ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “Harassment หรือ การคุกคาม” ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่ทำงานญี่ปุ่น โดยเป็นการกระทำที่ก่อกวนให้อีกฝ่ายอึดอัดใจ การสร้างรอยแผลต่อจิตใจหรือร่างกาย เป็นต้น ในบทความนี้เราจะมาแนะนำประเภทของการคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานในญี่ปุ่น พร้อมวิธีการรับมือเมื่อคุณถูกคุกคาม
การคุกคามแบบไหนที่เกิดขึ้นได้บ่อยในที่ทำงานญี่ปุ่น
การคุกคาม คือ คำพูดและการกระทำที่อาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกอึดอัดใจ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก่อให้เกิดผลเสีย เป็นภัยคุกคาม หรือทำลายศักดิ์ศรีของคนๆ นั้น โดยการคุกคามนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน โรงเรียน หรือบ้าน แม้ว่าผู้กระทำนั้นจะไม่ได้ตั้งใจ แต่หากอีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดใจ ก็ถือเป็นการคุกคามเช่นกัน ดังนั้นคุณจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการคุกคามให้ถูกต้องและชัดเจน เพราะคุณอาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยที่ไม่รู้ตัวก็เป็นได้
การคุกคามนั้นมีหลากหลายประเภท ในบทความนี้เราจะแนะนำการคุกคาม 4 ประเภทที่มักเกิดในที่ทำงานให้คุณได้เข้าใจแบบง่ายๆ กัน
Power Harassment – การคุกคามโดยใช้อำนาจหน้าที่
การที่ผู้ที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่ที่สูงกว่ากระทำต่อบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า เพื่อก่อกวน หรือกระทำการที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจหรือร่างกาย ซึ่งถือเป็น Harassment ที่เกิดขึ้นเยอะมากที่สุดในที่ทำงานของประเทศญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น การด่าทอด้วยเสียงดังๆ การเขวี้ยงปาข้าวของ การมอบหมายงานในปริมาณที่ไม่มีทางทำเสร็จได้ในระยะเวลาที่กำหนด หรือการประเมินผลงานและความสามารถต่ำเกินไป เป็นต้น
Sexual Harassment – การคุกคามทางเพศ
คือพฤติกรรมที่ล่วงเกินในทุกรูปแบบ ทั้งทางกาย วาจา และการสัมผัส นอกจากนี้การเลือกปฏิบัติทางเพศยังถือเป็นการคุกคามทางเพศรูปแบบหนึ่งอีกด้วย ภาพลักษณ์ของการคุกคามทางเพศนั้น คุณอาจจะคิดถึงผู้ชายเป็นฝ่ายกระทำกับผู้หญิง แต่จริงๆ การล่วงละเมิดที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายกระทำต่อผู้ชาย หรือกระทำต่อเพศเดียวกันก็มีเช่นเดียวกัน
Maternity Harassment – การคุกคามผู้ตั้งครรภ์
กระทำการที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจหรือร่างกายต่อผู้ตั้งครรภ์หรือผู้ที่เพิ่งคลอดบุตร โดยการกลั่นแกล้งและกดดันต่อพนักงานที่ลางานเนื่องจากตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรด้วยวาจา เช่น “อย่ามาลางานช่วงที่ทุกคนกำลังยุ่งสิ” หรือ “อย่ารบกวนคนอื่นได้ไหม” เป็นต้น
Moral Harassment – การคุกคามทางศีลธรรม
การพูดจาด้วยวาจาร้ายกาจหรือการเพิกเฉย อาจฟังแล้วคล้ายกับ Power Harassment แต่ Moral Harassment นั้นไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่การงาน และไม่มีการใช้กำลัง มักจะเป็นการกลั่นแกล้งด้วยวิธีการที่ร้ายกาจ เช่น การไม่เชิญไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ในบริษัท หรือการถูกต่อว่าเป็นเวลานาน ซึ่งบางครั้งก็ทำกันเป็นกลุ่มและสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้แก่ผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก
ความจริงของการคุกคามในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาจำนวนการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับ “การคุกคามและการกลั่นแกล้ง” ที่ส่งไปยังแผนกให้คำปรึกษาที่จัดตั้งโดยสำนักงานแรงงานจังหวัดมีเพิ่มมากขึ้น จำนวนการปรึกษาปัญหาเพิ่มขึ้นจากประมาณ 28,300 เคสในปี ค.ศ. 2007 เป็นประมาณ 87,500 เคสในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการคุกคามในที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น
โดยการคุกคามต่างๆ ที่เกิดในที่ทำงานนั้น อาจนำไปสู่ความผิดปกติทางจิต และการเกิดอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานได้ ในบางกรณีอาจไปถึงขั้นที่ได้รับเงินชดเชยสำหรับอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงานเลยด้วยซ้ำ และยังคงเป็นประเด็นใหญ่ต่อไปในอนาคต
เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านี้ ญี่ปุ่นได้มีการบังคับใช้ “กฎหมายการส่งเสริมที่ครอบคลุมนโยบายแรงงานฉบับแก้ไข (กฎหมายป้องกัน Power Harassment)” ในบริษัทขนาดใหญ่เพื่อป้องกัน Power Harassment ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2020 และจะมีผลบังคับใช้กับองค์กรขนาดกลางและเล็กตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2022
โดยประเด็นหลักของกฎหมายฉบับนี้มีดังนี้
1) เจ้าของกิจการต้องมีมาตรการรับมือปัญหาการคุกคามด้วยอำนาจหน้าที่ เช่น การจัดเตรียมห้องให้คำปรึกษา
2) ในกรณีที่ไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นหลังจากมีการให้คำแนะนำไปแล้ว และยังทำให้การคุกคามด้วยอำนาจหน้าที่เป็นเรื่องปกติ จะมีการเผยแพร่ชื่อบริษัทสู่สาธารณชน
3) บุคคลที่แจ้งว่าถูกคุกคามด้วยอำนาจหน้าที่จะต้องไม่ถูกไล่ออกหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
4) มีการระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่าต้องไม่กระทำใดๆ ที่คุกคามทางเพศหรือคุกคามคนตั้งครรภ์
อย่างไรที่เรียกว่าการคุกคาม?
ในส่วนนี้เราจะพาไปลงรายละเอียดดูว่าการกระทำแบบไหนที่จะเรียกว่าการคุกคาม
Power Harassment
1) การทำร้ายร่างกาย…การกระทำของเจ้านายที่ทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การตี หรือเตะ
2) การทำร้ายจิตใจ…การกระทำของเจ้านายที่กล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชาในเชิงปฏิเสธความเป็นคน
3) การตัดขาดออกจากสังคมการทำงาน…การแยกผู้ใต้บังคับบัญชาออกจากคนอื่น เช่น ไม่มอบหมายงานให้ ให้ทำงานคนเดียวที่บ้าน หรือแยกห้องทำงาน
4) การสั่งงานที่มากเกินไป….การยัดเยียดงานที่มากเกินไปจนเกินความสามารถให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
5) การสั่งงานที่น้อยเกินไป….เช่น ยัดเยียดแต่งานจิปาถะที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ เพื่อบีบบังคับให้ลาออก
6) การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล….การให้อีกฝ่ายทำตามสิ่งที่ต้องการโดยไปแทรกแซงต่อชีวิตส่วนบุคคลของคนๆ นั้น
Sexual Harassment
1) คุกคามทางเพศเพื่อให้สิ่งตอบแทน เช่น “ถ้ายอมคบด้วยจะให้ผลประเมินดีๆ” “ถ้ายอมให้มีอะไรด้วยจะให้ผลประเมินดีๆ” เป็นต้น
2) การคุกคามทางเพศที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร คือ การกระทำที่ทำให้ผู้ร่วมงานไม่สบายใจจากการแสดงพฤติกรรมและวาจาที่ส่อไปในทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น การสัมผัสร่างกายของผู้ร่วมงานบ่อยๆ หรือเผยแพร่ข้อมูลที่คุกคามทางเพศของผู้ร่วมงาน
Maternity Harassment
1) การคุกคามโดยการใช้ระบบของบริษัท ในบริษัทนั้นจะมีระบบต่างๆ เพื่อรองรับผู้ตั้งครรภ์และผู้ที่เพิ่งคลอดบุตรอยู่ เช่น การลาคลอดหรือการทำงานระยะสั้น โดยการคุกคามประเภทนี้จะใช้วาจากดดันกับผู้ที่ใช้งานระบบดังกล่าว เช่น “หากจะลาก็ลาออกไปเลยเถอะ” หรือ “การกลับบ้านตรงเวลามันสร้างความลำบากให้คนอื่นรู้มั้ย” เป็นต้น
2) การคุกคามเกี่ยวกับสภาพร่างกายที่ไม่ดี คือ การกล่าวคำพูดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสภาพร่างกายที่ไม่ดี อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร หากเลิกงานเร็วหรือหยุดงานก็จะถูกกล่าววาจากดดัน เช่น “ถ้าจะลางานล่ะก็ลาออกจากบริษัทไปเสียเถอะ” หรือ “งานพวกเราเพิ่มมากขึ้นเพราะเธอท้องนั่นแหละ” เป็นต้น
การพูดจากดดันหรือคุกคามเวลาที่ขอเลิกงานก่อนหรือหยุดงานเพราะลูกมีไข้หลังคลอดนั้นก็ถือเป็น Maternity Harassment ด้วยเช่นกัน
Moral Harassment
Moral Harassment นั้นเป็นการคุกคามที่ผิดต่อศีลธรรมและจรรยาบรรณอย่างร้ายกาจ เช่น การเมินเฉย การกีดกันออกจากเพื่อนร่วมงาน การนินทาลับหลัง การข่มเหงต่อหน้าคนอื่นให้ได้รับความอับอาย การบูลลี่ การดูถูกด้วยสายตา ไม่ถ่ายทอดเนื้อหาที่สำคัญของงานให้ หรือการแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ก็ถือเป็นการคุกคามทางศีลธรรมทั้งสิ้น
ควรทำอย่างไรเมื่อถูกคุกคาม?
หากคุณถูกคุกคาม อย่าทนเก็บปัญหาไว้เพียงลำพัง ก่อนอื่นเลยให้จดบันทึกเรื่องราวที่คุณถูกกระทำไว้ เป็นการล่วงละเมิดประเภทใด เกิดขึ้นวันที่เท่าไร และเวลาใด มีพยานรู้เห็นหรือไม่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณสื่อสารได้อย่างใจเย็นและหนักแน่นเวลาเข้าขอคำปรึกษาอย่างแน่นอน โปรดอ้างอิงสิ่งต่อไปนี้เพื่อเป็นวิธีแก้ปัญหาการถูกคุกคาม
1) ปรึกษากับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า
ก่อนอื่นให้คุณปรึกษากับคนใกล้ตัวในที่ทำงานก่อน เพราะบางครั้งเราสามารถขอความร่วมมือจากคนรอบข้างเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ส่วนแรกๆ ได้
2) ปรึกษากับแผนกให้คำปรึกษาของบริษัท
ในกรณีที่ไม่สามารถปรึกษากับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้ ให้ลองไปขอคำปรึกษากับ “แผนกให้คำปรึกษาปัญญาหาการคุกคาม (相談室)” ที่บริษัทจัดตั้งไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องมีแผนกให้คำปรึกษาปัญหาเหล่านี้
3) ปรึกษากับศูนย์ร้องทุกข์ภายนอกบริษัท
ในกรณีที่ไม่สามารถปรึกษาปัญหากับคนภายในบริษัทได้ ให้ลองไปปรึกษาปัญหากับแผนกให้คำปรึกษา ของสำนักงานแรงงานและตรวจสอบมาตรฐานแรงงานได้ทั่วประเทศ ซึ่งไว้วางใจได้และไม่เสียค่าใช้จ่าย
แนะนำบริการให้คำปรึกษาที่รองรับภาษาต่างประเทศ
หากคุณไม่มั่นใจในภาษาญี่ปุ่นของคุณ ให้คุณลองปรึกษากับ “แผนกให้คำปรึกษาสำนักงานแรงงานต่างชาติ (労働局外国人労働者相談コーナー)” ที่รองรับภาษาต่างประเทศ มีการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ซึ่งสะดวกต่อผู้ที่เดินทางลำบาก แต่สำหรับภาษาที่รองรับนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด ซึ่งคุณสามารถค้นหารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ทางการของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ
https://www.startup-roudou.mhlw.go.jp/foreigner.html
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ในที่ทำงานญี่ปุ่น ในการทำงานนั้น เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ใครกันที่จะเป็นผู้ถูกกระทำ เราหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับการคุกคามและล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสม และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่