ข้อดี – ข้อเสียของสัญญาว่าจ้างแต่ละแบบในญี่ปุ่น : พนักงานประจำ, สัญญาระยะสั้น, พาร์ทไทม์ ฯลฯ

เมื่อคุณหางานทำในญี่ปุ่น แน่นอนว่าไม่ควรดูแค่รายละเอียดงานและเงินเดือนเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสนใจกับรูปแบบการจ้างงานด้วย ซึ่งในญี่ปุ่นก็อาจมีทั้งแบบพนักงานประจำที่ทำงานเต็มเวลา, สัญญาระยะสั้น , พนักงานชั่วคราว หรือแม้กระทั่งพนักงานพาร์ทไทม์ ทุกแบบล้วนมีความแตกต่างในเรื่องของเงินเดือน, ประกันสังคม, สวัสดิการ และภาษี ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์ข้อดี – ข้อเสียของการจ้างงานแต่ละแบบในญี่ปุ่น พร้อมบอกเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณเลือกรูปแบบการจ้างงานที่เหมาะกับตัวเองที่สุดได้
Oyraa

รูปแบบการจ้างงานในญี่ปุ่น

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “พนักงานประจำ” “พนักงานสัญญาจ้าง” หรือ “พนักงานพาร์ทไทม์” มาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอธิบายได้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร หากจะให้อธิบายสั้นๆ คำเหล่านี้ก็คือ รูปแบบการจ้างงานซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกจ้าง ในบทความนี้ เราจะยกรูปแบบการจ้างงาน 7 แบบหลักๆ ในญี่ปุ่นมาให้ชมกัน พร้อมบอกข้อดี – ข้อเสีย ขั้นตอนการว่าจ้าง เงินเดือน และเงื่อนไขการทำประกันสังคมของการจ้างงานแต่ละแบบด้วย

ทุกคนต้องเข้าประกันสังคม ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติ!

ประกันสังคมของญี่ปุ่นเป็นการรวมประกันหลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน เช่น ประกันเงินบำนาญ ประกันสุขภาพ และประกันแรงงาน (ประกันชดเชยอุบัติเหตุและประกันจ้างงาน) ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในบริษัทที่เข้าข่ายประกันสุขภาพภาคบังคับ* ไม่ว่าเป็นคนสัญชาติใดก็จะต้องเข้าร่วมประกันเงินบำนาญและประกันสุขภาพ (อาจมีข้อยกเว้นสำหรับประชาชนในกลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลงประกันสังคม** ร่วมกับญี่ปุ่น) ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ชาวต่างชาติได้รับเงินบำนาญหลังอายุครบ 65 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับเงินเดือนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่ไม่อยากจ่ายเงินในส่วนนี้เนื่องจากมีแผนที่จะกลับประเทศบ้านเกิดกันในภายหลัง ในกรณีนี้ พวกเขาสามารถขอรับเงินก้อนจากการถอนตัวจากประกันได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำเรื่องขอภายในระยะเวลาที่กำหนด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านต่อได้ในบทความนี้

คู่มือภาษี ประกันสุขภาพ และเงินบำนาญสำหรับชาวต่างชาติ

* บริษัทที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องให้ลูกจ้างเข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพและเงินบำนาญ โดยทั่วไปจะครอบคลุมบริษัททุกประเภท (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ที่มีพนักงานมากกว่า 5 คนขึ้นไป

** ข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจ่ายเงินประกันซ้ำซ้อน โดยจะช่วยลดหย่อนเงื่อนไขในส่วนของระยะเวลาที่จำเป็นต้องเข้าร่วมเพื่อรับเงินบำนาญ

หยุดอวยพนักงานประจำ! นโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” เริ่มใช้ในเดือน เมษายน 2020

employment in japan work job

นโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” (Equal Pay for Equal Work) ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ระหว่างพนักงานประจำและผู้ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ (คนที่เซ็นสัญญาระยะสั้น, พนักงานพาร์ทไทม์, พนักงานชั่วคราว) ที่ทำงานอยู่ในองค์กรหรือบริษัทเดียวกัน เป็นผลให้บริษัทต้องทำ 3 สิ่งดังต่อไปนี้

1) ตั้งกฎเพื่อขจัดการปฎิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เท่าเทียม

2) เพิ่มความเข้มงวดในการอธิบายให้ลูกจ้างทราบถึงระบบการจ่ายเงินชดเชย

3) จัดตั้งกระบวนการให้คำปรึกษา แนะนำแนวทาง และกระบวนการระงับข้อพิพาทนอกศาล

พูดง่ายๆ คือ กฎเหล่านี้ช่วยให้พนักงานประจำและไม่ประจำที่มีงานและความรับผิดชอบเหมือนกันได้รับค่าตอบแทนและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน กฎเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายปฏิรูปแรงงานของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มบังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา และจะเริ่มใช้กับบริษัทขนาดกลางและเล็กตั้งแต่ 1 เมษายน ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป

ต่อไป เราจะมาดูกันว่าการจ้างงานในญี่ปุ่นแต่ละรูปแบบมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

พนักงานประจำ (Full-Time Employment)

employment in japan work job

การจ้างงานแบบพนักงานประจำ หมายถึง ข้อตกลงในการทำงานระยะยาวโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดการจ้าง ตามกฎหมายจะจำกัดให้ทำงานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ละบริษัทจะมีกระบวนการจ้างที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการให้ผู้สมัครส่งเรซูเม่และประวัติการทำงานเข้ามา จากนั้นจึงเรียกให้มาสัมภาษณ์ที่บริษัท โดยอาจมีเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ ในกรณีของพนักงานประจำนี้ ภาษีรายได้ ภาษีผู้อยู่อาศัย ค่าประกันสุขภาพ และประกันเงินบำนาญจะถูกหักออกจากเงินเดือนโดยตรง

ข้อได้เปรียบของพนักงานประจำในปัจจุบัน ได้แก่ เงินเดือน สวัสดิการ และวันหยุดที่สามารถเบิกจ่ายได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้สิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น เงินโบนัสและเงินเกษียณแก่พนักงานเหล่านี้ด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับรูปแบบการจ้างงานที่อิงระบบอาวุโส ก็จะทำให้ได้เงินเดือนของพวกเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุงาน พนักงานประจำในญี่ปุ่นจึงมีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างมั่นคง นอกจากสวัสดิการที่กฎหมายกำหนดเหล่านี้ บางบริษัทยังมีการออกเงินช่วยเหลืออื่นๆ ให้กับพนักงานประจำโดยเฉพาะด้วย เช่น เงินช่วยเหลือค่าเดินทาง, ค่าเช่าบ้าน, เงินช่วยเหลือครอบครัว, ค่าตรวจสุขภาพ และค่าสอบวุฒิต่างๆ นอกจากนี้ พนักงานประจำก็ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับมอบหมายงานสำคัญๆ ที่ท้าทายความสามารถด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การจ้างงานรูปแบบนี้ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบมากมาย และบ่อยครั้งก็ไม่มีการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้ หรือถึงจะมี ก็ยังเป็นข้อเสียอย่างหนักสำหรับผู้ที่อยากกลับบ้านตรงเวลา นอกจากนี้ พนักงานประจำยังอาจถูกโยกย้ายไปทำงานที่อื่นได้

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของนโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” ก็ทำให้บางบริษัทเลือกที่จะลดเงินช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานประจำลง

พนักงานสัญญาระยะสั้น (Fixed-Term Contract Employment)

ข้อแตกต่างหลักระหว่างพนักงานประจำกับพนักงานสัญญาระยะสั้น คือ พนักงานที่ทำสัญญาเหล่านี้จะมีการกำหนดระยะเวลาของสัญญาการจ้างเอาไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ หากบริษัทไม่ต่อสัญญาก็จะถือว่าการว่าจ้างนั้นสิ้นสุดลง พนักงานในสัญญาส่วนใหญ่จะทำงานวันเดียวกันกับพนักงานประจำ มีชั่วโมงการทำงานเท่ากัน และมีค่าจ้างที่ใกล้เคียงกันด้วย นอกจากนี้ พวกเขายังต้องจ่ายค่าประกันสังคมในราคาที่ใกล้เคียงกัน และถูกหักภาษีผู้อยู่อาศัยกับภาษีเงินบำนาญออกจากเงินเดือนโดยตรงเหมือนกันด้วย

ข้อดีของพนักงานสัญญาระยะสั้น คือ มีหน้าที่และค่าตอบแทนไม่ต่างจากพนักงานประจำภายใต้ความรับผิดชอบที่น้อยกว่า พนักงานในสัญญาไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา อาจมีบ้างแต่ก็เป็นปริมาณน้อย สถานที่ทำงานของพวกเขาถูกกำหนดไว้ตายตัวและไม่มีการโยกย้าย นอกจากนี้ ก็มีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่ห้ามไม่ให้พนักงานในสัญญาทำงานเสริม คนที่สามารถบริหารเวลาได้ดีจึงสามารถทำงานอื่นๆ ควบคู่กันได้ หลายบริษัทยังมีระบบโปรโมทพนักงานสัญญาระยะสั้นให้เข้าเป็นพนักงานประจำด้วย หากคุณมีบริษัทที่อยากเข้าทำงานประจำจริงๆ ก็สามารถลองทำงานในฐานะพนักงานสัญญาระยะสั้นดูก่อนได้

ส่วนข้อเสียของพนักงานสัญญาระยะสั้น คือ ขาดแคลนความมั่นคง เนื่องจากพนักงานในสัญญาบางคนอาจไม่ได้รับการต่อสัญญา ทำให้เป็นการยากที่จะวางแผนชีวิตการงานไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม หากคุณอยู่ในระยะเวลาที่สัญญากำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าโดนบริษัทจะยกเลิกสัญญาก่อน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นจริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทไม่กี่แห่งที่ให้โบนัสกับพนักงานสัญญาระยะสั้นด้วย แต่ถึงจะให้ก็มักเป็นจำนวนที่น้อยกว่าพนักงานประจำ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของนโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” ก็เป็นเหมือนแสงแห่งความหวังให้กับพนักงานในสัญญาเหล่านี้ว่าพวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการเทียบเท่ากับพนักงานประจำในบริษัทเดียวกัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือ พนักงานในสัญญาที่ทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลานานจะสามารถขอรับเงินบำนาญได้ด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าพนักงานประจำเล็กน้อยก็ตาม

พนักงานชั่วคราว (Temp Employment)

employment in japan work job

พนักงานชั่วคราวเป็นการจ้างงานทางอ้อมรูปแบบเดียวในญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากพนักงานประจำ พนักงานสัญญาระยะสั้น และพนักงานพาร์ทไทม์ที่ลูกจ้างจะทำสัญญากับผู้ว่าจ้างโดยตรง พนักงานชั่วคราวจะทำสัญญากับทางเอเจนซี่จัดหาพนักงานชั่วคราว และจะถูกส่งตัวไปทำงานในบริษัทที่เหมาะกับทักษะที่เจ้าตัวมีหรือรูปแบบงานที่เขาสนใจ โดยค่าตอบแทน ประเภทงาน และเงื่อนไขต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามเอเจนซี่และบริษัทปลายทางแต่ละแห่ง ดังนั้น การส่งตัวไปทำงานในแต่ละครั้ง แม้จะอยู่ในบริษัทหรือในสายงานเดียวกันก็อาจมีความแตกต่างกันได้ และในส่วนของประกันสังคม พนักงานชั่วคราวจะต้องเข้าร่วมในแผนประกันสังคมของทางเอเจนซี่ค่ะ

ข้อดีของการเป็นพนักงานชั่วคราว คือ มีค่าตอบแทนสูงกว่าพนักงานพาร์ทไทม์ในชั่วโมงทำงานที่เท่ากัน และคนที่มีทักษะวิชาชีพสูงก็มีโอกาสได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งยากต่อการสมัครเป็นพนักงานประจำ แต่การจ้างงานรูปแบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน เพราะสัญญาจ้างชั่วคราวนี้ จำเป็นต้องต่อใหม่ทุกๆ 3 เดือน นอกจากนี้ ยังมีกฎว่าไม่สามารถทำงานในบริษัทเดียวกันได้นานเกิน 3 ปีด้วย (เป็นกฎเพื่อส่งเสริมให้คนเข้าทำงานบริษัทในฐานะพนักงานประจำกันมากขึ้น) การจ้างงานรูปแบบนี้จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อยากทำงานอยู่ที่เดิมนานๆ

พนักงานชั่วคราวควรจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะมาพร้อมกับนโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” ให้ดี เพราะบริษัทจัดหาพนักงานชั่วคราวนี้ อาจมีการสร้างระบบที่ตอบสนองเงื่อนไขความเท่าเทียมได้อยู่ 2 แบบ คือ “ระบบเท่าเทียมและสมดุลกับบริษัทปลายทาง” และ “ระบบเท่าเทียมตามข้อตกลงแรงงานของเอเจนซี่” จึงควรตรวจสอบให้ดีว่าบริษัทจัดหาที่คุณทำงานอยู่เลือกใช้รูปแบบไหน

“ระบบเท่าเทียมและสมดุลกับบริษัทปลายทาง” จะช่วยรับรองว่าคุณจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับพนักงานประจำของบริษัทปลายทาง แต่นั่นก็หมายความว่าเงินเดือนของคุณจะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนบริษัทปลายทาง ในอีกด้านหนึ่ง “ระบบเท่าเทียมตามข้อตกลงแรงงานของเอเจนซี่” จะช่วยการันตีว่าคุณจะได้รับค่าตอบแทนในระดับที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยในสายงานนั้นๆ โดยอิงตามข้อมูลรายปีที่ทาง ‘กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ’ นำมาเผยแพร่ ซึ่งหมายความว่าค่าแรงของคุณจะไม่เปลี่ยนเมื่อมีการย้ายบริษัทปลายทาง แต่ก็อาจทำให้คุณได้รับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานในบริษัทนั้นด้วยเช่นกัน มีบริษัทจัดหาใหญ่ๆ จำนวนมากนิยมใช้ “ระบบเท่าเทียมตามข้อตกลงแรงงานของเอเจนซี่” ตรงนี้มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจไว้ คือ การตัดสินใจเลือกใช้ระบบไหนนั้นถือเป็นสิทธิ์ของบริษัท ไม่ใช่สิทธิ์ของเรา

การเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับนโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” คือ พนักงานชั่วคราวจะมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือค่าเดินทาง ซึ่งแต่เดิมไม่เคยได้รับมาก่อน

พนักงานพาร์ทไทม์ (Part-Time Employment)

employment in japan work job

ญี่ปุ่นมีวิธีเรียกการทำงานพาร์ทไทม์อยู่ 2 แบบ คือ Paato (พาต-โตะ จากคำว่า “Part” ในภาษาอังกฤษ) ที่มักใช้กับงานของบรรดาพ่อบ้านแม่บ้าน และ Arubaito (อะ-รุ-ไบ-โตะ จากคำว่า “Arbeit” ในภาษาเยอรมัน) ที่ใช้เรียกงานสำหรับนักศึกษาและคนวัยหนุ่มสาว การจ้างงานแบบพาร์ทไทม์จะต่างจาก 3 รูปแบบที่เรากล่าวถึงไปข้างต้น เพราะงานพาร์ทไทม์จะมีลักษณะเป็นงานเสริมมากกว่า ระยะเวลาการจ้างจะแตกต่างไปตามเนื้องาน ซึ่งอาจมีทั้งงานระยะยาวและระยะสั้น (ประมาณ 4 เดือน) การเลือกระยะเวลาการจ้างงานได้นี้ถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของงานพาร์ทไทม์เลยล่ะค่ะ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อเสียของพนักงานพาร์ทไทม์ก็คือ มีลักษณะงานที่กระจัดกระจายกว่าพนักงานประจำ แม้คุณจะทำงานในบริษัทหนึ่งมานานแล้วก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างไปจากเดิม ซึ่งไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ทักษะที่มีประโยชน์สักเท่าไร หากคุณทำงานในสายธุรกิจบริการหรือการขายก็อาจมีโอกาสได้รับการโปรโมทจากบริษัทให้เลื่อนจากพนักงานพาร์ทไทม์เป็นพนักงานประจำ แต่สำหรับผู้ที่อยากทำงานประจำในธุรกิจสายอื่น เราขอแนะนำให้หางานในรูปแบบอื่นจะดีกว่า

พนักงานพาร์ทไทม์สามารถเข้าร่วมประกันสังคมได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
• มีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์อย่างน้อย 3 ใน 4 ของพนักงานประจำ หรือมีจำนวนวันทำงานต่อเดือนอย่างน้อย 3 ใน 4 ของพนักงานประจำ
• ถึงแม้พนักงานพาร์ทไทม์จะทำงานน้อยกว่า 3 ใน 4 ของพนักงานประจำ ก็ยังสามารถเข้าประกันสังคมได้หากมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขด้านล่างนี้ทั้งหมด
1) ทำงานอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2) ได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อย 88,000 เยนต่อเดือน
3) วางแผนจะทำงานอยู่ที่เดิมอย่างน้อย 1 ปี
4) ต้องไม่เป็นนักเรียนนักศึกษา
5) ทำงานในบริษัทที่มีพนักงานอย่างน้อย 501 คนเข้าร่วมประกันสังคม

นโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” ส่งผลกับพนักงานพาร์ทไทม์ในลักษณะเดียวกับการจ้างแบบไม่ประจำรูปแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำเท่านั้น

พนักงานประจำระยะสั้น (Short-Time Full-Time Employment)

พนักงานประจำระยะสั้นมีลักษณะคล้ายกับพนักงานประจำปกติมาก มีทั้งการทำสัญญาที่ไม่กำหนดเวลาเลิกจ้าง และวิธีคิดเงินเดือนขั้นต่ำและเงินบำนาญในลักษณะเดียวกับพนักงานประจำทั่วไป รูปแบบการจ้างนี้มาพร้อมกับข้อเสียอย่างหนึ่ง คือ เวลาทำงานของคุณจะถูกลดลงเหลือประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทำให้เงินเดือนลดน้อยลงไปด้วย แต่การเป็นพนักงานประจำระยะสั้นก็ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ได้รับสวัสดิการในระดับเดียวกับพนักงานประจำ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้นับเป็นข้อเสียสำหรับทางบริษัทเนื่องจากทำให้ต้องจ่ายค่าประกันและสวัสดิการเพิ่มขึ้น บริษัทหลายแห่งจึงใช้รูปแบบการจ้างนี้เป็นครั้งคราวสำหรับพนักงานที่เป็นพ่อคนแม่คนแล้วเท่านั้น หากคุณอยากเป็นพนักงานประจำ ก็สามารถลองถามทางบริษัทดูได้ว่ามีการจ้างงานแบบพนักงานประจำระยะสั้นหรือไม่

การจ้างงานแบบประจำระยะสั้นให้ความมั่นคงในระดับเดียวกับงานประจำ จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” อย่างไรก็ตาม หากคุณทำงานในปริมาณเดียวกับพนักงานประจำแต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า ก็สามารถเรียกร้องขอคำธิบายจากทางบริษัทได้

สัญญาจ้างแบบเหมาช่วง (Subcontracting)

employment in japan work job

ปัจจุบันการทำงานทางไกลได้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นเลือกทำการจ้างชาวต่างชาติแบบเหมาช่วงมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากคุณรับงานแบบเหมาช่วงจากหลายบริษัทในเวลาเดียวกัน บริษัทที่ให้ค่าตอบแทนสูงที่สุดควรจะเป็นผู้ช่วยเหลือคุณในการออกวีซ่า

นอกจากนี้ การจ้างเหมาช่วงมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ แบบมอบหมาย และ แบบทำสัญญาจ้าง หากเป็นการมอบหมาย ผู้รับงานจะไม่ได้มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน แต่จะต้องทำอะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ในขอบเขตของงาน ในขณะที่การทำงานแบบสัญญาจ้างจะมีการกำหนดเป้าหมาย หรือชิ้นงานที่คุณต้องส่งมอบเอาไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น งานออฟฟิศและงานต้อนรับถือเป็นแบบมอบหมาย ในขณะที่งานออกแบบเว็บไซต์ถือเป็นแบบทำสัญญา

ข้อดีของการจ้างแบบเหมาช่วง คือ คุณสามารถโฟกัสกับงานที่ถนัดได้โดยไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องสถานที่ ส่วนข้อเสีย คือ คุณจะไม่ถือว่าเป็นพนักงานของบริษัท และจำเป็นต้องไปยื่นภาษีด้วยตนเอง ดังนั้น หากคุณมีรายได้จากการจ้างงานแบบเหมาช่วงเยอะ ก็น่าจะลองใช้บริการนักตรวจสอบบัญชีในการช่วยคำนวณเงินภาษี แต่หากคุณอยากประหยัดเงิน ก็สามารถหาโปรแกรมคำนวณภาษีมาใช้ได้เช่นกัน โปรแกรมเหล่านี้มีให้เลือกมากมาย เราขอแนะนำให้ลองเปรียบเทียบเพื่อหาแบบที่เหมาะกับคุณดู

เนื่องจากคนรับงานจ้างแบบเหมาช่วงไม่ถือเป็นพนักงานของบริษัท นโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” จึงไม่มีผลกระทบต่อพวกเขา จุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ พนักงานชั่วคราวในปัจจุบันเริ่มมีค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหันมาใช้บริการการจ้างแบบเหมาช่วงกันมากขึ้น

การทำงานทางไกล (Remote Work / Telework)

employment in japan work job

การทำงานทางไกลส่วนใหญ่จะทำจากบ้าน โดยผ่านทางคอมพิวเตอร์ (หรืออุปกรณ์สื่อสารชนิดอื่น) ที่จริงแล้วก็ถือเป็นการจ้างงานเหมาช่วงแบบทำสัญญารูปแบบหนึ่งเช่นกัน มักจะพบได้ในสายงานวิศวกร, ดีไซเนอร์, นักแปลภาษา และงานเฉพาะทางต่างๆ การทำงานรูปแบบนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำที่บ้านอย่างเดียว บางคนจึงเลือกที่จะไปทำงานตามคาเฟ่หรือพื้นที่ทำงานสาธารณะ ข้อดีของการจ้างงานประเภทนี้ คือ ตราบใดที่คุณมีคอมพิวเตอร์ ก็จะสามารถทำงานได้เสมอไม่ว่าจะอยู่นอกบ้านหรือในบ้าน ส่งผลให้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวต่างชาติในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานทางไกลจะมีข้อดีอยู่ที่ความเป็นความอิสระ แต่ก็ควรระมัดระวังในรายละเอียดของสัญญาเอาไว้เสมอ สัญญาจ้างส่วนใหญ่จะมีระบุว่าการจ้างงานของคุณเป็นรูปแบบใด แต่ในกรณีของการทำงานทางไกลที่คุณต้องทำสัญญาใหม่อยู่บ่อยๆ สัญญายังช่วยบอกด้วยว่าคุณได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงไว้ไหม มีหลายครั้งที่คนทำงานทางไกลได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้ หรืออาจติดต่อผู้ว่าจ้างไม่ได้หลังส่งงาน หากคุณกังวลว่าจะพบปัญหาเหล่านี้ ขอแนะนำให้ใช้บริการเว็บไซต์ต่างๆ ที่ช่วยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับฟรีแลนซ์ ในส่วนของผลกระทบจากนโยบาย “งานเท่ากัน เงินเท่ากัน” เนื่องจากการทำงานทางไกลถือเป็นการจ้างแบบเหมาช่วงประเภทหนึ่ง จึงไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก

ข้อควรระวังในการสมัครงาน

ในการขอวีซ่าทำงานในญี่ปุ่น (สถานภาพการพำนักที่อนุญาตให้ประกอบอาชีพ) คุณจำเป็นต้องมีรูปแบบการจ้างงานที่ตรงกับสถานภาพนั้นด้วย และบริษัทที่คุณอยากเข้าทำงานก็จะต้องมั่นคง ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลกำไรอย่างที่สามารถตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่น หากสัญญามีระยะเวลาจ้างน้อยกว่า 1 ปี ก็เป็นไปได้สูงว่าการขอวีซ่าทำงานจะไม่ผ่าน จึงควรเลือกการจ้างงานระยะยาวไว้เสมอ นอกจากนี้ หากมีการศึกษาหรือประวัติการทำงานในสายงานนั้นๆ ก็จะช่วยให้ขอวีซ่าผ่านง่ายขึ้นด้วย และสุดท้าย ก่อนจะเซ็นสัญญาควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณรู้รายละเอียดครบถ้วนทุกอย่างแล้ว เช่น รูปแบบการว่าจ้าง ค่าตอบแทน และเนื้อหางานที่ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้ คือ ภายใต้ข้อตกลงประกันสุขภาพและกฎหมายมาตรฐานแรงงาน การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมด้วยเหตุผลทางเชื้อชาตินั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ก็ได้เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ว่าจ้างแรงงานต่างชาติจำเป็นต้องให้คำอธิบายต่อบุคคลนั้นๆ อย่างเพียงพอหากเขาได้รับค่าตอบแทนที่ต่างจากพนักงานทั่วไป” ดังนั้น หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับค่าตอบแทน ก็สามารถสอบถามกับทางบริษัทได้เลย

วิธีเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานและข้อควรระวังต่างๆ

employment in japan work job

แรงงานต่างชาติควรระวังให้มากเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากพนักงานประจำเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ หรือจากพนักงานสัญญาระยะสั้นเป็นการทำงานทางไกล อันดับแรก หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน คุณก็ต้องทำสัญญาใหม่ด้วย (ถึงแม้ว่าจะยังทำอยู่ในบริษัทเดิมก็ตาม) เพราะมันไม่สำคัญว่าคุณจะรู้จักหรือเชื่อใจบริษัทที่ทำงานอยู่มากแค่ไหน แต่การไม่เซ็นสัญญาใหม่ให้เรียบร้อยจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในภายหลังได้

นอกจากนี้ หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง สิทธิพิเศษในประกันสังคมของคุณก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น เมื่อเปลี่ยนจากพนักงานสัญญาระยะสั้นเป็นทำงานทางไกล คุณก็จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพได้นับตั้งแต่วันแรกหลังออกจากงาน บริษัทเก่าของคุณจะถอดคุณออกจากประกันสังคมของบริษัท จึงไม่ควรลืมยื่นเอกสารสละสิทธิ์ผู้ประกันตนพร้อมคืนบัตรประกันให้กับทางบริษัทด้วย (Loss of Status of Insured Person) นอกจากนี้ หลังคุณออกจากงานได้ 1 วัน ก็จำเป็นต้องเริ่มจ่ายค่าประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยตนเอง ดังนั้น อย่าลืมเดินทางไปที่ศูนย์ราชการในพื้นที่เพื่อกรอกเอกสารที่จำเป็นด้วย

คู่มือภาษี ประกันสุขภาพ และเงินบำนาญสำหรับชาวต่างชาติ

เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องรูปแบบการจ้างงานในญี่ปุ่นได้มากขึ้น แน่นอนว่าค่าตอบแทนและรายละเอียดงานเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเวลามองหางาน แต่หากคุณต้องการความก้าวหน้าในสายงานนั้น ก็ต้องไม่ลืมเลือกรูปแบบการจ้างที่เหมาะสมด้วย หากเข้าใจข้อดี – ข้อเสียของรูปแบบการจ้างแต่ละแบบแล้ว คุณก็จะสามารถหางานที่เหมาะกับตัวเองที่สุดได้อย่างแน่นอนค่ะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: