7 เรื่องสุดแปลกของการทำงานในญี่ปุ่นที่ต่างชาติเจอแล้วตกใจ!

サムネイル-11
ในเดือนตุลาคมปี 2019 ทางกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นได้รายงานว่ามีชาวต่างชาติทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากถึง 1,650,000 คน แม้ว่าทุกคนจะพยายามปรับตัวให้คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในต่างประเทศกันอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ยังมีบางคนที่ตกใจกับวิธีการทำงานของคนญี่ปุ่นที่ช่างต่างจากประเทศบ้านเกิดของตนเสียเหลือเกิน และเราก็ได้ลองไปสอบถามชาวต่างชาติและรวบรวมประสบการณ์แปลกๆ เหล่านั้นมาไว้ในบทความนี้แล้ว!
Oyraa

1. ไม่พูดคุยระหว่างทำงานเลย ต่างคนต่างทำหน้าที่กันแบบเงียบกริบ

“คนญี่ปุ่นไม่คุยกันระหว่างทำงานเลยค่ะ ถ้าเป็นที่จีนเนี่ย ต่อให้ทำงานอยู่บางทีก็จะมีหันไปเม้าท์เรื่องแฟชั่นหรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานกับคนข้าง ๆ กันสนุกเลย” (ผู้หญิงชาวจีน)

“ตอนทำงานที่ไต้หวันก็จะมีการดื่มชาหรือทานของว่างระหว่างทำงานบ้าง หรือในช่วงพักก็อาจจะรวมกันสั่งชานมไข่มุกมาส่งบ้าง แต่ที่ญี่ปุ่นไม่มีเลยค่ะ” (ผู้หญิงชาวไต้หวัน)

“ที่เกาหลีจะเห็นคนใช้โทรศัพท์มือถือตอนทำงานอยู่บ้างนะครับ แต่ที่ญี่ปุ่นนี่ไม่เห็นเลย” (ผู้ชายชาวเกาหลี)

ในญี่ปุ่น การพูดคุยเรื่องส่วนตัวหรือเล่นโทรศัพท์มือถือในเวลาทำงานนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก หากมีคนพบเห็นก็อาจจะถูกมองว่าเป็นคนไม่จริงจังกับงานเอาได้ อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนเองก็ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากจะหาอะไรคลายเครียดกันสักเล็กน้อยในช่วงพักก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไร

2. ทำงานล่วงเวลากันเป็นกิจวัตร

“คนญี่ปุ่นจะชอบทำงานล่วงเวลาน่ะค่ะ” (ผู้หญิงชาวเวียดนาม)

“ที่จีนถ้าถึงเวลาเลิกงานแล้วก็ไม่มีใครอยู่ต่อหรอกนะคะ…แต่คนญี่ปุ่นอยู่ทำงานต่อกันเป็นประจำเลย ตกใจมากๆ” (ผู้หญิงชาวจีน)

“ดูเหมือนว่าที่ญี่ปุ่นถ้าถึงเวลาเลิกงานแล้วกลับบ้านเลยจะดูแปลกน่ะครับ ที่อเมริกาถ้าถึงเวลาเลิกงานแล้วไม่กลับบ้านนี่สิแปลก” (ผู้ชายชาวอเมริกา)

แต่ละคนอาจจะมีเหตุผลของการทำงานล่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั่วไปสังคมญี่ปุ่นมักจะมองคนที่อยู่ทำงานนานๆ ว่าเป็นคนขยันเอาการเอางาน นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่คิดว่า “จะกลับบ้านก่อนได้อย่างไร ทั้งๆ ที่คนอื่นยังทำงานกันอยู่เลย” การอยู่ทำงานต่อถึงแม้จะถึงเวลาเลิกงานแล้วจึงกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปเสียอย่างนั้น

3. พฤติกรรมการทานข้าวกลางวันก็แปลกๆ !?

“ปกติที่เกาหลีทุกคนจะไปทานข้าวกลางวันด้วยกันนะคะ ทำไมที่นี่ถึงมีแต่คนทานข้าวคนเดียวก็ไม่รู้” (ผู้หญิงชาวเกาหลี)

“ที่ญี่ปุ่นทางบริษัทไม่จ่ายค่าอาหารกลางวันให้ ต่างจากเกาหลีมากเลยครับ” (ผู้ชายชาวเกาหลี)

“ปกติทานข้าวเสร็จแล้วไม่งีบกันเหรอ? ที่ไต้หวันมีคนงีบหลังทานข้าวกลางวันเยอะมากเลยนะ” (ผู้หญิงชาวไต้หวัน)

“บริษัทที่ไม่มีโรงอาหารก็มีเยอะนะคะ” (ผู้หญิงชาวจีน)

“มีเวลาพักแค่ 1 ชั่วโมง แถมยังตรงต่อเวลากันมากๆ ด้วยค่ะ” (ผู้หญิงชาวจีน)

พฤติกรรมการทานอาหารกลางวันของคนญี่ปุ่นดูจะมีเรื่องน่าตกใจอยู่หลายอย่างทีเดียว สาเหตุที่คนมักจะทานข้าวคนเดียว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่ค่อนข้างเก็บตัว หรือบางคนก็อาจจะมองว่าเวลาพักเป็นเวลาส่วนตัว หลังทานเสร็จแล้วก็จะไปทำธุระที่ธนาคารหรือที่ทำการไปรษณีย์ต่อก็มี และคนที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้เวลาพักทำอะไรก็มีอยู่ไม่น้อย หากอยากจะชวนคนญี่ปุ่นออกไปทานอาหารด้วยกันก็ลองนัดล่วงหน้าสักวันสองวันจะดีกว่า

4. มีค่าเดินทางให้

“ทางบริษัทมีงบค่าเดินทางให้ สุดยอดมากครับ” (ผู้ชายชาวไทย)

“การจ่ายค่าเดินทางให้เป็นอะไรที่ดีมากๆ เลยค่ะ ที่ประเทศฉันไม่มีแบบนี้เลย” (ผู้หญิงชาวไต้หวัน)

เรื่องค่าเดินทางเองก็ถูกพูดถึงเยอะไม่แพ้กัน หากใครเคยไปเยี่ยมเยียนประเทศญี่ปุ่นสักครั้งก็น่าจะพอรู้ว่าค่าเดินทางในญี่ปุ่นนั้นแพงมาก ด้วยความที่ระบบขนส่งโดยส่วนใหญ่เป็นบริการของเอกชน จึงไม่แปลกที่ค่าบริการจะค่อนข้างสูง ขึ้นรถไฟเพียงสถานีเดียวก็ต้องจ่ายมากกว่า 100 เยน ยิ่งถ้าเป็นแท็กซี่ในโตเกียว ต่อให้เดินทางแค่ 2 กิโลเมตรก็อาจจะต้องจ่ายมากกว่า 800 เยนเลยทีเดียว

5.งานสังสรรค์เยอะมา

“มีงานเลี้ยงที่ต้องไปดื่มกับคนเยอะๆ บ่อยมากค่ะ ถ้าเป็นที่ไต้หวันปกติจะไปเฉพาะกับคนที่สนิท แล้วที่นี่ก็มีทั้งงานเลี้ยงส่ง งานเลี้ยงต้อนรับอะไรเยอะมากด้วย” (ผู้หญิงชาวไต้หวัน)

“ที่อเมริกาไม่มีวัฒนธรรมงานเลี้ยงสังสรรค์แบบนี้ค่ะ ยิ่งไปกับหัวหน้าหรือเจ้านายนี่ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย” (ผู้หญิงชาวอเมริกา)

“ที่ประเทศฉันก็มีชวนไปดื่มด้วยกันหลังเลิกงานอะไรแบบนี้บ้างนะคะ แต่ถึงขั้นกำหนดวันแล้วให้ทุกคนไปด้วยกันเลยเนี่ยไม่เคยเจอเลยค่ะ..” (ผู้หญิงชาวเวียดนาม)

คนญี่ปุ่นมักจะจัดงานเลี้ยงและไปดื่มด้วยกันในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงปีใหม่ งานเลี้ยงสิ้นปี งานเลี้ยงอำลา งานเลี้ยงตอนรับ หรืออื่น ๆ โดยมีแนวคิดว่าเป็นโอกาสสำคัญให้เพื่อนร่วมงานได้พูดคุยและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทั่วไปมักจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งบุคลากรในแผนกอื่น ๆ รวมถึงระดับหัวหน้าด้วย จึงเป็นงานที่ปฏิเสธได้ยาก ชาวต่างชาติที่มาทำงานอาจแปลกใจไปบ้างเนื่องจากเป็นงานที่เข้าไปกินเวลาส่วนตัว แต่ในอีกแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดีหากต้องการสนิทกับเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น หากมีโอกาสก็อยากให้ลองเข้าร่วมดูสักครั้ง

6. กระบวนการสำคัญกว่าผลลัพธ์

“ที่ญี่ปุ่นดูจะให้ค่ากับวิธีการทำงานมากกว่าผลที่ออกมาอีกนะคะ” (ผู้หญิงชาวออสเตรเลีย)

 แน่นอนว่าผลลัพธ์เองก็สำคัญ แต่ทั่วไปเวลาทำงานคนมักจะสนใจที่กระบวนการอย่าง “ทำอะไรไปบ้าง?” หรือ “ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างบ้าง?” หรือ “เวลาเกิดปัญหาแล้วแก้ไขอย่างไร?” เสียมากกว่า

7. ชอบทำงานเป็นทีม

“ในบริษัทญี่ปุ่นไม่ค่อยมีคนคิดว่าเพื่อนร่วมงานคือศัตรู! อะไรแบบนี้เท่าไรน่ะค่ะ” (ผู้หญิงชาวออสเตรเลีย)

“ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมมาก ในอเมริกาจะทำงานคนเดียวกันมากกว่า” (ผู้หญิงชาวอเมริกา)

“เพราะทำงานเป็นทีมก็เลยมีประชุมเยอะมาก” (ผู้หญิงชาวออสเตรเลีย)

อาจจะขึ้นอยู่กับสายอาชีพด้วย แต่ในญี่ปุ่นมักจัดโปรเจกต์ให้ทำงานกันเป็นทีมเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้พนักงานมองเพื่อนร่วมงานว่าเป็นพวกเดียวกัน เวลาต้องตัดสินใจอะไรก็มักจะจัดประชุมเพื่อตัดสินใจร่วมกัน

ความคิดเห็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

“ไม่ค่อยมีการถามช่องทางติดต่อส่วนตัวกันเท่าไร รู้สึกว่าเว้นระยะให้ค่อนข้างดีค่ะ” (ผู้หญิงชาวไต้หวัน)

คนญี่ปุ่นมักแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงานอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อส่วนตัวระหว่างเพื่อนร่วมงานกัน

“มีให้ตรวจสุขภาพด้วย ตกใจมากเลยครับ” (ผู้ชายชาวอเมริกา)

ที่ญี่ปุ่นจะมีการตรวจสุขภาพประจำปีที่พนักงานทุกคนต้องเข้าร่วม และก็ไม่ใช่เพียงการชั่งน้ำหนักหรือวัดส่วนสูงเท่านั้น แต่ยังมีการวัดระดับความดันโลหิต ตรวจระยะการมองเห็นและการได้ยิน มีการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมไปถึงการตรวจเลือดด้วย เรียกได้ว่าตรวจกันอย่างจริงจังเลยทีเดียว

“คนญี่ปุ่นใช้ตราประทับกันเยอะ” (ผู้หญิงชาวจีน)

“ยังไม่ค่อยเห็นการรณรงค์ลดการใช้กระดาษเท่าไรค่ะ ยังใช้กระดาษกันค่อนข้างเยอะ ถ้าเปลี่ยนไปใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้มากกว่านี้ก็น่าจะดีนะคะ” (ผู้หญิงชาวอเมริกา)

เนื่องจากการใช้ตราประทับนั้นฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น หากจะยืนยันเอกสารสำคัญหรือดำเนินการใดๆ ก็มักจะต้องมีการประทับตราเสียก่อน เลยกลายเป็นว่าจำเป็นต้องใช้กระดาษไปด้วย ผู้เขียนในฐานะชาวญี่ปุ่นเองก็มองประเด็นนี้ว่าเป็นปัญหาเช่นกัน หากมีวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ก็คงจะดีไม่น้อย

“ที่นี่คนไม่ถูกไล่ออกจากงานกันง่ายๆ ถ้าเป็นที่อเมริกา นิดๆ หน่อยๆ ก็อาจจะถูกสั่งให้ออกจากงานแล้วครับ” (ผู้ชายชาวอเมริกา)

กฎหมายญี่ปุ่นมีเงื่อนไขหลายอย่างในการจะให้คนออกจากงาน หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขก็ไม่สามารถไล่ใครออกได้ หากฝ่าฝืนก็อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนมาก

“ถ้าไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องซื้อของฝากมาฝากเพื่อนร่วมงานทุกคน ที่อเมริกาอาจจะมีกลับมาเล่าเรื่องให้ฟังบ้าง แต่ไม่ให้ของฝากหรอกค่ะ” (ผู้หญิงชาวอเมริกา)

ชาวญี่ปุ่นมักจะมีความรู้สึกว่า “ขอบคุณที่ให้ไปพักผ่อน” หรือ “ขอโทษที่ทำให้เดือดร้อนในช่วงที่ลาไปพักผ่อน” จึงให้ของฝากเป็นการตอบแทน แสดงถึงความนอบน้อมอันเป็นเอกลักษณ์ได้เป็นอย่างดี

“แบบแผนในการติดต่อธุรกิจละเอียดและเข้มงวดมาก”

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของมือเวลาให้นามบัตร องศาการโค้งคำนับ หรือการใช้คำพูดก็มีแบบแผนที่แน่นอนและเคร่งครัด หากเพิ่งเข้าทำงานใหม่ก็ต้องรีบศึกษาไว้ว่าภายในบริษัทมีธรรมเนียมปฏิบัติกันอย่างไรบ้าง

“ตอนเช้าจะมีการรวมตัวและพูดถึงอุดมการณ์ของบริษัทกัน อันนี้ตกใจมาก” (ผู้หญิงชาวอิตาลี)

เป็นธรรมเนียมที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจจะเจออยู่ตามบริษัทที่มีประวัติก่อตั้งมาอย่างยาวนาน หากชาวต่างชาติได้เห็นแล้วตกใจก็คงไม่แปลก เพราะในกลุ่มคนญี่ปุ่นเองก็มีคนที่ต่อต้านกิจกรรมนี้อยู่เหมือนกัน

การทำความเข้าใจนิสัยของคนในประเทศที่เราทำงานอยู่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ที่ทำงานในประเทศอื่น ๆ ด้วย การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นทั้งข้อดีและข้อควรปรับปรุงในระบบการทำงานของบริษัทญี่ปุ่น หากว่าเราสามารถรักษาสิ่งดีๆ เอาไว้และแก้ไขสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานได้มากขึ้นก็คงจะดีไม่น้อยเลย

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: