ภาษาถิ่น (方言) ก็คือภาษาเฉพาะที่ใช้กันในแต่ละพื้นที่ ประเทศอย่างญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยเกาะมากมายตั้งแต่เหนือจรดใต้นั้นย่อมไม่แปลกที่จะมีภาษาถิ่นหลากหลายต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ในบทความนี้เราจะมานำเสนอคำที่มีความหมายต่างออกไปโดยสิ้นเชิงเมื่อนำไปใช้ในคนละภูมิภาค รวมถึงวิธีใช้คำเหล่านั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไปพร้อมกันเลย!
ภาษาถิ่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครระบุได้แน่ชัดว่าภาษาถิ่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ก็มีทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอยู่ 2 ทฤษฎี ดังนี้
ทฤษฎีแรกกล่าวว่าเกิดจากการถ่ายทอดข้อมูลที่ต้องใช้เวลานานเนื่องจากการเดินทางในสมัยก่อนไม่ได้สะดวกเหมือนอย่างในปัจจุบัน เช่น สมมติว่ามีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นในโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น คำนั้นก็จะถูกส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มจากพื้นที่รอบโตเกียวก่อนจะกระจายไปยังฮอกไกโดทางตอนเหนือและโอกินาว่าทางตอนใต้
หากเป็นในปัจจุบันที่มีการคมนาคมขนส่งที่ดี มีโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูล ก็จะสามารถแพร่กระจายคำศัพท์ใหม่เหล่านั้นไปได้ทันที แต่สมัยก่อนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตและการคมนาคมก็ไม่ได้สะดวกเหมือนในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีคนเดินทางผ่านไปมาระหว่างจังหวัดมากนัก วิธีการส่งข้อมูลก็ใช้คนเป็นสื่อกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ การกระจายคำศัพท์ใหม่ไปยังภูมิภาคต่างๆ จึงทำได้ช้ากว่ามาก กว่าจะกระจายไปทั่วประเทศได้อาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว แถมกว่าจะเข้าไปถึงภูมิภาคต่างๆ คำเหล่านั้นก็อาจจะล้าสมัยไปแล้วในโตเกียว ในขณะที่คำใหม่ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าเมื่อเกิดกระบวนการนี้ขึ้นซ้ำๆ ก็จะมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ที่ยังใช้คำนั้นอยู่กับพื้นที่ที่ไม่มีคำนั้นแล้ว จนกลายเป็นภาษาถิ่นในที่สุด
ทฤษฎีที่สอง คือ สมัยก่อนแต่ละภูมิภาคจะประกอบขึ้นเป็น “คุนิ (kuni / ประเทศ)” ว่ากันว่าแต่ละคุนิก็สร้างคำของตัวเองขึ้นมาซึ่งใช้กันภายในคุนินั้น และได้กลายเป็นภาษาถิ่นในเวลาต่อมา
แนะนำภาษาถิ่นน่ารู้ คำเดียวกันแต่ความหมายต่างกัน!
(1) ภูมิภาคฮอกไกโด และโทโฮคุ
ゴミを「なげる」(Gomi wo nageru)
ถ้าพูดถึงคำว่า「なげる (nageru)」ในภาษามาตรฐานจะเห็นภาพเป็นการโยนของออกจากมือ แต่ในแถบฮอกไกโดและโทโฮคุ「なげる」จะหมายถึง “ทิ้ง” หรือก็คือ ถ้าพูดว่า「ゴミをなげる (gomi wo nageru)」จะหมายถึง “ทิ้งขยะ” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「このゴミなげておいて!」
(kono gomi nagete oite!)
ความหมาย → 「このゴミ捨てておいて! 」
(kono gomi sutete oite!)
คำแปล → เอาขยะไปทิ้งด้วย!
ระวังอย่าเอาขยะไปโยน (なげる) จริงๆ ล่ะ!
体が「こわい」(Karada ga kowai)
ในภาษามาตรฐาน「こわい (kowai)」อาจจะหมายถึง “น่ากลัว” แต่ในแถบฮอกไกโดและโทโฮคุ คำนี้จะแปลว่า “เหนื่อย” หรือ “เจ็บปวด” ดังนั้นประโยคว่า「体がこわい (karada ga kowai)」จึงหมายถึง “ร่างกายอ่อนล้า” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「仕事が忙しかったから体がこわい」
(shigoto ga isogashikatta kara karada ga kowai)
ความหมาย → 「仕事が忙しかったから体が疲れた」
(shigoto ga isogashikatta kara karada ga tsukareta)
คำแปล → เพราะงานยุ่งมาก เลยทำงานจนร่างกายล้าไปหมด
นอกจากนี้ยังใช้ในกรณีรู้สึกป่วยหรือสภาพร่างกายไม่ค่อยดีได้ด้วย เช่น 「なんか体がこわい (nanka karada ga kowai)」ในที่นี้จะหมายถึง “รู้สึกไม่ค่อยสบายเลย” นั่นเอง
ส่วนในโอซาก้า คำว่า「こわい (kowai)」จะหมายถึง “ยาก” จึงจะเห็นได้ว่าในแต่ละพื้นที่ก็มีวิธีใช้ในรูปแบบที่ต่างกันไป
(2) ภูมิภาคชูบุ
靴が「きもい」(Kutsu ga kimoi)
คำว่า「きもい (kimoi)」เป็นภาษาวัยรุ่นที่ย่อมาจากคำว่า「気持ち悪い (kimochi warui)」แปลว่า “รู้สึกไม่ดี รังเกียจ หรือขยะแขยง” แต่ในจังหวัดไอจิ และจังหวัดกิฟุ คำนี้มีความหมายว่า “คับแน่น” หรือ “คับแคบ” กล่าวคือ「靴がきもい (kutsu ga kimoi)」ในที่นี้จะแปลว่า “รองเท้าคับ” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「この洋服、少しきもいな~」
(kono youfuku sukoshi kimoina)
ความหมาย → 「この洋服、少しきついな~」
(kono youfuku sukoshi kitsuina)
คำแปล → เสื้อตัวนี้ออกจะคับไปหน่อยนะ
ถ้าลองรองเท้าหรือเสื้อผ้าแล้วรู้สึกว่าไซส์เล็กไป หรือรู้สึกว่าที่นั่งหรือห้องแคบเกินไป ก็ลองพูดแบบนี้ดูนะ
体調が悪い友達のために「からかった(からかう)」(Karakatta)
ในภาษามาตรฐาน「からかう (karakau)」หมายถึง “ทำให้ลำบากใจ” หรือ “เล่นแผลงๆ” แต่ในจังหวัดยามานาชิคำนี้หมายถึง “ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้” หรือก็คือ「体調が悪い友達のためにからかった (taichou ga warui tomodachi no tame ni karakatta)」จะหมายความว่า “ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อเพื่อนที่กำลังป่วย” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「一生懸命からかって、やっと直した」
(issyoukenmei karakatte yatto naoshita)
ความหมาย → 「一生懸命手を尽くして、やっと直した」
(issyoukenmei tewo tsukushite yatto naoshita)
คำแปล → หลังจากที่พยายามทำทุกวิถีทาง สุดท้ายก็แก้ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้เมื่อต้องการบอกว่าพยายามลองผิดลองถูกเพื่อทำบางอย่างอยู่ ถ้าอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ แบบนี้ก็ลองเอาคำนี้ไปใช้ดูนะ
(3) ภูมิภาคคันไซ
本を「なおす」(Hon wo naosu)
ในภาษามาตรฐาน「なおす (naosu)」หมายถึง “ซ่อมแซม” หรือ “รักษา” แต่ในคันไซจะแปลว่า “เก็บกวาดทำความสะอาด” หรือ “จัดให้เป็นระเบียบ” ดังนั้น「本をなおす (hon wo naosu)」ในที่นี้จะหมายความว่า “จัดหนังสือ” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「洗濯物をなおしておいて!」
(sentakumono wo naoshite oite!)
ความหมาย → 「洗濯物を片付けておいて!」
(sentakumono wo katazukete oite!)
คำแปล → เอาผ้าไปซักด้วย!
นอกจากนี้ในภูมิภาคชูโกคุ และคิวชูเองก็ใช้คำว่า「なおす (naosu)」ในความหมายว่า “เก็บกวาดทำความสะอาด” หรือ “จัดให้เป็นระเบียบ” ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นถ้าอยากจัดหรือทำความสะอาดอะไรสักอย่างก็ลองเอาคำนี้ไปใช้ดูได้
机を「つる」(Tsukue wo tsuru)
ในภาษามาตรฐาน「つる (tsuru)」หมายถึงการเกี่ยวและพยุงสิ่งของไม่ให้หล่น แต่ในจังหวัดมิเอะ คำนี้จะแปลว่า “ขนย้าย” ดังนั้น「机をつる (tsukue wo tsuru)」จะหมายถึง “ขนย้ายโต๊ะ” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「この荷物をあそこまでつってください」
(kono nimotsu wo asoko made tsutte kudasai)
ความหมาย → 「この荷物をあそこまで運んでください」
(kono nimotsu wo asokomade hakonde kudasai)
คำแปล → ช่วยขนสัมภาระไปวางไว้ตรงโน้นให้หน่อยนะ
นอกจากนี้ในจังหวัดกิฟุและจังหวัดไอจิเองก็แปลคำนี้เป็นคำว่า “ขนย้าย” เหมือนกัน ดังนั้นถ้าต้องไปขนของหรืออยากให้คนอื่นช่วยขนของให้ ก็สามารถนำคำนี้ไปใช้ได้
(4) ภูมิภาคชูโกคุ และชิโคคุ
人が「もえる」(Hito ga moeru)
ในภาษามาตรฐาน「もえる (moeru)」จะหมายถึงสภาวะที่เปลวไฟกำลังลุกไหม้ แต่ในจังหวัดทตโตริ และจังหวัดโทคุชิมะ คำนี้จะหมายถึง “เพิ่มขึ้น” ดังนั้น「人がもえる (hito ga moeru)」จะหมายถึง “มีคนเพิ่มขึ้น” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「気づいたら財布の中のお金が燃えていた」
(kizuitara saifu no nakano okane ga moeteita)
ความหมาย → 「気づいたら財布の中のお金が増えていた」
(kizuitara saifu no nakano okane ga fueteita)
คำแปล → รู้ตัวอีกที เงินในกระเป๋าสตางค์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังใช้ในความหมายว่า「大きくなる (okikunaru)」หรือ “การเติบโต” ได้ด้วย ดังน้ัน 「畑で育てていた野菜がもえた (hata de sodateita yasai ga moeta)」ก็จะแปลได้ว่า “ผักที่ปลูกในไร่โตแล้ว”
お腹が「おきる」(Onaka ga okiru)
ในภาษามาตรฐาน「おきる (okiru)」แสดงถึงสภาวะที่เปลี่ยนจากการนอนราบเป็นตั้งตรง (ตื่น) แต่ในจังหวัดคากาวะ (Kagawa) และโทคุชิมะคำนี้จะความหมายว่า “อิ่ม” ดังนั้น「お腹がおきる (onaka ga okiru)」จึงหมายความว่า “อิ่มแล้ว” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「お腹がおきるものが食べたい」
(onaka ga okiru mono ga tabetai )
ความหมาย → 「お腹がいっぱいになるものが食べたい」
(onaka ga ippai ni narumono ga tabetai)
คำแปล → อยากกินอะไรให้อิ่มท้อง
ถ้าอยากจะพูดว่าอิ่มแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลังมื้ออาหารหรือก่อนทานข้าวที่ยังรู้สึกอิ่มจากมื้อที่แล้วอยู่ ก็ลองเอาคำนี้ไปใช้กันได้เลย
(5) ภูมิภาคคิวชู และโอกินาว่า
服が「いやらしい」(Fuku ga iyarashii)
ในภาษามาตรฐาน คำว่า「いやらしい (iyarashii)」หมายถึง “น่ารังเกียจ” แต่ที่จังหวัดซากะคำนี้จะแปลว่า “น่ารัก” หรือก็คือถ้าพูดว่า 「服がいやらしい (fuku ga iyarashii)」ก็จะหมายถึง “เสื้อผ้าน่ารัก” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「今日の髪型、やらしかねー(いやらしい)」
(kyou no kamigata yarashikane~)
ความหมาย →「今日の髪型、かわいいねー」
(kyou no kamigata kawaiine~)
คำแปล → วันนี้ทำผมมาน่ารักจังเลยนะ~
ตอนได้ยินคำว่า「いやらしい (iyarashii)」ในแบบภาษาถิ่นครั้งแรกอาจจะน่าตกใจไม่น้อย เพราะความหมายต่างจากภาษากลางโดยสิ้นเชิง แต่ถึงอย่างนั้นคำนี้ก็นับเป็นคำชมที่ดีคำหนึ่ง ถ้าอยากจะชมใครสักคนหรือเห็นอะไรน่ารักๆ ก็อย่าลืมเอาคำนี้ไปลองใช้ดูล่ะ!
私も「かたらして(かたる)」(Watashi mo katarashite)
ในภาษามาตรฐาน 「かたる (kataru)」 หมายถึง “การพูด” หรือ “โป้ปดหลอกลวง” แต่ในจังหวัดฟุกุโอกะคำนี้หมายถึง “การเข้ากลุ่ม” หรือ “การเข้าร่วม” ดังนั้น ถ้าพูดว่า「私もかたらして (watashi mo katarashite)」จะหมายถึง “ให้ฉันเข้าร่วมกลุ่มด้วยสิ” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「〇〇もゲームにかたる?」
(〇〇mo ge-mu ni kataru?)
ความหมาย → 「〇〇もゲームに参加する?」
(〇〇mo ge-mu ni sanka suru?)
คำแปล → 〇〇 จะมาเล่นเกมด้วยกันไหม
ถ้ามีโอกาสไปร่วมกิจกรรม หรืออยากชวนเพื่อนไปไหนด้วยกัน ก็ลองเอาคำนี้ไปใช้ดูนะ
もう帰りましょうね (しましょうね) (Mou kaerimashoune)
ในภาษามาตรฐาน「しましょう (shimashou)」จะใช้ในการเชิญชวน แต่ในจังหวัดโอกินาว่าจะหมายถึง “(ฉัน) จะทำ” หรือก็คือ ถ้าพูดว่า「もう帰りましょうね (mou kaerimashou)」จะหมายถึง “ฉันจะกลับบ้านแล้ว” นั่นเอง
ตัวอย่าง 「これ片づけましょうね」
(kore katazuke mashoune)
ความหมาย →「これ片づけますね」
(kore katazuke masune)
คำแปล → ฉันเก็บอันนี้ไปเลยนะ
ครั้งแรกที่ได้ยินอาจจะสับสนว่าอีกฝ่ายกำลังชวนเราอยู่รึเปล่า แต่ความจริงแล้วเป็นการพูดเพื่อบอกว่าเจ้าตัวจะเป็นคนทำสิ่งนั้นเอง ไม่ได้ชวนให้ทำอะไรด้วยกัน
จนถึงตอนนี้เราได้แนะนำที่มาของภาษาถิ่นและภาษาถิ่นที่น่าสนใจของแต่ละภูมิภาคไปแล้ว ถ้ามีโอกาสไปภูมิภาคที่แนะนำไปข้างต้นก็ลองคุยกับคนในพื้นที่ด้วยภาษาถิ่นดูนะ ถ้าพูดกับคนท้องถิ่นด้วยภาษาที่พวกเขาคุ้นเคย ก็อาจจะคุยกันได้ลื่นไหลขึ้นและทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นก็ได้!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่