ศาลเจ้า คือสถานที่ที่สักการะบูชาเทพเจ้าประจำพื้นที่นั้นๆ โดยมีรากฐานมาจากคำสอนของศาสนา “ชินโต” ของญี่ปุ่นโบราณ (วิธีการสังเกตุง่ายๆ คือ ศาลเจ้าจะมีเสาประตู Torii) ได้มีโอกาสเข้าสักการะศาลเจ้าทั้งที มาเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง แสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้า และเข้าสักการะกันเถอะ !”
1. ทำความเคารพที่เสา Torii (鳥居)
ที่ทางเข้าศาลเจ้านั้นจะมีเสา Torii (鳥居) หรือซุ้มประตูเพื่อแบ่งเขตแดนระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์อยู่เสมอ มาลอดผ่าน Torii โดยเริ่มต้นจาก “Ichi no Torii (Torii ที่หนึ่ง)” ที่อยู่ไกลจากศาลเจ้าที่สุดแล้วเข้าสู่เส้นทางสู่ศาลเจ้าที่เรียกว่า Sando (参道) กันเถอะ หลีกเลี่ยงบริเวณกลางของ Torii แล้วเข้าใกล้เสาข้างใดข้างหนึ่ง หยุดสักครู่ จากนั้นจึงโค้งคำนับหนึ่งครั้ง
2. ไม่เดินผ่ากลาง Sando (参道)
เวลาที่เดินบน Sando นั้นไม่ควรเดินบนส่วนกลางของ Sando เนื่องจากส่วนกลางของ Sando นั้นเรียกว่า “Seichu” (正中) ซึ่งเป็นเส้นทางสำหรับเทพเจ้า จึงไม่ใช่บริเวณที่เราควรเดินผ่าน เมื่ออยู่ในบริเวณของศาลเจ้าควรเดินอย่างสงบและไม่ส่งเสียงดังใดๆ
3. Temizuya (手水舎)
“
ชำระล้างร่างกายที่สถานที่ที่เรียกว่า Temizuya (手水舎) ซึ่งอยู่ริม Sando ขั้นตอนแรก หยิบกระบวยตักน้ำด้วยมือขวา ตักน้ำและราดทำความสะอาดมือซ้าย ขั้นตอนที่สอง เปลี่ยนมาจับกระบวยด้วยมือซ้าย แล้วทำความสะอาดมือขวา ขั้นตอนที่สาม กลับมาจับกระบวยด้วยมือขวาอีกครั้ง เทน้ำใส่อุ้งมือซ้าย และค่อยๆ นำน้ำนั้นเข้าสู่ปาก *ในขั้นตอนนี้ ห้ามใช้ปากดื่มน้ำโดยตรงจากกระบวย ขั้นตอนที่สี่ หลังจากที่ดื่มน้ำเสร็จแล้ว ราดน้ำเพื่อทำความสะอาดมือซ้ายอีกครั้ง ขั้นตอนที่ห้า ตั้งกระบวยที่ใช้แล้วขึ้นตรงเพื่อให้น้ำไหลลงไปชำระส่วนด้ามจับของกระบวย จากนั้นจึงวางกระบวยกลับเข้าที่เดิม
“
4. การสักการะ (กระดิ่ง)
“
เมื่อมาถึงหน้าศาลเจ้าหลักแล้วไม่ควรยืนที่บริเวณตรงกลาง เนื่องด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่ไม่ควรเดินบนบริเวณกลางของ Sando หลังจากนั้นให้โค้งคำนับหนึ่งครั้ง หากมีกระดิ่งอยู่ล่ะก็ให้สั่นกระดิ่งเพื่อเป็นการแจ้งให้เทพเจ้าทราบถึงการมาสักการะของเรา
“
5. การสักการะ (บริจาคเงิน)
ในการบริจาคเงินไม่ควรโยนเงินใส่กล่องบริจาค แต่ควรค่อยๆ ใส่เงินลงไปอย่างเงียบๆ ในส่วนของจำนวนเงินนั้นไม่ได้มีการกำหนดไว้ จะเป็น 1 เยน 1 หมื่นเยน หรือเท่าไรก็ได้ แม้ว่าจะมีการกล่าวกันว่าการบริจาค 5 เยนนั้นดี แต่ก็เป็นเพียงเพราะว่าคำว่า 5 เยน (五円) ไปพ้องเสียงกับคำว่า “Goen”(ご縁) ที่แปลว่า “โชคลาภ” ในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น จึงสามารถบริจาคได้เท่าไรก็ได้ตามที่ต้องการ
6. การสักการะ (Nirei Nihakushu Ichirei)
“
Nirei Nihakushu Ichirei (一礼二拍手一礼) คือการโค้งคำนับ 2 ครั้ง ปรบมือ 2 ครั้ง และโค้งคำนับอีก 1 ครั้ง
Nirei…หันหน้าไปทางเทพเจ้าแล้วโค้งคำนับ 2 ครั้ง โดยที่แผ่นหลังตรงและสะโพกทำมุม 90 องศา
Nihakushu…เหยียดมือทั้งสองข้างและประสานฝ่ามือไว้ด้วยกัน ลดมือขวาลงเล็กน้อย แยกมือที่ประสานกันออกกว้างประมาณหัวไหล่แล้วปรบมือ 2 ครั้ง ประสานมือเข้าหากันอีกครั้ง หลังจากที่ตั้งสมาธิขอพรแล้วจึงค่อยลดมือลง
Ichirei…โค้งคำนับอีก 1 ครั้ง
ในบางศาลเจ้าอาจมีวิธีการที่แตกต่างออกไป (ตัวอย่างเช่นศาลเจ้า Izumo-taisha (出雲大社) ที่เป็นการโค้งคำนับ 2 ครั้ง ปรบมือ 4 ครั้ง และโค้งคำนับ 1 ครั้ง)
“
7. วิธีการขอพร
เวลาที่ทำการขอพรต่อหน้าเทพเจ้านั้น หากเป็นครั้งแรก ให้ตั้งจิตให้มั่นแล้วแจ้งชื่อของตัวเองและสถานที่ที่อาศัยอยู่ จากนั้นจึงทำการขอพรไปพร้อมๆ กับแสดงความขอบคุณที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำการสักการะ หากเป็นครั้งที่สองเป็นต้นไปแล้ว จะรวบรัดก็ได้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาอะไร
8. Omikuji (おみくじ)
ในการดึง Omikuji (おみくじ) หรือเซียมซีทำนายดวงชะตานั้น การผูก Omikuji นั้นทำไปเพื่อขับไล่โชคร้าย ในเวลาที่ได้ Omikuji ที่ดีจึงไม่จำเป็นต้องทำการผูก นอกจากนี้ ไม่ควรผูก Omikuji เข้ากับกิ่งของต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณศาลเจ้าเนื่องจากอาจทำให้ต้นไม้เกิดความเสียหายได้ โดยปกติแล้วจะมีอุปกรณ์สำหรับให้ผูก Omikuji อยู่ จึงขอแนะนำให้นำ Omikuji ไปผูกที่อุปกรณ์ดังกล่าว
9. Ema (絵馬)
เนื่องจากในสมัยโบราณเชื่อกันว่าม้าเป็นพาหนะของเทพเจ้า เดิมทีจึงมีการนำม้าจริงๆ มาเป็นเครื่องถวายบูชา แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Ema (絵馬) ซึ่งเป็นแผ่นไม้สำหรับเขียนคำอธิษฐานที่สะกดด้วยคำว่า รูปภาพ (絵) และ ม้า (馬) โดยเชื่อกันว่าเวลาที่มาสักการะวัดหรือศาลเจ้า หากเขียนคำอธิษฐานลงบน Ema แล้วนำไปถวายแล้วล่ะก็จะทำให้คำอธิษฐานนั้นเป็นจริงขึ้นมา
10. หลังจากจบการสักการะ
ขณะเดินทางกลับ หลังจากที่ลอดผ่าน Torii แล้ว ให้หันหน้าเข้าหา Torii แล้วโค้งคำนับอีกครั้งหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการสักการะศาลเจ้าก็คือคำขอบคุณที่เรามีต่อเทพเจ้านั่นเอง
ปล. ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างวิธีการสักการะวัดและศาลเจ้านั้นอยู่ที่วิธีการทำความเคารพ สำหรับศาลเจ้านั้นจะเป็นการปรบมือ แต่สำหรับวัดนั้นจะเป็นการพนมมือแล้วกล่าวคำขอพร
Cover Photo: kuremo / Shutterstock
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่