ความลับที่อยู่เบื้องหลังลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่น

Oyraa

ถึงจะไม่เคยมาญี่ปุ่น แต่หลายๆ คนก็มักจะมีภาพจำว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ “ใจดี” และ “เห็นอกเข้าใจผู้อื่น” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจาก “ความอยากที่จะให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด” การสื่อสารเป็นสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมใช้ “Tatemae (建前)” หรือ”การพูดหรือการกระทำที่ลื่นไหลไปตามสถานการณ์” เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งและรักษาความสัมพันธ์ให้ได้มากที่สุด ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปไขความลับที่อยู่เบื้องหลังของนิสัยนี้ โดยวิเคราะห์จากมุมมองของคนที่เกิดและโตขึ้นมาในญี่ปุ่นกัน

ไหลไปตามกระแสได้ง่าย : วิธีคิดที่ว่า “หากคนส่วนมากเห็นว่าถูก ก็ต้องถูกจริงๆ”

Mahathir Mohd Yasin / Shutterstock.com

ที่ญี่ปุ่นการกระทำในฐานะสมาชิกของกลุ่มมักถูกให้ความสำคัญมากกว่าการกระทำในฐานะปัจเจก เช่น หากคนส่วนมากแสดง “พฤติกรรม A” ต่อเรื่องราวอะไรบางอย่าง ก็จะเกิดกระแสว่า “พฤติกรรม A” เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำเมื่อพบกับเรื่องราวนั้นๆ ว่ากันว่าลักษณะเช่นนี้มีที่มาจากการสอนให้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มซึ่งฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมาแต่โบราณ ในขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ก็ยังส่งผลให้ผู้ที่ตีตัวออกห่างจากกลุ่มและผู้ที่เลือกทำอะไรต่างไปจากกลุ่มกลายเป็น “Kusemono (曲者)” ซึ่งหมายถึง คนร้ายหรือคนแปลก ไปโดยปริยาย

แม้ว่าจะเป็นข้อมูลผิดๆ หรือข้อมูลที่ดูไม่น่าเชื่อถือ แต่หากมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มองว่ามันถูกต้องแล้ว มันก็จะกลายเป็นเรื่องถูกต้องไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลที่ถูกต้องก็มักเข้ามาล้มล้างที่ผิดๆ ออกไปในภายหลัง แต่ก็ยังมีคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่มีแนวคิดว่า “ส่วนมากถูก ส่วนน้อยผิด” ถึงกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันจะทำให้สังคมญี่ปุ่นพัฒนาไปมากแล้ว แต่มุมมองที่ว่า “ถึงทุกคนจะต่างกันก็ไม่เป็นไร” ก็ยังไม่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นสักเท่าไร

Michael von Aichberger / Shutterstock.com

ในอีกมุมหนึ่ง วิธีคิดแบบตามน้ำเช่นนี้ก็ทำให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติดีๆ ได้เหมือนกัน คือ ทำให้เกิดความร่วมมือในการรักษากฎสาธารณะ สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การต่อคิวขึ้นรถไฟและรอให้คนลงรถก่อนถือเป็นเรื่องปกติเอามากๆ

การใช้บันไดเลื่อนก็เช่นกัน คนญี่ปุ่นจะแบ่งที่เป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งสำหรับคนขึ้นปกติ และอีกฝั่งหนึ่งสำหรับคนที่เร่งรีบ แม้แต่การต่อคิวตามร้านอาหารดังๆ หรือรอคิดเงินตามร้านสะดวกซื้อก็ยังรักษากฎเกณฑ์กันอย่างเข้มงวด นับว่าเป็นลักษณะนิสัยที่เอาใจใส่ในการสร้างพื้นที่ที่ทั้งตัวเองและผู้อื่นสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ ด้วยเหตุนี้ “การทำตามกลุ่ม” จึงมีทั้งข้อดีและข้อที่ควรปรับปรุงอยู่ในตัวมันเอง

Tatemae มาก่อนใจจริง : วิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นมากกว่าตัวเอง

Deman / Shutterstock.com

คนญี่ปุ่นมักจะแคร์สายตาผู้อื่นในทุกสถานการณ์ อีกทั้งยังเลือกปฏิบัติตัวโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นหลัก ความต้องการที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและต้องการดูดีในสายตาผู้อื่นนี้ เป็นที่มาของธรรมเนียมปฏิบัติแปลกๆ ของคนญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Tatemae” หมายถึง นิสัยที่พยายามทำให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่นมากกว่าตัวเอง แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้คิดแบบนั้นแต่ก็สามารถทำออกมาได้อย่างไม่เคลือบแคลงใจ

คนญี่ปุ่นมักจะเป็นคนขี้อายและไม่ค่อยวางใจคนแปลกหน้า บวกกับความระมัดระวังความรู้สึกและแคร์สายตาคนรอบข้าง ทำให้พวกเขาไม่ค่อยชอบความสัมพันธ์แบบเปิดอกสักเท่าไร ลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้ในสถานการณ์อย่างงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อได้พูดคุยกับคนที่นั่งข้างๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ ก็มักถูกชวนว่า “แล้วมาดื่มด้วยกันอีกนะ” ในฝั่งของผู้ถูกชวนก็มักตอบกลับไปว่า “ชวนมาได้ตลอดเลยนะ”

แต่ในความเป็นจริง การสานต่อสายสัมพันธ์กันจริงๆ กลับมีให้เห็นอยู่น้อยมากๆ แน่นอนว่ามีบางกรณีที่รู้สึกถูกคอและนัดดื่มกันอีกครั้งจริงๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว การสื่อสารของคนญี่ปุ่นมักแฝงไปด้วย Tatemae หรือ “พูดไปโดยที่ไม่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ” อยู่เสมอ นี่ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นต้องการโกหกอีกฝ่าย แต่เนื่องจากแคร์ความรู้สึกคนอื่น ถึงแม้จริงๆ แล้วจะไม่อยากไปดื่ม ก็จะพูดออกไปเพราะไม่ต้องการทำให้เสียบรรยากาศ และไม่ต้องการให้ตัวเองดูไม่ดีในสายตาผู้อื่นนั่นเอง

หลีกเลี่ยงความผิดพลาด : ผลเสียที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับกลุ่ม

คนญี่ปุ่นมักเตรียมตัวให้พร้อมและทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนที่จะกระทำการใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด สิ่งนี้นับว่าเป็นเรื่องปกติมากในสังคมทำงานของญี่ปุ่น บ่อยครั้งมักจะแสดงออกมาในรูปของธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ให้อภัยความผิดพลาดเลยแม้แต่เพียงเล็กน้อย

สาเหตุของมันก็มีที่มาจากระบบการเลี้ยงดูของญี่ปุ่นที่ปลูกฝังให้ “ให้ความสำคัญกับการอยู่เป็นกลุ่ม” ดังที่เราได้พูดถึงกันไปแล้ว และมันก็ส่งผลให้เกิดเป็นกรอบความคิดที่กลัว “การทำอะไรที่แตกต่างไปจากผู้อื่น” ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา แต่เป็น “ความรอบคอบ” เสียมากกว่า

Fiers / Shutterstock.com

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากทำเรื่องผิดพลาดในญี่ปุ่น? ลองมาดูจากกรณีตัวอย่างที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวันกัน
โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนๆ หากในขณะใช้บริการรถไฟหรือรถบัส คุณเกิดเสียการทรงตัวแล้วไปชนคนข้างๆ ขึ้นมา แค่เพียงกล่าว “ขอโทษครับ/ค่ะ” อีกฝ่ายก็จะตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไรครับ/ค่ะ” เรื่องราวก็จะจบลงอย่างนุ่มนวล แต่ในกรณีของญี่ปุ่น แม้ว่าขอโทษไปแล้วคนส่วนใหญ่ก็มักจะนิ่งเฉย บางคนอาจจะดีดลิ้นด้วยความหงุดหงิดเลยก็มี กล่าวคือ รู้สึกรังเกียจคนนอกที่ไม่สามารถรักษากฎระเบียบเหมือนกับคนอื่นๆ ในกลุ่มได้

นี่อาจจะฟังดูใจจืดใจดำ แต่นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่จะปฏิเสธเสียไม่ได้เลย แน่นอนว่ายังมีคนใจดีอยู่จำนวนหนึ่งที่เมื่อกล่าวขอโทษแล้วก็จะตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรื่องแค่นี้เอง” แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าธรรมเนียม “คนทำผิด คือ คนร้าย” ก็ฝังลึกอยู่แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ แม้กรณีที่ถึงขั้นดีดลิ้นนั้นจะไม่ได้มีให้พบเห็นบ่อยๆ แต่การนิ่งเฉยต่อคำขอโทษของคนแปลกหน้าก็เป็นวิธีปฏิบัติที่ค่อนข้างปกติมากในญี่ปุ่น

VTT Studio / Shutterstock.com

ความผิดพลาดนี้ไม่เกี่ยงว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว มันจะถูกตีตราว่าเป็นสิ่งไม่ดีเหมือนกันหมด ด้วยความเข้มข้นของธรรมเนียมห้ามผิดพลาดนี้ บางคนถึงกับเรียกญี่ปุ่นว่าเป็น “สังคมที่ไม่มีโอกาสที่สอง” เลยทีเดียว 

ในด้านการทำงานเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดเล็กหรือใหญ่ คนญี่ปุ่นจะตรวจสอบสาเหตุของมันอย่างถี่ถ้วน และค้นหาคนที่ต้องรับผิดชอบความผิดนั้นๆ กล่าวคือ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามว่า “มันเกิดขึ้นได้อย่างไร” มากกว่า “จะทำอย่างไรต่อจากนี้”

ตัวอย่างเช่น หากพยายามพัฒนารูปแบบธุรกิจใดๆ ที่ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนก็จะถูกต่อว่าได้ง่าย และแม้ว่ามันจะประสบผลสำเร็จ ก็จะไม่ได้รับความสนใจจากสังคมมากเท่ากับตอนที่ถูกต่อว่า ธุรกิจบุกเบิกเช่นนี้กว่าจะได้รับการประเมินค่าจริงๆ ในญี่ปุ่นก็ต้องใช้เวลาหลายปี มิหนำซ้ำยังต้องมีผลงานเด่นๆ ออกมาให้เห็นกันด้วย เป็นโครงสร้างสังคมที่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ได้ยากถึงขนาดนั้นเลยจริงๆ

MrB11 / Shutterstock.com

เดิมทีคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตจากความผิดพลาด ดังที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Winston Churchill ได้กล่าวไว้ว่า “If you don’t make mistakes, you aren’t really trying.” (หากคุณไม่พลาด นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้พยายามไปกับมันจริงๆ) ทั้งๆ ที่ความผิดพลาดเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโต แต่คนญี่ปุ่นกลับตกอยู่ในวังวนของแนวคิดทำนอง “ความเห็นของคนส่วนมากนั้นถูกต้อง” และ “ถ้าผิดแล้วจะทำอย่างไรดี…” จนทำให้กลัวความผิดพลาด ผลที่ตามมา คือ เกิดเป็นนิสัยประจำชาติที่ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น หรือเลือกเฉพาะวิธีที่ตัวเองคุ้นเคยเพื่อที่จะเลี่ยงความผิดพลาดให้ได้มากที่สุดก็ตาม

การให้ค่าแบบอนุรักษ์นิยม : ผลพวงจากโครงสร้างสังคมและระบบการศึกษาของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นที่เอนเอียงไปกับคนส่วนมาก เห็นว่าความผิดพลาดเป็นสิ่งไม่ดี และปกปิดใจจริงเพื่อเลี่ยงความขัดแย้งนี้ ยังได้ให้กำเนิดแนวคิดที่ “อนุรักษ์นิยม” และ “ต่อต้านต่างชาติ” ไว้อีกด้วย หรือจะพูดให้ถูกก็คือ ทั้งๆ ที่รับเอาสิ่งต่างๆ จากต่างชาติเข้ามามากมาย แต่กลับมีโครงสร้างที่ต่อต้านคนต่างชาติอยู่เช่นกัน

ในส่วนของ “สิ่งต่างๆ จากต่างชาติ” นั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ “อาหาร” การรับเอาอาหารจากต่างชาติเข้ามานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เราสามารถหารับประทานอาหารแบบญี่ปุ่นๆ อย่างราเมงและซูชิได้ทั้งในและนอกญี่ปุ่น แน่นอนว่าอาหารจากประเทศอื่นๆ อย่างแม็กซิกัน ฝรั่งเศส จีน ไทย เวียดนาม ไต้หวัน หรือเกาหลีก็เช่นเดียวกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นแตกต่างออกไป คือ ความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากไม่เพียงรับเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมด้วย นำทาโก้จากแม็กซิโกมาทำเป็นข้าวทาโก้ นำออมเล็ตจากฝรั่งเศสมาทำเป็นออมไรส์ นำพิซซ่าจากอิตาลีมาทำเป็นพิซซ่าแบบญี่ปุ่นที่ใส่ข้าวโพดและมายองเนสลงไป หรือจะเป็น “นโปลีทัน” เมนูพาสต้าที่นำเส้นสปาเก็ตตี้มาผัดกับซอสมะเขือเทศ หัวหอม พริกหยวก และแฮม รวมไปถึงพาสต้าแบบญี่ปุ่นที่ใส่ไข่ปลาทาราโกะหรือเมนไทโกะลงไป นอกจากนี้ยังมีเมนูแปลกๆ อย่างโดเรีย เมนูคล้ายกราแตงที่นำครีมซอสและชีสไปโปะอยู่บนข้าวพิลาฟ มีการนำอาหารชื่อดังต่างๆ มาดัดแปลงในสไตล์ญี่ปุ่น และเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนมาก ไอเดียและความยืดหยุ่นในการรับ “สิ่งต่างๆ จากต่างชาติ” ของญี่ปุ่นนั้นล้ำลึกและน่าสนใจมากเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในด้านภาษาต่างชาติเองก็ยังถูกรับเข้ามาโดยเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของอักษรคาตาคานะ คนญี่ปุ่นจึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะได้สัมผัสกับสิ่งที่มีที่มาจากต่างชาติ

อีกด้านหนึ่ง หากเกี่ยวกับคนต่างชาติแล้วเรื่องก็จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และมีแนวโน้มสูงที่จะให้การปฏิบัติในเชิงต่อต้านขึ้นมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ กรณีที่ชาวต่างชาติย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น การตรวจสอบต่างๆ จะเข้มงวดเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่สถานที่ให้เช่าหลายแห่งมีกฎ “ปฏิเสธชาวต่างชาติ” โดยไม่สนว่าเขาเป็นใคร ทำงานอะไร มีลักษณะนิสัยแบบไหน

แน่นอนว่าจากการที่ญี่ปุ่นมีกฏเกณฑ์เฉพาะตัวอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ในอดีตมีผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎและถูกขอให้ย้ายออก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอพาร์ทเมนต์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีกฎไม่รับชาวต่างติ หลายกรณีที่แม้ว่าจะดำเนินเรื่องไปจนถึงขั้นอนุมัติให้เข้าอยู่หรือไม่แล้ว แต่ก็ต้องมาถูกปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเพราะเป็นชาวต่างชาติ

Cidale Federica / Shutterstock.com

หลายคนอาจคิดว่าสิ่งนี้อาจไม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยว แต่ในความจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น ร้านอาหารหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นหรือร้านอาหารจีน มักมีพนักงานที่นำเรื่องกำแพงภาษามาใช้เป็นเหตุผลเพื่อปฏิเสธชาวต่างชาติ แน่นอนว่าแม้แต่ในญี่ปุ่นเองร้านที่รองรับหลายภาษาก็ค่อยๆ เพิ่มตัวมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันร้านที่ไม่ปรับตัวเลยก็มีอยู่มากเช่นกัน สิ่งนี้นอกจากสาเหตุที่ไม่สามารถพูดภาษาต่างชาติได้แล้ว ยังเกี่ยวข้องอยู่กับเหตุผลอีกหลายอย่าง เช่น “ไม่มีเวลารองรับกรณีพิเศษ” และ “มีรายได้หลักจากแขกขาประจำชาวญี่ปุ่น” เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎและมารยาทต่างๆ อยู่มาก ตั้งแต่วิธีขึ้นรถไฟไปจนถึงวิธีจับตะเกียบ คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกไม่สบายใจต่อชาวต่างชาติที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมารยาทเหล่านั้นได้ โดยไม่สนว่าชาวต่างชาติคนนั้นจะรู้หรือไม่ว่ามีกฏเกณฑ์และมารยาทดังกล่าวอยู่

ปกติแล้วการเปิดรับชาวต่างชาติมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องดีเสมอ “อคติ” และ “แรงกดดันจากคนรอบข้าง” แบบเฉพาะตัวของคนญี่ปุ่นนี้หากหายไปได้ก็คงจะดีกว่า อย่างไรก็ตามในกรณีของญี่ปุ่น กลับมีบรรยากาศที่มองว่าการเข้ามาแทรกแซงของชาวต่างชาติต่างหากที่เป็นพิษภัย โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ควรเปลี่ยนวิธีปฏิบัติแบบคนญี่ปุ่น” และพยายามเชื้อเชิญให้ผู้อื่นเห็นด้วยว่า “คนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎของกลุ่มได้ คือ คนไม่ดี”

สรุป

Mac Odolinski / Shutterstock.com

ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือวัฒนธรรมล้ำยุคอันมีเอกลักษณ์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์มากมาย อย่างไรก็ตาม ในสังคมปัจจุบันที่กระแสโลกาภิวัตน์พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นก็ยังล้าหลังประเทศอื่นๆ อยู่มาก โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวต่างชาติและมุมมองที่มีต่อการสื่อสาร หากพวกเขาสามารถนำเอาวัฒนธรรมเก่าและใหม่ที่มีอยู่มากมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รับฟังความเห็นที่แตกต่าง นำวิธีคิดใหม่ๆ เข้ามาใช้ พูดกันอย่างจริงใจในเวลาที่จำเป็น และปรับตัวเป็นสังคมที่ยอมรับความแตกต่างได้แล้ว ญี่ปุ่นก็จะสามารถกลายเป็นประเทศที่สวยงามและน่าอยู่อย่างแท้จริงได้แน่นอน

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: