เมื่อตั้งครรภ์รวมถึงตอนคลอด มีขั้นตอนและเอกสารมากมายที่ต้องทำ ซึ่งอาจจะดูยากมากสำหรับใครที่ไม่เก่งภาษาญี่ปุ่น แต่หากไม่มีการยื่นคำร้องเหล่านี้ก็อาจไม่ได้รับเงินช่วยเหลือหรือสถานภาพการพำนักจากรัฐบาลญี่ปุ่น วันนี้เราจึงมาแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดแบบคร่าวๆ หลังจากนั้นหากมีข้อสงสัยอย่างไร สามารถตรวจสอบจากเว็บไซต์หรือช่องทางติดต่อสอบถามขององค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นได้เลย!
สิ่งที่ต้องทำตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์จนถึงตอนคลอด
◆ รับสมุดสุขภาพแม่และเด็ก
คุณสามารถหาซื้อที่ตรวจครรภ์ได้ตามร้านขายยาในญี่ปุ่น หากพบว่าตั้งครรภ์ควรไปรับการตรวจโดยสูตินรีแพทย์ เมื่ออายุครรภ์ได้ 5 – 8 สัปดาห์จะสามารถวัดการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ได้ หลังจากนั้นให้ไปรับสมุดสุขภาพแม่และเด็ก (親子健康手帳) รวมถึงคูปองลดหย่อนค่าตรวจ (妊婦健診の補助券) จากสำนักงานเขตตามสำเนาทะเบียนบ้าน คูปองนี้สามารถใช้ลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพแม่และเด็กได้ ดังนั้นจึงควรรีบไปรับตั้งแต่เนิ่นๆ
โดยส่วนใหญ่แล้ว เอกสารที่ต้องใช้ในการรับสมุดสุขภาพแม่และเด็กจะประกอบไปด้วย
1. บัตรประจำตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่รับการตรวจการตั้งครรภ์
2. เอกสารที่แสดงเลขประจำตัว (มายนัมเบอร์)
3. เอกสารยืนยันตัวตน
ในบางเขตอาจต้องใช้ใบรับรองการตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นควรตรวจสอบเอกสารที่ต้องใช้จากหน้าเว็บไซต์ของเขตที่อาศัยอยู่ก่อนล่วงหน้า
◆ ติดต่อสถานที่ทำงาน ปรึกษาเรื่องลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร
หลังตั้งครรภ์หลายคนอาจประสบปัญหาไม่รู้ว่าจะบอกที่ทำงานอย่างไรและเมื่อไรดี โดยปกติแล้วที่ญี่ปุ่นมักจะแจ้งสถานที่ทำงานตอนตั้งครรภ์ได้ 3 – 4 เดือน เพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการลาคลอดและการลาเลี้ยงดูบุตร แต่หากมีอาการแพ้ท้องควรรีบแจ้งให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
การลาก่อนคลอด : สามารถใช้สิทธิ์ได้หากแจ้งสถานที่ทำงานตั้งแต่ 6 สัปดาห์ก่อนกำหนดคลอด (หรือ 14 สัปดาห์ในกรณีฝาแฝด) ขั้นตอนในการยื่นคำร้องขึ้นอยู่กับบริษัท
การลาหลังคลอด : หลังจากคลอดเป็นเวลา 8 สัปดาห์จะยังไม่สามารถทำงานได้ แต่หลังจาก 6 สัปดาห์หากได้รับความยินยอมจากแพทย์จะสามารถเริ่มทำงานได้เลย
การลาเลี้ยงดูบุตร : ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีบุตรอายุไม่ถึง 1 ปี สามารถยื่นคำร้องในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้จนบุตรอายุครบ 1 ปี
◆ ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
หลังจากคลอดบุตรแล้ว จำเป็นต้องยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งมีได้ 2 ทาง เงินช่วยเหลือถือได้ว่าค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงควรเช็ครายละเอียดกับสถานที่ทำงานหรือประกันสุขภาพให้ดีก่อนยื่นคำร้อง
เงินสงเคราะห์การคลอดบุตร (出産手当金)
เป้าหมาย : เพื่อชดเชยให้กับผู้หญิงที่สูญเสียรายได้จากการลาคลอด
ผู้มีสิทธิ์รับการช่วยเหลือ : ผู้คลอดที่มีประกันจากที่ทำงาน
จำนวนเงินช่วยเหลือต่อวัน : ค่าเฉลี่ยของรายได้มาตรฐานในแต่ละเดือน (*) ÷ 30 วัน × (2/3)
การยื่นคำร้อง : กรอกใบสมัครที่ได้รับจากสถานที่ทำงานแล้วส่งคืน
(*) รายได้มาตรฐานในแต่ละเดือน คือ รายได้ที่นำมาใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันสุขภาพรายเดือน
เงินช่วยเหลือการคลอดและเลี้ยงดูบุตรแบบจ่ายเป็นก้อน (出産一時金)
เป้าหมาย : เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร
ผู้มีสิทธิ์รับการช่วยเหลือ : ผู้เป็นสมาชิกประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้ที่เป็นสมาชิกประกันสังคมจากที่ทำงาน
จำนวนเงินช่วยเหลือ : 420,000 เยน ต่อทารก 1 คน (404,000 เยน ในกรณีที่คลอดที่สถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบประกันสังคมสำหรับการคลอดบุตร หรือกรณีที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 22 สัปดาห์)
สถานที่ยื่นคำร้อง : บริษัทประกันที่เจ้าตัวเข้าร่วม
นอกจากนี้ ในกรณีที่ได้เข้าร่วมประกันสุขภาพของที่ทำงานมากกว่า 1 ปี ในช่วง 6 เดือนนับตั้งแต่ลาออกจากงานจะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ประกันสุขภาพของสามีหรือประกันสุขภาพของตัวเอง แต่จำนวนเงินที่จะได้รับจะแตกต่างกันตามชนิดของประกัน จึงควรเปรียบเทียบจำนวนเงินก่อนตัดสินใจ
สิ่งที่ต้องทำหลังคลอด
◆ ยื่นใบสูติบัตร (ภายใน 14 วันหลังการคลอดที่ญี่ปุ่น)
บิดาหรือมารดาจะต้องยื่นภายใน 14 วัน นับรวมตั้งแต่วันที่คลอด โดยต้องทำการยื่นที่สำนักงานเขตที่เกิด หรือเขตที่บิดาหรือมารดาอาศัยอยู่
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่น ได้แก่ ใบสูติบัตรและใบรับรองการเกิด (หากคลอดที่สถานพยาบาลจะได้รับสูติบัตรคู่กับใบรับรองการเกิด) และสมุดสุขภาพแม่และเด็ก
นอกจากนี้ กรณีบิดาหรือมารดาเป็นชาวต่างชาติยังต้องใช้พาสปอร์ต ไซริวการ์ด (在留カード บัตรผู้พำนัก) หรือใบรับรองผู้พำนักถาวรกรณีพิเศษ (特別永住者証明書) อีกด้วย เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นอาจแตกต่างกันไปตามเขตที่อาศัย จึงควรตรวจสอบทางเว็บไซต์ของเขตก่อนทุกครั้ง ข้อควรระวังคือชื่อบุตรในใบแจ้งเกิดสามารถใช้ได้เพียงแค่คาตาคานะและคันจิ (เฉพาะสำหรับประเทศที่ใช้คันจิเป็นชื่อตามกฎหมายเท่านั้น)
หากบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่น บุตรจะได้รับสัญชาติญี่ปุ่นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องดำเนินการขอสถานภาพการพำนักใดๆ
นอกจากนี้ยังมีเอกสารชื่อคล้ายกันคือใบแจ้งการเกิด (出生連絡票) ซึ่งจำเป็นต้องส่งให้กับศูนย์อนามัยขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และจะมีประโยชน์ต่อรัฐบาลในการตรวจสอบผู้มีสิทธิ์ในการรับคำปรึกษาแบบเยี่ยมบ้าน ดังนั้นจึงควรส่งใบนี้ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับสูติบัตรนั่นเอง
◆ ยื่นคำร้องเงินสงเคราะห์บุตร (ภายใน 15 วันหลังการคลอดที่ญี่ปุ่น)
ระบบเงินสงเคราะห์บุตรคือระบบของรัฐบาลที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองของเด็กจนกว่าจะอายุครบ 15 ปีหรือจบการศึกษาชั้นม. 3 (วันที่ 31 มีนาคม) โดยจะต้องยื่นคำร้องที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
เอกสารที่ต้องใช้คือใบยื่นคำร้องเงินสงเคราะห์บุตร (สามารถหาได้ที่เว็บไซต์หรือช่องทางติดต่อสอบถามของรัฐบาลท้องถิ่น), เอกสารในการยืนยันตัวตน, เอกสารยืนยันมายนัมเบอร์, สมุดบัญชีเงินฝากหรือบัตรเงินสดที่มีชื่อผู้ยื่นคำร้อง, และบัตรประกันสุขภาพของผู้ยื่นคำร้อง โดยในกรณีที่เดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นหลังจากวันชี้วัดการเสียภาษีอาจต้องใช้สำเนาพาสปอร์ตด้วย
นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดยังสามารถรับเงินช่วยเหลือตามจำนวนและอายุของเด็กในครอบครัวตั้งแต่ 10,000 – 15,000 เยนต่อเดือน ซึ่งจะถูกแบ่งจ่ายปีละ 3 ครั้งอีกด้วย
◆ ยื่นคำร้องขอสถานภาพการพำนัก
(1) กรณีทั้งบิดาและมารดาเป็นชาวต่างชาติ – ยื่นภายใน 30 วันหลังคลอดที่ญี่ปุ่น
① ยื่นใบสูติบัตรไปยังสำนักงานเขต (ระยะเวลาสามารถดูได้ที่ด้านบน) เพื่อรับใบรับรองการเกิด (出生届受理証明書)
② ไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเขตที่อาศัยอยู่ภายใน 30 วัน หลังคลอดเพื่อส่งเอกสารด้านล่างนี้ หลังจากได้สถานภาพการพำนักแล้วให้ยื่นพาสปอร์ตเพื่อรับไซริวการ์ด
【เอกสารที่ต้องใช้】
・ใบยื่นคำร้องขอสถานภาพการพำนัก (在留資格取得許可申請書)
・เอกสารที่สามารถใช้รับรองการเกิดได้ เช่น ใบรับรองการเกิด สมุดสุขภาพแม่และเด็ก เป็นต้น
・สำเนาทะเบียนบ้าน (住民票) ของสมาชิกทุกคนในบ้านรวมถึงบุตรด้วย
・พาสปอร์ตตัวจริงของบุตร (สามารถยื่นทีหลังได้)
・สำเนาไซริวการ์ด รวมถึงสำเนาพาสปอร์ตของบิดาและมารดา
・เอกสารที่สามารถแสดงรายได้ของบิดามารดาหรือผู้อุปถัมภ์ได้ เช่น หนังสือรับรองการทำงาน (在職証明書) ใบเรียกเก็บภาษีเทศบาล (住民税課税証明書) หรือใบรับรองการเสียภาษีเทศบาล (住民税納税証明書) เป็นต้น
・แบบสอบถาม (質問書)
③ ยื่นใบสูติบัตรและคำร้องขอทำหนังสือเดินทางไปยังสถานทูตของประเทศตามสัญชาติบุตรในญี่ปุ่น (ขั้นตอนนี้สามารถทำก่อนข้อ ② ได้)
(2) กรณีบิดาหรือมารดาเป็นผู้พำนักถาวร – ยื่นภายใน 30 วันหลังคลอดที่ญี่ปุ่น
หากบิดาหรือมารดาของบุตรที่เกิดที่ญี่ปุ่นเป็นผู้พำนักถาวร สถานภาพการพำนักของบุตรจะเป็น “คู่สมรสหรือบุตรของผู้พำนักถาวร” โดยมีเงื่อนไขว่าบุตรคนนั้นต้องอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อ
นอกจากนี้ หลังจากบุตรได้รับสถานภาพการพำนักนี้แล้ว ถึงแม้ว่าบิดามารดาจะสูญเสียสถานภาพการพำนักถาวรก็จะไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพการพำนักของบุตร โดยคำร้องขอสถานภาพการพำนักนี้ต้องยื่นภายใน 30 วันหลังการคลอดที่ญี่ปุ่น
(3) กรณีบิดามารดาเป็นผู้พำนักถาวรและคลอดบุตรที่ต่างประเทศ – ยื่นภายใน 30 วันหลังคลอด
หากบุตรเกิดนอกประเทศญี่ปุ่นโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้พำนักถาวร สถานภาพการพำนักของบุตรจะเป็น “ผู้พำนักระยะยาว” หลังจากนั้นถึงแม้ว่าบิดาและมารดาจะกลับมาญี่ปุ่นและได้รับสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว สถานภาพการพำนักของบุตรก็จะยังคงเป็น “ผู้พำนักระยะยาว” อยู่ การยื่นขอสถานภาพการพำนักนี้จะต้องทำภายใน 30 วันหลังการคลอด
(4) กรณีบิดามารดามีวีซ่าทำงาน – ยื่นภายใน 30 วันหลังคลอดที่ญี่ปุ่น
บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่มีวีซ่าทำงานจะได้รับสถานภาพการพำนัก “อยู่อาศัยร่วมกับครอบครัว” ซึ่งมีความจำเป็นต้องยื่นขอภายใน 30 วันหลังการคลอด แต่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการในกรณีที่จะกลับประเทศภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
◆ ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเด็กเล็ก – ยื่นภายใน 3 เดือนหลังคลอดที่ญี่ปุ่น
หากมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ญี่ปุ่นและมีประกันสุขภาพหรือประกันสังคม จะสามารถรับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเด็กเล็กได้ แต่อายุและรายได้ที่เข้าข่าย รวมถึงจำนวนเงินสมทบจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น โดยจะต้องยื่นเรื่องไปยังเขตตามทะเบียนบ้าน
เอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่ เอกสารยืนยันตัวตนของผู้ยื่นคำร้อง บัตรประกันสุขภาพของบุตร (หากออกไม่ทันสามารถใช้บัตรประกันสุขภาพของผู้ปกครองแทนได้) ตราประทับอินคัง (印鑑) และเอกสารยืนยันเลขประจำตัว (มายนัมเบอร์) ของบุตร
ในการตั้งครรภ์และคลอดบุตรที่ญี่ปุ่นนั้นมีขั้นตอนหลายอย่างที่จำเป็น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกๆ คนรู้จัก และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับขั้นตอนดังกล่าวได้
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่