อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นจริงๆ ก็ควรระวังบรรดาบริษัทสีดำเอาไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นคุณก็อาจจะรู้สึกเหมือนตกนรกเลยก็ได้ ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับนิยามของบริษัทสีดำ สัญญาณบ่งชี้ วิธีป้องกันไม่ให้หลงไปทำงานด้วย และวิธีรับมือเมื่อพบว่าคุณกำลังทำงานในบริษัทเหล่านี้อยู่
“บริษัทสีดำ” คืออะไร?
บริษัทสีดำ (Black company) เป็นคำนิยามแบบกว้างๆ ของบริษัทที่มีการใช้แรงงานอย่างหนักและเอารัดเอาเปรียบพนักงาน อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ทำให้บริษัทถูกแปะป้ายว่า “สีดำ” นั้นอาจแตกต่างกันไปในหลายลักษณะ โดยแบบที่พบทั่วไปก็ได้แก่ การข่มเหงรังแกในการทำงาน การคุกคามทางเพศ ให้ทำงานล่วงเวลาทั้งที่ได้เงินน้อยหรืออาจไม่ได้เลย รวมถึงความไร้สมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน
กล่าวกันว่านิยามของคำว่าบริษัทสีดำนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ถูกตั้งขึ้นมาโดยพนักงานออฟฟิศที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมไอที ก่อนจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อภาพยนตร์เรื่อง “On The Verge at A Black Company” ออกฉายในปี 2009 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระทู้ออนไลน์ที่ตั้งโดยชายคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทสีดำ คำนี้จึงถูกใช้กันอย่างกว้างขวางนับแต่นั้นเป็นต้นมา
“คาโรชิ” คืออะไร?
แม้ว่าคำว่าบริษัทสีดำจะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่บริษัทเหล่านี้ล้วนอยู่มานานกว่านั้น นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของยุคปี 70 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบกับวิกฤติฟองสบู่ ปัญหา “คาโรชิ” (เสียชีวิตจากการทำงานหนัก) ก็ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ เหตุการณ์ฟองสบู่นี้เปรียบเสมือนดาบสองคมสำหรับญี่ปุ่น เพราะถึงแม้ว่ามันจะช่วยให้ประเทศพัฒนาขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือชีวิตของพวกเขา
แม้ในปัจจุบัน คาโรชิก็ยังคงเป็นปัญหา ในปี 2016 ได้มีรายงานการสำรวจเกี่ยวกับกรณีคาโรชิ และพบว่ากว่า 20% ของจำนวนแรงงานญี่ปุ่นจำนวน 10,000 รายที่สำรวจนั้นเคยมีประสบการณ์การทำงานล่วงเวลาถึง 80 ชั่วโมงต่อเดือนอย่างน้อยๆ หนึ่งครั้ง
จากการวินิจฉัยของแพทย์ สาเหตุของการเสียชีวิตด้วยคาโรชิที่พบบ่อยที่สุด คือ หัวใจวายและโรคหลอดเลือดในสมองซึ่งเป็นผลมาจากสภาพการทำงานที่เคร่งเครียด สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าให้ตัวคุณเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์นี้ และด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรรู้วิธีจับสังเกตบริษัทสีดำให้เป็น
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นบริษัทสีดำ?
กฎหมายมาตรฐานแรงงาน
วิธีที่แน่นอนที่สุดในการบอกว่าบริษัทไหนเป็น “สีดำ” คือ อ้างอิงกับเอกสารที่ออกโดยรัฐบาล ด้านล่างนี้คือเค้าโครงของกฎหมายมาตรฐานแรงงานซึ่งกำหนดกฎและข้อบังคับที่บริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตาม
กฎหมายมาตรฐานแรงงาน
- ห้ามแบ่งแยกการปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ
- ลูกจ้างจะต้องเข้าใจเงื่อนไขการทำงานอย่างชัดเจนขณะตกลงทำสัญญา
- ห้ามบังคับให้ทำงาน และต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่เป็นเครื่องมือเพื่อการเอารัดเอาเปรียบ
- นายจ้างไม่สามารถแก้ไขสัญญาที่มีการกำหนดค่าชดเชยเอาไว้ก่อนแล้วในกรณีที่สัญญาดังกล่าวถูกละเมิดได้
- ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้จากการทำงานและกำลังเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่ จะไม่สามารถถูกไล่ออกในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่และภายใน 30 วันหลังจากนั้นได้
- หากมีการให้ออกจากงาน จำเป็นจะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน
- ต้องจ่ายค่าแรงของลูกจ้างเดือนต่อเดือนในวันที่ระบุเอาไว้แน่นอนแล้ว
- ลูกจ้างต้องได้รับค่าแรงสูงกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ
- เวลาทำงานตามกฎหมาย คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- หากเป็นงานที่ทำนอกเวลาทำงานที่กฎหมายกำหนด ก็จำเป็นจะต้องมีการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาด้วย (*อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลายบริษัทมักระบุเรื่องการทำงานล่วงเวลาเอาไว้ในสัญญาแล้ว จึงบังคับใช้กฎข้อนี้ได้ยาก)
- ลูกจ้างที่ถูกจ้างงานอย่างน้อย 6 เดือน มีสิทธิ์ได้รับวันลาพักประจำปีแบบที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่
- เงินและสิ่งของต่างๆ จะต้องถูกคืนให้กับลูกจ้างหากมีการลาออก
- มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรมต้องถึงเกณฑ์มาตรฐาน
การรู้กฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยรับรองความปลอดภัยในตอนที่ต้องติดต่อกับว่าที่นายจ้างของคุณได้ อย่างไรก็ตาม ถึงคุณจะมีความรู้เรื่องข้อมูลเหล่านี้เป็นอย่างดี คุณก็อาจจะหลงไปทำงานให้กับบริษัทสีดำเหล่านี้ได้อยู่ เพราะแต่ละบริษัทก็จะมีกรณีต่างๆ ที่แตกต่างกันไปนั่นเอง
บริษัทในญี่ปุ่นหลายๆ แห่ง มักจะมีการแยกย่อยเป็นแผนกต่างๆ ถึงภาพรวมของบริษัทจะดูปกติดี แต่ก็อาจมีหน่วยย่อยบางส่วนที่เป็น “สีดำ” อยู่เช่นกัน นี่เป็นความคิดที่น่าหวาดหวั่นและก่อให้เกิดความสงสัยว่าจะมีทางเลี่ยงกับดักเหล่านี้ได้จริงหรือ ในย่อหน้าถัดไป เราเลยจะขอพูดเรื่องวิธีพิจารณาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพื่อขจัดความวิตกกังวลของคุณกัน
สืบค้นข้อมูล
คุณสามารถทำการสืบค้นข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนตกลงเซ็นสัญญากับบริษัทได้ นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่รอบคอบที่สุด ถึงแม้ว่าอาจดูเป็นการตัดสินแบบพื้นๆ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าประเภทของข้อมูลที่คุณทำการสืบค้นนั้นมีประโยชน์ในการบ่งชี้ว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทสีดำหรือไม่ ด้านล่างนี้คือ 5 แนวทางในการหาข้อมูลที่เราอยากแนะนำให้กับคุณ
- เช็กกับคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทที่เราหมายตาไว้
- เช็กรีวิวของลูกจ้าง
- เช็กอัตราการลาออกของบริษัท
- เช็กชั่วโมงการทำงานของบริษัท
- เช็กค่าแรงที่สามารถต่อรองได้
วิธีเริ่มต้นการหาข้อมูลที่ดีสำหรับพิจารณาว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทสีดำหรือไม่ คือ การพูดคุยกับคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทนั้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่ามากเพราะมาจากประสบการณ์จริง จึงถูกต้องและน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม คุณก็อาจไม่ได้รู้จักใครสักคนดีพอที่จะถามถึงข้อมูลของสภาพการทำงานในบริษัทได้เสมอไป
วิธีอื่นอีก 4 วิธีก็มีประโยชน์เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การอ่านรีวิวบริษัทที่เขียนโดยลูกจ้างก็จะช่วยให้คุณพอนึกภาพออกว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทสีดำหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้สามารถหาอ่านได้ตามเว็บไซต์หางาน เพราะบริษัทต่างๆ จะถูกให้คะแนนโดยวัดจากความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน, ค่าจ้างและสวัสดิการ, ความปลอดภัยในการทำงานและโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ, การบริหารจัดการและวัฒนธรรมภายในบริษัท แม้ว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ แต่ก็ควรฟังหูไว้หูและไม่ควรให้รีวิวจากพนักงานในกลุ่มที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของคุณว่าจะทำงานที่บริษัทนั้นหรือไม่ เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะพูดอคตินั่นเอง
Black Company Awards
อีกหนึ่งวิธีในการหาว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทสีดำหรือไม่คือการหาผ่านทาง Black Company Awards (ภาษาญี่ปุ่น) ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การประกาศรางวัลนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2012 โดยกลุ่มนักข่าวสายทุจริต นักกฎหมายและอาจารย์มหาวิทยาลัย บริษัทที่ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลจะถูกประกาศโดยคณะกรรมการที่สร้างบัญชีดำบริษัทสุด “ดำมืด” แห่งปีขึ้นมา โดย “ผู้ชนะ” จะได้รับตำแหน่ง “บริษัทสุดโฉด” ไปครอง นอกจากนี้ ประชาชนคนทั่วไปยังสามารถโหวตเลือกเองได้ด้วย ซึ่งก็จะได้รับรางวัลประชาชนชิงชังไป
ปัจจัยที่นำมาพิจารณานั้นประกอบไปด้วย เวลาทำงานที่ยาวนาน, การไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา, การกลั่นแกล้งและคุกคาม และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงาน ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นสำเนาพจนานุกรมกฎหมายแรงงาน แต่จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีบริษัทไหนยอมรับรางวัลเลย
ในปี 2019 บริษัท Mitsubishi Electric ได้รับรางวัลบริษัทสุดโฉดติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 เหตุผลก็คือพบว่ามีเคสคาโรชิเกิดขึ้นหลายเคสทั้งบริษัทหลักและบริษัทในเครือ ซึ่งพนักงานชาย 2 ใน 5 คนได้แสดงสัญญาณของการถูกบังคับจิตใจ และมีข้อกล่าวหาว่าพนักงานคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ดูแลการฝึกอบรมตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ายุยงให้ฆ่าตัวตาย
สิ่งที่คุณทำได้เมื่อพบว่าตัวเองอยู่ในบริษัทสีดำ
หากคุณพบว่าตัวเองตกที่นั่งลำบากเนื่องจากกำลังทำงานอยู่ในบริษัทสีดำ ก็พอมีวิธีรับมืออยู่เช่นกัน อย่างแรก คือ ระบุให้ได้ว่าปัญหาคืออะไร และคุณอยากจะแก้ไขมันอย่างไร คนที่ตกเป็นเหยื่อจากสภาพการทำงานในบริษัทสีดำมักรู้สึกไร้อำนาจ และเนื่องจากขั้นตอนการรับมือจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ การมาพิจารณาทุกตัวเลือกที่คุณสามารถทำได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างวิธีรับมือที่คุณสามารถทำได้
ปรึกษาผู้ว่าจ้างของคุณ
อันดับแรก คือ พูดคุยกับหัวหน้าของคุณหรือแผนก HR ของบริษัท ตัวเลือกนี้เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนเสมอเพื่อป้องกันการมองสถานการณ์ในแง่ร้ายเกินจริง เนื่องจากหากบริษัทของคุณเป็นบริษัทสีดำจริงๆ พวกเขาก็มักจะไม่ให้ความร่วมมือกับขั้นตอนเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น การขอปรึกษายังช่วยให้บริษัทไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่รับรู้ปัญหาเมื่อต้องมีการไกล่เกลี่ยหรือในกรณีร้ายแรงที่สุดเลย คือ การฟ้องศาล
อีกเรื่องที่คุณควรรู้ไว้ คือ เหตุผลที่บริษัทจะสามารถไล่คุณออกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมีเพียง 2 อย่างเท่านั้น เหตุผลแรก คือ คุณไร้ความสามารถอย่างร้ายแรง แต่เนื่องจากเรากำลังพูดเรื่องการร้องเรียนบริษัทกันอยู่ จึงขอตีความไปว่าคุณไม่มีปัญหานี้ ส่วนเหตุผลที่สอง คือ บริษัทกำลังถูกมองว่ามีความเสียหายทางการเงินอย่างรุนแรง แต่ในกรณีนี้ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันด้วย และหากมีการให้ออกเกิดขึ้นจริงๆ ก็จำเป็นจะต้องแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า 30 วัน รวมถึงให้พนักงานเลือกได้ว่าจะลาออกเองหรือไม่ สิ่งสำคัญที่คุณควรรู้ที่สุดก็คือ มันสามารถเจรจาต่อรองกันได้และจะไม่มีการตัดสินใจโดยฝ่ายใดฝ่ายเดียว
หลังจากปรึกษากับผู้ว่าจ้างของคุณแล้ว หากคุณพบทางออกที่จะทำงานต่อในบริษัทเดิม ก็ควรตัดสินใจด้วยตัวเอง ในกรณีเช่นนี้ ขอให้คุณอย่ากลัวที่จะเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องการจะเห็นและลองต่อรองเพื่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้นในอนาคตดู
หางานใหม่
ทางเลือกที่ดีที่สุดหากคุณพบว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ในบริษัทสีดำก็คือ ลาออก หากคุณตัดสินใจทำแบบนั้น คุณก็จำเป็นจะต้องหางานใหม่ด้วย เราขอแนะนำให้คุณเริ่มหางานใหม่ให้เร็วที่สุดแล้วค่อยลาออกจากบริษัทสีดำที่คุณกำลังทำงานอยู่หลังผ่านการสัมภาษณ์ทั้งหมดและได้รับการเสนองานอย่างเป็นทางการจากบริษัทใหม่แล้วเท่านั้น ซึ่งเพื่อนที่ดีที่สุดของคุณในสถานการณ์เช่นนี้ คือ เว็บไซต์และบริษัทหางานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ คุณยังสามารถปรึกษากับทาง Hello Work ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบเกี่ยวกับบริการช่วยเหลือการจ้างงานต่างๆ ในญี่ปุ่น คุณสามารถติดต่อเรื่องปัญหาการถูกเอาเปรียบจากบริษัทสีดำและขอปรึกษาเพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือในกับสถานการณ์เช่นนี้ รวมถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อที่จะสามารถก้าวต่อไปได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยงานนี้ (ภาษาญี่ปุ่น)
แล้วอย่างไรต่อ?
หากคุณวางแผนจะย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น การตระหนักถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับบริษัทสีดำก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าปัญหาและกรณีอย่าง “คาโรชิ” จะยังคงกัดกินวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นต่อไป แต่คุณก็ไม่ควรปล่อยให้ภัยคุกคามจากกบริษัทสีดำเหล่านี้มาหยุดยั้งคุณจากการไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น เพราะยังมีวิธีต่างๆ มากมายที่จะช่วยรับรองได้ว่าเส้นทางของคุณจะปลอดภัยจากบริษัทเหล่านี้ หากคุณมีความรู้ที่เหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับบริษัทพวกนี้อีกเลย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานในญี่ปุ่น เราขอแนะนำให้อ่านต่อในบทความนี้ 7 วิธีหางานในญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติ
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
หากคุณอยู่ที่ญี่ปุ่นและกำลังหางานหรืออยากจะเปลี่ยนงานพอดี ตอนนี้เรามีเว็บไซต์สำหรับหางานที่เรียกว่า tsunagu Local Jobs แล้วนะ! นอกจากจะมีลิสต์งานสุดพิเศษที่หาจากที่ไหนไม่ได้แล้ว เรายังคัดมาหมดแล้วด้วยว่างานทั้งหมดนั้นเป็นล้วนมิตรกับชาวต่างชาติแถมยังมีคุณภาพสูง หากคุณสมัครและสร้างแอคเคาท์บนเว็บไซต์ก็จะสามารถรับสิทธิประโยชน์จากทีมให้บริการของเราซึ่งเป็นทีมสต๊าฟนานาชาติที่จะคอยช่วยเหลือให้คุณได้พบกับงานที่เหมาะสมในญี่ปุ่น อย่าลืมเข้าไปดูกันนะ!
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่