ญี่ปุ่นได้เตรียมปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม จากอัตราปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 8% เป็น 10% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการขึ้นอัตราภาษีเพื่อที่จะสะสมกองทุนสำหรับสวัสดิการทางสังคมในอนาคต แต่ในความเป็นจริงแล้วการเพิ่มภาษีนี้ยังมีบางจุดที่ “ซับซ้อนเข้าใจยาก” ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือ กลุ่มสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่มจะอยู่ในกลุ่ม “อัตราภาษีลดหย่อน” ซึ่งหมายความว่าไม่ปรับขึ้นภาษีนั่นเอง โครงสร้างซับซ้อนขนาดนี้ มาดูกันอย่างละเอียดกันดีกว่าว่า อะไรที่ไม่ขึ้นอัตราภาษีบ้าง แล้วภาษีใหม่นี้จะมีผลกับชาวต่างชาติอย่างไรบ้าง?
การขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคจาก 8% เป็น 10% ของประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นจะทำการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม จากอัตราปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 8% เป็น 10% โดยจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเริ่มนำระบบการเก็บภาษีผู้บริโภคเข้ามามีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2532 โดยเริ่มจากอัตราภาษี 3 % และทำการปรับขึ้นเป็น 5% ในเดือนเมษายน 2540 และ 8% ในเดือนเมษายน 2557 ซึ่งครั้งนี้ันับเป็นการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศ
ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และการลดลงของอัตราการเกิด ค่าประกันสังคม ฯลฯ ทำให้กลุ่มประชากรวัยทำงานต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ในสถานการณ์นี้ หากรัฐบาลปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาระทั้งหมดก็จะไปตกอยู่ที่ประชากรอายุน้อยในวัยทำงาน
ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคเพื่อกระจายภาระไปยังประชากรทั่วประเทศที่รวมไปถึงผู้สูงอายุด้วยนั้น จึงเป็นการระดมกองทุนที่เหมาะสำหรับสวัสดิการทางสังคมสำหรับสังคมผู้สูงอายุนี้ และนี่จึงเป็นที่มาของการเพิ่มอัตราภาษีในครั้งนี้นั่นเอง
ทว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการขึ้นอัตราภาษีรวดเดียวทั้งหมด และยังมีโครงสร้างที่ซับซ้อนเข้าใจยาก เนื่องจากมีการนำ “อัตราภาษีลดหย่อน” เข้ามาใช้ร่วมกับการขึ้นอัตราภาษีในครั้งนี้ด้วย เรามาเริ่มจากทำเข้าใจในโครงสร้างนี้ว่า จะมีผลต่อชาวต่างชาติทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อยู้อาศัยอย่างไร
อัตราภาษีลดหย่อน คือ?
อัตราภาษีลดหย่อน คือ ความคิดตามหลักการที่ว่า “การลดหย่อนภาระทางภาษีของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการใช้ ให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน” สำหรับสินค้าบางรายการที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น โดยได้ตั้งให้มีอัตราที่ต่ำลงเป็น 8% จาก 10%
สินค้ารายการที่เฉพาะเจาะจงนี้ก็คือ “สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม” (ยกเว้นสุรา และการรับประทานอาหารนอกบ้าน) และ “หนังสือพิมพ์” (สำหรับการเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ 2 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยสินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าลดหย่อนภาษี และจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 8% ตามเดิม
หนังสือพิมพ์นั้นคงจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติเท่าไรนัก แต่สำหรับรายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนั้น ค่อนข้างเกี่ยวข้องกันเลยทีเดียว แล้วการยกเว้นสุราและการรับประทานอาหารนอกบ้านนี้หมายถึงอะไร?
สินค้าอาหารและครื่องดื่มที่เข้าข่ายลดหย่อน / ไม่เข้าข่ายลดหย่อน
ข้าวสาร ผัก เนื้อสัตว์ ปลาสด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว น้ำแร่ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นรายการสินค้าและเครื่องดื่มหลักๆ ที่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน โดยจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 8% ตามเดิม และแม้ว่าสุราจะไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน แต่สำหรับเบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ หรือขนมที่มีสวนผสมของแอลกอฮอล์ ฯลฯ นั้นจะยังคงเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อนนี้
นอกจากนี้ สินค้าจำพวกยาหรือสินค้าที่เป็นเวชสำอาง (สินค้าที่มีจุดมุ่งหมายในการใช้อย่างเจาะจง มีผลต่อร่างกายน้อย แต่ไม่ใช้เพื่อการวินิจฉัย รักษา หรือป้องกันโรค ที่ให้ผลจากการบริโภคคล้ายยาแต่ไม่เข้าข่ายยา) เช่น เครื่องสำอางบางชนิด ฯลฯ จะไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน แต่สินค้าจำพวกเครื่องดื่มให้พลังงาน อาหารเสริม อาหารเพื่อความงาม ฯลฯ นั้นจัดอยู่ในกลุ่มอัตราภาษีลดหย่อน
มาถึงตรงนี้ การจะแยกว่า “เป็นสินค้าอาหารและครื่องดื่มหรือไม่” จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่จุดที่เป็นปัญหาก็คือ การรับประทานอาหารนอกบ้านที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมากเลยทีเดียว
คำจำกัดความของ “การรับประทานอาหารนอกบ้าน” ที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อนคือ?
คำจำกัดความของ “การรับประทานอาหารนอกบ้านที่เข้าข่าย/ไม่เข้าข่าย” นั้นคืออะไร 8% หรือ 10% กันแน่ มาดูกันว่าเส้นแบ่งของคำว่าเข้าข่ายนั้นอยู่ตรงไหน ตัวอย่างเช่น
・ในกรณีที่ซื้อข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อ แล้วรับประทานนอกร้าน จะไม่ถือว่าเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่จะถือว่าเป็น “การได้ส่งผ่านสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเรียบร้อยแล้ว” จึงถือเป็นสินค้าที่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน (คิดภาษี 8%)
・แต่ถ้าหากซื้อข้าวกล่องแล้วรับประทานภายในร้านสะดวกซื้อตรงมุมรับประทานอาหาร จะถือเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน จึงไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน (คิดภาษี 10%)
ซึ่งในกรณีนี้ จะมีการสอบถามเกี่ยวกับสถานที่ที่จะรับประทานในตอนซื้อสินค้าหรือไม่นั้น ก็ยังไม่มีการกำหนดอย่างแน่ชัด แต่ก็กำลังมีการพิจารณาเกี่ยวกับการให้พนักงานสอบถามว่า “จะรับประทานที่มุมรับประทานอาหารหรือไม่?” อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความกังวลในกรณีที่อาจมีผู้บริโภคตอบว่า “ไม่รับประทานในร้าน” ตอนชำระเงิน แต่จริงๆ “นั่งรับประทานภายในร้าน” การตัดสินใจเกี่ยวกับการนำอัตราภาษีลดหย่อนมาใช้จึงยังคงกำกวมอยู่
เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อ ร้านโยชิโนยะ ร้านสุคิยะ ร้านมัตสึยะ (ร้านขายข้าวหน้าเนื้อ) แมคโดนัลด์ KFC ฯลฯ (ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด) สตาร์บัคส์ ฯลฯ (ร้านกาแฟ) เหล่านี้ หากซื้อกลับบ้านก็จะเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน แต่หากเป็นกรณีที่รับประทานภายในร้าน ก็จะไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
หากเป็นการซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านที่ไม่ได้ให้ขายอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น
・ร้านแผงลอย หรือ ฟู้ดคอร์ท ฯลฯ ที่ไม่มีเก้าอี้หรือโต๊ะให้บริการ ก็จะถือเป็น “การส่งผ่านสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแล้ว” จึงเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน แต่หากว่ามีโต๊ะและเก้าอี้ ฯลฯ และรับประทานที่ตรงนั้นเลย ก็จะถือเป็น “การรับประทานอาหารนอกบ้าน” ที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
・การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านคาราโอเกะที่มีโต๊ะและเก้าอี้ที่สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้ ก็จะถือเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน ที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อนเช่นกัน
・ที่ซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นก็คือ กฎสำหรับโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าใครก็คงจะเคยมีประสบการณ์ในการซื้อป๊อปคอร์น และเครื่องดื่มนำไปรับประทานขณะชมภาพยนตร์ ซึ่งการรับประทานระหว่างชมภาพยนตร์นี้ จะไม่ถือว่าเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน จึงเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน แต่ในกรณีที่นั่งรับประทานตรงที่นั่งใกล้ๆ จุดขาย ก็จะถือเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้านที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
สรุปง่ายๆ ก็คือ อาหารและเครื่องดื่มจากร้านที่ไม่ได้ให้บริการหรือขายอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลักนั้น ตามหลักแล้ว หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการรับประทาน (เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้) และรับประทานในที่นั้น ก็จะถือเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้านที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน และจะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีผู้บริโภค 10% หลังการปรับขึ้นอัตราภาษี ซึ่งในกรณีตรงข้ามก็จะไม่ถือเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน และเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน จึงจะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีผู้บริโภค 8% ตามเดิม
ขนมขบเคี้ยวที่มีของแถมบางชนิดอาจไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน?
ตัวอย่างเช่น ขนม “Bikkuriman Choco (แถมสติกเกอร์)” หรือ “กูลิโกะคาราเมลพร้อมของแถม” ชาฝรั่งพร้อมถ้วยชาที่วางขายเป็นเซต ฯลฯ หากสินค้าเหล่านี้ตรงตามเงื่อนไข 2 ประการที่ระบุต่อไปนี้ ก็จะถือว่าเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
1. สินค้าที่มีราคาก่อนรวมภาษีต่ำกว่า 1 หมื่นเยน
* ในกรณีที่สินค้ามีราคาก่อนรวมภาษีสูงกว่า 1 หมื่นเยน จะถือเป็นสินค้าที่ไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
2. ราคาของสินค้าที่เป็นอาหารมากกว่า 2 ใน 3 ของสินค้าโดยรวม
* ตัวอย่างเช่น ชาฝรั่งราคา 4,000 เยน และถ้วยชาราคา 2,000 เยนได้ถูกวางขายเป็นเซ็ตสินค้า 6,000 เยน ในกรณีนี้ ราคาของสินค้าจำพวกอาหารนั้นสูงกว่า 2 ใน 3 ของราคาทั้งหมด จึงถือว่าเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
สรุปง่ายๆ ก็คือ อัตราภาษีลดหย่อนในครั้งนี้มีไว้สำหรับ “สินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่ม” เท่านั้น “หากสินค้าอื่นที่นอกเหนือจากสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลัก จะไม่ถือว่าเป็นสินค้าจำพวกอาหาร”
และหากพูดถึงสติ๊กเกอร์ของแถมที่มาพร้อมขนม Bikkuriman Choco ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สติ๊กเกอร์เป็นเพียงแค่ของแถม และตัวขนมมีราคามากกว่า 2 ใน 3 ของสินค้า จึงถือว่าเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน ในทางกลับกัน ขนมกูลิโกะคาราเมลพร้อมของแถมนั้น มีของแถมเป็นหลัก ซึ่งราคาของขนมไม่ถึง 2 ใน 3 ของสินค้า จึงถือว่าไม่เข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
ตรงจุดนี้อาจจะตัดสินค่อนข้างยากสำหรับผู้บริโภค จึงควรตรวจสอบรายละเอียดบนอินเตอร์เน็ตก่อน หรือลองถามที่ร้านค้าโดยตรงดูน่าจะดีกว่า
นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นมักจะมีแคมเปญในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น เครื่องดื่มขวดพลาสติกที่มีของแถมติดมาด้วย ในกรณีนี้ ของแถมเป็นสินค้าที่ไม่ได้วางจำหน่าย และแม้ว่าจะไม่มีของแถมราคาสินค้าก็ไม่เปลี่ยนแปลง จึงถือว่าของแถมนั้นมีราคาเป็น 0 เยน ถือว่าเข้าข่ายอัตราภาษีลดหย่อน
แล้วอย่างอื่นล่ะ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง?
จากการปรับกฎหมายภาษีผู้บริโภคในครั้งนี้ หากชำระค่าบริการด้วยระบบแคชเลส (ระบบไร้เงินสด) ในระยะเวลา 9 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ร้านค้าขนาดเล็กหรือกลางที่ได้ลงทะเบียนไว้ คุณจะได้รับคะแนนสะสมคืนเป็นจำนวน 2-5%
การคืนคะแนนสะสมในช่วงระยะเวลานี้ เป็นกลยุทธ์เพื่อชะลอการหยุดบริโภคของผู้บริโภคหลังการปรับขึ้นอัตราภาษี ซึ่งระบบการคืนมี 2 ประเภท
1. การคืนคะแนนสะสมตามชนิดของแต่ละร้านค้าและบริการ
2. การคืนโดยทันที (ลดราคาทันที)
สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วจะได้ประโยชน์จากประเภทหลังมากกว่าประเภทแรก
ร้านค้าหรือบริการที่สามารถได้รับการคืนโดยทันที (ลดราคาทันที) มีดังนี้
- บัตรเครดิต JCB, บัตรเครดิต Mitsui Sumitomo, บัตรเครดิต SAISON, บัตรเครดิต UC, และบัตรเครดิต Mitsubishi UFJ Nicos (ส่วนหนึ่ง) นี้จะเน้นความเข้าใจง่ายโดยจะทำการลดราคาทันทีตามจำนวนคะแนนสะสมที่จะได้รับ
- ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ทุกบริษัท (7-Eleven, FamilyMart, LAWSON, MINISTOP) ก็จะทำการคืนโดยทันที (ลดราคาทันที) เช่นกัน
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลในส่วนนี้ได้ที่นี่ (ภาษาญี่ปุ่น)
เปลี่ยนระบบในช่วงเวลาไหน?
ต่อจากนี้ จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 30 กันยายน – วันที่ 1 ตุลาคมเท่านั้น ร้านค้าที่ให้บริการตลอด 24 ขั่วโมง หรือแท็กซี่ที่ให้บริการตอนเที่ยงคืน ฯลฯ เหล่านี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีผู้บริโภคตั้งแต่ตอนไหนของวันที่ 1 ตุลาคม?
ร้านค้าที่ให้บริการตลอด 24 ขั่วโมงเปลี่ยนระบบตอนไหน?
ดูเหมือนว่าแต่ละร้านค้าจะมีวิธีการรับมือกับอัตราภาษีใหม่ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ได้ทำการประกาศอย่างชัดเจนถึงวิธีการรับมือกับอัตราภาษีใหม่ผ่านสื่อต่างๆ ให้ได้ทราบกัน
- 7-Eleven, FamilyMart, LAWSON 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ของร้านสะดวกซื้อได้ประกาศว่า “หากเริ่มสแกนสินค้าชิ้นแรกภายในเวลาของวันที่ 30 กันยายน จะใช้อัตราภาษี 8% ตามเดิม”
- Gusto, Bamiyan, Jonathan’s ฯลฯ ของ Skylark Group บริษัทยักษ์ใหญ่ของร้านอาหารสำหรับครอบครัว (Family Restaurant) ได้ประกาศว่า “ในช่วงเวลาเปลี่ยนวันจะให้ลูกค้าภายในร้านทำการชำระค่าบริการด้วยอัตราภาษี 8% ก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอัตราภาษี 10% หลังจากนั้น”
- ร้านขายยา Sugi Drug ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ได้ประกาศว่า “หากเริ่มทำการชำระเงินภายในเวลา 23 นาฬิกา 59 นาที 59 วินาที ของวันที่ 30 กันยายน จะใช้อัตราภาษี 8% แต่หากทำการชำระเงินหลังจากเปลี่ยนเป็นวันรุ่งขึ้นแล้ว จะใช้อัตราภาษี 10%”
- ร้านคาราโอเกะ Karaoke no Tetsujin ได้ประกาศว่า “เริ่มใช้อัตราภาษี 10% ตั้งแต่เวลาเปิดทำการในวันรุ่งขึ้น”
แท็กซี่เปลี่ยนระบบตอนไหน?
สำหรับแท็กซี่ก็เช่นกัน มีความเป็นไปได้สูงที่แต่ละบริษัทจะมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ซึ่งสำหรับบริษัทแท็กซี่รายใหญ่ TEITO TAXI นั้น จะยังคงใช้อัตราภาษี 8% ในช่วงเวลาข้ามวัน เช่นเดียวกับ Sanwakoutsu ที่จะปรับเป็นอัตราภาษี 10% ตั้งแต่เช้าวันที่ 1 ตุลาคม ในเวลาที่ของรถแท็กซี่กะเช้าออกให้บริการ
ในทางกลับกัน บริษัทแท็กซี่ยักษ์ใหญ่ Nihon-Kotsu นั้นได้พูดถึงราคาในช่วงข้ามวันของวันที่ 1 เดือนตุลาคมว่า “ยังไม่มีการกำหนดแน่นอน”
บทความนี้ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีผู้บริโภคเพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นได้เข้าใจถึงรายละเอียดได้ง่าย อ้างอิงเนื้อหาในบทความนี้ แล้วช็อปปิ้งให้เต็มที่กันดีกว่า!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่