คุณอาจกำลังวางแผนอย่างพิถีพิถันกับทริปญี่ปุ่นที่กำลังจะมาถึง แต่เคยคิดไหมคะว่าจะทำอย่างไรหากเกิดภัยธรรมชาติในระหว่างที่คุณอยู่ที่ญี่ปุ่น ดังนั้นอย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสิ่งเหล่านี้ก่อนไปญี่ปุ่นกันนะคะ!
จากการพยากรณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ในปี 2018 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานส่งเสริมการวิจัยแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น มีความเป็นไปได้สูงที่พื้นที่มหานครโตเกียว (รวมไปถึงจังหวัดโตเกียวและเมืองโยโกฮาม่า มิโตะและชิบะ) จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงต่ำกว่าระดับ 6 หรือสูงกว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า
โปรดจำไว้ว่านี่คือวิธีการเอาตัวรอดในกรณีเกิดภัยธรรมชาติระหว่างที่คุณอยู่ในประเทศญี่ปุ่น
พกบัตรประจำตัวติดตัวตลอดเวลา
ในประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติทุกคนนั้นต้องพกบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตติดตัวไว้ แต่ในฐานะที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คุณอาจลังเลที่ต้องพกพาสปอร์ตติดตัวตอนออกไปเดินเที่ยว โดยเฉพาะถ้าคุณมีแพลนที่แน่นตลอดทั้งวัน
ข้อแนะนำคือให้คุณถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ต สำเนาวีซ่าหรือใบอนุญาตลงสู่พื้นดิน (Landing permit) แบบสีเอาไว้แล้วเก็บแยกไว้จากกระเป๋าสตางค์ และหากคุณต้องการทำสำเนาเพิ่มในระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น คุณก็สามารถใช้บริการเครื่องถ่ายเอกสารที่มีหลากหลายภาษาให้ใช้งานในร้านสะดวกซื้อได้อย่างง่ายดาย
อย่าลืมเอาสำเนาหน้าหน้าพาสปอร์ต เอกสารการเดินทาง ชื่อและที่อยู่ของคุณในญี่ปุ่นให้กับญาติหรือเพื่อนของคุณก่อนออกเดินทาง และสุดท้ายนี้อย่าลืมส่งอีเมลล์แนบไฟล์ที่สแกนหน้าพาสปอร์ตของคุณและข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นที่อยู่บ้านหรือเบอร์ติดต่อฉุกเฉินเข้าอีเมลล์ของตัวคุณเองไว้ด้วยล่ะ
ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา
อย่าลืมพก pocket Wi-Fi สายชาร์จมือถือ หรือแบตเตอรี่สำรองซึ่งจะช่วยให้คุณไม่พลาดการติดตามข่าวสารอย่างทันท่วงที และรายงานสถาณการณ์ของคุณให้กับครอบครัวและเพื่อนๆ คุณได้อีกด้วย
มีแอปพลิเคชั่นฟรีมากมายที่รองรับภาษาอังกฤษ ซึ่งจะคอยให้ข้อมูลและการแจ้งเตือนผู้ที่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นไม่มากนักเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิ
NHK World TV : แจ้งเตือนแผ่นดินไหวและสึนามิควบคู่ไปกับอัพเดตเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ
Yurekuru Call : แจ้งเตือนก่อนเกิดแผ่นดินไหว และข้อมูลข่าวสารตามเวลาจริงจากผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเกี่ยวกับความรุนแรงในการเกิดแผ่นดินไหว
Japan Shelter Guide : ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิตามเวลาจริง รวมถึงตำแหน่งของศูนย์อพยพ สถานพยาบาลและแหล่งน้ำกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น
คอยสังเกตป้ายทางออกฉุกเฉิน
พื้นที่อพยพมักจะเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ (緊急避難場所, kinkyu hinan basho) ในขณะที่โรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมจะใช้เป็นศูนย์อพยพ (避難所, hinan jo) ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ในกรณีที่เกิดสึนามิ คุณจะต้องไปยังจุดอพยพสึนามิที่ใกล้ที่สุด (津波緊急避難場所, tsunami kinkyu hinan basho) หรือตึกสำหรับอพยพสึนามิ (津波避難ビル, tsunami hinan biru) ทันที
การเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
หากคุณอยู่ข้างนอก…
หนีให้ห่างจากตึก เสาไฟ และหาพื้นที่โล่ง คอยระวังเศษซากปรักหักพัง กระจก ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้ายสัญญาณ เศษกำแพงคอนกรีตต่างๆ และหากคุณอยู่ใกล้ชายฝั่งให้ขึ้นที่สูงเพื่อหาที่หลบภัยทันที
หากคุณอยู่ภายในอาคาร…
พยายามอย่าวิ่งออกจากตัวอาคารหากรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรง ในกรณีที่มีการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ให้ปกป้องร่างกายและศีรษะของคุณโดยหลบใต้เฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรง หากไม่มีที่ให้คุณสามารถหลบได้ จำไว้ว่าอยู่ให้ห่างจากกระจก อย่าอยู่ใต้หลอดไฟติดผนัง ป้องกันศีรษะและคอของคุณในขณะที่หมอบลงกับพื้น
แม้การสั่นสะเทือนจะหยุดลงแล้ว แต่ให้จำไว้ว่าอาฟเตอร์ช็อกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ คุณจะออกไปนอกอาคารได้ก็ต่อเมื่อโครงสร้างของอาคารได้รับการประเมินความเสียหายแล้วเท่านั้น คอยอัปเดตข่าวสารตลอดเวลา และห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด
หากคุณอยู่ภายในลิฟต์…
ลิฟต์ที่ติดตั้งหลังปี 2009 นั้นจะติดตั้งระบบเซ็นเซอร์หยุดฉุกเฉินซึ่งจะทำงานเมื่อตรวจพบคลื่นแผ่นดินไหว หากเกิดแผ่นดินไหว ลิฟต์จะหยุดที่ชั้นที่ใกล้ที่สุดและประตูจะเปิดออก จากนั้นให้คุณรีบอพยพออกจากตึกอย่างระมัดระวังโดยใช้บันได
อย่างไรก็ตาม หากเกิดแผ่นดินไหวในระหว่างใช้งานลิฟต์รุ่นเก่าอยู่ ให้กดปุ่มชั้นที่ใกล้ที่สุดและออกจากลิฟต์ทันที
สุดท้ายนี้ ลิฟต์ทุกตัวจะมีการติดตั้งปุ่มเรียกฉุกเฉิน (Emergency Call button) ที่สามารถใช้สื่อสารกับภายนอกได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น
หากคุณอยู่ในรถไฟ หรือรถไฟใต้ดิน…
รถไฟในญี่ปุ่นเกือบทุกขบวนจะหยุดให้บริการในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 5 หรือสูงกว่า และจะกลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อได้รับการยืนยันแล้วว่าปลอดภัยและรางรถไฟสามารถใช้งานได้
หากรถไฟหยุดกะทันหันเนื่องจากแผ่นดินไหว คุณต้องทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รถไฟ ไม่ออกจากรถไฟจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้ออกไปได้
ความล่าช้าของขบวนรถไฟที่เกิดจากแผ่นดินไหวจะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเกิดความแออัด ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว วันที่ 11 มีนาคม 2011 รถไฟในเขตมหานครโตเกียวหยุดให้บริการนานกว่า 6 ชั่วโมง ผู้ใช้บริการรถไฟหลายคนต้องเปลี่ยนไปใช้บริการรถไฟสายอื่นหรือเดินหลายชั่วโมงกลับบ้าน และอีกหลายคนที่ยังคงอยู่ในออฟฟิศเพื่อรอจนกว่ารถไฟจะกลับมาให้บริการ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “รับมืออย่างไรหากเกิดเหตุการแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น.”
พกเหรียญและเงินสดสำรองติดตัวเสมอ
แม้ว่าคุณจะสามารถใช้ชีวิตในญี่ปุ่นด้วยบัตรเครดิตและบัตรเติมเงิน IC การ์ด แต่คุณก็ควรพกเหรียญ 10 เยน และ 100 เยนรวมทั้งแบงค์ 1,000 เยนอีกสักหน่อยติดตัวเอาไว้ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดไฟดับเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
เพราะในบางครั้ง คุณอาจจำเป็นต้องใช้เงินสดหรือเหรียญสำหรับการซื้อเสบียง เครื่องดื่ม หรือของใช้ส่วนตัวต่างๆ โดยเฉพาะหากเกิดไฟดับขึ้นมา
โดยปกติจะมีตู้โทรศัพท์สาธารณะตามสถานีรถไฟ สถานพยาบาล หน่วยงานราชการ และศูนย์อพยพฉุกเฉิน ซึ่งบางตู้ที่สามารถโทรไปต่างประเทศได้นั้นจะมีเขียนกำกับไว้ว่า 国際通話利用可 ( kokusai denwa riyo ka)
ระวังตัวและตื่นตัวอยู่เสมอ
อย่าปล่อยให้โอกาสในการเกิดภัยธรรมชาติทำให้คุณเสียโอกาสในการไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่นเลย ลองใช้เคล็ดลับต่างๆ ในบทความนี้เพื่อให้คุณสามารถเที่ยวได้อย่างปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่นดีกว่า
ทีนี้คุณคงจะทราบแล้วว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรหากมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นระหว่างที่คุณพำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะได้พบเจอกับการเดินทางที่แสนพิเศษและได้ค้นพบความงดงามของประเทศนี้!
Header credit: KenSoftTH/Shutterstock.com
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่