ฉลองปีใหม่ด้วย โอเซจิเรียวริ หนึ่งในประเพณีปีใหม่ที่ลึกซึ้งและอร่อยที่สุดของญี่ปุ่น! คู่มือนี้จะแนะนำให้คุณรู้จักกับเมนูต่างๆ ในโอเซจิเรียวริ ความหมายที่แฝงอยู่ในแต่ละเมนู รวมถึงสถานที่หาซื้อ วิธีทำ และวิธีรับประทาน
โอเซจิเรียวริ คืออะไร?

โอเซจิเรียวริ เป็นเมนูญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เสิร์ฟในช่วงวันหยุดปีใหม่ เป็นการรวมตัวกันของอาหารจานเล็กหลากหลายเมนู โดยทั่วไปจะเสิร์ฟแบบเย็น มาในกล่องไม้เคลือบเงาที่มีหลายชั้น เรียกว่า “จูบาโกะ” เมนูยั่วน้ำลายแต่ละอย่างล้วนแฝงไปด้วยความหมายที่แตกต่างกันซึ่งเปรียบเสมือนการอวยพรปีใหม่
ต้นกำเนิดของโอเซจิเรียวริ
โอเซจิเรียวริมีต้นกำเนิดเก่าแก่ ย้อนไปในยุคนารา (ค.ศ. 710 – 794) เมื่อเริ่มมีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองการเปลี่ยนฤดูกาลที่เรียกว่า “ซาจิเอะ” กันในวังหลวง งานเลี้ยงนี้จะจัดขึ้น 5 ครั้งต่อปี (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวันปีใหม่) ในช่วง “โกเซคคุ” (เทศกาลทั้ง 5 ) และได้กลายเป็นงานเลี้ยงที่ใหญ่โตโอ่อ่าในช่วงยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185)

งานเลี้ยงดังกล่าวนี้ถูกจำกัดมีไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น จนกระทั่งในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) เทศกาลทั้ง 5 ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ จึงทำให้ประเพณีนี้เผยแพร่ไปสู่ประชาชนในที่สุด แม้ว่าเดิมทีโอเซจิเรียวริจะไม่ได้ถูกจำกัดให้ทานในโอกาสเดียวต่อปี แต่สุดท้ายก็ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับวันหยุดปีใหม่โดยเฉพาะ และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ โอเซจิเรียวริเป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวหยุดพักจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวันมาพูดคุยอัปเดตชีวิต และใช้ช่วงเวลาในวันแรกของปีใหม่ร่วมกัน หากคุณใช้เวลาวันปีใหม่ในญี่ปุ่น ขอแนะนำให้สร้างความประทับใจให้กับคนญี่ปุ่นที่คุณรู้จักด้วยความรู้เกี่ยวกับโอเซจิเรียวริ แล้วฉลองปีใหม่ด้วยมื้ออาหารสไตล์ญี่ปุ่นดูสิ!
โอเซจิเรียวริ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

แม้ว่าอาหารในของจูบาโกะของคุณจะขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ แต่โดยหลักๆ แล้วก็จะมีส่วนประกอบเป็นเมนูดังต่อไปนี้
ดาเตะมากิ

ดาเตะมากิ คือ ไข่ม้วนรสหวานที่ผสมกับเนื้อปลาบด หน้าตาคล้ายคัมภีร์โบราณจึงเชื่อกันว่าจะพรด้านความรู้และการศึกษามาสู่ครอบครัว
คุโรมาเมะ

คุโรมาเมะ คือ ถั่วดำรสหวานที่เชื่อว่านำความแข็งแรงสุขภาพดีมาให้ในปีที่จะมาถึง รสสัมผัสที่นุ่มลิ้นทานเพลินทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก!
คาซูโนโกะ

คาซุโนโกะ คือ ริ้วไข่ปลาเฮอร์ริ่งที่นำไปหมักในดาชิ (น้ำสต๊อกญี่ปุ่น) มีรสสัมผัสกรุบกรอบ ชื่อของมันเมื่อแปลตรงตัวจะได้หมายความว่า “จำนวนลูก” จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์
คามาโบโกะ

คามาโบโกะ คือ ลูกชิ้นปลารสเลิศที่รับประทานกันทั่วไปในญี่ปุ่นตลอดทั้งปี เนื่องจากมีสีแดงและขาว ซึ่งเป็นสีประจำปีใหม่สำหรับญี่ปุ่น จึงทำให้มันเป็นของที่ขาดไม่ได้สำหรับโอเซจิเรียวริ สีแดงขาวนั้นถูกใช้ประดับงานพิเศษในญี่ปุ่นมาแต่โบราณ โดยสีขาวจะเป็นตัวแทนของการเริ่มต้นใหม่ ในขณะที่สีแดงเป็นตัวแทนของความยินดี
ปกติแล้วคามาโบโกะจะหั่นเป็นแผ่นแบบง่ายๆ แต่หากเป็นเวอร์ชั่นปีใหม่แล้วก็จะนิยมหั่นให้ดูเก๋ไก๋กว่าปกติ เช่น สัตว์ใน 12 นักษัตร หรือเป็นลายถักดังที่เห็นอยู่ในรูป
ทาซุคุริ

ทาซุคุริ คือ ลูกปลาแอนโชวี่ญี่ปุ่นเคลือบด้วยซอสโชยุ ชื่อของมันถ้าแปลตรงตัวจะหมายความว่า “ทำนา” เป็นผลจากการที่ในอดีตเคยถูกใช้เป็นปุ๋ย ปัจจุบันจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความเฟื่องฟูและอุดมสมบูรณ์
แซลมอนคอมบุ

โรลแซลมอนน่าอร่อยนี้ห่อด้วยสาหร่ายคอมบุและผูกไว้ด้วยบวบ เป็นตัวแทนของความเยาว์วัย เป็นชื่อที่เหมาะมากเพราะเป็นเมนูที่เด็กๆ หมายตาเป็นอันดับแรก!
ปลา

มีปลา 2 ชนิดที่นิยมใช้กันในโอเซจิเรียวริ ได้แก่ ไทและบุริ ปลาไทถูกนำมาใช้เนื่องจากพ้องเสียงกับคำว่า Medetai ที่แปลว่า “น่ายินดี” ในภาษาญี่ปุ่น นิยมนำมาตัดเป็นชิ้นหรือไม่ก็ย่างทั้งตัวไปเลย ในขณะที่บุริ ซึ่งมักจะรับประทานแบบซาชิมิ เป็นปลาประเภทชุซเซอุโอะ ซึ่งหมายความว่าจะมีชื่อเรียกที่เปลี่ยนไปตามการเจริญเติบโต คำว่า ชุซเซอุโอะ มีที่มาจาก Shusse ซึ่งแปลว่า “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ทำให้ปลานี้เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ในโอเซจิเรียวริ
โคฮาคุนามาซุ

โคฮาคุนามาซุ เป็นเมนูง่ายๆ ที่ทำจากแครอทและไชเท้าขาวดองหั่นฝอย นอกจากจะมีสีแดงขาว (โคฮาคุ แปลว่า แดงขาว) ที่ตรงกับสีวันปีใหม่แล้ว ผักตระกูลรากเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันระหว่างครอบครัวด้วย
ซาโตอิโมะ

ซาโตอิโมะเป็นเผือกญี่ปุ่นสายพันธุ์หนึ่ง ในกรณีของโอเซจิเรียวริจะถูกนำมาเคี่ยวในดาชิและโชยุจนเนื้อนุ่มชุ่มฉ่ำ ซาโตอิโมะเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับพืชตระกูลมันและเผือกชนิดอื่นๆ เนื่องจากมีผลผลิตหลายหัวในต้นเดียว
ทาทากิโกโบ

ทาทากิโกโบ คือ รากโกโบที่ถูกนำมาโขลก ปรุงรส และผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมีรสชาติที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีกลิ่นดิน รสหวาน และฝังรากลึก จึงทำให้มันเป็นตัวแทนของความผูกพันและความแข็งแรงของครอบครัว
กุ้ง

กุ้งญี่ปุ่นแสนอร่อยได้รับความนิยมนำมาทำโอเซจิเรียวริเนื่องจากรูปร่างที่โค้งงอนั้นดูเหมือนหลังของผู้สูงอายุ จึงทำให้มันเป็นตัวแทนของปัญญาและอายุที่ยืนยาว
คุริคินตอน

คุริคินตอน คือ ขนมเกาลัดที่รับประทานเดี่ยวๆ ก็ได้ ผสมกับมันบดรสหวานก็ดี สีทองและรูปร่างของมันมีลักษณะคล้ายกับเหรียญโคบังที่เคยใช้ในญี่ปุ่นเมื่อนานมาแล้ว จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของโชคดีและความร่ำรวย
เรนคอน

กรอบ หนึบ หวาน ขม รากบัวดองหน้าตาสวยงามนี้เต็มไปด้วยรูเล็กๆ ให้คุณดูเล่นระหว่างรับประทาน ว่ากันว่ารูเหล่านี้จะช่วยมอบพรในการคาดการณ์อนาคตและหลีกเลี่ยงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
โอเซจิเรียวริยังมีอาหารอื่นๆ อีกมากมาย!
โอเซจิเรียวริสมัยใหม่ได้พัฒนาไปไกลจากต้นกำเนิดที่ต้นกำเนิดที่ดูเรียบง่ายและไม่มีอาหารแช่เย็น ในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นอาหารที่ดูโอ่อ่าขึ้นมาก ถึงขนาดที่ใส่จังก์ฟู้ดลงไปเลยก็มี! ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณจะเห็นอาหารตะวันตกอย่างแฮมหรือมะกอกในโอเซจิเรียวริ นอกจากนี้ เกือบทุกพื้นที่ในญี่ปุ่นต่างก็มีสไตล์โอเซจิเรียวริเป็นของตัวเอง ที่เห็นได้ชัดเลย คือ คันโตและคันไซ หากเจออะไรที่ไม่คาดฝันก็อย่าตกใจ แนะนำให้ตามน้ำและอิ่มอร่อยไปกับคนอื่นๆ ได้เลย

อาหารปีใหม่อื่นๆ นอกเหนือจากโอเซจิเรียวริ
นอกจากโอเซจิเรียวริแล้ว ญี่ปุ่นยังมีอาหารปีใหม่ยอดนิยมอื่นๆ ที่ควรกล่าวถึงเช่นกัน
ส้มไดได

ส้มไดไดของญี่ปุ่นที่มีรสขมและหน้าตาน่ารัก มักเห็นได้บ่อยในวันปีใหม่เนื่องจากคำว่า ไดได ยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือ “จากรุ่นสู่รุ่น” ส่วนใหญ่นิยมนำไปวางบนคากามิโมจิ (ตามรูปด้านบน)
คากามิโมจิ
แม้จะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโอเซจิเรียวริ แต่คากามิโมจิก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานฉลองปีใหม่ที่ญี่ปุ่น หากแปลตรงตัวจะได้ความหมายว่า โมจิกระจก โดยโมจิขนาดต่างกัน 2 ก้อนจะถูกนำมาวางซ้อนกัน และประดับยอดด้วยส้มไดไดอีกที เซ็ตดังกล่าวนี้จะวางไว้บนแท่นสำหรับถวายสิ่งบูชาที่เรียกว่า ซันโปะ และนำแท่นดังกล่าวไปวางไว้ตรงศาลครอบครัวของศาสนาชินโต หรือบริเวณ โทโคโนมะ (เวิ้งสำหรับวางของในห้องแบบญี่ปุ่น) ของบ้าน เชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้จะช่วยปกป้องบ้านจากอัคคีภัย รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ในการเชื่อมต่อปีเก่ากับปีใหม่ด้วย
ซุปโมจิปีใหม่

ซุปโมจิปีใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ โอโซนิ มีประวัติยาวนาน เริ่มต้นที่ประมาณ ค.ศ. 1440 เดิมทีทำขึ้นโดยโมจิของวัดในคืนก่อนปีใหม่ที่เหลือมาจากของเซ่นไหว้เทพเจ้า ในเวลาต่อมา เมื่อมีการเติมผักต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพลงไปต้มด้วย ซุปที่อบอุ่นนี้ก็ได้กลายเป็นเมนูง่ายๆ ที่ช่วยให้พ่อครัวแม่ครัวประจำบ้านมีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น หลายบ้านเลือกทำเมนูนี้โดยไม่ใส่สิ่งอื่นๆ เลยนอกจากโมจิ เพื่อความดั้งเดิมโดยเฉพาะ
สถานที่หาซื้อโอเซจิเรียวริ
เพื่อตอบโจทย์ครอบครัวยุคใหม่ที่มีเวลาน้อย โอเซจิเรียวริจึงสามารถสั่งล่วงหน้าได้ตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร และจะมีการนำมาส่งให้ถึงบ้านในวันปีใหม่ การสั่งล่วงหน้านี้สามารถทำได้ตั้งแต่เดือนกันยายนหรือตุลาคม และยิ่งสั่งไวเท่าไร ราคาก็จะยิ่งถูกลงด้วย
อีกหนึ่งตัวเลือกที่สะดวกมากและคนในปัจจุบันนิยมใช้กันก็คือการสั่งโอเซจิเรียวริทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์อย่าง Rakuten, Amazon, หรือ เว็บไซต์ของห้างสรรพสินค้า Takashimaya วิธีนี้มีตัวเลือกมากมายมหาศาลให้เลือกในราคาที่ต่างกันออกไป จึงการันตีได้ว่าคุณจะได้เซ็ตโอเซจิเรียวริที่เหมาะกับตัวเองอย่างแน่นอน
เซ็ตโอเซจิเรียวริทั่วไปจะมีราคาประมาณ 20,000 เยน แต่ก็มีเซ็ตราคาประหยัดประมาณ 5,000 เยนหรือต่ำกว่าด้วย ในกรณีที่คุณอยากออกไปรับประทานข้างนอก ร้านอาหารที่เสิร์ฟโอเซจิเรียวริสดใหม่ก็มีอยู่ทั่วญี่ปุ่นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร้านเหล่านี้ได้รับความนิยมมาก จึงควรจองล่วงหน้าไว้ด้วย!

วิธีทำโอเซจิเรียวริ
โอเซจิเรียวริใช้เวลาทำนานจนน่าปวดหัว ปกติแล้วจำเป็นต้องทำล่วงหน้าเป็นวันๆ หากคุณต้องการทำเอง ก็ควรเตรียมใจไว้เลยว่าจะเจองานหนักแน่ๆ!
ถึงเราไม่ค่อยแนะนำเท่าไร แต่หากคุณต้องการทำโอเซจิเรียวริที่ตรงกับประเพณีเป๊ะๆ คุณก็จำเป็นต้องทำตามกฎต่อไปนี้! อันดับแรก คือ หากล่องจูบาโกะขนาด 3, 4 หรือ 5 ชั้น ซึ่งสามารถหาซื้อได้ถูกสุดในราคาประมาณ 1,000 เยน แต่ละชั้นของกล่องควรใส่วัตถุดิบที่ต่างกัน 3 , 6 หรือ 9 อย่าง หากคุณมีกล่อง 3 ชั้น ชั้นบนสุดควรเป็น โอสึมามิ (อาหารเรียกน้ำย่อย) เช่น คาซุโนโกะ ทาซุคุริ และคุโรมาเมะ
ชั้นกลางของกล่องควรเป็นของทอดและของดองอย่างปลา, กุ้ง, โคฮาคุนามาซุ ส่วนชั้นล่างควรเป็นของที่ผ่านการเคี่ยวมาอย่างเรนคอน และซาโตอิโมะ ในกรณีที่คุณมีกล่อง 4 หรือ 5 ชั้น ให้แยกของทอดกับของดองออกคนละชั้น และเว้นชั้นล่างสุดไว้สำหรับรับพรจากเหล่าเทพ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของวิธีทำอาหารแต่ละเมนู เราขอแนะนำเว็บไซต์ Just One Cookbook ที่มีสูตรโอเซจิเรียวริทำง่ายๆ อยู่มากมาย
https://www.justonecookbook.com/osechi-ryori-japanese-new-year-food/
หากคุณต้องการตรงประเพณียิ่งขึ้นไปอีก ขอแนะนำให้ซื้อตะเกียบสำหรับงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่า อิไวบาชิ ซึ่งจะมีความพิเศษอยู่ที่ปลายเล็กทั้ง 2 ด้าน เป็นสัญลักษณ์ของการรับประทานอาหารร่วมกับเหล่าเทพ!

วิธีรับประทานโอเซจิเรียวริ
หากคุณได้รับเชิญไปฉลอง โชกัตสึ (วันปีใหม่ญี่ปุ่น) ที่บ้านของคนญี่ปุ่น ก็นับว่าโชคดีมาก! ลองจำมารยาทพื้นฐานเกี่ยวกับโอเซจิเรียวริด้านล่างนี้ไปปฏิบัติดู รับรองได้ว่าเจ้าของบ้านจะต้องปลื้มใจอย่างแน่นอน!

1. ให้ผู้อาวุโสเลือกอาหารก่อนเสมอ
2. เริ่มรับประทานจากขอบของจูบาโกะ แล้วค่อยๆ ไล่เข้าไปข้างใน
3. อย่ารับประทานจากกล่องโดยตรง ให้คีบอาหารที่คุณต้องการมาใส่ในจานแยกเล็กๆ ที่เรียกว่า โทริซาระ ก่อน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากครอบครัวญี่ปุ่นยุคใหม่มักไม่ค่อยเข้มงวดกับธรรมเนียมเหล่านี้สักเท่าไร จึงไม่จำเป็นต้องเกร็งอะไรมากนัก สิ่งสำคัญที่สุด คือ ควรสนุกและเพลิดเพลินไปกับอาหารที่แสนวิเศษเหล่านี้!
ฉลองวันปีใหม่ญี่ปุ่นในแบบของคุณด้วยโอเซจิเรียวริ!
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโอเซจิเรียวริ หนึ่งในส่วนประกอบสุดคลาสสิกของการฉลองปีใหม่ญี่ปุ่น แม้ว่ารสชาติของมันอาจจะไม่ถูกปากทุกคน แต่โอเซจิเรียวริก็เป็นอาหารที่ทุกคนควรรับประทานให้ได้สักครั้งในชีวิต!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่