วิธีดูฉลากผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นพร้อมคำแปล!

Oyraa

บนโลกนี้มีวัฒนธรรมการกินอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวีแกน มังสวิรัติ หรือการงดเว้นอาหารเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา หลายๆ คนจึงจำเป็นต้องดูฉลากอาหารเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก่อนซื้อ ในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีดูฉลากผลิตภัณฑ์อาหารในญี่ปุ่นกัร ลองมาทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถเลือกซื้ออย่างสบายใจได้กันเถอะ!

สบายใจได้ด้วย “กฎหมายฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร”

Photo:PIXTA

“กฎหมายฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร” ในญี่ปุ่นบังคับให้ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่วางจำหน่ายต้องระบุส่วนผสม วันหมดอายุ และคุณค่าทางโภชนาการไว้อย่างชัดเจน โดย”ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด” ในที่นี้หมายถึงอาหารแปรรูปที่บรรจุลงในห่อหรือภาชนะต่างๆ รวมทั้งข้าวกล่อง อาหารปรุงสุกแพ็กกล่อง ขนม และเครื่องดื่มด้วยเช่นกัน

[ฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร] มักพิมพ์หรือแปะอยู่หลังบรรจุภัณฑ์

ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารมักถูกพิมพ์หรือแปะไว้ที่ด้านหลังของบรรจุภัณฑ์ ในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “ฉลากสินค้า” หรือ “ฉลากหลัง” ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลที่ระบุบนฉลากจะอ้างอิงจากกฎหมายฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร โดยผู้บริโภคจะได้ทราบว่าอาหารนั้นมีสิ่งที่แพ้เป็นส่วนผสมไหม หรือเข้ากับรูปแบบการรับประทานอาหารของตัวเองหรือเปล่า ทำให้สามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจ

เนื่องจากวิธีในการระบุจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ หากคุณวางแผนจะใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ก็จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจวิธีระบุแบบเฉพาะตัวของญี่ปุ่นเอาไว้ด้วย

กฎหมายบังคับให้ฉลากสินค้าระบุข้อมูล 2 ส่วน ได้แก่ “ส่วนประกอบโดยรวม (一括表示)” ที่อยู่ในกรอบสีแดงตามรูปด้านบน และ “ข้อมูลโภชนาการ (栄養成分表示)” ในกรอบสีน้ำเงิน ไปดูกันเลยดีกว่าว่า 2 ส่วนนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

วิธีดู “ส่วนประกอบโดยรวม”

ข้อมูลส่วนประกอบโดยรวมมีไว้เพื่อระบุส่วนผสม วันหมดอายุ และข้อมูลอื่นๆ ถึงแม้ว่ารายการต่างๆ อาจจะแตกต่างกันไปตามชนิดของผลิตภัณฑ์ แต่กฎหมายก็บังคับไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดก็จำเป็นต้องบอกข้อมูล 6 รายการดังต่อไปนี้

  1. ชื่อ (名称): ชื่อผลิตภัณฑ์
  2. รายชื่อส่วนผสม (原材料名): รายชื่อส่วนผสมทั้งหมดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์
  3. น้ำหนักสุทธิ (内容量): น้ำหนักของผลิตภัณฑ์ (ไม่รวมน้ำหนักภาชนะบรรจุ)
  4. ควรบริโภคก่อน (賞味期限): วันสุดท้ายที่สามารถรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อย ในบางกรณี (อย่างในตัวอย่างที่เรายกมา) อาจมีการระบุแยกไว้ในที่อื่นของบรรจุภัณฑ์ ในกรณีที่ระบุ “วันหมดอายุ (消費期限)” เอาไว้ด้วย จะหมายถึงวันสุดท้ายที่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย จึงควรบริโภคให้หมดก่อนวันดังกล่าว
    นอกจากนี้ วิธีระบุเวลาของญี่ปุ่นจะเป็นแบบ ปี.เดือน.วัน ในกรณีที่ระบุเป็นเลข 6 หลัก สองหลักแรกจะหมายถึงเลขสองหลักสุดท้ายของคริสตศักราช ตัวอย่างเช่น “20.09.24” จะหมายถึงวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 2020
  5. วิธีเก็บรักษา (保存方法): วิธีเก็บรักษาที่เหมาะสม ในบางกรณีอาจมีการระบุวิธีเก็บหลังเปิดผลิตภัณฑ์ไว้ด้วยเช่นกัน
  6. ชื่อผู้ผลิต (製造者) และที่อยู่ (住所): ระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า จะมีการระบุชื่อบริษัทนำเข้าแทน

เครื่องหมาย ” / ” ที่วงไว้ด้วยสีเหลืองในรูปด้านบนนั้น เป็นเครื่องหมายแบ่งระหว่างส่วนผสมกับสารปรุงแต่ง หน้าเครื่องหมายจะเป็นส่วนผสม และหลังเครื่องหมายจะเป็นสารปรุงแต่ง ในบางกรณีก็อาจระบุแยกข้อไปแต่แรกเลยก็มี

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอาการแพ้อาหาร กฎหมายญี่ปุ่นก็ได้กำหนดให้ผู้ผลิตต้องระบุส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายเอาไว้ด้วย โดยหลักๆ จะประกอบไปด้วย 7 รายการด้านล่างนี้

■ ส่วนผสมพิเศษ 7 รายการ
ไข่, นม, ข้าวสาลี, โซบะ, ถั่วลิสง, กุ้ง และ ปู

Photo:PIXTA

นอกจากนี้ อีก 21 รายการด้านล่างนี้ก็มีการแนะนำให้ระบุไว้ด้วยเช่นกัน

■ ส่วนผสมกึ่งพิเศษ 21 รายการ
อัลมอนด์, หอยเป๋าฮื้อ, หมึก, ไข่ปลาแซลมอน, ส้ม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, กีวี่, เนื้อวัว, วอลนัท, งา, ปลาแซลมอน, ปลาซาบะ, ถั่วเหลือง, เนื้อไก่, กล้วย, เนื้อหมู, เห็ดมัตสึทาเกะ, ลูกท้อ, เผือกญี่ปุ่น, แอปเปิ้ล และ เจลาติน

Photo:PIXTA

วิธีดู “ข้อมูลโภชนาการ”

ส่วนข้อมูลโภชนาการนี้มีไว้เพื่อระบุข้อมูลจำพวกพลังงานและสารอาหาร โดยกฎหมายกำหนดให้ระบุข้อมูล 5 รายการด้านล่างนี้ไว้เสมอ

  1. พลังงาน (熱量): ระบุพลังงานเป็นกิโลแคลอรี
  2. โปรตีน (たんぱく質): สิ่งที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ, อวัยวะภายใน, ผิว, เส้นผม, เล็บ, ฮอร์โมน, เอนไซม์ และ สร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงมีหน้าที่นำส่งสารอาหารภายในร่างกายด้วย
  3. ไขมัน (脂質): เก็บสะสมในร่างกายไว้ใช้เป็นแหล่งพลังงาน เป็นตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และให้พลังงานที่ใช้ในการทำงานของร่างกาย
  4. คาร์โบไฮเดรต (炭水化物): 1 ใน 3 สารอาหารสำคัญที่เคียงคู่ไปกับโปรตีนและไขมัน เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการทำงานของร่างกาย
  5. ปริมาณโซเดียม (食塩相当量): ตัวเลขปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โดยเทียบเป็นปริมาณเกลือบริโภค เป็นสารอาหารที่ช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย

ฉลากผลิตภัณฑ์มีประโยชน์สำหรับใครบ้าง

Photo:PIXTA

〇 ผู้ที่แพ้อาหาร

ผู้ที่แพ้อาหารจะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีสิ่งที่ตนแพ้ไหมจาก “รายชื่อส่วนผสม” ในส่วนประกอบโดยรวม

〇 ผู้ที่เป็นวีแกน มังสวิรัติ หรือรับประทานอาหารฮาลาล

ผู้ที่รับประทานอาหารฮาลาล มังสวิรัติ หรือวีแกน จะสามารถตรวจสอบ “รายชื่อส่วนผสม” ในส่วนประกอบโดยรวมแล้วประเมินได้ว่าตัวเองสามารถทานได้ไหม ข้อควรระวังอย่างหนึ่ง คือ เครื่องปรุงยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่างโชยุและมิรินอาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่บ้าง ผู้ที่รับประทานอาหารฮาลาลอาจต้องระวังเป็นพิเศษ

〇 ผู้ที่กำลังไดเอท

สำหรับผู้ที่กำลังควบคุมอาหารอยู่ เราขอแนะนำให้เช็ก “พลังงาน” ในข้อมูลโภชนาการ ยิ่งตัวเลขน้อยเท่าไรก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมการไดเอทได้ดีขึ้นเท่านั้น

〇 ผู้ที่มีโรคประจำตัว

ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง เราขอแนะนำให้เช็ก “ปริมาณโซเดียม” ในข้อมูลโภชนาการด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าหากรับประทานเกลือมากเกินไปก็อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่ออกอาการหรือทวีความรุนแรงขึ้นได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีดูฉลากผลิตภัณฑ์อาหารในญี่ปุ่นที่เราได้หยิบยกมาให้คุณ! ฉลากผลิตภัณฑ์นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่แพ้อาหารหรือมีวัฒนธรรมการทานอาหารที่ต่างออกไปแล้ว ยังสามารถช่วยให้เรารู้ด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังเอาเข้าปากนั้นมีส่วนผสมของอะไรอยู่บ้าง

ลองหันมาเช็กฉลากผลิตภัณฑ์อาหารกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัยและสบายใจกันเถอะ!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: