ข้อแตกต่างระหว่าง ‘ประเภทกิจการ’ ‘สายงาน’ และ ‘ประเภทงาน’
เวลาหางานในญี่ปุ่น หลายคนมักนึกถึงแต่รายละเอียดของงานที่อยากทำ จนอาจลืมไปว่าการเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ประเภทกิจการ’ ‘สายงาน’ และ ‘ประเภทงาน’ นั้นก็สำคัญไม่แพ้กันในการหางานที่เหมาะต่อทักษะและลักษณะนิสัยของตน หากเข้าใจคำเหล่านี้แล้วจะทำให้เลือกงานได้ง่ายขึ้น และมองเห็นได้ชัดเจน ขึ้นว่าที่ไหนจะช่วยให้เราสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
มาดูกันว่านิยามและตัวอย่างของคำเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง
1. ประเภทกิจการ (業種)
ประเภทกิจการ หมายถึงประเภทของกิจการที่บริษัทหรือบุคคลทำ
อ้างอิงจากสำนักงานสถิติประเทศญี่ปุ่น (総務庁統計局) ประเภทของ ‘อุตสาหกรรม‘ (産業・กิจกรรมต่างๆ เพื่อผลิตสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น การเกษตร ก่อสร้าง การเงิน) โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งประเภทตามหลักของคณะกรรมการกำหนดรหัสหลักทรัพย์ (Securities Identification Code Committee: SICC)
กล่าวคือ ประเภทกิจการเป็นหมวดย่อยของอุตสาหกรรมนั่นเอง
ประเภทกิจการแต่ละแบบอาจมีชื่อเรียกต่างไปตามองค์กรหางานแต่ละแห่ง แต่หากยึดตาม Hello Work (สำนักงานจัดหางานของรัฐบาลญี่ปุ่น) แล้ว ก็จะสามารถแบ่งออกเป็น 20 ประเภทคร่าวๆ ดังนี้
A: เกษตรกรรม, ป่าไม้ (農業,林業)
B: การประมง (漁業)
C: อุตสาหกรรมเหมือง, อุตสาหกรรมเจาะหิน, อุตสาหกรรมเก็บเศษหิน (鉱業,採石業,砂利採取業)
D: อุตสาหกรรมการก่อสร้าง (建設業)
E: อุตสาหกรรมการผลิต (製造業)
F: การไฟฟ้า, แก๊ส, แหล่งกระจายความร้อน และการประปา (電気・ガス・熱供給・水道業)
G: การสื่อสาร (情報通信業)
H: อุตสาหกรรมขนส่ง, การไปรษณีย์ (運輸業,郵便業)
I: อุตสาหกรรมขายส่ง ขายปลีก (卸売業・小売業)
J: อุตสาหกรรมไฟแนนซ์และประกัน (金融業・保険業)
K: อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์, อุตสาหกรรมปล่อยเช่า (不動産業,物品賃貸業)
L: อุตสาหกรรมทักษะ ความชำนาญเฉพาะทาง และงานวิจัย (学術研究,専門・技術サービス業)
M: อุตสาหกรรมที่พัก, อุตสาหกรรมร้านอาหาร (宿泊業,飲食サービス業)
N: อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน, อุตสาหกรรมบันเทิง (生活関連サービス業,娯楽業)
O: อุตสาหกรรมการศึกษาและสอนพิเศษ (教育,学習支援業)
P: การแพทย์, สวัสดิการ (医療,福祉)
Q: อุตสาหกรรมบริการเชิงผสม (複合サービス事業)
R: อุตสาหกรรมบริการ (ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทอื่น) (サービス業)
S: ธุรกิจภาครัฐ (ยกเว้นอุตสาหกรรมที่สามารถจัดอยู่ในประเภทอื่นได้) (公務)
T: อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทใดๆ ได้ (分類不能の産業)
2. สายงาน (業界)
สายงาน หมายถึงสังคมของผู้คนที่ทำงานหรือจัดจำหน่ายสินค้าเดียวกัน ในขณะที่ประเภทกิจการเป็นการแบ่งตามประเภทของอุตสาหกรรม สายงานจะเป็นการแบ่งตามสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มี
สายงานมีการนิยามโดยยึดประเภทกิจการเป็นพื้นฐาน สายงานที่ต่างกันจะมีสินค้าและบริการที่ต่างกันไปด้วย
โดยทั่วไปสายงานแบ่งออกเป็น 8 ประเภทใหญ่ๆ ตามหน้าที่ได้ดังนี้
・ผู้ผลิต (メーカー) : ผลิตสิ่งของ
⇒⇒⇒ เช่น รถยนต์ เสื้อผ้า
・บริษัทค้าขาย (商社) : ขายและทำกำไรจากสิ่งของผ่านการนำเข้าและส่งออก
⇒⇒⇒ เช่น บริษัทค้าขายทั่วไป บริษัทค้าขายเฉพาะทาง
・ขายปลีก (小売) : ขายสิ่งของให้กับผู้บริโภค
⇒⇒⇒ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ
・การเงิน (金融) : ทำกำไรผ่านการจัดการทางการเงิน
⇒⇒⇒ เช่น ธนาคาร บริษัทตราสารหนี้ ประกันชีวิต ประกันความเสียหาย
・บริการ (サービス) : ให้บริการต่างๆ
⇒⇒⇒ เช่น การศึกษา สวัสดิการและการดูแล ท่องเที่ยว โรงแรม
・ซอฟต์แวร์และการสื่อสาร (ソフトウエア) : เพิ่มมูลค่าและขายข้อมูล
⇒⇒⇒ เช่น บริษัทที่ให้บริการจัดการ ดัดแปลง หรือถ่ายทอดข้อมูล
・สื่อ (マスコミ) : ทำกำไรผ่านการถ่ายทอดข้อมูลไปยังผู้คนจำนวนมาก
⇒⇒⇒ เช่น การแพร่สัญญาณ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โฆษณา
・หน่วยงาน บริษัท และองค์กรของรัฐ (官公庁・公社・団体) : สถานที่ทำงานของภาครัฐ
⇒⇒⇒ เช่น หน่วยงานรัฐ เทศบาล ศาลากลาง ตำรวจ โรงเรียนและโรงพยาบาลของรัฐ
3. ประเภทงาน (職種)
ประเภทงาน หมายถึง ประเภทของอาชีพหรือหน้าที่การงาน ในขณะที่ประเภทกิจการและสายงานเป็นคำที่ระบุถึงขอบเขตของธุรกิจ ประเภทงานเป็นคำที่ระบุถึงหน้าที่ในธุรกิจนั้นๆ โดยแบ่งออกตามเนื้อหาของงานที่ทำ หากอ้างอิงตามการแบ่งประเภทที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ซึ่งถูกนำไปใช้ในหน่วยงานต่างๆ อย่าง Hello Work แล้ว จะแบ่งได้เป็น 11 ประเภทดังต่อไปนี้
・อาชีพจัดการ (管理的職業) : ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ทั้งของภาครัฐและเอกชน
・อาชีพชำนาญการเฉพาะด้าน (専門的・技術的職業) : เช่น นักวิชาการ นักพัฒนาเทคโนโลยี แพทย์ เภสัชกร
・อาชีพสายออฟฟิศ (事務的職業) : พนักงานออฟฟิศทั่วไป พนักงานออฟฟิศเฉพาะทาง
・อาชีพค้าขาย (販売の職業) : เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานขายปลีก
・อาชีพบริการ (サービスの職業) : เช่น พนักงานโรงแรมหรือเรียวกัง พนักงานบริการตามสถานที่เพื่อความบันเทิง ช่างทำผมหรือเสริมสวย อาชีพผู้ดูแลคนสูงอายุหรือผู้พิการ
・อาชีพด้านความปลอดภัย (保安の職業) : เช่น กองกำลังป้องกันตนเอง ตำรวจ พนักงานรักษาความปลอดภัย
・อาชีพเกษตรกรรม ป่าไม้ หรือการประมง (農林漁業の職業) : เช่น พนักงานเลี้ยงวัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสวน
・อาชีพสายผลิต (生産工程の職業) : เช่น ช่างโรงเหล็ก ช่างเครื่องบิน
・อาชีพขนส่งหรือลำเลียงโดยเครื่องจักร (輸送・機械運転の職業) : เช่น คนขับรถไฟ คนขับเครื่องบิน ไกด์ตามรถบัส
・อาชีพก่อสร้างหรือขุดเจาะ (建設・採掘の職業) : เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างประปา คนเหมือง
・อาชีพขนส่ง ทำความสะอาด หรือบรรจุหีบห่อ (運搬・清掃・包装などの職業) : เช่น พนักงานไปรษณีย์ คนขับยานพาหนะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานบรรจุหีบห่อ
อาชีพพื้นเมืองของญี่ปุ่นที่ไม่มีให้เห็นในประเทศอื่น
หลายประเทศบนโลกมีอาชีพเฉพาะตัวที่เกิดจากขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ อยู่ ประเภทและเนื้อหางานของอาชีพดังกล่าวก็มีความหลากหลายมาก ญี่ปุ่นเองก็มีอาชีพที่เกิดจากขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์อันยาวนานอยู่เช่นกัน แม้ว่านับจากศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาอาชีพเหล่านี้จะเลือนหายไปพร้อมๆ กับกระแสการปรับตัวให้เข้ากับตะวันตก แต่ก็มีบางอาชีพที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่างอาชีพพื้นเมืองของญี่ปุ่น
・อาชีพเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแสดง: เช่น นักแสดงละครโนห์ นักแสดงละครเคียวเก็น นักแสดงคาบูกิ ศิลปินกางาคุ (ดนตรีโบราณ)
・ผู้เชี่ยวชาญการสร้างสิ่งของพื้นเมือง: เช่น มิยะไดคุ (ช่างไม้เฉพาะทางสำหรับงานสร้างหรือซ่อมแซมวัดและศาลเจ้า) ช่างสึรุชิ (ช่างทำเครื่องเคลือบแลคเกอร์) ช่างหน้ากากโนห์ โทโค (ช่างทำดาบญี่ปุ่น) ช่างเสื่อทาทามิ (ช่างทำและซ่อมแซมเสื่อทาทามิ)
ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญอาชีพดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่ คนหนุ่มสาวที่ต้องการเข้าสู่เส้นทางอาชีพเหล่านี้ก็มีจำนวนลดลง จนถูกมองว่าเป็นปัญหาในระดับหนึ่ง
ประเภทงานที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้ในญี่ปุ่น
กรณีที่ชาวต่างชาติจะหางานทำในญี่ปุ่น จะไม่สามารถเลือกทำงานได้ทุกประเภท แต่จะสามารถทำงานได้ตามสถานภาพการพำนักที่ตนมีเท่านั้น
ชาวต่างชาติที่สามารถทำงานได้ทุกประเภท ทุกกิจการในญี่ปุ่น คือผู้ที่มีสถานภาพการพำนักเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร ผู้ที่มีคู่สมรสเป็นคนญี่ปุ่น หรือผู้พำนักระยะยาวเท่านั้น สถานภาพนอกเหนือจากนี้จะถูกจำกัดขอบเขตของงาน หรือไม่ก็ห้ามไม่ให้ทำงานเลยก็มี จึงควรระมัดระวังไว้ด้วย
ณ เดือนเมษายน 2020 สถานภาพการพำนักที่อนุญาตให้มีการทำงานได้ (วีซ่าประกอบอาชีพ) มีอยู่ทั้งหมด 19 ประเภท
สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ
กรณีที่บริษัทญี่ปุ่นจ้างชาวต่างชาติทำงาน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่มีสถานภาพการพำนัก “วิศวกร เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์ หรือธุรกิจนานาชาติ” ตัวอย่างเช่น วิศวกร ดีไซเนอร์ และนักแปลภาษา
พักหลังนี้บริษัทที่จ้างชาวต่างชาติที่มีสถานภาพการพำนัก “อาชีพเชี่ยวชาญพิเศษ” ก็เพิ่มตัวขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
เนื่องจากเนื้อหางานที่สถานภาพการพำนักอนุญาตและลักษณะงานที่เราทำจริงๆ จำเป็นต้องสอดคล้องกัน การเข้าใจว่าเราสามารถทำงานประเภทไหนได้นั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่งผลให้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ประเภทกิจการ” “สายงาน” และ “ประเภทงาน” เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน
หากจะหางานทำในญี่ปุ่น ก่อนอื่นเลยควรเข้าใจความแตกต่างของคำว่า “ประเภทกิจการ” “สายงาน” และ “ประเภทงาน” ที่เห็นได้บ่อยๆ ตามเว็บไซต์ประกาศหางาน จากนั้นค่อยมาดูว่างานที่เราอยากทำจัดอยู่ในสายงานใด และทักษะที่เรามีนั้นจะสามารถใช้ประโยชน์ในงานประเภทไหนได้บ้าง
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่