*บทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมองของหญิงสาวชาวไต้หวันที่แต่งงานกับชายชาวญี่ปุ่นและย้ายไปอาศัยในประเทศญี่ปุ่นหลังแต่งงาน
1. ภรรยามีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้าน
“ในญี่ปุ่น ภรรยามีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้านเกือบทั้งหมด และฉันก็ใช้เวลากับมันมากขึ้นเรื่อยๆ”
“ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นก็ทำอะไรๆ ได้มากขึ้น ! ทั้งซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารเย็น เอาขยะไปทิ้ง ฉันทำได้หมด”
“สามีก็มาช่วยงานบ้านบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าเขาทำไม่ถูกฉันก็ต้องมาทำใหม่อยู่ดี ส่วนใหญ่เลยยังเป็นฉันที่ทำค่ะ”
“เมื่อก่อนฉันไม่ค่อยช่วยเรื่องงานบ้านมากนัก เหมือนว่าตอนนี้ต้องมาทำชดเชยในญี่ปุ่นแทน”
แม้แต่คนที่มักจะหยิบจับงานบ้านแค่นิดๆ หน่อยๆ ก็เริ่มมาติดนิสัยนี้หลังจากที่ได้แต่งงานกับผู้ชายชาวญี่ปุ่น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะภรรยาในญี่ปุ่นมักจะถูกคาดหวังให้อยู่บ้านเพื่อดูแลความเรียบร้อยนั่นเอง การทำความสะอาดบ้านสัปดาห์ละ 3 ครั้งถือเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีบางคนที่ถึงกับทำความสะอาดบ้านทุกวันด้วย! นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีความคาดหวังว่าคนที่เป็นภรรยาจะต้องมายืนส่งสามีที่หน้าประตูบ้านก่อนออกไปทำงานด้วย
เนื่องจากบทบาททางเพศที่มากับค่านิยมเหล่านี้ยังคงแพร่หลายในญี่ปุ่น ผู้ชายส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยช่วยเรื่องงานบ้านกันมากนัก แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็จะไม่ปฏิเสธคำขอร้องอย่างสุภาพของภรรยา และบางคนก็อาจออกปากช่วยโดยไม่ต้องร้องขอ นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยเมื่อเทียบกับสามีจากประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่นในไต้หวัน สามีมักจะรับหน้าที่บางอย่างเช่นเอาขยะไปทิ้ง และพวกเขาก็จะไม่เอะอะโวยวายหากภรรยาทำงานบ้านได้ไม่เรียบร้อย อันที่จริง คู่รักชาวไต้หวันจำนวนมากมักจะแบ่งงานบ้านกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบในคู่รักชาวญี่ปุ่น
2. ภรรยาจะถูกคาดหวังให้ทำอาหารเก่งและควรทำอาหารเองเสมอ
เมื่อเทียบกับไต้หวัน สามีชาวญี่ปุ่นจะมีความคาดหวังสูงว่าภรรยาจะทำอาหารเป็น และคาดหวังอาหารเย็นแบบโฮมเมดทุกวัน ดังนั้น หากภรรยาทำอาหารไม่เก่ง สามีก็จะบอกให้เธอพยายามมากขึ้นแทนที่จะเลือกออกไปกินข้าวนอกบ้าน นี่ถือเป็นเรื่องที่แตกต่างจากชาวไต้หวันอย่างสิ้นเชิง เพราะการกินข้าวนอกบ้านในไต้หวันจะไม่ค่อยแพงมากนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สามีจะกินข้าวเองคนเดียวหรือกินข้าวนอกบ้านกับภรรยาหลังเลิกงาน และถึงแม้ว่าภรรยาจะไม่ทำอาหารเลยก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้ก็เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่จะสามารถทำอาหารได้และถูกคาดหวังให้รู้วิธีทำอาหารอยู่แล้ว รวมถึงความที่ญี่ปุ่นมีค่าครองชีพสูง บรรดาสามีจึงชอบกลับมาทานข้าวที่บ้านกันมากกว่า (ในกรณีที่ไม่ต้องไปงานเลี้ยงสังสรรค์)
ความคาดหวังนี้ไม่ใช่แค่สำหรับคนที่เป็นแม่บ้านหรือแค่ทำงานพาร์ทไทม์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่ทำงานประจำด้วย! บางครั้งสามีก็อาจจะช่วยบ้างหากภรรยาต้องทำงานจนดึก โดยจะต้องพูดคุยหรือตกลงกันล่วงหน้า
มองในแง่ดี สามีชาวญี่ปุ่นมักจะทานอาหารจนหมดเพื่อแสดงความขอบคุณต่อภรรยาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของอาหาร (ต่างจากไต้หวันซึ่งมักจะมีอาหารเหลือ) พวกเขาจะไม่ค่อยพูดอะไรอย่าง “ไม่หิว” “ยังไม่อยากกิน” หรือ “ไม่ชอบแบบนั้น” และจะไม่เหลืออาหารไว้เต็มโต๊ะเว้นเสียแต่จะป่วย และในกรณีที่ต้องทำงานหรือพบปะทางธุรกิจซึ่งทำให้ไม่สามารถกลับมากินข้าวที่บ้านได้ก็จะโทรมาบอกภรรยาล่วงหน้าเพราะญี่ปุ่นยังคงมีธรรมเนียมที่ต้องรอให้ทุกคนอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันที่โต๊ะอาหารก่อนเริ่มรับประทาน ทว่าในปัจจุบันก็ไม่ค่อยเคร่งเรื่องนี้กันเท่าเมื่อก่อนแล้ว
3. ภรรยาชาวญี่ปุ่นมักจะเป็นแม่บ้านเต็มตัวหรือพนักงานพาร์ทไทม์มากกว่า
แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป และมีผู้หญิงที่ยังคงทำงานประจำหลังแต่งงานกันมากขึ้น แต่คนที่ผันตัวมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวหรือทำเพียงงานพาร์ทไทม์หลังแต่งงานก็ยังคงมีจำนวนมากกว่า เพราะในครอบครัวญี่ปุ่นนั้น ภรรยาไม่จำเป็นต้องทำงานประจำ เว้นแต่จะอยากทำเองหรือต้องการเงิน แต่ในไต้หวัน ครอบครัวที่มีรายได้ 2 ทางนั้นถือเป็นเรื่องปกติ โดยทั้งสามีและภรรยาจะทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น
4. สามีชาวญี่ปุ่นมักมีบุคลิกเข้มงวด
ผู้ชายไต้หวันมักมีนิสัยอ่อนโยน ตรงข้ามกับคนญี่ปุ่นที่มีทัศนคติแน่วแน่ ไม่กลัวและมีมาตรฐานสูงสำหรับภรรยาของพวกเขา พวกเขาจะไม่ทนต่อคู่สมรสที่มี “โรคเจ้าหญิง” (Princess Syndrome อาการทางจิตที่ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิง มักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอ) พวกเธอไม่สามารถดื้อรั้นหรือเอาแต่ใจมากเกินไปได้และจะต้องมีมารยาทที่ดี วิธีที่ภรรยาพูดถึงสามีก็สำคัญเช่นกัน และตัวเลือกยอดนิยมก็คือ “あなた” (ที่รัก) และ “OOさん” (คุณ XXX) ในระหว่างการโต้เถียง สามีจะคาดหวังให้ภรรยาควบคุมสติอารมณ์ได้ดีและพูดมันออกมา
ตรงข้ามกับสามีชาวไต้หวันที่จะค่อนข้างเกรงใจและยินดีเป็นฝ่ายถอยเมื่อมีปากเสียงกัน รวมทั้งมักจะอดทนต่ออารมณ์ของภรรยา พวกเขาเคารพการตัดสินใจของภรรยาแทบทุกเรื่อง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นที่คบกับผู้ชายไต้หวันมักจะพูดว่า “ผู้ชายไต้หวันน่ารักและเอาใจใส่จริงๆ!”
5. สามีชาวญี่ปุ่นจะแยกตัวจากครอบครัวมากกว่า
คนญี่ปุ่นมักไม่ค่อยไปเยี่ยมพ่อแม่กันในช่วงสุดสัปดาห์และจะเก็บโอกาสนี้ไว้สำหรับช่วงปีใหม่เท่านั้น บางคนถึงกับกลับบ้านไปเพียงครั้งเดียวในรอบ 2 – 3 ปีเลยด้วยซ้ำ! ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะหลังเรียนจบ ชาวญี่ปุ่นหลายๆ คนจะย้ายจากบ้านเกิดไปอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวเพื่อหางานทำ ทั้งอยู่ไกลและใช้ค่าเดินทางเยอะ จึงไม่นิยมกลับบ้านกันบ่อยๆ
นี่จึงหมายความว่าตัวภรรยานั้นแทบจะไม่มีโอกาสได้ติดต่อกับครอบครัวของสามีเลย เว้นเสียแต่ว่าทั้งคู่จะอาศัยอยู่กับครอบครัวของสามี อีกทั้งสามีส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะไปเจอหน้าหรือโทรหาครอบครัวกันสักเท่าไรด้วย ส่วนทางพ่อแม่ก็มักจะให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากลูกๆ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ถึงแม้จะทำให้ปัญหาระหว่างพ่อแม่สามีกับลูกสะใภ้ลดลงแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวของคนญี่ปุ่นนั้นก็ยังถือว่ามีความใกล้ชิดกันน้อยกว่าในไต้หวัน
6. ภรรยาชาวญี่ปุ่นควรช่วยงานบ้านเมื่อไปเยี่ยมครอบครัวของสามี
เนื่องจากสามีชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดตลอดทั้งปี งานวันปีใหม่จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะกลัวการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวของสามีแค่ไหนก็จำเป็นจะต้องเดินทางไปด้วย การเป็นภรรยาในครอบครัวของคนญี่ปุ่นนั้นจะไม่สามารถทำตัวเป็นแขกระหว่างไปเยี่ยมครอบครัวของสามีได้ และเป็นกฎที่รู้กันว่าเหล่าภรรยาจะต้องช่วยเตรียมอาหารสำหรับเทศกาลและทำงานบ้าน
การที่ฉันจะผ่อนคลายในบ้านครอบครัวสามีเป็นเรื่องยากมาก สามีของฉันสนุกไปกับเทศกาลปีใหม่พร้อมพ่อแม่ของเขา ในขณะที่ฉันต้องทำงานบ้าน
ในไต้หวัน ภรรยาก็มักจะลงมือทำอาหารที่บ้านของพ่อแม่สามีเช่นกัน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนจะสนุกกับการพักผ่อนในยามว่างหรือกินข้าวนอกบ้านด้วยกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับคนญี่ปุ่น ภรรยาที่เอ้อระเหยอยู่ในห้องนั่งเล่นภายในบ้านสามีของเธอจะถูกมองไม่ดีอย่างแน่นอน
7. ภรรยาจะถูกคาดหวังให้คอยสนับสนุนสามีอย่างสุดความสามารถและต้องมีภาพลักษณ์ที่น่ามอง
สามีชาวญี่ปุ่นมักจะยุ่งอยู่กับการทำงานและหวังพึ่งภรรยาในการจัดการเรื่องจิปาถะต่างๆ ในชีวิต ตัวอย่างเช่น ภรรยาจะต้องเตรียมของสำหรับงานเทศกาลตามประเพณี จัดการเรื่องแลกของขวัญและคอยต้อนรับเพื่อนๆ ของสามี นอกจากนี้ การ “อ่านบรรยากาศ” ให้ออกก็เป็นทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย ภรรยาควรเอาใจใส่เพื่อนฝูงและเพื่อนบ้าน มีกิริยามารยาทที่สุภาพและเรียบร้อยน่ามองอยู่เสมอ นี่เป็นเรื่องจริงมากๆ โดยเฉพาะในหมู่คู่รักที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น เพราะคนที่นี่จะห่วงมากว่าคนอื่นมองพวกเขาอย่างไร
ในขณะที่ญี่ปุ่นมีมารยาททางสังคมที่เข้มงวด แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ไต้หวันจะมีความสบายๆ มากกว่า ภรรยาสามารถให้ความสำคัญกับตัวเองก่อนได้และทั้งคู่ก็จะยอมรับทัศนคติที่เป็นกันเองได้มากกว่า เช่น สามารถคุยกับเพื่อนๆ พร้อมกับปัดมือถือเล่นระหว่างที่เข้าสังคมได้ ทว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่น เวลาสามีคุยกับเพื่อน ภรรยาต้องตั้งใจฟังและแสดงความสนใจออกมา อย่างน้อยแค่ผิวเผินก็ยังดี ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะเอาแต่ถามว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดีไหม?” ซึ่งสามารถแปลได้ว่า “คุณฟังอยู่หรือเปล่า?” “ร่วมวงสนทนากับเราสิ” “คุณไม่สบายเหรอ?” “คุณว่าเรื่องนี้มันน่าเบื่อหรือเปล่า?” เป็นต้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าเธอจะไม่สนใจในหัวข้อสนทนา แต่ก็ต้องอยู่ร่วมวงจนถึงที่สุดอยู่ดี
8. สามีญี่ปุ่นมักจะใช้เวลาในวันหยุดกับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่
คุณพ่อชาวญี่ปุ่นมักจะใช้เวลาช่วงวันหยุดกับภรรยาและลูก เช่น ไปปิกนิกและเล่นที่สวนสาธารณะ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมในช่วงฤดูซากุระบานจึงมีภาพของครอบครัวจำนวนมากที่มาปิกนิกกันอย่างสบายๆ ใต้ต้นซากุระให้เห็นกันเป็นเรื่องปกติ สำหรับคู่รักที่ไม่มีลูก พวกเขาก็มักจะหาเวลาไปเที่ยวด้วยกันหรืออยู่บ้านเพื่อพักผ่อนและจัดการกับงานต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเวลาของครอบครัวนั่นเอง
ส่วนสามีชาวไต้หวันนั้นจะไม่ค่อยเก็บเวลาว่างไว้ให้กับครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เวลาช่วงวันหยุดไปกับเพื่อนๆ และพ่อแม่บ้างเป็นครั้งคราว
9. วิธีเลี้ยงลูกแตกต่างกันมาก
สำหรับครอบครัวที่มีลูก สามีชาวญี่ปุ่นจะยกความรับผิดชอบให้เป็นเรื่องของภรรยา นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องปกติสำหรับคู่รักที่จะแยกห้องนอนกันหลังลูกเกิดเพื่อไม่ให้รบกวนสามีหากมีความวุ่นวายในตอนกลางคืน เห็นได้ชัดว่ามีภรรยาชาวญี่ปุ่นจำนวนมากถึงกับยื่นข้อเสนอนี้ด้วยตัวเอง และแน่นอนว่าในบางครอบครัวก็ยังเลือกที่จะนอนร่วมเตียงเดียวกันอยู่
สไตล์การเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างมีเอกลักษณ์ ชาวญี่ปุ่นได้รับการสอนให้มีน้ำใจ สงบ เชื่อฟังและมีความรับผิดชอบตั้งแต่อายุยังน้อย พ่อแม่จะไม่ตามใจลูก พวกเขาจะปล่อยให้เด็กอายุ 3 – 4 ขวบเดินเท้าหรือปล่อยให้เด็กอนุบาลและประถมไปโรงเรียนเอง การที่พ่อแม่ดุด่าเมื่อลูกทำอะไรผิดถือเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ พวกเขามักจะพูดคุยกับลูกๆ อย่างอ่อนโยน บอกลูกว่าพวกเขาทำอะไรผิดและจะต้องแก้ไขอย่างไร โดยพูดซ้ำๆ ด้วยความอดทนหากจำเป็น นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กญี่ปุ่นถึงขึ้นชื่อว่ามีมารยาทดี คุณจะไม่ค่อยเห็นเด็กกรี๊ดและร้องไห้ในรถไฟ ร้านอาหารหรือสนามเด็กเล่น และจะไม่ขอให้พ่อแม่อุ้มหรือเข็นรถเข็นไปมา แม้แต่เด็กวัยหัดเดินในญี่ปุ่นก็รู้วิธีการทำตัวดีๆ แล้ว!
สถานการณ์เหล่านี้ค่อนข้างแตกต่างจากในไต้หวัน สามีชาวไต้หวันจะช่วยเลี้ยงลูกมากกว่า และคู่รักจะยังคงนอนด้วยกันหลังคลอดลูกด้วย แต่ข้อเสียคือพวกเขามีแนวโน้มที่จะตามใจลูกสูงกว่า ทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่เกินไปได้ง่ายๆ
10. สิ่งที่ญี่ปุ่นมองว่ามีคุณค่า อาจไม่ได้ดูมีค่าในสายตาของคนประเทศอื่น
แม้ว่าวัฒนธรรมไต้หวันและญี่ปุ่นจะมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ แต่ความแตกต่างของการศึกษาในโรงเรียนและครอบครัวได้นำไปสู่ค่านิยมที่แตกต่างกัน สิ่งที่ถือเป็น “สามัญสำนึก” ในประเทศของคุณอาจไม่สามารถใช้ในญี่ปุ่นได้ และคุณสมบัติที่พึงปรารถนาของภรรยาที่บ้านก็อาจทำให้สามีชาวญี่ปุ่นหงุดหงิด
ตัวอย่างเช่น ปกติคนไต้หวันจะคิดว่าการให้อภัยนั้นเป็นเรื่องของคุณงามความดีและชิงชังทัศนคติประเภทที่เรียกร้องสิ่งต่างๆ จนเกินควร ทว่าสามีชาวญี่ปุ่นอาจไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น นิสัยรักความสมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติของพวกเขาจะผลักดันให้พวกเขาไล่ตามเป้าหมายที่สูงขึ้น อะไรผิดก็ต้องทำให้ถูก และใครทำผิดก็ต้องขอโทษ โชคไม่ดีที่มันส่งผลให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ แล้วใครล่ะจะเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก? คุณควรตัดสินด้วยมาตรฐานของคนญี่ปุ่นหรือไต้หวัน? หากสามีชาวญี่ปุ่นต้องการให้ภรรยาของเขาทำตัวให้เหมือนกับคนญี่ปุ่น เธอคงถูกกดดันอย่างหนักเพื่อให้เป็นไปตามที่สามีต้องการอย่างไม่ต้องสงสัย ภรรยาผู้ยิ่งใหญ่ที่รับความชื่นชมจากทุกคนในไต้หวันอาจทำได้ไม่ดีพออย่างที่หวังไว้ในสายตาของสามีเธอก็ได้
ส่งท้าย
การแต่งงานของคนสองชาตินั้นจะต้องพบเจอกับความท้าทายมากมายอยู่บ่อยครั้ง และหากคุณต้องอาศัยอยู่ไกลจากเพื่อนและครอบครัว แล้วต้องต่อสู้เพียงลำพังก็อาจเป็นประสบการณ์อับโชคของคุณก็ได้ คุณอาจรู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ แต่การสื่อสารอย่างจริงใจและการตกลงปลงใจที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ จะทำให้เกิดความสุขตามมาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น อย่าจริงจังกับสิ่งที่อ่านในบทความนี้เกินไปจนกลายเป็นการทำลายความสุขในชีวิตคู่รักชาวญี่ปุ่นของคุณ ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานระหว่างคนสองชาติหรือไม่ ก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความพยายามเพื่อให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีเช่นกัน
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่