10 เรื่องน่ารัก ชวนรู้จัก “มหาวิทยาลัยโทโฮคุ” มหาลัยอันดับ 1 ของญี่ปุ่น!

Tohoku University
Oyraa

มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น การันตีด้วยอันดับ 1 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นของ Times Higher Education (THE) ประจำปี 2020 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ภูมิภาคโทโฮคุตามชื่อ ในตัวเมืองเซนไดของจังหวัดมิยากิ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเมืองแห่งต้นไม้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความสงบและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษานี้เองที่ทำให้มหาวิทยาลัยโทโฮคุกลายเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่น วันนี้เราจะมานำเสนอแง่มุมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยโทโฮคุทั้งข้อเท็จจริงต่างๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มาจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ไปดูกันเลยค่ะ

จุดเริ่มต้น

มหาวิทยาลัยโทโฮคุก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1907 โดยรัฐบาลเมจิ เป็นมหาวิทยาลัยหลวงแห่งที่ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอายุเกินร้อยปีเข้าไปแล้ว แต่เดิมชื่อของมหาวิทยาลัยที่ใช้ในตอนที่ก่อตั้งยังไม่ใช่ชื่อปัจจุบัน แต่เป็น Tohoku Imperial University (東北帝國大學) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบันในปี ค.ศ. 1947

ความเปิดกว้าง

Izumi Shimamura / Flickr

มหาวิทยาลัยโทโฮคุมีนโยบายแรกเริ่ม คือ นโยบาย “Open Door” ที่จะเปิดรับนักเรียนจากทั้งโรงเรียนมัธยมปกติและจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้ามาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911

มหาวิทยาลัยโทโฮคุไม่เพียงรับนักเรียนจากหลากหลายสถาบันเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในญี่ปุ่นที่เปิดรับนักศึกษาหญิงให้เข้าเรียนด้วยในปี ค.ศ. 1913 และยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่รับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนด้วย

เคยมีวิทยาเขตที่ฮอกไกโด!

Isabella Supardi / Flickr

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยโทโฮคุมีทั้งหมด 4 วิทยาเขต ได้แก่ Aobayama, Katahira, Kawauchi และ Seiryo ก่อนหน้านี้ไม่นาน มหาวิทยาลัยเคยมีอีก 1 วิทยาเขตคือ Amamiya แต่ก็ได้ปิดตัวและย้ายไปรวมกับวิทยาเขตอื่นแล้วในปี ค.ศ. 2017

นอกจากนี้ ในอดีตมหาวิทยาลัยโทโฮคุยังเคยมีวิทยาเขตที่ฮอกไกโดอีกด้วย! นั่นก็คือ คณะเกษตรที่วิทยาลัยเกษตรซัปโปโร (札幌農學校) จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1907 ที่เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด แต่ใน ค.ศ. 1918 ได้มีการโยกย้ายคณะเกษตรนั้นให้ไปอยู่ภายใต้ความดูแลของมหาวิทยาลัยหลวงฮอกไกโดแทน ปัจจุบันจึงเหลือเพียงวิทยาเขตที่อยู่ในจังหวัดมิยากิเท่านั้น

ค่านิยม 3 ประการ

Ashinaga Media / Flickr

มหาวิทยาลัยโทโฮคุมีค่านิยม 3 ประการที่ยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยอธิการบดีคนแรก นั่นก็คือคุณ Masataro Sawayanagi (さわやなぎ まさたろう) หนึ่งในค่านิยมเหล่านั้นคือ “Open Door” หรือการเปิดกว้างอย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ส่วนค่านิยมข้อต่อไป คือ “Research First” หรืองานวิจัยมาก่อน นั่นก็คือการสนับสนุนงานวิจัยอย่างเต็มที่ โดยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการผลิตผลงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพแต่ยังสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพอีกด้วย สำหรับค่านิยมข้อสุดท้าย ได้แก่ “Practice Oriented Research and Education” หรือการปฏิบัติจริงซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัย โดยทางมหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นและสนับสนุนการนำผลวิจัยไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนนั่นเอง

อัตราส่วนนักศึกษาต่างชาติ

Ashinaga Media / Flickr

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัย นับสถิติจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาอยู่ทั้งหมด 17,831 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 1,749 คน คิดเป็น 10% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดโดยประมาณ นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอก จากนักศึกษาทั้งหมดจำนวน 2,605 คน จะมีนักศึกษาต่างชาติอยู่ถึง 706 คน หรือคิดเป็น 27% โดยประมาณเลยทีเดียว

ตั้งแต่อดีตจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 มีนักศึกษาต่างชาติมาจากรวม 93 ประเทศ ซึ่งเป็นผลจากหลักสูตรนานาชาติในหลายๆ คณะ (ตัวผู้เขียนเองก็ศึกษาอยู่ในหลักสูตรนานาชาติเช่นกัน) และโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งมีเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยมากมายหลายร้อยแห่งจากหลายสิบประเทศ เห็นได้ชัดว่ามีการสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติที่ดีทีเดียว

แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

zenra / Flickr

มหาวิทยาลัยโทโฮคุมีการสนับสนุนให้นักศึกษา (โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติ) ได้มีโอกาสไปสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างการเข้าร่วมงานเทศกาล Aoba Matsuri ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยได้เข้าร่วมพร้อมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ในฐานะนักแสดง “ระบำนกกระจอก” หรือที่เรียกว่า “Suzume Odori” ระบำท้องถิ่นของเมืองเซนได ทางมหาวิทยาลัยได้จัดหาอาจารย์มาสอนการเต้น และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงทั้งบนเวทีและในขบวนพาเหรดของงาน นอกจากจะได้รับความสนุกแล้วยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองอีกด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม International Festival ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักศึกษาต่างชาติได้มาออกบูธขายอาหารประจำชาติและแสดงโชว์ของชาติตัวเอง เพื่อให้นักศึกษาทั้งชาวญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกันด้วย

ใกล้ชิดธรรมชาติ

ด้วยความที่เมืองเซนไดเป็นเมืองแห่งต้นไม้ และวิทยาเขต Aobayama ก็ตั้งอยู่บนภูเขา ทำให้บริเวณมหาลัยถูกรายล้อมไปด้วยป่า ที่นี่จึงมีบรรยากาศที่ร่มรื่นและใกล้ชิดธรรมชาติแบบสุดๆ ถึงขนาดที่บางครั้งมีคนพบสิงสาราสัตว์ที่หลงเข้ามาในเขตมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นทานุกิหรือหมี และทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการส่งอีเมลแจ้งเตือนเวลามีคนพบหมีในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ได้ระวังตัวกันด้วย

ผู้เขียนเคยเจอกวางระหว่างเดินไปที่ตึกเรียน เจ้ากวางกระโดดลงมาจากเนินเขาฝั่งหนึ่งของถนนแล้ววิ่งตัดถนนไปยังป่าที่อยู่อีกฟาก ตอนนั้นก็ตกใจไม่น้อยเลยล่ะ

จุดชมซากุระและใบไม้แดงที่ยอดเยี่ยม

C Toews / Flickr

จากข้อที่แล้ว นอกจากความใกล้ชิดกับชีวิตในธรรมชาติแล้ว มหาวิทยาลัยก็มีต้นไม้อยู่มากมายด้วย รวมถึงต้นซากุระที่จะบานสะพรั่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดชมซากุระที่ดึงดูดผู้คนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยให้เข้ามาชมกัน สำหรับการชมซากุระ ผู้เขียนขอแนะนำที่ Katahira Campus ซึ่งมีทั้งต้นซากุระเรียงเป็นแถวบริเวณหน้าโรงอาหารมหาวิทยาลัย และด้านในยังมีสวนที่มีซากุระขนาดใหญ่หลากสายพันธุ์อีกด้วย

Isabella Supardi / Flickr

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง มหาวิทยาลัยก็จะถูกแต่งแต้มไปด้วยสีสันของใบไม้แดง ผู้เขียนแนะนำให้ขึ้นไปที่ Aobayama Campus เพราะจะมีใบไม้เปลี่ยนสีสวยงามบนต้นไม้ที่เรียงกันอยู่สองฝั่งถนน สวยไม่แพ้จุดชมใบไม้แดงตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เลย

กิจกรรมนอกหลักสูตร

Chih-Hua Chang / Flickr

นอกจากการเรียนการสอนและการวิจัยที่เข้มข้น มหาวิทยาลัยโทโฮคุยังสนับสนุนกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างกิจกรรมชมรมอีกด้วย ชมรมที่นี่มีหลากหลายประเภททั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือชมรมสำหรับผู้มีความสนใจเฉพาะทางร่วมกัน อย่างเช่น ชมรมวิจัยโปเกมอน, ชมรมดาราศาสตร์, ชมรมคนรักรถไฟ เป็นต้น นอกจากการสนับสนุนด้านงบประมาณ อุปกรณ์ และสถานที่ทำกิจกรรมอย่างสถานที่ฝึกซ้อมหรือสถานที่พบปะรวมตัวกันแล้ว ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะมีการจัดเทศกาลมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละชมรมจะได้มาแสดงผลงานของตัวเองรวมถึงเปิดให้นักศึกษาได้รวมกลุ่มออกร้านขายอาหารกันในงานอีกด้วย เป็นงานที่คึกคักและสนุกสนานมากๆ ผู้เขียนในฐานะสมาชิกชมรมเต้นสตรีทแดนซ์ก็เคยได้มีโอกาสแสดงบนเวทีงานมหาวิทยาลัยนี้หลายครั้งเช่นกัน

กิจกรรมเพื่อสังคม

Martin Pettersson / Flickr

นอกจากการวิจัยและการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยโทโฮคุยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมสำหรับผู้คนในชุมชน อย่างกิจกรรม Katahira Matsuri ที่จะจัดสองปีหนึ่งครั้ง เป็นกิจกรรมที่แต่ละแลบใน Katahira Campus จะมาจัดการแสดงหรือการทดลองวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ ให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุกและเรียนรู้วิทยาศาสตร์กันได้ไม่มีเบื่อ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ที่จะใช้บริเวณ Kawauchi Campus เป็นที่จัดกิจกรรม ให้เด็กๆ ได้มาสนุกกับการทดลองวิทยาศาสตร์และได้รับคำอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ กลับไป สร้างทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และในฐานะที่ผู้เขียนเคยเข้าร่วมงานทั้งในฐานะผู้จัดและผู้เข้าชม ขอบอกเลยว่ากิจกรรมเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งจากเด็กๆ และผู้ปกครอง บางซุ้มมีการต่อแถวยาวหลายสิบนาทีเลยทีเดียว

เป็นยังไงกันบ้างสำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยโทโฮคุแห่งนี้ ผู้เขียนเองที่มีโอกาสได้เรียนที่นี่ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี รู้สึกว่ามีประสบการณ์อันล้ำค่ามากมายที่ได้รับจากการมาเรียนที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือกิจกรรม ล้วนเป็นประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้จริงๆ ใครที่อยากมาศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นแล้วกำลังมองหาตัวเลือกมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ ลองมองมหาวิทยาลัยโทโฮคุเป็นตัวเลือกดูนะคะ

ส่วนใครที่อยากหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยชื่อดังอื่นๆ ในญี่ปุ่นอีกก็สามารถตามไปอ่านบทความแนะนำTokyo Institute of Technology มหาลัยสายเทคฯ ขวัญใจนักเรียนต่างชาติ และ มหาวิทยาลัย Hitotsubashi มหาลัยสายศิลป์ชื่อดังในโตเกียว กันได้เลยค่ะ!

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: