“Kowai” “Kawaii” แนะนำศัพท์ญี่ปุ่นชวนสับสน

Oyraa

ภาษาญี่ปุ่นนับเป็นภาษาที่ค่อนข้างยาก ทั้งคันจิ และอีกหลายคำที่ออกเสียงคล้ายกันแต่กลับมีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง (เช่น Kawaii กับ Kowai) ในบทความนี้ เราจะมาดู 10 คำศัพท์ที่คนเริ่มหัดเรียนภาษาญี่ปุ่นมักจะสับสน พร้อมแนะนำเคล็ดลับไม่ให้ผิดพลาด!

เกริ่นกันสักหน่อย

Hiragana syllabary
Eiko Tsuchiya / Shutterstock

การออกเสียงของภาษาญี่ปุ่นมีทั้งข้อดีและเสีย เมื่อเทียบกับภาษาไทยหรืออังกฤษภาษาญี่ปุ่นจะมีเสียงแปลกๆ น้อยกว่ามาก จึงง่ายต่อการออกเสียง แต่กลับกัน ด้วยจำนวนเสียงที่ค่อนข้างน้อยจึงมีคำที่ออกเสียงคล้ายกันหลายคำ เราจะเจอคำพ้องเสียงหรือเกือบจะพ้องเสียงแทบจะตลอดเวลา และหลายคำก็จะแยกแยะได้ด้วยบริบท ความแตกต่างเล็กน้อยในการออกเสียง หรือที่หาได้ยากหน่อยก็ด้วยน้ำเสียงเท่านั้น เรียกได้ว่าแทบจะเป็นฝันร้ายของคนเรียนญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เพื่อช่วยผู้ที่เพิ่งเริ่มเรียน เราจึงได้รวบรวมคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ผู้เพิ่งเริ่มเรียนมักสับสน เช่น kawaii/kowai และ ani/oni ให้สังเกตความแตกต่างและจดจำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจทำให้คุณเขินๆ ได้

คำที่สับสนได้ง่าย

1. Kawaii / Kowai

Cute and scary cat
Alena Ozerova // elwynn / Shutterstock

kawaii (かわいい / คา – วา – อี้) แปลว่าน่ารัก เป็นคำที่ใช้ทั่วไปและเจอได้ในหลากหลายบริบทเนื่องจากในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีอะไรน่ารักๆ เต็มไปหมด แต่ระวังการออกเสียงไว้ให้ดีล่ะ

猫が可愛いい (Neko ga kawaii) - แมวน่ารัก

เมื่อพูดเร็วๆ เสียง kawaii อาจกลายเป็น kowai (こわい / โค – วา – อิ) ซึ่งแปลว่า น่ากลัว หวาดกลัว รู้สึกกลัว แทน ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป ดังนั้นเวลาคุณพบเห็นสิ่งน่ารัก อย่าลืมออกเสียง คะ ให้ชัดเจน และลากเสียง อี้ ให้ยาว เพื่อให้มีโอกาสสับสนน้อยลง!

猫が怖い (Neko ga kowai) - แมวน่ากลัว

คำว่า kawaii ยังมักถูกสับสนกับอีกคำหนึ่ง ซึ่งเราจะอธิบายในข้อ 7

2. Suwaru / Sawaru

Offering a seat vs. touching
dxoroshun // Lolostock / Shutterstock

เสียงต่างกันเพียงพยางค์เดียวก็กลายเป็นคนละคำเแล้ว!

Suwaru (座る,すわる / สุ – วา – รุ) แปลว่านั่งลง ไม่ว่าจะเป็นนั่งบนเก้าอี้ บนเบาะ หรือบนพื้น

座ってください (Suwatte kudasai) - กรุณานั่งลง

ส่วน Sawaru (触る, さわる / ซา – วา – รุ) แปลว่าการจับ การสัมผัส ดังนั้นเวลาที่เราจะเชิญใครสักคนให้นั่งลงบนเก้าอี้ อย่าลืมออกเสียง สุ ให้ชัดเจน

触ってください (Sawatte kudasai) - กรุณาจับ, กรุณาสัมผัส

3. Okusan / Okaasan

Wife vs mother
Dmytro Voinalovych // Syda Productions / Shutterstock

การใช้สองคำนี้สลับกันอาจไม่ถือว่าเลวร้ายมากนัก แต่ก็ยังอาจทำให้เกิดความสับสนอยู่ดี Okusan (奥さん, おくさん / โอะ – คุ – ซัง) เป็นการเรียกภรรยาของผู้อื่นอย่างสุภาพ ส่วน Okaasan (お母さん, おかあさん / โอะ – ก้า – ซัง) จะเป็นการเรียกคุณแม่แบบสุภาพ จุดสำคัญคือเสียงพยางค์ที่สอง : ถ้าจะใช้เรียกภรรยาต้องเป็น คุ ถ้าเรียกแม่จะเป็น คะ เสียงยาว

私のお母さんです (Watashi no okaasan desu) - แม่ของฉัน
私の奥さんです (Watashi no okusan desu) - ภรรยาของฉัน

4. Okashi / Okashii

Sweets vs weird
Sann von Mai // SunflowerMomma / Shutterstock

อย่างที่กล่าวไว้ว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่มีเสียงสระน้อยมากในการสร้างคำ ทำให้มีหลายคำที่ใช้เสียงเดียวกัน การใช้ตัวอักษรคันจิจึงมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการอ่าน แต่ในภาษาพูดเราสามารถพึ่งพาได้เพียงบริบทและการเน้นเสียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง

สองคำข้างต้นเป็นคำเกือบพ้องเสียงที่ต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น คำแรกคือ okashi (お菓子, おかし / โอะ – คา -ชิ) ซึ่งแปลว่าขนม ของว่าง ของทานเล่น ไม่ว่าจะเป็นเค้ก คุกกี้ เซ็มเบ้ หรือขนมขบเคี้ยวต่างๆ 

お、お菓子! (O, okashi!) - อุ๊ย! ขนม! 

ส่วนคำว่า okashii (おかしい / โอะ – คา – ชี่) แปลว่าประหลาดหรือแปลก มักใช้เวลาพบเจอกับอะไรที่ผิดปกติ หรือมีสิ่งที่แปลกประหลาดไม่คาดคิดเกิดขึ้น

お、おかしい! (O, okashii!) - อุ๊ย ประหลาดจัง!

สองคำนี้ออกเสียงแทบจะเหมือนกัน เว้นเพียงแต่ okashii พยางค์สุดท้ายจะเป็นเสียงยาว ออกเป็นเสียง ชี่ ถ้าเจออะไรแปลกๆ ก็อย่าลืมลากเสียงสักหน่อย แต่หากพูดถึงขนม เสียง shi จะออกเสียงสั้นๆ แค่ ชิ

5. Aru / Iru

Forest (mori) vs friend (Mori)
PlusONE // paulphoto / Shutterstock

ภาษาญี่ปุ่นจะมีคำศัพท์ที่ใช้แยกกันระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เวลาสนทนาก็ต้องใช้แยกให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นก็อาจทำให้ผู้ฟังสับสนได้ หากพูดถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ป่า จะต้องใช้คำว่า aru (ある / อะ – รุ) เพื่ออธิบายการมีอยู่ของสิ่งนั้น

森がある (Mori ga aru) - "มีป่าอยู่"

ในทางกลับกัน หากคุณต้องการชี้บอกว่าเพื่อนของคุณที่ชื่อโมริอยู่ตรงนั้นในภาษาแบบกันเองจะพูดว่า:

森がいる (Mori ga iru) - "(คุณ)โมริอยู่" 

ในกรณีนี้ iru ชี้ให้เห็นว่า Mori ในประโยคเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงเป็นชื่อของบุคคล ไม่ได้หมายถึงป่าไม้ แม้ว่า aru กับ iru จะไม่ได้ออกเสียงคล้ายกันมากนัก แต่ถือเป็นคำสำคัญที่จะต้องรู้ถึงความหมายและวิธีการใช้เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกต้องเวลาพูดคุย

6. Oni / Ani

demon mask (oni) vs brothers (ani)

หลายคนอาจไม่สามารถแยกสองคำนี้ออกจากกันได้ แต่อย่างไรก็ควรใช้ให้ถูกต้องดีกว่า คำแรกคือคำว่า oni (鬼, おに / โอะ – นิ) ซึ่งแปลได้ว่าปีศาจ ยักษ์

鬼がいる! (Oni ga iru!) - "มีปีศาจ/ยักษ์!"

อีกคำหนึ่งคือ ani (兄, あに) (อะ – นิ) พี่ชาย

兄がいる!(Ani ga iru) - "มีพี่ชายอยู่!"

ani เป็นภาษาสบายๆ ไม่เป็นทางการที่ใช้เวลาพูดถึงพี่ชายของตนเอง หากออกเสียงผิดจาก อะ เป็น โอะ ความหมายจะเปลี่ยนไปในทันที กลายเป็นว่าคุณเรียกพี่ชายคุณว่าปีศาจ แต่ก็ยังมีที่งงกว่านั้นอีก:

คำสุภาพสำหรับพี่ชายในภาษาญี่ปุ่นคือ onii-san (お兄さん / โอะ – นี่ – ซัง) ซึ่งสามารถใช้ในการเรียกพี่ชายตัวเองหรือเรียกพี่ชายของคนอื่นก็ได้ ด้วยการออกเสียงใกล้เคียงกับ oni! มาก เวลาคุณพูดถึงพี่ชายของใครสักคน ก็อย่าลืมลากเสียง nii ให้ยาวหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะไม่เรียกผิดจากพี่ชายกลายเป็นยักษ์หรือปีศาจ (แม้ว่าการเรียกปีศาจว่า oni-san ออกจะสุภาพเกินไปหน่อยก็ตาม)

7. Kawaisou

spilled milk vs. cute milk
Taylor E Williams // curiosity / Shutterstock

ถือเป็นอีกคำที่อาจจะเข้าใจผิดและใช้ผิดได้ง่าย เป็นความผิดพลาดที่แอดวานซ์ไปอีกขั้นจากไวยากรณ์ ไม่ใช่เพียงคำเดี่ยวๆ เมื่อเรียนเกี่ยวกับการสร้างคำหรือประโยคภาษาญี่ปุ่น ผู้เรียนมักจะรู้จักคำประสม sou (そう / โซ) ซึ่งใช้ต่อท้ายคำคุณศัพท์เพื่อแสดงความคิดว่า “ดูเหมือนจะ” ยกตัวอย่างคำที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ

おいしそう!(Oishisou!) - "น่าอร่อยจัง!"

ในกรณีนี้คือผู้พูดยังไม่ได้ลองชิมอาหารและยังไม่มีใครบอกรสชาติว่ามันอร่อย เป็นเพียงการแสดงความเห็นจากการมองเห็นหรือได้ฟังคำอธิบายเพียงเท่านั้น คำว่า Sou ค่อนข้างยืดหยุ่นและสามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์กับหลายคำคุณศัพท์

บางครั้งเวลามองเห็นอะไรน่ารัก อาจมีบางคนพูดเพี้ยนไปว่า

かわいそう! (Kawaisou!) - ดูน่ารักจัง ❌

แต่ในความหมายจริงๆ ของคำนี้คือ :

かわいそう! (Kawaisou!) - น่าสงสารจัง ✅

kawaisou (可哀想) เป็นคำศัพท์หนึ่งคำในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลว่าน่าสงสารหรือน่าเศร้า มักใช้แสดงความสงสาร เช่นเมื่อเห็นเด็กเล็กตกลงไปในแอ่งน้ำ หรือเมื่อมีคนทำแซนด์วิชหล่น หากต้องการจะบอกว่าบางสิ่งดูน่ารัก เราแนะนำให้ใช้คำว่า kawai rashii (可愛らしい) แทน

False Friends

สำหรับ 3 คำสุดท้าย เราจะเสนอคำที่เป็น false friends (คำศัพท์หรือสำนวนที่มีการสะกดหรือออกเสียงคล้ายๆ กัน แต่ความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง) หรือเรียกอีกอย่างว่า wasei eigo (和製英語) ที่แปลว่าภาษาอังกฤษที่สร้างโดยคนญี่ปุ่น เป็นคำที่ฟังดูเหมือนภาษาอังกฤษ และพูดเหมือนภาษาอังกฤษ แต่มีความหมายที่แตกต่างไปจากคำอังกฤษโดยสิ้นเชิง

เดิมทีคำเหล่านี้มีรากมาจากภาษาอังกฤษ แต่เมื่อนำไปทับศัพท์ใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็ทำให้ความหมายค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจนแตกต่างออกไปไม่เหลือเค้าเดิม

8. Konsento

outlet (konsento)
KO-TORI / Shutterstock

ในญี่ปุ่นคุณจะไม่เจอ konsento (コンセント) ในเอกสารหรือในสัญญา แม้จะดูเหมือนเป็นคำทับศัพท์ของ Consent ในภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้ว konsento หมายถึงเต้าไฟที่ไว้เสียบสายชาร์จ คำนี้เป็นการพูดถึง concentric plug โดยย่อ ซึ่งหากรู้ที่มาก็อาจช่วยให้จำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น

9. Baikingu

Japanese buffet
Patcharaporn Puttipon 636 / Shutterstock

คำที่ชวนให้สับสนได้ยิ่งกว่าคือ baikingu (バイキング) โดยเฉพาะผู้ที่ชินกับภาษาอังกฤษอาจยิ่งเข้าใจผิดได้ง่าย บางคนอาจคิดว่า biking คือการปั่นจักรยาน หรือบางคนที่รู้ว่าคนญี่ปุ่นจะมีปัญหาในการออกเสียงตัว V อาจนึกภาพชาวนอร์สโบราณในเรือรบไวกิ้งแทน

baikingu ไม่ใช่ทั้งการขี่จักรยานหรือชาวไวกิ้ง แต่หมายถึงบุฟเฟ่ต์ต่างหาก คำนี้เกิดขึ้นเนื่องจากร้านอาหารสไตล์บุฟเฟ่ต์แห่งแรกที่เปิดให้บริการในญี่ปุ่นคือ Imperial Viking ซึ่งตั้งชื่อตามภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง The Vikings (1958) ที่ได้รับความนิยมในเวลานั้นนั่นเอง

แม้ภาษาญี่ปุ่นมักจะย่อคำอยู่บ่อยๆ แต่อย่าได้คิดไปตัดทอนคำว่า baikingu ให้สั้นลงเชียว เพราะคำว่า baikin (黴菌) จะแปลว่าแบคทีเรียหรือเชื้อโรคไปแทน

10. Faito

Friends cheering each other on
Rawpixel.com / Shutterstock

หนึ่งในคำ wasei eigo ที่ได้ยินบ่อยมากที่สุด ก็อาจเป็นคำที่ทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายที่สุด ถ้าคุณไปเที่ยวกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นในวันก่อนวันสำคัญอย่างก่อนวันพรีเซนต์งานหรือก่อนวันสอบ พวกเขาอาจจะมอบรอยยิ้มและแสดงท่าทางชูกำปั้นขึ้นมาพร้อมพูดกับคุณว่า “faito!” (ファイト!) แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การบอกให้คุณไปต่อสู้กับใคร แต่มันคือการบอกให้คุณสู้ๆ เป็น wasei eigo ที่มีความหมายเดียวกับคำว่า ganbatte (頑張って) ที่แปลว่า พยายามเข้านะ! นั่นเอง

ตระหนักถึงความแตกต่าง

Studying Japanese
stoatphoto / Shutterstock

ในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างของคำที่พบได้บ่อย แต่ยิ่งเรียนภาษาญี่ปุ่นลึกขึ้นเท่าไร คุณก็จะยิ่งพบเจอกับคำพ้องเสียงและวลีที่ชวนให้สับสนมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ต้องกลัวไป การสื่อสารผิดพลาดเนื่องจากการออกเสียงผิดนั้นไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่ ส่วนมากคำที่ให้เสียงคล้ายกันมักใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะออกเสียงไม่ถูกต้องทั้งหมด คนส่วนใหญ่ก็จะเดาได้ว่าต้องการพูดถึงอะไร

หากต้องการพูดด้วยสำเนียงที่ถูกต้อง ทางที่ดีที่สุดคือการศึกษาสำเนียงและฝึกพูดอย่างถูกต้อง การเรียนจะช่วยให้รู้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน ส่วนการฝึกออกเสียงจะช่วยให้สามารถพูดได้อย่างถูกต้องและใช้คำได้ถูกสถานการณ์ ยิ่งฝึกฝนมากก็จะยิ่งแยกได้ง่ายขึ้น!

จะไม่มี kawaii ที่ออกเสียงเหมือน kowai อีกต่อไป ความน่ารักและความน่ากลัวจะกลายเป็นคำสองคำที่แยกออกจากกันอย่างที่มันสมควรจะเป็น

Title image: meamorworks / Shutterstock

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: