ความยากลำบากของการเลี้ยงลูกในต่างประเทศ
ความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและภาษา อาจทำให้คุณรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกในต่างประเทศนั้นยุ่งยากกว่าประเทศบ้านเกิดของตน ก่อนอื่นเรามาดูกันดีกว่าว่าเด็กในญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเรียนชั้นประถมจะต้องทำอะไรบ้าง
เพจที่จะแนะนำนี้จัดทำโดยมูลนิธินานาชาติคานางาวะสำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น มีคำแนะนำพร้อมภาพประกอบเป็นภาษาอังกฤษ, จีน, ตากาล็อก, โปรตุเกส, สเปน, เวียดนาม, เนปาล, ไทย, เกาหลี, อินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้โดยไม่ต้องแบ่งแยกตามพื้นที่ที่อยู่อาศัยด้วย
▼เว็บไซต์ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องการเลี้ยงดูเด็กสำหรับชาวต่างชาติ
・ภาษาอังกฤษ
・ภาษาจีน
・ภาษาตากาล็อก
・ภาษาโปรตุเกส
・ภาษาสเปน
・ภาษาเวียดนาม
・ภาษาเนปาล
・ภาษาเกาหลี
・ภาษาอินโดนีเซีย
・ภาษาไทย
เกี่ยวกับสุขภาพของเด็ก
・โครงการปรึกษากุมารแพทย์ทางโทรศัพท์ (ภาษาญี่ปุ่น)
เด็กเล็กมีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นในชีวิตประจำวันได้ง่าย อย่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายอย่างกะทันหัน เช่น มีไข้ อาเจียน หรืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากการรับประทานสิ่งผิดสำแดงเข้าไปหรือหกล้ม เป็นต้น
โครงการปรึกษากุมารแพทย์ทางโทรศัพท์ที่จัดตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการนั้นก็พร้อมให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการคำแนะนำเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ “ไม่รู้ว่าจะจัดการกับอาการของเด็กอย่างไร แต่อาการของเด็กก็ไม่หนักถึงขั้นต้องเรียกรถพยาบาล” หรือ “ไม่สามารถเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลได้เนื่องจากเป็นวันหยุดหรือเวลากลางคืน”
หากคุณกดโทรศัพท์ไปที่หมายเลข #8000 สายจะถูกโอนไปยังศูนย์ให้คำปรึกษาของจังหวัดที่คุณอาศัยอยู่โดยอัตโนมัติ และคุณสามารถขอคำแนะนำจากกุมารแพทย์และพยาบาลเกี่ยวกับการจัดการที่เหมาะสมและโรงพยาบาลที่สามารถเข้ารับการตรวจต่างๆ ได้
คุณสามารถตรวจสอบเบอร์โทรติดต่อและเวลาทำการของแต่ละเขตและจังหวัดได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
▼ เวลาทำการของโครงการปรึกษากุมารแพทย์ทางโทรศัพท์
https://www.mhlw.go.jp/topics/2006/10/tp1010-3.html
เกี่ยวกับพัฒนาการและความพิการของเด็ก
ทางเทศบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้เด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน และ 3 ปี ต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อตรวจดูว่าทารกแรกเกิดเติบโตอย่างสมบูรณ์หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสุขภาพของเด็กอายุ 3 – 4 เดือนซึ่งดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เมื่อใกล้ระยะตรวจสุขภาพ ทางเขตที่คุณอาศัยอยู่ก็จะมีการส่งรายละเอียดต่างๆ ไปให้ที่บ้าน
ในการตรวจสุขภาพ จะมีการตรวจสภาพการเจริญเติบโตของร่างกาย ภาวะโภชนาการ และพัฒนาการทางจิตใจของเด็กว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งตรวจดูว่ามีโรค, ความผิดปกติ, ความขัดข้องทางกายภาพ, ความขัดข้องทางด้านการพูดหรือภาษาบ้างไหม รวมทั้งตรวจสอบว่าเด็กได้รับวัคซีนตามกำหนดหรือเปล่า เป็นต้น และหากมีข้อสงสัยหรือปัญหาเพิ่มเติมก็สามารถขอคำปรึกษาได้เช่นกัน
นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังรับให้คำปรึกษาด้านพัฒนาการของเด็กนอกเวลาตรวจอีกด้วย หากคุณมีข้อกังวลใดๆ เราขอแนะนำให้ค้นหาคำว่า “การสนับสนุนช่วยเหลือด้านพัฒนาการ (発達支援)” หรือ “ให้คำปรึกษาด้านพัฒนาการ (発達相談)” จากหน้าโฮมเพจขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่คุณอาศัยอยู่ดู
เกี่ยวกับการทารุณกรรมเด็ก
หากคุณกลัวว่าจะทำร้ายบุตรหลานของตัวเอง หรือมีเด็กในละแวกบ้านที่สงสัยว่าอาจถูกทารุณกรรม กรุณาติดต่อศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเด็กของเทศบาลในพื้นที่ เพราะนอกจากศูนย์นี้จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทารุณกรรมแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาเรื่องปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การกลั่นแกล้งหรือปัญหาเรื่องพัฒนาการในเด็ก
รายชื่อศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเด็กทั่วญี่ปุ่น
“ศูนย์สนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร” แนะนำสำหรับผู้ที่เลี้ยงเด็กในวัยทารก
เราขอแนะนำ “ศูนย์สนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร (子育て支援センター)” ที่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปขอรับคำปรึกษาขณะที่ปล่อยให้ลูกน้อยเล่นอยู่ในศูนย์ได้อย่างสบายใจ ชื่อเรียกศูนย์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น “ลานกว้างเลี้ยงดูบุตร (子育てひろば)” นอกจากนี้ ภายในศูนย์ยังมีของเล่นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวของบริการให้คำปรึกษานี้ คือ ต้องปรึกษาเจ้าหน้าที่เป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
เนื่องจากศูนย์นี้เปรียบเสมือนสถานที่รวมตัวของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยไล่เลี่ยกัน จึงสามารถผูกสัมพันธ์กับผู้ปกครองคนอื่นได้ง่าย ลองตรวจสอบที่ตั้งศูนย์จากบนเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่คุณอาศัยอยู่ หากมันอยู่ไม่ไกลจากบ้านของคุณ ก็ลองไปขอรับคำปรึกษาดูสิ
“Yorisoi Hotline” ที่ๆ คุณสามารถปรึกษาด้วยภาษาบ้านเกิดได้เมื่อมีเรื่องกลุ้มใจ
หากคุณต้องการปรึกษาปัญหาด้วยภาษาแม่ของตน ให้ติดต่อไปที่ “Yorisoi Hotline (よりそいホットライン)” ซึ่งนอกจากการติดต่อทางโทรศัพท์แล้ว คุณยังสามารถติดต่อผ่าน Messenger ของ Facebook หรือ FAX ได้เช่นกัน ภาษาที่รองรับมีทั้งภาษาจีน, อังกฤษ, อินโดนีเซีย, เกาหลี, เนปาล, โปรตุเกส, สเปน, ตากาล็อก, ไทย และเวียดนาม โดยภาษาที่สามารถปรึกษาได้นั้นจะเปลี่ยนไปตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ด้านล่างนี้
นอกจากจะปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กแล้ว คุณยังสามารถปรึกษาปัญหาเรื่องงานและครอบครัวผ่าน “Yorisoi Hotline” ได้ด้วยเช่นกัน
▼ Yorisoi Hotline ให้คำปรึกษาในภาษาต่างประเทศ
https://www.since2011.net/yorisoi/n2/
ขอคำปรึกษาจากแผนกปรึกษาภาษาต่างประเทศของจังหวัด
หากมีแผนกให้คำปรึกษาเป็นภาษาต่างประเทศในจังหวัดที่คุณอาศัยอยู่ คุณก็สามารถติดต่อไปขอรับคำปรึกษาที่นั่นได้เช่นกัน ลิงก์ที่แนบไว้ด้านล่างนี้ คือ แผนกให้คำปรึกษาปัญหาเป็นภาษาต่างประเทศของโตเกียว
▼ Tokyo International Communication Committee คู่มือการใช้ชีวิตสำหรับชาวต่างชาติ
รายชื่อศูนย์ให้คำปรึกษาประจำจังหวัด เขต และเมืองต่างๆ
https://www.tokyo-icc.jp/guide/consul/01.html
การดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียดได้ง่าย หากคุณมีปัญหาหรือความกังวลเรื่องการเลี้ยงเด็ก ก็อย่าลืมใช้ประโยชน์จากข้อมูลในบทความนี้ดูนะ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่