เจาะลึกเรื่องการจ้างงานในญี่ปุ่น! ข้อดีข้อเสียของการเป็นพนักงานประจำ พนักงานรายสัญญา และพนักงานพาร์ทไทม์

Oyraa

คุณตรงนั้นที่ต้องการหางานทำในญี่ปุ่น! คุณกำลังเลือกงานโดยมองแค่ค่าตอบแทนหรือรายละเอียดของงานอยู่หรือเปล่า? เราจะบอกให้ว่าแดนปลาดิบนี้มีรูปแบบการจ้างงานอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ พนักงานรายสัญญา พนักงานจัดหา พนักงานล่วงเวลา หรือพนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งนอกจากค่าแรงจะต่างกันแล้ว รายละเอียดด้านประกันสังคม ประกันแรงงาน และเงินภาษีก็แตกต่างไปด้วยเช่นกัน ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับความแตกต่างของรูปแบบการจ้างงานแต่ละแบบอย่างละเอียด ลองมาทำความเข้าใจเพื่อให้เลือกงานได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่เสียใจภายหลังกันเถอะ!

รูปแบบการจ้างงาน

หลายคนอาจรู้จักคำว่าพนักงานประจำ พนักงานรายสัญญา พนักงานจัดหา พนักงานล่วงเวลา และพนักงานพาร์ทไทม์ แต่ก็มีน้อยคนที่จะสามารถอธิบายความแตกต่างออกมาได้อย่างชัดเจน จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันตรงที่สัญญาที่ลูกจ้างและบริษัททำต่อกัน หรือก็คือความแตกต่างด้านรูปแบบการจ้างงานนั่นเอง
ในบทความนี้ เราจะแนะนำให้คุณรู้จักกับ 7 รูปแบบการจ้างงานที่มักพบได้บ่อยในญี่ปุ่น ทั้งในด้านข้อดี ข้อเสีย ขั้นตอนการจ้าง ระดับค่าแรง และเงื่อนไขประกันสังคมให้ได้รู้แบบเจาะลึกกันไปเลย

ประกันสังคมของญี่ปุ่น – แม้แต่ชาวต่างชาติก็จำเป็นต้องเข้าร่วม!

ประกันสังคมของญี่ปุ่นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ หรือประกันแรงงาน (ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือการเลิกจ้าง) โดยประกันบำนาญและประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องเข้าร่วมพร้อมๆ กัน ในกรณีของประกันสองอย่างนี้ ไม่ว่าคุณจะมีสัญชาติใด (อาจยกเว้นสำหรับประเทศที่ผูกสัญญา “ความร่วมมือความปลอดภัยทางสังคม *1”) หากสถานที่ทำงานเข้าข่าย “สถานที่ทำงานที่บังคับให้ต้องเข้าร่วม *2” แล้ว ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมทั้งนั้น และเมื่ออายุถึง 65 ปีแล้วก็จะสามารถขอรับเงินบำนาญได้เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่อยากจ่ายเงินบำนาญเพราะมีแผนจะกลับประเทศในอนาคตก็มีอยู่ไม่น้อย ในกรณีนี้เราจะสามารถขอเงินก้อนจากการยกเลิกประกันสังคมได้หากอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงก์บทความด้านล่าง

*1: ระบบที่ญี่ปุ่นกับต่างประเทศร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินประกันบำนาญซ้ำซ้อน และช่วยให้สามารถบรรลุเงื่อนไขการรับเงินบำนาญได้ง่ายขึ้น
2*: สถานที่ทำงานที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเข้าร่วมประกันบำนาญและประกันสุขภาพ

▼ บทความที่เกี่ยวข้อง: คู่มือรวมเรื่องภาษี, ประกันสุขภาพ, เงินบำนาญในญี่ปุ่น ที่ชาวต่างชาติก็ต้องจ่าย!

ความไม่เท่าเทียมกำลังจะหายไป! นโยบาย “งานเดียวเงินเดียว” ที่เริ่มใช้ในเดือนเมษายน 2020

นโบายงานเดียวเงินเดียวถูกนำเข้ามาใช้เพื่อลดความไม่เท่าเทียมระหว่างแรงงานประจำกับแรงงานชั่วคราวในบริษัทหรือองค์กรเดียวกัน ส่งผลให้บริษัทต้องมีการเปลี่ยนแปลง 3 อย่างดังนี้

(1) ตั้งกฎเกณฑ์เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
(2) เพิ่มความเข้มงวดเรื่องข้อบังคับในการอธิบายให้ลูกจ้างทราบถึงการปฏิบัติที่ตนเองจะได้รับ
(3) เตรียมพร้อมด้านการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำจากทางรัฐ รวมถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทนอกศาล (ADR)

กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือไม่ประจำ หากมีเนื้อหางานและตำแหน่งเดียวกันก็จะได้รับค่าแรงและการปฏิบัติที่เหมือนกันนั่นเอง สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปสภาพการทำงาน โดยเริ่มบังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2020 และจะใบังคับใช้กับบริษัทขนาดเล็กและกลางในวันที่ 1 เมษายน 2021

ลองมาดูกันว่ารูปแบบการจ้างงานแต่ละแบบนั้นจะมีจุดเหมือนและจุดต่างกันอย่างไรบ้าง

พนักงานประจำ

รูปแบบการจ้างงานที่ไม่ระบุระยะเวลาจ้างไว้ในสัญญา หรือก็คือการจ้างที่คาดว่าจะเป็นระยะยาว กฎหมายกำหนดให้รูปแบบการจ้างชนิดนี้มีเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขั้นตอนการจ้างจะแตกต่างกันไปตามบริษัท แต่โดยพื้นฐานแล้วก็จะเริ่มจากการส่งประวัติส่วนตัวหรือประวัติการทำงาน และเข้าสัมภาษณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยส่วนของภาษีเงินได้ ภาษีผู้อยู่อาศัย และเงินประกันสังคมต่างๆ จะถูกหักออกจากค่าแรงโดยตรง

ปัจจุบันข้อดีของพนักงานประจำได้แก่ ค่าแรง สวัสดิการลูกจ้าง และการลาหยุดแบบที่ยังได้รับค่าแรง หลายบริษัทมักดูแลลูกจ้างด้วยการให้โบนัสและเงินก้อนหลังเกษียณ บริษัทที่ใช้ระบบอายุงานก็มีอยู่มากเช่นกัน ยิ่งทำงานกับบริษัทนานเท่าไรก็จะได้รับค่าแรงมากขึ้นเท่านั้น กล่าวได้ว่ามีความมั่นคงทางรายได้ที่สูงกว่ารูปแบบการจ้างอื่นๆ แถมนอกจากสวัสดิการลูกจ้างที่กฎหมายกำหนดให้มีแล้ว หลายบริษัทก็ยังมักจะให้สวัสดิการลูกจ้างอื่นๆ ไว้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าช่วยเหลือที่อยู่อาศัย (ช่วยค่าเช่าบ้าน) ค่าช่วยเหลือครอบครัว ค่าตรวจสุขภาพ หรือค่าช่วยเหลือการสอบใบประกาศนียบัตร ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิทธิพิเศษของพนักงานประจำทั้งนั้น สุดท้ายแล้ว หากได้รับความไว้วางใจจากบริษัทก็อาจได้รับมอบหมายงานที่ท้าทายอีกด้วย

ในอีกทางหนึ่ง เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งงานมีความรับผิดชอบเช่นนี้ ทำให้อาจต้องทำงานล่วงเวลาตามแต่บริษัทหรือสายอาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีเงินค่าล่วงเวลาให้ แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบทำงานนอกเหนือเวลาที่กำหนดไว้แล้วก็เป็นข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามเลยทีเดียว นอกจากนี้ พนักงานประจำยังมีความเสี่ยงในการถูกย้ายอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นโยบายงานเดียวเงินเดียวที่นำเข้ามาใช้ในครั้งนี้อาจทำให้สิทธิพิเศษของพนักงานประจำลดลงไปด้วยเช่นกัน

พนักงานรายสัญญา (สัญญาว่าจ้างกำหนดระยะเวลา)

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพนักงานประจำกับพนักงานรายสัญญาคือการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ในสัญญา กล่าวคือ ระยะเวลาการทำงานจะจบลงตามที่กำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีที่ทั้งฝ่ายบริษัทและฝ่ายลูกจ้างประสงค์จะต่อสัญญาใหม่ นอกเหนือจากนี้ก็ไม่มีอะไรต่างกันนัก เวลาเข้าทำงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวลาเดียวกันกับพนักงานประจำ ค่าแรงก็ใกล้เคียงกัน ประกันสังคมก็มีลักษณะเดียวกัน ภาษีเงินได้และภาษีผู้อยู่อาศัยเองก็จะถูกหักออกจากค่าแรงเช่นกัน

ข้อดีของพนักงานรายสัญญาคือ แม้ว่าจะมีเนื้อหางานและค่าแรงที่เท่าๆ กัน แต่ก็ไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบเท่ากับพนักงานประจำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือต้องทำงานล่วงเวลาน้อยมาก ส่วนใหญ่คือไม่มีเลย สถานที่ทำงานก็มีการระบุไว้ชัดเจนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกย้ายไปทำงานที่อื่น บริษัทที่ห้ามไม่ให้พนักงานรายสัญญารับงานอื่นไปด้วยก็มีอยู่น้อย หากรู้จักบริหารเวลาก็อาจสามารถทำงานอื่นๆ ควบคู่ไปได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บางบริษัทยังมีระบบที่ช่วยเลื่อนขั้นพนักงานรายสัญญาให้เป็นพนักงานประจำอีกด้วย หากมีบริษัทที่อยากเข้าทำงานประจำเป็นพิเศษ ก็สามารถเข้าไปลองเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานรายสัญญาได้เช่นกัน

ข้อเสียก็ไม่พ้นเรื่องโอกาสที่สัญญาจ้างจะจบลงโดยไม่ได้รับการต่อสัญญาใหม่ พนักงานประจำจึงดูมั่นคงกว่าและสามารถสั่งสมประสบการณ์ได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในระยะเวลาสัญญาก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทางบริษัทยกเลิกสัญญาอย่างกะทันหัน เว้นแต่จะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ

ในอดีตมีบริษัทไม่กี่แห่งที่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานรายสัญญา ถึงมีให้ก็เป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าพนักงานประจำ อย่างไรก็ตาม หากเนื้อหาของงานไม่ต่างกับพนักงานประจำ นโยบายงานเดียวเงินเดียวก็น่าจะช่วยขจัดความไม่เท่าเทียมนี้ได้ นอกจากนี้ หากพนักงานรายสัญญาทำงานกับบริษัทมาอย่างยาวนานพอก็จะได้รับเงินเกษียณเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนที่น้อยกว่าพนักงานประจำอยู่เล็กน้อยก็ตาม

พนักงานจัดหา

ในบรรดารูปแบบการจ้างงานที่เรายกมานำเสนอในครั้งนี้ พนักงานจัดหาเป็นประเภทเดียวที่เป็นการจ้างงานทางอ้อม ต่างกับพนักงานประจำ พนักงานรายสัญญา และพนักงานพาร์ทไทม์ที่เป็นการทำสัญญากับผู้ว่าจ้างโดยตรง พนักงานจัดหาจะทำทำสัญญากับบริษัทจัดหา และถูกส่งไปทำงานที่ต่างๆ ตามความสามารถและความเหมาะสม โดยค่าแรง เนื้อหางาน และเงื่อนไขการรับนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับทั้งบริษัทจัดหาและบริษัทปลายทาง แม้จะทำงานเดียวกันอยู่ในบริษัทเดียวกัน แต่หากมาจากบริษัทจัดหาที่ต่างกันก็อาจมีเงื่อนไขการทำงานที่ต่างกันได้ นอกจากนี้ พนักงานจัดหาก็จะทำประกันสังคมกับบริษัทจัดหา ไม่ใช่กับบริษัทปลายทางที่เข้าทำงาน

ข้อดีของพนักงานจัดหาคือมีค่าแรงต่อชั่วโมงที่สูงกว่าแม้จะคิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมงเช่นเดียวกับพนักงานพาร์ทไทม์และพนักงานล่วงเวลา ในกรณีที่มีทักษะสูงก็อาจได้ทำงานในบริษัทดังๆ ที่เข้าเป็นพนักงานประจำได้ยากอีกด้วย ส่วนข้อเสียจะก็มีทั้งการที่ต้องต่อสัญญาทุก 3 เดือน และข้อจำกัดที่ว่าไม่สามารถทำอยู่ที่เดิมได้เกิน 3 ปี โดยสิ่งเหล่านี้ถูกระบุไว้ในกฎหมายการจัดหาแรงงาน แม้จะมีจุดประสงค์ที่ดีในส่งเสริมให้มีการจ้างพนักงานประจำมากขึ้น แต่ก็ถือเป็นข้อเสียสำหรับพนักงานจัดหาที่ต้องการทำงานอยู่ที่เดิมนานๆ

ผู้ที่เป็นแรงงานจัดหาควรระวังเป็นพิเศษเมื่อนโยบายงานเดียวเงินเดียวถูกนำเข้ามาใช้ เนื่องจากจะมีรูปแบบการปฏิบัติอยู่ 2 แบบ (ตามบริษัทปลายทาง และตามข้อตกลงแรงงาน) และจะเลือกใช้แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับบริษัทจัดหาแต่ละแห่ง

ในกรณีที่ใช้ตามบริษัทปลายทาง คุณจะได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกับพนักงานประจำของบริษัท แม้จะเป็นพนักงานจัดหาก็จะได้รับค่าแรงเท่ากับพนักงานประจำ ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดความแตกต่างให้เห็นตามบริษัทปลายทางแต่ละแห่ง

ส่วนในกรณีที่ต้องทำตามข้อตกลงแรงงาน คุณจะได้รับค่าแรงเท่ากับหรือมากกว่าค่าแรงเฉลี่ยของผู้ที่ทำงานในสายงานเดียวกัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการจะแจ้งค่าเฉลี่ยดังกล่าวนี้ให้ทราบในทุกๆ ปี แม้ว่าค่าแรงจะไม่ต่างไปตามสถานที่ทำงาน แต่ก็อาจรู้ถึงถึงความไม่เท่าเทียมได้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพนักงานประจำของบริษัทปลายทาง บริษัทจัดหารายใหญ่ๆ นิยมใช้รูปแบบตามข้อตกลงแรงงาน สิ่งหนึ่งที่ควรจำไว้คือ การที่จะเลือกใช้รูปแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับทางบริษัทจัดหา โดยพนักงานจะไม่มีสิทธิ์ในการเลือก

นอกจากนี้ การนำนโยบายงานเดียวเงินเดียวเข้ามาใช้ยังช่วยให้พนักงานจัดหามีสิทธิได้รับเงินค่าเดินทาง ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ในอดีตไม่ค่อยได้รับอีกด้วย นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยข้างใหญ่สำหรับแรงงานจัดหาเลยทีเดียว

พนักงานพาร์ทไทม์

ตามกฎหมายแล้วงานพาร์ทไทม์ (パートタイム) กับงานล่วงเวลา (アルバイト) ถือว่าไม่แตกต่างกัน แต่ชาวญี่ปุ่นมักจะมีภาพจำว่างานพาร์ทไทม์เป็นของแม่บ้าน และงานล่วงเวลาเป็นของนักศึกษาและคนหนุ่มสาว โดยจะเลือกใช้คำเหล่านี้ตามอาชีพที่ต่างกันไป เนื้อหาของงานมักจะมีความเฉพาะทางน้อยกว่ารูปแบบการจ้าง 3 แบบที่ได้กล่าวไป เนื่องจากระยะเวลาการจ้างจะแตกต่างไปในการประกาศรับคนแต่ละครั้ง เช่น รับสมัครพนักงานระยะยาว หรือรับสมัครระยะสั้นเป็นรายเดือน จึงสามารถเลือกสมัครได้ตามระยะเวลาที่เราสะดวก

ข้อเสียคือมีโอกาสพัฒนาทักษะค่อนข้างน้อยแม้ว่าจะทำเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากพนักงานและแรงงานพาร์ทไทม์มีเนื้องานที่หลากหลาย หากเป็นงานประเภทงานบริการและงานค้าขาย อาจมีโอกาสได้เลื่อนขั้นเป็นพนักงานประจำอยู่บ้าง แต่สำหรับสายงานอื่นๆ แล้ว หากต้องการเลื่อนขั้นเป็นพนักงานประจำก็ขอแนะนำให้เริ่มจากรูปแบบการจ้างอื่นๆ จะดีกว่า

แม้จะเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมประกันสังคมหากเข้าข่ายเงื่อนไขดังนี้
・มีเวลาทำงานตลอด 1 สัปดาห์ และจำนวนวันเข้าทำงานตลอด 1 เดือน คิดเป็นอย่างน้อย 3 ใน 4 ส่วนของพนักงานประจำ
・ในกรณีที่ไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว ก็ยังจำเป็นต้องเข้าร่วมหากครบเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อด้านล่างนี้
(1) มีเวลาทำงานตลอด 1 สัปดาห์มากกว่า 20 ชั่วโมง
(2) มีค่าแรงต่อเดือนมากกว่า 88,000 เยน
(3) มีแนวโน้มที่จะทำงานมากกว่า 1 ปี
(4) ไม่ได้เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา
(5) เป็นพนักงานของบริษัทที่มีผู้เข้าร่วมประกันสังคม 501 คนขึ้นไป

นอกจากนี้ แม้นโยบายงานเดียวเงินเดียวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติเช่นเดียวกับพนักงานไม่ประจำรูปแบบอื่นๆ แต่ถ้าเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่ทำงานเต็มเวลาหรือจ้างแบบไม่มีกำหนดจะถือว่าไม่ได้อยู่ในระบบนี้ จึงควรระวังไว้ด้วย

พนักงานประจำระยะสั้น

พนักงานประจำระยะสั้นหมายถึงพนักงานที่เข้าข่ายทั้ง 2 ข้อด้านล่าง
1. ทำสัญญาว่าจ้างแบบไม่มีการกำหนดระยะเวลา
2. มีวิธีคำนวณต่างๆ เช่น ฐานค่าแรงและเงินเกษียณ แบบเดียวกับพนักงานประจำเต็มเวลา

เนื่องจากมีเวลาทำงานเพียงประมาณ 6 ชั่วโมง จึงมีข้อเสียเป็นค่าแรงที่อาจไม่สูงนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อดีมากมายอย่างการได้รับสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับพนักงานประจำ อย่างไรก็ตาม หากมองจากฝั่งบริษัทแล้วการจ้างงานรูปแบบนี้จะถือว่ามีข้อเสียมากกว่า ทั้งค่าใช้จ่ายด้านประกันหรือค่าสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น จึงไม่ค่อยมีให้พบเห็นมากนัก บริษัทที่มีการจ้างในรูปแบบนี้โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างบุคลากรและมักจะใช้อยู่เพียงช่วงเดียวเท่านั้น หากวางแผนที่จะเป็นพนักงานประจำ หรือกำลังเป็นพนักงานประจำอยู่ จึงควรตรวจสอบไว้ด้วยว่าบริษัทของเรามีระบบนี้อยู่หรือไม่

แต่ไหนแต่ไรพนักงานประจำระยะสั้นก็ได้รับความคุ้มครองที่ใกล้เคียงกับพนักงานประจำเต็มเวลาอยู่แล้ว ส่งผลให้นโยบายงานเดียวเงินเดียวไม่ค่อยมีผลอะไรเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม หากเป็นพนักงานประจำระยะสั้นแต่กลับได้รับมอบหมายงานในปริมาณเดียวกับพนักงานประจำปกติ ก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอคำชี้แจงจากบริษัทได้เช่นกัน

แรงงานเอาท์ซอร์ส

ปัจจุบันการทำงานจากบ้านได้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แรงงานเอาท์ซอร์ส (Oursource) ที่เป็นชาวต่างชาติก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ควรจำไว้สำหรับการจ้างงานรูปแบบนี้คือ ในกรณีที่รับงานจากหลายบริษัท ผู้รับงานจำเป็นต้องยื่นวีซ่าประกอบอาชีพให้กับบริษัทที่มีค่าตอบแทนมากที่สุดด้วย

นอกจากนี้ การเอาท์ซอร์สนั้นมีรูปแบบสัญญาอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ สัญญาจ้างวานและสัญญามอบหมาย สัญญาจ้างวานจ่ายค่าตอบแทนให้กับการทำงาน ส่วนสัญญามอบหมายจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับชิ้นงานตามที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น งานออฟฟิศและงานต้อนรับถือว่าเป็นสัญญาจ้างวาน ในขณะที่งานทำเว็บเพจจะถือว่าเป็นสัญญามอบหมาย

ข้อดีของรูปแบบการจ้างชนิดนี้คือจะได้ทำงานที่ตรงกับความถนัดของตัวเอง และบางงานก็ยังสามารถทำได้อย่างอิสระโดยไม่จำกัดสถานที่ทำงานอีกด้วย ส่วนข้อเสียก็คือ เนื่องจากไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทใดจึงจำเป็นต้องแจ้งภาษีด้วยตนเอง หากมีรายได้สูงก็ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี หรือถ้าอยากประหยัดค่าใช้จ่ายก็สามารถลองใช้โปรแกรมคำนวณภาษีได้เช่นกัน ตัวโปรแกรมเองก็มีอยู่หลากหลาย ขอแนะนำให้ลองใช้และเปรียบเทียบด้วยตัวคุณเอง

เนื่องจากแรงงานเอาท์ซอร์สไม่ถือว่าเป็นพนักงานของบริษัท จึงไม่ได้รับผลโดยตรงจากนโยบายงานเดียวเงินเดียว แต่เนื่องจากนโยบายทำให้บริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อเติมของพนักงานจัดหาด้วย หลายบริษัทจึงหันมาจ้างแรงงานเอาท์ซอร์สเพิ่มมากขึ้น

ผู้ทำงานจากบ้าน (ผู้ทำงานทางไกล)

หากเป็นแรงงานเอาท์ซอร์สที่ทำงานคนเดียวผ่านอุปกรณ์สื่อสารอย่างคอมพิวเตอร์ เราจะเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “ผู้ทำงานจากบ้าน” พนักงานประเภทนี้จะรับงานแบบสัญญามอบหมายในสายงานที่ตนเองถนัด เช่น วิศวกร ดีไซน์เนอร์ หรืองานแปลภาษา เป็นรูปแบบการทำงานที่ไม่จำกัดสถานที่ทำงาน จะที่บ้าน คาเฟ่ หรือพื้นที่ทำงานสาธารณะก็สามารถทำได้ เนื่องจากสิ่งที่จำเป็นมีเพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้น ต่อให้มีธุระต้องกลับประเทศของตนก็ไม่มีปัญหา จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อดีเรื่องความอิสระ แต่ก็ควรตรวจสอบรายละเอียดสัญญาให้ดีก่อนรับงาน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้างรูปแบบใดก็ควรตรวจสอบรายละเอียดสัญญาให้ดี แต่ผู้ทำงานจากบ้านนั้นมักพบปัญหามากเป็นพิเศษ ทั้งกรณีที่ถูกลดค่าจ้างหลังส่งงาน หรือส่งงานไปแล้วกลับติดต่อไม่ได้ สำหรับผู้ที่รู้สึกกังวลก็สามารถเลือกใช้บริการเว็บไซต์หางานสำหรับฟรีแลนซ์ได้เช่นกัน

ส่วนของผลกระทบจากนโยบายงานเดียวเงินเดียวนั้นจะมีลักษณะเดียวกันกับแรงงานเอาท์ซอร์ส

ข้อควรระวังเวลาหางาน

หากคุณวางแผนที่จะขอวีซ่าประกอบอาชีพและหางานทำในญี่ปุ่น ขอแนะนำให้ตรวจสอบเงื่อนไขของรูปแบบการจ้างแต่ละแบบให้ดีก่อนหางาน การขอวีซ่าประกอบอาชีพนั้นจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความมั่นคง ความต่อเนื่อง และผลประโยชน์ของบริษัทที่จะจ้างเรา หากเป็นการจ้างที่มีระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีก็มีโอกาสสูงที่จะขอวีซ่าไม่ผ่าน จึงขอแนะนำให้หาสัญญาจ้างที่มีระยะเวลานานๆ เช่น การจ้างรายสัญญาที่มีระยะมากกว่า 1 ปี อีกทั้งหากมีประวัติการศึกษาที่ตรงกับงานที่เราอยากทำ หรือมีประสบการณ์ในงานนั้นๆ มาก่อน ก็จะช่วยให้สามารถขอวีซ่าได้ง่ายขึ้นด้วย

ลำดับต่อมาในขั้นตอนเซ็นสัญญาก็ควรคุยกับผู้ว่าจ้างให้ละเอียด ทั้งเรื่องรูปแบบการจ้าง ค่าแรง และเนื้อหาของงาน นอกจากตกลงกันปากเปล่าแล้วก็ควรทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

สุดท้ายแล้ว เนื่องจากกฎหมายแรงงานพื้นฐานและกฎหมายประกันสุขภาพห้ามไม่ให้มีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมจากความแตกต่างทางสัญชาติ ทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการเองก็ได้กล่าวไว้ว่า “หากมีข้อร้องเรียนจากชาวต่างชาติ ให้อธิบายถึงเนื้อหาและเหตุผลที่ทำให้มีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกับแรงงานปกติ” ถ้ามีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ตนเองได้รับ ก็สามารถสอบถามจากทางบริษัทได้เลย

วิธีและข้อควรระวังในการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน

ในกรณีที่เปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นจากพนักงานล่วงเวลาเป็นพนักงานประจำ หรือจากพนักงานรายสัญญาเป็นผู้ทำงานจากบ้าน แรงงานชาวต่างชาติควรระวังอะไรบ้าง?

เรื่องแรกคือจำเป็นต้องทำสัญญาใหม่แม้ว่าจะทำอยู่กับบริษัทเดิมก็ตาม แม้ว่าจะเป็นผู้จ้างวานที่คุ้นเคยก็ควรทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกันเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาภายหลัง

ในบางกรณี การเปลี่ยนรูปแบบการจ้างก็อาจทำให้ค่าประกันสังคมเปลี่ยนไปด้วย อย่างกรณีที่เปลี่ยนจากพนักงานรายสัญญาเป็นผู้ทำงานจากบ้านก็จะไม่สามารถใช้ประกันสุขภาพได้นับจากวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ลาออกจากบริษัท เนื่องจากทางบริษัทจำเป็นต้องยื่นเรื่องสละสิทธิประกันสังคมให้ จึงควรกรอกและส่งคืนเอกสารสละสิทธิ์พร้อมกับบัตรประกันที่ได้รับจากบริษัทให้เรียบร้อย นอกจากนี้ ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ลาออกจะบริษัทจะสามารถใช้บริการประกันสุขภาพของประชาชนได้ จึงควรที่จะติดต่อเพื่อสมัครกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย

▼ บทความที่เกี่ยวข้อง: คู่มือรวมเรื่องภาษี, ประกันสุขภาพ, เงินบำนาญในญี่ปุ่น ที่ชาวต่างชาติก็ต้องจ่าย!

เป็นอย่างไรบ้าง? รู้สึกเข้าใจรูปแบบการจ้างงานในญี่ปุ่นมากขึ้นไหม? การสนใจในเนื้อหางานและค่าแรงนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ควรตรวจสอบรูปแบบการจ้างไว้ด้วย หากเลือกงานโดยเข้าใจข้อดีข้อเสียของรูปแบบการจ้างแต่ละแบบ การทำงานในญี่ปุ่นของคุณก็จะต้องราบรื่นอย่างแน่นอน!

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: