เมื่อพูดถึงปัญหาการใช้พลาสติก ญี่ปุ่นยังนับว่าตามหลังประเทศอื่นที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่พอสมควร เพราะในต่างประเทศได้มีการสู้เรื่องพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกันมานานหลายปีแล้ว วันนี้เราจะพาไปชมข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้พลาสติกในประเทศญี่ปุ่นกัน
ที่ญี่ปุ่น การห่อบรรจุภัณฑ์กับพลาสติกแทบจะเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน เห็นได้จากทั้งกล้วยที่แบ่งห่อพลาสติกเป็นลูกๆ , แอปเปิ้ลที่หุ้มด้วยโฟมกันกระแทก วางมาในถาดพลาสติก แล้วยังห่อด้วยฟิล์มพลาสติกอีกชั้น, ร้านสะดวกซื้อที่ชอบแยกถุงใส่เครื่องดื่มเย็นๆ กับกล่องข้าวอุ่นร้อนออกเป็น 2 ถุง นับเป็นเรื่องยากที่จะเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ห่อด้วยพลาสติก แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมญี่ปุ่นถึงมีการใช้พลาสติกมากมายขนาดนั้น?
ทำไมญี่ปุ่นถึงใช้พลาสติกเยอะ?
ขยะพลาสติกในญี่ปุ่นกว่า 68% มาจากบรรจุภัณฑ์
กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น
ลองนึกภาพดูว่าคุณต้องไปร่วมงานวันเกิดของหัวหน้า ต่อให้คุณซื้อของขวัญมาแพงแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะมอบให้หัวหน้าได้โดยไม่ห่อของขวัญแน่ๆ ในทำนองเดียวกัน วัฒนธรรมการให้ของขวัญประกอบกับวัฒนธรรมการบริการแบบ “Omotenashi” (ใส่ใจในทุกรายละเอียดเพื่อมอบประสบการณ์ดีๆ ให้กับลูกค้า) ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้บริการชาวญี่ปุ่นต้องบรรจุหีบห่อให้กับสินค้าทุกๆ ชิ้น ซึ่งโดยมากจะใช้พลาสติกเพราะมีราคาถูกและทนทาน
การห่อสินค้าด้วยพลาสติกนั้น นอกจากจะช่วยให้มั่นใจว่าในความสะอาดและปลอดภัยของสินค้าได้แล้ว ยังช่วยทำให้สินค้าดูหรูหราขึ้นอีกด้วย นี่ก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมขยะพลาสติกในญี่ปุ่นกว่า 68% ถึงเป็นพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์
ขยะพลาสติกในญี่ปุ่น
จากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ในปี 2018 ญี่ปุ่นได้สร้างขยะพลาสติกกว่า 9 ล้านตัน ส่งออกไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างมาเลเซียและเวียดนามราว 1.5 ล้านตัน โดยทั่วไปประเทศเหล่านี้ขาดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย ดังที่เห็นได้จากผลการศึกษาที่ว่ามลพิษจากพลาสติกในทะเลมากกว่า 80% มาจากเอเชีย
ญี่ปุ่นมีผู้บริโภคพลาสติกใช้แล้วทิ้งมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
จากการศึกษาของกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น คาดว่าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นที่อยู่ในทะเลแต่ละปีมีมากถึง 60,000 ตัน ซึ่งเป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตในทะเลและกำลังทำให้พื้นที่ในทะเลบางส่วนเต็มไปด้วยพลาสติก
คนญี่ปุ่นใช้ถุงพลาสติกกว่า 30,000 ล้านใบทุกปี
ทุกๆ ปีคนญี่ปุ่นจะมีใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 30,000 ล้านใบ นับเป็น 17 เท่าของปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้ในสหราชอาณาจักร เป็นปริมาณที่เยอะมากถึงแม้ว่าจำนวนประชากรในประเทศญี่ปุ่นจะมากกว่าเพียง 2 เท่าตัวก็ตาม อย่างไรก็ตาม ปริมาณถุงพลาสติกที่กล่าวไปข้างต้นนั้นนับแค่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่เท่านั้น หากรวมปริมาณถุงพลาสติกใบเล็กจากร้านสะดวกซื้อเข้าไปด้วย ญี่ปุ่นก็จะมีการใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยสูงถึง 450 ใบต่อคนเลยทีเดียว!
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ทางการได้ออกข้อบังคับให้ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศญี่ปุ่นต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก นี่เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มของรัฐบาลในการลดขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ผู้ประกอบการบางราย อย่างแมคโดนัลด์ และโยชิโนยะ (Yoshinoya) ได้เปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพแทนซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเนื่องจากเป็นวัสดุที่มีส่วนประกอบจากพืชมากกว่า 25%
ทุกวินาทีจะมีคนซื้อขวดพลาสติกมากถึง 740 ขวด
ประชากรในญี่ปุ่นแต่ละคนจะมีการซื้อสินค้าที่เป็นขวดพลาสติก (PET) ประมาณปีละ 183 ขวดโดยเฉลี่ย เมื่อรวมจำนวนทั่วประเทศก็จะคิดเป็น 23,000 ล้านขวดต่อปี ซึ่งมากพอที่จะพันรอบโลกได้ถึง 126 ครั้งเลยทีเดียว!
ในปี 2018 มีรายงานว่าอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกของญี่ปุ่นคิดได้เป็น 85% ซึ่งมากที่สุดในโลก แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคงเห็นขวดพลาสติกตกอยู่ตามชายฝั่ง ชายหาด และในทะเลรอบๆ ญี่ปุ่น จากผลสำรวจประจำปี 2016 ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมพบว่า 23% ของขวดพลาสติกสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งเกาะสึชิม่า (Tsushima) จังหวัดนางาซากิ ซึ่งเกิดจากในประเทศญี่ปุ่นเอง และบางส่วนมาจากประเทศข้างเคียง เช่น จีน และเกาหลี
ญี่ปุ่นรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ถึง 84% จริงหรือไม่?
ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลพลาสติกหมดอายุสูงมากโดยจากรายงานอยู่ที่ 84% แต่น่าเสียดายที่ 8 ใน 10 ของขยะพลาสติกไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นขวดพลาสติกใบใหม่อย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะยังมีข้อแม้สำคัญที่มักถูกมองข้ามอยู่ นั่นคือกว่า 70% ของพลาสติกที่ถูก “รีไซเคิล” นั้นถูกเผาเพื่อใช้เป็นพลังงาน หรือก็คือ 56% ของขยะพลาสติกจะถูก “รีไซเคิลด้วยความร้อน” ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แต่ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมออกมาด้วยเช่นกัน มีขยะพลาสติกเพียง 23% เท่านั้นที่มีการนำวัสดุกลับมาใช้ และอีก 4% นำไปรีไซเคิลทางเคมีและเปลี่ยนพลาสติกให้กลับมาอยู่ในรูปของวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป
ทุกปี คนญี่ปุ่นซื้อขวดพลาสติกมากพอที่จะพันรอบโลกได้ 126 รอบ
ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งขยะพลาสติกจำนวนมากไปยังประเทศจีน แต่เนื่องจากจีนได้ออกกฎห้ามนำเข้าขยะพลาสติกไปในปี 2017 ปริมาณพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ระบบรีไซเคิลในญี่ปุ่นรับไม่ไหว ด้านโรงเก็บขยะเองก็ถึงจุดอิ่มตัวซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้ขยะพลาสติกเหล่านี้ไปจบอยู่ในเตาเผา หรือไม่ก็ถูกฝังกลบ กลายเป็นมลพิษทั้งทางอากาศ ทางบก และทะเล
ไมโครบีดส์ พลาสติกจิ๋วอันตรายกว่าที่คุณคิด!
คุณอาจจะเคยได้ยินชื่อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมไมโครบีดส์มาก่อน หรือไม่ก็อาจจะเคยอ่านผ่านๆ ตามาบ้างว่ามีหลายประเทศทั่วโลก เช่น (แคนาดา, ฝรั่งเศส, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ) ที่สั่งห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดส์
ไมโครบีดส์เป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก (โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มม.) ที่ใช้ผสมในผลิตภัณฑ์เสริมความงามและดูแลสุขอนามัยต่างๆ เช่น ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ล้างหน้าเพื่อขัดผิว ปัญหาคือเม็ดพลาสติกเหล่านี้มีขนาดเล็กมากจนโรงบำบัดน้ำเสียไม่สามารถกรองหรือป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำได้ สุดท้ายแล้ว สัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ก็สูดดมและกินเม็ดพลาสติกเหล่านี้เข้าไป และวนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารของเรา
น่าเสียดายที่ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับไมโครบีดส์ในญี่ปุ่น บริษัทต่างๆ จึงมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะการใช้ไมโครบีดส์หรือไม่ ผู้ผลิตรายใหญ่บางแบรนด์ เช่น คาโอ (Kao) และ ชิเซโด้ (Shiseido) ได้หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดส์แล้ว แต่บางบริษัทก็ยังคงใช้ในการผลิตอยู่
แต่ข้าวปั้นร้านสะดวกซื้อเป็นของโปรดฉันเลยนะ!
…แล้วก็มันฝรั่งทอดกรอบรสพิซซ่ากับข้าวเกรียบรสไข่หอยเม่น ไหนจะคิทแคทรสเหล้าบ๊วยอีก! คงต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่จะไม่ใช้พลาสติกห่ออาหารเลย แต่ผู้ผลิตและร้านขายส่งอาหารทั่วญี่ปุ่นก็กำลังปรับเปลี่ยนกันอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพิ่มความพยายามในการรีไซเคิล หรือแทนที่พลาสติกแบบเดิมด้วยพลังงานทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล
ในเดือนกรกฎาคมปี 2019 ร้านสะดวกซื้อ 7 – 11ได้หันมาใช้วัสดุทางเลือกจากอ้อยในการห่อข้าวปั้นแทนพลาสติก เมื่อคิดจากปริมาณข้าวปั้นกว่า 2,200 ล้านชิ้นต่อปีแล้ว การใช้วัสดุทางเลือกนี้จะสามารถลดการใช้พลาสติกได้ราว 260 ตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 403 ตันต่อปีเลยทีเดียว
ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ก็พยายามเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน เช่น ตอนนี้ร้านแฟมิลี่มาร์ทได้หันมาใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นภาชนะสำหรับบะหมี่เย็น, มาจิคาเฟ่ (Machi Cafe) ของลอว์สันก็เปลี่ยนหลอดพลาสติกและแก้วสำหรับเครื่องดื่มเย็นเป็นถ้วยกระดาษ ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้ประมาณ 1,830 ตันต่อปีเลยทีเดียว
เซโกมาร์ท (Seico Mart) เป็นร้านค้าที่ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อลดการใช้พลาสติก ในเดือนกรกฎาคมปี 2020 ทางร้านได้มีการใช้ถุงที่ทำจากวัสดุชีวมวลอย่างน้อย 30% แทนถุงที่ผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังมีโครงการริเริ่มอื่นๆ ได้แก่ การรวบรวมแผงไข่ใช้แล้วเพื่อรีไซเคิล (รวบรวมได้ 38 ตันในปี 2019) และลดความหนาของถุงพลาสติกที่ใช้สำหรับผักและเครื่องเคียงอื่นๆ ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกได้ 11% และเมื่อไม่นานนี้ในปี 2019 คิทแคทก็ได้เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษแทนพลาสติกด้วย
เริ่มเปลี่ยนที่ตัวคุณ!
แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีทั้งเทคโนโลยีในการกำจัดขยะที่ดี และประชาชนมีความตระหนักและเต็มใจในการแยกและจัดการขยะ แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้คนลืมนึกถึงผลกระทบที่อันตรายและมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติกเนื่องจากรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่จัดการได้ ความจริงแล้วสิ่งที่สำคัญกว่า คือ ลดการผลิตขยะพลาสติก
เนื่องจากสัดส่วนขยะพลาสติกที่มากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภค พฤติกรรมของผู้บริโภคจึงมีผลอย่างมากในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก
เริ่มด้วยการรู้จักปฏิเสธช้อนส้อมและถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แล้วหันมาพกถุงผ้า แก้วน้ำ ขวดน้ำ และช้อนส้อมของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันฟรีชื่อ “mymizu” ไว้สำหรับหาว่ามีสถานที่บริการน้ำฟรีอยู่ที่ไหนบ้างทั่วญี่ปุ่น
สนับสนุนยี่ห้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพืช และไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดส์ (หากมีไมโครบีดส์บนฉลากจะเขียนว่ามีส่วนผสมของ Polyethylene, Polypropylene และ Copolymer อยู่ด้วย)
สุดท้ายนี้ หากคุณเลี่ยงไม่ได้ ก็อย่าลืมล้างทำความสะอาดให้ดีและแยกพลาสติกรีไซเคิลออกจากขยะอื่นๆ
แล้วมาพบกันใหม่ในบทความเกี่ยวกับเคล็ดลับการใช้ชีวิตแบบไร้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง!
เครดิตรูปภาพจาก: tsukat / PIXTA
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่