ญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผลไม้อร่อยๆ ออกมาให้เราได้ทานกันทุกฤดูกาล แถมยังมีมากมายหลายชนิดเสียด้วย เมื่อพูดถึงฤดูกาลใบไม้ร่วง นอกจากสาลี่ญี่ปุ่น ลูกพลับและเกาลัดแล้ว ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ใครๆ ต่างพูดถึงก็คือ “องุ่น” นั่นเองค่ะ วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการเลือกซื้อองุ่นญี่ปุ่นพร้อมแนะนำสายพันธุ์องุ่นแสนอร่อย แล้วคุณจะรู้ว่าองุ่นญี่ปุ่นดีๆ ไม่ได้มีแค่”เคียวโฮ” ใครพร้อมแล้ว ตามไปดูกันเลยค่ะ!
รู้จักกับองุ่นญี่ปุ่น
องุ่นเป็นผลไม้ที่ปลูกในหลายประเทศทั่วโลก มีมากมายนับหมื่นสายพันธุ์ แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น องุ่นที่มีการเพาะปลูกและวางขายในท้องตลาดนั้นจะมีอยู่ประมาณ 50 – 60 สายพันธุ์ ซึ่งเราสามารถแบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น 3 ชนิด ตามสีเปลือก ได้แก่ “องุ่นแดง” เช่น สายพันธุ์ไคจิ (甲斐路) “องุ่นดำ” เช่น พันธุ์เคียวโฮ (巨峰) และ “องุ่นเขียว หรือ องุ่นขาว” เช่น พันธุ์ไชน์มัสคัท (シャインマスカット) เป็นต้น
เราจะสามารถเห็นการเปลี่ยนสีขององุ่นได้เมื่อองุ่นนั้นเริ่มสุก เพราะองุ่นทุกชนิดเมื่อยังไม่สุกจะเป็นสีเขียวทั้งหมดค่ะ
ฤดูเก็บเกี่ยวองุ่นญี่ปุ่น
องุ่นในญี่ปุ่นจะเริ่มมีออกมาวางขายตามท้องตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม ซึ่งนับว่าเร็วกว่าผลไม้ฤดูใบไม้ร่วงชนิดอื่น บางครั้งคนก็จะพูดกันว่าองุ่นเป็นผลไม้ 2 ฤดู เพราะเริ่มออกผลตั้งแต่ฤดูร้อนในช่วงต้นเดือนมิถุนายนไปจนถึงฤดูใบใม้ร่วงในเดือนตุลาคม
ช่วงที่มีองุ่นมาขายมากที่สุดและมีรสชาติหวานหอม อร่อยลงตัวที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม โดยส่วนมากจะเป็นองุ่นที่ปลูกในจังหวัดยามานาชิ นากาโน่ และโอคายาม่า ตามลำดับ
วิธีการเลือกองุ่น
1. เลือกผลที่ดูอวบอ้วน
องุ่นเป็นผลไม้ที่มีน้ำเยอะ ดังนั้นจุดแรกที่ต้องดูก็คือ ดูว่าองุ่นพวงนั้นมีผลอวบอ้วนมีน้ำมีนวลหรือเปล่า แล้วก็ควรเลือกพวงที่ขนาดของผลดูมีความสม่ำเสมอ เท่ากันทุกลูกด้วยค่ะ
2. ก้านต้องเป็นสีเขียว
ก้านก็เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญในการเลือกผลไม้ที่มีก้านค่ะ องุ่นก็เช่นกัน เราควรเลือกองุ่นที่มีก้านใหญ่สวยและเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าองุ่นพวงนั้นสดใหม่จริงๆ หากเห็นว่าก้านเริ่มแห้งและเป็นสีน้ำตาล นั่นหมายความว่าองุ่นเริ่มสุกงอมแล้วและควรทานให้หมดในระยะเวลาอันสั้นค่ะ
3. ผลต้องมีคราบสีขาว
คราบสีขาวที่ติดอยู่บนผลองุ่นนี้เรียกว่า “บลูม (Bloom)” เป็นสารธรรมชาติที่หลั่งออกมาเคลือบผลองุ่นเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำในตัวองุ่นระเหยออกไป สามารถทานได้และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย คราบนี้ก็เป็นตัวบอกระดับความสดขององุ่นเช่นกัน เนื่องจากสารนี้มักจะอยู่บนผิวองุ่นที่สดใหม่ ดังนั้น หากคุณเห็นองุ่นที่เปลือกเริ่มจะดูเงาๆ ไม่มีคราบขาวติดแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่าองุ่นพวงนั้นอยู่มานานพอสมควรแล้วนั่นเอง
※หากเป็นองุ่นเขียว จะสังเกตเห็นคราบนี้ได้ยากหน่อยค่ะ
4. เปลือกสีเข้มๆ ดีกว่า
อีกหนึ่งจุดที่ต้องสังเกตเวลาเลือกซื้อ คือ สีค่ะ หากเป็นองุ่นดำก็ควรเลือกสีที่ออกดำม่วงดูเข้มๆ หรือหากเป็นองุ่นแดงเราก็ควรเลือกพวงที่มีสีแดงเข้มไปเลยค่ะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสีอ่อนๆ จะไม่อร่อยนะคะ เพราะเมื่อสุกเต็มที่แล้วองุ่นจะมีรสหวานทานอร่อยได้เช่นกัน และในกรณีขององุ่นเขียว เราแนะนำให้ซื้อพวงที่มีสีเขียวอมเหลืองค่ะ
5. หากเป็นองุ่นนำเข้า เปลือกต้องสวย
เคล็ดลับในการเลือกองุ่นนำเข้า คือ เลือกผลที่เปลือกดูสวยงามค่ะ เพราะองุ่นส่วนมากที่นำเข้าจากต่างประเทศจะเป็นองุ่นที่สามรถรับประทานได้ทั้งเปลือกนั่นเอง
ประโยชน์ขององุ่น
องุ่นเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง โดยองุ่น 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 43 กิโลแคลอรี และยังมีใยอาหาร, โพแทสเซียม, วิตามินบี 1 และ บี 6, วิตามินซี ฯลฯ
องุ่นเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย, ป้องกันความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดตีบ, ป้องกันกล้ามเนี้อหัวใจและกล้ามเนื้อสมองตาย, รวมถึงมีสรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง ฯลฯ อีกมากมาย นอกจากนี้ ในองุ่นแดงยังมีวิตามินที่ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าของสายตาได้อีกด้วย
แนะนำองุ่นญี่ปุ่น 10 สายพันธุ์
เมื่อพูดถึงองุ่นญี่ปุ่นแล้วทุกคนอาจจะคุ้นกับชื่อ “องุ่นเคียวโฮ” กันใช่ไหมคะ แต่ที่จริงแล้วญี่ปุ่นยังมีองุ่นที่อร่อยๆ อีกหลายสายพันธุ์เลยทีเดียว วันนี้เราจะมาแนะนำ 10 สายพันธุ์องุ่นแสนอร่อยที่ได้รับความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่นกัน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ!
1. เคียวโฮ (巨峰)
มาเริ่มกันที่ “องุ่นเคียวโฮ” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่โด่งดังชนิดที่ว่าไม่มีไม่รู้จัก เคียวโฮเปรียบเสมือนตัวแทนขององุ่นดำญี่ปุ่น ทั้งมีชื่อเสียงและยังเป็นพันธุ์ที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในประเทศเลยล่ะค่ะ
เปลือกองุ่นเคียวโฮจะเป็นสีม่วงเข้มจนเกือบดำ เนื้อแน่นและตัวเนื้อเป็นสีเขียวใส ฉ่ำน้ำและมีความหวานสูง ฤดูที่องุ่นเคียวโฮจะอร่อยลงตัวที่สุดอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน
2. พิโอเน่ (ピオーネ)
“พิโอเน่” เป็นองุ่นที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ “เคียวโฮ” และ “แคนนอน ฮอลล์ มัสคัท (Cannon Hall Muscat)” ถึงหน้าตาจะดูคล้ายองุ่นเคียวโฮแต่จะมีผลจะใหญ่กว่าพอสมควร โดยองุ่น 1 ผลจะมีน้ำหนักประมาณ 15 – 20 กรัม พิโอเน่จะมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อแน่นเด้งทานอร่อย สายพันธุ์นี้มีทั้งแบบที่มีเมล็ดและไร้เมล็ด พิโอเน่ที่ไม่มีเมล็ดจะถูกเรียกว่า “นิวพิโอเน่ (ニューピオーネ)” ช่วงที่องุ่นพิโอเน่จะอร่อยที่สุด คือ เดือนสิงหาคม – ตุลาคม
3. สตูเบน (スチューベン)
“สตูเบน (Steuben)” องุ่นดำเชื้อสายอเมริกา นำเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1952 และมีปลูกแค่ที่จังหวัดอาโอโมริและยามานาชิเป็นส่วนใหญ่ เป็นองุ่นไซส์เล็กเมื่อเทียบกับองุ่นดำสายพันธุ์อื่นและมีจุดเด่นอยู่ตรงรสหวานเข้มข้น ฤดูเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม
4. เดลาแวร์ (デラウェア)
“เดลาแวร์” เป็นองุ่นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เราเห็นมาวางขายอยู่มากพอสมควร องุ่นผลเล็ก ไร้เมล็ด สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก ถึงแม้ว่าผลจะเล็กแต่ก็ฉ่ำน้ำและหวานอร่อยไม่แพ้องุ่นลูกโตเลยทีเดียว ฤดูกาลที่องุ่นพันธุ์นี้จะอร่อยลงตัวที่สุดอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม
5. กอร์บี้ (ゴルビー)
“กอร์บี้ (Gorby)” เป็นองุ่นแดงที่มีต้นกำเนิดอยู่ในจังหวัดยามานาชิ มีลักษณะเด่นเป็นผลสีแดงสด ผลใหญ่โดยอาจมีน้ำหนักถึง 20 กรัมต่อผลเลยทีเดียว รสหวานเข้มข้นและมีความเปรี้ยวเล็กน้อยแบบพอดีๆ ฤดูกาลที่องุ่นกอร์บี้จะอร่อยที่สุดอยู่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม – กันยายน
6. ไคจิ (甲斐路)
“ไคจิ” เป็นพันธุ์องุ่นแดงประจำจังหวัดยามานาชิ บางครั้งก็ถูกกล่าวถึงว่าเป็นเหมือนมัสคัทสีแดง เนื่องจากมีความคล้ายมัสคัทสีเขียวอยู่พอสมควร องุ่นไคจิมีกลิ่นหอมคล้ายมัสคัท รสหวานและมีความฉ่ำน้ำทานอร่อย นอกจากนี้ ยังมีก้านที่แข็งแรงทำให้ไม่ร่วงจากพวงง่ายๆ ฤดูเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม
7. มานิคูล ฟิงเกอร์ (マニキュアフィンガー)
“มานิคูล ฟิงเกอร์ (Manicure Finger)” เป็นองุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์สุดๆ มีผลทรงยาวเหมือนนิ้วมือ โคนผลสีเขียวมีสีแดงแต้มตรงปลาย รสชาติหวามอมเปรี้ยวลงตัวและสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก พันธุ์นี้จะเริ่มมาวางขายในช่วงเดือนกันยายน
8. ไชน์มัสคัท (シャインマスカット)
ต่อไป เรามาดูองุ่นเขียวกันบ้างโดยเริ่มที่ “ไชน์มัสคัท” องุ่นเขียวสายพันธุ์ยอดนิยม ผลใหญ่ มีกลิ่นหอม รสหวาน เนื้อกรอบฉ่ำน้ำ นอกจากนี้ ยังมีเปลือกที่บางจนสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก นับว่าเป็นจุดเด่นของสายพันธุ์นี้เลยทีเดียวค่ะ นอกจากรสชาติที่อร่อยลงตัวแล้ว องุ่นไชน์มัสคัทยังมีเนื้อแน่น เก็บได้นาน จึงเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
9. มัสคัทแห่งอเล็กซานเดรีย (マスカット・オブ・アレキサンドリア)
“มัสคัทแห่งอเล็กซานเดรีย (Muscat of Alexandria)” แค่ชื่อก็อลังการแล้วใช่ไหมคะ! องุ่นสายพันธุ์นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งองุ่น” เป็นสายพันธุ์สุดหรูที่นิยมนำไปมอบเป็นของขวัญให้กันในโอกาสต่างๆ องุ่นเขียวรสหวาน ผลโตและเปลือกบาง สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องปอก มีปลูกที่จังหวัดโอคายาม่าเป็นส่วนใหญ่ ฤดูเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม
10. โรซารี เบียนโก (ロザリオビアンコ)
“โรซารี เบียนโก (Rosary Bianco)” เป็นองุ่นที่มีเชื้อสายของมัสคัทแห่งอเล็กซานเดรีย มีจุดเด่นอยู่ตรงผลทรงเรียวเป็นรูปไข่และสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก รสชาติหอมหวานฉ่ำน้ำ เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์หรูราคาแพง เริ่มวางขายในช่วงเดือนกันยายน
การรับประทานองุ่น
ก่อนรับประทานองุ่นเราก็แค่ล้างให้สะอาดเท่านั้นค่ะ เพียงแต่จะมีข้อควรระวังอยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม่ควรล้างทิ้งไว้หรือล้างแล้วเก็บ เนื่องจากคราบสีขาว (บลูม) ที่ติดอยู่บนเปลือกจะช่วยคงความฉ่ำขององุ่นไว้ หากเราล้างมันออกก็จะทำให้เนื้อองุ่นไม่ฉ่ำเท่าที่ควร ดังนั้น เราขอแนะนำให้ล้างก่อนรับประทานจะดีที่สุดค่ะ
วิธีเก็บรักษา
องุ่นเป็นผลไม้ที่อยู่ได้ไม่นาน เราแนะนำให้รับประทานทันทีที่ซื้อมา แต่หากต้องการเก็บองุ่นให้ได้นานหน่อย เราแนะนำให้ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือแรปพลาสติกและใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่งก่อนเก็บใส่ช่องผักในตู้เย็นค่ะ ระวังอย่าให้อุณหภูมิเย็นเกินไปเพราะความเย็นจะทำให้ความหวานขององุ่นลดลงได้ หากแช่ตู้เย็นแล้วจะอยู่ได้ประมาณ 2 – 3 วันค่ะ
สำหรับคนที่อยากเก็บให้ได้นานขึ้นไปอีก เราแนะนำให้ตัดผลออกจากพวงมาเป็นลูกๆ โดยให้เหลือก้านไว้เล็กน้อย (ตามในภาพด้านบน) ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือแรปพลาสติก แล้วนำไปใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นก่อนนำไปแช่ตู้เย็นค่ะ
ส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับบทความวิธีการเลือกและแนะนำสายพันธุ์องุ่นญี่ปุ่นที่เรานำมาบอกกล่าวกันในวันนี้ อย่างไรก็ตาม องุ่นทั้ง 10 สายพันธุ์นี้ยังเป็นแค่ส่วนน้อยขององุ่นญี่ปุ่นแสนอร่อยเท่านั้น หากใครสนใจสายพันธุ์อื่นๆ ก็ลองนำเคล็ดลับของเราไปเป็นตัวช่วยเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกซื้อกันดูนะคะ ใครที่ชอบทานผลไม้โดยเฉพาะองุ่นก็อย่ารอช้า รีบไปหาทานกันก่อนที่จะหมดฤดูนะ!
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่