น, ฟิกเกอร์, ของสะสม) ดังนั้น หากคุณเห็นร้านที่มีคำว่า Off อยู่ในชื่อ ก็เป็นไปได้สูงว่าร้านนั้นจะเป็นร้านรีไซเคิล!
ถึงแม้ว่าร้านมือสองอื่นๆ จะไม่ได้ใหญ่เหมือน Hard Off แต่ก็ยังมีร้านมือสองอีกมากมายหลายสาขา ซึ่งอาจมีทั้งร้านที่ขายสิ่งของจากหลายหมวดหมู่ และร้านที่ขายแค่บางหมวดหมู่เท่านั้น ตัวอย่างเช่น 2nd STREET ร้านแฟรนไชส์ชื่อดังที่สาขาส่วนใหญ่จะขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับ หากคุณไม่แน่ใจว่าบริเวณที่อาศัยอยู่มีร้านอะไรบ้าง ก็สามารถค้นหาคำว่า リサイクルショップ (Risaikuru Shoppu) บนอินเทอร์เน็ตดูได้
หาร้านได้แล้วยังไงต่อ? การซื้อของที่ร้านรีไซเคิลก็เหมือนกับการซื้อของจากร้านทั่วๆ ไป สำหรับใครที่ต้องการขายของควรติดต่อสอบถามพนักงานที่เคาน์เตอร์ 買取 (Kaitori) ส่วนมากจะต้องมีการลงทะเบียน ดังนั้น อย่าลืมพกเอกสารยืนยันตัวตน เช่น พาสปอร์ต ใบขับขี่ บัตรผู้พำนัก ไปด้วย
จากนั้นพนักงานก็จะทำการตรวจสอบและประเมินสินค้าซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควร (ขึ้นอยู่กับคิวในแต่ละวัน) เสร็จแล้วก็จึงค่อยตีราคาซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย เพราะในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติที่ร้านรีไซเคิลจะให้ราคาของต่ำมากๆ หรือบางทีก็อาจไม่ให้เลย โดยเฉพาะสิ่งที่จัดเป็นของทั่วไปอย่างหนังสือและเสื้อผ้า ดังนั้นจึงไม่ควรคิดว่าร้านรีไซเคิลจะเป็นแหล่งหาเงิน แต่เป็นเพียงช่องทางในการกำจัดของใช้อย่างรวดเร็วเท่านั้น
อีกหนึ่งบริการของร้านรีไซเคิลบางแห่ง คือ 出張買取 (Shucchō Kaitori) และ 宅配買取 (Takuhai Kaitori) ซึ่งสำหรับแบบแรกนั้นจะมีพนักงานมาที่บ้านของคุณเพื่อตีราคาของ ในขณะที่แบบหลังจะให้คุณส่งพัสดุไปยังสถานที่ของร้าน โดยบริการทั้ง 2 รูปแบบนี้จะต้องมีการลงทะเบียนออนไลน์ และนัดหมายวันเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรก็น่าจะสะดวกกว่าสำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปร้านรีไซเคิลด้วยตัวเอง
ตลาดนัดในญี่ปุ่น
หากคุณมีเวลาว่าง ทำไมไม่ลองไปตลาดนัดแบบดั้งเดิมดูล่ะ? เนื่องจากตลาดนัดอาจไม่ได้จัดอยู่เป็นประจำ แต่มีแค่บางฤดูกาล หรือไม่ก็จัดร่วมกับงานอีเวนต์ต่างๆ เท่านั้น เราขอแนะนำให้ลองค้นหาคำว่า フリーマーケット (Furī Māketto) หรือดูในปฏิทินของ フリマガイド สำหรับตลาดนัดในบริเวณใกล้เคียงของคุณ และเช่นเดียวกับร้านรีไซเคิล ราคาสิ่งของที่คุณนำไปขายอาจจะถูกลดทอนลงบ้าง เนื่องจากการตั้งแผงในตลาดนัดก็ต้องใช้เวลาและเงินถึงจะได้กำไรเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ซื้อควรรู้ไว้ คือ คุณอาจจะไม่สามารถต่อราคาได้ เนื่องจากวัฒนธรรมนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น
ชุมชนออนไลน์ในญี่ปุ่น
หากต้องการทำธุรกรรมเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า กลุ่มใน Facebook อย่าง Sayonara Sales ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ กลุ่มเหล่านี้มักจะแบ่งไปตามเขตต่างๆ และมักจะเต็มไปด้วยโพสต์จากคนที่ย้ายมาทำงานในญี่ปุ่นและกำลังจะย้ายบ้านหรือกลับประเทศของตัวเอง (ดังนั้นจึงใช้ชื่อว่า Sayonara Sales นั่นเอง) แต่ที่จริงแล้วชื่อของแต่ละกลุ่มก็อาจจะไม่ได้เหมือนกันหมด หากคุณเจอกลุ่มที่สนใจในบริเวณที่อยู่แล้ว ก็เพียงแค่ล็อกอินหรือสมัครสมาชิก Facebook เพื่อเข้าร่วมกลุ่ม และเมื่อคุณเป็นสมาชิกแล้ว ก็จะสามารถซื้อ – ขายของได้ด้วยการสร้างโพสต์ คอมเมนต์ และส่งข้อความส่วนตัวหาคนอื่นได้
นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ที่เป็นบอร์ดสำหรับประกาศต่างๆ อย่าง GaijinPot Japan Classifieds และ Craigslist ซึ่งดึงดูดผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี สามารถใช้งานง่าย และหากคุณต้องการความหลากหลายมากขึ้น ก็ขอแนะนำให้ลองเข้าไปที่ Jimoty เพื่อดูประกาศซื้อ – ขายเป็นภาษาญี่ปุ่น
ในกรณีของ GaijinPot และ Jimothy จะต้องมีการสมัครสมาชิกทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ Craigslist สามารถใช้งานได้ด้วยอีเมลเท่านั้น
การซื้อ – ขายผ่านช่องทางข้างต้นเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการกำจัดของที่ไม่ต้องการแล้ว หรือซื้อของราคาพิเศษในพื้นที่ที่คุณอาศัยอยู่ เนื่องจากหลายคนต้องการให้มารับของด้วยตนเองและจ่ายเงินสดเท่านั้น ช่องทางนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมสำหรับของที่มีขนาดใหญ่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่ผู้ขายบางคนก็อาจยินดีที่จะส่งของไปยังบริเวณอื่นเช่นกัน ดังนั้นหากผู้ขายไม่ได้กำหนดวิธีการรับของไว้ก็สามารถลองถามดูได้
เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่ง คือ รอให้ถึงช่วงย้ายบ้านของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปิดภาคเรียนและขึ้นปีงบประมาณใหม่ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มักจะหาทางทิ้งของไม่จำเป็นกันให้ได้เร็วที่สุด คุณจึงมีโอกาสที่จะได้ของดีราคาถูกมากขึ้นด้วย
ต่อไป เราจะมาแนะนำวิธีการบริจาคของในญี่ปุ่นกัน แต่รู้ไว้เลยว่ากลุ่มเหล่านี้ก็มีของหลายๆ อย่างที่แจกฟรีเช่นกัน และบางกลุ่มก็สร้างขึ้นสำหรับการแลกเปลี่ยนและบริจาคสิ่งของโดยเฉพาะด้วย คุณสามารถลองค้นหาคำว่า “mottainai” หรือเสียดายในภาษาญี่ปุ่นดู มีทั้งกลุ่มอย่าง original Mottainai Japan group ที่เปิดรับคนจากทั่วประเทศแล้ว และกลุ่มยิบย่อยอีกมากมายที่ตั้งขึ้นเพื่อเขตของตนโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของสังคมออนไลน์เหล่านี้ คือ ไม่มีระบบการจ่ายเงิน และไม่มีซัพพอร์ตในกรณีที่สินค้ามีปัญหา หากสินค้าไม่มาส่ง หรือผู้ซื้อไม่ยอมมาก็สามารถแจ้งไปยังผู้ดูแลกลุ่มหรือเว็บไซต์ได้ แต่คุณอาจจะต้องยอมเสียธุรกรรมนั้นๆ ไป เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนทั่วไปที่ต้องการซื้อ – ขาย จึงควรระวังเวลาเจอของที่ดูดีเกินจริง เหมือนเวลาที่ซื้อของมือสองทั่วไปด้วย
สถานที่บริจาคของมือสอง
หากคุณไม่มีเวลาหาผู้ซื้อ เราขอแนะนำให้เอาไปบริจาคดู! ในจุดนี้ คุณอาจต้องดูเรื่องประเภทของที่ต้องการบริจาคด้วย แต่ในบางครั้ง นี่ก็เป็นวิธีที่รวดเร็วและง่ายดายกว่าการรอคนมาซื้อ แถมยังรู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำความดีด้วย
โครงการรีไซเคิลในญี่ปุ่น
หากคุณมีเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว แบรนด์ดังอย่าง Uniqlo, H&M, Zara ก็มีบริการรับเสื้อผ้าเหล่านี้เพื่อนำไปรียูสและรีไซเคิลด้วย วิธีก็ง่ายๆ เพียงนำไปให้ที่เคาน์เตอร์หรือใส่ไว้ในกล่องรีไซเคิลที่ตั้งอยู่ภายในร้าน แต่อย่าลืมดูข้อกำหนดต่างๆ ที่บริษัทตั้งไว้ก่อนด้วยล่ะ! อย่างทาง Uniqlo จะรับเพียงสินค้าจากแบรนด์ Uniqlo เท่านั้น ในขณะที่ H&M จะเปิดรับเสื้อผ้าทุกสภาพจากทุกแบรนด์ แล้วยังจะมอบคูปอง 500 เยนให้สำหรับเสื้อผ้า 1 ถุงด้วย
อีกวิธีที่ควรค่าแก่การลอง คือ โครงการรับบริจาคของทางท้องถิ่น หรือ 寄付 (Kifu) เช่น Mottainai Flea Market ในโตเกียวจะรับบริจาคของมือสองเพื่อนำไปขาย และนำเงินที่ได้ไปมอบให้กับ The Green Belt Movement ซึ่งเป็นโครงการในประเทศเคนยา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือชุมชน นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดหรือศูนย์ชุมชนใกล้บ้านคุณที่รับบริจาคหนังสือ ของเล่น และสิ่งของอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ลดขยะและของไม่จำเป็นด้วยของมือสอง!
การใช้ตลาดซื้อ – ขายของมือสองในญี่ปุ่นให้เกิดประโยชน์นั้นมีข้อดีอยู่มากมาย ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อต้องการกำจัดของที่ไม่ต้องการแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเคลียร์พื้นที่ภายในบ้าน และหาซื้อของต่างๆ ในราคาที่จับต้องได้อีกด้วย ข้อดีเยอะขนาดนี้ ไม่ลองไม่ได้แล้วล่ะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่