ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น ฝนตกหนัก หรือแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยที่คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นช่วงไหนในระหว่างที่คุณอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ในบทความนี้เราจะมาแนะนำอุปกรณ์ที่คุณควรมีติดไว้เผื่อใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติเหล่านี้
วันที่ 1 กันยายน “วันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ”
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปีเป็น “วันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ (防災の日)” ให้ประชาชนทุกคนกลับมาทบทวนการเตรียมพร้อมรับมือและเอาตัวรอดจากการเกิดภัยพิบัติ เพื่อเป็นการปกป้องชีวิตของตนเองและผู้อื่น เหตุที่กำหนดให้เป็นวันนี้ก็เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในภูมิภาคคันโตเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2466 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 100,000 คน
นอกจากนี้ ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน (รวมเป็น 1 สัปดาห์) ของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็น “สัปดาห์ป้องกันภัยพิบัติ (防災週間)” โดยโรงเรียน บริษัทและหน่วยงานท้องที่หลายๆ แห่งจะมีการจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีใช้ถังดับเพลิง วิธีใช้เครื่อง AED และวิธีอพยพที่ถูกต้อง พร้อมทั้งฝึกอบรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
เราจึงอยากให้คุณท่องเที่ยวและใช้ชีวิตอย่างมีสติ และคอยตระหนักถึงภัยพิบัติอยู่เสมอ เพื่อที่ว่าหากเกิดอะไรขึ้นมา คุณจะสามารถประคองสติและเอาตัวรอดได้ในประเทศที่ไม่คุ้นชินแห่งนี้
อุปกรณ์ที่ควรเตรียมไว้หากเกิดภัยพิบัติ
ด้านล่างนี้เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่คุณควรมีติดตัวไว้หากเกิดภัยพิบัติขึ้น สำหรับชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่ไม่ค่อยเกิดภัยพิบัติ อาจคิดว่าภัยพิบัติเป็นสิ่งไกลตัวและ “การป้องกันภัยพิบัติ” เป็นเรื่องของคนอื่น แต่ที่จริงแล้วภัยพิบัติเกิดได้ทุกที่ทุกเวลาโดยที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า การรับมือเพียงอย่างเดียวที่พวกเราพอทำได้ คือ เตรียมตัวให้พร้อมประหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้จึงขอแนะนำให้พกสิ่งเหล่านี้ติดตัวไว้เมื่อออกไปข้างนอก และวางไว้ในบริเวณที่หยิบฉวยได้เมื่ออยู่บ้าน
〇 แบตเตอรี่สำรองและสายชาร์จโทรศัพท์
โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากที่จะสามารถช่วยชีวิตพวกเราได้หากเกิดภัยพิบัติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนสนิท หรือตรวจสอบข่าวสารต่างๆ ทั้งยังสามารถใช้ทวิตข้อความลงบน Twitter แล้วยังใช้ฟังข่าวสารทางวิทยุได้อีกด้วย
〇 ไฟฉายขนาดพกพา
เมื่อเกิดภัยพิบัติสิ่งที่อาจเกิดตามมา คือ ไฟดับ หากมีไฟฉายไว้ช่วยส่องทางก็จะสะดวกมาก และจะสะดวกยิ่งขึ้นไปอีกหากเป็นไฟฉายขนาดเล็กที่พกพาง่าย
〇 แปรงสีฟัน
หากเกิดภัยพิบัติรุนแรง อาจต้องมีการอพยพประชากรไปตามศูนย์อพยพ ทำให้ของใช้ส่วนตัวจำพวกแปรงสีฟันเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
〇 ยาฉุกเฉิน
หากมีเหตุฉุกเฉิน ร่างกายของคุณก็อาจต้องเผชิญกับความเครียดได้ จึงควรพกยาประจำตัวต่างๆ เอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาแก้หวัด ยาแก้ปวดหัว พลาสเตอร์ติดแผล หรือยาอื่นๆ ที่เข้ากับสุขภาพร่างกายของคุณได้ดี
〇 หน้ากากอนามัย
หากคุณต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์อพยพ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากอยู่รวมกัน การพกหน้ากากอนามัยติดตัวไว้จะช่วยทั้งการป้องกันการติดเชื้อและทำให้คุณปลอดภัยจากโรคติดต่อต่างๆ ได้
〇 สุขาเคลื่อนที่
ในศูนย์อพยพมีห้องน้ำอยู่ไม่เยอะ ทำให้คุณไม่สามารถใช้ห้องน้ำในทุกๆ ครั้งที่ต้องการได้ การมีสุขาเคลื่อนที่ไว้กับตัวนอกจากจะสามารถใช้ได้ทุกเมื่อแล้ว ยังทำให้อุ่นใจในเรื่องสุขอนามัยอีกด้วย
พกไว้อุ่นใจเสมอ! เพิ่มเติมสำหรับสุภาพสตรีและผู้มีเด็กเล็ก
■ สำหรับสุภาพสตรี
〇 ผ้าอนามัย
เวลาเกิดภัยพิบัติสิ่งที่มักจะขาดแคลนในศูนย์อพยพบ่อยที่สุด คือ ผ้าอนามัย ดังนั้นคุณจึงควรพกติดตัวไว้ส่วนหนึ่งเพื่อความสะดวกและสบายใจ
〇 ยางรัดผม
ยางรัดผมมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะกับสุภาพสตรีที่มีผมยาว การอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพนั้นทุกคนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น บางครั้งเราก็อาจจะต้องขยับร่างกายเพื่อแบกของหรือเตรียมทำอาหารด้วย ยางรัดผมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผมของคุณถูกมัดรวบไว้ ไม่มาเกะกะเวลาทำงาน
〇 เครื่องสำอาง / เครื่องประทินผิว
หากคุณขาดการแต่งหน้าไม่ได้จริงๆ ให้เตรียมเป็นเครื่องสำอางพื้นฐานชุดเล็กๆ เอาไว้ด้วย นอกจากนี้ หากต้องไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย คุณก็อาจมีปัญหาผิวเนื่องจากความเครียดหรืออาการแพ้ต่างๆ ได้ ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวขนาดพกพาติดตัวไว้
〇 แผ่นร้อนไคโระ
ผู้หญิงส่วนมากมักมีอาการหนาวสั่นง่าย ไม่ว่าจะเป็นหนาวขา หนาวมือ หรือหนาวเอว การควบคุมระบบปรับอากาศในสถานที่กว้างๆ อย่างศูนย์อพยพนั้นทำได้ค่อนข้างยากและการใช้ชีวิตในศูนย์อพยพก็ไม่ได้สะดวกสบายสักเท่าไร โดยเฉพาะหากต้องอพยพในฤดูหนาว ดังนั้น การมีแผ่นร้อนติดตัวไว้จะช่วยทำให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นตลอดเวลา
■ สำหรับผู้ที่มีเด็กเล็ก
〇 ของเล่น
เด็กเครียดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มาก แต่เด็กๆ จะอุ่นใจได้กับของเล่นชิ้นโปรดและของเล่นที่พวกเขาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจ เราขอแนะนำให้พกของเล่นที่พวกเขาเล่นเป็นประจำไปด้วยสักชิ้นสองชิ้น
〇 อาหารเด็กและขนม
ศูนย์อพยพอาจไม่มีอาหารเด็กเตรียมไว้ให้ ดังนั้น เราขอแนะนำให้คุณพกไปเองด้วยจะดีกว่า
〇 กระโถนเด็กแบบพกพา
มีศูนย์อพยพเพียงไม่กี่แห่งที่มีห้องสุขาสำหรับเด็ก ดังนั้น กระโถนเด็กแบบพกพาที่เรียบง่ายและขนาดไม่ใหญ่มากจะเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มาก
ข้อมูลการป้องกันภัยพิบัติสำหรับชาวต่างชาติ
เมื่อเกิดภัยพิบัติสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ ข้อมูลที่เชื่อถือได้และทันสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นชาวต่างชาติที่ยังไม่มั่นใจในทักษะภาษาญี่ปุ่นของตัวเอง การรวบรวมข้อมูลด้วยภาษาญี่ปุ่นก็อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
ด้านล่างนี้เราได้รวบรวมไฟล์ PDF ที่สำนักคณะรัฐมนตรีได้จัดเตรียมไว้ โดยในเอกสารจะมีการแนะนำแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ภาษาต่างๆ ที่มีประโยชน์ในยามเกิดภัยพิบัติ ขอแนะนำให้ดาวน์โหลดไฟล์นี้ติดตัวไว้ เพื่อที่คุณจะสามารถเปิดดูได้ทุกเวลา
■ แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่มีประโยชน์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ
ภาษาอังกฤษ
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/02_bousai_guidebook_Web_EN.pdf
ภาษาจีน (ตัวย่อ)
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/09_bousai_guidebook_Web_ZS.pdf
ภาษาจีน (ตัวเต็ม)
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/09_bousai_guidebook_Web_ZS.pdf
ภาษาเกาหลี
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/11_bousai_guidebook_Web_KR.pdf
ภาษาเวียดนาม
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/03_bousai_guidebook_Web_VN.pdf
ภาษาไทย
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/12_bousai_guidebook_Web_TH.pdf
ภาษาอินโดนีเซีย
http://www.bousai.go.jp/kokusai/web/img/07_bousai_guidebook_Web_ID.pdf
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันภัยพิบัติขั้นพื้นฐานที่เราได้รวบรวมมาให้คุณ อุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา อินเทอร์เน็ต และร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านทั่วไป จึงควรเตรียมให้พร้อมไว้ทุกเมื่อ ราวกับการป้องกันภัยพิบัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคุณ
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่