พารู้จัก “เครื่องปั้นพื้นเมืองญี่ปุ่น” งานศิลปะระดับโลก!

ญี่ปุ่นมีการใช้เครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะ กระถางต้นไม้ หรือของประดับตกแต่ง และในปัจจุบัน งานปั้นของญี่ปุ่นก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกในฐานะงานศิลปะชั้นหนึ่ง ในบทความนี้ เราอยากจะพาคุณไปรู้จักกับประวัติศาสตร์และเครื่องปั้นดินเผาชื่อดังของแต่ละพื้นที่ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้น
Oyraa

จุดเริ่มต้นของเครื่องปั้นญี่ปุ่น

画像素材:PIXTA

เครื่องปั้นชิ้นแรกในญี่ปุ่นถูกทำขึ้นมาตั้งแต่หมื่นกว่าปีก่อน เชื่อกันว่าเครื่องปั้นในยุคแรก คือ โจมงโดกิ (縄文土器) ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีชาที่แต่งแต้มด้วยรอยด่างสีดำ คำว่า ‘โจ (縄)’ หมายถึงเชือก ซึ่งสื่อถึงจุดเด่นของเครื่องปั้นประเภทนี้ที่มีลวดลายประดับคล้ายปมเชือกนั่นเอง นอกจากนี้ โจมงโดกิยังเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในเครื่องปั้นที่เก่าแก่ที่สุดของโลกด้วย

หลังจากนั้น อิทธิพลจากคาบสมุทรเกาหลีก็ทำให้เกิดเครื่องปั้นประเภทอื่นขึ้นอีกหลายรูปแบบ ทั้งยาโยยโดกิ (弥生土器) ที่มีสีชาอมแดง และซุเอะกิ (須恵器) ที่มีสีเทา

ในปัจจุบันได้เริ่มมีเครื่องปั้นที่เน้นดีไซน์ที่ตกแต่งด้วยเอะสึเคะ (絵付け วาดหรือพิมพ์ลวดลาย) สีสันสดใสปรากฏขึ้นด้วย และในลำดับต่อไปเราก็จะมาแนะนำเครื่องปั้นท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่นกัน

เครื่องปั้นที่โดดเด่นของภูมิภาคคันโต

คาซามะยากิ (จังหวัดอิบารากิ)

画像素材:PIXTA

คาซามะยากิ (笠間焼) ทำขึ้นในเมืองคาซามะของจังหวัดอิบารากิ เป็นเครื่องปั้นที่เก่าแก่ที่สุดของคันโต กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นอยู่ในช่วงกลางยุคเอโดะ (ปี ค.ศ. 1772 – 1781) โดย คุโนะ ฮันอุเอมอน (久野半右衛門) ผู้นำของหมู่บ้านฮาโคดะ (เมืองคาซามะในปัจจุบัน) ของแคว้นคาซามะ ซึ่งได้เรียนรู้เทคนิคมาจากช่างปั้นชิรากาวะยากิ เครื่องปั้นชื่อดังของจังหวัดชิกะ นอกจากนี้ คาซามะยังอุดมไปด้วยดินเหนียวคุณภาพดีที่ทั้งขุดง่ายและเหมาะกับการทำเครื่องปั้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดคาซามะยากิขึ้น

เครื่องปั้นส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นจะเคลือบผิวนอกให้ดูคล้ายแก้ว เรียกว่า ยูยาคุ (釉薬) แต่ในส่วนของคาซามะยากิจะเป็นการเคลือบด้วย คาคิยู (柿釉) สีน้ำตาลเข้ม หรือไม่ก็ อาโอยู (青釉) ที่มีสีออกม่วง

มาชิโกะยากิ (จังหวัดโทชิกิ)

画像素材:PIXTA

มาชิโกะยากิ (益子焼) ผลิตขึ้นที่เมืองมาชิโกะในจังหวัดโทชิกิ ว่ากันว่าเริ่มผลิตครั้งแรกในช่วงปลายยุคเอโดะ (ประมาณปี ค.ศ. 1853) โดยมีผู้ริเริ่ม คือ โอซึกะ เคซาบุโร (大塚啓三郎) ที่ได้เรียนรู้ศาสตร์เครื่องปั้นมาจากคาซามะ แหล่งผลิตเครื่องปั้นคาซามะยากิที่เราได้กล่าวถึงในข้อที่แล้ว

ดินเหนียวของเมืองมาชิโกะจะมีฟองอากาศหยาบๆ แทรกตัวอยู่ ไม่เหมาะจะนำมาทำงานที่ต้องลงรายละเอียด เราจึงมักจะเห็นงานปั้นที่เป็นชิ้นหนาๆ เสียส่วนใหญ่ แต่ก็เพราะความที่มีเนื้อหนานี้เองที่ทำให้เกิดผิวสัมผัสที่มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์

ในปัจจุบัน เมืองมาชิโกะมีโรงปั้นอยู่กว่า 250 แห่ง แม้แต่นักปั้นชาวต่างชาติก็ยังเดินทางมาเยี่ยมชม

เครื่องปั้นที่โดดเด่นของภูมิภาคชูบุ

มิโนะยากิ (จังหวัดกิฟุ)

画像素材:PIXTA

มิโนะยากิ (美濃焼) ผลิตในจังหวัดกิฟุซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น และเป็นต้นกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผากว่าครึ่งของประเทศ กล่าวกันว่าจุดเริ่มต้นของมิโนะยากิ คือ ซุเอะยากิที่ปรากฏในช่วงยุคนารา (ปี ค.ศ. 710 – 794)

มิโนะยากิต่างจากเครื่องปั้นชนิดอื่นตรงที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถทำดีไซน์ออกมาได้หลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นก็มีถ้วยดงบุริ (ภาชนะใส่เมนูข้าวที่ราดหน้าด้วยเครื่องเคียงต่างๆ) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน

คุทานิยากิ (จังหวัดอิชิคาวะ)

画像素材:PIXTA

คุทานิยากิ (九谷焼) ผลิตจากเมืองโนมิในจังหวัดอิชิคาวะ ว่ากันว่ามีจุดเริ่มต้นจากการขุดพบโทเซกิ (陶石) ในช่วงต้นยุคเอโดะ (ประมาณปี ค.ศ. 1655) เป็นหินที่เหมาะสำหรับการทำเครื่องปั้น

เครื่องปั้นประเภทนี้ทำขึ้นโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า อุวะเอะสึเคะ (上絵付け) โดยหลังจากเคลือบด้วยยูยาคุแล้ว ก็จะวาดภาพด้วยสีสันต่างๆ ทับลงไปอีกชั้น สีสันสดใสและความสวยงามนี้ทำให้คุทานิยากิเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ในฐานะผลงานศิลปะที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

เครื่องปั้นที่โดดเด่นของภูมิภาคคันไซ

ทันบะยากิหรือทันบะทาจิคุยยากิ (จังหวัดเฮียวโกะ)

画像素材:PIXTA

ทันบะยากิ (丹波焼) หรือ ทันบะทาจิคุยยากิ (丹波立杭焼) ผลิตขึ้นที่เมืองซาซายามะ จังหวัดเฮียวโกะ ว่ากันว่าเริ่มผลิตครั้งแรกในช่วงปลายยุคเฮอันถึงต้นยุคคามาคุระ (ปี ค.ศ. 1094 – 1221) ทันบะยากิจะพิจารณาความต้องการของผู้ใช้และปรับเปลี่ยนลักษณะไปตามกาลเวลา ปัจจุบันมีทันบะยากิอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงภาชนะสำหรับทำสวน

เครื่องปั้นจะถูกเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 1,300 องศาเป็นเวลา 50 – 70 ชั่วโมง ทำให้ถ่านไม้ที่อยู่บนชิ้นงานละลายไปกับธาตุเหล็กที่อยู่ในดิน เกิดเป็นลวดลายและสีสันที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

บันโกะยากิ (จังหวัดมิเอะ)

画像素材:PIXTA

บันโกะยากิ (萬古焼) ผลิตขึ้นที่เมืองยคไคจิในจังหวัดมิเอะ เชื่อกันว่าเริ่มผลิตในช่วงกลางยุคเอโดะ (ปี ค.ศ. 1736 – 1741)

ดินที่เป็นวัตถุดิบจะมีลิเทียมผสมอยู่ด้วยจึงค่อยข้างทนต่อความร้อน เหมาะสำหรับทำหม้อดินหรือคิวซุ (ภาชนะสำหรับใส่และรินชา) อย่างหม้อดินบันโกะยากิก็ได้ครองตลาดหม้อดินในญี่ปุ่นไปถึง 80 – 90% และเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนทั้งประเทศ

เกียวยากิหรือคิโยมิซุยากิ (จังหวัดเกียวโต)

画像素材:PIXTA

เกียวยากิ (京焼) หรือ คิโยมิซุยากิ (清水焼) ผลิตที่เมืองเกียวโตของจังหวัดเกียวโต กล่าวกันว่าเริ่มผลิตครั้งแรกในช่วงต้นยุคเอโดะ (ปี ค.ศ. 1603 – 1680) มีจุดเริ่มต้นมาจากเครื่องปั้นลงสีที่ทำขึ้นโดย โนโนะมุระ นินเซ (野々村仁清) ช่างปั้นที่เชื่อกันว่าเป็นผู้เปิดโรงปั้นหน้าวัดนินนะจิ (仁和寺)

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกำหนดวัตถุดิบและเทคนิคอย่างตายตัว แต่ก็มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ขั้นตอนอย่างเอะสึเคะและการใช้โรคุโระ (แท่นปั้น) นั้นจะทำด้วยมือคนทั้งหมด สีสันสดใสและจุดแตกต่างเล็กน้อยในชิ้นงานแต่ละชิ้นนั้นถือเป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของเครื่องปั้นประเภทนี้

ชิการากิยากิ (จังหวัดชิกะ)

画像素材:PIXTA

ชิการากิยากิ (信楽焼) ผลิตขึ้นที่ชิการากิโจ เมืองโคกะ จังหวัดชิกะ กล่าวกันว่าปรากฏขึ้นมาเมื่อประมาณศตวรรษที่ 13 ดินที่ใช้นั้นเป็นดินเหนียวคุณภาพดี ใช้ได้กับเครื่องปั้นหลากหลายประเภท ตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ หลังคาของอาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปัจจุบันก็มีส่วนผสมของดินดังกล่าวอยู่เช่นกัน

แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อชิการากิยากิเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คงหนีไม่พ้น ชิการากิทานูกิ (信楽たぬき) โดยเรื่องราวก็มีอยู่ว่า ในตอนที่จักรพรรดิยุคโชวะเดินทางไปชิการากินั้น ได้มีการวางทานูกิที่ถือธงญี่ปุ่นเอาไว้มากมายเพื่อเป็นการต้อนรับ จากนั้น ชิการากิทานูกิก็กลายเป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วญี่ปุ่น

เครื่องปั้นที่โดดเด่นของภูมิภาคชูโกคุ

บิเซ็นยากิ (จังหวัดโอคายาม่า)

画像素材:PIXTA

บิเซ็นยากิ (備前焼) ผลิตในเมืองบิเซ็น จังหวัดโอคายาม่า กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นจากจานชามในสมัยเฮอัน (ปี ค.ศ. 794 – 1192) เนื่องจากไม่มีการลงเอะสึเคะหรือเคลือบด้วยยูยาคุ จึงมีจุดเด่นเป็นลักษณะแบบดินๆ ที่มากกว่าเครื่องปั้นชนิดอื่น อีกทั้งสีที่ได้ยังเปลี่ยนไปตามสภาพของเตาเผา ทุกชิ้นจึงมีเอกลักษณ์เป็นของมันเอง

นอกจากนี้ เนื่องจากเครื่องปั้นประเภทนี้จะต้องค่อยๆ เผาโดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในเตาที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 120 องศา จึงมีความแข็งแรง ถึงขนาดที่กล่าวกันว่า “แม้เขวี้ยงก็ไม่แตก”

ฮางิยากิ (จังหวัดยามากุจิ)

画像素材:PIXTA

ฮางิยากิ (萩焼) ผลิตขึ้นที่เมืองฮางิ จังหวัดยามากุจิ กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นอยู่ในปี ค.ศ. 1604 จากการที่จ้าวผู้ครองแคว้นฮางิ โมริ เทรุโมโตะ (毛利輝元) สร้างโกโยกามะ (โรงปั้นสำหรับผลิตของบรรณาการ) ขึ้นในบริเวณนี้

เนื่องจากดินที่ใช้มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ เมื่อใช้ไปนานๆ สีสันก็จะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด และมีจุดเด่นอยู่ที่รูปลักษณ์ที่ทำให้บรรยากาศดูอ่อนโยน ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาอย่างช้าๆ ด้วยอุณหภูมิต่ำ

เครื่องปั้นที่โดดเด่นของภูมิภาคคิวชูและโอกินาว่า

อาริตะยากิหรืออิมาริยากิ (จังหวัดซากะ)

画像素材:PIXTA

อาริตะยากิ (有田焼) ผลิตขึ้นในอาริตะโจ จังหวัดซากะ ว่ากันว่าเป็นผลพวงมาจากการพาช่างปั้นชาวเกาหลีเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน

อาริตะยากิมีอีกชื่อหนึ่งว่า อิมาริยากิ (伊万里焼) เนื่องจากการส่งอาริตะยากิไปยังพื้นที่อื่นๆ นั้น จำเป็นจะต้องขนไปที่ท่าเรืออิมาริก่อน แล้วค่อยส่งขึ้นเรือเพื่อไปยังพื้นที่อื่นๆ

จุดเด่นของเครื่องปั้นชนิดนี้ คือ เอะสึเคะที่ดูอลังการ เพราะมีการประดับตะแต่งด้วยเอะสึเคะที่สวยงามประณีตจนถึงขนาดที่กล่าวกันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ไมเซิน (Meissen) เครื่องปั้นเยอรมันที่มีชื่อเสียงระดับโลกเลยทีเดียว

ฮาซามิยากิ (จังหวัดนางาซากิ)

画像素材:PIXTA

ฮาซามิยากิ (波佐見焼) ผลิตขึ้นในฮาซามิโจ จังหวัดนางาซากิ เช่นเดียวกับอาริตะยากิและอิมาริยากิ เครื่องปั้นประเภทนี้มีจุดเริ่มต้นจากการพาช่างปั้นฝีมือดีมาจากประเทศเกาหลี ซึ่งกำลังเฟื่องฟูด้านการทำเครื่องปั้นอยู่ในขณะนั้น

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศจีน ส่งผลให้การส่งออกเครื่องปั้นของจีนต้องหยุดชะงักลง ฮาซามิยากิจึงเข้ามาแทนที่ในการส่งออกดังกล่าว โดยเน้นการทำตลาดในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก

จุดเด่นของฮาซามิยากิ คือ ดีไซน์ละเอียดอ่อนที่มีโทนสีขาวเป็นหลักและลงเอะสึเคะด้วยสีฟ้าสวยๆ แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีการใช้เป็นเครื่องครัวในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง

อนตะยากิ (จังหวัดโออิตะ)

画像素材:PIXTA

อนตะยากิ (小鹿田焼) ผลิตขึ้นในเมืองฮิตะ จังหวัดโออิตะ เชื่อกันว่าเป็นเครื่องปั้นที่ถูกพัฒนามาจาก โคอิชิวาระยากิ (小石原焼) ของจังหวัดฟุกุโอกะ และเริ่มผลิตครั้งแรกในปี ค.ศ. 1705 โดยมีการเชื้อเชิญช่างโคอิชิวาระยากิมายังหมู่บ้านโอสึรุ (เมืองฮิตะในปัจจุบัน)

อนตะยากิมีจุดเด่นอยู่ที่ดีไซน์อันละเอียดอ่อน ซึ่งมาจากการลงลวดลายด้วยฮาเคะ (แปรงสำหรับทาสีหรือของเหลว) และการหยดยูยาคุลงไปด้วยหลอดหยดเพื่อสร้างลวดลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงกลิ่นอายแบบดินๆ เอาไว้ด้วย

ยาจิมุน (จังหวัดโอกินาว่า)

画像素材:PIXTA

ยาจิมุน (やちむん) ผลิตขึ้นในหมู่บ้านโยมิทันของจังหวัดโอกินาว่า กล่าวกันว่าเริ่มผลิตในปี ค.ศ. 1616 เนื่องจากโอกินาว่าในเวลานั้นกำลังเฟื่องฟูจากการค้าขายกับเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงรับเอาเทคนิคจากช่างปั้นเกาหลีเข้ามาด้วย

จุดเด่นของยาจิมุน คือ การประดับด้วยลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ของโอกินาว่า เช่น ธรรมชาติ สีฟ้าของท้องทะเล ปลา ฯลฯ ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันในเครื่องปั้นชนิดอื่น

เครื่องปั้นของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังได้รับการสืบสานและผลิตอยู่ การรู้จักเครื่องปั้นของพื้นที่ต่างๆ จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน และนอกจากเครื่องปั้นที่เราได้แนะนำไปในครั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีเครื่องปั้นอีกมากมายซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาอย่างยาวนาน หากคุณมีโอกาสได้มาญี่ปุ่น เราขอแนะนำให้ลองสัมผัสเครื่องปั้นของพื้นที่นั้นๆ ด้วยมือของคุณเองดูสักครั้ง

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: