แน่นอนว่าเราสามารถขับรถในญี่ปุ่นได้ และมันก็ไม่ยากด้วย! ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงความแตกต่างระหว่างการขับรถในญี่ปุ่นกับในประเทศอื่นๆ พร้อมบอกวิธีซื้อรถยนต์และการทำใบขับขี่, วิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และเคล็ดลับที่มือใหม่หัดขับในญี่ปุ่นควรรู้ หากคุณคิดจะเริ่มขับรถในญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ นี่เป็นบทความที่คุณไม่ควรพลาด!
สารบัญ
- ขับรถดีไหมนะ?
- ข้อแตกต่างที่สำคัญในการขับรถที่ญี่ปุ่น
- ข้อแตกต่างยิบย่อยในการขับรถที่ญี่ปุ่น
- ธรรมเนียมในการขับรถ
- การขับขี่ในญี่ปุ่น: ใบขับขี่
- หารถได้จากที่ไหน?
- เหตุฉุกเฉิน: สิ่งที่ต้องทำเมื่อเผชิญกับปัญหาบนท้องถนน
- รถยนต์ก็มีแล้ว ใบขับขี่ก็มีแล้ว งั้นจะไปไหนดี?
ขับรถดีไหมนะ?
เมื่อพูดถึงระบบขนส่งสาธารณะที่แสนสะดวกของญี่ปุ่นแล้ว การขับรถส่วนตัวก็อาจจะไม่ใช่วิธีการเดินทางวิธีแรกที่เรานึกถึง ผู้คนนิยมใช้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟใต้ดินในการสัญจรไปมา แต่การใช้รถยนต์ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเช่นกัน และหากใครวางแผนจะเดินทางออกไปนอกตัวเมือง รถยนต์ก็จะกลายเป็นตัวเลือกที่ง่ายและสะดวกที่สุดในทันที
เมื่อมีรถยนต์ เราก็ไม่จำเป็นต้องคอยพะว้าพะวงเรื่องเวลาวิ่งของรถไฟในพื้นที่แถบชนบทหรือเรื่องที่รถบัสมาไม่บ่อยอีกต่อไป เราสามารถไปสำรวจพื้นที่ได้อย่างอิสระตามสไตล์ของตัวเอง ดังนั้น หากใครตั้งใจจะมาอยู่หรือมาเที่ยวญี่ปุ่นก็อย่าเพิ่งมองข้ามการขับรถไป มาลองดูความแตกต่างระหว่างการขับรถที่ญี่ปุ่นกับที่ไทย ตามไปทำใบขับขี่ แล้วก็ออกเดินทางท่องเที่ยวกันเลย!
ข้อแตกต่างที่สำคัญในการขับรถที่ญี่ปุ่น
การขับรถในญี่ปุ่นอาจต่างจากประเทศอื่นในหลายๆ ด้าน บางอย่างก็เห็นได้ชัด เช่น ทิศทางการจราจร แต่บางอย่างก็อาจจะสังเกตยากอยู่สักหน่อย เช่น สัญญาณเลี้ยวขวาของไฟจราจร แน่นอนว่าเราควรจะจำเรื่องเหล่านี้เอาไว้ให้ได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คุณคิด หากได้ลองขับสักวันสองวันก็จะชินไปเอง
ทิศทางการจราจร
อย่างแรกที่ต้องรู้ คือ ญี่ปุ่นขับรถเลนซ้าย หากใครมาจากประเทศที่ขับเลนขวาก็อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวกันสักหน่อย เพราะพวงมาลัยจะอยู่คนละฝั่งกับรถที่คุณเคยขับ และสัญญาณไฟเลี้ยวกับที่ปัดน้ำฝนก็จะอยู่สลับด้านกันด้วย (เชื่อสิว่าต้องมีคนที่เผลอดีดที่ปัดน้ำฝนแทนไฟเลี้ยวอยู่บ่อยๆ) การเลี้ยวซ้ายจะมีระยะสั้นกว่า และเมื่อเลี้ยวขวาก็จะต้องวิ่งตัดถนนเลนอื่นไป
คุณอาจจะต้องใช้เวลาสักสองสามวันในการลองผิดลองถูก แต่เมื่อชินแล้วก็จะไม่ยากอีกต่อไป ถึงแม้ว่านี่จะเป็นข้อแตกต่างที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ปรับตัวได้ง่ายที่สุดเช่นกัน
กฎแปลกๆ บนท้องถนน
ที่จริงกฎจราจรญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่นๆ มากนัก เพียงแต่จะมีกรณีพิเศษที่ต้องจำเพิ่มอีกสักหน่อยเท่านั้น เช่น
1. หยุดทุกครั้งก่อนข้ามทางรถไฟ กฎข้อนี้เหมือนกับกฎของรถโรงเรียนในอเมริกา คือ เมื่อขับไปเจอทางรถไฟ ให้ถือว่าเป็นสัญญาณหยุดเสมอ คนขับจะต้องมองทั้ง 2 ด้านว่าให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟแล้วจึงขับต่อ โดยทั่วไปจะมีสัญญาณเตือนรถไฟไว้เป็นตัวบอก แต่ก็มีบางกรณีที่สัญญาณไม่ทำงานตามปกติเช่นกัน เพราะฉะนั้น คนขับทุกคนจึงควรฝึกเอาไว้ให้ชิน บางคนอาจคิดว่ากฎข้อนี้จะทำให้การจราจรเคลื่อนไหวช้าลงโดยไม่จำเป็น แต่เมื่อลองนึกถึงจำนวนรถไฟที่วิ่งไปมาในญี่ปุ่นแล้ว การระมัดระวังในเรื่องนี้ก็จะทำให้ปลอดภัยกว่า
2. ห้ามเลี้ยวซ้ายตอนไฟแดง กฎข้อนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งในญี่ปุ่นจะไม่อนุญาตให้เลี้ยวซ้ายตอนไฟแดง (หรือก็คือ เลี้ยวขวาตอนไฟแดงสำหรับประเทศที่ขับเลนขวานั่นเอง) เราสามารถเลี้ยวได้เมื่อสัญญาณไฟเป็นสีเขียวหรือเห็นลูกศรสีเขียวเท่านั้น ส่วนสีแดงจะหมายถึง การหยุด
ข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียวของกฎนี้ คือ ในกรณีที่บริเวณนั้นมีป้ายสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินที่มีลูกศรสีขาวชี้ไปทางด้านซ้าย (ตามภาพด้านล่าง) สัญลักษณ์นี้แปลว่า สามารถเลี้ยวซ้ายได้ตลอดไม่ว่าไฟจราจรจะเป็นสีอะไร อย่างไรก็ตาม เราก็จำเป็นจะต้องหยุดและมองซ้ายมองขวาก่อนเลี้ยวอยู่ดี
3. สัญญาณไฟแดงกับลูกศรสีเขียว อันนี้เห็นครั้งแรกก็อาจจะงงกันเล็กน้อย แต่เมื่อคุณเห็นลูกศรสีเขียวขึ้นพร้อมกับไฟแดง แปลว่า คุณสามารถขับรถต่อไปได้ แต่ต้องไปในทิศทางที่ลูกศรชี้เท่านั้น หากจะไปทางอื่นก็ต้องหยุดตามสัญญาณไฟแดง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าสัญญาณไฟจะเป็นสีอะไร หากลูกศรสีเขียวชี้ไปทางไหนก็แปลว่าสามารถไปในทิศทางนั้นได้
ความเร็ว
ญี่ปุ่นให้ขับรถค่อนข้างช้า หรือบางทีก็ช้ามาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอเมริกาเพราะที่นั่นขับรถบนถนนทั่วไปและทางยกระดับเร็วกว่าญี่ปุ่นถึง 10 – 20 ไมล์/ชั่วโมง (ประมาณ 16 – 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เลยทีเดียว แม้แต่บนทางด่วนก็ไม่อนุญาตให้ขับรถเร็ว ดังนั้น คุณจะต้องควบคุมความเร็วให้ดี และก็ต้องไม่ลืมสังเกตสัญญาณจราจรกับป้ายต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย
สัญลักษณ์ทางด้านซ้ายในรูปข้างบนมีไว้บอกความเร็วสูงสุด ส่วนด้านขวาจะเป็นความเร็วต่ำสุด (พบได้ไม่บ่อย) การจำกัดความเร็วของญี่ปุ่นอาจจะดูน่ารำคาญอยู่บ้างและทำให้เสียเวลาเดินทางมากกว่าปกติ แต่มันก็เป็นสิ่งที่สมควรจะระวังไว้เนื่องจากถนนในญี่ปุ่นค่อนข้างเล็กและคดเคี้ยว ถนนบางเส้นอาจอนุญาตให้รถวิ่งสวนเลนแม้ว่าที่จริงแล้วมันจะแคบจนรถวิ่งได้เพียงคันเดียวก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีจุดเลี้ยวหักศอกและเส้นทางลับอีกมากมาย การจำกัดความเร็วนี้นอกจากจะปลอดภัยกว่าแล้ว ยังสามารถเพิ่มเวลาให้คุณได้ตั้งตัวในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินด้วย
ป้ายจราจร
แม้ว่าป้ายจราจรส่วนใหญ่จะสามารถเข้าใจได้ทันทีที่เห็น แต่เมื่ออยู่บนถนนเราก็คงไม่มีเวลามานั่งมองอย่างละเอียดมากนัก ดังนั้นจึงควรทำความคุ้นเคยกับป้ายเหล่านี้เอาไว้ก่อนไปลงถนนจริง
หยุด (Stop)
ป้ายหยุดของญี่ปุ่นจะเป็นสามเหลี่ยมคว่ำสีแดง มีอักษรเขียนไว้ว่า 止まれ (Tomare) แปลว่าหยุด บางครั้งอาจจะมีภาษาอังกฤษเขียนไว้ด้วย แต่ก็ไม่ใช่ทุกอัน
ลดความเร็ว (Slow)
ป้ายนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้บางครั้งจะมีภาษาอังกฤษกำกับแต่โดยทั่วไปก็จะเห็นแค่อักษรญี่ปุ่น 徐行 (Jokou) เท่านั้น เมื่อเห็นป้ายนี้แล้วให้ลดความเร็วพาหนะลงจนถึง 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือน้อยกว่า เพื่อให้สามารถหยุดรถได้ทันทีที่จำเป็น
ห้ามเข้า (Do Not Enter)
ป้ายห้ามเข้าอาจจะดูชวนงงอยู่สักหน่อย เนื่องจากมีมากถึง 3 แบบ ส่วนใหญ่จะพบในเขตเมืองที่มีถนนแคบๆ เยอะ และส่วนใหญ่ก็เป็นถนนแบบแล่นทางเดียว เวลาเห็นป้ายนี้ก็อย่าเผลอเลี้ยวเข้าไปล่ะ
ห้ามจอด (Parking / No Parking)
ป้ายห้ามจอด 2 อันทางด้านซ้ายจะหน้าตาคล้ายกับป้ายห้ามเข้ามากๆ แต่จะมีข้อแตกต่างอยู่ตรงพื้นหลังที่เป็นสีน้ำเงิน โดยสีน้ำเงินนี้จะสื่อถึงป้ายสีน้ำเงิน (รูปขวาสุด) ที่หมายถึงอนุญาตให้จอดรถได้ซึ่งจะไม่ค่อยมีในญี่ปุ่น เพราะที่นี่มักไม่ค่อยอนุญาตให้จอดรถตามข้างถนนเหมือนประเทศอื่นๆ นอกเสียจากว่าพื้นที่นั้นจะอยู่นอกเขตเมือง
โดยทั่วไปเราจะต้องหาที่เช่าจอดรถเอา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณเห็นป้ายสีน้ำเงินที่มีตัวอักษรแบบในรูปขวาสุด นั่นหมายความว่าคุณสามารถจอดรถตามถนนได้นานเท่าที่ป้ายระบุไว้ (ในที่นี้คือ 60 นาที) โดยต้องอยู่ภายในช่วงเวลาที่กำหนด (ในที่นี้คือ 8:00 – 20:00 น.)
ถนนเดินรถทางเดียว (One – Way Traffic)
ป้ายด้านบนนี้ใช้สื่อว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนแบบเดินรถทางเดียว ซึ่งคุณสามารถไปกลางถนนได้เลยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีรถสวน แต่ยังไงก็ควรระวังพวกจักรยานเอาไว้ด้วย เนื่องจากพวกนี้มักได้รับการยกเว้นและสามารถวิ่งสวนทางได้
และทั้งหมดนี้ก็คือ ป้ายจราจรสำคัญๆ ในญี่ปุ่นที่เราทุกคนควรรู้ไว้ หากต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถตามไปดูได้ที่ เว็บไซต์ของ Japan Automobile Federation (JAF) หากเลื่อนลงไปก็จะเจอข้อมูลป้ายจราจรให้ศึกษาเพิ่มเติม
ข้อแตกต่างยิบย่อยในการขับรถที่ญี่ปุ่น
สัญญาณไฟเลี้ยวขวาจะปรากฏขึ้นเป็นอันดับสุดท้าย ไม่ใช่อันดับแรก
นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ยังมีข้อแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจำและควรตื่นตัวคอยสังเกตอยู่เสมอด้วย
อันนี้จะตรงข้ามกับอเมริกาซึ่งสัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายจะขึ้นมาก่อนเป็นอย่างแรก ในญี่ปุ่น หากคุณอยู่บริเวณทางแยกและต้องการเลี้ยวขวา คุณจะต้องรอจนสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีแดงและสัญลักษณ์ลูกศรสีเขียวปรากฏขึ้นมาก่อนถึงจะเลี้ยวได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องเร่งความเร็วหากเห็นสัญญาณไฟกำลังจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
ปั๊มน้ำมันมี 2 แบบ
อาจจะดูล้าสมัยไปสักหน่อย แต่ในญี่ปุ่นจะมีปั๊มน้ำมัน 2 แบบ คือ แบบบริการตัวเองกับแบบมีพนักงานมาเติมให้ หากใครชอบจัดการด้วยตัวเองมากกว่าก็ให้มองหาปั๊มที่มีอักษรคาตาคานะ [セルフ] เขียนเอาไว้ ส่วนปั๊มที่มีบริการแบบครบครันก็มักจะมีพนักงานเดินมาถามว่าต้องการเติมน้ำมันหรือแก๊สแบบไหน จำนวนเท่าไร หากตอบว่า “Regular” กับ “Full” หรือ “Mantan” ก็จะได้เติมแก๊สธรรมดาแบบเต็มถัง
การล็อกรถที่ลานจอดรถ
เวลาใช้บริการลานจอดรถด้านนอกอาคาร (ไม่ใช่โรงรถ) แบบเสียเงิน พนักงานจะล็อกรถเอาไว้จนกว่าเราจะจ่ายค่าบริการ โดยในทุกๆ ช่องที่จอดจะมีกลไกโลหะอยู่ เมื่อขับผ่านและจอดรถแล้วประมาณ 5 นาที กลไกก็จะทำงานและยกแท่งโลหะขึ้นมาล็อกรถไว้ไม่ให้ขยับ หากฝืนขับรถออกไปทั้งอย่างนั้นก็จะทำให้รถเสียหายได้ ดังนั้น เราขอแนะนำว่าอย่าดีกว่า
วิธีที่ถูกต้อง คือ เราต้องเดินไปที่ตู้เพื่อกดหมายเลขของที่จอดและตรวจสอบค่าจอดรถ เมื่อจ่ายเงินครบตามที่ระบุเอาไว้แล้วกลไกก็จะคลายออกเองโดยอัตโนมัติ แล้วเราก็จะมีเวลาระยะหนึ่งในการนำรถออก ข้อควรระวัง คือ เราต้องเอารถออกไปให้ทัน เพราะหากจอดรถค้างไว้นานเกินไป กลไกก็จะรีเซ็ตตัวเองและยกขึ้นมาล็อกรถอีกครั้งนั่นเอง
โทลเวย์ราคาแพง และ ทางด่วนฟรีสำหรับรถโดยสาร
สำหรับใครที่คิดจะขับรถทางไกลและต้องการประหยัดเวลา การใช้โทลเวย์ก็เป็นตัวเลือกที่ดีอันหนึ่ง โทลเวย์ในญี่ปุ่นเป็นของบริษัทเอกชน จึงมีการบำรุงรักษาอย่างดีทำให้ขับสบาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีค่าบริการที่สูงพอสมควร ในประเทศอื่นการขับรถอาจเป็นวิธีการเดินทางที่แม้จะใช้เวลานานแต่ก็ถูกกว่า แต่ที่ญี่ปุ่นนั้น บอกเลยว่าทั้งแพงและใช้เวลาเยอะ
ราคาโทลเวย์จะใกล้เคียงกับค่ารถไฟในระยะเวลาเดียวกัน หรือบางครั้งก็ใกล้เคียงกับค่าเครื่องบิน เช่น ค่าโทลเวย์จากโตเกียวไปโอซาก้าจะอยู่ที่ 12,000 เยน และใช้เวลาขับรถประมาณ 5 ชั่วโมง (ในกรณีที่ไม่มีรถติดเลย ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก) เมื่อรวมกับค่าน้ำมันแล้วก็ออกมาแพงกว่าขึ้นชินคันเซ็นซึ่งราคา 14,720 เยนเสียอีก แถมรถไฟยังใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาทีซึ่งถือว่าเร็วกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม การขับรถเองก็มีข้อดี คือ เราจะหยุดพักที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ยิ่งหากมีเพื่อนร่วมทางหลายคนก็จะยิ่งคุ้ม และถ้าต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายก็สามารถเลือกที่จะไม่ขึ้นโทลเวย์ได้ เพราะถนนแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายก็มีอยู่เยอะแยะ แต่ในเรื่องนี้ก็มีอีกสิ่งที่คุณต้องรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ ในญี่ปุ่นจะไม่มีระบบทางด่วนฟรีที่สามารถขับรถบนโทลเวย์ในระยะไกลๆ ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนในบางประเทศ ถึงแม้จะมีทางด่วนท้องถิ่นและถนนระหว่างจังหวัดอยู่บ้าง แต่โดยส่วนมากจะใช้เป็นทางสำหรับรถโดยสารระหว่างเมืองมากกว่า (ไม่ได้มีไว้สำหรับบุคคลทั่วไป) และเมื่อเทียบกับโทลเวย์แล้วอาจจะต้องขับนานกว่า 2 ถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
สำหรับคนที่จะใช้โทลเวย์ สามารถจ่ายค่าบริการได้ 2 วิธี ซึ่งวิธีแรก คือ ใช้ตั๋ว โดยเมื่อถึงทางเข้าทางยกระดับ ให้เราขับไปเข้าเลนที่ไม่ได้เขียนว่า “ETC” จากนั้นก็ไปที่บูธแล้วหยิบตั๋ว เมื่อถึงเวลาออกจากโทลเวย์ก็คืนตั๋วแล้วชำระค่าบริการตามกำหนด (อย่าลืมพกเงินสดติดตัวไปด้วยนะ!) วิธีที่สอง คือ ใช้บัตร ETC ซึ่งเป็นระบบชำระเงินอัตโนมัติที่ผูกอยู่กับบัตรเครดิต ส่วนมากผู้ใช้จะเป็นคนที่ต้องอยู่ญี่ปุ่นนานๆ หรือคิดว่าจะใช้ทางยกระดับโทลเวย์บ่อยๆ
ธรรมเนียมในการขับรถ
ธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องจำเหมือนกฎต่างๆ ด้านบน แต่ก็เป็นนิสัยการขับรถที่ดีที่ผู้ขับขี่ชาวญี่ปุ่นมักจะปฏิบัติกัน
จอดรถแบบกลับหัวออก
ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะถูกสอนให้จอดรถแบบถอยหลังเข้า แทนที่จะเข้าตรงๆ แล้วถอยหลังตอนออก หากใครไม่ถนัดการถอยหลังเข้าก็ไม่จำเป็นต้องทำตาม แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะขับเลยที่จอดไปแล้วค่อยหยุดเพื่อถอยรถเข้าซอง หากเราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ก่อนก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ดังนั้นเวลาเข้าไปในลานจอดรถที่มีการจราจรคับคั่งก็ควรระวังในจุดนี้เอาไว้ด้วย
ใส่เบรกมือเวลาจอดรถ
ด้วยความที่ญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นเนินเขาค่อนข้างเยอะ ชาวญี่ปุ่นจึงถูกสอนให้ใส่เบรกมือเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนดับเครื่องยนต์ แน่นอนว่านี่ก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องทำก่อนออกรถเช่นกัน
ไฟฉุกเฉินใช้ได้หลายสถานการณ์
ที่ญี่ปุ่น คนจะใช้ไฟฉุกเฉินบ่อยกว่าประเทศอื่นๆ มาก หนึ่งในการใช้งานที่สำคัญที่สุด คือ ใช้สำหรับเตือนรถด้านหลังในกรณีที่เราต้องลดความเร็วกะทันหันบนโทลเวย์ (มักจะพบบ่อยในการขับรถทางไกล เพราะการจราจรค่อนข้างติดขัด)
อีกสถานการณ์หนึ่งที่ใช้บ่อย คือ ใช้สื่อคำขอบคุณถึงรถด้านหลัง แต่อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องของมารยาทมากกว่าความจำเป็น หากเราเปิดทางให้รถอีกคันเข้าเลนมาได้ เจ้าของรถก็มักจะกดไฟฉุกเฉินเพื่อขอบคุณแทนที่จะโบกมือเฉยๆ และการกดไฟฉุกเฉินนี้ก็เป็นธรรมเนียมในการแสดงความขอบคุณโดยทั่วไปด้วย จะจำแล้วนำไปใช้บ้างก็ไม่เสียหาย
ใช้เลนขวา เวลาแซง
สำหรับการขับรถเลนซ้ายบนถนนหลายเลน เลนขวาสุดจะเป็นเลนที่ใช้เพื่อแซงรถคันหน้า ทั่วไปเราจะสามารถขับรถได้เร็วกว่าบนเลนขวา แต่ไม่ควรขับแช่ในเลนนี้นานๆ เราแนะนำให้ใช้เลนขวาเพื่อแซงรถที่อยู่ในเลนซ้าย และเมื่อแซงได้แล้วก็ควรกลับไปขับเลนซ้ายเหมือนเดิม
กระจกสีส้มเอาไว้สำหรับดูตามมุมต่างๆ
ข้อนี้ค่อนข้างจะก้ำกึ่งระหว่างเป็นกฎกับนิสัยที่ควรฝึก สิ่งหนึ่งที่สามารถพบได้ตามท้องถนนในญี่ปุ่นก็คือกระจกสีส้ม เนื่องจากถนนหนทางในญี่ปุ่นมักจะแคบและคดเคี้ยว ไม่มีทางตรงมากนัก ทำให้มีโค้งหักศอกและมุมอับสายตาเยอะตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ทางเลี้ยวและแยกต่างๆ จึงมักจะมีกระโจกโค้งติดไว้ใช้เพื่อให้มองเห็นและจะได้ไม่ตกใจเวลาเจอรถที่มาจากอีกทางหนึ่ง กระจกเหล่านี้จะมีประโยชน์เป็นพิเศษเมื่ออยู่ในเมืองที่มีกำแพงอยู่ติดริมถนนหรือเวลาใช้ทางขึ้นเขา ซึ่งมักจะมีมุมและทางลาดชันที่ทำให้มองไม่เห็นรถสวนอยู่เต็มไปหมด
รู้ได้ง่ายๆ ว่าเป็นมือใหม่หัดขับ, คนขับอายุมาก หรือรถเช่า
เราสามารถระบุตัวผู้ขับขี่มือใหม่ ผู้ขับที่เป็นคนชรา คนพิการ หรือผู้พิการทางการได้ยินได้ง่ายๆ โดยดูจากสติกเกอร์ที่แปะไว้ที่หลังยานพาหนะ สติกเกอร์เหล่านี้มีไว้เตือนผู้ขับขี่คนอื่นๆ เพื่อให้คนมีน้ำใจบนท้องถนนกันมากขึ้น (ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วเราควรจะมีน้ำใจกับทุกคนก็ตาม) หากใครทำใบขับขี่ในญี่ปุ่นได้ไม่ถึง 1 ปี แม้ว่าจะเคยมีใบขับขี่ในต่างประเทศมาก่อนแล้วก็ต้องแปะสติกเกอร์มือใหม่หัดขับไว้ด้านหลังรถจนกว่าจะครบปีด้วยเช่นกัน หน้าตาของสติกเกอร์แบบต่างๆ และความหมายก็จะเป็นดังรูปภาพด้านล่าง
* ความหมายเรียงจากซ้ายไปขวา:
มือใหม่หัดขับ – คนขับเป็นผู้สูงอายุ – คนขับเป็นผู้พิการ – คนขับเป็นผู้พิการทางการได้ยิน
นอกจากนี้เรายังสามารถรู้ข้อมูลบางอย่างของรถแต่ละคันได้จากป้ายทะเบียนรถด้วย ทะเบียนรถญี่ปุ่นจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวหนึ่งแล้วตามด้วยเลข 4 หลัก หากตัวอักษรที่นำหน้าเป็น わ (wa) หมายความว่ารถคันนั้นเป็นรถเช่า หากเป็น Y หรือ A แสดงว่าเป็นรถของบุคลากรกองทัพสหรัฐ ส่วนป้ายทะเบียนที่เป็นสีเหลืองจะบอกว่ารถคันนั้นเป็น “Kei Jidosha” หรือรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 600 ซีซี เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ แต่หากรู้ไว้ก็จะทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นบนถนนได้มากขึ้น เช่น ทำไมรถบางคันถึงขับช้ากว่ารถคันอื่น
การขับขี่ในญี่ปุ่น: ใบขับขี่
หากใครอยากจะขับรถในญี่ปุ่นก็ต้องมีใบอนุญาตขับขี่สากลหรือใบขับขี่ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่ว่าจะแบบไหนก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องผ่านกระบวนการเยอะพอสมควร
ใบอนุญาตขับขี่สากล (International Driving Permits)
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่ต้องการขับรถในญี่ปุ่น แค่เพียงมีใบอนุญาตขับขี่สากลจากประเทศใดประเทศหนึ่งในรายชื่อนี้ ก็สามารถขับรถโดยถูกกฎหมายได้แล้ว การทำใบอนุญาตในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน แต่หากลองเสิร์ชกูเกิ้ลดูสักนิดก็สามารถรู้รายละเอียดได้แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวัง คือ ใบอนุญาตขับขี่สากลจะมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น หากคุณไปในฐานะนักท่องเที่ยวก็คงไม่มีปัญหา แต่หากบัตรหมดอายุไปแล้วและคุณยังอยากจะขับรถในญี่ปุ่นต่อก็จะต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม หากใครตั้งใจจะอยู่ญี่ปุ่นแบบระยะยาวก็ควรเปลี่ยนไปใช้ใบขับขี่ญี่ปุ่นให้เร็วที่สุด เพราะตามกฎหมายญี่ปุ่น เราจะสามารถใช้ใบอนุญาตขับขี่สากลได้ก็ต่อเมื่อเราพำนักในประเทศที่ต้นทางอย่างน้อย 2 เดือนก่อนจะขอใบอนุญาตเท่านั้น นั่นหมายความว่าหากใบอนุญาตนี้เกิดหมดอายุระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่น เราจะไม่สามารถยื่นขอใบใหม่ทางอีเมลเพื่อให้ส่งเอกสารมาที่ญี่ปุ่น แล้วขับรถต่อทันทีได้ หากคุณต้องการใช้ต่อก็อาจจะต้องกลับไปอยู่บ้านสัก 2 เดือนก่อนยื่นขอแล้วค่อยกลับมาใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือ ใบอนุญาตขับขี่สากลจะให้เวลาเรา 1 ปีในการสอบใบขับขี่ญี่ปุ่นนั่นเอง
การทำใบขับขี่ญี่ปุ่น
การทำใบขับขี่ในญี่ปุ่นจะไม่ใช่เรื่องที่ยากหากเราเคยมีใบขับขี่ในต่างประเทศมาก่อน (แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนที่เพิ่งหัดขับ) บางขั้นตอนอาจจะดูน่าเบื่อแต่ก็ตรงไปตรงมาดี อาจจะใช้เวลามากหน่อย หากใครตั้งใจจะทำ เราก็ขอแนะนำให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ
สิ่งแรกที่เราต้องมี คือ ใบขับขี่ที่ยังใช้งานได้ (ไม่นับใบขับขี่ที่หมดอายุแล้ว) โดยเราจะต้องถือใบขับขี่นี้ไว้อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้าประเทศญี่ปุ่น หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้เราก็จะต้องไปเริ่มกระบวนการทำใบขับขี่ใหม่ทั้งหมด กล่าวคือ ต้องสมัครเข้าโรงเรียนขับรถและเรียนจนจบคอร์สด้วย ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินและเวลาไม่น้อยเลย
ลำดับต่อไป คือ การแปลใบขับขี่เป็นภาษาญี่ปุ่น สถานทูตบางแห่งอาจมีบริการแปลให้ แต่โดยทั่วไปเราจะต้องไปให้ทางสำนักงานของ Japan Auto Federation (JAF) ทำให้ โดยมีค่าธรรมเนียม 3,000 เยนและใช้เวลาประมาณครึ่งวัน แต่ในบางแห่งอย่างที่โอกินาว่าก็อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ ดังนั้นจึงควรวางแผนล่วงหน้าให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ เรายังต้องไปที่สำนักงานเขตและขอสำเนา “Juminhyo” (หนังสือรับรองถิ่นที่พักอาศัย) ซึ่งจะเป็นตัวบอกทางศูนย์ออกใบขับขี่ว่าที่อยู่ในทะเบียนเราตรงกับที่อยู่ที่แจ้งไว้ โดยทั่วไปจะเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 300 เยน
จากนั้นเราก็จะต้องไปยังศูนย์ใบขับขี่ในเขตที่พักอาศัย (ในแต่ละจังหวัดมักจะมีอยู่ 1-2 แห่ง) โดยต้องนำสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปด้วย
- Residence Card (ไซริวการ์ด)
- หนังสือรับรองถิ่นที่พักอาศัย
- พาสปอร์ต
- ใบขับขี่ที่ใช้งานได้
- หลักฐานรับรองว่าพำนักอยู่ในประเทศที่ออกใบขับขี่อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้าญี่ปุ่น (หากไม่สามารถยืนยันจากเอกสารอื่นได้)
- ฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นของใบขับขี่ต่างประเทศ
- รูปถ่ายขนาดเท่ารูปทำพาสปอร์ต 2 รูป
- ใบอนุญาตขับขี่สากล (ถ้ามี)
- ค่าธรรมเนียม (ประมาณ 5,000 เยน)
- แว่นสายตา (หากระบุว่าจำเป็นในใบขับขี่)
เมื่อไปถึงศูนย์และจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เราก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการที่ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน (ในโตเกียวอาจนานกว่านี้) หากเป็นคนที่มาจากประเทศที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง License Reciprocity Agreement กับญี่ปุ่น ก็สามารถกรอกเอกสารแล้วรอพิมพ์ใบขับขี่ได้เลยโดยไม่ต้องสอบข้อเขียนหรือสอบภาคปฏิบัติใดๆ โดยประเทศที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่:
ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา (เฉพาะใบขับขี่จากฮาวาย เวอร์จิเนีย วอชิงตัน และแมรีแลนด์) สหราชอาณาจักร, อิตาลี, ออสเตรีย, ออสเตรเลีย, เนเธอร์แลนด์, แคนาดา, เกาหลีใต้, กรีซ, สวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน, สเปน, สโลวีเนีย, สาธารณรัฐเช็ค, เดนมาร์ค, เยอรมนี, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, ฮังการี, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, โปแลนด์, โปรตุเกส, โมนาโก, ลักเซมเบิร์ก และไต้หวัน (*ไม่มีประเทศไทย)
สำหรับคนที่มาจากประเทศอื่น กระบวนการก็จะยุ่งยากขึ้นอีกนิดหน่อย อันดับแรกเราจะต้องเข้ารับการสัมภาษณ์ โดยจะเป็นการสัมภาษณ์สั้นๆ และมักจะเป็นภาษาญี่ปุ่น คำถามจะเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเวลาขอใบขับขี่ในประเทศบ้านเกิด, ระยะเวลาที่ขับรถ, คลาสเรียนที่เคยเข้า ฯลฯ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างพื้นฐานและไม่มีอะไรต้องกังวลอะไรมากนัก สำหรับใครที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ก็สามารถพาเพื่อนญี่ปุ่นไปช่วยได้
ลำดับต่อไปก็จะเป็นการสอบข้อเขียน โดยจะมีให้เลือกทั้งหมด 11 ภาษา (รวมภาษาอังกฤษ) อันนี้ก็พื้นฐานอีกเช่นกัน โดยข้อสอบจะเป็นการตอบถูก-ผิด เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ บนท้องถนน ประมาณว่า “ต้องทำอย่างไรเมื่อเจอไฟแดง?” หรือ “สามารถจอดรถที่นี่ได้หรือไม่?” หากเคยขับรถมาก่อนก็คงผ่านฉลุยแน่นอน แต่หากใครไม่มั่นใจก็สามารถเตรียมตัวโดยใช้ หนังสือของ JAF ได้ เล่มนี้ขายในราคา 1,000 เยน
ถัดมาจะเป็นการสอบปฏิบัติซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด คนที่สอบตกครั้งสองครั้งถึงจะผ่านก็มีอยู่ไม่น้อย การสอบจะจัดบนทางสำหรับขับรถ มีการวางเส้นทางไว้ตั้งแต่ก่อนที่เราไปถึงแล้ว คุณสามารถศึกษาแผนที่และจำเส้นทางก่อนสอบได้ เราขอแนะนำว่าเตรียมตัวมาก่อนจะดีที่สุด
เส้นทางที่ขับจะพาเราไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เราจะได้เจอบนถนนจริง เช่น การเลี้ยวขวาที่ทางแยก, การขับข้ามเนินเขา, การหยุดรถก่อนถึงทางรถไฟ, เลี้ยวหักศอกบนถนนแคบๆ ฯลฯ โดยจะมีผู้สอนคอยชี้นำไปตลอดทาง สิ่งที่ผู้สอนจะให้สนใจมากที่สุดระหว่างสอบ คือ ดูว่าเราขับบนเลนซ้ายหรือไม่, ขับช้าพอไหม, คอยดูกระจก เช็กจุดบอด และปฏิบัติตามสัญญาณจราจรได้อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า ตอนเลี้ยวหักศอกเราจะได้รับอนุญาตให้ขับตกไหล่ทางได้ 1 ครั้ง โดยต้องขับกลับขึ้นมาบนถนนให้ได้ด้วย อาจจะฟังดูเข้มงวดไปบ้าง แต่ถ้าค่อยขับและปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องแล้ว การสอบก็ไม่ได้ยากไปกว่าการขับรถบนถนนจริงเลย ขอเพียงแต่ระมัดระวังและมั่นใจในตัวเอง (แบบไม่มากเกินไป) ก็จะสามารถผ่านการสอบ 10 นาทีนี้ไปได้ไม่ยาก
หารถได้จากที่ไหน?
เช่ารถ
ในญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการรถเช่าอยู่มากมาย ส่วนมากเป็นของบริษัทใหญ่ๆ โดยจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยว เว็บไซต์ของทางบริษัทจึงมักเป็นภาษาอังกฤษแถมยังสามารถจองออนไลน์ได้ด้วย การจะเช่ารถในญี่ปุ่นได้นั้นผู้เช่าจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีใบขับขี่ญี่ปุ่นหรือใบอนุญาตขับขี่สากลที่ยังไม่หมดอายุ ส่วนราคาเมื่อเทียบกับรถไฟหรือขนส่งสาธารณะแล้วก็นับว่าแพงพอสมควร หากเดินทางในเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ก็แนะนำว่าไม่ใช้รถส่วนตัวจะดีกว่า
แต่หากใครอยากออกไปเที่ยวในแถบชนบทหรือต้องการความเป็นส่วนตัวในการเดินทาง ค่าเช่ารถจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 เยนต่อวันสำหรับรถขนาดเล็ก ไปจนถึง 15,000 เยนสำหรับรถคันใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีค่าประกัน (แนะนำให้ทำไว้เผื่อกรณีที่รถเกิดความเสียหายจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าซ่อมเยอะ) กับค่าน้ำมันด้วย รวมๆ แล้วสำหรับรถเล็กก็จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 เยนต่อวัน
บริษัทใหญ่ๆ ที่ให้บริการรถสำหรับเช่า เช่น Nippon Rent-A-Car, Toyota Rent a Car, Times Car Rental, และ Nissan Rent a Car ราคาของแต่ละเจ้าจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน รถยนต์ใหม่และไว้ใจได้ แต่นอกจากกลุ่มนี้ก็จะยังมีบริษัทรถเช่าราคาประหยัดที่ราคาต่ำกว่า เจ้าดังๆ ก็อย่างเช่น Niko Niko Rent a Car อย่างไรก็ตาม บริษัทในกลุ่มนี้มักให้เช่าเฉพาะผู้ที่มีใบขับขี่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น และไม่ค่อยมีการให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับใครที่มีใบขับขี่ญี่ปุ่นและสามารถเข้าใจภาษาญี่ปุ่นได้ หากใช้บริการนี้ก็จะช่วยประหยัดเงินไปได้เยอะทีเดียว
หากต้องการเช่ารถก็อย่าลืมเช็กตารางวันและเวลาที่จะใช้ให้ดี แล้วก็อย่าลืมจองล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเดือนด้วย เนื่องจากรถเช่าส่วนใหญ่จะถูกจองเต็มหมดในช่วงวันหยุดยาว
รถเช่าในญี่ปุ่นมักจะมีระบบ GPS ในตัว และส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษด้วย เป็นตัวช่วยที่ดีที่สามารถนำทางเราผ่านถนนหนทางที่แสนซับซ้อนของญี่ปุ่นไปได้
ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น: จะเช่าเหมา ซื้อ เช่ารายครั้ง หรือแชร์รถดี?
หากคิดว่าจะมีโอกาสได้ใช้รถส่วนตัวบ่อยๆ ก็มีทางเลือกในการหารถได้หลายแบบ ดังนี้:
แบบแรกจะเป็นการหารถยนต์ส่วนตัว หากตั้งใจจะอยู่ญี่ปุ่นไม่เกินปีหรือสองปี การเช่าเหมาก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการซื้อใหม่ การเช่าเหมารถยนต์จะทำให้เราไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนู่นนี่นั่นที่มาพร้อมกับการเป็นเจ้าของรถ เช่น “Shaken” หรือค่าตรวจสอบซ่อมบำรุงที่จำเป็น หรือหากใครไม่ซีเรียสกับการขับรถมือสอง ก็สามารถหาซื้อรถยนต์ใช้แล้วได้เช่นกัน โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นมักจะไม่ชอบของที่ใช้แล้ว ทำให้รถมือสองมีราคาถูกมาก สามารถไปดูรถราคาถูกกันได้ที่นี่ Gulliver Frima
ส่วนคนที่จะอยู่ญี่ปุ่นมากกว่า 2 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะรวม Shaken แล้วการซื้อรถก็จะยังถูกกว่าการเช่าเหมา โดยทั่วไปแล้วก็งบว่าเรามีมากแค่ไหน และอยากจะแบกความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของรถมากแค่ไหนเสียมากกว่า
แต่หากคิดว่านานๆ ทีจะมีโอกาสขับ เช่น ในช่วงวันหยุด การเช่าหรือ Car Share (การแชร์รถยนต์) ก็เป็นตัวเลือกที่จับต้องได้มากกว่า นอกจากจะไม่ต้องซื้อรถทั้งคันแล้วยังไม่ต้องจ่ายค่าจอดรถอีกด้วย สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ตัวเลือกที่สะดวกก็คงเป็น Times Car Share ซึ่งมีค่าสมาชิกรายเดือนไม่สูงมาก และมีรถหลายพันคันจอดให้บริการอยู่ตามลานจอดรถทั่วประเทศ เราสามารถจองรถที่อยู่ใกล้ๆ และใช้นานเท่าที่ต้องการ โดยจะคิดค่าบริการจากเวลาและระยะทางที่ขับ รวมถึงต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง หากคุณอยากขับรถไปยังเมืองข้างๆ แบบเร็วๆ หรือไปช็อปปิ้งตามร้านค้าใหญ่ๆ ในเมือง การแชร์รถก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลว แต่หากจะใช้เดินทางยาวๆ หรือไปเที่ยวหลายๆ วัน การเช่ารถไปเลยก็จะถูกกว่า
หากคิดว่าจะใช้รถเพียงไม่กี่ครั้งต่อเดือน เราแนะนำให้ลองใช้ระบบแชร์รถกับเช่ารถสลับๆ กัน หากวางแผนจัดการดีๆ ก็จะเสียเงินน้อยกว่าการซื้อรถยนต์มากๆ แถมยังสามารถใช้งานได้สะดวกเหมือนกันด้วย
เหตุฉุกเฉิน: สิ่งที่ต้องทำเมื่อเผชิญกับปัญหาบนท้องถนน
กรณีเกิดอุบัติเหตุ
การรับมือกับอุบัติเหตุในญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากในประเทศอื่นเท่าไรนัก กระบวนการทั่วไปจะเป็นดังนี้:
- ตรวจสอบสภาพของผู้โดยสารทุกคน หากมีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง ให้เรียกรถพยาบาลทันทีโดยโทรไปที่ 119 หากไม่สามารถพูดญี่ปุ่นได้ ทางโอเปอเรเตอร์จะต่อสายไปยังพนักงานที่พูดอังกฤษได้ให้เอง ให้ถือสายรอจนกว่าจะได้คุย
- พยายามป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น เปิดไฟฉุกเฉิน หากยานพาหนะยังใช้ได้ให้ขยับไปอยู่ทางซ้ายของถนน วางสามเหลี่ยมสะท้อนแสงและ Flare (มักจะอยู่ที่กระโปรงหลังรถ) โดยกะจะระยะให้อยู่ห่างจากยานพาหนะไปด้านหลังราว 50 เมตรเพื่อเตือนคนอื่น และไปยืนรอที่ริมถนน
- เรียกตำรวจโดยต่อสายไปที่ 110 หากจำเป็นจะมีโอเปอเรเตอร์ต่อสายไปยังคนที่พูดอังกฤษได้เช่นเดียวกับ 119 ตามกฎหมายญี่ปุ่นแล้วเราจำเป็นจะต้องติดต่อและรอตำรวจในกรณีเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นขั้นตอนที่ห้ามข้ามไปโดยเด็ดขาด เมื่อตำรวจมาถึงแล้วก็ให้ตอบคำถามและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
- แลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่กรณี ถามชื่อ-ที่อยู่ และช่องทางการติดต่อของคนขับอีกคนหนึ่ง และจดเลขป้ายทะเบียนเอาไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะเอาไว้สำหรับติดต่อกับบริษัทประกัน หรือเผื่อต้องติดต่อคู่กรณีโดยตรงในภายหลัง
- ติดต่อบริษัทประกันหรือบริษัทรถเช่า (ในกรณีที่เช่ารถมา) เพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้บริษัทรับรู้ ทางบริษัทอาจจัดรถพ่วงมาให้หากจำเป็น
กรณีรถเสีย
หากรถเสียกะทันหันขณะที่อยู่บนท้องถนน ก็สามารถทำตามกระบวนการดังต่อไปนี้:
- เปิดไฟฉุกเฉิน และขยับรถให้ไปอยู่ทางซ้ายสุดของถนน
- หากมีไฟลุกไหม้ที่กระโปรงหน้า ให้ต่อสายหาสถานีดับเพลิงทันทีโดยโทร 119
- วางสามเหลี่ยมสะท้อนแสง และ/หรือ Flare ที่อยู่ในกระโปรงหลังรถไว้ที่ระยะ 50 เมตรจากรถเพื่อเตือนคนขับคนอื่นๆ ว่าเกิดเหตุฉุกเฉิน
- ติดต่อบริษัทประกันหรือบริษัทรถเช่า (ในกรณีที่เช่ารถมา) เพื่อแจ้งข่าวและจัดหารถพ่วง
รถยนต์ก็มีแล้ว ใบขับขี่ก็มีแล้ว งั้นจะไปไหนดี?
เมื่อมายังญี่ปุ่น การขับรถก็เป็นตัวเลือกการเดินทางที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าระบบขนส่งสาธารณะของที่นี่จะทั่วถึงแค่ไหน ก็ยังมีหลายพื้นที่ในญี่ปุ่นที่ไม่สามารถเดินทางไปได้ด้วยรถไฟอยู่ดี หากมีรถยนต์ก็จะสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ แถมยังสะดวกสบายและมีโอกาสได้ชื่นชมความสวยงามที่หาที่ไหนไม่ได้นอกจากบนท้องถนนของญี่ปุ่นอีกด้วย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมาะกับการขับรถเที่ยว Road Trip แบบสุดๆ ลองออกไปนอกเมืองและตั้งแคมป์ หรือตามหาสถานที่ดูดาวสุดตระการตาดู หากขับรถจนเหนื่อยแล้ว จะลองแวะตามจุดแวะพักริมถนนที่เรียกว่า michi-no-eki ชื่อดังของญี่ปุ่น เพื่อลิ้มลองอาหารและหาซื้อสินค้าท้องถิ่นได้
สรุปคือการขับรถในญี่ปุ่นถือเป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมันเป็นวิธีการเดินทางในประเทศที่แสนวิเศษเลยเชียวล่ะ
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่