ระบบรับรองสถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ (JMIP)
JMIP ย่อมาจากคำว่า Japan Medical Service Accreditation for International Patients เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่นสามารถใช้บริการได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล ซึ่งการรับรองนี้จะดำเนินการโดยองค์กรบุคคลที่สาม ทำหน้าที่ประเมินว่าสถานพยาบาลนั้นๆ มีบริการแปลภาษาหรือระบบที่ช่วยรองรับผู้ป่วยต่างชาติไหม สามารถวินิจฉัยโรคในหลายภาษาได้หรือไม่ สามารถรองรับวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกันได้หรือเปล่า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โปรดจำไว้ว่าระบบนี้จะประเมินแค่กลไกการรองรับชาวต่างชาติของสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้ประเมินคุณภาพการรักษา นอกจากนี้ ยังไม่มีการแนะนำสถานพยาบาลใดๆ โดยเฉพาะด้วย คุณจึงต้องหาข้อมูลประกอบการพิจารณาเอาไว้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลและภาษาที่สถานพยาบาลนั้นๆ รองรับ ดังนั้น ขอให้ถือว่า JMIP เป็นเพียงมาตรฐานของสถานพยาบาลที่ชาวต่างชาติสามารถใช้บริการได้ง่ายก็พอ
แนะนำสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง JMIP
ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ผ่าน JIMP อยู่ 78 แห่งทั่วญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2021) ในส่วนนี้เราจะขอแนะนำสถานพยาบาล JMIP หลักๆ ในโตเกียวให้ได้รู้จักกัน
Tokyo Saiseikai Central Hospital (社会福祉法人恩賜財団済生会 東京都済生会中央病院)
ที่นี่ตั้งอยู่ในเขตมินาโตะซึ่งเป็นเขตที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากเป็นอันดับต้นๆ ทั้งยังเป็นโรงพยาบาลศูนย์อพยพประจำเขตในช่วงที่เกิดภัยพิบัติอีกด้วย พนักงานจึงมีทักษะการรับรองชาวต่างชาติที่ค่อนข้างสูง และยังมีล่ามของโรงพยาบาลไว้ให้บริการในกรณีที่จำเป็นด้วย ภาษาหลักๆ ที่โรงพยาบาลนี้รองรับ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, จีน (สำเนียงปักกิ่ง), สเปน, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส และรัสเซีย
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น): https://www.saichu.jp/
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ): https://www.saichu.jp/english/home/
เว็บไซต์ (ภาษาจีนตัวย่อ): https://www.saichu.jp/chinese/top-chinese/
เว็บไซต์ (ภาษาเกาหลี): http://jmip.jme.or.jp/index.php?l=kor
IUHW Mita Hospital (学校法人 国際医療福祉大学 三田病院)
โรงพยาบาลนี้ตั้งอยู่ในย่านที่มีชาวต่างชาติเยอะ มีสถานทูตและสถานกงสุลตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากผ่านการรับรองของ JMIP แล้ว ยังผ่านการรับรองของ JCI (Joint Commission International) ซึ่งเป็นองค์กรประเมินการรักษาพยาบาลระดับนานาชาติของอเมริกาด้วย ที่นี่ให้บริการโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้อยู่อาศัยจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวต่างชาติ ภาษาหลักที่โรงพยาบาลแห่งนี้รองรับ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, จีน (สำเนียงปักกิ่ง), เกาหลี, ฝรั่งเศส
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น): https://mita.iuhw.ac.jp/
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ): https://mita.iuhw.ac.jp/english/
เว็บไซต์ (ภาษาจีนตัวย่อ): https://mita.iuhw.ac.jp/chinese/
Center Hospital of the National Center for Global Health and Medicine (国立研究開発法人 国立国際医療研究センター病院)
โรงพยาบาลแห่งนี้ถือเป็นสถานพยาบาลหลักสำหรับชาวต่างชาติในญี่ปุ่น ที่นี่พยายามส่งเสริมการให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติอย่างเต็มที่ มีการตระเตรียมระบบเชิงองค์กรและบุคลากร สร้างเครือข่ายความร่วมมือภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงมีการจัดอบรมพนักงานในโรงพยาบาล และโครงการฝึกงานแลกเปลี่ยนกับต่างชาติ ทั้งยังจัดตั้ง แผนกวินิจฉัยนานาชาติ (国際診療部) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยต่างชาติเข้ารับการวินิจฉัยได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ภาษาหลักที่ใช้ในโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ คือ ภาษาอังกฤษ จีน (สำเนียงปักกิ่ง) และเวียดนาม
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น): http://www.hosp.ncgm.go.jp/index.html
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ): http://www.hosp.ncgm.go.jp/en/index.html
เว็บไซต์ (ภาษาจีนตัวย่อ): http://www.hosp.ncgm.go.jp/cn/index.html
ข้อควรระวังเวลาเลือกสถานพยาบาล
ถึงแม้จะเป็นสถานพยาบาลที่รองรับชาวต่างชาติเหมือนกัน แต่ทุกที่ก็จะมีรายละเอียดการให้บริการที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เราขอแนะนำให้ตรวจสอบจากทางเว็บไซต์ให้แน่ใจก่อนว่าสถานพยาบาลแห่งนั้นรองรับอาการป่วยของคุณไหม มีบริการในภาษาของคุณหรือเปล่า มีล่ามการแพทย์ แผนกซัพพอร์ตชาวต่างชาติ หรือผู้ช่วยเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาพยาบาลในต่างประเทศไหม รวมถึงสามารถตอบรับข้อเรียกร้องทางศาสนาได้หรือเปล่าด้วย
แนะนำเว็บไซต์ที่มีประโยชน์ยามฉุกเฉิน
สถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง JMIP ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป ทำให้บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องใช้จดหมายส่งตัวและอาจนัดเข้ารับการรักษาได้ยาก อีกทั้งละแวกที่คุณอาศัยอยู่ก็อาจไม่มีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรอง อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นยังมีสถานพยาบาลที่รับรักษาชาวต่างชาติอีกหลายแห่งนอกจากสถานที่ที่ JMIP รับรอง ดังนั้น คุณจึงไม่ต้องกังวลหากพบว่าไม่มีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก JMIP อยู่ใกล้ตัวเลย
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับค้นหาสถานพยาบาลและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเข้ารับการรักษาขึ้นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถติดต่อและเข้าใช้บริการสถานพยาบาลได้อย่างสบายใจ เว็บไซต์นี้สามารถค้นหาสถานพยาบาลที่รองรับภาษาต่างประเทศได้ทั่วญี่ปุ่น ถือว่าน่าใช้งานมากทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจาก JNTO ทั้ง 1,556 แห่งทั่วญี่ปุ่นที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงได้ด้วย เราขอแนะนำให้ตรวจสอบไว้ก่อนว่าที่คุณมีศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวใกล้ๆ หรือไม่ เผื่อกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
เว็บไซต์ (ภาษาญี่ปุ่น): http://www.jnto.go.jp/emergency/jpn/mi_guide.html
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ): http://www.jnto.go.jp/emergency/eng/mi_guide.html
เว็บไซต์ (ภาษาจีนตัวย่อ): http://www.jnto.go.jp/emergency/chs/mi_guide.html
เว็บไซต์ (ภาษาจีนตัวเต็ม): http://www.jnto.go.jp/emergency/chc/mi_guide.html
เว็บไซต์ (ภาษาเกาหลี): http://www.jnto.go.jp/emergency/kor/mi_guide.html
การสนับสนุนจากรัฐบาลต่อสถานพยาบาลและหน่วยงานภาคท้องถิ่น
เมื่อจำนวนผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น จำนวนชาวต่างชาติที่เข้าใช้บริการสถานพยาบาลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงร่วมมือกับหน่วยงานภาคท้องถิ่นและสถานพยาบาลเพื่อออกมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยต่างชาติเข้ารับการรักษาได้ราบรื่นขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
・จัดทำคู่มือสำหรับสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรับรักษาชาวต่างชาติ และเอกสารอธิบายในภาษาต่างๆ สำหรับชาวต่างชาติ
・สร้างเว็บไซต์สำหรับสถานพยาบาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับรักษาชาวต่างชาติ
・สนับสนุนให้มีการว่าจ้างล่ามทางการแพทย์และผู้ช่วยประสานงานในการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติ
・จัดงานส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการรองรับผู้ป่วยต่างชาติ
ส่งท้าย
อาการบาดเจ็บหรือป่วยไข้บางประเภทหากปล่อยไว้ก็อาจสายเกินแก้ เราจึงอยากแนะนำให้คุณหาข้อมูลสถานพยาบาลที่สามารถเข้าใช้บริการได้เอาไว้ล่วงหน้าเผื่อมีเหตุฉุกเฉิน ุถึงแม้แต่ละประเทศจะมีวัฒนธรรมการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน บุคลากรทางการแพทย์ก็จะทุ่มเทรักษาผู้ป่วยอย่างสุดกำลัง หากญี่ปุ่นมีวิธีรักษาใดๆ ที่แตกต่างไปจากประเทศของคุณ ก็ไม่ต้องตกใจไป ขอให้เชื่อใจแพทย์และรับการรักษาอย่างสบายใจกันเถอะ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่