มาทำให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วย “บัตรมายนัมเบอร์” กันเถอะ!

Oyraa

เมื่อไม่นานมานี้ คำว่า “Mainapoint (マイナポイント)” ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในข่าวและโซเชียลมีเดียต่างๆ ถึงแม้จะมีผู้คนจำนวนมากที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่ได้ทำ “บัตรมายนัมเบอร์” ซึ่งจำเป็นสำหรับการสะสมคะแนนดังกล่าว ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาแนะนำข้อดีของการมีบัตรมายนัมเบอร์ไว้ในครอบครอง พร้อมบอกรายละเอียดวิธีการขอออกบัตรอย่างละเอียดกัน! หากคุณมีบัตรนี้ ไม่เพียงแต่จะได้รับคะแนนสะสม Mainapoint เท่านั้น แต่ยังสามารถดำเนินการต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐผ่านทางระบบออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย สะดวก และรวดเร็วด้วย

ระบบมายนัมเบอร์และบัตรมายนัมเบอร์ คืออะไร?

มายนัมเบอร์ (マイナンバー) คือ หมายเลขประจำตัว (個人番号) 12 หลักของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติด้วย บัตรที่ระบุหมายเลขดังกล่าวนี้ไว้ก็คือ บัตรมายนัมเบอร์ (マイナンバーカード) ตัวเลขนี้จะถูกกำหนดด้วยระบบอัตโนมัติและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าคุณจะออกจากญี่ปุ่นแล้วกลับมาใหม่ หรือทำทะเบียนบ้านใหม่ หมายเลขของคุณก็ยังคงเป็นหมายเลขเดิม จุดประสงค์ที่มีการสร้างระบบมายนัมเบอร์ขึ้นมา คือ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากหลากหลายหน่วยงานมาไว้ในมายนัมเบอร์ที่เดียว ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการของทางภาครัฐ เช่น ประกันสังคม, ภาษี, มาตรการรับมือภัยพิบัติ ฯลฯ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกันมากขึ้น

อาจจะมีหลายคนที่กังวลในเรื่องของความปลอดภัยเมื่อได้ยินว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลส่วนตัว แต่ข้อมูลในมายนัมเบอร์เหล่านี้จะถูกแชร์ไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง อย่างรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่น สถานที่ทำงาน สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานเกี่ยวกับประกันบำนาญ/ประกันสุขภาพ เป็นต้น องค์กรเหล่านี้จะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลได้รับมาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลที่ได้รับตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น 

เรื่องหนึ่งที่ควรจำให้ขึ้นใจ คือ องค์กรเหล่านี้จะไม่มีการขอหมายเลขมายนัมเบอร์ทางโทรศัพท์อย่างแน่นอน จึงควรระวังมิจฉาชีพที่ชอบมุ่งเป้าไปที่ข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

Photo: PIXTA

ความแตกต่างระหว่าง “เอกสารแจ้งหมายเลขมายนัมเบอร์” ที่ทางรัฐจัดส่งให้ทุกคน กับ “บัตรมายนัมเบอร์” ที่คุณต้องยื่นเรื่องขอทำเอง

เอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัว (個人番号通知書) คือ เอกสารที่จะถูกจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้ผู้ที่ได้รับหมายเลขมายนัมเบอร์หลังวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป เอกสารนี้จะถูกจัดส่งไปที่บ้านในรูปแบบจดหมายลงทะเบียน (簡易書留) ภายใน 2 – 3 สัปดาห์หลังจากที่ได้ลงทะเบียนในทะเบียนบ้านแล้ว ในกรณีที่ไม่ได้รับเอกสารนี้ ให้ไปติดต่อที่ทำการของเขตที่คุณลงทะเบียนทะเบียนบ้านไว้ 

รายละเอียดในเอกสารจะประกอบไปด้วย ชื่อ, วันเดือนปีเกิด, หมายเลขมายนัมเบอร์
อย่างไรก็ตาม เอกสารแจ้งหมายเลขมายนัมเบอร์นี้ไม่สามารถใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนได้

ส่วนบัตรมายนัมเบอร์ (マイナンバーカード) จะเป็นบัตรพลาสติกแข็งซึ่งมีรูปหน้าของคุณติดอยู่บนนั้น ซึ่งทำได้โดยการยื่นคำร้องขอที่หน่วยงานราชการ โดยบัตรนี้จะสามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนได้ แต่ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดไว้ว่าจำเป็นต้องพกติดตัวตลอดเวลา

อีกอย่างหนึ่งที่ควรทราบเอาไว้ก็คือ บัตรแจ้ง (通知カード) ที่เป็นบัตรกระดาษใช้สำหรับแจ้งหมายเลขแก่ผู้ที่ได้รับหมายเลขมายนัมเบอร์ก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 และจะไม่มีการทำใหม่ เพราะได้เปลี่ยนมาใช้เอกสารแจ้งหมายเลขมายนัมเบอร์แทนแล้ว

※ การส่งจดหมายแบบลงทะเบียน คือ การจัดส่งโดยมีการบันทึกขั้นตอนการจัดส่งจนถึงกระบวนการนำส่ง โดยจำเป็นต้องมีตราประทับหรือลายเซ็นของผู้รับ ในกรณีที่ไม่มีผู้รับ ของจะถูกตีกลับพร้อมกับใส่เอกสารแจ้งไม่พบผู้รับไว้ในกล่องไปรษณีย์ ซึ่งคุณสามารถนำเอกสารนี้ไปขอให้ทำการจัดส่งใหม่ได้

ข้อดีของการมีบัตรมายนัมเบอร์!

แม้การทำบัตรจะต้องมีการยื่นเรื่องและใช้เวลาสักพัก แต่หากมีแล้วล่ะก็จะสามารถรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐได้ราบรื่นกว่าเดิม ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่าข้อดีของบัตรใบนี้มีอะไรบ้าง!

● สามารถดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐผ่านทางระบบออนไลน์ได้
ข้อดีอย่างแรกของการมีบัตรมายนัมเบอร์ คือ สามารถดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐผ่านทางระบบออนไลน์ได้ คุณสามารถขอสำเนาทะเบียนบ้าน (住民票) และเอกสารรับรองตราประทับ (印鑑登録証明書) ตามร้านสะดวกซื้อได้อย่างง่ายดาย (※)

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป e – Tax (การยื่นคำร้องออนไลน์) จะสามารถทำเรื่องลดหย่อนภาษีด้วยตนเองได้เมื่อสิ้นปีงบประมาณโดยใช้สมาร์ทโฟนที่รองรับบัตรมายนัมเบอร์ (ดูรุ่นที่รองรับได้ ที่นี่)

โดยคุณสามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปรอที่สถานที่ราชการหรือกรมสรรพากรเป็นเวลานานอย่างที่ผ่านมา แล้วยังเป็นการลดความเสี่ยงในการติดไวรัสโควิด – 19 ได้อีกด้วย

● สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนได้
คุณสามารถใช้บัตรมายนัมเบอร์เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในกรณีต่างๆ ได้ เช่น ใช้เปิดบัญชีกับสถาบันทางการเงิน นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป ก็มีการวางแผนไว้ว่าจะให้ใช้บัตรมายนัมเบอร์แทนบัตรประกันสุขภาพตามสถานพยาบาลและร้านขายยาได้ด้วย

● สามารถรับคะแนน Mainapoint ได้สูงสุดถึง 5,000 เยน
หากคุณมีความคิดที่จะทำบัตรมายนัมเบอร์อยู่ล่ะก็ ขอแนะนำให้รีบสมัครเลยดีกว่า เพราะระบบสะสมคะแนน Mainapoint นี้จัดทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้คนใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสด และเป็นการโปรโมตบัตรมายนัมเบอร์ไปในตัวด้วย โดยการสะสมแต้มนี้จะมีถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เท่านั้น นี่เป็นแคมเปญที่คุ้มค่ามากเพราะคุณจะสามารถสะสมคะแนนได้สูงสุดถึง 5,000 เยน ดังนั้น หากคุณวางแผนที่จะทำบัตรมายนัมเบอร์อยู่แล้วก็ควรสมัคร Minapoint ไปด้วยเลย นอกจากนี้ เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่การยื่นเรื่องทำบัตรจนถึงการออกบัตรจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน จึงควรรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้เพื่อไม่ให้พลาดแคมเปญนี้ 

※ มีหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งที่ไม่รองรับการออกเอกสารตามร้านสะดวกซื้อ ดังนั้น คุณจึงควรตรวจสอบก่อนว่าหน่วยงานท้องถิ่นที่คุณอาศัยอยู่รองรับระบบนี้ด้วยหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่นี่

วิธีการดำเนินการยื่นเรื่องขอออกบัตร

imwaltersy / Shutterstock.com

สิ่งที่จำเป็นต้องใช้มีอยู่ 2 อย่าง คือ เอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัว (個人番号通知書) ที่ทางรัฐส่งให้คุณทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนและเอกสารยื่นขอออกบัตรมายนัมเบอร์ (個人番号カード交付申請書) การออกบัตรมายนัมเบอร์ครั้งแรกไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่หากมีการสูญหายก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการออกบัตรใหม่ 1,000 เยน

ส่วนวิธีการสมัครนั้นทำได้ทั้งหมด 4 ช่องทาง คือ ผ่านสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายรูปอัตโนมัติในเมืองที่คุณอาศัยอยู่ และไปรษณีย์ โดยคุณสามารถเลือกช่องทางที่คุณสะดวกที่สุดได้เลย

[สมาร์ทโฟน]
・ถ่ายรูปหน้าตรงของคุณด้วยสมาร์ทโฟน
・สแกนรหัส QR ที่ด้านล่างขวาของแบบฟอร์มใบสมัคร และเข้าไปที่เว็บไซต์
・กรอกข้อมูลที่จำเป็น และอัปโหลดรูปใบหน้าของคุณลงไป โดยขั้นตอนการกรอกข้อมูลจะมีดังนี้:

ขั้นแรก ให้กรอกหมายเลข ID ในใบยื่นคำร้องซึ่งเป็นตัวเลข 23 หลักลงไป ตรงจุดนี้ หากคุณใช้วิธีสแกนรหัส QR จะไม่ต้องใส่

สำหรับช่อง メール連絡用氏名 ให้กรอกชื่อ – นามสกุลของเจ้าของอีเมลที่ใช้ในการติดต่อ ส่วนในช่อง メールアドレス ก็ให้ใส่ที่อยู่อีเมลลงไป

สำหรับช่องสุดท้ายนี้ ให้พิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขตามภาพที่เห็นในกล่องสี่เหลี่ยม จากนั้นก็กด 確認 เพื่อทำการยืนยัน

[คอมพิวเตอร์]
・ถ่ายภาพใบหน้าของคุณด้วยโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูป แล้วบันทึกลงในคอมพิวเตอร์
・เข้าสู่เว็บไซต์และป้อน ID ที่เขียนอยู่ในเอกสารยื่นขอออกบัตร (หมายเลข 23 หลัก) 
・หลังจากป้อนข้อมูลที่จำเป็นแล้ว ให้แนบภาพถ่ายใบหน้าและกดส่ง

[ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ]
・ เลือก 個人番号カード申請 (ยื่นคำร้องขอออกบัตรมายนัมเบอร์) บนหน้าจอสัมผัสที่อยู่ในตู้ถ่ายรูป
・ หลังชำระเงินแล้ว ให้สแกนรหัส QR สำหรับยื่นคำร้องขอออกบัตรเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ 
・ กรอกข้อมูลที่จำเป็นให้เรียบร้อย จากนั้นก็กดส่งข้อมูลภาพถ่ายใบหน้าที่ถ่ายด้วยตู้ถ่ายรูปไปด้วย

[ไปรษณีย์]
・ ลงชื่อหรือประทับตราในเอกสารยื่นขอออกบัตรมายนัมเบอร์ พร้อมติดรูปถ่ายลงไปด้วย 
・ ใส่ลงซองสำหรับใส่เอกสารแล้วส่งไปที่ไปรษณีย์ 
※ หากซองเอกสารของคุณหมดอายุ สามารถดาวน์โหลดฉบับใหม่ได้ที่นี่ ตรงส่วนที่เขียนว่า “封筒材料のダウンロード (ดาวน์โหลดซองเอกสาร)

ข้อควรระวังในการขอออกบัตร 4 วิธีนี้ คือ เรื่องใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (電子証明書) ซึ่งเป็นสิ่งที่จะอยู่ในชิป IC ของบัตรมายนัมเบอร์ นี่เป็นสิ่งที่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้มีหรือไม่ หากไม่มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่สามารถยื่นคำร้องออนไลน์อย่าง e – Tax, เข้าสู่ระบบ Mainaportal, และบริการออกเอกสารที่ร้านสะดวกซื้อได้ แม้ว่าจะสามารถขอใส่ใบรับรองนี้ได้ในภายหลัง แต่หากคุณต้องการใช้บริการเหล่านี้ ก็ขอแนะนำให้เลือก “電子証明書の発行希望あり (ต้องการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์)” ในตอนที่ขอออกบัตรมายนัมเบอร์ไปเลย จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาทำเพิ่มในภายหลัง

สำหรับรูปถ่ายใบหน้านั้น ต้องมีลักษณะดังนี้:

  • ขนาดสูง 4.5 ซม. × กว้าง 3.5 ซม.
  • เป็นภาพที่ถ่ายอยู่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 
  • ภาพถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก พื้นหลังสีเรียบ
  • เขียนชื่อ – นามสกุล และวันเดือนปีเกิด ไว้ที่ด้านหลังของภาพ
  • สามารถใช้ภาพขาวดำได้ 

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่นี่

▼ข้อมูลอ้างอิง: วิธีการและขั้นตอนการสมัคร
https://www.kojinbango-card.go.jp/kofushinse/
▼ข้อมูลอ้างอิง: เอกสารยื่นคำร้องขอออกบัตรมายนัมเบอร์
https://www.kojinbango-card.go.jp/hpsv/wpmng/documents/tegaki-kofu-shinseisho.pdf

วิธีการรับบัตรมายนัมเบอร์

หากคุณยื่นขอออกบัตรตามวิธีที่อธิบายไว้ข้างต้น ทางหน่วยงานเทศบาลก็จะส่งโปสการ์ดแจ้งการรับบัตรไปที่บ้านของคุณภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน สิ่งที่เขียนอยู่บนโปสการ์ดจะเป็นกำหนดเวลาจัดส่งและสถานที่รับบัตร ซึ่งคุณจะต้องนำสิ่งของต่อไปนี้ไปยังสถานที่รับบัตรภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ 

[สิ่งที่ต้องนำไป]
・ใบแจ้งการรับบัตร (โปสการ์ด)
・บัตรแจ้ง (สำหรับผู้ที่ได้รับก่อนพฤษภาคม ค.ศ. 2020)
・เอกสารยืนยันตัวตน ※
・บัตรลงทะเบียนผู้อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน (หากมี)
・บัตรมายนัมเบอร์ (หากมี)

※ เอกสารยืนยันตัวตนสามารถเป็นได้ทั้ง
(1) เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อใบนี้:
– บัตรลงทะเบียนผู้อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน (แบบมีรูปถ่ายเท่านั้น)
– ใบขับขี่ (運転免許証) 
– ใบรับรองประวัติการขับรถ (運転経歴証明書) (ออกบัตรหลังวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2012) 
– หนังสือเดินทาง
– ใบรับรองความพิการทางร่างกาย (身体障害者手帳) 
– สมุดบันทึกสุขภาพและสวัสดิการผู้บกพร่องทางจิต (精神障害者保健福祉手帳) 
– สมุดบันทึกการพักฟื้น (療育手帳) 
– บัตรประจำตัวผู้พำนัก (在留カード) 
– ใบรับรองผู้อยู่อาศัยถาวรพิเศษ (特別永住者証明書) 
– ใบอนุญาตลี้ภัยชั่วคราว (一時庇護許可書)
– ใบอนุญาตพำนักชั่วคราว (仮滞在許可書)
(2) หากคุณไม่มีเอกสารตามที่กล่าวมาในข้อที่ (1) ก็จะต้องมีเอกสารที่มีการระบุชื่อ วันเดือนปีเกิด หรือ เอกสารที่มีชื่อและที่อยู่ของคุณมาใช้ในการยืนยันตัวตนแทน เช่น ใบรับรองการประกันสุขภาพ, หนังสือเงินบำนาญ, บัตรประจำตัวพนักงาน, บัตรนักเรียน, เอกสารต่างๆ ที่มีชื่อโรงเรียน และใบรับรองผู้รับประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นต้น 

ตอนไปรับบัตร จะมีการให้ตั้งรหัสยืนยัน 4 ประเภท (3 ประเภทในนั้นสามารถตั้งรหัสให้เหมือนกันได้) เพื่อความรวดเร็ว เราขอแนะนำคุณคิดรหัสไว้ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านเลย

การตั้งรหัสขั้นแรก คือ รหัสผ่านสำหรับยืนยันตัวตนในใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องตั้งเป็นรหัสตัวเลขหรือตัวอักษรภาษาอังกฤษรวม 6 – 16 ตัว เป็นรหัสสำหรับยืนยันว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างและส่งมานั้น มาจากเจ้าของบัตรตัวจริง

รหัสผ่านอีก 3 ประเภทที่เหลือ ได้แก่ รหัสยืนยันผู้ใช้งานใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์, รหัสทะเบียนผู้อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน, รหัสยืนยันการกรอกเอกสาร ทั้ง 3 ประเภทนี้กำหนดให้ตั้งเป็นตัวเลข 4 หลัก และสามารถตั้งให้เหมือนกันหมดได้ โดยรหัสเหล่านี้จะใช้เพื่อยืนยันว่าเจ้าตัวเป็นคนเข้าสู่ระบบเอง

วันหมดอายุ

บัตรมายนัมเบอร์มีวันหมดอายุและจำเป็นต้องมีการต่ออายุ สำหรับชาวต่างชาติหากสถานะการพำนักเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร ผู้มีวิชาชีพขั้นสูงหมายเลข 2 หรือผู้อยู่อาศัยถาวรกรณีพิเศษ จะนับตั้งแต่วันที่ออกบัตรจนถึงวันเกิดครั้งที่ 10 (เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น)

สำหรับผู้อยู่อาศัยระยะกลางถึงระยะยาวอื่นๆ บัตรจะมีอายุตั้งแต่วันที่ออกบัตรจนถึงวันที่หมดอายุของระยะเวลาการพำนัก ส่วนผู้อนุญาตให้ลี้ภัยชั่วคราวหรือผู้อนุญาตให้พำนักชั่วคราว บัตรจะมีอายุตั้งแต่วันที่ออกบัตรจนถึงวันที่พ้นระยะเวลาการลี้ภัยหรือระยะเวลาการพำนักชั่วคราว

สุดท้าย ในกรณีของผู้มีถิ่นที่อยู่เนื่องจากการเกิดหรือจากการสูญเสียสัญชาติ บัตรจะมีอายุ 60 วันหลังจากการออกบัตร หรือ 60 วันหลังจากที่เสียสัญชาติญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม หากมีการต่ออายุระยะเวลาการพำนักอาศัย วันหมดอายุของบัตรมายนัมเบอร์จะต้องแก้ไขใหม่ด้วย โดยเราจะพูดถึงเรื่องนี้กันอีกทีในตอนท้ายของบทความ

Mainaportal ความสะดวกสบายด้วยปลายนิ้ว

Mainaportal เป็นบริการออนไลน์ที่ทำเรื่องต่างๆ ได้มากมาย เช่น ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับภาครัฐอย่างการเลี้ยงดูเด็กและการพยาบาลได้ง่ายขึ้น และสามารถตรวจสอบการแจ้งเตือนจากหน่วยงานของภาครัฐได้

ตัวอย่างที่เห็นด้วยชัด คือ e – Tax ของกรมสรรพากร การสมัครเข้าโรงเรียนอนุบาล และการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ภาษี, เบี้ยประกันสุขภาพ, เบี้ยประกันการพยาบาล, ค่าน้ำ, ค่าแก๊ส และค่าธรรมเนียมการรับ NHK แม้แต่การเปลี่ยนทะเบียนบ้านก็สามารถทำผ่านบริการนี้ได้เช่นกัน เป็นระบบที่สะดวก ช่วยลดเวลาและค่าแรงในการดำเนินการได้

▼ข้อมูลอ้างอิง: รายละเอียดเกี่ยวกับ Mainaportal
https://www.cao.go.jp/bangouseido/myna/index.html
https://myna.go.jp/SCK0101_01_001/SCK0101_01_001_InitDiscsys.form

ข้อควรระวังเกี่ยวกับมายนัมเบอร์ : อย่าลืมตรวจสอบการต่ออายุสถานภาพการพักอาศัย หรือ การย้ายที่อยู่ก่อน!

มาดูกันว่าข้อควรระวังสำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยในญี่ปุ่นนั้นมีอะไรบ้าง

หากวันที่ครบระยะเวลาการพักอาศัย (在留期間等満了日) ที่จะใช้ยื่นใกล้หมดอายุ (เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน) อย่าใช้เอกสารนั้นในการยื่น ให้ไปต่ออายุระยะเวลาการพักอาศัยที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยนำเอกสารใบใหม่ไปยื่นคำร้องขอออกบัตรมายนัมเบอร์ที่เทศบาลเขต 

ในส่วนของ “วันหมดอายุ” (有効期限) ในกรณีที่คุณต่อระยะเวลาการพักอาศัย คุณต้องไปทำเรื่องต่ออายุบัตรมายนัมเบอร์ที่เทศบาลเขตที่คุณอาศัยอยู่ก่อนที่บัตรมายนัมเบอร์ของคุณจะหมดอายุ อย่าลืมว่าการต่ออายุระยะเวลาการพำนักนั้นไม่ได้ทำให้บัตรมายนัมเบอร์ของคุณถูกต่ออายุตามไปด้วย

หากข้อมูลอย่างที่อยู่และชื่อของคุณมีการเปลี่ยนแปลง คุณต้องดำเนินการตามขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงที่สำนักงานเทศบาลเขตภายใน 14 วัน หากคุณไม่ดำเนินการตามขั้นภายใน 14 วันหลังทำการย้ายบ้าน ในส่วนนี้ คุณจะต้องทำตามขั้นตอนการย้ายออกอีกครั้งที่สำนักงานเขตที่คุณอาศัยอยู่ก่อนหน้า และต้องได้รับใบรับรองการย้ายออก ซึ่งจะทำให้เสียเวลามากกว่าเก่า ดังนั้น คุณควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

ประเด็นอื่นๆ ที่ควรทราบไว้ คือ คุณต้องส่งคืนบัตรมายนัมเบอร์เวลาที่คุณจะกลับประเทศหรือย้ายไปต่างประเทศ (เปลี่ยนที่อยู่) โดยจะมีค่าธรรมเนียมการออกบัตรมายนัมเบอร์ใหม่อยู่ที่ 1,000 เยนในกรณีที่คุณมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และ 800 เยนในกรณีที่ไม่มี หากคุณทำบัตรแจ้งหรือบัตรมายนัมเบอร์หาย ให้รีบแจ้งตำรวจ (ป้อมตำรวจ) และสำนักงานเทศบาลโดยทันที อย่างสุดท้าย คือ อย่าให้หมายเลขมายนัมเบอร์ของตัวเองกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ทำหาย คุณควรแจ้งเรื่องไปยังสถานีตำรวจและสำนักงานเทศบาลโดยเร็วที่สุด หากบริการถูกระงับชั่วคราวเนื่องจากสูญหายหรือถูกโจรกรรมให้โทรไปที่ “สายด่วนติดต่อเกี่ยวกับบัตรมายนัมเบอร์” ตามข้อมูลที่ระบุด้านล่างนี้ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงและตลอด 365 วัน (ไม่เสียค่าโทร)

ข้อมูลติดต่อเกี่ยวกับมายนัมเบอร์

ศูนย์ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับมายนัมเบอร์ (ไม่เสียค่าบริการ)
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ, จีน, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส
โทร. 0120-0178-27

ติดต่อเกี่ยวกับระบบมายนัมเบอร์
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ, จีน, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส
โทร. 0120-0178-26

ติดต่อเกี่ยวกับบัตรแจ้งและบัตรหมายเลขประจำตัว
ภาษาที่รองรับ: อังกฤษ, จีน, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส
โทร. 0120-0178-27

เว็บไซต์เกี่ยวกับมายนัมเบอร์

[เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับบัตรมายนัมเบอร์]
ภาษาญี่ปุ่น
https://www.kojinbango-card.go.jp/
ภาษาอังกฤษ
https://www.kojinbango-card.go.jp/en/

[สำนักคณะรัฐมนตรี: ข้อมูลเกี่ยวกับบัตรมายนัมเบอร์]
ภาษาญี่ปุ่น
https://www.cao.go.jp/bangouseido/
ภาษาอังกฤษ
https://www.cao.go.jp/bangouseido/foreigners/english.html

[ข้อมูลเกี่ยวกับระบบมายนัมเบอร์สำหรับผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ]
ภาษาญี่ปุ่น
https://www.kojinbango-card.go.jp/hpsv/wpmng/documents/pamphlet-JP.pdf

[Mainapoint]
ภาษาญี่ปุ่น
https://mynumbercard.point.soumu.go.jp/

ในอดีต เมื่อต้องทำเรื่องขอทะเบียนบ้านก็มักจะมีคนจำนวนมากที่ต้องลางานไปทำ แต่หากคุณใช้บัตรมายนัมเบอร์ก็จะสามารถดำเนินการต่างๆ อย่างเช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค ได้อย่างสะดวกและง่ายดายมาก ทั้งยังสามารถใช้เป็นบัตรประจำตัวได้อีกด้วย และหากคุณคิดจะสมัคร Mainapoint ด้วยแล้วล่ะก็ ควรจะรีบสมัครเข้าไว้ เพราะระยะเวลาดำเนินการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเลยทีเดียว

※ Thumbnail image: PIXTA

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: