ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเทศกาลประจำปีในแต่ละฤดูเป็นอย่างมากมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการตกแต่งในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือสินค้าต่างๆ จะมีความเกี่ยวข้องกับเทศกาลเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำงานเทศกาลประจำปีต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันให้ทุกคนได้รู้จักกัน
เทศกาลประจำปีคืออะไร
ชาวญี่ปุ่นสัมผัสการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลผ่านวิถีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อุณหภูมิ และความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จึงมีการแบ่งฤดูกาลอย่างละเอียด และกำเนิดเป็นงานเทศกาลต่างๆ ตามฤดูนั้นๆ งานเทศกาลประจำปีเหล่านี้หยั่งรากลึกในวิถีชีวิตของชาวญี่่ปุ่น และยังได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
・วันขึ้นปีใหม่
ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าในทุกๆ วันที่ 1 มกราคมของทุกปี เทพเจ้าประจำปี (年神様) จะมาเยี่ยมเยียนแต่ละบ้าน ดังนั้นชาวญี่ปุ่นจึงนิยมขอพรให้กับเทพเจ้าแห่งปีที่มาเยือนบ้านในวันนั้น ในปีใหม่ที่จะมาถึงมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ให้ทุกคนในบ้านปลอดภัย และมีสุขภาพแข็งแรง
ชาวญี่ปุ่นจะประดับบ้านด้วย “คาโดมัตสึ” (門松 ของประดับบ้าน ทำจากไม้ไผ่และต้นสน) และ “ชิเมคาซาริ“ (しめ飾り ของประดับบ้านศักดิ์สิทธิ์ตามแบบชินโต) เพื่อต้อนรับเทพเจ้า นอกจากนี้ ยังมีคากามิโมจิ หรือโมจิทรงกลมแบนเรียงซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ซึ่งถือเป็น “บ้านพัก” ที่เทพเจ้าจะมาพักนั่นเอง ช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่จนถึงวันที่ 7 มกราคม (ในบางท้องถิ่นอาจถึง 15 มกราคม) จะถูกเรียกว่า matsunouchi (松の内) ซึ่งผู้คนจะตกแต่งบ้านด้วยของประดับปีใหม่และสวัสดีปีใหม่กันและกัน หลังจากนั้น ในวันที่ 11 มกราคม (อาจแตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่น) ซึ่งเรียกว่า kagamibiraki (鏡開き) จะเป็นวันที่จะหั่นแบ่งคากามิโมจิรับประทาน การรับประทานคากามิโมจิที่มีเทพเจ้าพักอาศัยอยู่จะทำให้ได้รับพลังจากเทพเจ้า และเชื่อกันว่าจะทำให้มีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี
・เซตสึบุน (節分 วันสุดท้ายของฤดูหนาว)
เซตสึบุนจัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศญี่ปุ่นใช้ปฏิทินจันทรคติมายาวนาน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นปฏิทินสุริยคติเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน ซึ่งปฏิทินจันทรคติจะนับวันที่ 4 กุมภาพันธ์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งหมายความว่าวันที่ 3 กุมภาพันธ์คือวันสิ้นปีนั่นเอง ชาวญี่ปุ่นในสมัยก่อนเชื่อว่าในวันเปลี่ยนฤดู สิ่งชั่วร้ายจะจะมีโอกาสเข้ามาบ้านได้ง่ายกว่าปกติ จึงเกิดเป็นประเพณีโปรยถั่วขึ้นเพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้าย โดยเมื่อคนที่รับบทเป็นยักษ์เข้ามาในบ้าน คนที่อยู่ในบ้านจะต้องตะโกนว่า “ยักษ์จงออกไป โชคดีจงเข้ามา” พร้อมกับปาถั่วไปที่ยักษ์ หลังจากที่ยักษ์ออกจากบ้านไปแล้วจะต้องรับประทานถั่วจำนวนเท่ากับอายุของตนเองเพื่อขอพรให้ปีนี้เป็นปีที่ดี
ในบางพื้นที่จะตั้งปลาซาร์ดีนหรือปลาอิวาชิ (イワシ) ซึ่งเป็นปลาที่ยักษ์ไม่ชอบมาเสียบด้วยกิ่งของต้นฮอลลี่ (ヒイラギ) ไว้หน้าบ้าน นอกจากนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีวางขายเอโฮมากิ (恵方巻 ข้าวห่อสาหร่าย) ซึ่งเวลารับประทานจะต้องหันหน้าไปทางทิศแห่งโชคดีหรือเอโฮ (恵方) โดยรับประทานแบบไม่หั่น และห้ามพูดอะไรเพราะเชื่อกันว่าหากพูดจะทำให้โชคดีหลุดลอยไปนั่นเอง
・เทศกาลฮินะมัตสึริ (雛祭り) หรือ momonosekku (桃の節句)
เทศกาลฮินามัตสึริเป็นเทศกาลขอพรให้เด็กผู้หญิงเติบโตอย่างมีความสุขและแข็งแรง เทศกาลนี้จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี โดยช่วงระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ บ้านที่มีเด็กผู้หญิงจะตกแต่งบ้านด้วยตุ๊กตาฮินะ (雛人形) และเก็บตุ๊กตาออกทันทีเมื่องานเทศกาลจบลง นอกจากนี้ในวันเทศกาลฮินามัตสึริยังมีการรับประทานฮิชิโมจิ (菱餅 โมจิ 3 สีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน) ฮินาอาราเระ (雛あられ ขนมชนิดหนึ่งทำจากข้าว) และชิราชิซูชิ (ちらし寿司 ข้าวซูชิโรยด้วยเครื่องหลายชนิด) อีกด้วย
ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
เทศกาลดอกไม้หรือฮานามัตสึริ (花まつり)
ฮานามัตสึริเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 8 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า ภายในวัดจะวางศาลาขนาดเล็กประดับด้วยดอกไม้ที่เรียกว่าฮานามิโด (花御堂) ภายในจะมีอ่างน้ำขนาดเล็กใส่ชาหวานอามาจะ (甘茶) และตรงกลางจะวางด้วยรูปปั้นของพระพุทธเจ้าในยามประสูติเอาไว้
ผู้ที่เข้ามาสักการะจะนำชาหวานอามาจะมารดบนเศียรของพระพุทธรูป ประเพณีนี้สืบเนื่องมาจากตำนานที่กล่าวว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประสูติได้มีมังกร 9 ตัวลงมาจากสวรรค์และรินฝนคันโระ (甘露の雨 ฝนที่เปี่ยมไปด้วยพรจากสวรรค์) ลงบนเศียรของพระพุทธเจ้า
・Tangonosekku (端午の節句)
Tangonosekku มีอีกชื่อเรียกว่าเทศกาลเด็กผู้ชาย ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อขอพรให้เด็กผู้ชายเติบโตอย่างมีความสุขและแข็งแรง บ้านที่มีลูกชายจะมีประดับตุ๊กตานักรบมุชานิงเกียว (武者人形) หมวกคาบูโตะ (兜) และธงปลาคาร์พ หมวกคาบูโตะและเสื้อเกราะที่ตุ๊กตานักรบใส่อยู่จะคอยปกป้องร่างกาย ดังนั้นของตกแต่งเหล่านี้จึงแฝงไปด้วยความหมายของการขอพรให้เด็กได้รับการปกป้องจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ส่วนธงปลาคาร์พนั้นเป็นการขอพรให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนกับปลาคาร์พที่มีชีวิตอยู่ได้ทั้งในหนองน้ำและบ่อน้ำ โดยของตกแต่งเหล่านี้จะถูกประดับในช่วงต้นเดือนเมษายน และจะเก็บกวาดทันทีที่เทศกาลจบลง
ในวัน Tangonosekku ทางฝั่งคันโตจะรับประทานคาชิวะโมจิ (柏餅 โมจิห่อด้วยใบคาชิวะหรือใบโอ๊ค) และทางฝั่งคันไซจะรับประทานบ๊ะจ่าง นอกจากนี้ยังมีการแช่น้ำที่ลอยด้วยใบของต้นอายาเมะที่เรียกว่าอายาเมยุ (菖蒲湯) อีกด้วย เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่ากลิ่นที่รุนแรงของอายาเมะจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป โดยใบนี้สามารถซื้อได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงวันใกล้เทศกาลนี้
・โคโรโมกาเอะ (衣替え) หรือวันเปลี่ยนเครื่องแบบ
ในวันที่ 1 มิถุนายนและตุลาคมของทุกปี จะเป็นวันเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นชุดฤดูร้อนและฤดูหนาวของโรงเรียนและหน่วยงานราชการ การเปลี่ยนเครื่องแบบพร้อมๆ กันมีต้นกำเนิดมาจากประเพณีที่ปฏิบัติกันในพระราชวังของประเทศจีน เชื่อกันว่าการเปลี่ยนเครื่องแบบในวันตามปฏิทินจันทรคติจะทำให้ประสบกับโชคดี
ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
・ทานาบาตะ (七夕)
ในคืนวันที่ 7 กรกฎาคม ผู้คนจะเขียนคำอธิษฐานลงบนทันซาคุ (短冊 กระดาษสีทรงยาว) ตกแต่งกิ่งไผ่ และขอพรกับดวงดาว ตามตำนานเจ้าหญิงโอริฮิเมะ (織姫) ผู้มีความสามารถด้านการทอผ้า และคนเลี้ยงวัวชื่อว่าฮิโคโบชิ (彦星) ทั้งสองถูกแยกกันด้วยแม่น้ำอามาโนกาว่า (天の川) และจะข้ามแม่น้ำมาเจอกันได้เพียงปีละ 1 ครั้งในวันทานาบาตะเท่านั้น
・โดโยโนอุชิโนฮิ (土用の丑の日)
โดโย (土用) คือช่วงเวลาเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมีปีละ 4 ครั้ง ส่วนอุชิโนฮิ (丑の日) คือวันฉลูจากการแบ่งวันต่างๆ เป็น 12 นักษัตร แม้ว่าช่วงโดโยจะมีปีละ 4 ครั้ง แต่ในวันอุชิโนฮิของช่วงโดโยในฤดูร้อนจะมีประเพณีการกินปลาไหลเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยจากความร้อน
ต้นกำเนิดของธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีหลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีที่แพร่หลายที่สุดคือ เชื่อกันว่าเมื่อ 300 ปีก่อนหน้านี้มีนักวิชาการคนหนึ่งที่ชื่อว่า Hiraka Gennai (平賀源内) ได้ไปแขวนป้ายที่เขียนว่า “วันนี้เป็นวันโดโยอุชิโนฮิ” ที่หน้าร้านเพื่อช่วยเพื่อนที่ขายปลาไหลจนโด่งดังขึ้น จนวันนี้กลายเป็นวันที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในที่สุด
・โอบง (お盆)
ในแต่ละปี ร้านค้าและบริษัทมักจะหยุดในช่วงช่วงโอบงและปีใหม่ โดยวันหยุดโอบงนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละปี แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นช่วงวันที่ 13 – 16 สิงหาคม ในช่วงนี้ ผู้คนนิยมไปเยี่ยมหลุมศพบรรพบุรุษและการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของตนเอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถไฟชิงกันเซน หรือว่าทางด่วนก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยคนทั้งสิ้น
・เทศกาลชมจันทร์ (お月見)
เทศกาลชมจันทร์จะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (十五夜) ตามปฏิทินจันทรคติ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงต้นเดือนตุลาคม โดยในวันนี้จะมีประเพณีในการถวายหญ้าซูซูกิ (ススキ) และขนมดังโงะแก่เทพเจ้า พร้อมทั้งชมพระจันทร์ หญ้าซูซูกินั้นแฝงไปด้วยความหมายของการไล่สิ่งชั่วร้ายและการขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์
พระจันทร์ในช่วงนี้เรียกว่าพระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วง (中秋の名月) ซึ่งท้องฟ้าจะใสกว่าปกติ ในวันขึ้น 15 ค่ำเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง หรือใกล้เต็มดวง ดังนั้นจะมองเห็นพระจันทร์ได้สวยงามมาก
ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
・คันนะซึกิหรือเดือนไร้เทพเจ้า (神無月)
คันนะซึกิหรือเดือนไร้เทพเจ้า เป็นชื่อเก่าของเดือนตุลาคมในภาษาญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเทพเจ้าทั่วประเทศญี่ปุ่นจะเดินทางไปประชุมกันที่ศาลเจ้าอิซึโมโอยาชิโระหรืออิซึโมะไทชะ (出雲大社) ในจังหวัดทตโตริ (Tottori) ในช่วงเดือนนี้ ทำให้ศาลเจ้าทั่วประเทศจะไม่มีเทพเจ้าประจำอยู่ ดังนั้นเดือนนี้จึงมีชื่อเดิมว่าเดือนไร้เทพเจ้า
หัวข้อที่เทพเจ้าไปประชุมกัน ก็คือเรื่องเกี่ยวกับโชคชะตาของคน ดังนั้นในปัจจุบันศาลเจ้านี้จึงมีผู้คนจำนวนมากมาขอคู่ครองจากเทพเจ้า เพราะเชื่อกันว่าเทพเจ้าเป็นผู้ที่ผูกดวงชะตาของคนเข้าด้วยกันนั่นเอง
・ชิจิโกซัง (七五三)
ช่วงประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน เป็นวันที่คนนิยมไปศาลเจ้าเพื่อขอพรให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงและอายุยืน สำหรับเด็กผู้หญิงจะไปศาลเจ้าตอนอายุ 3 และ 7 ขวบ ส่วนเด็กผู้ชายจะไปศาลเจ้าตอนอายุ 5 ขวบ เด็กที่ไปขอพรที่ศาลเจ้าในช่วงชิจิโกซังมักจะได้รับลูกอมเหนียวทรงงยาวที่เรียกว่าชิโตเสะอาเมะ (千歳飴) ถือเป็นการอวยพรให้เด็กๆ มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวถึง 1,000 ปี เหมือนกับลูกอมนี้ เนื่องจากชิโตเสะมีความหมายว่า 1,000 ปีในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง
・โทริโนอิจิ (酉の市)
โทริโนอิจิ เป็นตลาดกลางแจ้งที่จะถูกจัดขึ้นในวันระกาในยามระกา (17:00 – 19:00 น.) ของเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินเก่าจะมีการแบ่งวันและเวลาตาม 12 นักษัตร ดังนั้นวันระกาจะเวียนมาทุกๆ 12 วัน วันระกาครั้งแรกของเดือนเรียกว่าอิจิโนโทริ (一の酉) และวันระกาครั้งที่สองของเดือนเรียกว่านิโนโทริ (二の酉) ในวันนี้เครื่องรางอย่างแมวกวัก (招き猫) และคราดไม้ไผ่ (熊手) จะขายดิบขายดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่วัดและศาลเจ้าในฝั่งคันโต
・โอมิโซกะ (大晦日) และโจยะโนกาเนะ (除夜の鐘)
โอมิโซกะหมายถึงวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ซึ่งคนในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่และเตรียมตัวสำหรับวันปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีการไปวัดเพื่อตีระฆังตั้งแต่เวลา 5 ทุ่มจนถึงตี 1 ของวันปีใหม่ หรือที่เรียกว่าโจยะโนกาเนะนั่นเอง
หากมาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องเห็นเทศกาลประจำปีและสินค้าที่เกี่ยวข้องผ่านตามาบ้าง ลองมาสนุกกับเทศกาลประจำปีผ่านทางอาหารและการตกแต่งกันเถอะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่