ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่เป็นที่ภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คุณภาพดี เครื่องใช้ไฟฟ้าล้ำๆ ไปจนถึงวัฒนธรรมอาหาร การ์ตูนอนิเมะ และมังงะต่างๆ มากมาย ถึงแม้ว่าหากพูดกันด้วยขนาดของพื้นที่หรือจำนวนประชากร ญี่ปุ่นย่อมไม่ถือเป็นประเทศขนาดใหญ่อะไร แต่หากพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ ไอเดีย และการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จากศูนย์ ญี่ปุ่นถือว่าเป็นมหาอำนาจของเรื่องนี้เลยล่ะ อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเอง ในแต่ละพื้นที่ก็มีประเพณี ขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป ถ้าให้เปรียบเทียบตัวอย่างชัดๆ ของที่นี่ล่ะก็ ก็ต้องเป็นความแตกต่างระหว่างภูมิภาคคันโต ที่เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอย่าง “โตเกียว” หรือเมืองท่าสำคัญอย่าง “โยโกฮาม่า” กับภูมิภาคอันดับสองอย่างภูมิภาคคันไซ ที่เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่อย่าง “โอซาก้า”และ “เกียวโต” ทั้งสองภูมิภาคใหญ่นี้จะมีความเหมือนและต่างกันอย่างไร เรามาดูไปพร้อมๆ กันเลย
ความแตกต่างของ “คันโต” และ “คันไซ” โดยรวม

ตามชื่อของภูมิภาคทั้งสอง “คันโต” (関東) หมายถึงญี่ปุ่นฝั่งตะวันออก (ตัวอักษร “東 (โต)” ในคำว่าคันโต แปลว่า ตะวันออก) ส่วนคันไซ (関西) ก็หมายถึงญี่ปุ่นฝั่งตะวันตกนั่นเอง (เช่นเดียวกัน ตัวอักษร “西 (ไซ)” ในคันไซ ที่แปลว่า ตะวันตก) สำหรับประวัติความเป็นมาของทั้งสองภูมิภาคนี้ โตเกียว ถูกตั้งเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นในปี 1869 และได้กลายเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศญี่ปุ่น ส่วนเมืองโอซาก้าและเกียวโตในภูมิภาคคันไซ จริงๆ แล้วก่อนที่เมืองหลวงจะถูกย้ายมายังโตเกียวนั้น ทั้งสองเมืองเคยเป็นพื้นที่หลักของญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นพื้นที่ที่สร้างอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ญี่ปุ่นอย่างมาก และร่องรอยของความรุ่งเรืองต่างๆ ก็ยังเหลือมาจนถึงปัจจุบันด้วย ในปัจจุบัน ทั้งเมืองโตเกียวและเกียวโตต่างถูกกล่าวว่าเป็นเมืองของญี่ปุ่นที่มีความเจริญและเป็นที่รู้จักมากที่สุดทั้งภายในประเทศญี่ปุ่นเองและในระดับโลก
ความแตกต่างของวัฒนธรรม ลักษณะนิสัยของผู้คน รวมถึงขนบธรรมเนียมและภาษาของทั้งสองพื้นที่นั้นสามารถเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งสองพื้นที่นี้ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติที่เดินทางมายังญี่ปุ่นอีกด้วย ถ้าหากเราเรียนรู้ถึงความแตกต่างเหล่านี้ไว้ จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของเราอย่างแน่นอน
ความใจกว้างของคนคันโต และความตรงไปตรงมาของคนคันไซ
ก่อนที่จะพูดถึงความต่างของนิสัยใจคอของคนทั้งสองภูมิภาค เราต้องอธิบายลักษณะนิสัยในภาพใหญ่ของคนญี่ปุ่นโดยรวมกันก่อน ซึ่งหากพูดถึงลักษณะของคนญี่ปุ่นแล้ว ที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็น “การแคร์และใส่ใจกับสายตาคนรอบข้าง” และความที่ “อยากจะดูดีในสายตาผู้คน” ด้วยเหตุนี้เอง คนญี่ปุ่นจึงมีขนบที่น่าสนใจหนึ่งอย่างที่เรียกว่า “tatemae (建前)” หรือการเลือกแสดงออกและพูดด้วยความเป็นมิตร แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ตนคิดจริงๆ ด้วยการแสดงออก “เพื่อให้ดูดีในสายตาคนรอบข้าง” นี้เองทำให้ในการสื่อสารพูดคุยของคนญี่ปุ่นจะพบเห็นนิสัยที่ “จริงๆ แล้วไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่แสดงออกราวกับว่ารู้สึกจริงๆ” อยู่เป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าหากพูดลึกลงไปถึงลักษณะนิสัยของคนในแต่ละภูมิภาคนั้น สำหรับภูมิภาคคันโต โดยเฉพาะในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือ เทียบกับคันไซที่ส่วนใหญ่เป็นศูนย์รวมของคนจากฝั่งตะวันตกของประเทศญ่ปุ่นเท่านั้น การรวมกันของคนจากต่างวัฒนธรรมนี้เอง เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นิสัยของทั้งคนคันโตและคนคันไซมีเอกลักษณ์ของตัวเอง
จากการที่ประชากรของโตเกียวประกอบไปด้วยคนที่มาจากนอกโตเกียวมากกว่าครึ่ง และแต่ละคนที่เข้ามาอาศัยที่ที่เมืองหลวงแห่งนี้ก็นำขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของตนเข้ามาด้วย นั่นทำให้การวางตัวของคนในโตเกียวจะมีการเว้นระยะห่างไว้อย่างชัดเจน และก่อเกิดเป็นอุปนิสัยในภาพรวมของคนโตเกียวที่มักจะไม่เข้าไปยุ่งหรือก้าวก่ายคนไม่รู้จัก หากจะพูดว่าคนโตเกียวเป็นคนที่แคร์คนอื่นมากๆ และป้องกันตัวเองสุดๆ ก็คงไม่เกินความจริงนัก นอกจากนี้ เรายังจะสามารถสังเกตเห็นค่านิยม “tatemae” ที่กล่าวไปข้างต้นได้อย่างชัดเจนในคนในโตเกียวที่ไม่ได้มาจากคันไซ ทั้งจากการแคร์สายตาซึ่งกันและกันอย่างที่สุด ความต้องการดูดีในมุมมองคนอื่น หรือจากการแสดงออกโดยที่ไม่ได้แสดงความรู้สึกจริงๆ ออกมา กล่าวคือ คนโตเกียวจะพยายามจะรักษากฎระเบียบ ประเพณี ขนบธรรมเนียมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ส่วนรวมที่เป็นมิตรนั่นเอง

ในทางตรงข้าม คนทางฝั่งคันไซมีนิสัยอันเป็นเอกลักษณ์ก็คือความตรงไปตรงมาทั้งในวิธีคิดและการแสดงออก ทำให้คนคันไซจำนวนมากสามารถพูดคุยกับคนไม่รู้จักได้อย่างสบายๆ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคนคันไซจะไม่มี “tatemae” แต่เรียกได้ว่าในภูมิภาคนี้มีคนที่พูดความคิดของตัวเองแบบตรงๆ อยู่มากทีเดียว อย่างหากเราได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวไปตามถนนหรือขึ้นรถไฟ ก็อาจจะมีคุณป้าที่นั่งข้างๆ หรือคุณป้าตามร้านรวงต่างๆ ที่เราเดินผ่านถามขึ้นมาว่า “เอาลูกอมไหมจ๊ะ” ในสำเนียงคันไซพร้อมกับยื่นลูกอมมาให้อย่างเป็นมิตร เหตุการณ์แบบนี้เห็นได้บ่อยๆ ในภูมิภาคคันไซ และถือเป็นภาพจำของลักษณะนิสัยของผู้คนในภูมิภาคนี้อย่างกว้างขวางแม้แต่ในเหล่าคนญี่ปุ่นเอง นอกจากนี้ โอซาก้ายังขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของเสียงหัวเราะ และมีความมุมมองต่อความตลกขบขันอย่างลึกซึ้ง ประมาณว่าหากมีคนปล่อยมุกออกมาก็จะมีคนคอยตบมุกให้อยู่ตลอด ไม่เพียงแต่จากเพื่อนๆ ครอบครัวหรือคนรู้จัก แม้กระทั่งคนที่เดินอยู่ใกล้ๆ ก็มักจะมีปฏิกิริยากับมุกด้วยเช่นกัน และจากการที่โอซาก้าและเกียวโตเป็นศูนย์กลางของคนจากฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น บวกกับความเข้าใจและคุ้นเคยกับความตลกขบขัน ทำให้ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันของแต่ละประเพณี แต่ก็ไม่ได้มีการหลบเลี่ยงหรือรักษาระยะห่างระหว่างกันมากนัก ทำให้คนในภูมิภาคนี้สามารถเข้าใกล้และสนิทกันได้ง่ายนั่นเอง
การรักษาระยะห่างและเคารพในความแตกต่างของคนคันโต และความสบายๆ เป็นกันเองของคนคันไซ

จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นที่ว่าในโตเกียวมีคนที่มาจากเมืองอื่นๆ อยู่จำนวนมาก การเคารพคนอื่น การรักษาขนบ “tatemae” รวมไปถึงการไม่พูดและแสดงออกแบบตรงๆ ถือเป็นเรื่องปกติของภูมิภาคนี้ นั่นทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับกับความเขินอายและการใส่ใจในการถูกมองโดยคนอื่นๆ ตามมา เราสามารถสังเกตเห็นลักษณะนิสัยนี้ได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านเหล้าแบบญี่ปุ่น และตามบรรยากาศต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ลูกค้ามักจะไม่ค่อยมีการพูดคุยกับพนักงานในร้าน เพราะการคุยกับคนไม่รู้จักเป็นเรื่องแปลก หรือเหตุการณ์ที่จะมีการคุยกันก็มีเพียงการสั่งอาหาร ถามนู่นนี่ หรือเก็บเงินเท่านั้น เรียกว่าเป็นการสนทนาแบบที่พยายามรักษาระยะห่างกันไว้นั่นเอง ตรงกันข้ามกับในภูมิภาคคันไซ ที่จะพบเจอการคุยกับพนักงานแม้ว่าจะไม่มีอะไรคุยก็ตามเป็นเรื่องปกติ เช่นอยู่ดีๆ ก็พูดขึ้นมาว่า “วันนี้ฝนเหมือนจะตกเนอะ (ภาษาญี่ปุ่นสำเนียงคันไซ)” เป็นการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไปกันปกติ ถ้าเทียบคันโต (และภูมิภาคอื่นๆ ยกเว้นคันไซ) เวลาไปซื้อของ มักจะไม่มีการโต้ตอบเช่นพูดขอบคุณจากผู้ซื้อสักเท่าไหร่ เป็นการสื่อสารด้านเดียวจากพนักงาน แต่ถ้าหากอยู่ในคันไซล่ะก็ เมื่อคิดเงินเสร็จแล้ว ผู้ซื้อมักจะพูดของคุณ (อาจจะพูดสำเนียงคันไซว่า “Ookini”) แก่พนักงานเป็นปกติ หรือเวลาไปร้านเหล้าหรือร้านคาเฟ่ ก็มักจะเห็นคนที่ไม่รู้จักกันเริ่มพูดคุยกันอย่าง “มาจากไหนกันหรอ” หรือว่า “เป็นนักเรียนหรือทำงานแล้วเนี่ย” คุยกันไปเรื่อยจนสนิทกันโดยไม่รู้ตัวก็มีทั่วไป
ชาวคันไซผู้มีความร่าเริงเป็นกันเองนั้น ยังมีอีกหนึ่งยังมีนิสัยอันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ความใส่ใจ (จู้จี้จุกจิก) ในเรื่อง “ความถูก” ของสินค้านั่นเอง ในโตเกียวนั้น มักจะไม่ค่อยมี หรือมีการต่อรองราคาตอนซื้อของน้อยมากๆ แต่กลับกันในโอซาก้านั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติเลยทีเดียว คนในโตเกียวนั้น มักจะแคร์และใส่ใจกับแทรนด์และแฟชั่นมากๆ ในขณะที่คนในโอซาก้านั้นยึดคอนเซ็ปท์ว่ายิ่งถูกยิ่งคุ้ม ดังนั้นถ้าหากว่าคนโอซาก้าอยากจะต่อราคาแม้ว่าเพียงนิดเดียวก็ตาม ก็จะพูดไปประมาณว่า “แพงจัง ลดหน่อยสิ” ด้วยความชัดเจนและมั่นใจเลยทีเดียว
กล่าวได้ว่า คนคันไซเป็นกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความรู้สึกและความคิดแบบมนุษย์อย่างลึกซึ้งไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม แต่ที่จริงแล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อยกเว้น อย่างเช่นกรณีของคนเกียวโตที่มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนที่รักความสงบเสงียบ ถึงแม้ว่าเกียวโตจะเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญในภูมิภาคเกียวโตก็ตาม ดังนั้นการตัดสินคนภูมิภาคใดด้วยลักษณะนิสัยในภาพรวมของภูมิภาคเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
ยืนบันไดเลื่อนคนละข้าง คันโตฝั่งซ้าย คันไซฝั่งขวา

ที่ญี่ปุ่นมีมารยาทอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามในการขึ้นบันได้เลื่อน คือการยืนเพียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งของบันไดเลื่อน แล้วเหลือที่ว่างสำหรับเดินอีกฝั่งหนึ่งไว้สำหรับคนที่เร่งรีบ สำหรับฝั่งคันโตนั้นมีธรรมเนียมว่าผู้คนจะยืนฝั่งซ้ายและให้คนเดินฝั่งขวา ส่วนฝั่งคันไซจะกลับกันคือยืนฝั่งขวา เดินฝั่งซ้าย ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างหลักของภูมิภาคคันไซกับที่อื่นๆ ความแตกต่างนี้น่าสับสนขนาดที่ว่าในหมู่คนญี่ปุ่นด้วยกันเองเวลาเดินทางจากโตเกียวไปโอซาก้า หรือว่าจากโอซาก้าไปโตเกียวยังเผลอยืนผิดฝั่งกันเป็นประจำ ส่วนในพื้นที่ชนบทนั้น ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหน ผู้คนมักยืนแบบกระจายตัวกันโดยไม่มีการเรียงต่อคิวกันอยู่แล้ว
ความแตกต่างด้านการแต่งกาย คันโตแต่งตามเทรนด์แฟชั่น คันไซแต่งให้โดดเด่นสะท้อนความเป็นตัวเอง

ถ้านับคนในกลุ่ม millennial generation (คนที่เกิดประมาณในช่วงปี 1981 – 2000) แล้ว สไตล์แฟชั่นของทั้งฝั่งคันโตและคันไซนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก แต่ถ้าให้พูดโดยทั่วไปแล้วล่ะก็ คนฝั่งคันโต (และพื้นที่อื่นๆ นอกจากคันไซ) นั้นมักจะรับเอาความแฟชั่นตามเทรนด์ต่างๆ มาเป็นหลัก ในขณะที่คันไซจะชอบความฉูดฉาดและความออริจินัลมากกว่า เพื่อให้สามารถแสดงความเป็นตัวเองผ่านแฟชั่นได้นั่นเอง แน่นอนว่าทุกๆ ที่นั้น ความชอบถือเป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละบุคคล แต่ที่กล่าวมานั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของแฟชั่นของคันโตและคันไซที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วแฟชั่นของคนคันไซตั้งแต่สมัยก่อนยังขึ้นชื่อเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การที่คุณป้าชาวคันไซมักชื่นชอบเสื้อผ้าลายเสือและสัตว์ต่างๆ โดยเรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกับที่กล่าวไปข้างบนว่าชาวคันไซนั้นมักมีแนวความคิดว่าจะหาซื้อของราคาถูกได้อย่างไร ดังนั้นสำหรับคุณป้าชาวคันไซแล้ว เสื้อกันหนาวลายเสือที่ดูมีอิมเพคแต่ราคาแสนถูกจึงเป็นเหมือนความคุ้มค่า เป็นเหตุว่าทำไมการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลายเสือจึงกลายมาเป็นแทรนด์การแต่งตัวสุดโดดเด่นของภูมิภาคคันไซเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ นั่นเอง
ความต่างของสีรถแท็กซี่ คันโตสีสันหลากหลาย คันไซสีดำสนิท

สีของรถแท็กซี่ในทั้งสองภูมิภาคเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับแฟชั่นการแต่งตัว เพราะรถแท็กซี่ที่คันไซนั้นส่วนใหญ่เป็นสีดำสนิท ต่างจากรถแท็กซี่ในคันโตที่มีหลากหลายสี ทั้งสีเหลือง สีส้ม และสีขาวดำ เมื่อเปรียบเทียบกับถนนในคันไซแล้ว ที่คันโตนั้นจะเห็นรถหลากเฉดสีวิ่งอยู่ทั่วไป แต่ถึงแม้ว่ารถแท็กซี่จะมีอยู่หลากหลายสีในคันโต แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะว่าราคาถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกคัน
ต่างกันขนาดนี้เลยหรอ?! ความแตกต่างของอาหารการกินในคันโตและคันไซ
1.ขนมปัง: “ความหนา” ของขนมปังในคันโตและคันไซ

ในโลกนี้นั้นมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่ขนมปังเป็นหนึ่งในอาหารไม่กี่อย่างที่คนทั่วโลกรู้จักและหลงใหล ซึ่งความแตกต่างในวัฒนธรรมการทานขนมปังของคนคันไซและคนคันโตที่เห็นได้ชัดที่สุดเลยก็คือความหนา โดยส่วนใหญ่ขนมปังปอนด์หนึ่งถุงมักจะถูกตัดเป็น “4 หรือ 5 แผ่น” ในภูมิภาคคันไซ และถูกตัดเป็น “6 หรือ 8 แผ่น” ในภูมิภาคคันโต เรียกได้ว่าชาวคันไซนิยมรับประทานขนมปังแผ่นหนากว่าชาวคันโตนั่นเอง
ขนมปังแผ่นบางนั้น ทำให้รับประทานได้ง่าย และให้เราสามารถแบ่งทานขนมปังหนึ่งก้อนได้หลายครั้งกว่า ในทางกลับกัน ขนมปังชิ้นหนาจะทำให้เราสามารถเพลิดเพลินกับสัมผัสรสชาติได้มากกว่า อีกทั้งยังทำให้อิ่มได้ในขนมปังไม่กี่แผ่น แน่นอนว่า เราสามารถหาซื้อทั้งขนมปังแผ่นบางและขนมปังแผ่นหนาได้ทั้งในคันโตและคันไซ เพราะถึงที่สุดแล้วความชื่นชอบก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละครอบครัวนั่นเอง
2.อุด้ง: ซุปปลาคัตสึโอะสีข้นของคันโต กับซุปสาหร่ายคมบุสีใสของคันไซ

หากพูดถึงวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คืออาหารประเภทเส้น ซึ่ง “เส้นอุด้ง” เป็นหนึ่งในประเภทเส้นที่คนญี่ปุ่นหลงใหลและภาคภูมิใจมาตั้งแต่อดีต สัมผัสที่เหนียวนุ่มละมุนลิ้นของเส้นจากแป้งข้าวสาลีนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเส้นอุด้งถึงเป็นที่รักของทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย แต่แม้ว่าอุด้งจะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติของญี่ปุ่น แต่วัตถุดิบที่แตกต่างกันไปของแต่ละพื้นที่ก็ทำให้ทั้งรสชาติและสัมผัสของอุด้งในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปอย่างมีเอกลักษณ์
―อุด้งของคันโต “สีเข้มรสชาติข้นจากปลาคัตสึโอะ”

อุด้งในคันโตจะใช้นำ้ซุปที่ทำมาจากปลาคัตสึโอะหรือปลาโอ ซึ่งมีลักษณะเด่นในเรื่องความเข้มและลึกของรสชาติ ซึ่งน้ำซุปปลาคัตสึโอะนี้ถ้าหากว่าใช้ปลาคัตสึโอะขูดบางจะได้รสชาติแบบเรียบง่าย ส่วนถ้าใช้ปลาคัตสึโอะแบบชิ้นหนาจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นและรสชาติของปลาคัตสึโอะแบบเข้มข้น ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของรสชาติที่จะแตกต่างกันไปตามขนาดชิ้นปลา โดยในน้ำซุปมักจะมีการใส่โชยุหรือมิรินเพิ่มเพื่อให้ได้น้ำซุปสีเข้มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่พูดกันว่าผักของที่คันโตยังมีรสชาติที่ค่อนข้างเข้มข้น เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีการทำน้ำซุปรสชาติที่แรงรับกับรสชาติของผัก
―อุด้งของคันไซ “ซุปน้ำใสรสชาติบางๆ แบบเรียบง่ายจากสาหร่ายคมบุ”

ที่คันไซจะใช้สาหร่ายคมบุเป็นวัตถุดิบหลักในการทำน้ำซุปซึ่งให้รสชาติที่ละเอียดอ่อนเป็นเอกลักษณ์ โดยคมบุจากแต่ละท้องถิ่นก็จะให้รสชาติของนำ้ซุปแตกต่างกันไป โดยตัวน้ำซุปนั้นจะมีการเติมด้วยโชยุ ถึงแม้ว่าน้ำซุปของฝั่งคันไซจะมีสีที่เข้มน้อยกว่าของทางคันโต แต่ด้วยการปรุงแต่งรสด้วยเกลือก็ทำให้มีรสชาติที่เข้มข้นเช่นกัน เอกลักษณ์ของผักของทางคันไซคือความนุ่มละมุนของรสสัมผัส รสชาติของตัวน้ำซุปอุด้งจึงมีความเบากว่าน้ำซุปทางคันโตเพื่อคงรสชาติของตัวผักนั่นเอง
3.ซาลาเปาไส้หมู/เนื้อ: เมนูเดียวกันแต่คนละชื่อ!

มาถึงตรงนี้เราก็ได้ทราบความแตกต่างของอาหารสำคัญอย่างขนมปังและอุด้งระหว่างทั้งสองภูมิภาคกันแล้ว แต่ยังมีอีกเมนูหนึ่งที่มีความแตกต่างกันในระดับชื่อเรียก นั่นคือเมนู “ซาลาเปา” โดยในภาษาญี่ปุ่นนอกจากพื้นที่คันไซจะเรียกซาลาเปาว่า “นิคุมัง” ส่วนในคันไซจะเรียกว่า “บุตะมัง” นั่นเอง
สาเหตุก็เนื่องมาจากว่าในภูมิภาคคันไซนั้นมีเนื้อวัวอยู่หลากหลายแบรนด์หลากหลายประเภท รวมไปถึงเนื้อระดับตำนานอย่างเนื้อวัวมัตสึซากะ (Matsusaka) และเนื้อวัวโกเบ (Kobe) ดังนั้นเมื่อพูดถึง “นิคุ (ซึ่งแปลว่าเนื้อสัตว์ในภาษาญี่ปุ่น)” โดยทั่วไปแล้วจึงมักจะหมายถึงเนื้อวัวเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเวลาเรียก “นิคุมัง” แล้วเข้าใจผิดกลายเป็นไส้เนื้อวัว ซาลาเปาที่ใช้ไส้หมูจึงถูกเรียกว่า “บุตะมัง”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการที่มีร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และยังมีสินค้าภายใต้ชื่อ “นิคุมัง” ถูกวางขายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้คำว่า “นิคุมัง” นั้นเป็นที่รับรู้มากขึ้นในภูมิภาคคันไซในปัจจุบัน
ความต่างของคำศัพท์: เฉดความหมายที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะในประเทศญี่ปุ่นหรือว่าในประเทศใดก็ตาม ความหลากหลายของภาษาถิ่นและคำศัพท์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และภูมิภาคนั้นมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ตัวอย่างเช่นคำว่า “Aho” และ “Baka” นั้น โดยปกติแล้วจะใช้สำหรับพูดกับคนที่ทำตัวตลกน่าขบขัน มีเพียงแค่ที่คันไซ ที่เฉดความหมายและความยืดหยุ่นของคำค่อนข้างน้อยและความหมายต่างออกไป ทำให้คำเหล่านี้มักใช้ชี้ให้เห็นความโง่หรือความสะเพร่าด้วยความเป็นกันเอง โดยมักใช้ในบทสนทนาที่เป็นกันเองมากๆ
ความต่างของคำศัพท์: คำศัพท์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างแรกที่เห็นได้ชัดก็คือการเรียกชั้นปีของนักเรียน ทั้งในมหาวิทยาลัย โรงเรียนประถมและมัธยม โดยในคันไซนั้นจะเรียกเลขชั้นปีตามด้วยคำว่า “Kaisei” ส่วนในพื้นที่อื่นๆ นอกจากคันไซแล้วปกติจะเรียกเลขชั้นปีตามด้วยคำว่า “Nensei” รายละเอียดของที่มานั้นไม่มีบันทึกไว้แน่ชัด แต่มีพูดกันว่าเริ่มมาจากการใช้ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตแล้วจึงแพร่กระจายไปทั่วบริเวณ
นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์อื่นๆ อีกเช่น
・ทำความสะอาด – Katazukeru (ภาษากลาง) : Naosu (คันไซ)
・ทิ้ง – Suteru (ภาษากลาง) : Horu (คันไซ)
・เครื่องเคียง – Otsumami (ภาษากลาง) : A-te (คันไซ)
・เพื่อน – Tomodachi (ภาษากลาง) : Tsure (คันไซ)
・หล่อ เท่ห์ ดูดี – Kakkoii (ภาษากลาง) : Shutto shiteru (คันไซ)
ความแตกต่างในการรับประทานอาหาร: คนคันไซกินพิซซ่าญี่ปุ่นกับข้าว?!

พิซซ่าญี่ปุ่น (หรือในชื่อญี่ปุ่นคือ โอโคโนมิยากิ) นั้นมาจากคำว่า “ยากิ” ที่แปลว่าการย่าง กับ “โอโคโนมิ” ที่แปลว่าความชื่นชอบ (รวมกันแล้วก็คือเมนูตามความชื่นชอบของคนที่ย่าง) โดยไม่ได้เกี่ยวกับรูปร่าง วัตถุดิบหรือว่าการปรุงรส เป็นอาหารจากโอซาก้าในคันไซที่เป็นที่ชื่นชอบไปท่ัวประเทศญี่ปุ่น และนับเป็นอาหารท้องถิ่นสำคัญ (soul food) ของที่คันไซควบคู่ไปกับทาโกะยากิ และยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวแทนอาหารญี่ปุ่นเลยล่ะ ซึ่งสิ่งที่ต่างกันระหว่างคันโตและคันไซก็คือวิธีการรับประทานโอโคโนมิยากินี้เอง
แต่ไหนแต่ไรมานั้น สีสันอันสดใสและความสมดุลของสารอาหารนั้นถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของมื้ออาหารญี่ปุ่น วิธีรับประทานอาหารตามแบบแผนดั้งเดิมนั้นก็คือข้าวขาว กับข้าวเมนูผักสามอย่าง และนำ้ซุปมิโซะ ซึ่งแน่นอนว่าโอโคนามิยากิที่มีผักและเนื้อเป็นวัตถุดิบ นำมาย่างเป็นสีน้ำตาลแล้วทาด้วยซอส มายองเนส โรยด้วยผงผักสีเขียวและปลาแห้งโบนิโตะ ได้กลายมาเป็นอาหารที่หน้าตาสีสันสดใสที่มีทั้งความอร่อยและความครบครันของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะเห็นคนในคันไซโดยเฉพาะที่โอซาก้ารับประทานพิซซ่าญี่ปุ่น (ที่เป็นคาร์โบไฮเดรตอยู่แล้ว) คู่กับคาร์โบไฮเดรตอย่างข้าวอยู่เสมอๆ ซึ่งสำหรับคนในคันโตและคนในพื้นที่อื่นๆ นั้น วิธีการรับประทานแบบนี้ถือเป็นเรื่องแปลกสุดๆ เลย (แต่ถ้าให้ว่ากันตามตรงแล้ว ถ้าเทียบการรับประทานเกี๊ยวซ่าเป็นกับข้าวของคนญี่ปุ่น กับวิธีการรับประทานแบบจีนดั่งเดิมที่เกี๊ยวซ่าเองเป็นเมนูหลักอยู่แล้วนั้น การรับประทานพิซซ่าญี่ปุ่นกับข้าวนั้นจะเรียกว่าสมกับความเป็นญี่ปุ่นก็ว่าได้)
ความแตกต่างของการรับประทานอาหาร: หนึ่งบ้านหนึ่งเครื่องทำทาโกะยากิที่คันไซ และเมนูแป้งของคันโต

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งพิซซ่าญี่ปุ่น รวมไปถึงเมนูอื่นๆ ทั้งเนกิยากิ (Negiyaki พิซซ่าญี่ปุ่นแผ่นบางโรยด้วยต้นหอมซอย) อากาชิยากิ (Akashiyaki อาหารลักษณะคล้ายทาโกะยากิรับประทานโดยจุ่มกับน้ำซุป) และทาโกะยากิ เราจะเห็นลักษณะเด่นของชาวคันไซที่ชอบรับประทาน “เมนูแป้ง” ได้อย่างชัดเจน หลักฐานก็คือการทำพิซซ่าญี่ปุ่นและทาโกะยากิกันเองที่บ้านเป็นกิจวัตรโดยแต่ละบ้านจะมีเครื่องทำทาโกะยากิอยู่ครอบครัวละเครื่องเลย

ส่วนในโตเกียวนั้นก็มีเมนู “มอนจะยากิ (Monjayaki)” ที่เป็นเมนูแป้งที่ถูกคิดค้นเป็นต้นตำรับของภูมิภาคคันโตเอง โดยเมนูนี้จะใช้แป้งข้าวสาลีละลายในน้ำพร้อมกับวัตถุดิบหลากหลายชนิด แล้วราดลงบนเตาเหล็กแบน ถือเป็นเมนูท้องถิ่นของย่านคิตะมาชิ (Kitamachi) ถึงแม้ว่าเมนูนี้จะดูละม้ายคล้ายคลึงกับพิซซ่าญี่ปุ่น แต่เนื่องจากสัดส่วนของแป้งและน้ำค่อนข้างต่ำ อีกท้ังตัวซอสและเครื่องปรุงก็ถูกผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันเลย เมื่อนำไปเทบนเตาเหล็กแล้วจึงไม่ค่อยขึ้นเป็นรูปเท่าไหร่นัก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเมนูมอนจะยากินี้นี่เอง วิธีการรับประทานก็ใช้ไม้พายกดแนบเตาเพื่อปิ้งแล้วตักรับประทาน โดยส่วนที่ติดอยู่กับกระทะนั้นจะมีความเกรียมที่กำลังดีให้สัมผัสกรุบกรอบของแป้งกรอบและเหนียวนุ่มขณะเคี้ยวในเวลาเดียวกัน พร้อมกันนี้กลิ่นหอมของวัตถุดิบและซอสต่างๆ ก็จะฟุ้งทั่วปากของคุณเมื่อได้รับประทาน
สรุป

ทั้งโตเกียว โยโกฮาม่า เกียวโต โอซาก้า ทั้งที่อยู่ในคันโตและคันไซนั้น ต่างก็มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่มากมาย ถ้าให้พูดถึงพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนเป็นอันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้นคันโตและคันไซอย่างแน่นอน สำหรับใครที่เคยไปทั้งสองที่แล้ว หรือใครที่เคยไปแค่ที่เดียว รวมไปถึงใครที่กำลังจะมาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกก็ตาม ก็ขอให้ได้ลองสัมผัสถึงวัฒนธรรมและความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้นำเสนอไปในบทความนี้ รับรองว่าคุณจะได้ท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์อันน่าค้นหาและเข้าถึงวัฒนธรรมความญี่ปุ่นได้มากกว่าการท่องเที่ยวแบบปกติแน่นอน
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่