สาลี่ญี่ปุ่นเป็นผลไม้ยอดนิยมในช่วงฤดูใบไม้ร่วง มีเนื้อสัมผัสกรอบหวาน ฉ่ำน้ำทานอร่อย ที่ญี่ปุ่นมีสาลี่หลากหลายสายพันธุ์ให้ลิ้มลอง ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำสายพันธุ์สาลี่ยอดนิยมของญี่ปุ่น พร้อมบอกเคล็ดลับวีธีเลือกซื้อและการเก็บรักษาสาลี่ ถ้าอยากรู้ว่าพันธุ์ไหนดี พันธุ์ไหนอร่อย ก็ตามมาดูกันเลยค่ะ!
ทำความรู้จักกับสาลีญี่ปุ่น
สาลี่ญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ “赤梨 (Akanashi)” ที่แปลว่า สาลี่แดง และ “青梨 (Aonashi)” ที่แปลว่า “สาลี่เขียว” สาลี่แดงเป็นสาลี่ที่มีเปลือกสีน้ำตาล อย่างเช่น สายพันธุ์ “幸水 (Kousui)” และ “豊水 (Housui)” ส่วนสาลี่เขียวก็จะมีเปลือกสีเขียว ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ “二十世紀 (Nijisseiki)” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ
ฤดูของสาลี่ญี่ปุ่น
ฤดูที่มีการนำสาลีญี่ปุ่นมาวางขายตามท้องตลาดมากที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม โดยสาลี่ส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัด ชิบะ, อิบารากิ, โทชิกิ เป็นต้น
ส่วนฤดูที่สาลีญี่ปุ่นจะอร่อย หวานหอมลงตัวที่สุดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม
วิธีเลือกสาลี่ญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม่ชนิดไหน เราก็อยากทานผลที่อร่อยที่สุดจริงไหมคะ? งั้นมาดูกันดีกว่าว่าสาลี่มีวิธีเลือกอย่างไร ลูกไหนน่าจะอร่อย ถ้าพร้อมแล้วก็มาดูกันเลยค่ะ
1.ก้านและสีเปลือก
อย่างแรก คือ ควรเลือกลูกที่มีก้านใหญ่ๆ ค่ะ เพราะก้านใหญ่ๆ เป็นตัวบ่งบอกว่าสาลี่ลูกนี้ได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึง ส่วนสีเปลือก ให้สังเกตดูความสม่ำเสมอของสีค่ะ สาลี่ที่มีเปลือกสีสวยและสม่ำเสมอมีแนวโน้มที่จะอร่อยกว่าลูกอื่น
2.น้ำหนัก
ควรเลือกลูกที่มีลักษณะเป็นผลอ้วน หนัก และเปลือกดูแน่นตึง
3.วิธีเลือกสาลี่แดง และ สาลี่เขียว
หากคุณอยากได้ลูกที่สุกเต็มที่ ให้ดูสังเกตดูที่สีเปลือกของสาลี่ค่ะ สาลีแดงเวลาสุกเต็มที่จะมีเปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนสาลี่เขียวที่สุกแล้ว สีเปลือกจะเปลี่ยนจากเขียวไปเป็นเหลือง
ประโยชน์ของสาลี่
สาลี่เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากๆ คุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานของสาลี่ (100 กรัม) จะให้ทั้ง พลังงาน 43 กิโลแคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 11.3 กรัม, ใยอาหาร 0.9 กรัม, โพแทสเซียม 140 มิลลิกรัม, วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม, วิตามินบี 6 0.02 มิลลิกรัม, วิตามินซี 3 กรัม ฯลฯ
นอกจากนี้ สาลี่ยังมีสรรพคุณในการระบายท้อง ช่วยเรื่องการขับถ่ายและบรรเทาอาการท้องผูก, ป้องกันความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดตีบ, ป้องกันกล้ามเนี้อหัวใจและกล้ามเนื้อสมองตาย, ช่วยในการขับปัสสาวะ, แก้ไอ เป็นต้น
แนะนำ 9 สายพันธุ์สาลี่ญี่ปุ่น
บอกเลยว่าสาลี่ญี่ปุ่นนั้นมีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ทีเดียว มาดูกันดีกว่าว่าสายพันธุ์ไหนมีลักษณะเด่นอย่างไรบ้าง
1. โคสุอิ (幸水)
มาเริ่มกันที่สายพันธุ์ที่เราพบเห็นได้บ่อยๆ ”สาลี่โคสุอิ” จัดอยู่ในหมวดสาลี่แดง เป็นสายพันธุ์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของสาลี่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว เนื่องจาก 40% ของสาลี่ญี่ปุ่นที่วางขายอยู่ทั่วไปเป็นสาลี่พันธุ์นี้ สาลี่โคสุอิมีผลขนาดเล็ก น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 250 – 300 กรัม ตัวผลมีรูปทรงกลมแบน ก้นเว้า จัดว่าเป็นลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้เลย เนื้อค่อนข้างนุ่ม ฉ่ำน้ำและมีความหวานสูง เริ่มวางขายในญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
2. โฮสุอิ (豊水)
“สาลี่โฮสุอิ” เป็นสายพันธุ์ที่มีการเพาะปลูกเยอะพอๆ กับพันธุ์โคสุอิ แต่สาลี่โฮสุอิจะมีผลที่ใหญ่กว่า โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 350 – 400 กรัม จุดเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ รสชาติที่ออกหวานอมเปรี้ยว เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ เริ่มวางจำหน่ายประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม
3. นันซุย (南水)
“นันซุย“ เป็นสาลี่แดงอีกสายพันธุ์หนึ่ง มีผลขนาดใหญ่ เนื้อค่อนข้างนุ่มและมีความหวานสูงซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสาลี่สายพันธุ์นี้ เริ่มวางขายตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป หากซื้อสาลี่นันซุยที่คุณภาพสูงหน่อยก็จะมีราคาแพงพอสมควร
4. นีทากะ (新高)
”สาลี่นีทากะ” เป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปี 1972 โดยพัฒนามาจากสาลี่พันธุ์ “天の川 (Amanogawa)” และ “長十郎 (Jojirou)” จัดอยู่ในหมวดสาลี่แดง ผลหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 450 – 500 กรัม เป็นสาลี่ขนาดใหญ่ รสชาติหวาน เนื้อกรอบและฉ่ำน้ำ นับว่าเป็นจุดเด่นของสายพันธุ์นี้เลยทีเดียว
5. นิกโกริ (にっこり)
”สาลี่นิกโกริ” เป็นสาลี่แดงที่เริ่มปลูกในจังหวัดโทชิกิในปี 1996 เป็นสาลี่พันธุ์ผสมระหว่างสาลี่นีทากะและโฮสุอิ สาลี่นิกโกริจะมีขนาดใหญ่มาก โดยผลหนึ่งจะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800 กรัม (ใหญ่สุดๆ เลย) รสชาติออกหวานและไม่ค่อยมีรสเปรี้ยวแทรก ฤดูเก็บเกี่ยวของสาลี่นิกโกริจะเริ่มในช่วงปลายตุลาคมยาวไปจนถึงปลายปี ถือว่าเป็นพันธุ์ที่มีผลให้เรารับประทานกันนานพอสมควรเลยทีเดียว
6. อากิซึกิ (秋月 / あきづき)
”อากิซึกิ” เป็นสาลี่แดงที่เกิดจากการผสมสาลี่ 3 สายพันธุ์เข้าด้วยกัน คือ สายพันธุ์นีทากะ, โฮสุอิ และโคสุอิ สาลี่อากิซึกิได้รับการจดทะเบียนชื่อสายพันธุ์ในปี 2001 มีลักษณะเป็นผลขนาดใหญ่ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 500 กรัม เนื้อแน่น กรอบ และค่อนข้างหวาน มีน้ำเยอะและอาจมีรสเปรี้ยวปนมาเล็กน้อย เริ่มวางขายช่วงปลายเดือนกันยายน
7. โออุชู (王秋)
สาลี่แดงที่มีต้นกำเนิดในจังหวัดนีงาตะ ”สาลี่โออุชู” เป็นพันธุ์ที่มีเชื้อสายของสาลี่จีน รูปทรงจะมีลักษณะยาวเป็นจุดเด่น และมักจะออกผลช้ากว่าสายพันธุ์อื่น หากคุณอยากทานสาลี่โออุชู จะต้องรอประมาณช่วงสิ้นปี แต่มันก็จะมีผลให้เราได้ทานกันนานพอสมควร สาลีพันธุ์นี้มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม รสหวาน และมีความกรอบอยู่ในตัว
8. นิจิเซคิ (二十世紀)
สาลี่ชื่อดังประจำจังหวัดทตโตริ ”นิจิเซคิ” จัดอยู่ในหมวดสาลี่เขียว มีขนาดใหญ่ปานกลาง น้ำหนักประมาณ 300 กรัมต่อผล เปลือกเป็นสีเขียวเหลือง รสชาติหวานอมเปรี้ยวอร่อยลงตัว เนื้อกรอบและฉ่ำน้ำซึ่งถือเป็นจุดเด่นของสาลี่สายพันธุ์นี้ เริ่มวางขายในญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม
9. ซูอิชู (瑞秋) หรือ นิจูอิทเซคิ(二十一世紀)
”สาลี่ซูอิชู หรือ สาลี่นิจูอิทเซคิ” เป็นสาลี่เขียวที่พัฒนามาจากสายพันธุ์นิจิเซคิ โดยมหาวิทยาลัยทตโตริได้เป็นผู้คิดค้นพัฒนาจนประสบความสำเร็จและได้จดทะเบียนเป็นสาลี่สายพันธุ์ใหม่ในปี 2000 จัดว่าเป็นผลไม้ชื่อดังอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดทตโตริเลยทีเดียว จุดเด่นของสาลี่สายพันธุ์นี้ คือ มีความหวานสูงและเปรี้ยวน้อยกว่าพันธุ์นิจิเซคิ ฤดูเก็บเกี่ยวสาลี่ซูอิชูจะอยู่ในช่วงต้นเดือนกันยายนค่ะ
การเก็บรักษา
สาลี่ญี่ปุ่นเป็นผลไม้ที่เมื่อสุกแล้วจะสุกเลย จะไม่ค่อยงอมเหมือนผลไม้ชนิดอื่นที่สามารถบ่มให้สุกเพิ่มได้ สาลี่ที่ซื้อมาแล้วจะสามารถรับประทานได้ในทันที แต่หากใครต้องการจะยืดอายุการเก็บก็สามารถทำได้ด้วยการเก็บใส่ถุงพลาสติกเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ แล้วนำไปแช่ช่องเก็บผักในตู้เย็น วิธีนี้จะทำให้เราสามารถเก็บสาลี่ได้ประมาณ 1 อาทิตย์ค่ะ
ส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับบทความแนะนำสายพันธุ์และวิธีการเลือกสาลี่ญี่ปุ่น บอกเลยว่านี่ยังเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น สาลี่ญี่ปุ่นยังมีอีกมาหมายหลายสายพันธุ์และเราก็อยากแนะนำให้คุณลองทานให้ได้สักครั้ง บทความในวันนี้เป็นสาลี่ที่เราเห็นได้บ่อยๆ ตามท้องตลาดและสามารถหาซื้อได้ไม่ยาก หากใครสนใจก็สามารถใช้เป็นคู่มือในการเลือกซื้อเบื้องต้นได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสาลี่เขียวหรือสาลี่แดง ต่างก็เป็นผลไม้แสนอร่อยที่ทั้งหอมหวาน เนื้อกรอบ ฉ่ำน้ำ เป็นผลไม้ประจำฤดูใบ้ไม้ร่วงที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันมากทีเดียว ใครไปเจอสาลี่ญี่ปุ่นที่อร่อยถูกใจก็อย่าลืมมาบอกต่อกันด้วยน้า~
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่