ญี่ปุ่นมีบัตรโดยสารรายเดือนประเภทใดบ้าง?
บัตรโดยสารประเภทกำหนดเวลาหรือบัตรโดยสารรายดือน (定期券) คือ บัตรโดยสารจำกัดเวลาราคาพิเศษที่ออกให้สำหรับผู้ที่ขึ้น-ลงรถโดยสารอย่างรถบัสหรือรถไฟในระยะทางที่กำหนดเป็นเป็นประจำ การไปทำงานหรือไปเรียนมักทำให้ผู้คนต้องเดินทางไป-มาระหว่างสถานีเดิมเป็นระยะเวลานานๆ คนญี่ปุ่นหลายคนจึงนิยมใช้บัตรโดยสารประเภทนี้กัน โดยทั่วไปก็จะซื้อเป็นระยะทางจากสถานีใกล้บ้านไปยังสถานีที่ใกล้โรงเรียนหรือที่ทำงานที่สุด ซึ่งจะมีการออกบัตรให้ 2 ประเภท ดังนี้
บัตรโดยสารรายเดือนสำหรับนักเรียน
บัตรโดยสารในการเดินทางไปโรงเรียนสำหรับเด็ก นักเรียน และนักศึกษาจะต้องมีการแสดงใบรับรองการเดินทางไปโรงเรียน (通学証明書) ณ เวลาที่ซื้อ ดังนั้นอย่าลืมนำติดตัวไปด้วย นอกจากนี้ ระยะทางที่ขายจะจำกัดเฉพาะเส้นทางที่สั้นที่สุดหรือถูกที่สุดระหว่างสถานีใกล้บ้านและสถานีใกล้โรงเรียนเท่านั้น
โดยทั่วไป ทางโรงเรียนจะออกใบรับรองการเดินทางให้ตอนเปิดภาคเรียน แต่ในบางโรงเรียนอาจมีการออกให้ก่อน อย่างไรก็ลองสอบถามกับทางโรงเรียนเอาไว้ล่วงหน้าจะดีที่สุด
บัตรโดยสารรายเดือนสำหรับคนทำงาน
มีไว้สำหรับผู้ที่ทำงานบริษัท แตกต่างกับบัตรโดยสารรายเดือนสำหรับนักเรียนตรงที่ไม่ต้องแสดงใบรับรองในการออกบัตร ในบางบริษัทอาจมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางเต็มจำนวนหรือแบบกำหนดวงเงินด้วย จึงแนะนำให้ตรวจสอบกับทางบริษัทล่วงหน้าก่อนว่ามีเงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการค่าเดินทางหรือไม่ บัตรโดยสารประเภทนี้จะได้รับส่วนลดน้อยกว่าแบบของนักเรียน ดังนั้น หากเลือกได้ก็เลือกทำงานในบริษัทที่รับผิดชอบค่าเดินทางให้ด้วยน่าจะดีกว่า
ข้อดีในการซื้อบัตรโดยสารรายเดือนมีอะไรบ้าง?
(1) สามารถขึ้น-ลงตามสถานีต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขตระยะทางที่บัตรกำหนดได้อย่างอิสระ
(2) สะดวกสบายกว่าการที่ต้องจ่ายค่าโดยสารทุกๆ ครั้งที่ใช้บริการ
(3) อายุการใช้งานบัตรมี 3 แบบ คือ 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน ยิ่งซื้อแบบระยะยาวเท่าไร ส่วนลดก็จะยิ่งมากเท่านั้น
บัตรโดยสารรายเดือนซื้อได้ที่ไหน? ต้องซื้ออย่างไร?
สามารถซื้อบัตรโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์ของสถานีหลักและที่ตู้จำหน่ายตั๋วสำหรับบัตรโดยสารที่สถานี แต่ไม่ใช่สถานีไหนก็ได้ ต้องซื้อที่สถานีของบริษัทรถไฟที่คุณวางแผนจะใช้เท่านั้น กล่าวคือ หากต้องการใช้เฉพาะสถานีรถไฟของสาย JR ก็จะไม่สามารถซื้อตั๋วโดยสารของ JR ที่เครื่องจำหน่ายตั๋วของสายอื่นได้
ในกรณีของตั๋วสำหรับนักเรียน เนื่องจากจำเป็นต้องยื่นใบรับรองการเดินทางจึงไม่สามารถซื้อที่เครื่องขายตั๋วได้และต้องไปซื้อที่เคาน์เตอร์เท่านั้น บางครั้งก็อาจมีผู้ใช้บริการหนาแน่นจึงควรเผื่อเวลาในการซื้อบัตรเอาไว้ด้วย คุณสามารถซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้าได้สูงสุด 14 วันก่อนเริ่มการใช้งาน
หากต้องการใช้เส้นทางการเดินทางของบริษัทรถไฟที่ต่างกัน คุณสามารถออกบัตรรวมได้สูงสุด 3 บริษัทในบัตรโดยสารเดียว
ต่อไป เราจะมาดูวิธีการซื้อบัตรโดยสารที่เคาน์เตอร์และตู้จำหน่ายตั๋วกัน
กรณีซื้อบัตรที่เคาน์เตอร์
(1) กรอก “ใบสมัครซื้อบัตรโดยสารรายเดือน (定期乗車券購入申込書)”
เมื่อไปที่เคาน์เตอร์จะพบกับใบสมัครซื้อบัตรโดยสารรายเดือนอยู่ที่โต๊ะสำหรับกรอกเอกสาร ขั้นแรกก็กรอกรายละเอียดที่จำเป็นในแบบฟอร์มก่อน นอกจากชื่อและวันที่เริ่มใช้งานแล้ว ก็จำเป็นต้องกรอกที่อยู่ของโรงเรียนหรือสถานที่ทำงานด้วย ดังนั้น ขอให้เตรียมข้อมูลเอาไว้ล่วงหน้าด้วย
(2) นำไปยื่นที่เคาน์เตอร์
เมื่อกรอกเอกสารเรียบร้อยแล้วให้นำใบสมัครไปยื่นที่เคาน์เตอร์ หากขอซื้อบัตรโดยสารรายเดือนสำหรับนักเรียนก็จะต้องแสดงใบรับรองการเดินทางไปโรงเรียน ณ ที่นี้ จากนั้นก็ทำการยืนยันขั้นสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่สถานี หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะออกบัตรโดยสารให้ โดยทั่วไปบัตรโดยสารรายเดือนในรูปของบัตร IC ซึ่งจะมีการเก็บค่ามัดจำ 500 เยน หากใครมีบัตร IC อยู่แล้วก็สามารถแสดงบัตรและใช้แทนกันได้เลย บัตร IC ที่สามารถใช้ได้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริษัทรถไฟแต่ละแห่ง อย่างไรก็ลองสอบถามเจ้าหน้าที่สถานีดูว่าบัตร IC ของคุณใช้ได้หรือไม่
※ เคาน์เตอร์ให้บริการมักจะอยู่ที่สถานีหลัก ดังนั้น ขอให้คุณไปที่สถานีหลักของสายที่วางแผนว่าจะใช้
กรณีซื้อบัตรทางตู้จำหน่ายตั๋ว
(1) ตามหาตู้จำหน่ายตั๋วในสถานี
เครื่องจำหน่ายตั๋วมีหลายประเภท เช่น ตู้ที่สามารถซื้อได้เฉพาะตั๋วแบบใช้ครั้งเดียว ตู้สำหรับเติมเงิน และตู้ที่สามารถซื้อบัตรโดยสารรายเดือนได้ ให้หาตู้ที่มีคำว่า “定期券 – บัตรโดยสารรายเดือน” แสดงอยู่
(2) เลือก “新規購入 – ออกบัตรใหม่”
(3) เลือก “通勤定期券 – บัตรรายเดือนสำหรับเดินทางไปทำงาน”
(4) เลือกอายุการใช้งาน (1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน) และวันที่ต้องการเริ่มใช้งาน
(5) เลือกเส้นทางของสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง
(6) เลือก “Suica定期券 – บัตรโดยสารรายเดือน Suica” หรือ “磁気定期券 – บัตรโดยสารแถบแม่เหล็ก”
※ หากมีบัตร Suica อยู่แล้ว ให้เลือก “お手持ちのSuicaを利用する – ใช้บัตร Suica ของตนเอง”
※ หากออกบัตร Suica ใหม่ จะต้องเสียค่ามัดจำ 500 เยน
(7) ในกรณีที่เลือก “Suica定期券 – บัตรโดยสารรายเดือน Suica” ให้เลือกจำนวนเงินที่จะเติม หรือ “チャージしない – ไม่เติมเงิน”
(8) ชำระเงินด้วยเงินสด หรือ บัตรเครดิต
(9) การออกบัตรเสร็จสมบูรณ์
※ ตัวอย่างที่นำมากล่าวถึงเป็นตู้จำหน่ายตั๋วของสายสถานีรถไฟ JR แต่ขั้นตอนโดยทั่วไปก็จะเหมือนกับของบริษัทรถไฟสายอื่นๆ
วิธีการขอคืนเงินในกรณีที่ซื้อผิด
การขอคืนเงินจะสามารถทำได้เมื่อบัตรโดยสารมีอายุการใช้งานเหลือมากกว่า 1 เดือนเท่านั้น โดยจำนวนเงินที่ได้คืนจะเป็นราคาตามที่เหลืออยู่ในบัตรโดยสารหลังจากที่หักค่าโดยสารปกติตามจำนวนเดือนที่ใช้และค่าธรรมเนียม 220 เยนเรียบร้อยแล้ว (เศษของเดือนจะถูกนับเป็น 1 เดือน เช่น ใช้งานบัตรไป 1 เดือน 3 วัน จะถูกนับเป็น 2 เดือน) หรือหากเป็นบัตรแบบ 1 เดือน ก็จะได้รับเงินคืนตามราคาของบัตรที่หักค่าโดยสารไป-กลับตามจำนวนวันที่ผ่านไปและค่าธรรมเนียม 220 เยนแล้ว คุณจะได้รับเงินคืนภายใน 7 วันนับจากวันที่เริ่มใช้งานเท่านั้น
การขอคืนเงินนี้สามมารถทำได้ที่เคาน์เตอร์ของบริษัทรถไฟแต่ละแห่งเท่านั้น และคุณก็อาจจะต้องแสดงหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวนักเรียน บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นๆ เพื่อยืนยันตัวตน ดังนั้นก็อย่าลืมพกติดตัวไปด้วยนะ
หากใช้เพียงสัปดาห์ละไม่กี่ครั้ง ก็ต้องตั๋วคูปอง!
ตั๋วคูปอง (回数券) เป็นตั๋วแบบชุด 11 ใบ ที่ซื้อได้ในราคา 10 ใบ สามารถซื้อได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วในสถานี โดยปกติจะมีอายุการใช้งาน 3 เดือน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปทำงานหรือไปโรงเรียนเป็นประจำ เช่น สัปดาห์ละ 2 หรือ 3 ครั้ง หรือประมาณความถี่ในการเดินทางน้อยกว่า 21 วันต่อเดือน การใช้ตั๋วคูปองจะคุ้มค่ากว่า ยกเว้นรถไฟ JR ที่ให้ส่วนลดกับบัตรรายเดือนค่อนข้างมาก การซื้อแบบรายเดือนจึงอาจจะคุ้มกว่าแม้จะใช้งานไม่ถึง 21 วัน อย่างไรก่อนจะทำการซื้อก็ลองคำนวณการใช้งานของตนเองและเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างบัตรรายเดือนกับตั๋วคูปองดูเสียก่อน
เมื่อลงหลักปักฐานในญี่ปุ่น หลายคนคงมีโอกาสได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้นทั้งในการไปเรียนและการไปทำงาน บทความนี้ก็ได้แนะนำเกี่ยวกับบัตรโดยสารพิเศษทั้งแบบรายเดือนและแบบคูปองไปแล้ว เราหวังว่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านประหยัดงบที่ใช้ในการเดินทางไปได้ไม่มากก็น้อย
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่