8 วิธีรับมือเมื่อเกิดอาการป่วยหรือบาดเจ็บที่ญี่ปุ่น ต้องรู้ก่อนเที่ยว!

Oyraa

ไม่ว่าใครก็คงจะไม่อยากป่วยหรือบาดเจ็บขึ้นมาในระหว่างการเที่ยว แต่เวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้ เช่น เป็นหวัด ท้องเสียจากอาหารที่ไม่คุ้นเคย หรือได้รับบาดเจ็บ ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาในประเทศที่ใช้คนละภาษาแถมวัฒนธรรมก็ต่างกันแบบนี้ หลายๆ คนก็คงจะตกอกตกใจกัน เพื่อลดความกังวลเหล่านั้น ในบทความนี้จะแนะนำวิธีรับมือหากป่วยหรือเกิดอาการบาดเจ็บในประเทศญี่ปุ่นให้ทุกคนได้ทราบกัน

1. ถ้าเกิดป่วยขึ้นมา จะมีวิธีในการขอเข้าพบแพทย์ได้อย่างไรบ้างนะ?

VTT Studio / Shutterstock.com

ในประเทศญี่ปุ่นจะมีสถาบันทางการแพทย์ที่ให้การรักษากับชาวต่างชาติกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน สามารถเช็คว่าสถาบันทางการแพทย์ที่ใกล้ตัวที่สุดที่รับคนไข้ชาวต่างชาติอยู่ที่ไหนได้ในเว็บเพจของ JNTO (Japan National Tourism Organization) ตามลิ้งค์ด้านล่างได้เลย โดยสามารถที่จะค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวก เพราะสามารถใช้ตัวกรองในเว็บไซต์ค้นหาแยกตามพื้นที่ที่อยู่ อาการ ภาษาที่ใช้ได้ และการรับบัตรเครดิต  แต่ละโรงพยาบาลอาจจะให้บริการทางภาษา บริการทางการแพทย์ และการชำระเงินที่ต่างกันไป แต่ถึงเราจะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นก็สามารถที่จะเข้ารับการตรวจและสื่อสารกับแพทย์ได้

เว็บไซต์ภาษาอังกฤษ: https://www.jnto.go.jp/emergency/eng/mi_guide.html

นอกจากนี้ ทาง JNTO ยังให้บริการ “Japan Visitor Hotline” ตลอด 24 ชั่วโมงทั้งปีไม่มีวันหยุด หากมีเหตุการณ์ไม่ปกติ อุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติต่างๆ แล้วต้องการความช่วยเหลือ ต้องการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว หรือหากมีปัญหาอื่นๆ ก็สามารถใช้บริการได้เช่นเดียวกัน ให้บริการในภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี 

Japan Visitor Hotline
เบอร์โทรศัพท์: 050-3816-2787 (โทรจากภายในประเทศญี่ปุ่น) / +81-50-3816-2787 (โทรจากต่างประเทศ)

2. สถาบันทางการแพทย์ในญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? ถ้าไม่ได้นัดจะเข้าพบแพทย์ได้ไหม? เรียกรถพยาบาลอย่างไร?

ในประเทศญี่ปุ่นมีสถาบันทางการแพทย์หลายประเภทเหมือนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ตั้งแต่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลท้องถิ่น และคลินิกต่างๆ หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่ๆ จะมีแผนกต่างๆ ทั้งแผนกศัลยกรรม แผนกอายุรกรรม แผนกกุมารเวชกรรม แผนกศัลยกรรมเสริมความงาม และแผนกจิตเวช ส่วนใหญ่จะรับผู้ป่วยนอกเกือบทุกอาการ แต่หากเข้ามาที่โรงพยาบาลโดยไม่ได้นัดมาก่อน ส่วนใหญ่จะต้องรอนาน หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ให้ไปโรงพยาบาลที่มีแผนกฉุกเฉิน หรือโทร 119 เพื่อเรียกรถพยาบาล ขอบอกไว้ก่อนว่าในกรณีที่ไปใช้บริการแผนกฉุกเฉินส่วนมากจะถูกคิดค่าบริการเพิ่มเติมจากค่าตรวจปกติ เช่น ค่าบริการเพิ่มเติมในการตรวจในวันหยุด หรือค่าบริการในการตรวจกลางดึก 

[วิธีเรียกรถพยาบาล]
ให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์ 119 ในตอนแรกอาจจะให้บริการด้วยภาษาญี่ปุ่น แต่หากพูดภาษาอังกฤษกลับไปจะถูกโอนสายไปให้โอเปอเรเตอร์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่หากมีคนญี่ปุ่นอยู่ในบริเวณนั้น ให้ขอให้คนญี่ปุ่นช่วยพูดให้จะทำให้สามารถติดต่อได้อย่างราบรื่นขึ้น ดังนั้นขอแนะนำให้มองหาคนญี่ปุ่นแล้วขอให้ช่วยจะดีที่สุด

① โทรศัพท์ไปที่เบอร์ 119
② จะได้ยินคำถามว่า “Kaji desu ka? Kyukyu desu ka?” (แจ้งเหตุการณ์ไฟไหม้หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน) ให้ตอบว่า “Kyukyu desu” (เหตุการณ์ฉุกเฉิน) เบอร์ 119 นี้เป็นเบอร์ของแผนกดับเพลิงด้วย
③ ให้บอกสถานที่ ที่อยู่ และจุดสังเกตในบริเวณนั้นให้ถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
④ อธิบายอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บ หรืออาหารป่วยที่เกิดขึ้น
⑤ บอกชื่อและเบอร์โทรศัพท์ผู้ที่ติดต่อไป
⑥ หากได้ยินเสียงไซเรน ให้พยายามนำทางไปยังที่เกิดเหตุเท่าที่จะทำได้ (หากได้รับคำสั่งจากแพทย์ฉุกเฉินให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด)
⑦ หากแพทย์ฉุกเฉินมาถึงแล้ว ให้พยายามแจ้งข้อมูลการปฐมพยาบาล อาการของผู้ป่วย และประวัติการรักษาเท่าที่ทราบ

ทบวงการบริหารอัคคีภัยและสาธารณภัย (FDMA) ได้จัดทำคู่มือในการใช้บริการรถพยาบาลสำหรับคนต่างชาติที่มาเที่ยวญี่ปุ่น เพื่อให้คำแนะนำในการใช้รถพยาบาลในภาษาต่างๆ มากมายรวมถึงภาษาไทย ขอแนะนำให้อ่านเตรียมไว้ก่อนจะดีที่สุด
Guide for Ambulance Services
คู่มือการใช้บริการรถพยาบาล

3. กังวลเรื่องไปหาหมอที่ญี่ปุ่น? จดบันทึกอาการอย่างละเอียดไปบอกคุณหมอจะดีกว่านะ

อาการป่วยนั้นบางทีก็ไม่สามารถที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ง่ายๆ ใช่ไหมล่ะ ดังนั้นให้พยายามจดโน้ตกันลืมไปเพื่อที่เวลาเข้าพบแพทย์จะได้สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญต่างๆ อย่าง ชื่อ-นามสกุล กรุ๊ปเลือด อาการที่เป็น ยาที่ใช้อยู่ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตที่สำคัญ อาการแพ้ต่างๆ ศาสนา เบอร์ติดต่อฉุกเฉิน และอื่นๆ หากจดโน้ตไปจะช่วยให้การให้บริการสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

4. หลังจากเข้ารับการตรวจจะรับยาได้อย่างไร? รับตอนจ่ายเงินเลยหรือเปล่า?

หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็จะสามารถรับยาในโรงพยาบาลได้เลย แต่หากเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกเล็กๆ จะต้องรับใบสั่งยาเพื่อไปรับยาที่ร้านขายยาตามใบสั่งแพทย์ (処方箋薬局) ร้านขายยานั้นส่วนมากจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันหรือตั้งอยู่ใกล้ๆ กับคลินิกหรือโรงพยาบาล ปัจจุบันร้านขายยาทั่วไป (ドラッグストア) บางร้านก็รับจัดยาให้ตามใบสั่งแพทย์เช่นเดียวกัน โดยหลายๆ ร้านก็จะมีพนักงานที่พูดได้หลายภาษาคอยให้บริการ และสามารถอธิบายการใช้และข้อควรรู้เกี่ยวกับยาที่แพทย์สั่งให้ได้เช่นกัน

5. ประกันการเดินทางที่ซื้อในไทยจะใช้ที่ญี่ปุ่นได้หรือไม่? ใช้ประกันในการเข้ารับการรักษาอย่างไร?

Khun Ta / Shutterstock.com

ความกังวัลลำดับต้นๆ ในการเข้ารับการรักษาที่ต่างประเทศ ยังไงก็คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่าย หากไม่มีประกันแล้วต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดล่ะก็ รับรองว่าค่าใช้จ่ายจะเยอะมากแน่ๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือประกันการเดินทาง ประกันการเดินทางแต่ละแบบก็จะมีรายละเอียดที่ต่างกันไป บางประกันก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากบัตรเครดิตที่ถืออยู่มีประกันการเดินทางด้วยล่ะก็ควรแจ้งให้พนักงานทราบตอนชำระเงินด้วย

หากก่อนมาญี่ปุ่นไม่ได้ซื้อประกันการเดินทางหรือไม่ได้ถือบัตรเครดิตที่มีประกันการเดินทางล่ะก็ สามารถมาซื้อได้ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีตัวอย่างประกันต่างๆ ดังนี้

・ Sompo Japan Nipponkoa Insurance
ชื่อประกัน: Travel insurance for visitors  (訪日旅行保険)
ภาษาที่ให้บริการ: ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี
การคุ้มครอง: ต่ออาการบาดเจ็บหรืออาการป่วยหนึ่งครั้งไม่เกิน 10 ล้านเยน
ค่าประกัน: แล้วแต่ช่วงเวลา (หากเป็นช่วงเวลา 10 วันจะมีค่าใช้จ่าย 2,900 เยน)
เว็บไซต์:https://www.sompo-japan-off.jp/travelins/travelins_ja.html

・ Tokio Marine Nichido
ชื่อประกัน: TOKYO OMOTENASHI POLICY
ภาษาที่ให้บริการ: ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี
การคุ้มครอง: ไม่เกิน 10 ล้านเยน
ค่าประกัน: แล้วแต่ช่วงเวลา (สำหรับ 1 วันจะมีค่าใช้จ่าย 760 เยน สำหรับ 10 วันจะมีค่าใช้จ่าย 3,610 เยน)
เว็บไซต์:https://japantravelinsurance.net/

6. ป่วยนะแต่อาการไม่ถึงขั้นต้องไปหาหมอ จะซื้อยาทั่วไปได้ที่ไหนบ้าง?

ถ้าอาการไม่หนักถึงขั้นต้องไปหาหมอ แต่อยากจะซื้อยา ขอแนะนำให้ไปซื้อที่ร้านขายยาทั่วไป (Drug store) โดยจะมีร้านปลอดภาษีสำหรับคนต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก โดยยาญี่ปุ่นนี้ก็มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพที่ดี ด้านล่างจะเป็นรายชื่อของร้านขายยาที่มีชื่อเสียงและมีหลายสาขา

・Matsumoto Kiyoshi: https://www.matsukiyo.co.jp/store/online
・Tsuruha Drug: https://www.tsuruha.co.jp/
・Sun Drug: http://www.sundrug.co.jp/
・Cocokara Fine: https://corp.cocokarafine.co.jp/english/index.html
・Welcia: https://www.welcia-yakkyoku.co.jp/
・Satudora:
https://satudora.jp/
https://satudora.jp/taxFree/en/
https://satudora.jp/taxFree/zh-tw/
https://satudora.jp/taxFree/zh-cn/
https://satudora.jp/taxFree/ko/
https://satudora.jp/taxFree/th/

7. กลัวว่าจะป่วยกระทันหันตอนที่อยู่ในญี่ปุ่น แบบนี้จะพกยาจากต่างประเทศเข้ามาได้ไหมนะ?

2p2play / Shutterstock.com

กฎหมายเวชภัณฑ์ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป หลายๆ คนคงจะสงสัยว่าจะเอายาที่ใช้เป็นประจำจากประเทศตัวเองเข้ามาในญี่ปุ่นได้ไหม? สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นหากนำมาใช้กับตัวเอง ถึงจะเป็นยาที่ไม่ได้มีใบอนุญาตในประเทศญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีกฎห้ามการนำเข้ามา

8. หากรู้สึกไม่สบายขึ้นมาตอนอยู่ญี่ปุ่น แนะนำให้ลองอ่านไกด์บุ๊คสำหรับชาวต่างชาติโดย JNTO

DKPVP / Shutterstock.com

JNTO นั้นได้เผยแพร่ไกด์บุ๊คสำหรับชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นในหน้าเว็บไซต์ จะพิมพ์ออกมาแล้วพกระหว่างไปไหนมาไหนก็ได้ หรือจะดาวน์โหลดเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนก็ดี ในเล่มจะมีหน้า “แผ่นบทสนทนาใช้นิ้วชี้เพื่อแสดงอาการเจ็บป่วย” โดยสามารถชี้ที่คำศัพท์ภาษาไทยที่อธิบายอาการเจ็บป่วยของเรา แล้วแพทย์ชาวญี่ปุ่นจะสามารถเข้าใจได้จากการอ่านภาษาญี่ปุ่นที่อยู่ด้านบน และหน้า “เขียนข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาของคุณเตรียมไว้ก่อนเพื่อความสบายใจ” โดยสามารถเขียนข้อมูลประวัติการรักษาเตรียมไว้ก่อนได้เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และยังมีข้อมูลด้านต่างๆ อีกมากมายที่ถูกรวมไว้ในเล่ม เวลาว่างๆ อ่านไว้สักหน่อยก็ไม่เสียหายนะ


ภาษาอังกฤษ: https://www.jnto.go.jp/emergency/common/pdf/guide_eng.pdf
ภาษาไทย: https://www.jnto.go.jp/emergency/common/pdf/guide_tai.pdf

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: