มีคนมาส่งของตอนไม่อยู่บ้าน! คลาดกันแป๊บเดียวก็เป็นปัญหา เพราะเขาเหลือไว้เพียงสลิปภาษาญี่ปุ่นที่คุณอ่านไม่ออก!? หากคุณเคยพบเจอปัญหาดังกล่าว เราขอแนะนำให้ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็สามารถเรียกให้ไปรษณีย์ญี่ปุ่นมาส่งของให้คุณใหม่ได้แล้ว!
บทนำ
หากไม่มีคนออกมารับของ ไปรษณีย์ญี่ปุ่นก็จะไม่ทิ้งของไว้หน้าประตูบ้านเช่นกัน เป็นสิ่งที่ค่อนข้างต่างกับประเทศอื่นๆ (ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทส่งของบางแห่งที่เริ่มทดลองการให้บริการแบบไม่ต้องมีผู้รับแล้วก็ตาม) ในกรณีทั่วไป หากคุณไม่อยู่บ้านเวลาพวกเขามาส่งของ พนักงานไปรษณีย์จะเก็บพัสดุกลับไปแล้วลองมาส่งในวันอื่นแทน หรือไม่ก็จะสอดสลิปแจ้งการส่งของไม่สำเร็จเอาไว้ในตู้จดหมายของคุณ มันอาจดูยุ่งยากสักหน่อยในตอนแรก แต่หากคุณเข้าใจวิธีจัดการกับมันแล้วก็จะสามารถทำเรื่องให้ไปรษณีย์มาส่งของใหม่อีกครั้งได้ภายใน 5 นาที
ปัจจุบันมีวิธีในการบอกให้บริษัทขนส่งรู้ว่าเราต้องการให้มีการส่งพัสดุใหม่อีกครั้งอยู่ 4 วิธี ได้แก่ 1) ผ่านทาง Line 2) ผ่าน QR Code บนสลิป 3) ผ่านทางเว็บไซต์ 4) ผ่านทางโทรศัพท์ ในบทความนี้ เราจะขอใช้ ไปรษณีย์ญี่ปุ่น หรือ Japan Post เป็นตัวอย่าง แต่สำหรับบริษัทอื่นๆ อย่าง Kuroneko หรือ Sagawa ก็จะมีรูปแบบที่คล้ายกัน จึงสามารถใช้วิธีด้านล่างนี้ได้เช่นกัน
วิธีที่1. เดินเรื่องผ่าน LINE
วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด คือ ใช้ LINE ของไปรษณีย์ญี่ปุ่น ถึงแม้จะเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่ก็ง่ายมากหากทำตามภาพประกอบต่อไปนี้ ขั้นตอนแรก คือ สแกน QR Code ด้านล่างเพื่อแอด LINE ของไปรษณีย์ญี่ปุ่น (郵便局[ぽすくま)
จากนั้นก็เปิดแชทขึ้นมาและกดปุ่ม 再配達の申し込み (Saihaitatsu no Moushikomi) บนเมนูที่อยู่ในช่องแชท
จากนั้นจะมีข้อความขึ้นมาขอให้คุณใส่ 問い合わせ番号 (Toiawase Bangou) ซึ่งหมายถึง หมายเลขที่อยู่บนสลิปแจ้งส่งพัสดุไม่สำเร็จของคุณ คุณสามารถเลือกส่งรูป QR Code ที่อยู่บนสลิปไปได้เช่นกัน ระบบจะทำการหาหมายเลขของคุณให้โดยอัตโนมัติ เมื่อใส่หมายเลขแล้ว ตัวเลือกวันที่ที่สามารถจัดส่งได้ก็จะปรากฏขึ้นบนแชท ให้เลือกวันที่คุณต้องการเพื่อดำเนินการต่อ
ในกรณีที่ต้องการให้ส่งใหม่โดยเร็วที่สุด ให้กดเลือก 依頼可能な最短な日時 (Irai Kanou na Saitan na Nichiji) ที่อยู่ในช่องซ้ายบนสุด
หลังจากเลือกวันแล้ว ก็จะมีข้อความหนึ่งเด้งขึ้นมาเพื่อให้คุณเลือกเวลาในการจัดส่ง ตรงนี้ก็กดเลือกเวลาที่คุณต้องการไป โดยคำว่า 午前中 (Gozen-chuu) ด้านบนซ้ายมือ หมายถึง ช่วงก่อนเที่ยง ในขณะที่ 時間指定なし (Jikan Shitei Nashi) ด้านขวาล่าง หมายถึง เวลาใดก็ได้ เมื่อเลือกเสร็จแล้วก็จะมีข้อความขึ้นมาให้คุณยืนยันวันและเวลาที่เลือกไป หากไม่มีปัญหาอะไรก็เลือก はい (Hai) เพื่อดำเนินการต่อได้เลย
ในขั้นตอนสุดท้าย จะมีข้อความขึ้นมาบอกให้คุณใส่หมายเลขโทรศัพท์ ก็ใส่ไปได้เลยโดยไม่ต้องเว้นช่องว่างหรือใส่เครื่องหมายขีดคั่น (เช่น 0801234567) เมื่อใส่หมายเลขโทรศัพท์เสร็จ จะมีข้อความยืนยันปรากฏขึ้นอีกครั้ง ให้คุณตรวจสอบวันเวลาในการจัดส่งและเบอร์โทรศัพท์ให้เรียบร้อย หากไม่มีปัญหาอะไรให้กด はい เพื่อยืนยัน
เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย!
นอกจากฟังก์ชันสำหรับเรียกให้มาส่งของใหม่แล้ว คุณยังสามารถใช้ LINE ของไปรษณีย์ญี่ปุ่นเพื่อตรวจสอบสถานะการนำส่งได้อีกด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ส่งหรือผู้รับก็ตาม เป็นช่องทางที่สะดวกมากและน่าแอดเก็บเอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทขนส่ง Kuroneko Yamato ก็มี แอคเคาท์ LINE ที่มีระบบคล้ายๆ กับของไปรษณีย์ญี่ปุ่นอยู่ด้วยเช่นกัน
วิธีที่2. เดินเรื่องผ่านเว็บไซต์
การเดินเรื่องผ่านเว็บไซต์เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วเป็นอันดับ 2 คุณจะต้องใส่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพัสดุของคุณ ที่อยู่ และเวลาที่คุณอยากให้มีการจัดส่งใหม่ ถึงตรงนี้ก็มีอยู่ 2 วิธีในการเดินเรื่องผ่านเว็บไซต์ นั่นก็คือ ใช้ QR code ที่อยู่บนสลิป หรือไม่ก็เข้าไปที่เว็บไซต์โดยตรง
สำหรับการเดินเรื่องผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ QR Code ข้อความ 次へ進む (Tsugi e Susumu) ซึ่งหมายถึง ไปหน้าถัดไป และ 前へ戻る (Mae e Modoru) หมายความว่า ย้อนกลับไปหน้าที่แล้ว
QR Code
ที่บริเวณท้ายของสลิปของคุณจะมีสติ๊กเกอร์ QR Code ติดอยู่ เมื่อคุณสแกนผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็จะไปเจอเว็บไซต์สำหรับขอให้มีการจัดส่งใหม่ วิธีนี้จะช่วยใส่ข้อมูลบางรายการให้โดยอัตโนมัติ เช่น หมายเลยพัสดุและที่อยู่ของคุณ
อินเทอร์เน็ต
หากคุณไปดำเนินการในเว็บไซต์ของไปรษณีย์ญี่ปุ่น (หรือเว็บไซต์บริษัทส่งของอื่นๆ) คุณจะต้องหาลิงก์สำหรับไปหน้าที่ใช้ขอการจัดส่งใหม่ อันดับแรกให้ไปที่หน้าหลักของทางเว็บไซต์ แล้วมองหาปุ่ม 配達依頼はこちら (Saihaitatsu wa Kochira) ซึ่งหากเดินเรื่องด้วยวิธีนี้ คุณจำเป็นต้องกรอกข้อมูลเองทั้งหมด
4 ขั้นตอนในการเดินเรื่องผ่านเว็บไซต์
ขั้นตอนที่ 1 : หมายเลขติดตามพัสดุ
หากคุณสแกน QR Code หมายเลขติดตามพัสดุของคุณจะถูกใส่ให้โดยอัตโนมัติ แต่ในกรณีที่คุณเดินเรื่องผ่านทางเว็บไซต์ ให้มองหาช่องที่เขียนว่า 追跡番号(お問い合わせ番号)(Tsuiseki Bangou หรือ Otoiawase Bangou) แล้วกรอกหมายเลขบนสลิปของคุณลงไป
ขั้นตอนที่ 2 : ข้อมูลเกี่ยวกับพัสดุและที่อยู่ของคุณ
คุณจะถูกส่งไปยังหน้าเว็บในภาพด้านบน จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้:
- 郵便番号 (Yuubin Bangou): กรอกรหัสไปรษณีย์ของคุณแล้วกดปุ่มที่อยู่ข้างๆ เพียงเท่านี้ที่อยู่ของคุณก็จะถูกกรอกลงไปเองโดยอัตโนมัติ หากมีอะไรตกหล่น (เช่น ชื่ออาคารหรือหมายเลขห้อง) ให้เติมเข้าไปด้วย
- ご不在連絡票 (Gofuzai Renraku Hyo): ระบุวันที่พัสดุมาส่งแต่ไม่มีคนรับ
- 郵便物等の種類 (Yuubin Butsu nado no Shurui): เลือกประเภทของพัสดุ ปกติแล้วข้อมูลนี้จะมีระบุไว้บนสลิปของคุณ แต่หากหาไม่เจอก็สามารถเลือก 不明 (Fumei) ที่แปลว่า “ไม่ทราบ” ที่ด้านล่างสุดของลิสต์ตัวเลือกแทนได้
- ご希望の「再配達先」(Gokibou no Saihaitatsu Saki): เลือกสถานที่ที่คุณอยากให้นำของมาส่งใหม่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เลือกตัวเลือกแรก ご自宅等 (Gojitaku nado) ซึ่งหมายถึง “บ้านของคุณ” หากคุณต้องการให้ส่งไปที่อื่น ให้เลือกโดยอ้างอิงจากภาพด้านบน
ขั้นตอนที่ 3 : เลือกวันและเวลาที่ต้องการให้จัดส่งใหม่
หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว คุณจะถูกพาไปยังหน้าที่เขียนว่า 再配達希望日時の選択 (Saihaitatsu Kibou Nichiji no Sentaku) สำหรับเลือกเวลาเพื่อในการจัดส่งใหม่ หน้านี้อาจจะดูแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่คุณใช้และบริษัทที่ให้บริการ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ส่วนใหญ่มักจะมีรายละเอียดที่ตรงไปตรงมาดังต่อไปนี้
- เลือกวันที่ต้องการ: 月 (Tsuki) หมายถึง เดือน, 日 (Hi) หมายถึง วัน คุณสามารถดูได้ด้วยว่าเป็นวันอะไรจากตัวอักษร 月火水木金土日 ซึ่งแปลว่า จันทร์, อังคาร, พุธ, พฤหัสบดี, ศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์ ตามลำดับ
- เลือกเวลาที่ต้องการ: ในส่วนของเวลา บางครั้งอาจมีการแสดงโดยแบ่งเป็นช่วงละ 2 ชั่วโมง (ตามระบบนาฬิกา 24 ชั่วโมง) บางครั้งก็จะบอกเป็นช่วงเวลาของวัน ในกรณีที่แสดงเป็นชั่วโมง ให้จำไว้ว่า 時 (Ji) หมายถึง “ชั่วโมง” เช่น 12 – 14 時 จะหมายถึง 12:00 – 14:00 น. ส่วนในกรณีที่แสดงเป็นช่วงเวลา 午前中 (Gozen-chuu) จะหมายถึงช่วงก่อนเที่ยง และ 午後中 (Gogo-juu) จะหมายถึงช่วงหลังเที่ยง เนื่องจากพัสดุจะไปส่งตรงตามเวลาที่เลือก คุณจึงควรอยู่บ้านในเวลานั้นด้วย!
ขั้นตอนที่ 4 : ยืนยัน
เมื่อใส่ข้อมูลทั้งหมดรวมถึงเลือกเวลาที่ต้องการแล้ว คุณก็จะถูกพาไปที่หน้าเว็บยืนยัน หรือ 入力内容の確認 (Nyuryoku Naiyou no Kakunin)
หากคุณตรวจสอบดูแล้วว่าทุกอย่างไม่มีปัญหา ให้กดปุ่มลงทะเบียน 登録 (Touroku) ที่ด้านล่างของหน้าจอ เมื่อข้อความ 受付を完了いたしました (Uketsuke wo Kanryou Itashimashita) ปรากฏขึ้น ก็แปลว่า เสร็จเรียบร้อย! คุณสามารถกดออกแล้วรอรับพัสดุได้เลย
วิธีที่3. เดินเรื่องผ่านโทรศัพท์
คุณสามารถโทรขอให้มีการจัดส่งใหม่ได้เช่นกัน แต่เนื่องจากวิธีนี้จำเป็นจะต้องทำเรื่องผ่านระบบตอบกลับอัตโนมัติที่เป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ เราจึงไม่แนะนำให้กับผู้ที่ฟังภาษาญี่ปุ่นไม่คล่อง คุณจะถูกถามคำถามในทำนองเดียวกับตัวอย่างด้านบน และต้องตอบกลับด้วยการกดหมายเลข
หากวิธีที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ดูไม่สะดวกสำหรับคุณ คุณสามารถโทรไปที่สายด่วนภาษาอังกฤษของที่ทำการไปรษณีย์ เบอร์โทรศัพท์ : 0570-046-111 ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจจะไม่รวดเร็วเท่าวิธีอื่น เพราะช่วงเวลาทำการของสายด่วนนี้อยู่ที่ 8:00 – 21:00 น. สำหรับวันธรรมดา และ 9:00 – 21:00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์
วิธีหลีกเลี่ยงการพลาดรับพัสดุในอนาคต
แม้ว่าวิธีเหล่านี้จะดูสะดวกมากเพราะใช้เพียงการกดปุ่มไม่กี่ปุ่มเท่านั้น แต่มันก็ทำให้เราต้องเสียเวลารอเพิ่มอยู่ดี ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้ลองตรวจสอบก่อนสั่งซื้อว่ามีให้เลือกเวลาจัดส่งหรือไม่ หรือมีตัวเลือกให้ไปรับตามสถานที่อื่นๆ อย่างร้านสะดวกซื้อหรือเปล่า
หากคุณเลือกให้พัสดุไปส่งที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ร้านดังกล่าวจะรับและเก็บพัสดุรอให้คุณมารับเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ คือ ใส่รหัสยืนยัน (ที่จะส่งมาให้คุณทางอีเมล) ลงในเครื่องมัลติมีเดีย (Multimedia Terminal) จากนั้นก็พิมพ์ตั๋ว แล้วนำไปยื่นที่เคาน์เตอร์เพื่อรับพัสดุ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลา
หากคุณได้รับใบแจ้งส่งของไม่สำเร็จและมีบ้านอยู่ใกล้กับที่ทำการไปรษณีย์หรือศูนย์กระจายพัสดุ คุณก็สามารถเดินทางไปรับด้วยตัวเองได้เช่นกัน วิธีนี้ให้คุณนำสลิปติดตัวไป แล้วยื่นให้พนักงานในที่ทำการไปรษณีย์ดู จากนั้นพวกเขาก็จะนำพัสดุมาให้คุณโดยไม่ต้องเดินเรื่องให้ยุ่งยากหรือเสียเวลารอเลย
นอกจากนี้ เว็บไซต์ออนไลน์อย่าง Amazon Japan ก็มีตัวเลือกให้สามารถส่งของหน้าประตูได้โดยไม่ต้องมีผู้รับ แม้จะเสี่ยงถูกขโมย (ซึ่งมีโอกาสน้อยมากๆ ในญี่ปุ่น) แต่ก็เป็นวิธีที่การันตีได้ว่าคุณจะไม่ต้องพบกับใบแจ้งส่งพัสดุไม่สำเร็จแน่นอน
อย่างไรเสีย การขอจัดส่งพัสดุใหม่ในญี่ปุ่นก็ไม่ได้น่าปวดหัวอะไรนักอยู่แล้ว จริงไหมล่ะ!
Title image: PIXTA
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่