แนะนำ “โอโซนิ” เมนูดั้งเดิมในวันปีใหม่ของญี่ปุ่น

what_is_zouni_p59004190
คนไทยอาจไม่มีเมนูประจำเทศกาลปีใหม่ แต่ที่ญี่ปุ่นเมื่อปีใหม่มาถึง จะมีประเพณีทานซุปที่เรียกว่า “โอโซนิ (お雑煮)” ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับโอโซนิ ทั้งความเป็นมา หรือวัตถุดิบต่างๆ ในการรังสรรค์เมนูแสนอร่อยนี้
Oyraa

“โอโซนิ” คืออะไร?

Photo:PIXTA

โอโซนิ โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึง เมนูที่นำโมจิซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงผักต่างๆ อย่างแครอท ไชเท้า และต้นหอม ไปใส่ในน้ำซุปที่ปรุงรสด้วยโชยุหรือมิโซะ

โอโซนิมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน กล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นอยู่ในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1192) โดยโมจิเป็นของนำโชคสำหรับคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการนำมารับประทานในวันพิเศษหรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ

ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นก็ยังคงสืบทอดธรรมเนียมนี้เรื่อยมา เห็นได้จากการที่แต่ละพื้นที่รับประทานโอโซนิกันในช่วงวันปีใหม่ แม้ว่าโอโซนิจะมีวิธีปรุงรส และวัตถุดิบต่างกันไปตามภูมิภาค แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าต้องมีโมจิใส่อยู่แน่นอน

ทีนี้ลองมาดูกันว่าวิธีปรุงรส และวัตถุดิบของโอโซนิมีอะไรบ้าง

โมจิแบบไหนที่ใช้ในโอโซนิ?

Photo:PIXTA

โมจิที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็น มารุโมจิ (丸餅 / โมจิกลม) กับ คาคุโมจิ (角餅 / โมจิเหลี่ยม) หากเปรียบเทียบกัน ญี่ปุ่นทางฝั่งตะวันตกจะใช้มารุโมจิ ในขณะที่ญี่ปุ่นฝั่งตะวันออกจะใช้คาคุโมจิเสียมากกว่า

ความเป็นมาของมารุโมจิมีอยู่ว่า เนื่องจาก “กลม (丸)” สื่อความหมายถึง “สงบกลมกลืน (円満)” จึงได้นำโมจิทรงกลมมาใส่ไว้ ในกรณีของคาคุโมจิ กล่าวกันว่าเมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ (ค.ศ.1603 – 1867) ประชากรในเขตเมืองหลวงซึ่งตั้งอยู่ทางญี่ปุ่นตะวันออกเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงลดความยุ่งยากที่จะตัดเป็นวงกลม และหันมาตัดเป็นสี่เหลี่ยมที่ผลิตได้ทีละมากกว่านั่นเอง

วิธีปรุงโมจิ

Photo:PIXTA

จะนำโมจิมาต้ม ย่าง หรือทอดก็ได้ การใช้โมจิย่างในโอโซนิจะไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก แต่ก็ได้รสสัมผัสเต็มปากเต็มคำและอร่อยมากๆ นอกจากนี้ รสชาติและรสสัมผัสของโมจิจะเปลี่ยนไปตามวิธีปรุง จะลองทุกแบบเพื่อหาวิธีปรุงที่ถูกใจก็เป็นความคิดที่ไม่เลวเลยทีเดียว

ประเภทของซุปที่ใช้

Photo:PIXTA

ในส่วนของน้ำซุปนั้น หลักๆ จะปรุงรสด้วย “ซุมาชิ (すまし / ซุปดาชิปรุงรสด้วยโชยุและเกลือ)”, “ทันโชคุมิโซะ (淡色みそ / มิโซะที่มีรสเค็มกว่ามิโซะขาว)”, หรือไม่ก็ “ถั่วแดงอาซุกิ (あずき)” นอกจากนี้ยังมีการใช้ซุปจำพวกเมนสึยุ (หัวเชื้อซุปราเมง) และซุปจากปลาด้วยเช่นกัน แต่จะไม่มากเท่าชนิดอื่นๆ

แนะนำโอโซนิในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่น!

ภูมิภาคฮอกไกโดและโทโฮคุ

▼ โอโซนิของฮอกไกโด

Photo:PIXTA

ในกรณีของฮอกไกโดนั้น จะใช้ซุปซุมาชิรสโชยุ ใส่คาคุโมจิย่าง แครอท ต้นหอม บวกด้วยของขึ้นชื่อประจำฮอกไกโดอย่างอิคุระ (ไข่ปลาแซลมอน) บางพื้นที่ก็ยังมีโอโซนิประจำถิ่นของตัวเองอยู่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น โอโซนิที่ทำด้วยซุปมิโซะสไตล์อิชิคารินาเบะ (เมนูหม้อไฟแซลมอน) ที่สืบทอดกันมาในเมืองอิชิคาริ (石狩) ใส่ด้วยคาคุโมจิย่าง และของขึ้นชื่อประจำฮอกไกโดอย่างแซลมอน มันฝรั่ง และอิคุระ

▼ โอโซนิของอิวาเตะ

Photo:PIXTA

จังหวัดอิวาเตะตั้งอยู่ในภูมิภาคมิยาโกะ (宮古) ที่นี่มักใช้น้ำซุปซุมาชิรสโชยุที่ทำจากดาชิปลาแห้ง ส่วนเครื่องที่ใส่ก็มีทั้งคาคุโมจิย่าง ไชเท้า แครอท รากโกโบ และแซลมอน และความพิเศษสุดก็คือ จะรับประทานโดยนำไปจิ้มใน “คุรุมิดาเระ (くるみダレ)” ซึ่งเป็นซอสวอลนัทบดปรุงรสด้วยน้ำตาล เมื่อนำเครื่องที่ซึมซับรสเค็มของน้ำซุปไปจิ้มในน้ำจิ้มที่หวานกลมกล่อม ก็จะเกิดเป็นความอร่อยเกินคาดที่ลงตัวกันอย่างพอดิบพอดี

ภูมิภาคคันโต

▼ โอโซนิของคานากาว่า

Photo:PIXTA

โอโซนิของจังหวัดคานากาว่านั้นจะใช้ซุปซุมาชิ ใส่ด้วยคาคุโมจิย่าง คามาโบโกะ (ลูกชิ้นเนื้อปลาบด) เนื้อไก่ เห็ดชีทาเกะ แครอท และของที่มีสีสันอย่างผักสีเขียว โดยจะเอากลิ่นเหม็น และไขมันส่วนเกินของเนื้อไก่ออกก่อน จึงทำให้ได้น้ำซุปที่มีความใส กลายเป็นเมนูที่สามารถเพลิดเพลินไปกับรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ จะใช้คามาโบโกะที่เรียกว่า “โคฮาคุคามาโบโกะ (紅白かまぼこ)” ซึ่งมีสีขาวสลับแดง โดยสีแดงหมายถึง “ป้องกันสิ่งชั่วร้าย” และสีขาวหมายถึง “สะอาดบริสุทธิ์” จึงเป็นของกินที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง

▼ โอโซนิของโตเกียว

Photo:PIXTA

โตเกียวจะใช้ซุปซุมาชิที่ได้จากโครงไก่และสาหร่ายคอมบุ ใส่ด้วยคาคุโมจิย่าง ไชเท้า และโคมัตสึนะ (小松菜 / คะน้าญี่ปุ่น) จากนั้นจะใช้เวลาต้มน้ำซุปนานกว่า 30 นาที จึงสัมผัสได้ถึงรสอูมามิอย่างเต็มที่ ในส่วนของผักโคมัตสึนะนั้น หากใส่ไปตอนเกือบจะต้มเสร็จ ก็จะหลงเหลือรสสัมผัสอยู่เล็กน้อย ทำให้อร่อยยิ่งขึ้นไปอีก

ภูมิภาคคันไซ

▼ โอโซนิของเกียวโต

Photo:PIXTA

ในกรณีของเกียวโต สูตรต้นตำรับก็คือ โอโซนิรสหวานที่ทำโดยใช้มิโซะขาว เครื่องที่ใส่ก็มีทั้ง
มารุโมจิต้ม
เอบิอิโมะ (海老芋 / เผือกที่มีรูปร่างเหมือนกุ้ง เป็นวัตถุดิบดั้งเดิมที่รับประทานกันในเกียวโตมาแต่โบราณ) ซึ่งถือกันว่าเป็นของมงคล
แครอทคินโทกิ (金時人参 / หรือเรียกว่าแครอทเกียวโต) ที่มีรสหวานและสีสันสดใส
รวมถึงผักดั้งเดิมของเกียวโตอย่างอุกุยซุนะ (うぐいす菜 / คะน้าเกียวโต)
เป็นโอโซนิสูตรที่สามารถสัมผัสได้ถึงรสหวานของผักอย่างเต็มที่นั่นเอง

▼ โอโซนิของนารา

Photo:PIXTA

เนื่องจากจังหวัดนาราอยู่ในภูมิภาคคันไซเช่นเดียวกับเกียวโต น้ำซุปและวัตถุดิบที่ใช้จึงคล้ายๆ กัน แต่ก็มีข้อแตกต่างตรงที่ นาราจะตัดวัตถุดิบต่างๆ เป็นวงกลมเพื่อสื่อถึง “ความสงบกลมกลืน” อีกทั้งยังมีจุดเด่นเป็น การรับประทานโดยนำไปจิ้มกับคินาโกะ (きな粉 / ถั่วเหลืองคั่วบดเป็นผง) รสของถั่วเหลืองกับมิโซะนั้นเข้ากันได้ดีอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้สามารถสัมผัสความอร่อยที่ต่างไปจากโอโซนิของเกียวโต

ภูมิภาคชูโกคุ

▼ โอโซนิของชิมาเนะ

Photo:PIXTA

ที่เมืองมัตสึเอะของจังหวัดชิมานะ จะรับประทานเซนไซ (ぜんざい / เมนูที่ใส่โมจิลงในซุปถั่วอาซุกิต้มน้ำตาล) แทนโอโซนิปีใหม่ โดยมีที่มาจากการที่เมืองมัตสึเอะเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าซาดะ (佐太神社)” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งกำเนิดซันไซ นอกจากน้ำตาลแล้วยังมีการใส่เกลือลงไปด้วย ทำให้รสหวานมีความเด่นชัดขึ้นไปอีกระดับ

▼ โอโซนิของโอคายาม่า

Photo:PIXTA

โอโซนิของโอคายาม่าจะใช้ซุปซุมาชิจากปลาคัตสึโอะและสาหร่ายคอมบุ มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ใส่มารุโมจิต้ม และปลาบุริ ซึ่งเปรียบเหมือนกับตัวแทนของชุซเซะอุโอะ (出世魚 / ปลาที่มีชื่อเรียกเปลี่ยนไปตามวัย)

“ชุซเซะ” หมายถึงการเลื่อนสถานะขึ้น ปลาเหล่านี้จึงเป็นวัตถุดิบที่เป็นมงคล ปลาบุริจะได้รับการย่างบริเวณหนังก่อน ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมไปอีกขั้น และทำให้สัมผัสรสอร่อยได้ชัดเจนขึ้น

ภูมิภาคคิวชู

▼ โอโซนิของคาโกชิม่า

Photo:PIXTA

ในกรณีของคาโกชิม่านั้น จะใช้ซุปซุมาชิที่ได้จากการนำกุ้งแห้งย่าง เห็ดชีทาเกะตากแห้ง และสาหร่ายคอมบุไปแช่ในน้ำค้างไว้ 1 คืน ปรุงรสด้วยโชยุรสหวานของคาโกชิม่า ส่วนเครื่องต่างๆ นั้นจะใช้มารุโมจิต้ม รวมถึงกุ้งแ ละเห็ดชีทาเกะที่ใช้ในขั้นตอนทำน้ำซุป เป็นโอโซนิที่จะสัมผัสได้ถึงความหอมของกุ้ง และรสอร่อยเฉพาะตัวของเครื่องแต่ละอย่าง

▼ โอโซนิของมิยาซากิ

Photo:PIXTA

ที่มิยาซากิจะใช้ซุปซุมาชิ เติมด้วยมารุโมจิย่าง และถั่วงอก รสสัมผัสของถั่วงอกจะให้ความแปลกใหม่แบบพอดิบพอดี นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นเป็นการต้มเครื่องทุกอย่างไปพร้อมดาชิที่ได้จากเห็ดชีทาเกะ หากโรยหน้าเพิ่มเติมด้วยส้มยูซุ และใบมิตสึบะแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มสีสันและกลิ่นหอม กลายเป็นรสชาติที่น่าลิ้มลองอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโอโซนิ อาหารประจำปีใหม่ของญี่ปุ่นที่เราได้คัดสรรมาให้คุณ ยังมีโอโซนิอีกหลายแบบมากมายที่เราไม่ได้กล่าวถึง และกล่าวได้เลยว่าการได้รู้จักโอโซนิคือการได้สัมผัสประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง ดังนั้นหากมีโอกาส ก็อยากให้ลองทานโอโซนิประจำถิ่นของแต่ละพื้นที่กันดูนะ!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: