เงินบำนาญ (年金)
ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นทุกคน (อายุ 20 – 60 ปี) จะต้องเข้าร่วม Pension System หรือระบบเงินบำนาญเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยในญี่ปุ่นมักจะเรียกติดปากกันว่า เนนคิน (年金) นั่นเอง
โดยระบบเงินบำนาญนี้เป็นระบบที่เก็บเงินสมทบจากคนในวัยทำงานเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุ ผู้พิการ และครอบครัวของผู้เสียชีวิต โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เงินบำนาญแห่งชาติ (国民年金) ซึ่งถือเป็นเงินบำนาญพื้นฐาน (基礎年金) และเงินบำนาญลูกจ้าง (厚生年金) โดยผู้เสียภาษีทุกคนจะได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบเงินบำนาญ (เรียกว่าผู้ประกันตน หรือ 被保険者) ผู้ที่อยู่ในระบบบำนาญลูกจ้าง คือ ผู้ได้รับบำนาญพื้นฐานแบบที่ 2 ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทหรือองค์กรนั่นเอง
รายละเอียดเกี่ยวกับบำนาญแบบต่างๆ มีดังนี้:
○ ประเภทของบำนาญและการเข้าร่วมระบบบำนาญ
(1) เงินบำนาญแห่งชาติ (国民年金) / เงินบำนาญพื้นฐาน (基礎年金)
หมายถึง เงินบำนาญที่คุ้มครองบุคคลที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นทั้งหมด (รวมถึงชาวต่างชาติ) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
ประเภทของผู้ประกันตนและการเข้าเป็นสมาชิก
○ ผู้ประกันตนกลุ่มที่ 1 (第1号被保険者)
ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มผู้ประกันตนกลุ่มที่ 2 และ 3 จะอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น คนที่ทำธุรกิจส่วนตัว นักเรียน และผู้ว่างงาน
※ ผู้อาศัยที่ไม่ได้ถือสัญชาติญี่ปุ่น ผู้ถือวีซ่ารักษาพยาบาล และผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวระยะยาวจะไม่อยู่ในกลุ่มนี้
การเข้าร่วมระบบบำนาญ
กรณีเข้าพำนักในประเทศญี่ปุ่นหลังจากอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หลังจากลงทะเบียนประชากรเรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินเรื่องการเป็นสมาชิกได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานบำนาญใกล้บ้าน
กรณีเข้าพำนักก่อนอายุครบ 20 ปี จะมีเอกสารขอการรับรองเข้าสู่ระบบบำนาญส่งไปยังที่อยู่ที่ลงทะเบียนไว้ใน 1 เดือนก่อนวันเกิดปีที่ 20 สามารถนำเอกสารเหล่านี้ไปดำเนินเรื่องที่สำนักงานเขตได้เลย
○ ผู้ประกันตนกลุ่มที่ 2 (第2号被保険者)
ลูกจ้างของภาครัฐหรือภาคเอกชนที่อยู่ในระบบบำนาญลูกจ้าง โดยจะนับเป็นผู้รับบำนาญพื้นฐานด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินสมทบส่วนหนึ่งที่จ่ายในระบบบำนาญลูกจ้างจะถูกหักเข้าสู่ระบบบำนาญพื้นฐานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าประกันเพิ่มอีก
การเข้าร่วมระบบบำนาญ
ทางบริษัทหรือที่ทำงานจะเป็นผู้ดำเนินเรื่องให้ จึงไม่จำเป็นต้องทำเอง โดยเงินสมทบจะถูกหักออกจากเงินเดือน หากต้องการทราบรายละเอียดก็สามารถติดต่อทางบริษัทที่ทำงานอยู่ได้
○ ผู้ประกันตนกลุ่มที่ 3 (第3号被保険者)
คู่สมรสของผู้ประกันตนกลุ่มที่ 2 และมีอายุระหว่าง 20 – 60 ปี
※ ผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว อาจได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ประกันตนอันดับ 3 เป็นกรณีพิเศษ
การเข้าร่วมระบบบำนาญ
ทางบริษัทของผู้ประกันตนกลุ่มที่ 2 จะเป็นผู้ดำเนินการให้เช่นเดียวกัน หากต้องการทราบรายละเอียดก็ถามไปทางบริษัทได้เลย โดยภาระการจ่ายเงินสมทบจะตกกับผู้ประกันตนกลุ่มที่ 2 ทั้งหมด
(2) บำนาญลูกจ้าง (厚生年金)
บำนาญที่ผู้ประกันตนกลุ่มที่ 2 ได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติมจากบำนาญพื้นฐาน โดยบริษัทจะเป็นผู้รับภาระจ่ายเงินสมทบให้ครึ่งหนึ่ง และเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบจะถูกหักออกจากเงินเดือน แม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบนี้ ก็ยังมีบางบริษัทที่ไม่ได้เข้าร่วมเช่นกัน อย่างไรก็ควรตรวจสอบกับทางที่ทำงานให้ดี
การเข้าร่วมระบบบำนาญ
・หากเป็นพนักงานของหน่วยงานที่อยู่ในระบบบำนาญลูกจ้างก็จะนับว่าเป็นสมาชิกตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานทันที เอกสารต่างๆ ก็จะต้องยื่นไปยังบริษัท โดยในบริษัทส่วนใหญ่จะมีผู้รับผิดชอบคอยแจกเอกสารให้อยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการตามนั้นได้เลย
○ กรณีพิเศษ
(1) ข้อตกลงด้านประกันสังคม (社会保障協定)
เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าประกันซ้ำซ้อน ญี่ปุ่นจึงมีการทำข้อตกลงกับต่างประเทศให้ผู้จ่ายค่าบำนาญสามารถเติมเต็มเงื่อนไขได้ง่ายขึ้น โดยประชากรจากประเทศที่ทำข้อตกลง (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม ปี 2020 มี 20 ประเทศ) จะได้รับการปรับลดค่าประกัน 2 ประการดังที่เขียนไว้ด้านล่างนี้
* เงื่อนไขอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ควรตรวจสอบรายละเอียดเป็นรายบุคคล
▼ ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกับ 23 ประเทศ และมีผลบังคับใช้แล้ว 20 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2019)
การปรับลดเงินสมทบ
สำหรับชาวต่างชาติที่อยู่ในระบบบำนาญของประเทศบ้านเกิดอยู่แล้ว หากพำนักอยู่ในญี่ปุ่นไม่เกิน 5 ปี จะต้องจ่ายเงินสมทบตามข้อกำหนดของประเทศบ้านเกิดเพียงอย่างเดียว และหากพำนักอยู่ในญี่ปุ่นเกิน 5 ปีก็จะต้องจ่ายเงินสมทบตามข้อกำหนดของญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
การคำนวณระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ
ทางการญี่ปุ่นจะจ่ายเงินบำนาญผู้สูงอายุให้กับบุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทุกเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินจะต้องมีระยะเวลาจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ทั่วไปจะสามารถเลือกได้ว่าจะนำระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบในประเทศบ้านเกิดมานับรวมในญี่ปุ่น หรือจะนำระยะเวลาในญี่ปุ่นไปนับรวมที่ประเทศบ้านเกิด
▼ การบังคับใช้ข้อตกลงด้านประกันสังคมและรายละเอียดของแต่ละคู่สัญญา (Japan Pension Service)
(2) เงินชดเชยกรณีออกจากระบบบำนาญ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติญี่ปุ่น หากจะเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นและสูญเสียสถานะการเป็นผู้ประกันตนของระบบบำนาญทั้งแบบพื้นฐานและแบบลูกจ้าง จะสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินชดเชยได้จำนวนหนึ่ง โดยผู้มีสิทธิ์ร้องขอจะต้องยื่นเรื่องภายใน 2 ปีหลังออกจากญี่ปุ่น และต้องบรรลุเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อดังนี้:
(1) ไม่ใช่ผู้ถือสัญชาติญี่ปุ่น
(2) เข้าสู่ระบบบำนาญและจ่ายเงินสมทบในฐานะผู้ประกันตนกลุ่มที่ 1 หรือผู้ประกันตนในระบบบำนาญลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยนับจากจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบเต็มจำนวน หรือหากได้รับการลดหย่อน 1 ใน 4 ส่วน, ครึ่งหนึ่ง, หรือ 3 ใน 4 ส่วน ก็จะนำมาคิดเพียง 3 ใน 4, ครึ่งหนึ่ง, หรือ 1 ใน 4 ส่วนของจำนวนเดือนตามลำดับ
(3) ไม่ใช่ผู้ที่ถือครองที่อยู่ในญี่ปุ่น
(4) ไม่ใช่ผู้ที่เคยมีสิทธิ์รับเงินบำนาญ (รวมถึงเงินสงเคราะห์ผู้พิการ)
หากเป็นชาวต่างชาติที่เคยจ่ายเงินสมทบไปแล้วมากกว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการรับเงินบำนาญ (มีระยะเวลาการจ่ายไม่ถึง 10 ปี) ก็สามารถรับเงินชดเชยก้อนหนึ่งได้ตามระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบไป คนที่ไม่ได้มาจากประเทศคู่สัญญาที่ลงนามในข้อตกลงด้านประกันสังคมเอาไว้ ส่วนมากมักจะยื่นขอเงินชดเชยนี้กันแทน
ข้อควรระวัง
หากได้รับเงินชดเชยไปแล้ว ระยะเวลาที่นำมาคำนวณเงินชดเชยจะไม่นับว่าเป็นระยะที่อยู่ในระบบบำนาญอีกต่อไป และหากอยู่ในระบบจนครบ 10 ปีและได้สิทธิ์การเบิกเงินบำนาญแล้วก็จะไม่สามารถยื่นขอเงินชดเชยได้เช่นกัน
วิธีการยื่นคำร้อง
หากต้องการยื่นคำร้องขอเงินชดเชย สามารถทำได้โดยส่งเอกสารที่จำเป็นไปยัง Japan Pension Service หลังเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยนอกจากแบบฟอร์มคำร้องก็จะต้องมีเอกสารที่ระบุหมายเลขเงินบำนาญ เช่น สมุดเงินบำนาญ, สำเนาหนังสือเดินทาง, เอกสารยืนยันการย้ายทะเบียนบ้านออกนอกญี่ปุ่น (หากยื่นไปยังสำนักงานเขตแล้วก่อนออกจากประเทศจะสามารถละได้) และเอกสารแจ้งเลขบัญชีธนาคาร ชื่อและสาขาที่ทำการเปิดบัญชี และชื่อเจ้าของบัญชี หากต้องการทราบว่าจะต้องเตรียมเอกสารอย่างไรหรืออยากเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้าก็สามารถปรึกษาได้ที่สำนักงานเงินบำนาญได้
▼ การยื่นคำร้องขอเงินชดเชยกรณีออกจากระบบบำนาญ (มี 14 ภาษา) (Japan Pension Service)
ภาษาญี่ปุ่น
เว็บไซต์: https://www.nenkin.go.jp/service/jukyu/todoke/kyotsu/20150406.html
ภาษาอังกฤษ
เว็บไซต์: https://www.nenkin.go.jp/international/english/lumpsum/lumpsum.html
(3) ข้อยกเว้นสำหรับนักเรียน / นักศึกษา
ชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นจะเข้าสู่ระบบบำนาญเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หากมีสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษาก็จะได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ทว่าต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเงื่อนไขด้านล่างเท่านั้น
※ ข้อมูลรายได้พื้นฐานปี 2020 (สำหรับตัวผู้ยื่นคำร้องเท่านั้น)
1,180,000 เยน + จำนวนของญาติที่ต้องเลี้ยงดู x 380,000 เยน + จำนวนเงินที่ลดหย่อนค่าประกันสังคม
วิธีการยื่นคำร้อง
สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานเขต เคาน์เตอร์เงินบำนาญในเขต สำนักงานเงินบำนาญใกล้บ้าน หรือโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ (เฉพาะโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตให้เดินเรื่องแทนเท่านั้น) หรือจะส่งไปรษณีย์ไปก็ได้ เอกสารที่จำเป็น ได้แก่ แบบฟอร์มคำร้อง, สมุดเงินบำนาญหรือเอกสารที่ระบุหมายเลขเงินบำนาญ และเอกสารยืนยันการเป็นนักเรียน
ข้อควรระวัง
ควรตรวจสอบสถานะของตนในสถานศึกษาให้ดี หากเป็นนักเรียนประจำที่เป็นชาวต่างชาติโดยส่วนใหญ่ก็จะนับเป็นนักเรียน / นักศึกษา แต่หากเป็นนักศึกษาวิจัยจะไม่ได้รับสิทธิ์ละเว้น รวมถึงต้องตรวจสอบว่าสถาบันของตนอยู่ในขอบเขตของสิทธิ์การละเว้นหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ปรึกษากับทางสถาบันที่ศึกษาอยู่ด้วยจะดีกว่า
▼ การละเว้นการจ่ายเงินสมทบสำหรับนักเรียนนักศึกษาและรายชื่อสถาบันการศึกษาที่มีสิทธิ์ละเว้นการจ่ายเงินสมทบ (Japan Pension Service) (ภาษาญี่ปุ่น)
▼ การละเว้นการจ่ายเงินสมทบสำหรับนักเรียนนักศึกษา (Japan Pension Service) (ภาษาอังกฤษ)
ประกันสุขภาพ (健康保険)
ชาวญี่ปุ่นทุกคนจะเป็นสมาชิกประกันสุขภาพของรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และช่วยกันสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลของทุกคนในระบบ นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกสถาบันทางการแพทย์ที่จะเข้ารับการรักษาได้อย่างอิสระ ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่ผู้คนสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาที่มีคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลาในราคาถูก
สำหรับชาวต่างชาติ หากพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเกิน 3 เดือน ก็จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน โดยหากเป็นลูกจ้างบริษัทก็จะเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพของพนักงานบริษัท หรือหากไม่ใช่ก็จะต้องทำประกันของบุคคลทั่วไป
○ ข้อแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพสำหรับพนักงานบริษัทและประกันสุขภาพทั่วไป
ประกันสุขภาพสำหรับพนักงานบริษัทจะคำนวณค่าประกันจากระดับรายได้ต่อเดือนและหักออกจากเงินเดือนของพนักงาน โดยทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าประกันให้ครึ่งหนึ่ง สิ่งที่แตกต่างจากประกันสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป คือ ผู้ที่มีประกันในกลุ่มนี้จะสามารถ “อุปการะ” สมาชิกครอบครัวที่มีรายได้น้อยเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพได้นั่นเอง
นอกจากพนักงานบริษัทและบุคคลในอุปการะแล้ว บุคคลอื่น (เช่น นักเรียน ผู้ทำธุรกิจส่วนตัว หรือผู้ว่างงาน) จะอยู่ในระบบประกันสำหรับประชาชนทั่วไป ค่าประกันที่ต้องจ่ายทางเทศบาลจะเป็นผู้กำหนดโดยคำนวณจากรายได้นักเรียนหรือรูปแบบครอบครัว จึงจะมีอัตราต่างกันไปตามเขตพื้นที่ที่อาศัยอยู่ โดยจะมีจดหมายเรียกเก็บค่าประกันไปยังเจ้าของบ้านแต่ละบ้าน ไม่มีการเก็บแยกเป็นรายบุคคล
เนื่องจากเอาประกันเพียงแบบเดียวก็เพียงพอแล้ว หากอยู่ในระบบประกันสำหรับพนักงานบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประกันแบบทั่วไปอีก
(1) สิทธิประโยชน์
สิทธิประโยชน์ในขอบเขตประกันที่มีโอกาสได้ใช้งานบ่อยที่สุด คือ การลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล จำนวนเงินที่ลดหย่อนจะแตกต่างกันไปตามรายได้และอายุ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องจ่ายเองเพียงไม่เกิน 30% เท่านั้น และยังมีกรณีที่สามารถเบิกเงินสนับสนุนได้อีกมากมาย นอกจากนี้ หากเป็นผู้ที่ใช้ประกันสำหรับพนักงานก็มักจะมีสวัสดิการจากทางบริษัทด้วย
การสนับสนุนเงินในระบบประกันสุขภาพ
・ค่ารักษาพยาบาลราคาสูง
แต่ละบุคคลจะมีค่ารักษาพยาบาลสูงสุดต่อเดือนกำหนดไว้ตามรายได้และอายุ หากค่ารักษาจริงสูงกว่าก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเกินกว่านั้น
・ค่ารักษาพยาบาลบุตรธิดา
จะได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งเป็นอัตราแล้วแต่ทางการเขตและอายุของบุตรธิดา
・เงินช่วยเหลือในการคลอดบุตร
เงินที่สามารถเบิกได้เมื่อคลอดบุตร ได้เป็นเงิน 420,000 เยนต่อบุตร 1 คน
・เงินช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วย
หากได้รับบาดเจ็บหรือป่วยจนไม่สามารถไปทำงานได้และไม่ได้รับเงินเดือน โดยจะได้รับ 2 ใน 3 ส่วนของรายได้เฉลี่ยรายวันในช่วง 12 เดือนก่อนวันที่เบิก
・เงินสนับสนุนค่าอาหารช่วงพักฟื้น
สำหรับช่วงที่พักฟื้นในโรงพยาบาลจะได้รับการช่วยเหลือค่าอาหารสูงสุด 3 มื้อต่อวัน
※ รายละเอียดของเงินสนับสนุนอาจแตกต่างกันไปตามเขตที่อาศัย
(2) การเข้าร่วมระบบประกันสุขภาพ
กรณีประกันสุขภาพสำหรับพนักงานบริษัท
รายละเอียดการสมัครจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท ดังนั้น ในการเตรียมเอกสารต่างๆ จึงควรสอบถามทางตัวแทนของบริษัทโดยตรง โดยทั่วไปผู้ประกันตนจะเข้าสู่ระบบประกันในวันแรกที่เข้าทำงาน จึงมักจะมีการแนะนำเรื่องการส่งเอกสารให้ก่อนล่วงหน้าอยู่แล้ว
หากเป็นผู้เอาประกันสำหรับบุคคลทั่วไปที่เพิ่งเข้าทำงาน ก็จำเป็นจะต้องยื่นคำร้องออกจากประกันเดิมที่สำนักงานเขตด้วย หากไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยก็จะต้องจ่ายค่าประกันซ้ำซ้อนไปแทน จึงควรระวังให้มาก
กรณีประกันสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป
หากเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมระบบประกัน เมื่อบรรลุเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งที่เขียนไว้ด้านล่างก็จะต้องทำการยื่นเรื่องสมัครที่สำนักงานเขตภายใน 14 วัน
・หลังจากเข้าประเทศและลงทะเบียนประชากรที่เขตเรียบร้อยแล้ว
・หลังจากย้ายถิ่นที่อยู่มายังเขตใหม่
・หลังจากให้กำเนิดบุตร
・หลังจากหลุดพ้นสภาพการเป็นผู้เอาประกันอื่น (นับตั้งแต่วันถัดมาหลังออกจากงาน)
เอกสารที่จำเป็นในการดำเนินเรื่อง ได้แก่ หนังสือเดินทาง, บัตรประจำตัวชาวต่างชาติ (ไซริวการ์ด – Resident card) และบัตรที่ระบุมายนัมเบอร์ (通知カード) ไว้ นอกจากนี้ บางคนก็อาจจะต้องใช้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ณ ตอนที่ยื่นเรื่อง เช่น เอกสารยืนยันการออกจากงาน, สมุดแม่และเด็ก เป็นต้น
(3) ข้อควรระวัง
ผู้สมัครจะต้องบรรลุเงื่อนไขที่กำหนดไว้เสียก่อนถึงจะมีสิทธิ์สมัครประกันได้ หากเป็นชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นไม่เกิน 3 เดือนหรือถือวีซ่าบางประเภท เช่น วีซ่าพำนักระยะสั้น วีซ่าการทูต หรือวีซ่าเฉพาะแบบอื่นๆ ก็จะไม่สามารถสมัครได้ หรือหากมาจากประเทศที่ลงนามในข้อตกลงด้านประกันสังคมที่รวมถึงประกันสุขภาพด้วยก็จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ จึงควรตรวจสอบกรณีของตนเองให้ดี
นอกจากนี้ ในกรณีของพนักงานพาร์ทไทม์ แม้จะนับว่าเป็นลูกจ้างที่สามารถใช้ประกันสำหรับพนักงานได้เหมือนกัน แต่ก็จำเป็นต้องบรรลุเงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องมีวันทำงานเกิน 3 ใน 4 ส่วนของพนักงานทั่วไป หรือต้องมีจำนวนชั่วโมงทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากต้องการตรวจสอบว่าตนเองมีสิทธิ์ใช้ประกันหรือไม่ก็ควรลองสอบถามทางบริษัทดู
ประกันภัยแรงงาน (労働保険)
ประกันภัยแรงงาน เป็นคำเรียกรวมประกันเมื่อประสบอันตรายจากการทำงาน และประกันการจ้างงาน โดยหากเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 1 คน ขึ้นไปก็จะถูกบังคับให้เข้าร่วมประกันทันทีโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบการจ้างงาน
○ ประกันเมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน (労災保険)
สำหรับประกันชนิดนี้ ภาระการจ่ายกองทุนทั้งหมดจะไปตกอยู่ที่บริษัท ตัวลูกจ้างจึงไม่จำเป็นต้องชำระค่าประกันใดๆ
ภายใต้การคุ้มครองของประกันนี้ หากลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ จะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับตัวผู้ประสบอันตรายหรือครอบครัวของผู้เสียชีวิต ตัวลูกจ้างเองจะได้เป็นเงินช่วยเหลือค่ารักษาและการพักฟื้น หรือเงินชดเชยค่าจ้างในส่วนที่ไม่สามารถไปทำงานได้ โดยลูกจ้างในบริษัทภายในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนจะมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย ชาวต่างชาติที่ทำงานพาร์ทไทม์ระยะสั้นเองก็อยู่ภายใต้การคุ้มครองของประกันเช่นกัน
○ ประกันการจ้างงาน (雇用保険)
ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ หรือตัดสินใจศึกษาต่อด้วยตัวเอง ทางประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้เพื่อความมั่นคงทางการงานและสนับสนุนการหางานใหม่ โดยผู้มีสิทธิ์รับการคุ้มครองจะต้องเคยถูกจ้างมาแล้วอย่างน้อย 1 วัน และทำงานไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เนื่องจากสายงานเฉพาะบางสายและนักเรียนที่เรียนเต็มวันจะไม่ถูกรวมอยู่ด้วย จึงควรตรวจสอบกับทางบริษัทหรือนายจ้างให้ดี
ประกันในรูปแบบนี้ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่ากองทุนร่วมกันคนละครึ่ง อัตราเงินประกันจะขึ้นอยู่กับงานแต่ละประเภท แต่ทั่วไปตัวลูกจ้างก็จะเสียเพียงราวๆ 0.3% ของเงินเดือนเท่านั้น
มีค่าอะไรบ้างที่จะถูกหักออกจากเงินเดือน
ภาษี เงินประกัน และเงินบำนาญบางส่วนจะมีการจ่ายโดยผ่านตัวแทน ยิ่งถ้าเป็นพนักงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทางบริษัทก็มักจะเป็นตัวแทนจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้เกือบทั้งหมด หรือก็คือ จะมีการหักออกจากรายได้ก่อนทำการจ่ายเงินเดือนนั่นเอง
โดยทั่วไปสิ่งที่จะถูกหักออกก็จะมีค่าประกันสังคม (ค่าประกันสุขภาพ, ค่าประกันสำหรับลูกจ้าง, ค่าประกันการจ้างงาน) และภาษี (เช่น ภาษีเงินได้หรือภาษีเทศบาล)
เมื่อคิดว่าเงินเดือนที่ได้จะลดลงก็อาจจะทำให้รู้สึกไม่สบอารมณ์กันอยู่บ้าง แต่ก็ขอให้คิดไว้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้หักออกไปเข้าบริษัท แต่เป็นเงินที่เสียเพื่อรับประกันอนาคตของตัวเอง แถมนอกจากจะไม่ต้องเตรียมเอกสารดำเนินเรื่องให้ยุ่งยากแล้วก็ยังไม่มีการลืมจ่ายอีกด้วย นับว่าสะดวกมากทีเดียว
การจ่ายภาษีและค่าประกันในประเทศญี่ปุ่นจะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของวีซ่า, รายได้, ประเทศบ้านเกิด รวมไปถึงสถานภาพส่วนตัวต่างๆ แม้ว่าจะสามารถหาข้อมูลได้ทั่วไปตามแผ่นพับหรืออินเทอร์เน็ตแต่ก็คงหากรณีที่ตรงกับตัวเองเป๊ะๆ ได้ยาก แถมการดำเนินเรื่องยังค่อนซับซ้อนอีกด้วย อันดับแรกก็ต้องเข้าใจสถานภาพของตนเองให้ชัดแจ้งเสียก่อน หากมีจุดไหนที่ไม่มั่นใจก็แนะนำให้ติดต่อสอบถามทางบริษัทหรือที่ปรึกษาเฉพาะทางดูจะดีที่สุด
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่