ในยุคปัจจุบัน เด็กๆ ญี่ปุ่นเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงชั้นมหาวิทยาลัย รวมแล้วนานถึง 12 ปีเลยทีเดียว แต่กลับพบเจอชาวญี่ปุ่นที่สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้อยู่ทั่วไป ในเวลาอันใกล้ ประเทศญี่ปุ่นกำลังจะจัดงานที่สำคัญระดับโลกอย่าง โตเกียวโอลิมปิก ในปี 2020 และงาน Osaka World Expo 2025 ทำให้เห็นได้ชัดว่า ญี่ปุ่นต้องก้าวตามให้ทันโลกาภิวัตน์ที่หมุนเร็วยิ่งใบนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้! อาาจะกล่าวได้ว่า คนเรามีวิชาที่ตนถนัดไม่เหมือนกัน แต่ในกรณีของโรงเรียนญี่ปุ่นนั้น แม้แต่เด็กนักเรียนที่จัดว่าเก่งอังกฤษ ก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวันได้เลยด้วยซ้ำ มาดูกันว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิด ‘อุปสรรคทางภาษา’ นี้ขึ้น
ในบทความนี้ ผมจะขออธิบายให้คุณเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ รวมไปถึงความรู้สึกตงิดใจของตัวผมเอง ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นที่เกิดและเติบโตในประเทศญี่ปุ่น แถมยังเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองอีกเช่นกัน ไปดูกันเลยดีกว่า!
1. การเรียนภาษาอังกฤษแค่เพื่อสอบ
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเน้นทักษะการอ่านและการเขียนเป็นหลัก! เพื่อที่จะให้นักเรียนทำคะแนนได้ดีและสอบผ่าน ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นจึงสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในจุดแข็งของชาวญี่ปุ่นเลยทีเดียว
แต่ทักษะที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างการพูดและการฟัง กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ยิ่งเรียนมากเท่าไร นักเรียนก็ต่างสามารถเขียนภาษาอังกฤษเป็นบทความยาวๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้ ด้วยลักษณะข้อสอบที่มักให้อ่านนวนิยายหรือบทความต่างๆ แล้วตอบคำถาม นักเรียนก็สามารถอ่านจับใจความได้ดี แต่โอกาสในการใช้งานจริงก็กลับลดลงไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ผิดไปจากความต้องการพื้นฐานก็ได้
การเรียนในประเทศญี่ปุ่น มักจะเป็นลักษณะที่อาจารย์ยืนเขียนกระดานดำ และนักเรียนนั่งประจำโต๊ะพร้อมสมุดจดและจดอย่างแข็งขัน ซึ่งเป็นลักษณะของการเรียนการสอนตั้งแต่อดีต ยาวนานมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีครูภาษาอังกฤษจำนวนไม่น้อย ที่สอบข้อเขียนใบประกอบวิชาชีพครูผ่าน แต่มีคะแนนวิชาภาษาอังกฤษไม่ดีเท่าไรนัก ทำให้ในห้องเรียนขาดความกระตือรือร้นในการพูด สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษระหว่างคุณครูและนักเรียน ซึ่งขัดกับหลักการเรียนรู้ภาษาที่ต้องยิ่งฝึกฝนให้รู้จักความผิดพลาด
โดยปรกติแล้ว คุณครูมักจะเป็นฝ่ายพูดอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่นักเรียนจะนั่งฟังและออกเสียงตามเป็นพักๆ ทำให้ชาวญี่ปุ่น ที่ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถที่โดดเด่นด้านไวยากรณ์และรู้จักคำศัพท์มากมาย ไม่มีความกล้าที่จะพูดออกมา จนไม่สามารถเรียนรู้ได้ถึงความล้มเหลวและการพัฒนาในที่สุด
2. ระบบการศึกษาที่ไม่ได้เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่สำคัญจริงๆ
ปัญหาหนึ่งของการเรียนภาษาอังกฤษในญี่ปุ่นคือ เรียนเนื้อหาความรู้มากมายแต่กลับขาดเวลาและโอกาสในการใช้งานจริง ทำให้นักเรียนไม่รู้วิธีการใช้งานภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง และไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีทั้งที่เรียนมามากมาย
นอกจากนี้ ในสังคมญี่ปุ่นโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษก็ถือว่าน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นโต้วาทีภาษาอังกฤษ การสนทนาด้วยภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ หรือจะเป็นการนำเสนอด้วยภาษาอังกฤษ ก็ถือว่าน้อยมากจนเด็กขาดโอกาสที่จะได้สัมผัสภาษาอังกฤษในชีวิตจริง
แม้ว่านักเรียนญี่ปุ่นจะสามารถพูดคำศัพท์ใหม่ๆ ได้ แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญในการใช้ภาษากลับไม่ใช่คำศัพท์หรือข้อมูลต่างๆ แต่คือทักษะการใช้งาน ถึงนักเรียนจะรู้วิธีการใช้ภาษาและวิธีการพูดที่ถูกต้อง แต่หากไร้ซึ่งประสบการณ์จริงแล้วก็ย่อมไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
ขึ้นชื่อว่าการสนทนาแล้วการลองใช้คำศัพท์ที่ตนรู้มาสร้างประโยคใช้จริงก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะหลังจากที่ได้ลองพูดแล้วความรู้ก็จะตามมา การจดจำคลังคำศัพท์และภาษาแสลงต่างๆ เพียงอย่างเดียวจึงไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไร
การเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียนญี่ปุ่นเปรียบได้กับ การเรียนรู้วิธียิงประตูที่ผู้รักษาประตูจะป้องกันลูกไม่ได้ ในรูปแบบของตัวหนังสือซ้ำไปซ้ำมาทุกสัปดาห์ เป็นการขับเคลื่อนด้วยการ ‘เรียน’ เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการ ‘ปฏิบัติ’
3. การขับเคลื่อนของกลุ่มสังคมที่กลัวความผิดพลาด จนพลาดโอกาสในการเรียนรู้
แม้ว่าในสังคมญี่ปุ่นจะมีคำกล่าวว่า ‘ความผิดพลาดคือการได้เรียนรู้สิ่งใหม่’ (間違うことは知らなかった何かを新たに知ること) แต่คนญี่ปุ่นก็ยังกลัวการผิดพลาดอยู่ เอาเข้าจริงแล้ว การที่คนญี่ปุ่นไม่สามารถเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษได้นั้น ไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความคิดของคนที่ฝังรากลึกซึ่งเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาดังกล่าวอีกด้วย
ระบบการศึกษาญี่ปุ่นเน้นสอนให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ และเห็นความสำคัญของกลุ่มเป็นหลัก ทำให้ผู้คนกลัวที่จะแตกต่าง โดยทั่วไปแล้วชาวญี่ปุ่นได้ผ่านการเรียนรู้มาว่า แทนที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง ควรกลมกลืนไปกับผู้คนรอบข้างจะดีกว่า สภาพจิตใจเช่นนี้ได้ฝังลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางระบบการศึกษาต่างๆ ทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะอยู่ในวัยทำงานแล้ว แต่ก็ยังคงคิดว่าการปฏิบัติตามกลุ่มคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
และด้วยเหตุนี้จึงถือกำเนิดเป็น บรรยากาศห้องเรียนที่ไม่มีใครยอมพูดภาษาต่างประเทศแม้แต่คนเดียว เพราะไม่กล้าและกลัวที่จะต้องผิดพลาดและอับอาย เด็กๆ จึงเลือกที่จะไม่พูดภาษาอังกฤษ จนสามารถกล่าวได้ว่าการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดด้วยการไม่ลองอะไรใหม่ๆ นั้น เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของคนญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพูดถึงชาวญี่ปุ่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดมากก็คือ ‘ความขี้อาย’ หรือในอีกแง่ก็คือ ‘การปฏิบัติตัวโดยคอยระวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น’ ทำให้เกิดเป็นสภาพสังคมที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพียงแค่การพูดหน้าชั้นเรียนก็ยังถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง โอกาสในการพูดภาษาอังกฤษในสถานศึกษาต่างๆ จึงมีอยู่น้อยด้วยเช่นกัน
4. ขาดโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษในสังคมญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมีมุมมองต่อภาษาอังกฤษว่าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการสื่อสาร และไม่เห็นว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่อุดมไปด้วยนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างชาติอย่างโตเกียว โยโกฮาม่า โอซาก้า และเกียวโตนั้น ก็ไม่แทบจะไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษเลย
เนื่องจากการเรียนการสอนในโรงเรียนจะมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเพียงภาษาเดียว ประกอบกับการเป็นประเทศที่พัฒนาขึ้นโดยรับวัฒนธรรมต่างๆ จากกลุ่มประเทศแถบตะวันตกเข้ามา แถมในปัจจุบันก็ยังมีนักท่องเที่ยวจากตะวันตกจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมเยือน ชาวญี่ปุ่นจึงมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะอยากลองพูดหรือใช้ภาษาอังกฤษที่ตนได้เรียนมา
อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้สึกเอะใจกับการใช้ภาษาอังกฤษแปลกๆ ที่บ่อยครั้งทำให้ชาวต่างชาติต้องแปลกใจ ตัวอย่างเช่น ป้ายบอกทางหรือป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ ตามถนนและสถานีรถไฟ รวมไปถึงลวดลายที่สกรีนลงบนกระเป๋าและเสื้อผ้า ซึ่งผิดหลักการใช้ภาษาจนกลายเป็นเรื่องปรกติทั่วไปในสังคม
เพราะในสายตาของชาวญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีความคิดทำนองว่า ‘ไม่รู้หรอกว่าแปลว่าอะไร แต่เห็นแล้วดูเท่ดี’ ทำให้แม้ว่าจะไม่เข้าใจความหมายแต่ก็ยังสวมใส่สิ่งเหล่านั้นโดยไม่ได้เกิดความสงสัยใดๆ เลย คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงคิดว่า หากของชิ้นนั้นมีดีไซน์ที่สวยงามและถูกใจแล้ว แม้ภาษาอังกฤษบนสิ่งของจะผิดพลาดก็ไม่เป็นไร
หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างแดนแล้วล่ะก็ ขอชวนให้ลองสังเกตสิ่งที่คนญี่ปุ่นสวมใส่ติดตัวดู รับรองได้ว่าคุณจะพบกับภาษาอังกฤษที่ดูแปลกๆ อย่างแน่นอน
อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ญี่ปุ่นค่อนข้างแตกต่างกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในกระแสโลกาภิวัตน์นี้ก็คือ คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นชาวญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่เริ่มมีชาวต่างชาติเดินให้เห็นอยู่อย่างประปราย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นชาวต่างชาติที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้บ้าง ชาวญี่ปุ่นจึงมีโอกาสที่จะพบ ‘สถานการณ์ที่จำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น’ ค่อนข้างน้อย
5. ภาษาอังกฤษแบบคาตาคานะ กำแพงกั้นการพัฒนาภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทางด้านอาหารหรือด้านไอที ในขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวอย่างมังงะ อะนิเมะ เกม อุตสาหกรรมยานยนต์ ทุกสิ่งดังกล่าวนี้ถูกนำมายำรวมกันจนเติบโตขึ้นเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
วัฒนธรรมญี่ปุ่นโดดเด่นอย่างยิ่งในด้านของความคิดสร้างสรรค์ในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างชาติให้กลายมาเป็นวัฒนธรรมออริจินัลของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น
・โอมุไรซ์ (オムライス) หรือข้าวหน้าไข่ ที่ต่อยอดมาจาก ออมเล็ต (オムレツ)
・ทาโก้ไรซ์ (タコライス) หรือข้าวทาโก้ ที่ต่อยอดมาจาก ทาโก้ (タコス)
จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นค่อนข้างเก่งเรื่องการรับและปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาจากต่างประเทศ แต่ในด้านของภาษาแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้จากภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาในลักษณะที่ค่อนข้างประหลาด ตัวอย่างเช่น คำว่า
・Application ก็กลายเป็นคำว่า Apuli (アプリ)
・Patrol Car กลายเป็น Patocaa (パトカー)
・Key chain กลายเป็น Key holder (キーホルダー)
・Air Conditioning กลายเป็น Eacon (エアコン)
ภาษาอังกฤษที่ใช้ตัวอักษรคาตาคานะเขียนจนเป็นภาษาญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นภาษาที่ปรกติสำหรับชาวญี่ปุ่นทั่วไป แต่หารู้ไม่ว่านี่คือปัญหาหนึ่งที่กีดขวางการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง
ในช่วงหลายปีมานี้อุตสาหกรรมบันเทิงจากต่างประเทศอย่าง Apple Music และ Spotify เข้ามาบุกตลาดญี่ปุ่นจนเกิดเป็นคำใหม่ๆ ให้ชาวญี่ปุ่นได้ใช้เช่น Subscribe ซึ่งต่อมาก็ถูกย่อเป็น Sabusuku (サブスク) อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้เรียกบริการ Subscribe แบบเดียวกันนี้ของช่องวีดีโอออนไลน์อย่าง Netflix หรือ Amazon Prime ว่า Sabusuku แต่กลับใช้คำที่แตกออกไป จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า Sabusuku มีความหมายว่าอะไรและย่อมาจากคำใด
ชาวญี่ปุ่นนั้นชื่นชอบการย่อคำ มักจะรับเอาคำย่อที่ ‘ออกเสียงง่าย’ ซึ่งใครก็ไม่รู้เป็นผู้เริ่มต้นขึ้น มาใช้จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าเป็นกลไกแปลกๆ อย่างหนึ่งในสังคมญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีคำที่บ่งถึงสิ่งนั้นๆ ในภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ก็นิยมเรียกสิ่งดังกล่าวด้วยภาษาอังกฤษแบบคาตาคานะ กรณีแบบนี้มีอยู่ไม่น้อย และสิ่งนี้เองที่กีดกั้นโอกาสในการทำความเข้าใจภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น คำว่า ‘ทาจิอาเคะ (立ち上げ)’ ที่แปลว่า ‘การเริ่มต้นอะไรบาง’ ในภาษาญี่ปุ่น มักถูกแทนด้วยคำว่า Launch ในภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปคาตาคานะจนกลายเป็น Roonchi (ローンチ) คำคาตาคานะจำพวก Poochi Paati (ローンチパーティ) หรือ Launch Party จึงถูกใช้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ชาวญี่ปุ่นสัมผัสกับภาษาอังกฤษแบบคาตาคานะแบบนี้ทุกวันจนเกิดความคุ้นเคย จนบางครั้งอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าคำง่ายๆ อย่าง Red, Black, Light, หรือ Right นั้นออกเสียงที่ถูกต้องว่าอย่างไร โดยเฉพาะการแยกเสียงตัว R และตัว L ที่ออกเสียงเหมือนกันในภาษาญี่ปุ่น ยิ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องยากยิ่งขึ้นไปอีก
6. ‘Wasei Eigo’ คำอังกฤษแบบญี่ปุ่นที่ใช้ได้เฉพาะในญี่ปุ่น
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่กีดกั้นการพัฒนาภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่น ก็คือ คำอังกฤษสไตล์ญี่ปุ่น หรือ ‘Wasei Eigo (和製英語)’ ชาวญี่ปุ่นนิยมผสมคำใหม่ๆ ที่ไม่มีในภาษาอังกฤษขึ้นเองเพื่อใช้อธิบายบางสิ่งบางอย่าง ตัวอย่างเช่น ลักษณะเด่นของคนที่ในภาษาอังกฤษมักเรียกว่า Best Feature นั้น กลับมีคำในภาษาญี่ปุ่นว่า Charm Point (チャームポイント) หรือการสัมผัสตัวกันระหว่างบุคคลที่เรียกว่า Physical Contact ก็กลับมีภาษาญี่ปุ่นว่า Skinship (スキンシップ) แม้กระทั่ง Wake-up Call บริการโทรปลุกในโรงแรม ก็ยังมีคำเฉพาะว่า Morning Call (モーニングコール) ไว้ใช้ในภาษาญี่ปุ่น
คำใหม่ๆ เหล่านี้ ทำให้ชาวญี่ปุ่นสะดวกในการใช้งานก็จริง แต่ก็ทำให้เกิดความสับสนเมื่อต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ และทำให้ภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างยากอยู่แล้วยากต่อการเรียนรู้ขึ้นไปอีก
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของ Wasei Eigo ก็คือ คำว่า Imechen (イメチェン) ที่ย่อมาจากคำว่า Image Change อีกที เป็นคำที่ใช้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอกของตนเอง ในกรณีที่อยากตัดผม ชาวญี่ปุ่นสามารถสื่อสารได้เลยว่า “I wanna image change” หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ imechen shitainda (イメチェンしたいんだ) แต่หากนำไปใช้ในต่างประเทศแล้วล่ะก็ รับรองได้ว่าผู้ฟังจะรู้สึกสับสนงงงวยอย่างแน่นอน
Wasei Eigo อีกหนึ่งคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ Tension (テンション) แม้ว่าในภาษาอังกฤษ Tension จะแปลว่าความเครียด แต่ในภาษาญี่ปุ่น Tension กลับแปลว่าความรู้สึกตื่นเต้น แน่นอนว่าหากไปพูดกับชาวต่างชาติว่า “I’m so high tension!” ก็จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกงงงวยเช่นกันเดียวกัน
เพราะ Wasei Eigo เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น อินเทอร์เน็ตหรือสื่อต่างๆ ก็นิยมใช้กันจนเป็นเรื่องปรกติ อาจกล่าวได้ว่า Wasei Eigo เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
บทสรุป
ปัจจัยทั้ง 6 ได้แก่ การเรียนภาษาอังกฤษแค่เพื่อสอบ, ระบบการศึกษาที่ไม่ได้เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่สำคัญจริงๆ, การขับเคลื่อนของกลุ่มสังคมที่กลัวความผิดพลาด จนพลาดโอกาสในการเรียนรู้, ความขาดโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษในสังคมญี่ปุ่น, ภาษาอังกฤษแบบคาตาคานะ, และ Wasei Eigo มีส่วนเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวทางการเรียนรู้และใช้งานภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่น แต่ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ สังคมญี่ปุ่นไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ทำให้ระบบการศึกษาและโครงสร้างสังคมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามเลยแม้แต่น้อย
ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมีความปรารถนาที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ที่ยังไม่สามารถก้าวถึงจุดนั้นได้เป็นเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร สิ่งที่สำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษให้ใช้งานได้นั้น อันดับแรกก็คือต้องพาตนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในสภาพสังคมโลกาภิวัตน์นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันหนึ่งญี่ปุ่นก็จะต้องการความเข้าใจภาษาอังกฤษที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หากเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ อาจทำให้โลกที่ตนมองเห็นอยู่นั้นเปิดกว้างขึ้นก็เป็นได้
หากคุณมีโอกาสได้มาญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ อยากกลัวไปว่าคนญี่ปุ่นจะพูดอังกฤษไม่ได้ ลองพูดอย่างช้าๆ และใช้ประโยคอย่างง่ายๆ แม้ว่าจะเป็นบทสนทนาสั้นๆ แต่ก็รับรองได้ว่าคุณจะสื่อสารกับคนญี่ปุ่นรู้เรื่องอย่างแน่นอน อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีความมั่นใจในการพูดภาษาอีกด้วยอีกด้วย
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่