ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น สึนามิ และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่ออาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่สำคัญคือต้องตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บทความนี้เราจะแนะนำประเภทและความเสี่ยงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น คำศัพท์ทางเทคนิคที่คุณอาจได้เห็นในข่าว สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดภัยพิบัติ สินค้าป้องกันภัย เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ รวมถึงข้อมูลติดต่อในกรณีฉุกเฉินต่างๆ มาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติและใช้ชีวิตด้วยความปลอดภัยและสบายใจในญี่ปุ่นกันเถอะ
Table of Contents
- สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดภัยธรรมชาติบ่อย
- ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
- สัญญาณเตือนการเกิดภัยพิบัติ
- ตั้งสติให้มั่น! และสิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดภัยพิบัติ
- ระวังภัยที่เกิดตามมา! ทำความเข้าใจกับความเสี่ยงและมาตรการรับมือกันเถอะ
- การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด! สิ่งที่ต้องเตรียมและสิ่งที่ต้องรู้
- การเตรียมพร้อมเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน! ศึกษาแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยล่วงหน้า
- วิธีรับข่าวสารเวลาเกิดภัยพิบัติ(เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง)
- การติดต่อฉุกเฉินทางโทรศัพท์
สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดภัยธรรมชาติบ่อย
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น และสึนามินั้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือรูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นปัญหาที่สร้างความปวดหัวให้ผู้คนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง
ประเทศที่มีธรรมชาติที่สวยงามตามฤดูกาลอย่างญี่ปุ่นนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็มีภัยพิบัติตามฤดูกาลเกิดขึ้นบ่อยมากเช่นกัน หากดูจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว 20.8% ของแผ่นดินไหวที่มีระดับสูงกว่า 6 แมกนิจูด 7.0% ของภูเขาไฟที่เกิดการปะทุ 0.4% ของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ และ 18.3% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นทั้งนั้น เมื่อเทียบกับพื้นที่ประเทศที่มีพื้นที่เพียง 0.25% ของโลกใบนี้แล้ว ถือเป็นอัตราที่สูงมาก และยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
แล้วทำไมญี่ปุ่นถึงมีภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้? สาเหตุมาจากสภาพตามธรรมชาติและโครงสร้างเมือง ได้แก่ ตำแหน่งที่ตั้ง ภูมิประเทศ ธรณีวิทยา และสภาพอากาศ
● ตำแหน่งที่ตั้ง
เนื่องจากญี่ปุ่นตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างแผ่นมหาสมุทรและแผ่นเปลือกโลก จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการเคลื่อนตัวและม้วนตัวของแผ่นเปลือกโลก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังถูกล้อมรอบทั้งสี่ด้านด้วยทะเล ประกอบกับมีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวและซับซ้อน ทำให้เกิดความเสียหายที่มาจากสึนามิเวลาเกิดแผ่นดินไหวได้ง่าย
● ภูมิประเทศ
70% ของประเทศญี่ปุ่นเป็นพื้นที่ภูเขา มีภูเขาสูงชัน หุบเขา และหน้าผาอยู่มากมาย ด้วยลักษณะภูมิประเทศดังที่กล่าวมานั้น ทำให้น้ำในแม่น้ำสามารถไหลลงมาตามที่ลาดชันของภูเขาลงสู่ทะเลได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยเช่นน้ำล้นตลิ่งได้ง่าย
● ธรณีวิทยา
ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “วงแหวนแห่งไฟ (The Ring of Fire)” ซึ่งเป็นพื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น 108 ลูก คิดเป็นประมาณ 7% ของจำนวนภูเขาไฟทั้งหมดทั่วโลก แม้ว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เกิดออนเซ็นซึ่งเป็นเหมือนพรจากธรรมชาติ แต่ในทางกลับกันก็เป็นต้นเหตุของการเกิดภัยพิบัติอย่างภูเขาไฟระเบิด เถ้าภูเขาไฟจากการปะทุ และแผ่นดินไหวเช่นกัน
● สภาพอากาศ
เนื่องจากญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น ทำให้มีสี่ฤดู คือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากในช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูกาลระหว่างฤดูใบไม้ผลิไปฤดูร้อน แนวปะทะมวลอากาศคงที่ช่วงหน้าฝนมักจะเคลื่อนตัวช้า ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมาก ในขณะที่ช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงพายุไต้ฝุ่นจะเข้าใกล้และขึ้นฝั่ง ทำให้เกิดพายุและฝนตกหนักอยู่บ่อยครั้ง
● โครงสร้างเมือง
สำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา การเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของพื้นที่บางแห่งทำให้มีการตัดอุโมงค์และทางเดินรถผ่านภูเขา สร้างที่อยู่อาศัยใกล้กับภูเขาและหน้าผา รวมถึงมีการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองต่างๆ จึงสามารถพบเห็นย่านที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำ ชายฝั่งและภูเขาไฟได้บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกัน โครงสร้างเมืองเช่นนี้ก็เสี่ยงต่อความเสียหายจากปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น โคลนถล่มหรือแผ่นดินเหลว ได้ง่ายเช่นกัน
ด้วยหลากหลายสาเหตุที่เกี่ยวพันกัน บางครั้งอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
ภัยพิบัติในญี่ปุ่นมีทั้งภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศ เช่น พายุไต้ฝุ่น ฝนตกหนัก และหิมะตกหนัก และภัยพิบัติที่เกิดจากสถานที่และปัจจัยเฉพาะ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ และภูเขาไฟระเบิด ด้วยการที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ บางคนอาจมองว่าไม่สามารถเตรียมรับมืออะไรได้ แต่จริงๆ แล้วการเอาใจใส่หรือการกระทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจช่วยชีวิตเราได้ ในส่วนนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับภาพรวมและสาเหตุของภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
แผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเกิดจากการบีบอัด ดึงขึ้น พลิกขึ้นมา หรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นที่ปกคลุมพื้นผิวโลก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น มีการเคลื่อนไหวที่รอยเลื่อนมีพลังหรือเกิดภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น รอบๆ หมู่เกาะญี่ปุ่นเป็นจุดชนกันของแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่นพอดี ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเมื่อแผ่นเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนตัว
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ในญี่ปุ่นจะมีการประกาศค่ามาตรวัดออกมาสองค่าคือ “แมกนิจูด” และ “ชินโดะ (震度)” แมกนิจูดจะแสดงถึงขนาด (ระดับพลังงาน) ของแผ่นดินไหว ในขณะที่ชินโดะ หรือค่าไหวสะเทือน จะแสดงถึงระดับของความสั่นสะเทือนในแต่ละพื้นที่ โดยชินโดะจะมีระดับตั้งแต่ 0-7 ยิ่งตัวเลขมากเท่าไรระดับความสั่นสะเทือนก็ยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งโดยปกตินั้นระดับที่ร่างกายสามารถรับรู้ได้ถึงการสั่นสะเทือนจะเริ่มที่ 2-3 ชินโดะ ระดับ 4 ชินโดะผู้คนจะเริ่มแตกตื่น สูงกว่าระดับ 5 ชินโดะขึ้นไปจะสั่นไหวจนแทบยืนไม่ได้
แม้แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ยากต่อการคาดเดา แต่ในกรณีของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยอย่าง แผ่นดินไหวนันไคเมกะทรัสต์ (南海トラフ地震) บริเวณภูมิภาคคันโตไปจนถึงคิวชูซึ่งมีระดับประมาณ 7 ชินโดะและคลื่นสึนามิสูงกว่า 10 เมตร และแผ่นดินไหวใกล้เขตมหานครโตเกียว (首都直下型地震) ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งภายใน 30 ปีนั้น ได้มีการเผยแพร่วิธีรับมือและคาดการณ์ความเสียหายไว้ในเว็บไซต์ป้องกันภัยพิบัติของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น
▼ สำนักงานอุตุนิยมวิทยา “มาตรการรับมือแผ่นดินไหวนันไคเมกะทรัสต์”
http://www.bousai.go.jp/jishin/nankai/index.html
▼ สำนักงานคณะรัฐมนตรี “มาตรการรับมือแผ่นดินไหวใกล้เขตมหานครโตเกียว”
http://www.bousai.go.jp/jishin/syuto/index.html
ไต้ฝุ่น
พายุไต้ฝุ่น หมายถึง พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือหรือทะเลจีนใต้ และมีความเร็วลมสูงสุดในบริเวณความกดอากาศต่ำอย่างน้อย 17.2 เมตรต่อวินาที แม้ในแต่ละปีจะไม่แน่นอน แต่ในญี่ปุ่นมีพายุไต้ฝุ่นประมาณ 20 ถึง 30 ลูกเกิดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2011 โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
ไต้ฝุ่นนั้นนำมาซึ่งภัยพิบัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำสูง คลื่นสูง ฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ลมกระโชก ดินถล่ม หรือน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ไต้ฝุ่นแตกต่างจากแผ่นดินไหวตรงที่สามารถคาดการณ์เส้นทางและระดับความแรงได้ล่วงหน้า ทำให้คุณสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่พายุไต้ฝุ่นจะตัดผ่านหมู่เกาะญี่ปุ่นไปโดยตรง คุณจึงควรฟังข่าวสารและประกาศพายุไต้ฝุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนเข้าฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดพายุมากที่สุดในรอบปี
ฝนตกหนัก (น้ำท่วม, ดินถล่ม)
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ 70% เป็นภูเขาและเนินเขา ทั้งยังมีพื้นที่สูงชันมากมาย ทำให้ญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแม่น้ำและดินถล่มจากฝนตกหนัก ดังนั้นจึงมีมาตรการต่างๆ อยู่มากมาย เช่น ควบคุมระดับน้ำด้วยเชื่อนหรือบ่อกันน้ำท่วม หรือสร้างคลองบายพาสอย่าง อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินนอกเขตมหานคร (首都圏外郭放水路) เพื่อลดระดับน้ำที่ปลายน้ำ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา จำนวนครั้งที่ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศภายใน 1 ชั่วโมงมีปริมาณมากกว่า 50 มิลลิเมตรก็เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2010-2019) เกิดขึ้นประมาณ 327 ครั้ง ในขณะที่ช่วง 10 ปีแรกที่เริ่มการบันทึก (ค.ศ.1976-1985) เกิดขึ้นเพียงประมาณ 226 ครั้ง นับว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 เท่าเลยทีเดียว กล่าวได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักเกินความคาดหมายขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สำหรับเส้นทางหรือบ้านเรือนที่สร้างตัดผ่านภูเขา ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเจอกับภัยพิบัติดินถล่มเนื่องมาจากฝนตกหนัก ไต้ฝุ่น และแผ่นดินไหว ภัยพิบัติดินถล่มนั้นนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาล สามารถกลืนกินบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนได้ภายในเวลาอันสั้น
สึนามิ
คลื่นสึนามิเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล เช่น การจมหรือดันตัวขึ้นของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเล หรือดินถล่มใต้ทะเล ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลโดยรอบเปลี่ยนแปลง ยิ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงมากเท่าไร สึนามิที่เข้าปะทะชายฝั่งก็จะใหญ่และมีอานุภาพทำลายล้างสูงตามไปด้วย ดังเช่นในกรณีของสึนามิขนาดยักษ์ที่เกิดจากเหตุการณ์ “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น (東日本大震災)” ในภูมิภาคโทโฮคุเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011
ภูเขาไฟระเบิด
ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ถึง 111 แห่ง มีแม้แต่ภูเขาไฟที่ได้กลายเป็นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้วอย่างซากุระจิมะในจังหวัดคาโกชิม่า (ในภาพ) ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงปะทุอยู่ให้เห็นบ่อยครั้ง ปรากฏการณ์ภูเขาไฟหลักๆ ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัตินั้นได้แก่ เศษหินขนาดใหญ่ ฝุ่นภูเขาไฟอุณหภูมิสูง ธารลาวาความเร็วสูงที่มาพร้อมกับแก๊สภูเขาไฟ ธารลาวาที่มาพร้อมกับหินละลาย และโคลนภูเขาไฟที่เกิดจากหิมะละลาย โดยเฉพาะในกรณีของเศษหินขนาดใหญ่ ธารลาวา และโคลนภูเขาไฟนั้น เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการปะทุ จึงทำให้มีเวลาในการอพยพน้อย และมีความอันตรายต่อชีวิตสูงมาก
สัญญาณเตือนการเกิดภัยพิบัติ
ระดับการแจ้งเตือนจะประกาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาตามความอันตรายของสภาวะอากาศ 16 ประเภท เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม หิมะตกหนัก และลมกระโชก โดยระดับการเตือนภัยหลักๆ มีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ “เตือนภัยฉุกเฉิน (特別警報)” “เตือนภัย (警報)” และ “เฝ้าระวัง (注意報)” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ประกาศทางโทรทัศน์ วิทยุ ข่าวตามเน็ต ฯลฯ และบางครั้งจะส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของคุณในรูปแบบจดหมายข่าวฉุกเฉิน
● ประกาศเตือนภัยฉุกเฉิน
ประกาศแจ้งเตือนภัยอันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้นมากๆ หรือภัยอันตรายที่ผิดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ เพื่อให้เตรียมพร้อมต่อการเข้าช่วยเหลือและรักษาชีวิต
โดยมีประกาศเตือนภัยฉุกเฉินสำหรับสภาพอากาศ ปรากฏการณ์ภาคพื้นดิน น้ำขึ้นสูง และสึนามิ ในส่วนของการเตือนภัยฉุกเฉินทางสภาพอากาศจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีก คือ พายุ พายุหิมะ ฝนตกหนัก และหิมะตกหนัก
การประกาศเตือนภัยฉุกเฉินอาจเป็นสถานการณ์ที่คุณไม่เคยเจอมาก่อนเนื่องจากเกิดขึ้นน้อยมาก เรียกได้ว่า 1 ครั้งในรอบสิบปีเลยเดียว ดังนั้นหากคุณมีความคิดว่ารอให้ประกาศออกก่อนแล้วค่อยเริ่มการอพยพ อาจทำให้คุณอพยพไม่ทันก็เป็นได้
● ประกาศเตือนภัย
ประกาศคาดการณ์ว่าอาจเกิดภัยพิบัติร้ายแรงได้
โดยมีประกาศเตือนภัยจากสภาพอากาศ ปรากฏการณ์ภาคพื้นดิน น้ำขึ้นสูง สึนามิ น้ำท่วมบ้านเรือน และน้ำล้นแม่น้ำ ในส่วนของการเตือนภัยทางสภาพอากาศจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีก คือ พายุ พายุหิมะ ฝนตกหนัก และหิมะตกหนัก
● ประกาศเฝ้าระวัง
ประกาศคาดการณ์ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ซึ่งอาจทำให้เกิดภัยพิบัติได้
โดยมีประกาศเฝ้าระวังสภาพอากาศ ปรากฏการณ์ภาคพื้นดิน น้ำขึ้นสูง สึนามิ น้ำท่วมบ้านเรือน และน้ำล้นแม่น้ำ ในส่วนของการเฝ้าระวังทางสภาพอากาศจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีก คือ ลมและหิมะ ลมกระโชก ฝนตกหนัก หิมะตกหนัก ฟ้าฝ่า อากาศแห้ง หมอกหนา น้ำค้างแข็ง หิมะถล่ม อุณหภูมิต่ำ หิมะติดแน่น หิมะแข็งตัว และหิมะละลาย
นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ทางหน่วยงานท้องถิ่นเองก็จะมีการประกาศคำแนะนำในการอพยพ การเตรียมอพยพ และการเริ่มอพยพผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน นอกจากโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีการประกาศผ่านลำโพงกระจายเสียงที่ติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการประกาศเหตุแผ่นดินไหวฉุกเฉิน (緊急地震速報) เพื่อแจ้งให้ทราบว่าแผ่นดินไหวกำลังจะมาถึง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ระบบตรวจสอบจะวิเคราะห์และส่งรายงานเวลาการเกิดการสั่นสะเทือนไปยังโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือในทันที เวลาก่อนการสั่นสะเทือนจะเริ่มต้นขึ้นนั้นสั้นมาก ซึ่งมีเวลาเพียง 10 วินาทีหรือสั้นกว่านั้น ดังนั้นหากได้รับการแจ้งเตือนแล้วให้รีบทำการตรวจสอบต้นกำเนิดไฟต่างๆ และปิดหัวแก๊ส จากนั้นรีบไปหลบใต้โต๊ะ ในกรณีที่กำลังอยู่ในพื้นที่ปิด หากทำการเปิดประตูไว้ก็จะสามารถทำให้อพยพได้ง่ายขึ้น นอกจานี้ หลังเกิดแผ่นดินไหวจะมีการประกาศเกี่ยวกับสึนามิตามมาเสมอ (ประกาศเฝ้าระวังและเตือนภัยสึนามิ) จึงห้ามชะล่าใจเด็ดขาดจนกว่าจะได้รับประกาศยกเลิกการเฝ้าระวัง
ตั้งสติให้มั่น! และสิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดภัยพิบัติ
หากคุณประสบกับภัยพิบัติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ “ปกป้องชีวิต” ของคุณเอง สำหรับคนที่อาศัยอยู่คนเดียว แนะนำให้คุณย้ายไปศูนย์อพยพจะปลอดภัยกว่า ที่ศูนย์อพยพส่วนมากจะมีการแจกจ่ายสิ่งของเครื่องใช้เช่นผ้าห่มและอาหาร ทั้งยังช่วยให้ไม่ต้องอยู่เพียงคนเดียวในเวลาที่รู้สึกไม่ปลอดภัยอีกด้วย
ในกรณีที่คุณประสบภัยพิบัติในขณะที่อยู่นอกบ้าน ให้ไปตามป้าย EXIT สีเขียวแล้วคุณจะพบกับทางออกอย่างแน่นอน เพื่อความปลอดภัยเวลาคุณออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือโรงแรมต่างๆ ก็ตาม อย่าลืมสังเกตป้ายทางออกฉุกเฉินเอาไว้ทุกครั้ง
นอกจากนี้ ควรเตรียมใจไว้เสมอในกรณีที่ระบบขนส่งสาธารณะหยุดชะงักจนทำให้คุณไม่สามารถกลับบ้านได้ โดยเฉพาะในเขตปริมณฑล หลังจากที่ระบบขนส่งสาธารณะกลับมาดำเนินการต่อ ผู้คนที่ตกข้างจากการหยุดวิ่งกะทันหันของรถไฟจะเบียดเสียดกันเพื่อให้ได้กลับบ้าน ในกรณีนี้เพื่อไม่ให้เกิดความชุลมุน โปรดจำไว้ว่าคุณสามารถใช้ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ตู้คาราโอเกะ ฯลฯ ที่รองรับผู้ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากภัยพิบัติ (ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของหน่วยงานท้องถิ่น)
นอกจากนี้ เวลาทำการอพยพให้จำไว้ว่า ไม่ผลัก ไม่วิ่ง ไม่พูดคุย (เพราะอาจทำให้ฟังประกาศหรือคำแนะนำในการอพยพได้ไม่ครบถ้วน) ไม่กลับไปและไม่เข้าใกล้บริเวณที่เกิดภัยพิบัติ (ไม่ว่าจะลืมของหรือเหตุผลอะไรก็ตาม เมื่ออพยพแล้วต้องไม่กลับไปยังจุดเสี่ยงอีก) ที่กล่าวมานี้คือความรู้สำหรับการอพยพภัยพิบัติที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาญี่ปุ่นเรียนรู้ ดังนั้นโปรดจำให้ขึ้นใจ
● สิ่งที่ต้องทำเวลาเกิดแผ่นดินไหว
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขณะคุณอยู่ภายในอาคาร ให้รีบเข้าไปหลบใต้โต๊ะเพื่อปกป้องศีรษะของคุณก่อนเป็นอย่างแรก สิ่งสำคัญคือให้หลบเข้าไปในที่ที่ตู้หนังสือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะไม่หล่นลงมาทับ หากอยู่ในที่โล่งให้มองหาอุปกรณ์ที่แข็งแรงอย่างหมวกนิรภัยมาป้องกันศีรษะไว้ และอพยพไปยังสถานที่ที่จะไม่มีของตกใส่ หรือที่ที่ตู้กดอัตโนมัติและเสาไฟจะไม่ล้มลงมา เมื่อต้องอพยพจำไว้ว่าต้องใช้บันไดเท่านั้น ห้ามใช้ลิฟต์เป็นอันขาด เพราะลิฟต์อาจเกิดการขัดข้องและทำให้คุณติดอยู่ภายในได้ อีกสิ่งคือ หากคุณอยู่บริเวณชายฝั่งและสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ให้ทำการอพยพไปให้ไกลจากทะเลและขึ้นไปยังพื้นที่สูงทันที
หากรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบเปิดข่าวหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อตรวจสอบระดับชินโดะในพื้นที่ตัวเองและจุดเกิดแผ่นดินไหวทันที
● สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดพายุไต้ฝุ่น
หากคุณรู้ว่าไต้ฝุ่นกำลังใกล้เข้ามาให้เตรียมเครื่องดื่ม อาหาร เตาแก๊สแบบพกพาและแบตเตอรี่ และแบตสำรองโทรศัพท์มือถือให้พร้อม ในกรณีพื้นที่อยู่อาศัยของคุณเป็นพื้นที่ที่ไต้ฝุ่นจะเคลื่อนผ่านแล้วล่ะก็ เราแนะนำให้คุณลองพิจารณาเรื่องการย้ายไปอยู่ศูนย์อพยพพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อความปลอดภัยของคุณ ให้หมั่นตรวจสอบประกาศแจ้งเตือนและข้อมูลการอพยพต่างๆ หลังจากมีประกาศออกมาอย่าเคลื่อนย้ายออกไปด้านนอกโดยไม่จำเป็น เว้นเสียแต่คุณจะอยู่ในพื้นที่อันตราย เพราะคุณอาจถูกลมพายุพัดปลิวหรืออาจโดนของที่ปลิวมาตามพายุกระแทกใส่ได้
▼กรมอุตุนิยมวิทยา “ข้อมูลป้องกันภัยภิบัติ: ประกาศเตือนภัยและการเฝ้าระวังทางสภาพอากาศ”
https://www.jma.go.jp/jp/warn/
https://www.jma.go.jp/jma/kokusai/multi.html
● สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดฝนตกหนัก (น้ำท่วม, ดินโคลนถล่ม)
การแจ้งเตือนฝนตกหนักจะเหมือนกับพายุไต้ฝุ่น โดยจะมีการแจ้งเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้มีเวลาในการจัดเตรียมสิ่งของและเตรียมการอพยพ หากคุณสังเกตเห็นว่าน้ำในแม่น้ำขุ่นอย่างฉับพลัน มีกลิ่นดินเหม็นเน่า หน้าผามีก้อนกรวดเล็กๆ ตกลงมา มีน้ำไหลออกจากรอยแยกหน้าผา มีการแตกร้าวต่างๆ นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอาจเกิดดินและทรายถล่มอย่างกะทันหัน ดังนั้นให้รีบอพยพออกจากพื้นที่นั้นไปยังพื้นที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ อย่าลืมศึกษาและตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติและตำแหน่งศูนย์อพยพจาก “แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม” หรือ “แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม” ที่ทางหน่วยงานท้องถิ่นจัดทำขึ้น
● สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดสึนามิ
หากคุณรู้สึกถึงแผ่นดินไหวใกล้ทะเล สิ่งที่ต้องทำคือรีบหนีออกมาให้ไกลจากชายฝั่งและขึ้นไปยังที่สูง การประกาศเฝ้าระวังสึนามินั้นโดยทั่วไปจะประกาศประมาณ 3 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยจะประกาศในกรณีที่คาดการณ์ว่าความสูงคลื่นนั้นสูงกว่า 0.2 เมตร เนื่องจากการซัดเข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้คลื่นแรงขึ้นเรื่อยๆ แค่ความสูงเพียง 0.2 – 0.3 เมตรก็เพียงพอที่จะพัดคนให้ไหลไปตามกระแสน้ำได้แล้ว
นอกจากนี้ ลักษณะของคลื่นนั้นไม่ได้ชัดเข้ามาแล้วจบลงในครั้งเดียว แต่เป็นการซัดเข้ามาเป็นระลอกๆ ซึ่งในบางกรณีคลื่นลูกที่สองหรือลูกที่สามจะมีความสูงที่มากกว่าคลื่นลูกแรก แม้แต่ในกรณีที่คลื่นซัดเข้ามาเพียงครั้งเดียว ก็ควรอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยต่อไปและไม่ย้อนกลับไปยังที่พำนัก จนกว่าจะได้รับประกาศยกเลิกการเตือนภัยและเฝ้าระวังสึนามิ เวลาที่คลื่นจะเข้าปะทะที่แจ้งเตือนนั้นเป็นเพียงแค่การคาดการณ์เท่านั้น โดยมีความเป็นไปได้ว่าเวลาที่เข้าปะทะจริงๆ อาจคลาดเคลื่อนจากเวลาที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นให้ทำการอพยพต่อไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิกการเตือนภัยและเฝ้าระวังสึนามิ
● สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิด
ภูเขาไฟระเบิดนั้นสามารถคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะมีการประกาศเตือนภัยภูเขาไฟระเบิดพร้อมแจ้งระดับความอันตรายของการระเบิดนั้นๆ สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเถ้าภูเขาไฟที่ลอยมาตามลม ซึ่งสามารถฟุ้งกระจายได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการปะทุ เนื่องจากเถ้าภูเขาไฟมีส่วนใหญ่ประกอบด้วยแก้วและหินแร่เป็นหลัก ถึงมีขนาดเล็กแต่ก็แหลมคม สามารถสร้างความเจ็บปวดได้หากปลิวเข้าตา และอาจสร้างความเสียหายต่อหลอดลมและปอดได้หากเผลอสูดเข้าไป สามารถป้องกันเถ้าเหล่านี้ได้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย แว่นตา แว่นกันลมกันฝุ่น และเสื้อผ้าแขนขายาว ในกรณีที่เถ้าภูเขาไฟตกลงมาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ไม่สามารถออกจากบ้านได้เป็นเวลานาน วิธีรับมือที่ดีคือควรตระเตรียมน้ำดื่ม อาหารพร้อมรับประทานไว้ล่วงหน้า รวมถึงคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องสัมผัสกับอากาศภายนอกด้วยผ้าคลุมหรือฟิล์มห่ออาหาร
▼กรมอุตุนิยมวิทยา “ประกาศเตือนภัยและการคาดการณ์ภูเขาไฟระเบิด”
https://www.jma.go.jp/jp/volcano/
ระวังภัยที่เกิดตามมา! ทำความเข้าใจกับความเสี่ยงและมาตรการรับมือกันเถอะ
ผลกระทบที่ตามมาหลังการเกิดภัยพิบัติเรียกว่า ภัยพิบัติที่เกิดตามมา (Secondary disaster) โดยไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติโดยตรงอย่างแผ่นดินไหวหรือฝนตกหนัก ตัวอย่างทั่วไปของภัยรูปแบบนี้ก็ได้แก่ การหยุดชะงักของโครงสร้างพื้นฐาน และการเกิดไฟไหม้ เป็นต้น
เพื่อลดภัยพิบัติที่เกิดตามมาให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อได้รับการยืนยันความปลอดภัยหลังแผ่นดินไหวสงบ ให้รีบตรวจสอบแหล่งกำเนิดไฟต่างๆ ที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดไฟไหม้ เช่น ห้องครัว ฮีตเตอร์ และบุหรี่ เนื่องจากในปัจุบันระบบแก๊สตามเมืองต่างๆ จะหยุดส่งแก๊สให้บ้านเรือนทันทีหากเกิดแผ่นดินไหวหนักกว่าระดับ 5 ชินโดะ ดังนั้นระหว่างเกิดแผ่นดินไหว คุณไม่จำเป็นต้องรีบร้อนไปปิดก็ได้ แต่การตรวจสอบต้นกำเนิดไฟต่างๆ ก็อาจทำให้อุ่นใจได้เช่นกัน
เวลาซื้อเตาผิง เราขอแนะนำให้ซื้อรุ่นที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟอัตโนมัติหรือติดตั้งอุปกรณ์ตัดก๊าซเมื่อล้ม หากมีการเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น หากจะทำการอพยพ อย่าลืมปิดวาล์วแก๊สและสับเบรกเกอร์จ่ายไฟลงด้วย เพื่อเป็นการป้องกันแก๊สรั่ว การเกิดเพลิงไหม้ และการระเบิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหลังจากกระแสไฟกลับคืนมา
ในกรณีที่ฝนตกหนักจนน้ำท่วมเข้าบ้าน ตอนสับเบรกเกอร์อาจทำให้โดนไฟดูดได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง โดยอาจสวมถุงมือยางแบบหนาก่อนจับเบรกเกอร์หรือใช้แท่งไม้ช่วยในการสับเบรกเกอร์ลง
แม้ญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย แต่ก็มีกรณีที่ขโมยแอบเข้าไปขโมยของในบ้านของผู้อพยพเช่นกัน ดังนั้นก่อนอพยพควรล็อคประตูให้ดี แต่หากต้องอพยพอย่างเร่งด่วนและไม่ทันตั้งตัว การรักษาชีวิตของคุณถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่